สุชาณี: ฟาร์มไก่ธรรมเกษตรฟ้องนักข่าววอยซ์ทีวี ทวีตกล่าวหาใช้แรงงานทาส

อัปเดตล่าสุด: 04/06/2564

ผู้ต้องหา

สุชาณี

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2562

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งประกอบกิจการฟาร์มไก่หลายแห่ง เป็นคู่ค้าที่ขายไก่ให้กับเบทาโกร ในการดำเนินคดีนี้มี ชาญชัย เพิ่มผล เป็นผู้รับมอบอำนาจ

สารบัญ

หนึ่งในคดีมหากาพย์ข้อพิพาทระหว่างบริษัทธรรมเกษตรซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มไก่กับลูกจ้างชาวพม่า สุชาณี นักข่าววอยซ์ทีวี ใช้ทวิตเตอร์ส่วนตัวรีทวีตข่าวคำพิพากษาของศาลแรงงาน โดยเพิ่มเติมข้อความว่า "กรณีใช้แรงงานทาส" เป็นเหตุให้ฟาร์มไก่ตัดสินใจดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โดยเริ่มจากแจ้งความที่ สน.โคกตูม จ.ลพบุรี ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี บริษัทจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดลพบุรีเอง
 
ศาลจังหวัดลพบุรีรับฟ้องคดีนี้ ต่อมาหลังสืบพยานแล้วศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ไม่ใช่การแสดงข้อความโดยสุจริต ให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา จำเลยได้ประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
 
ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โดยระบุว่า มีคำพิพากษาศาลแรงงาน ที่รับรองข้อเท็จจริงเรื่องการให้ลูกจ้างทำงานในเวลากลางคืน โดยไม่มีวันหยุด และต้องนอนในเล้าไก่ จำเลยในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานข่าว ในฐานะประชาชนย่อมมีสิทธิตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ เป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริต 
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ไม่มีข้อมูล

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ในคำฟ้องที่บริษัท ธรรมเกษตร ยื่นต่อศาลระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 จำเลยรีทวิตข่าวคำพิพากษาคดีระหว่างบริษัทธรรมเกษตรกับผู้ใช้แรงงานชาวพม่า ด้วยวิธีโคว้ททวิตบนบัญชีทวิตเตอร์ของตัวเองชื่อ Suchanee R. พร้อมเขียนข้อความเพิ่มเติมในลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ว่า “ศาลสูงสุดมีคำสั่งให้เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่จ.ลพบุรี อดีต 1 ในฟาร์มส่งไก่ให้บริษัทเบทาโกร จ่ายเงินชดเชยคนงานพม่า 14 คน 1.7 ล้านบาท กรณีใช้แรงงานทาส”

ข้อความที่จำเลยเผยแพร่สาธารณะชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและเปิดดูได้ มีบุคคลที่สามได้เข้าถึงและรีทวีตต่อถึง 51 ครั้ง และกดชื่นชอบ 14 ครั้ง ในเนื้อหาที่จำเลยทวิตยังปรากฏภาพถ่ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้างด้วย
 
โจทก์เห็นว่า การที่จำเลยทวิตข้อความดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทำให้บุคคลที่สามเข้าใจผิดว่า โจทก์ดำเนินธุรกิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อความว่า “ใช้แรงงานทาส” หมายถึง โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างคนต่างด้าว หมายถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำที่สังคมเกลียดชัง ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงดำเนินคดีต่อจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328
 
ในคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ขอให้ศาลสั่งทำลายข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ในระบบอินเทอร์เน็ต และให้จำเลยประกาศคำขอโทษโจทก์ลงในหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น บางกอกโพสต์ ไทยรัฐ เดลินิว์ และในทวิตเตอร์ของจำเลย เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 30 วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
 
 
 

 

พฤติการณ์การจับกุม

คดีนี้ไม่มีการจับกุมเนื่องจากเป็นคดีที่เอกชนเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลเอง

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

หมายเลขดำที่ อ.118/2562

ศาล

ศาลจังหวัดลพบุรี

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
16 พฤศจิกายน 2560

ชาญชัย เพิ่มพล พบข้อความที่สุชาณีรีทวีตข้อความจากทวิตเตอร์ของอานดี้ ฮอลล์ สามข้อความ ชาญชัยเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ จึงเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.โคกตูม ให้ดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
16 ตุลาคม 2561
 
พนักงานอัยการสำนักงานอัยการจังหวัดลพบุรี ออกหนังสือเห็นควรสั่งไม่ฟ้องคดีส่งถึงพนักงานสอบสวน สน.โคกตูม โดยอัยการมีความเห็นว่า กรณีนี้บริษัทธรรมเกษตร เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ภายในอายุความ จึงต้องพิจารณาว่า การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดหรือไม่ โดยฝ่ายผู้เสียหายมีพยานมาให้การด้วยว่า เมื่อพบข้อความดังกล่าวแล้ว เห็นว่า บริษัท ธรรมเกษตรไม่น่าทำงานด้วย เนื่องจากใช้แรงงานแบบทาส
 
เมื่ออัยการพิจารณาข้อความที่อานดี้ ฮอลล์ เป็นคนทวีตและผู้ต้องหารีทวีตแล้วพบว่า มีข้อความทำนองเดียวกันว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง บริษัท ธรรมเกษตร จึงต้องจ่ายเงินแก่ลูกจ้างชาวพม่าทั้ง 14 คน เป็นเงิน 1.7 ล้านบาทเศษ ลักษณะของข้อความดังกล่าวป็นการแจ้งข่าวรายงานตามเนื้อหาของคำพิพากษา แม้จะมีคำว่า “กรณีใช้แรงงานทาส”

แต่เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นผู้สื่อข่าวที่ติดตามทำข่าวเรื่องนี้ตลอดมา และการรายงานข่าวในฐานะสื่อมวลชนย่อมใช้คำที่ทำให้ผู้อ่านสนใจข่าว ซึ่งเป็นการใช้คำในเชิงเรียกจุดสนใจโดยเจตนาเพื่อให้ประชาชนสนใจข่าวนั้นๆ แม้ว่า อาจใช้คำไม่เหมาะสม แต่เมื่อปรากฏว่า ไม่มีข้อความอื่นนอกเหนือไปจากนั้น ซึ่งจะส่อให้เห็นว่า ผู้ต้องหามีเจตนาไม่สุจริตหรือจงใจกล่าวให้เสียหาย น่าเชื่อว่า ผู้ต้องหามีเจตนาเพียงนำเสนอข่าวเรื่องคำพิพากษาในฐานะสื่อมวลชนเท่านั้น ไม่ได้เจตนาทำให้บริษัท ธรรมเกษตร เสียชื่อเสียง
 
ส่วนข้อความที่สองและข้อความที่สาม ไม่ปรากฏว่า เป็นการทำให้บริษัท ธรรมเกษตร ได้รับความเสียหายอย่างไร จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้ต้องหาได้หมิ่นประมาทผู้เสียหายด้วยการโฆษณา
 
ส่วนข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ผู้ต้องหามีเจตนาโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ทั้งข้อความที่บริษัท ธรรมเกษตรกล่าวอ้างว่า เป็นเท็จ ก็ไม่มีลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันเป็นวัตถุประสงค์ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่เป็นความผิด ตามมาตรา 14(1) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พยานหลักฐานไม่พอฟ้องผู้ต้องหา จึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
 
1 มีนาคม 2562
 
บริษัท ธรรมเกษตร โดยชาญชัย เพิ่มพล ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสุชาณี ต่อศาลจังหวัดลพบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.118/2562 และศาลจังหวัดลพบุรีออกหมายนัดส่งให้จำเลยทราบว่า จะมีการไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 3 มิถุนายน 2562
 
3 มิถุนายน 2562
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง
 
ศาลจังหวัดลพบุรีนัดไต่สวนมูลฟ้อง
 
18 กรกฎาคม 2562
 
ศาลจังหวัดลพบุรี นัดฟังคำสั่ง โดยหลังไต่สวนมูลฟ้อง ศาลมีคำสั่งโดยสรุปได้ว่า

พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแล้วเห็นว่า จำเลยลงข้อความผ่านทวิตเตอร์ของจำเลยที่ใช้ชื่อว่า Suchanee R ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยไม่ได้ลงข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง
 
ข้อความ พร้อมภาพถ่ายคำพิพากษาเมื่อแปลความหมายในภาพรวมทั้งหมดดังกล่าวแล้ว ย่อมทำให้บุคคลที่อ่านข้อความในโพสต์ของจำเลยเข้าใจได้ว่า ฟาร์มเลี้ยงไก่ในจังหวัดลพบุรี หมายถึงบริษัท ธรรมเกษตร ต้องชดใช้เงินให้แก่ลูกจ้างชาวเมียนมาร์ในกรณีที่โจทก์ใช้แรงงานลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม

การกระทำของจำเลยจึงอาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นการเผยแพร่ข้อความโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพ หรือตัวอักษร ไม่ปรากฏว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 คดีของโจทก์จึงมีมูล
 
ให้ประทับรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา ออกหมายเรียกจำเลยให้การแก้ข้อหา และนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 14 สิงหาคม 2562 เวลา 13.30 น.
 

 

14 สิงหาคม 2562 

 

ศาลจังหวัดลพบุรีนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน ในเวลา 13.30 . จำเลยมาศาลตามนัดเป็นครั้งแรกและให้การปฏิเสธพร้อมต่อสู้คดี เมื่อจำเลยมารายงานตัวอยู่ในอำนาจศาลและประสงค์จะต่อสู้คดี จำเลยจะต้องถูกควบคุมตัวไว้โดยอำนาจศาล หากจำเลยต้องการจะขอปล่อยตัวระหว่างการพิจารณาคดีต้องยื่นขอประกันตัว

 

ทนายความของจำเลย ยื่นคำร้องต่อศาลว่า จำเลยมีที่อยู่ และสถานที่ทำงานเป็นหลักแหล่งแน่นอน โดยปัจจุบันจำเลยทำงานประจำเป็นผู้สื่อข่าวอยู่ที่สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ จำเลยมีความประสงค์จะต่อสู้คดี จำเลยจึงไม่คิดจะหลบหนี และจะไม่ไปเกี่ยวข้องหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือกระทำความผิดหรือก่ออันตรายประการอื่น ที่

 

เนื่องจากความผิดตามฟ้องของโจทก์เป็นความผิดอาญาเล็กน้อยและเป็นความผิดอันยอมความได้  มิได้เป็นความผิดฉกรรจ์ร้ายแรง มีอัตราโทษอย่างสูงไม่เกิน ปี ในการขอปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในครั้งนี้  จำเลยจึงขอศาลได้โปรดจะอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ ) ..๒๕๖๒ ข้อ และหากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวแล้ว จำเลยสัญญาว่าจะมาศาลตามกำหนดนัดศาลทุกครั้ง  

 

ศาลจังหวัดลพบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่อัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสิบปี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้โดยไม่ต้องมีประกัน แต่ให้ทำสัญญาประกันว่า จะมาศาลตามกำหนดนัด หากผิดสัญญาให้ปรับ 30,000 บาท

 

โดยศาลกำหนดวันนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2562

 

5-8 พฤศจิกายน 2562

 
วันนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลย เว็บไซต์สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบ 1 ปาก คือ นายชาญชัย เพิ่มพล ส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบ 4 ปาก คือ นางสุชาณี คลัวเทรอ จำเลย และยังมี Miss Archana Kotecha นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญในเรื่องทาสสมัยใหม่ ค้ามนุษย์ และแรงงานบังคับ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ รองคณบดีคณะนิเทศน์ศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย นายประทีป คงสิบ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง Voice TV มาเบิกความสนับสนุนการต่อสู้คดีของจำเลยว่าเป็นการทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน เป็นการแสดงความคิดเห็น หรือข้อความโดยสุจริตในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม

 

24 ธันวาคม 2562 
 
ศาลจังหวัดลพบุรีนัดอ่านคำพิพากษา 
 
คำพิพากษาของศาลสรุปได้ว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า วันและเวลาตามฟ้อง จำเลยโพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ศาลสูงสุดมีคำสั่งให้เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ จ.ลพบุรี อดีต 1 ในฟาร์มส่งไก่ให้บริษัทเบทาโกร จ่ายเงินชดเชยคนงานพม่า 14 คน 1.7 ล้านบาท กรณีใช้แรงงานทาส” จำเลยโพสต์ข้อความโดยเขียนข้อความ และนำโพสต์ของอานดี้ ฮอลล์มาต่อท้ายข้อความของตน 
 
เมื่อเข้าไปดูโพสต์ของอานดี้ ฮอลล์ เป็นข้อความพร้อมแนบภาพถ่ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 597/2560 ในคดีดังกล่าวโจทก์คดีนี้ฟ้องจำเลยกับพวก กรณีที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่า ไม่จ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาและดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์จึงไม่รับวินิจฉัย กรณีตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ถูกสั่งให้จ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแก่ลูกจ้างทั้ง 14 คน ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลา พร้อมดอกเบี้ย เป็นเงิน 1,730,013.04 บาท 
 
แต่จำเลยยังคงเขียนข้อความไม่ตรงกับข้อความของอานดี้ ฮอลล์ ทั้งยังไม่ตรงกับคำพิพากษาที่อานดี้ ฮอลล์ แนบไว้ในข้อความ ดังนั้น ตามข้อความในทวิตเตอร์ที่จำเลยเขียนถึงโจทก์ กล่าวหาว่า โจทก์ใช้แรงงานทาส จึงเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ผู้ถูกใส่ความนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง 
 
การที่จำเลยพิมพ์ข้อความในทวิตเตอร์ใส่ความโจทก์ โดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายของโจทก์ทั้งที่จำเลยมีเวลาตรวจสอบคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือ แม้กระทั่งตรวจสอบข้อความของอานดี้ ฮอลล์ อันเป็นแหล่งข้อมูลเสียก่อน ข้อความที่จำเลยพิมพ์ในทวิตเตอร์จึงเป็นข้อความที่จำเลยมิได้แสดงโดยสุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 ที่จะไม่มีความผิด และไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 330 ที่จะไม่ต้องรับผิด
 
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 จำคุก 2 ปี
 
หลังอ่านคำพิพากษาสุชาณี ถูกควบคุมตัวไปอยู่ในห้องขังระหว่างที่ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวเพื่อสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์ ศาลจังหวัดลพบุรีอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 75,000 บาท
 
วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความของสุชาณี ให้สัมภาษณ์ว่า หลักฐานที่จำเลยนำสืบในเรื่อง “ทาส” นั้น ศาลไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณา แต่ดูเฉพาะคำพิพากษาคดี คดีชำนัญพิเศษที่ 597/2560 และโพสต์ของอานดี้ ฮอลล์ ที่ไม่มีคำว่า "แรงงานทาส" ทั้งที่คดีดังกล่าว ฝ่ายจำเลยนำพยานผู้เชี่ยวชาญเข้าสืบเพื่อยืนยันว่า จำเลยทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน เป็นการแสดงความคิดเห็น หรือข้อความโดยสุจริตในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม
 
 
27 ตุลาคม 2563
 
ศาลจังหวัดลพบุรีนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ 
 
ในวันนัดฟังคำพิพากษา มีตัวแทนจากสถานทูตสหภาพยุโรป ฝรั่งเศส สวีเดน เยอรมนี มาร่วมฟังด้วย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าใครที่ศาลไม่ได้อนุญาตให้เข้าฟังต้องออกไปนอกห้อง เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ได้สอบถามชาวต่างชาติทีละคนว่าได้ส่งหนังสือขออนุญาตมาหรือไม่ ตัวแทนสถานทูตบางแห่งยืนยันว่าเป็นการพิจารณาคดีสาธารณะจึงไม่ได้ส่งหนังสือขออนุญาต ศาลแจ้งว่าสามารถนั่งฟังได้ทุกคน โดยระหว่างอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ไอลอว์บันทึกโน็ตย่อ ศาลแจ้งว่าไม่ให้บันทึกเพราะไม่ใช่คู่ความในคดี
 
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยสรุป อธิบายข้อกฎหมายว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีข้อยกเว้นความผิดสำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยประชาชนพึงกระทำ ในคดีอาญานอกจากโจทก์จะมีหน้าที่พิสูจน์ถึงความผิดของจำเลยแล้ว เมื่อมีข้อยกเว้นความผิดอยู่โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นด้วย
 
กรณีข้อพิพาทแรงงานมีคำพิพากษาศาลแรงงาน ที่รับรองข้อเท็จจริงเรื่องการให้ลูกจ้างทำงานในเวลากลางคืน โดยไม่มีวันหยุด และต้องนอนในเล้าไก่ และยังมีคำสั่งของเจ้าพนักงานตรวจแรงงานกล่าวถึงข้อเท็จจริงในเรื่องเดียวกัน 
 
แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเห็นว่ากรณีเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานแต่ไม่ใช่การค้ามนุษย์ก็ตาม ด้านจำเลยในฐานะสื่อมวลชนได้ข้อเท็จจริงจากการที่ได้สัมภาษณ์ลูกจ้างชาวพม่าด้วยตัวเองเอง และการรายงานข่าวทางสื่ออื่น เช่น เดอะการ์เดี้ยน ของประเทศอังกฤษ ก็ใช้คำว่า ใช้แรงงานทาสเช่นเดียวกัน
 
การที่จำเลยใช้คำว่า กรณีใช้แรงงานทาส น่าเชื่อว่าเป็นความเข้าใจและตีความของจำเลยไปเองโดยสุจริต มีความหมายทำนองเดียวกับที่โจทก์ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลาให้กับลูกจ้าง เป็นการพาดหัวข่าวเพื่อดึงดูดความสนใจแก่ผู้อ่าน แม้จะใช้ถ้อยคำเกินเลยไปกว่าคำพิพากษาศาลแรงงานอันเป็นการไม่เหมาะสมอยู่บ้างแต่ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยสร้างขึ้นมาเองและไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริง
 
จำเลยในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานข่าว ในฐานะประชาชนย่อมมีสิทธิตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ ท่านเป็นประโยชน์ส่วนรวมโดนสุจริต การติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนพึงกระทำตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (3) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา