จาตุรนต์: ฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว

อัปเดตล่าสุด: 22/08/2562

ผู้ต้องหา

จาตุรนต์ ฉายแสง

สถานะคดี

อื่นๆ

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

เมื่อคสช.ยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ออกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 1/2557 เรียกจาตุรนต์ ในฐานะนักการเมืองพรรคเพื่อไทยเข้ารายงานตัว จาตุรนต์ไม่เข้ารายงานตัวตามกำหนดพร้อมทั้งโพสต์เฟซบุ๊กประกาศว่า เขาไม่ยอมรับการรัฐประหารจึงไม่อาจไม่อาจปฏิบัติตามคำสั่งรายงานตัวได้

ต่อมาจาตุรนต์นัดหมายผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 โดยมีการประกาศเรื่องการแถลงข่าวต่อสาธารณะด้วย ในวันนัดหลังเขาแถลงข่าวไปได้ครู่หนึ่งก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมตัว

จาตุรนต์ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารสองคืน หลังจากนั้นในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 เขาถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามเพื่อตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. ข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จาตุรนต์ถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นเวลา 9 วัน จึงได้รับการประกันตัว 

ในวันที่ 15 ตุลาคม 2557 เมื่อขึ้นศาลทหารจาตุรนต์ยื่นคำร้องคัดค้านว่าศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีของเขา คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาล ซึ่งมีสั่งว่า ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช.ให้อยู่ในอำนาจศาลปกติ ส่วนความผิดข้อหามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ศาลทหารจึงสั่งให้จำหน่ายคดีในส่วนของข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ไปศาลปกติ 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

จาตุรนต์  จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย หลังจากนั้น สอบเข้าเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้งทำกิจกรรมนักศึกษาไปด้วยจนได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขณะที่ยังเรียนชั้นปีที่ 4 เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีการกวาดล้างผู้นำนักศึกษา ทำให้เขาต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าระยะหนึ่ง ใช้ชื่อจัดตั้งว่า "สหายสุภาพ" ภายหลังสถานการณ์คลี่คลายจึงกลับเข้าเมืองและตัดสินใจไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาตรี และปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ที่บัฟฟาโล สหรัฐอเมริกา 

และกลับประเทศไทยเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2529 และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. บทบาททางการเมือง เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

ข้อหา / คำสั่ง

ฝ่าฝืนประกาศคสช. 41/2557

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จาตุรนต์ถูกคสช.เรียกรายงานตัวตามคำสั่งคสช.ฉบับที่ 1/2557 แต่เขาไม่เข้ารายงานตัวทั้งยังประกาศบนเฟซบุ๊กและจัดแถลงข่าวถึงเหตุผลที่ทำให้เขาไม่เข้ารายงานตัว   

พฤติการณ์การจับกุม

27 พฤษภาคม 2557

ข่าวสดอนไลน์  รายงานว่า เวลาประมาณ  14.15 น. จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อในคำสั่งเรียกบุคคลรายงานตัวของคสช. แต่ไม่ได้ไปรายงานตัว เดินทางไปเป็นวิทยากร พูดเรื่องผลกระทบของการรัฐประหาร ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย

ต่อมาในเวลาประมาณ 15.40 น. เจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมตัวจาตุรนต์ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ ท่ามกลางผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก ที่บันทึกภาพการจับกุม และเผยแพร่เหตุการณ์ไปทั่วโลก จาตุรนต์ตะโกนบอกผู้ที่มาร่วมงานแถลงข่าวเป็นคำสุดท้ายว่า "ไม่ต้องห่วงผมครับ"  

จาตุรนต์ถูกควบคุมตัวในสถานที่ปิดลับซึ่งน่าจะเป็นค่ายทหารเป็นเวลาสองคืน เขาปรากฎตัวอีกครั้งในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวเขามาตั้งข้อกล่าวหาที่กองบังคับการปราบปราม 

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
22 พฤษภาคม 2557
 
คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 1/2557 เรียกบุคคลเข้ารายงานตัว ภายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ชื่อของจาตุรนต์ปรากฎในคำสั่งฉบับดังกล่าวด้วยแต่จาตุรนต์ไม่ได้มารายงานตัวตามวันเวลาที่ประกาศไว้
 
23 พฤษภาคม 2557
 
เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า จาตุรนต์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ้กส่วนตัว ต่อกรณีการไม่เข้ารายงานตัวว่า

"ความเห็นต่อการยึดอำนาจ และการรายงานตัว
 
สวัสดีครับทุกท่าน ในหลายสิบปีมานี้ผมได้แสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารมาตลอด และยังได้เคยให้ความเห็นไว้หลายครั้งว่าไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นในสังคม การรัฐประหารจะยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งขึ้นเสมอ วันนี้ผมก็ยังมีความเห็นอย่างเดิมคือไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในครั้งนี้ และเห็นว่าการยึดอำนาจไม่ใช่ทางออกของประเทศ หากมีแต่จะยิ่งทำให้ประเทศมีปัญหามากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงขอสงวนสิทธิ์ที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในครั้งนี้ และจะเรียกร้องผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้การดำเนินการใด ๆ ของผมจะยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ผลประโยชน์ของประเทศชาติและโดยสันติวิธี
 
สำหรับกรณีที่มีการให้ผมกับนักการเมืองและบุคคลจำนวนมากไปรายงานตัวต่อ คสช.นั้น ขอเรียนว่าเมื่อผมไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ และเห็นว่าการยึดอำนาจนี้ไม่เป็นการแก้ปัญหาของบ้านเมือง และไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ผมจึงไม่อาจไปรายงานตัวต่อ คสช.ได้ ทั้งนี้มิใช่ว่าผมต้องการจะไปกระทำการอะไรที่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองตามปรกติ และก็มิได้ต้องการจะก่อความไม่สงบใด ๆ ทราบจากเพื่อนรัฐมนตรีบางคนที่เข้าไปรายงานตัวว่าบางท่านได้รับแจ้งว่า รมต.ที่ถูกกักตัวไว้จะได้รับการปล่อยตัวเมื่อ รมต.ทุกคนมารายงานตัวกันครบแล้ว ผมก็เลยกลายเป็นภาระต่อท่านเหล่านั้น
 
หากกรณีเป็นเช่นนั้นจริงผมก็ไม่ขัดข้องที่จะไปพบกับ คสช. เพียงแต่ว่าคงต้องขอที่จะไม่ไป"รายงานตัว" หากคสช.จะกรุณาก็ขอให้ช่วยมารับตัวหรือจะเรียกว่าคุมตัวไปพบกับ คสช.ก็ได้ ในเวลาที่เหมาะสม ผมจะได้ประสานติดต่อเพื่อการนี้ต่อไป
 
อยากจะเรียนยืนยันต่อทุกฝ่ายทุกท่านด้วยความเคารพว่าในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในหลายปีมานี้ รวมทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ผมไม่มีความผิดหรือข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายใด ๆติดตัวอยู่เลยแม้แตเรื่องเดียว และก็ไม่ต้องการที่จะทำผิดกฎหมาย (ปรกติและที่ชอบธรรม)ใด ๆด้วย ผมจึงมิได้คิดจะหลบหนีเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายแต่อย่างใด
 
จึงเรียนมาเพื่อทราบทั่วกัน"
 
24 พฤษภาคม 2557
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า คสช.ออกคำสั่ง ฉบับที่ 10/2557 ห้ามมิให้นายจาตุรนต์ทำธุรกรรมทางการเงินทุกทาง เพื่อป้องกัน ระงับ มิให้กระทำการช่วยเหลือหรือสนับสนุนด้านการเงินแก่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่กระทำการ หรือมีการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
 
27 พฤษภาคม 2557
 
ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า จาตุรนต์ถูกจับกุมตัว ระหว่างการแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 
 
29 พฤษภาคม 2557
 
สารวัตรทหารควบคุมตัวจาตุรนต์ไปยังกองปราบปราม และเมื่อไปถึงก็ให้ขึ้นไปยังห้องประชุมทันที ไม่อนุญาตให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ต่อมาพนักงานสอบสวนต่างทยอยกันเข้าปฏิบัติหน้าที่
 
เวลาประมาณ 18.30 น. สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พนักงานสอบสวนกองปราบปราม นำตัวจาตุรนต์ มายังศาลทหาร กรมพระธรรมนูญ เพื่อขออำนาจศาลฝากขังผลัดที่ 1 ระยะเวลา 12 วัน ระหว่างการพิจารณาคดี ในฐานความผิดฝ่าฝืนคำสั่ง ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และความผิดตามาตรา 116 สร้างความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
 
จาตุรนต์ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลทหารกรุงเทพฯ
 
ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากจาตุรนต์เป็นผลัดที่หนึ่ง เป็นเวลา 12 วัน โดยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยนำตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
 
6 มิถุนายน 2557
 
เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพนำตัวจาตุรนต์ไปฝากขังต่อเป็นผลัดที่สอง ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ ฐิติมา ฉายแสง น้องสาวของจาตุรนต์ พร้อมทนายความจากสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเดินทางไปที่ศาลทหาร เพื่อยื่นคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวเช่นกัน
 
เวลา 10.30 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ไต่การคัดค้านคำร้องขอฝากขัง ที่พนักงานสอบสวนจากกองบังคับการกองปราบปรามยื่นขอฝากขังจาตุรนต์ ต่อเป็นผลัดที่สอง
 
พนักงานสอบสวนชี้แจงต่อศาลว่า ขณะนี้ยังสอบพยานบุคคลยังไม่แล้วเสร็จ นอกจากนี้ก็ต้องรอผลการตรวจสอบพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นคลิปคำแถลงของจาตุรนต์ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ จากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง และต้องรอการตรวจสอบ ประวัติอาชญากรรมด้วย
 
ศาลถามพนักงานสอบสวนว่า ในช่วงที่ผ่านมาดำเนินการสอบสวนจาตุรนต์แล้วเสร็จหรือไม่ พร้อมกับขอให้ยืนยันเหตุผล ของการขอฝากขังต่อเป็นผลัดที่สอง พนักงานสอบสวนตอบว่าสอบสวนจาตุรนต์เสร็จแล้ว และขอยืนยันเหตุผลในการฝากขัง
 
ศาลถามจาตุรนต์ว่า จะคัดค้านการขอฝากขังเป็นผลัดที่สองหรือไม่ จาตุรนต์ลุกขึ้นยืนชี้แจงว่า ขอคัดค้านการฝากผลัดที่สอง เพราะเห็นว่าระหว่างการฝากครั้งผลัดแรกจำนวน 12 วัน พนักงานสอบสวนสามารถตรวจสอบพยานให้แล้วเสร็จได้
 
สำหรับการรอผลจากกองพิสูจน์หลักฐานกลางนั้น ตนเห็นว่าเจ้าหน้าที่ควรตรวจสอบคลิปให้เสร็จก่อน แล้วจึงแจ้งข้อกล่าวหา  
 
สำหรับการตรวจสอบทะเบียนประวัติอาชญากรรม ตนมีอาชีพเป็นนักการเมือง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาหลายสมัย จึงไม่มีประวัติทางอาชญากรรมอย่างแน่นอน จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องฝากขังต่อไป
 
การแจ้งข้อกล่าวหาทั้งการคัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การรายงานตัวฉบับที่ 1/2557 และข้อกล่าวหาว่าการแถลงข่าวเป็นการยุยง ส่งเสริมถือเป็นข้อหาที่หนัก ตนจำเป็นต้องมีทนายความ และผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากในการต่อสู้คดี เพราะตนถือเป็นพลเรือนคนแรกในรอบ สิบปีที่ขึ้นศาลทหาร หากถูกควบคุมตัว จะทำให้เสียสิทธิในการต่อสู้คดี และที่ผ่านมาไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี จะเห็นได้ว่าในวันแถลงข่าวตนยอมให้เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว
 
ในเวลาต่อมา ศาลมีคำสั่งให้ฝากขังจาตุรนต์ต่อเป็นผลัดที่สอง ระหว่างวันที่ 9-20 มิถุนายน เป็นเวลา 12 วัน ในเวลา14.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวจาตุรนต์ชั่วคราว ด้วยวงเงินประกัน 400,000 บาท พร้อมห้ามออกนอกประเทศ ห้ามร่วมชุมนุมและแสดงความเห็นทางการเมือง
 
15 ตุลาคม 2557
 
นัดสอบคำให้การ
 
จาตุรนต์เดินทางมาถึงศาลในเวลาประมาณ 9.30 น. โดยก่อนหน้านั้นมีผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่ง ประมาณ 20-30คนมายืนรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อจาตุรนต์มาถึง ผู้สนับสนุนก็มอบดอกไม้ให้ จาตุรนต์ทักทายผู้มาให้กำลังใจอยู่ครู่หนึ่ง แต่ไม่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว และเดินเข้าไปในอาคารกรมพระธรรมนูญทันที
 
จาตุรนต์เดินเข้าห้องพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 10.30 น. ในห้องพิจารณาคดีนอกจากจะมีคู่ความและผู้ติดตามของจาตุรนต์แล้ว ยังมีผู้สังเกตการณ์จากสถานทูตฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน และแคนาดา รวมทั้งตัวแทนจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากลอยู่ด้วย 
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 11.25 น. ศาลแจ้งว่าที่ขึ้นบัลลังก์ช้า เป็นเพราะจำเลยเดินทางมาถึงสายและยื่นเอกสารคำร้องซึ่งมีหลายหน้า ทำให้ศาลต้องใช้เวลาในการพิจารณา
 
ศาลแจ้งกับโจทก์ว่า จำเลยยื่นคำร้องสองข้อ ข้อแรก จำเลยขอคัดค้านอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหาร ข้อที่สอง จำเลยร้องว่า ประกาศคสช ฉบับที่ 37 และ 38 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ศาลถามโจทก์ว่าจะคัดค้านคำร้องของจำเลยหรือไม่ โจทก์แจ้งต่อศาลว่าจะยื่นคัดค้าน โดยจะยื่นเอกสารต่อศาลภายใน 30 วัน ทนายจำเลยก็แจ้งต่อศาลว่าจะขอยื่นเอกสารเพิ่มเติมภายในสามสิบวันเช่นกัน
 
ศาลจึงสั่งว่าให้คู่ความทั้งสองยื่นเอกสารภายใน 30 วัน เพื่อที่ศาลทหารจะได้ส่งคำร้องของทั้งสองฝ่ายไปให้ศาลอาญาและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อทราบคำวินิจฉัยจะมีการนัดฟังคำสั่งอีกครั้ง 
 
สำหรับกรณีที่จาตุรนต์ขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศนั้น ศาลอนุญาตแต่ขอให้มารายงานตัวหลังจากที่เดินทางกลับมาแล้ว
 
ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณา ตัวแทนคณะทนายความของจาตุรนต์ แถลงข่าวที่หน้าอาคารกรมพระธรรมนูญ สรุปความได้ว่า
 
เหตุที่คณะทนายความเห็นว่า คดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารเป็นเพราะ
 
1. การกระทำของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22-24 และวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 และสิ้นสุดลงก่อนที่ประกาศคสช. ฉบับที่ 37 และ 38 (เรื่องคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร)จะมีผลบังคับใช้ โดยประกาศทั้งสองฉบับ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 คดีของจำเลยจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ไม่ใช่ศาลทหาร
 
2. ประกาศคสช. ฉบับที่ 37 และ 38 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพราะมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว
 
ข้อนี้ ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตั้งแต่เดือนมกราคม 2540 ซึ่งกติกาดังกล่าว กำหนดให้พลเมืองมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย เป็นธรรม โดยคณะตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นกลาง รวมทั้งสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ ฎีกาได้
 
การดำเนิคดีต่อจำเลยซึ่งเป็นพลเรือน ในศาลทหาร ระหว่างที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งมีการพิจารณาเพียงชั้นเดียว ไม่มีอุทธรณ์หรือฎีกา ถือว่าขัดต่อทั้งมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
 
จากเหตุผลที่ชี้แจงมาทั้งสองข้อข้างต้น จาตุรนต์จะยังไม่ให้การในวันนี้ แต่จะขอให้ศาลทหารกรุงเทพ ส่งสำนวนคดีนี้ไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เพื่อให้มีคำวินิจฉัย และจะให้การภายหลังจากมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดแล้ว   
 
25 เมษายน 2559
 
ศาลทหารนัดจาตุรนต์ฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาลซึ่งสรุปได้ว่า ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว คดีอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลยุติธรรม (ศาลพลเรือน) แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กและการจัดแถลงข่าวเรื่องการไม่เข้ารายงานตัวนั้นอยู่ในอำนาจศาลทหาร
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา