ธนาธร: ร่วมกับนักกิจกรรมชุมนุมหน้าสน.ปทุมวัน

อัปเดตล่าสุด: 17/05/2563

ผู้ต้องหา

ธนาธร

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2562

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 24 มิถุนายน 2558 นักกิจกรรมเจ็ดคน ได้แก่ รังสิมันต์ ทรงธรรม รัฐพล อภิสิทธิ์ ปกรณ์ ชลธิชา และ พรชัย ซึ่งถูกออกหมายจับจากการร่วมชุมนุมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพในวันครบรอบการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2558  เดินทางมาที่ส.นปทุมวัน แต่ไม่ได้มารายงานตัวตามหมายจับ เขามาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนว่า ในวันที่ 22 ระหว่างที่พวกเขาชุมนุม ถูกเจ้าหน้าทำร้ายร่างกายพวกเขาระหว่างการสลายการชุมนุม

ขณะที่นักศึกษากลุ่มดาวดินจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเจ็ดคนได้แก่ วสันต์ พายุ อภิวัฒน์ ศุภชัย ภาณุพงศ์ สุวิชา และ จตุภัทร์ ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันจากการทำกิจกรรมชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารที่จังหวัดขอนแก่นในวันเดียวกัน เดินทางมาให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมที่กรุงเทพด้วย ขณะเดียวกันก็มีเพื่อนๆ อาจารย์ และประชาชน ประมาณ 50 – 60 คนมาให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมที่หน้าสน.ปทุมวัน 
  
บรรยากาศที่หน้าสน.ปทุมวันกลายเป็นการชุมนุมย่อยๆ เนื่องจากนักกิจกรรมทั้งเจ็ดถูกศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับแล้ว พวกเขาจึงมอบหมายให้ทนายความเข้าไปแจ้งความในสน.แทน เพราะหากพวกเขาเข้าไปก็จะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับแจ้งความเพราะเห็นว่า ผู้เสียหาย(นักกิจกรรมทั้งเจ็ด) อยู่ที่หน้าสน.แล้วจึงให้เข้ามาแจ้งความเอง และเจ้าหน้าที่ก็กั้นพื้นที่หน้าสน.ปทุมวันไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในอาคาร

เหตุการณ์จึงยื้อกันอยู่บริเวณหน้าตลาดสามย่านเป็นเวลาหลายชั่วโมง จนกระทั่งเวลาเกือบ 22.00 น. เมื่อเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า จะไม่มีการจับกุมบุคคลใดในวันนั้นและยอมรับให้ตัวแทนกลุ่มนักกิจกรรมแจ้งความกรณีถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายได้ 
 
สี่ปีให้หลังจากเหตุการณ์ ท่ามกลางบรรยากาศการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2562 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในวันที่ 6 เมษายน 2562 ต่อมาทราบรายละเอียดว่าธนาธรถูกตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวเพราะไปอยู่ที่หน้าสน.ปทุมวันในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงทยอยออกหมายเรียกนักกิจกรรมที่อยู่ในที่เกิดเหตุรวมทั้งนักกิจกรรม 14 คนที่มีมาในวันดังกล่าว และเรียกเพื่อนๆ ที่มาให้กำลังใจเพิ่มอีก 2 คน รวมแล้วคดีนี้มีคนถูกเรียกมารับทราบข้อกล่าวหารวม 17 คน
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ธนาธร เป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สมัยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธนาธรเคยทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มสมัชชาคนจน และอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่ตำรวจบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลสลายการชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจนซึ่งในขณะนั้นมีชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี  ธนาธรเคยเป็นผู้บริหารของกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ก่อนที่จะลาออกมาทำงานการเมืองในฐานะผู้ร่วมจัดตั้งและหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในปี 2561 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ในการลงเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อรัฐสภาลงคะแนนให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีธนาธรได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีแข่งกับพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชาแคนดิดเดทของพรรคพลังประชารัฐแต่ได้คะแนนน้อยกว่า
 
รังสิมันต์ หรือ โรม เป็นอดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองครั้งแรกจากการเข้าร่วมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเขายังคงทำกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยมาในนาม "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" ที่ต่อมามีการปรับโครงสร้างเป็น "กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย" ระหว่างนั้นเขาถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรม เช่น คดี 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558, คดีแจกเอกสารโหวตโนที่เคหะบางพลี, คดีพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสานที่จังหวัดขอนแก่น และคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกสี่คดี หลังมีการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ รังสิมันต์สมัครเป็นสมาชิกพรรคและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562  
 
ชลธิชา หรือ ลูกเกด เป็นอดีตนิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและเคยเป็นสมาชิกกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองครั้งแรกจากการเข้าร่วมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ หลังจบการศึกษาชลธิชาปริญญาตรี เธอศึกษาต่อที่สถาบันสิทธิมนุษญชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คงทำกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยมาในนาม "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" ที่ ต่อมามีการปรับโครงสร้างเป็น "กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย" ระหว่างนั้นเธอถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรม เช่น คดี 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่, จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 และคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกสี่คดี  
 
ปกรณ์ หรือ แมน เป็นอดีตนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา เคยเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และ คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปกรณ์ถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกจากการเข้าร่วมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ หลังจากนั้นเขาถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกอย่างน้อยสามคดีได้แก่ คดี 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558, คดีแจกสติกเกอร์โหวตโนประชามติที่อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าบก.กองทัพบก (ARMY57) ในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 ปกรณ์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชนและเป็นโฆษกพรรคคนแรกแต่ได้ลาออกช่วงหลังการเลือกตั้ง 
 
รัฐพล หรือ บาส เป็นอดีตนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นอดีตสมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองครั้งแรกจากการเข้าร่วมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพคดี และถูกดำเนินคดีอีกอย่างน้อย 1 คดีได้แก่ คดี 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558
 
พรชัย หรือ แซม เป็นอดีตนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท) นอกจากคดีชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารแล้วพรชัยก็ถูกดำเนินคดี 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ด้วย
 
อภิสิทธิ์ หรือ หนุ่ย เป็นอดีตนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสมาชิกกลุ่มลุ่มเสรีนนทรีเกษตรศาสตร์ ก่อนหน้านี้เคยทำกิจกรรมคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม คัดค้านเขื่อนแม่วงศ์ รวมทั้งเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐ ต่อกรณีการหายตัวของ "บิลลี่" นักสิทธิของคนชาติพันธุ์ อภิสิทธิ์ ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองครั้งแรกจากการเข้าร่วมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ จากนั้นก็ถูกดำเนินคดี 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 คดีนั่งรถไฟไปอุทยารราชภักดิ์ จากนั้นจึงมาถูกดำเนินคดีร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพอีกสามคดี 
 
ทรงธรรม หรือ เดฟ เป็นอดีตนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ และเป็นอดีตสมาชิกกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.)  ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองครั้งแรกจากการเข้าร่วมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ หลังจากนั้นเขาถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้งใน คดี 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 และคดีปิยรัฐฉีกบัตรประชามติโดยในคดีดังกล่าวเขาเป็นคนถ่ายและเผยแพร่วิดีโอคลิปเหตุการณ์ที่ปิยรัฐฉีกบัตรออกเสียงประชามติ
 
วสันต์ หรือ โต้ง อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นเป็นอดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน เคยลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เมื่อครั้งที่มารับทราบข้อกล่าวหาคดีนักกิจกรรมชุมนุมหน้าสน.ปทุมวันในเดือนพฤษภาคม 2562 วสันต์มารับทราบข้อกล่าวหาขณะอยู่ในเพศบรรชิต นอกจากจะถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นแล้วซึ่งเป็นคดีการเมืองคดีแรกของวสันต์แล้ว เขายังถูกดำเนินคดี 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ด้วย   
 
พายุ อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและอดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน พายุเคยลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย นอกจากจะถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นซึ่งเป็นคดีการเมืองคดีแรกของพายุแล้ว พายุยังถูกดำเนินคดี 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 และคดีละเมิดอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่นจากกรณีจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์หรือ "ไผ่ ดาวดิน" ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี 112 จากการแชร์บทความบีบีซีไทยเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่สิบด้วย
 
อภิวัฒน์ หรือ น้อย อดีตนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและเป็นอดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน มีประสบการณ์ลงพื้นที่ไปทำงานกับชาวบ้านที่คัดค้านการทำปิโตรเลียมในจังหวัดกาฬสินธุ์  นอกจากจะถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นซึ่งเป็นคดีการเมืองคดีแรกของอภิวัฒน์แล้ว เขายังถูกดำเนินคดี 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 และคดีละเมิดอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่นจากกรณีจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์หรือ "ไผ่ ดาวดิน" ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี 112 จากการแชร์บทความบีบีซีไทยเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่สิบด้วย
 
ศุภชัย หรือ อาร์ตี้ อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและอดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน มีประสบการณ์ลงพื้นที่ ทำงานร่วมกับชาวบ้านที่ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และปัญหาเหมืองแร่ที่ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย นอกจากจะถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นซึ่งเป็นคดีการเมืองคดีแรกของศุภชัยแล้ว เขายังถูกดำเนินคดี 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ด้วย 
 
ภาณุพงศ์ หรือ ไนซ์ อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและอดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน มีประสบการณ์ลงพื้นที่ไปทำงานกับชาวบ้านที่คัดค้านการทำปิโตรเลียมในจังหวัดกาฬสินธุ์  นอกจากจะถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นซึ่งเป็นคดีการเมืองคดีแรกของภาณุพงศ์แล้ว  เขายังถูกดำเนินคดี 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 คดีละเมิดอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่นจากกรณีจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์หรือ "ไผ่ ดาวดิน" ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี 112 จากการแชร์บทความบีบีซีไทยเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่สิบ และคดีพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสานด้วย
 
สุวิชา หรือ เบสท์ อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและอดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน สุวิชาเป็นฝ่ายกฎหมายประจำพื้นที่ กลุ่มอนุรักษ์ดงมูล จังหวัดกาฬสินธุ์
 
จตุภัทร์ หรือ ไผ่ อดีตนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและอดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน จตุภัทร์เคยเคยลงพื้นที่พิพาทชุมชนบ้านบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัด ชัยภูมิ นอกจากจะถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นซึ่งเป็นคดีการเมืองคดีแรกของจตุภัทร์ เขายังถูกดำเนินคดีการเหมืองอีกหลายคดี ได้แก่  คดี 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากการร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 คดีพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน และคดีแจกเอกสารรณรงค์โหวตโนประชามติที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิซึ่งเป็นภูมิลำเนาของเขาในปัจจุบัน
 
จตุภัทร์ถูกคุมขังในทัณฑสถานบำบัดพิเศษ จังหวัดขอนแก่นเป็นเวลา 2 ปี 4 เดือน 19 วัน หรือ 870 วัน ตั้งแต่วันที่  22 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 เพราะถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่สิบของเว็บไซต์บีบีซีไทย หลังถูกจับกุมช่วงต้นเดือนธันวาคมจตุภัทร์ได้รับการประกันตัวช่วงสั้นๆก่อนจะถูกถอนประกันเพราะโพสต์ภาพและข้อความพูดถึงเรื่องการประกันตัวของเขาในลักษณะ "เย้ยหยันอำนาจรัฐ" (เศรษฐกิจแย่ แม่งเอาแต่เงินประกัน) หลังถูกถอนประกันจตุภัทร์ก็ถูกคุมขังเรื่องมาเพราะเขาไม่ได้รับการประกันตัวอีกเลย 
 
ในเดือนเมษายน 2560 จตุภัทร์ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู และมีกำหนดขึ้นรับรางวัลที่ประเทศเกาหลีใต้ในเดือนพฤษภาคม 2560 แต่เขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว พ่อและแม่ของเขาจึงต้องเดินทางไปรับรางวัลแทน ในเดือนสิงหาคม 2560 คดีมาตรา 112 ของจตุภัทร์เข้าสู่กระบวนการสืบพยาน หลังต่อสู้คดีภายใต้การพิจารณาปิดลับไปได้สามนัดจตุภัทร์ก็ตัดสินใจกลับคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพ ศาลจึงพิพากษาจำคุกเขาเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน 
 
วรวุฒิ หรือ โบ้ อดีตนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากคดีนี้แล้วเขายังถูกดำเนินคดี ในคดีคดีแจกเอกสารโหวตโนที่ชุมชนเคหะบางพลีด้วย ในช่วงเลือกตั้งปี 2562 วรวุฒิทำงานเป็นฝ่ายกฎหมายให้กับพรรคอนาคตใหม่
 
สุไฮมี เป็นอดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) กลุ่มกิจกรรมที่ทำงานด้านสังคมและสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 215 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ข้อมูลจากบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของสน.ปทุมวันพอสรุปได้ว่า ในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 ระหว่างเวลา 14.00 น. ถึง 22.00 น. รังสิมันต์ ชลธิชา รัฐพล อภิสิทธิ์ ปกรณ์ ทรงธรรม พรชัย วรวุฒิ จตุภัทร์ อภิวัฒน์ พายุ ภาณุพงศ์ สุวิชชา ศุภชัย และวสันต์ พร้อมพวกประมาณ 200 คน ร่วมกันเข้าแถวผลัดกันขึ้นปราศรัย โดยใช้เวทีเวทีแอโรบิค ข้างตลาดสดสามย่านเป็นเวทีปราศรัย การปราศรัยดังกล่าวมีเนื้อหาโจมตี คสช. โจมตีรัฐบาล ปลุกปั่นท้าทายการทำหน้าที่ของทหารและตำรวจ โดยแกนนำของผู้ชุมนุมมีพฤติการณ์แบ่งงานกันทำและผลัดกันขึ้นปราศรัย 
 
จตุภัทร์และสมาชิกกลุ่มดาวดินปรายศรัยโจมตีผลเสียของการรัฐประหาร ในด้านทรัพยากรและสิทธิชุมชน และกล่าวหาว่า รัฐบาลหนุนหลังให้นายทุนกดขี่ประชาชน
 
วรวุฒิปราศรัยปลุกระดมให้มวลชนมาร่วมให้กำลังใจกลุ่มนักศึกษา ปลุกระดมให้ประชาชนไม่ยอมรับการปกครองของ คสช. นอกจากนั้นก็มีการแสดงสัญลักษณ์หมุดคณะราษฎร
 
รังสิมันต์กับพวกรวมเจ็ดคนที่เป็นผู้ต้องหาคดีการชุมนุมที่หน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ ปราศรัยท้าทายให้เจ้าหน้าที่เข้าทำการจับกุมตัวเขากับพวก รวมทั้งพูดเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมกิจกรรมและร่วมบริจาคเงิน
 
เมื่อผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมรังสิมันต์หลบหนีไปขึ้นรถตู้ซึ่งมีธนาธรนั่งอยู่ด้วย ส่วนผู้ต้องหาคนอื่นๆ ก็แยกย้ายกันขึ้นรถหลบหนีไป ซึ่งในเวลาต่อมาธนาธรก็โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ได้มาร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักศึกษาด้วย
 
พฤติการณ์การกระทำของผู้ต้องหา ถูกกล่าวหาว่า เป็นความผิด ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาตักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุดกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง อันเป็นข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 116, 215
 

พฤติการณ์การจับกุม

คดีนี้ไม่มีการจับกุมเนื่องจากผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวตามหมายเรียก
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
24 มิถุนายน 2558 
 
ตั้งแต่ก่อนเที่ยงที่หน้าสน.ปทุมวันมีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 2 กองร้อย พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารนอกเครื่องแบบเข้าประจำการเพื่อเตรียมรับเหตุการณ์ หลังมีข่าวว่านักกิจกรรม 7 คนที่ถูกออกหมายจับจากการไม่มารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนจากการร่วมชุมนุมในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่หน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ 
 
ในช่วงบ่ายนักกิจกรรมทั้งเจ็ดคนพร้อมทั้งประชาชนและนักวิชาการทยอยเดินทางมาถึงที่หน้าสน.ปทุมวัน นอกจากนั้นก็มีนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินอีกเจ็ดคนจากจังหวัดขอนแก่นเดินทางมาให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมที่กรุงเทพด้วย และทำกิจกรรมมอบดอกไม้ให้กำลังใจกัน 
 
เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีการกั้นพื้นที่บริเวณหน้าสน.ปทุมวัน กลุ่มประชาชนและนักกิจกรรมที่มาจึงจับกลุ่มกันอยู่นอกสถานีตำรวจบริเวณตลาดสามย่าน โดยมีสื่อมวลชนจำนวนมากให้ความสนใจมารอทำข่าว 
 
กลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีที่กรุงเทพทั้งเจ็ดคน แจ้งกับพนักงานสอบสวนที่ออกมาประสานงานด้านนอก สน. ว่า ไม่มีความประสงค์จะเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน แต่ตั้งใจจะมาแจ้งความเจ้าหน้าที่กลับในข้อหาทำร้ายร่างกาย จากกรณีใช้กำลังระหว่างการสลายการชุมนุมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ กลุ่มนักกิจกรรมต้องการร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชารวมสามคนได้แก่ พ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร, พ.ท.ภาสกร กุลรวิวรรณ, พ.อ.สุวิทย์ เกตุศรี ซึ่งรับผิดชอบควบคุมเหตุการณ์จับกุมกลุ่มนักกิจกรรมในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558  
 
กลุ่มนักกิจกรรมกังวลว่า หากพวกเขาเข้าไปร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเองก็จะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวเพราะพวกเขาถูกออกหมายจับในความฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.  เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองจากการทำกิจกรรมในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งครั้งนั้นเจ้าหน้าที่เรียกให้พวกเขาเข้ารายงานตัวตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2558 (http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1434629143) แต่กลุ่มนักกิจกรรมยืนยันว่า จะยังไม่เข้ารายงานตัวในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่จึงขอให้ศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับ
 
กลุ่มนักกิจกรรมมอบอำนาจให้ทนายความของพวกเขาเข้าไปร้องทุกข์กล่าวโทษกรณีถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายแทนแต่เจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งความเพราะเห็นว่าผู้เสียหายอยู่บริเวณนั้นจึงควรเข้ามาแจ้งความด้วยตัวเอง สถานการณ์ที่หน้าสน.ปทุมวันตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงเย็นค่อนข้างตึงเครียด มีการเจรจากลับไปกลับมาหลายครั้ง กลุ่มนักกิจกรรมต้องการให้ทางตำรวจเปิดพื้นที่หน้าสน.ปทุมวันให้ประชาชนที่มาให้กำลังใจและนักข่าวทุกคนเข้าไปในพื้นที่ได้ แต่ตำรวจไม่ยอมเพราะเห็นว่ามีคนมาในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จะยอมให้ผู้ที่ประสงค์จะแจ้งความเข้าไปในพื้นที่เท่านั้น 
 
ในเวลาประมาณ 18.30 น. หลังการเจรจาระหว่างตัวแทนกลุ่มนักกิจกรรม อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูล อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ทั้งหมดได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะให้นักกิจกรรมที่เป็นผู้เสียหายจากการถูกทำร้ายร่างกายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558  แต่ไม่ได้ถูกตั้งข้อหาและไม่มีหมายจับทั้งหมดห้าคน เป็นตัวแทนเข้าไปร้องทุกข์ในสน.ปทุมวัน ส่วนคนอื่นให้รออยู่ข้างนอก
 
ในเวลาประมาณ 21.30 ตัวแทนห้าคนที่เข้าไปร้องทุกข์กลับออกมาจากสน.ปทุมวัน  นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินซึ่งถูกศาลทหารขอนแก่นออกหมายจับขอเจ้าหน้าที่ดูหมายจับและแจ้งว่าหากจะทำการจับกุมก็ให้ดำเนินการที่หน้าสน.ปทุมวันเลย อย่าทำการจับกุมระหว่างการเดินทาง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เจรจาหรือมีข้อตกลงใดๆ กับนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน กลุ่มนักกิจกรรมจึงทยอยเดินทางกลับโดยมีรายงานในภายหลังว่า เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนนับสิบนายขี่รถมอเตอร์ไซค์ติดตามไปจนถึงที่พัก แต่ท้ายที่สุดในวันที่ 24 มิถุนายน ก็ไม่มีการจับกุมนักกิจกรรมคนใด และหลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานการดำเนินคดีจากเหตุการรวมตัวหน้า สน.ปทุวัน 
 
3 เมษายน 2562
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า ธนาธรได้รับหมายเรียกให้เข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยมูลเหตุของการออกหมายเรียกมาจากการสืบทราบว่าธนาธรเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มนักกิจกรรมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 ที่หน้าสน.ปทุมวัน โดยหมายเรียกกำหนดให้ธนาธรเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 6 เมษายน 2562
 
6 เมษายน 2562
 
ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่าธนาธรพร้อมด้วย พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่และทีมทนายความเดินทางมาถึงสน.ปทุมวันในเวลาประมาณ 9.50 น. โดยมีผู้สนับสนุนบางส่วนมารอให้กำลังใจและมีสื่อมวลชนมารอทำข่าวก่อนหน้านั้นแล้ว  เจ้าหน้าที่มีการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยที่หน้าสน.อย่างเข้มงวดและไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ 
 
กระบวนการสอบสวนในวันนี้มีนายตำรวจระดับสูงอย่างพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. เดินทางมาร่วมสอบปากคำธนาธรด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันก็มีตัวแทนสถานทูตรวม 12 แห่งที่ส่งตัวแทนมาสังเกตการณ์กระบวนการสอบสวน
 
ในส่วนของข้อกล่าวหา ธนาธรถูกตั้งข้อกล่าวหารวมสามข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันยุงยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ให้การช่วยเหลือผู้กระทำความผิดหลบหนี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189 และมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 
 
ในเวลาประมาณ 12.30 ธนาธรออกมาจากสน.ปทุมวัน เมื่อออกมาเขาแสดงสัญลักษณ์สามนิ้วต่อผู้ที่มาให้กำลังใจและระบุว่าเขาปฏิเสธที่จะให้การในวันนี้ แต่จะขอส่งคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรตามมาในภายหลัง
 
พฤษภาคม 2562
 
ผู้ต้องหาคนอื่นๆในคดีทยอยได้รับหมายเรียกซึ่งกำหนดให้พวกเขาเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562
 
22 พฤษภาคม 2562
 
ตั้งแต่เวลา 9.30 น. มีประชาชนกลุ่มหนึ่งมารอให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมและมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมากกว่า 20 นายกับผู้สื่อข่าวหลายสำนักมารอรายงานเหตุการณ์ที่หน้าสน.ปทุมวัน กลุ่มประชาชนที่มาให้กำลังใจมีการพิมพ์สติกเกอร์รูปผู้ถูกดำเนินคดี 15 คน (14 นักกิจกรรมและธนาธร) พร้อมข้อความ "15 เหยื่ออธรรมของผู้นำ คสช. " มาแจกจ่ายให้ผู้ที่มาให้กำลังใจถือขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีการล้อมรั้วลานหน้าสน.ปทุมวันเพื่อกันไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่
 
เวลาประมาณ 10.00 น. จตุภัทร์หรือไผ่ดาวดิน เดินทางมาถึงหน้าสน.ปทุมวันโดยจตุภัทร์ได้รับหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาคดีนี้ไม่กี่วันหลังจากที่เขาได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 หลังพ้นโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 จากการแชร์ข่าวของเว็บไซต์บีบีซีไทย 
 
เมื่อจตุภัทร์มาถึงสื่อมวลชนกรูกันเข้าไปรุมถ่ายภาพและขอสัมภาษณ์ จตุภัทร์ก็บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เขายังตื่นคนอยู่ขอให้ผู้สื่อข่าวใจเย็นๆ หลังจากนั้นนักกิจกรรมดาวดินคนอื่นๆและนักกิจกรรมที่เคยชุมนุมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพก็ทยอยเดินทางมาถึงและเดินเข้าไปในสน.ปทุมวัน โดยมีทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาให้ความช่วยเหลือทางคดี 
 
ผู้ที่มารายงานตัวในวันนี้มีทั้งหมด 13 คน ได้แก่ ชลธิชา ทรงธรรม อภิสิทธิ์ พรชัย รัฐพล และ รังสิมันต์ซึ่งเป็นนักกิจกรรมกลุ่มที่ชุมนุมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 นอกจากนั้นก็มี จตุภัทร์ วสันต์ พายุ อภิวัฒน์ ศุภชัย สุวิชา ภาณุพงศ์ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินโดยวสันต์หนึ่งในนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินมารับทราบข้อกล่าวหาโดยที่เป็นพระอยู่
 
ชลธิชาหนึ่งในนักกิจกรรมให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารายงานตัวว่าคดีนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า คสช. ชอบใช้กฎหมายมาดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมืองสำหรับคำให้การเธอและผู้ต้องหาคนอื่นๆ จะให้การปฏิเสธ ส่วนรังสิมันต์ ซึ่งเดินทางมารายงานตัวเป็นคนสุดท้ายระบุว่า ตัวเขาเองไม่กังวลกับคดีนี้แต่รู้สึกเป็นห่วงธนาธรมากกว่า 
 
นอกจากธนาธรและผู้ต้องหา 13 คน ที่มารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกในวันนี้ ยังเหลือผู้ต้องหาอีกสองคนที่ยังไม่เข้ารายงานตัวเพราะติดภารกิจในวันนี้ คือ ปกรณ์ หนึ่งในนักกิจกรรมที่ร่วมการชุมนุมที่หน้าหอศิลป์ กับวรวุฒินักกิจกรรมที่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 แต่มาถูกดำเนินคดีเพราะอยู่ที่หน้าสน.ปทุมวันในวันเกิดเหตุคดีนี้
 
ในเวลาประมาณ 13.30 น. นักกิจกรรมทั้งสิบสามคนให้การกับเจ้าหน้าที่และพิมพ์ลายนิ้วมือแล้วเสร็จ จึงออกจากสน.ปทุมวันโดยพวกเขาถือเค้กก้อนหนึ่งพร้อมทั้งร้องเพลง Happy Birthday ระหว่างเดินลงจากสน.เพื่อ "อวยพร" ในโอกาสครบรอบวันเกิด 5 ปีให้กับ "คสช." ระหว่างที่กลุ่มนักกิจกรรมเดินลงมา กลุ่มประชาชนที่มารอให้กำลังใจพวกเขานำกระดาษเอสี่ที่เขียนข้อความถึง คสช.ในโอกาสครบรอบ 5 ปีการรัฐประหาร มาร่วมถ่ายภาพกับนักกิจกรรมหลังจากนั้นพวกเขาใช้ผ้าดำที่เตรียมมาผูกกระดาษเขียนข้อความเหล่านั้นไว้กับรั้วเหล็กที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมากั้นไว้ตั้งแต่ช่วงเช้า 
 
หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมดังกล่าวกลุ่มนักกิจกรรมและประชาชนต่างแยกย้ายกันออกจากพื้นที่สน.ปทุมวันโดยระหว่างที่นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินบางส่วนกำลังรอขึ้นรถก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินมาสอบถามว่า พวกเขาจะไปร่วมชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เย็นวันนี้หรือไม่ ซึ่งกลุ่มนักกิจกรรมก็ตอบว่า ไม่ทราบว่ามีกิจกรรมอะไร
 
23 พฤษภาคม 2562 – 11 มิถุนายน 2562 
 
ปกรณ์และวรวุฒิ ผู้ต้องหาอีกสองคนเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว
 
11 มิถุนายน 2562
 
ประชาไทรายงานว่า สุไฮมี  อดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือกลุ่ม Permas โพสต์ภาพหมายเรียกของสน.ปทุมวันบนเฟซบุ๊กส่วนตัว สุไฮมีโพสต์ข้อความด้วยว่า ในวันเกิดเหตุเขาได้ขึ้นปราศรัยกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เพื่อให้กำลังใจนักกิจกรรมจากส่วนกลางที่เคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจ คสช. เนื้อหาที่พูดหลักๆ ก็เป็นเรื่องที่ไม่เห็นด้วยกับการเอาทหารมาแก้ปัญหาการเมือง โดยยกปรากฏการณ์ในปาตานีที่ใช้แนวทางการทหารมาแก้ซึ่งสุดท้ายก็ยื้ดเยื้อและไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้
 
15 มิถุนายน 2562
 
ประชาไทรายงานว่า สุไฮมีเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันแล้ว ในทางคดีสุไฮมีให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและแจ้งพนักงานสอบสวนว่า เขาจะให้การโดยละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน 
 
 
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา