กฤษกร: ทำกิจกรรมลอยอังคารผู้ว่าอุบลฯ

อัปเดตล่าสุด: 18/10/2562

ผู้ต้องหา

กฤษกร

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2560

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี

สารบัญ

วันที่ 28 ตุลาคม 2560  กฤษกรโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว พูดถึงการประชุมปิดเขื่อนปากมูล โดยไม่สนใจว่าน้ำจะท่วมจังหวัดอุบลราชธานีหรือไม่ ข้อความที่สองเขาโพสต์ภาพที่ปรากฎข้อความเหมือนข้อความแรก  และข้อความที่สามเขียนว่าว่า
 "3 พฤศจิกายน ขอเชิญร่วม ลอยอังคาร ผู้ว่าอุบลฯ ข้อหาปิดเขื่อนปากมูล "

ในเวลาต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีมอบอำนาจให้นิติกรจังหวัดอุบลราชธานีเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกฤษกรในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) ข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ข้อหาแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ และข้อหาดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าด้วยการโฆษณา

กฤษกรให้การปฏิเสธ ศาลจังหวัดอุบลราชธานีสืบพยานคดีนี้ระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายน 2562 ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบรวมสามปากได้แก่นิติกรจังหวัดอุบลราชธานีสองคนที่ร่วมกันร้องทุกข์กล่าวโทษเขา ส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานที่สืบรวมสองปากคือตัวกฤษกรที่เบิกความเป็นพยานให้ตัวเองกับพยานผู้เชี่ยวชาญอีกหนึ่งปาก

ในวันที่ 24 กันยายน 2562 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิพากษาว่ากฤษกรมีความผิด ลงโทษจำคุกรวม 4 ปี ปรับเงิน 110,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

ภูมิหลังผู้ต้องหา

กฤษกร หรือ “ป้าย ปากมูล” มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ กฤษกรสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันเขาเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล   

กฤษกร มีชื่อเป็นที่รู้จักในนามนักเคลื่อนไหวว่า  “ป้าย ปากมูล” หลังรัฐประหารปี 2557 เขาถูกเจ้าหน้าที่เรียกปรับทัศนคติอย่างน้อย 18 ครั้ง จากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์การเมือง

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ

การกระทำที่ถูกกล่าวหา


คำฟ้องของอัยการพอสรุปได้ว่า

ในวันที่ 28 ตุลาคม 2560 จำเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพบนเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ ซึ่งพอสรุปได้ว่า

(1.1)    ข้อความแรกจำเลยโพสต์ทำนองว่า จะมีการปิดประตูเขื่อนปากมูลในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 โดยที่ในวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ทางจังหวัดอุบลราชธานีมีหนังสือเรียกให้คณะอนุกรรมการปิดเขื่อนปากมูล (น่าจะหมายถึง อนุกรรมการบริหารจัดการเขื่อนปากมูล) มาประชุมในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 โดยที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวมีหน้าที่ประชุมเพื่อปิดประตูเขื่อนปากมูล

การปิดประตูเขื่อนของคณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นการปิดโดยไม่สนใจปริมาณน้ำเหนือซึ่งไหลลงมาท่วมจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม และกำลังจะไหลมายังจังหวัดอุบลราชธานี หากมีการปิดประตูเขื่อนปากมูล มวลน้ำจะเอ่อท่วมจังหวัดอุบลราชธานีเพราะไม่สามารถไหลลงแม่น้ำโขงได้

ข้อความต่อมาจำเลยโพสต์ทำนองว่า มวลน้ำที่กำลังไหลมาที่จังหวัดอุบลราชธานี (ขณะเกิดเหตุคดีนี้) เป็นมวลน้ำก้อนที่สาม ที่ไหลผ่านจังหวัดในรอบปี ซึ่งที่ผ่านมาทางจังหวัดใช้กลไกของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในการแก้ปัญหา แต่เหตุใดในครั้งนี้จึงเลือกใช้กลไกคณะอนุกรรมการฯ ในการแก้ปัญหา หากทางจังหวัดบริสุทธิ์ใจก็ควรใช้กลไกของปภ.แก้ปัญหาเฉกเช่นเดิม

เมื่อทางคณะอนุกรรมการฯยืนยันที่จะทำการประชุมจำเลยจึงจำเป็นที่จะต้องชุมนุม

จำเลยยังโพสต์ภาพหนังสือของจังหวัดอุบลราชธานี เรื่องเชิญอนุกรรมการบริหารจัดการเขื่อนปากมูลประชุมด้วย

ข้อความทั้งหมดของจำเลยหมายความว่า สฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะคณะอนุกรรมการฯ ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบราชการ ใช้อำนาจสั่งการให้ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล โดยไม่คำนึงถึงปริมาณน้ำเหนือเขื่อน และน้ำจากจังหวัดศรีษะเกษที่กำลังไหลมาที่จังหวัดอุบลราชธานี หากมีการปิดประตูระบายน้ำจะทำให้น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีได้ จึงขอคัดค้านการปิดเขื่อนและเชิญชวนให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันชุมนุมประท้วงการปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลที่ในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 เวลา 10.00 น.

ข้อความที่จำเลยนำมาโพสต์เป็นความเท็จ เพราะสฤษดิ์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอดและไม่ได้มีการใช้อำนาจปิดเขื่อนดังที่จำเลยกล่าวอ้าง และหนังสือเชิญประชุมที่จำเลยอ้างถึงก็เป็นการประชุมเพื่อติดตามมวลน้ำ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรายงานสถานการณ์ในแม่น้ำมูลให้คณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขเขื่อนปากมูลทราบเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเข้าข่ายเป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ อันจะทำให้ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง เกิดความตื่นตระหนก ว่าการปิดประตูจะทำให้ระบบสาธารณูปโภคถูกทำลาย จากอุทกภัยที่เกิดจากการปิดประตูระบายน้ำ และอาจก่อให้เกิดการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคจนทำให้สินค้ามีราคาแพง และอาจทำให้ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีหรือพื้นที่ใกล้เคียงออกมาชุมนุมเดินขบวนต่อต้านการปิดประตูระบายน้ำ จนไม่อาจดูแลความปลอดภัยสาธารณะได้

(1.2)    ในวันที่ 28 ตุลาคม 2560 จำเลยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า 3 พฤศจิกายน 2560 ขอเชิญร่วมลอยอังคารผู้ว่าอุบลฯข้อหาปิดเขื่อนปากมูล ซึ่งหมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและใช้อำนาจโดยมิชอบ สั่งการให้ปิดเขื่อนปากมูล และตัวผู้ว่าราชการจังหวัดได้เสียชีวิตไปแล้วจึงให้นำเถ้ากระดูกที่เหลือไปลอยน้ำ ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่สฤษดิ์ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และสฤษดิ์ยังไม่เสียชีวิต การกระทำของจำเลยจึงเป็นการดูหมิ่นสฤษดิ์ซึ่งหน้า รวมทั้งเป็นการไส่ความและแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือเป็นเหตุประชาชนตื่นตระหนกและทำให้สฤษดิ์เสียหาย ถูกดูถูกหรือเกลียดชัง

การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 328 384 393 และตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(2)

พฤติการณ์การจับกุม

คดีนี้ไม่มีการจับกุมเนื่องจากกฤษกร เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี ในวันที่ 20 ธันวาคม 2560จึงไม่มีการออกหมายจับ
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลจังหวัดอุบลราชธานี

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

3 พฤศจิกายน 2560

เดชชาติ นิติกรจังหวัดอุบลราชธานี รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับกฤษกร จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก


20 ธันวาคม 2560

กฤษกรเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลราชธานี โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา



26 พฤศจิกายน 2561

นัดสอบคำให้การ

กฤษกรพร้อมทนายเดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 4 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อศาลถามคำให้การกฤษกรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อัยการแถลงต่อศาลว่ามีพยานที่จะนำสืบรวมสามปาก ฝ่ายจำเลยแถลงว่าจะนำสืบพยานรวมหกปาก จากนั้นคู่ความตกลงสืบพยานกันในวันที่ 4-5 มิถุนายน 2562

หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี กฤษกรให้สัมภาษณ์กับไอลอว์ว่า เขาพร้อมสู้คดีเต็มที่ และการโพสต์ข้อความของเขาก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนแต่อย่างใด กฤษกรยืนยันว่าไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่รัฐที่จะมากดดัน ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกไปปรับทัศนคติมาแล้วถึง 18 ครั้งจากการเคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนปากมูล โดยมีบางครั้งที่เขาไม่ได้ไปรายงานตัว ซึ่งก็ไม่ปรากฎว่าเขาถูกคุกคามมากขึ้นแต่อย่างใด

4 กันยายน 2562

นัดสืบพยาน

การสืบพยานทำในห้องพิจารณาคดี 3 ศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 9.30 น.

สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง เดชชาติ ทวีแก้ว ปลัดอำเภอนาจะหลวย ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

เดชชาติ เริ่มเบิกความว่าปัจจุบันเขารับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอที่อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี โดยเริ่มทำงานในตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน (ขณะที่เบิกความต่อศาล)  ก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานเป็นนิติกรที่ที่ทำการปกครองจังหวัดอุบลราชธานี โดยอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2561

เดชชาติเบิกความเกี่ยวกับตำแหน่งนิติกรซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ทำให้เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ว่า ในตำแหน่งนิติกร เขามีหน้าที่พิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานราชการของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ซึงขณะเกิดเหตุคือ สฤษดิ์ วิฑูรย์ พิจารณาสำนวนที่สั่งไม่ฟ้องในคดีแพ่งซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของผู้ว่าราชการจังหวัด การดำเนินคดีทางวินัย คดีปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด  

เดชชาติเบิกความว่าเกี่ยวกับคดีนี้ ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2560 เลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีแจ้งเขาทางโทรศัพท์ว่า ให้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงทางสื่อโซเชียล กรณีมีบุคคลโพสต์ข้อความที่อาจจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งหากพบว่าข้อความที่โพสต์เข้าข่ายความผิด เขาก็จะร่างหนังสือสอบอำนาจเพื่อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ลงนามมอบอำนาจให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

เดชชาติเบิกความต่อว่า จากการตรวจสอบเฟซบุ๊ก พบว่าจำเลยคดีนี้โพสต์ข้อความทำนองว่าจะลอยอังคารผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งมีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการปิดประตูเขื่อนปากมูล

อัยการให้เดชชาติดูเอกสาร เดชชาติเบิกความว่าเป็นภาพบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย อัยการอ้างส่งเป็นหลักฐานต่อศาล เดชชาติเบิกความต่อว่าจากการตรวจสอบพบว่ามีเฟซบุ๊กชื่อ สมัชชาคนจน โพสต์ข้อความเดียวกันกับที่จำเลยคดีนี้โพสต์ โดยข้อความบนเฟซบุ๊กสมัชชาคนจนโพสต์ประมาณวันที่ 27 ตุลาคม 2560 เมื่อเขาตรวจพบจึงปริ้นต์เอกสารดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน

เดชชาติเบิกความต่อว่า จากการตรวจสอบข้อความตามฟ้องทั้งหมดพบว่าบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยและบัญชีเฟซบุ๊กสมัชชาคนจน มีการตั้งค่าการโพสต์เป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเปิดอ่านได้ แม้บุคคลนั้นจะไม่ได้เป็นเพื่อนกับจำเลยบนเฟซบุ๊ก เขาจึงปริ้นต์ภาพและข้อความเหล่านั้นออกมาเพื่อเป็นหลักฐานในคดีนี้

เดชชาติเบิกความเกี่ยวกับข้อความว่า ที่จำเลยโพสต์ข้อความว่าจะมีการปิดเขื่อนปากมูลเป็นความเท็จ ข้อเท็จจริงคือการประชุมกันในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 เป็น การประชุมติดตามสถานการณ์น้ำทั่วไปของคณะกรรมการที่จังหวัดได้ตั้งขึ้น โดยการประชุมในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ก็ไม่ได้มีการพิจารณาวาระเรื่องการปิดเขื่อนปากมูล

จากการอ่านข้อความที่จำเลยโพสต์ เดชชาติเบิกความให้ความเห็นว่า หากประชาชนทั่วไปอ่าน จะเกิดความตกใจกลัว เนื่องจากจะมีการปิดเขื่อนปากมูล ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยทั่วไป คือจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชสวนไร่นาแก่บุคคลผู้อยู่อาศัยเหนือเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนปากมูลรองรับน้ำจากแม่น้ำมูล และแม่น้ำชี

ข้อความดังกล่าวทำให้บุคคลทั่วไปอ่านแล้วเช้าใจว่าผู้ว่าฯ ต้องเป็นบุคคลผู้สั่งปิดเขื่อนปากมูล

เดชชาติเบิกความเพิ่มเติมว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการจังหวัดซึ่งพิจารณาการเปิดปิด เขื่อนปากมูล และการโพสต์ข้อความของจำเลยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบโดยการปิดเขื่อนและเป็นเหตุให้ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่บริเวณเหนือเขื่อนได้รับความเสียหาย

เมื่อประชาชนทั่วไปอ่านข้อความกฤษกรก็จะเข้าใจว่า จะมีการปิดเขื่อนปากมูลซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วม ทำให้ประชาชนเกิดความตกใจกลัวและกังวลว่าทรัพย์สินของตัวเองจะเสียหาย

เดชชาติเบิกความเกี่ยวกับข้อความที่กฤษกรโพสต์ข้อความเชิญชวนให้ประชาชนมาคัดค้านการปิดเขื่อนปากมูลที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ว่า  

ข้อความดังกล่าวทำให้เข้าใจว่า ผู้ว่าราชการอุบลราชธานี เป็นผู้ปิดเขื่อนปากมูล ซึ่งในความจริงแล้ว อำนาจในการพิจารณาเปิดปิดเขื่อนปากมูล เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่ทางจังหวัดจัดตั้งขึ้น ไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าฯหรือคณะกรรมการคนใดคนหนึ่ง โดยการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาดังกล่าวเป็นการจัดตั้งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 131/2558 วันที่ 3 มิถุนายน 2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล

อัยการให้เดชชาติดูและรับรองเอกสารคำสั่งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลที่ 1/2559 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 คำสั่งของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่ 2/2553 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเชื่อนปากมูล วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 และคำสั่งรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ที่ 3/2553 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานสนับสนุน การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล วันที่ 10 มีนาคม 2553 ด้วย

เดชชาติเบิกความว่า หลังจากมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ก็มีการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายชุด เพื่อพิจารณารวบรวมข้อเท็จจริง และนำมาแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลซึ่งดำเนินมาในรูปแบบคณะกรรมการ จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯเพียงคนเดียวในการพิจารณาปิดเขื่อนปากมูล

เดชชาติเบิกความว่า ตามภาพสำเนาหนังสือเชิญประชุมที่ลงลายมือชื่อด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นการเชิญประชุม คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ครั้งที่ 1/2560 เป็นหนังสือเชิญประชุมทั่วไป เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ ไม่ได้เป็นการเชิญประชุมเพื่อลงมติปิดเขื่อนปากมูล ข้อความที่กฤษกรโพสต์จึงไม่เป็นไปตามความจริง เป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์  

เดชชาติเบิกความว่า ข้อความที่กฤษกรโพสต์อาจทำให้ประชาชนทั่วไปตกใจกลัวว่าหากมีการปิดประตูเขื่อนปากมูล น้ำจะท่วมและประชาชนจะได้รับผลกระทบ จนอาจเป็นเหตุให้ออกมารวมตัวเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และประชาชนบางส่วนก็อาจ น้ำจะกากเนื่องจากกลัวว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมซึ่งเกิดจากการปิดเขื่อนปากมูล และก่อให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจในการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี

และอาจเป็นเหตุให้ประชาชนมารวมตัวกัน เพื่อกดดันไม่ให้มีการปิดเขื่อนปากมูล จนอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ความไม่ปลอดภัยในชีวิต และกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนั้นข้อความที่กฤษกรโพสต์ก็อาจทำให้ประชาชนกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค จนทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น  และยังทำให้เกิดความเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงของสฤษดิ์ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้นด้วย

ส่วนข้อความ “3 พฤศจิกายน 2560 ขอเชิญร่วมลอยอังคารผู้ว่าอุบลฯข้อหาปิดเขื่อนปากมูล”   ทำให้คนที่มาอ่านเข้าใจว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเสียชีวิตไปแล้ว แต่ไม่เป็นความจริงและทำให้สฤษดิ์เสียหาย ส่วนข้อความ “ข้อหาปิดเขื่อนปากมูล” ทำให้เข้าใจว่า ผู้ว่าฯปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีประสิทธิภาพ ในเรื่องเกี่ยวกับการปิดเขื่อนปากมูล

เดชชาติเบิกความว่า หลังกฤษกรโพสต์ข้อความที่เป็นปัญหาทั้งหมดในคดีนี้ ตัวเขาก็ได้รับการประสานงานจากเลขานุการของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพราะข้อความของกฤษกรก่อให้เกิดความเสียหายทั้งกับหน่วยงานและตัวของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเขาไปแจ้งความดำเนินคดีกฤษกรในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560  

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

เดชชาติเบิกความตอบทนายจำเลยว่า เขาเข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี 2553 ก่อนดำรงตำแหน่งเป็นนิติกรซึ่งเป็นตำแหน่งงานขณะเกิดเหตุประมาณช่วงกลางปี 2556 เดชชาติเบิกความว่าจังหวัดอุบลราชธานีมีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ลาดลุ่ม โดยมีแม่น้ำ 2 สายคือ แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี  

เดชชาติเบิกความตอบทนายจำเลยว่า พอทราบข่าวสารเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนปากมูลบ้าง โดยทราบว่าภาครัฐมีปัญหากับชาวบ้าน และทราบว่าประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูลมีการรวมตัวกันเรียกร้องต่อรัฐบาลแต่ละชุดแต่ละสมัยทุกๆสมัย

เดชชาติเบิกความว่า เขาไม่ทราบว่ากลุ่มที่เข้าไปเรียกร้องต่อรัฐบาลคือกลุ่มสมัชชาคนจน ไม่ทราบว่ากฤษกรเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มคนจนเขื่อนปากมูล เกี่ยวกับการเปิดปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนเดชชาติเบิกความว่าเขาไม่ทราบรายละเอียดการเปิดปิดประตู ไม่ทราบว่าเป็นช่วงเวลาใดหรือแต่ละครั้งกินเวลานานเท่ารใด เขาทราบเพียงว่าจะมีการเปิดปิดประตูระบายน้ำทุกๆปี

เดชชาติเบิกความตอบทนายจำเลยเกี่ยวกับตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลว่า เป็นไปตามที่ระบุในเอกสารแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล

ส่วนคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล มีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่บริหารและวิเคราะห์ความเหมาะสมการเปิดและปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลโดยยึดหลักเกณฑ์ปี 2558 เป็นแนวทางปฏิบัติ และให้นำปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2558 มาปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปี 2560

เดชชาติเบิกความตอบทนายจำเลยต่อว่า ตามเอกสาร ระเบียบวาระการประชุมที่ 3 เรื่อง เพื่อทราบ ปรากฎข้อความว่าประธานขอความคิดเห็นในการกำหนดวันปิดบานประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล มีคณะอนุกรรมการเสนอวันปิดบานประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเป็นวันที่ 26 ตุลาคม 2559 และวันที่ 29 ตุลาคม 2559 และขอความเห็นจากที่ประชุม ซึ่งมีผู้ออกเสียงเห็นชอบให้ปิดบานประตูในวันที่ วันที่ 26 ตุลาคม 2559 จำนวน 3 เสียง ส่วนวันที่ 29 ตุลาคม 2559 มีผู้ออกเสียงเห็นชอบ 14 เสียง  

ทนายจำเลยให้เดชชาติดูเอกสารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เดชชาติตอบทนายจำเลยว่า เขาไม่เคยเห็นเอกสารที่ทนายจำเลยนำมาให้ดู แต่ตามเอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุว่าเพื่อมิให้เกิดสภาวะน้ำท่วมในตัวเมืองอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ให้ดำเนินการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน ในวันที่ 29 ตุลาคม 2559 และให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ก่อนกำหนดวันปิดบานประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลไม่น้อยกว่า 3 วัน

เดชชาติเบิกความยินยันกับทนายจำเลยต่อว่า ในรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการเขื่อนปากมูลครั้งที่ 2/2560 มีข้อความว่าการดำเนินการทางเทคนิคในการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้งแปดบาน ในวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ประตูเขื่อนยังเปิดอยู่

เดชชาติเบิกความต่อว่าในสำเนาหนังสือศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีเรื่องเชิญประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลครั้งที่ 4/2560 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2560มีลายมือชื่อสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เดชชาติเบิกความตอบทนายด้วยว่าการลงมติให้ปิดบานประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลวันที่ 29 ตุลาคม 2559 เป็นช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ผู้ว่าฯ มีหนังสือเชิญประชุมในวันที่ 27 ตุลาคม 2560

เดชชาติเบิกความว่า ตามสำเนาหนังสือศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีเรื่องเชิญประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลครั้งที่ 4/2560 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ที่ทนายจำเลยให้ดู มีข้อความว่า คณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล มีมติกำหนดหลักเกณฑ์ปิดประตูระบายน้ำในปี 2558 ว่า ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลต่อเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าสามเดือน จังหวัดอุบลราชธานีจึงขอเชิญคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลประชุมหารือเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในลำแม่น้ำมูล

เดชชาติเบิกความตอบทนายจำเลยต่อว่า ตามสำเนาบันทึกข้อความส่วนราชการที่ทำการปกครองจังหวัดอุบลราชธานี ปรากฎข้อความอ้างถึงการประชุมในวันที่ 20 ตุลาคม 2560 เดชชาติเบิกความด้วยว่าจากการประสานงานกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขาได้รับข้อมูลว่า ในวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 อยู่ที่ +112.64 ม.ลธก. อัตราไหล 2,684 ลบ.ม./วินาที ที่ทำการปกครองจังหวัดอุบลราชธานี จึงเห็นควรให้เชิญคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลมาประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในลำแม่น้ำมูลต่อไป

ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 7 ปรากฎตามสำเนาบันทึกข้อมูลข้อความส่วนราชการที่ทำการปกครองจังหวัดอุบลราชธานี และปรากฎข้อความอ้างถึงการประชุมวันที่ 20 ตุลาคม 2560 และที่ทำการปกครองจังหวัดอุบลราชธานีประสานงานกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 อยู่ที่ +112.64 ม.ลธก. อัตราไหล 2,684 ลบ.ม./วินาที และที่ทำการปกครองจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเชิญคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในลำแม่น้ำมูลต่อไป

ทนายจำเลยถามว่า สำเนาบันทึกข้อความส่วนราชการที่ทำการปกครองจังหวัดอุบลราชธานี ที่เดชชาติเบิกความถึงข้างต้น อ่านโดยสรุปจะได้ความว่า ที่ทำการปกครองมีความเห็นควรปิดบานประตูเขื่อนใช่หรือไม่ เดชชาติตอบว่าไม่ทราบ เพราะเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำเอกสารดังกล่าว เพิ่งเห็นเอกสารก็ตอนที่รวบรวมเอกสารเพื่อดำเนินคดีกับกฤษกร

เดชชาติเบิกความต่อว่า ตัวเขาจำไม่ได้ว่าในช่วงเวลากลางปี 2560 จะมีพายุเซินกาพัดมาที่ภาคอีสานหรือไม่และจำไม่ได้ว่ามีเหตุน้ำท่วมในภาคอีสานในช่วงนั้นหรือไม่ เกี่ยวกับการประชุมในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 เดชชาติเบิกความว่าเขาไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย และไม่มีรายงานการประชุมในวันดังกล่าวไปส่งมอบเป็นหลักฐานให้พนักงานสอบสวน

เดชชาติเบิกความต่อว่าเขาไม่เคยเห็นรายงานการประชุมลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 เนื่องจากไปดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับกฤษกรก่อน แต่ได้รับรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประชุมจากฝ่ายเลขาของคณะกรรมการที่จัดการประชุมในวันดังกล่าว ว่าการประชุมในวันนั้นไม่มีวาระการพิจารณาเรื่องการเปิดปิดประตูน้ำ

เดชชาติเบิกความยอมรับว่า ข้อความที่กฤษกรโพสต์ไม่ปรากฎข้อความว่าผู้ว่าฯเป็นผู้สั่งให้ปิดเขื่อน ไม่มีข้อความที่ระบุว่าผู้ว่าฯใช้อำนาจโดยฝ่าฝืนกฎหมาย และไม่มีข้อความที่ระบุว่าผู้ว่าฯแสวงหาผลประโยชน์จากการปิดเขื่อน เดชชาติเบิกความด้วยว่า ข้อความที่กฤษกรโพสต์ เป็นการโพสต์คนละครั้งกัน  

ทนายจำเลยถามเดชชาติว่าทราบข่าวหรือไม่ว่าเคยมีประชาชนนำโลงศพไปประท้วงที่หน้ารัฐสภาหรือข่าวการเผาดอกไม้จันทร์เพื่อประท้วงนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เดชชาติเบิกความว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยให้เดชชาติดูเอกสาร เดชชาติเบิกความยืนยันว่าเป็นสำเนาข่าวที่ผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งนำโลงศพมาประท้วงที่หน้ารัฐสภา และมีสำเนาข่าวแฟนฟุตบอลนำดอกไม้จันทร์ไปเผาที่หน้าการกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อประท้วงนายกสมาคมฟุตบอล

ทนายจำเลยถามเกี่ยวกับข้อความเรื่องการลอยอังคารว่าในข้อความกฤษกรโพสต์ เดชชาติเบิกความว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้เขียนว่าผู้ว่าฯ เสียชีวิตที่ไหน เมื่อใด ด้วยสาเหตุอะไร  ส่วนจะเป็นการเขียนเพื่อประชดแดกดันผู้ว่าฯหรือไม่หรือไม่นั้นเขาไม่ทราบ

เดชชาติเบิกความด้วยว่า และข้อความดังกล่าวจะมีผู้เข้ามาอ่านหรือรับชมเป็นจำนวนเท่าใด เขาไม่ทราบ เดชชาติเบิกความต่อว่า ไม่ทราบว่าจะมีบุุคคลใดไปแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้ว่าฯ หลังจากได้อ่านข้อความดังกล่าวหรือไม่ และเขาก็ไม่เคยไปตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายหลังจากที่จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าว  

เดชชาติเบิกความตอบทนายต่อว่า การโพสต์ข้อความของกฤษกรจะทำให้ประชาชนรวมตัวกันทำผิดกฎหมายหรือไม่เขาไม่ทราบ และการเปิดปิดประตูเขื่อนแต่ละครั้งแต่จะประชาชนแสดงความเห็นทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างหรือไม่ข้อนี้เขาก็ไม่ทราบเช่นกัน

และสุดท้ายการปิดหรือเปิดประตูเขื่อนในแต่ละครั้งจะมีประชาชนส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยและอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย อันนี้เดชชาติเบิกความว่าไม่ทราบเหมือนกัน

ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการแถลงว่าไม่มีคำถามติง  แต่ศาลถามคำถามเดชชาติเพิ่มเติมโดยเดชชาติตอบคำถามศาลว่า หนังสือเชิญประชุมในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 เป็นหนังสือที่ส่งให้แก่คณะกรรมการเท่านั้น ในหนังสือดังกล่าวจะไม่ปรากฎรายละเอียดวาระการประชุม แต่วาระการประชุมจะแจ้งในการประชุม

หลังสืบพยานปากนี้ ศาลนัดมาสืบพยานโจทก์อีกสองปากมาเบิกความในวันที่ 5 กันยายน 2562

5 กันยายน 2562

สืบพยานโจทก์ปากที่สอง พุทธา แกะทอง นิติกรที่ทำการปกครองจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ร่วมร้องทุกข์กล่าวโทษ

พุทธาเบิกความว่า เขารับราชการในตำแหน่งนิติกรที่ที่ทำการปกครองจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 จนถึงปัจจุบัน (กันยายน 2562) หน้าที่ของนิติกร คือจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีและวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย

เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 เขาเข้าไปดูเฟซบุ๊กของกฤษกร ด้วยการพิมพ์ชื่อของกฤษกรในช่องค้นหาของเฟซบุ๊ก

สำหรับข้อความอันเป็นข้อพิพาทของคดีนี้เป็นการโพสต์เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2560 ข้อความที่หนึ่งและข้อความที่ สองมีใจความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ลงลายมือชื่อเรียกประชุมเรื่องเกี่ยวกับการปิดเขื่อนปากมูล  ทำให้รู้สึกว่าผู้ว่าฯ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการปิดเขื่อนในช่วงฤดูน้ำหลาก และทำให้เกิดความตื่นตระหนกกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น การปิดเขื่อนในช่วงที่เป็นฤดูน้ำหลากจะทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาวบ้านที่อยู่บริเวณเหนือเขื่อนและลุกลามจนไปถึงต้นน้ำ ทำให้เข้าใจว่าผู้ว่าฯ เป็นผู้มีอำนาจสั่งปิดเขื่อน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการใช้อำนาจโดยไม่สุจริตของผู้ว่าฯ น้ำท่วมก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากจะมีการกักตุนสินค้าทำให้ราคาสินค้ามีราคาที่สูงขึ้น

พุทธาเบิกความต่อว่า จากการอ่านข้อความดังกล่าวทำให้รู้สึกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทำให้รู้สึกไม่พอใจ ซึ่งหากประชาชนทั่วไปมาพบและอ่านข้อความดังกล่าว อาจทำให้เกิดการรวมตัวของมาคัดค้านการสั่งปิดเขื่อนของผู้ว่าฯได้

พุทธาเบิกความเกี่ยวกับข้อความที่สาม ที่กฤษกรโพสต์เกี่ยวกับการลอยอังคารว่า ข้อความดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของผู้ว่าฯ ทำให้ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง คำว่าลอยอังคาร อ่านแล้วเข้าใจว่าผู้ว่าฯเสียชีวิตแล้ว จึงนำอัฐิไปลอยที่แม่น้ำ ซึ่งเป็นข้อความเท็จ เพราะผู้ว่าฯยังมีชีวิตอยู่ และการปิดเปิดเขื่อนจะต้องคำนึงและพิจารณาตามกฎเกณฑ์ ทั้งผู้ว่าฯก็ไม่ได้เป็นผู้สั่งปิดเขื่อนปากมูล

พุทธาเบิกความว่าในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 เขาไม่ได้เข้าร่วมประชุมเนื่องจาก เพิ่งมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 ข้อเท็จจริงทั้งหลายทราบจากการรวบรวมและตรวจสอบเอกสาร เหตุที่ทราบว่าวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นวันประชุมไม่มีวาระเรื่องเปิดปิดเขื่อนเป็นเพราะจากการตรวจสอบเอกสารไม่ปรากฎว่ามีวาระดังกล่าว

ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบปากคำของเขาไว้แล้ว

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พุทธาเบิกความตอบทนายจำเลยว่า เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ ก่อนวันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 ไม่เคยรู้จักกับกฤษกรมาก่อน  ส่วนที่หาชื่อของกฤษกรบนเฟซบุ๊กเป็นเพราะได้รับคำสั่งจากผู้ว่าฯ
เนื่องจากผู้ว่าฯพบเห็นข้อความทั้งสามข้อความของกฤษกร จากนั้นจึงมอบหมายให้เขาและเดชชาติดำเนินการตรวจสอบว่าข้อความทั้งสามเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทฯผู้ว่าฯหรือไม่ และให้รวบรวมพยานหลักฐานหากเป็นการหมิ่นประมาทจริง

พุทธาเบิกความต่อว่า ทั้งเขาและเดชชาติ(พยานโจทก์ปากที่หนึ่งในคดีนี้) ต่างทราบวัตถุประสงค์ของผู้ว่าฯที่ให้เข้าตรวจสอบเฟซบุ๊กของกฤษกร เอกสารหลักฐานที่อัยการนำมาแสดงในคดีนี้เป็นภาพบันทึกหน้าจอเฟซบุ๊กของกฤษกรในส่วนที่โพสต์ข้อความอันเป็นเหตุพิพาทในคดีนี้ โดยได้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2560

สำหรับภาพสำเนาหนังสือเชิญประชุมเป็นหนังสือเชิญที่มีอยู่จริง ข้อความที่ประกอบกับภาพสำเนาหนังสือเชิญประชุม ไม่มีข้อความใดระบุว่าผู้ว่าฯสั่งปิดเขื่อน

เมื่อทนายจำเลยถามถึงสถานการณ์น้ำ พุทธาตอบว่า ช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2560 มีพายุและน้ำท่วมเกิดขึ้นในหลายจังหวัดในภาคอีสานรวมถึงอุบลราชธานี และในช่วงที่กฤษกรโพสต์ข้อความตามฟ้องก็มีน้ำท่วมหลายพื้นที่ของอุบลราชธานีจริง

เกี่ยวกับคำว่าลอยอังคารผู้ว่าฯ พุทธาเห็นว่ามีความหมายว่าตายแล้ว การลอยอังคารเป็นเรื่องของคนใกล้ชิดและครอบครัวของผู้ว่าฯ กฤษกรไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ว่า  ในขณะที่อ่านข้อความตัวของพุทธาเองก็ไม่เชื่อว่าผู้ว่าฯเสียชีวิตแล้ว และเข้าใจว่าเป็นการโพสต์ประชดประชัน แดกดัน

พุทธาเบิกความตอบทนายจำเลยว่าตัวเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการประชุมในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 และไม่เคยเห็นเอกสารใดๆที่เกี่ยวกับการประชุมในวันดังกล่าว

เมื่อทนายจำเลยถามเรื่องการเปิดปิดเขื่อน พุทธาตอบว่าแม้จะเป็นคนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี แต่เขาไม่ทราบเรื่องการเปิดปิดเขื่อนปากมูล

พุทธาเบิกความต่อว่า หลังจากกฤษกรโพสต์ข้อความทั้งหมดไปแล้ว ตัวเขาไม่เคยตรวจสอบราคาสินค้าว่ามีราคาเพิ่มขึ้นหรือไม่ และตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 จนถึงปัจจุบัน(กันยายน 2562)     ยังไม่มีประชาชนรวมกลุ่มมาคัดค้านเรื่องผู้ว่าฯปิดเขื่อน และไม่ทราบว่าผู้ว่าฯจะเคยมีประกาศหรือแถลงการณ์ถึงประชาชน เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนกภายหลังจากจำเลยโพสต์ข้อความเหล่านั้นหรือไม่

สืบพยานโจทก์ปากที่สาม พ.ต.ท.เฉลิมยศ  พรหมสุวรรณ พนักงานสอบสวน

พ.ต.ท.เฉลิมยศเบิกความว่า เขารับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 จนถึงปัจจุบัน(กันยายน 2562) ทำหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา รวมรวบและพิจารณาพร้อมเสนอความเห็นในสำนวนต่อผู้บังคับบัญชา

เกี่ยวกับคดีนี้ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 12.00 น. เดชชาติ นิติกรจังหวัดอุบลราชธานี รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับกฤษกร ที่มีพฤติการณ์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในลักษณะบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับผู้ว่าฯ เรื่องการระบายน้ำลงแม่น้ำโขง การปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งในความเป็นจริงผู้ว่าฯเรียกประชุมเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ โดยการปิดประตูเขื่อนไม่ได้อยู่ในวาระการประชุมแต่อย่างใด

ข้อความที่กฤษกรโพสต์ยังมีลักษณะเป็นการระดมคนมาต่อต้านที่ศาลากลางจังหวัด นอกจากนั้นก็มีการนัดหมายอีกทั้งยังมีข้อความนัดให้ประชาชนมาลอยอังคารแก่ผู้ว่าฯในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งในขณะเกิดเหตุผู้ว่าก็ยังมีชีวิตอยู่ พ.ต.ท.เฉลิมยศเบิกความต่อว่าในการมาแจ้งความ เดชชาติ (พยานโจทก์ปากที่หนึ่ง) ได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าฯให้มาดำเนินคดีกฤษกร โดยมีหนังสือมอบอำนาจมาแสดงไว้เป็นหลักฐาน รวมทั้งได้นำเอกสารหลักฐานได้แก่รายงานการประชุมและภาพบันทึกหน้าจอเฟซบุ๊กของกฤษกรมามอบไว้เป็นหลักฐาน

พ.ต.ท.เฉลิมยศเบิกความเกี่ยวกับขั้นตอนการสอบสวนว่าเบื้องต้นเขาสอบปากคำเดชชาติและพุทธา (พยานโจทก์ปากที่สอง) ไว้ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าฯให้มาแจ้งความแทน จากนั้นจึงทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กของกฤษกรกับกระทรวงดิจิทัลฯและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)

จากการรวบรวมพยานหลักฐาน พ.ต.ท.เฉลิมยศเห็นว่าข้อความทั้งสาม ที่จำเลยโพสต์ไม่เป็นความจริง และก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนและอาจกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งเป็นการใส่ความผู้ว่าฯ ว่าเสียชีวิตแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้เสียชีวิต ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศ

พ.ต.ท.เฉลิมยศเบิกความด้วยว่าจากการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีนี้ไม่มีการปิดประตูเขื่อนปากมูลดังที่กฤษกรโพสต์ข้อความที่เป็นข้อพิพาทในคดีนี้

พ.ต.ท.เฉลิมยศเบิกความต่อว่าหลังรวบรวมพยานหลักฐานในคดี เขาก็ออกหมายเรียกให้กฤษกรมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 20 ธันวาคม 2560 เมื่อกฤษกรมามาพบจึงแจ้งข้อกล่าวหานำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา รวมทั้งข้อหาบอกข้อความอันเป็นเท็จทำให้ประชาชนเลื่องลือ
ซึ่งกฤษกรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พ.ต.ท.เฉลิมยศ   เบิกความตอบทนายจำเลยว่า เขามีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาโดยเฉพาะพยานหลักฐานที่ยืนยันการกระทำผิดของผู้ต้องหา โดยในการแจ้งข้อหาจะแจ้งพฤติการณ์การกระทำความผิดทั้งหมดที่เข้าองค์ประกอบความผิดผู้ต้องหาด้วย

พ.ต.ท.เฉลิมยศเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ที่เขาเห็นว่าการกระทำของกฤษกรเป็นความผิดฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ส่วนหนึ่งมาจากการที่กฤษกรโพสต์ข้อความที่มีใจความว่าจะมีการปิดเขื่อน แต่ความเป็นจริงแล้วไม่มีการปิดเขื่อนซึ่งปรากฎในบันทึกคำให้การของกฤษกรเอง

(ประเด็นการกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดนั้น มาจากการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามข้อความที่จำเลยโพสต์มีใจความว่าจะมีการปิดเขื่อน แต่ความเป็นจริงแล้วไม่มีการปิดเขื่อน ปรากฏอยู่ในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา อันนี้คือต้นฉบับของประโยคข้างบน)

พ.ต.ท.เฉลิมยศเบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า การสอบปากคำพุทธาเป็นการสอบปากคำในฐานะพยาน แม้พุทธาจะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้ว่าฯ แต่การให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นการให้การในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่เขาไม่ได้สอบปากคำประชาชนคนอื่นที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ว่าฯ เป็นเพราะเห็นว่าลำพังพุทธาเป็นพยานก็เพียงพอแล้ว

พ.ต.ท.เฉลิมยศเบิกความต่อว่า หลังจากกฤษกรโพสต์ข้อความที่เป็นเหตุพิพาทในคดีนี้ทั้งหมดไปแล้ว ทางจังหวัดจะมีประกาศแจ้งข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบหรือไม่   ตัวเขาไม่ทราบและไม่เคยได้รับประกาศจากทางจังหวัดที่เตือนประชาชนไม่ให้ตื่นตระหนกจากข้อความที่กฤษกรโพสต์  และเขาก็ไม่ได้ตรวจสอบราคาสินค้าว่ามีการเพิ่มขึ้นหลังจากที่กฤษกรโพสต์ข้อความไปหรือไม่ และไม่ทราบว่าจะมีประชาชนมารวมตัวคัดค้านการปิดประตูเขื่อนตามข้อความที่กฤษกรโพสต์หรือไม่

สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่งกฤษกร เบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง
 
กฤษกรเบิกความว่า เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยรังสิต ครอบครัวของเขาและชาวบ้านอีกหลายพันครอบครัวได้รับผลกระทบจากสร้างเขื่อนราษีไศล เขากับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนมีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล ตั้งแต่ในช่วงปี 2538 ระหว่างที่การเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลของเขากับผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินไปก็มีประชาชนผู้ได้รับความเดือนร้อนจากการสร้างเขื่อนอื่นๆอีกหลายเขื่อนรวมทั้งเขื่อนปากมูลมาพบปะพูดคุยทำให้รู้จักกันและได้ทำงานร่วมกัน


กฤษกรเบิกความต่อว่า ตามข้อมูลของทางราชการ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูลมีจำนวนกว่า 5,000 ครัวเรือน โดยผลกระทบหลักคือการสูญเสียอาชีพเพราระไม่สามารถจับปลาได้ ระหว่างปี 2534 ถึงปี 2536 ที่รัฐบาลก่อสร้างเขื่อนปากมูลจึงมีการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบครอบครัวละ 30000 บาท รวมสามปีครอบครัวละ 90000 บาท รัฐบาลในขณะนั้นยังสร้างบันไดปลาโจนเพื่อให้ปลาสามารถสามารถขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูลได้ด้วย

ซึ่งค่าใช้จ่ายในระหว่างก่อสร้างเขื่อนปากมูล ช่วงปี 2534-2536 จำนวน 3 ปี รัฐบาลให้ปีละ 30,000 บาท ต่อครอบครัวรวมทั้งสิ้น 90,000 บาท นอกจากนั้นทางรัฐบาลยังสร้างบันไดปลาโจนเพื่อให้ปลาขึ้นมาวางไข่ที่แม่น้ำมูลได้  

กฤษกรเบิกความต่อว่า ในปี 2537 มีการปิดประตูเขื่อนและเปิดใช้บันไดปลาโจน ปรากฏว่าจำนวนปลาในแม่น้ำมูลลดลงเป็นจำนวนมาก รัฐบาลของพล.อ.เชาวลิตในขณะนั้นรับทราบปัญหาและหาทางแก้ไขโดยประกาศจะมอบที่ดินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ เพื่อเปลี่ยนมาชีพจากประมงมาเป็นเกษตกร ต่อมาพล.อ.เชาวลิตลาออก ชวน หลีกภัย ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน รัฐบาลชวนมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อ โดยมีบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นประธานคณะกรรมการ และตรวจสอบแต่ยังไม่เสร็จสิ้น

ต่อมามีการยุบสภาในปี 2543 ทักษิณ ชินวัตรชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณมีการทดลองเปิดประตูเขื่อนเป็นเวลาหนึ่งปี ผลปรากฏว่าการปิดประตูเขื่อนส่งผลกระทบต่อการวางไข่ของปลา การศึกษาที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีข้อเสนอว่าให้เปิดประตูเขื่อนปีละสี่เดือนและปิดประตูเขื่อนปีละแปดเดือน โดยต้องเปิดประตูเขื่อนในช่วงปลาอพยพตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม เป็นต้นไปจนครบสี่เดือน นับจากวันดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล วิธีการดังกล่าวถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน

กฤษกรเบิกความต่อว่าในปี 2553 สมัยที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน ซึ่งตัวเขาร่วมเป็นคณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการฯด้วย ซึ่งการเปิดปิดประตูเขื่อนเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาแต่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง

ในปี 2554 ภารกิจที่อภิสิทธิ์ มอบหมายให้คณะกรรมการฯซึ่งเขาเป็นกรรมการอยู่ด้วยสำเร็จลุล่วง โยมีการสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาออกมารวมสามข้อได้แก่
1.ควรทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเป็นเวลาห้าปี  
2.ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เคยผ่านมาทั้งหมด
3.เห็นควรเยียวยาตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ประกอบอาชีพประมงผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลรายละ 310,000 บาท

กฤษกรเบิกความต่อว่าเมื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากอภิสิทธิ์ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด และได้นำผลการเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีซึ่งมีการเห็นชอบให้จัดตั้งคณะอำนวยการขึ้นหนึ่งชุดในวันที่ 28 พฤษภาคม 2556  

กฤษกรเบิกความว่าหลังเกิดการรัฐประหารและพล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการนำมติครม.ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาแต่งตั้งคณะอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล โดยมีมล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นประธาน คณะอำนวยการฯดังกล่าวเริ่มทำงานในวันที่ 3 มิถุนายน 2558 โดยมีกรอบอำนาจหน้าที่ตามเอกสารการแต่งตั้งที่ทนายจำเลยนำมาให้ดู รวมถึงอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา

หน้าที่ของคณะกรรมการปรากฏตามเอกสารดังกล่าว รวมถึงอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา(ต้นฉบับจากข้างบน)

กฤษกรเบิกความว่าคณะอำนวยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นหลายชุด หนึ่งในนั้นคืออนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล มีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน อนุกรรมการฯชุดดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 มีอำนาจหน้าที่บริหารและวิเคราะห์ความเหมาะสมในการเปิดและปิดประตูเขื่อนปากมูล โดยต้องพิจารณาตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนดในปี 2558

กฤษกรเบิกความต่อไปว่า คณะอนุกรรมการมีประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีมติว่าในระเบียบวาระที่ 4 แนวทางการปิดและเปิดประตูเขื่อน ซึ่งต่อมามีการปิดประตูน้ำของเขื่อนปากมูลทั้งแปดบานในวันที่ 29 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะอำนวยการฯ ซึ่งกำหนดขึ้นในปี 2558

กฤษกรขยายความว่าหลักเกณฑ์คณะอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ปี 2558 กำหนดว่า การปิดประตูเขื่อนปากมูลจะทำได้ต่อเมื่อ ระดับน้ำที่สะพานเสรีประชาธิปไตย (M7) อยู่ที่ระดับ 107 ล.ลทก. ซึ่งหมายความว่าน้ำอยู่ในระดับ 107 เมตร ที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง และอัตราการไหลของน้ำอยู่ที่ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตามหากมีเหตุวิกฤตก็อาจปิดประตูเขื่อนแม้ระดับน้ำจะไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้


กฤษกรเบิกความว่าการปิดประตูเขื่อนนอกจากต้องทำตามหลักเกณฑ์ปี 2558 แล้ว ที่ระบุเมื่อน้ำที่สะพานเสรีประชาธิปไตย(M7) มีระดับ 107 ล.ลทก. ซึ่งหมายความว่าน้ำอยู่ในระดับ 107 เมตร ที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง และอัตราการไหลของน้ำอยู่ที่ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีข้อยกเว้นกรณีเกิดวิกฤต

กฤษกรเบิกความต่อว่า เกี่ยวกับคดีนี้เขาคอยติดตามสถานการณ์เปิดปิดเขื่อนปากมูลอยู่ตลอด เมื่อทราบข่าวว่าจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯก็รู้สึกกังวลว่าจะมีการปิดประตูเขื่อนปากมูลจริง จึงโพสต์ข้อความดังกล่าวลงในเฟซบุ๊ก

กฤษกรเบิกความว่าเขาได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนช่วงประมาณวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2560 แต่ในวันที่ต้องเข้ารายงานตัวเขาติดภารกิจที่ประเทศฟิลิปปินส์ จึงขอเลื่อนไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 20 ธันวาคม 2560 และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

กฤษกรเบิกความว่าเขาไม่รู้จักสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีมาก่อน โดยเหตุที่โพสต์เฟซบุ๊กในลักษณะดังกล่าวเป็นไปเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะนำวิธีแก้ไขปัญหาน้ำของคณะอนุกรรมการมาใช้กับปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น เนื่องจากเขาไม่สามารถติดต่อสื่อสารต่อผู้ที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในช่องทางอื่น จึงต้องโพสต์ข้อความที่เป็นเหตุในคดีนี้ไป

ตอบอัยการถามค้าน

กฤษกรตอบคำถามค้านของอัยการว่า เขื่อนปากมูลตั้งอยู่ที่บ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี  สันเขื่อนอยู่ที่อำเภอโขงเจียม การสร้างเขื่อนปากมูลทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 10000 คน โดยมีประมาณ 5000 ครัวเรือนที่การไฟฟ้าจ่ายเงินชดเชยให้แล้ว กฤษกรเบิกความเกี่ยวกับการจัดตั้งสมัชชาคนจนว่า เป็นการรวมตัวกันของผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนส่วนหนึ่ง โดยที่ตั้งของสมัชชาคนจนอยู่ที่บ้านน้ำสร้าง ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

กฤษกรเบิกความตอบอัยการต่อว่า ศูนย์ประสานงานสมัชชาคนจนถูกตั้งขึ้นเพื่อการรวมกลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้สมาชิกในกลุ่ม รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ในสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกที่ในการปกครองของประเทศไทย

ศูนย์ประสานงานสมัชชาคนจนตั้งขึ้นเพื่อการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มสมาชิก ส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรต่างๆและให้ชาวบ้านตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองในการปกครองของประเทศไทย

กฤษกรเบิกความตอบอัยการเกี่ยวกับการให้ข้อมูลเรื่องน้ำในเขื่อนปากมูลของศูนย์ประสานงานสมัชชาคนจนว่าทางศูนย์ประสานงานฯเคยมีวิทยุชุมชนซึ่งใช้เป็นช่องทางให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำแก่ประชาชนทั่วไป และกลุ่มสมาชิก โดยกระจายเสียงทางคลื่นวิทยุที่มีชื่อว่าวิทยุชุมชนเสียงแม่มูล

กฤษกรเบิกความว่าเขาเป็นที่ปรึกษาของสมัชชาคนจน เพราะเขามีความเชี่ยวชาญเรื่อง ทรัพยากรน้ำ ระบบนิเวศน์ และพื้นที่ลุ่มน้ำ ในพื้นที่ภาคอีสาน แต่เนื่องจากเขาไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงไม่สามารถเป็นแกนนำของสมัชชาได้

กฤษกรเบิกความว่าเมื่อมีรัฐประหารในปี 2557 ทางสมัชชาคนจนไม่สามารถใช้สถานีวิทยุเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข่าวสารได้ จึงใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข่าวสารแทน โดยสมัชชาคนจนก็มีเฟซบุ๊กเพจสมัชชาคนจน กฤษกรขยายความต่อว่าผู้ดูแลเพจของสมัชชาคนจนมีหลายคนรวมทั้งตัวเขาด้วย

สำหรับบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวของกฤษกรเบิกความว่าเขาตั้งสถานะการโพสต์ข้อความเป็นสาธารณะเพราะตัวเขาเป็นบุคคลสาธารณะและเขาต้องการก็ต้องการใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นช่องทางในการส่งข่าวสารให้สมาชิกสมัชชาคนจนรวมทั้งสาธารณะชนรับทราบและเขาก็โพสต์ข้อความต่างๆด้วยความบริสุทธิ์ใจ

เกี่ยวกับการป้องกันปัญหาเขื่อนปากมูล กฤษกรเบิกความว่าเขาได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการให้เป็นคณะกรรมการเกือบทุกชุดและแม้เขาจะไม่ได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการปี 2559 แต่เขาก็ติดตามการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว

การเป็นคณะกรรมการเมื่อปี 2553 นั้นเขาเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีคำสั่งตั้งคณะอำนวยการ ต่อเนื่องในปี 2558

กฤษกรเบิกความด้วยว่า หากเกิดภัยแล้งคณะทำงานที่มีผู้ว่าฯเป็นประธานสามารถใช้ดุลพินิจสั่งปิดประตูระบายน้ำได้ทันที

กฤษกรเบิกความต่อว่า หลังจากติดตามสถานการณ์น้ำในปี 2560 เขาก็โพสต์ข้อความที่เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและปริมาณฝนมาโดยตลอด โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 ก็มีวิกฤตน้ำหลาก น้ำเยอะในบางจังหวัดของภาคอีสาน และจากการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำช่วงนั้น ตัวเขาเห็นว่าไม่สามารถปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลได้
เพราะหากมีน้ำปริมาณมาก การปิดประตูเขื่อนปากมูลจะทำให้น้ำท่วมทันที

กฤษกรเบิกความต่อว่าหากคณะอนุกรรมการมีมติให้ปิดเขื่อนปากมูลในช่วงเวลาเกิดเหตุ จะเป็นฝ่าฝืนต่อหลักเกณฑ์ของคณะอำนวยการฯ เพราะอัตราการไหลของน้ำในขณะนั้นมีอัตราการไหลไม่สอดคล้องกับที่คณะกรรมการกำหนดไว้ว่าให้ปิดประตูเขื่อนได้

กรณีคณะอนุกรรมการมีมติให้ปิดเขื่อนปากมูลในขณะที่มีอัตราการไหลของน้ำขณะนั้น จึงเป็นการลงมติฝ่าฝืนต่อหลักเกณฑ์ของคณะอำนวยการ กฤษกรเบิกความต่อว่าหากคณะอนุกรรมการฯฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ของคณะอำนวยการฯ สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูลก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ที่ผ่านมาสมัชชาคนจนไม่ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายในการฟ้องร้อง แต่จะใช้สิทธิและเสรีภาพในการยื่นเรื่องร้องเรียนต่างๆตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้

สำหรับข้อเท็จจริงที่ผ่านมาในทุกๆปี หากมีการเรียกประชุมคณะอนุกรรมการฯในช่วงเดือนตุลาคม ก็จะมีมติปิดประตูเขื่อนปากมูล จึงเห็นเหตุให้กฤษกร เข้าใจว่าตามหนังสือเรียกประชุมวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ที่เรียกประชุมจะเป็นการลงมติให้ปิดเขื่อน และตัวเขามีความห่วงใยต่อประชาชนว่าหากมีการปิดเขื่อนจะทำให้เกิดน้ำท่วม และความเสียหาย

สืบพยานจำเลยปากที่สอง อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ พยานผู้เชี่ยวชาญ

อานันท์เบิกความว่า เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขานิติศาสตร์ ระดับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ ขณะเบิกความดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต โดยทำงานที่มหาวิทยาลัยรังสิตมาตั้งแต่ปี 2529

เกี่ยวกับคดีนี้อานันท์เบิกความว่าในปี 2543 เขาเป็นคณะทำงานของดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมรัฐมนตรี ในเวลานั้นมีความขัดแย้งระหว่างกระทรวงฯกับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโขงชีมูล ตัวเขาหลังได้รับมอบหมายให้เข้าไปทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงได้เกี่ยวข้องและทำการศึกษาปัญหาเขื่อนปากมูล

เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อปี 2543 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โดยมีตนเป็นคณะทำงานให้กับรัฐมนตรีและมีปัญหาเรื่องเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโขงชีมูล
เป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ หลังจากเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงเป็นช่วงที่ได้เกี่ยวข้องศึกษากับปัญหาเขื่อนปากมูลในปี 2543



อานันท์เบิกความต่อว่าเขาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลตาม คำสั่งที่ 1/2558 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2558 คณะอำนวยการฯมีอำนาจหน้าที่ในการวางแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวและมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำงานในประเด็นปลีกย่อย

เกี่ยวกับเหตุที่ทำให้มีการจัดตั้งคณะอำนวยการฯ อานันท์เบิกความว่าเป็นเพราะตั้งแต่เริ่มมีการใช้เขื่อนปากมูลในปี 2537 มีประชาชนและชุมชนบริเวณปากแม่น้ำมูลซึ่งประกอบอาชีพประมงได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะการอพยพของปลาในฤดูวางไข่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อมูลที่เป็นที่ประจักษ์และการไฟฟ้าผู้เป็นเจ้าของเขื่อนก็ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น  เขื่อนปากมูลจึงเป็นเขื่อนเดียวที่มีการทำบันไดปลาโจนเพื่อแก้ไขปัญหาการวางไข่ของปลา และเป็นเขื่อนเดียวที่มีการกำหนดเวลาเปิดปิดประตูเขื่อนที่ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาในการประมงของชาวบ้าน

อานันท์เบิกความเกี่ยวกับปัญหาของการเปิดปิดเขื่อนว่า ในช่วงปี 2544 ถึง 2545 มีมติให้เปิดเขื่อน 8 เดือน ปิดเขื่อน 4 เดือน เพื่อให้ปลาวางไข่ โดยกำหนดระยะเวลาเปิดปิดที่แน่นอน ต่อมาในช่วงปี 2549 ถึง 2550 รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการเปลี่ยนแปลงเวลาเปิดปิดประตูเขื่อนเป็นการเปิดปิดแบบไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน ในช่วงฤดูฝนจึงมีประชาชนออกมาเรียกร้องให้มีการเปิดประตูระบายน้ำ เหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของความขัดแย้ง ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน

อานันท์เบิกความต่อว่าในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายตั้งคณะอำนวยการฯขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา คณะอำนวยการฯชุดนี้แตกต่างจากชุดอื่นๆ เพราะมีการนำนักวิชาการ 18 คน เข้ามาเป็นกรรมการ นอกเหนือไปจากตัวแทนฝ่ายรัฐแล้ว เช่น ปลัดกระทรวงเกษตร ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพลังงานและยังมีตัวแทนประชาชนอีกเก้าคนแต่ตั้งอีก 9 คน เกี่ยวกับวิธีการทำงาน อานันท์เบิกความว่าคณะอำนวยการฯชุดนี้มีการดำเนินงานแตกต่างจากคณะกรรมการอื่นๆเพราะใช้วิธีพูดคุยกันโดยลงมติ ไม่มีการโหวตลงคะแนน  

อานันท์เบิกความถึงการจัดการประชุมของคณะอำนวยการฯครั้งแรกว่าการประชุมครั้งแรกเกิดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลวันที่ 15 มิถุนายน 2558 การประชุมครั้งดังกล่าวมีการสร้างกฏเกณฑ์การเปิดและปิดเขื่อนใหม่ โดยไม่ใช้เวลาที่ตายตัวอย่างที่เคยเป็นมา ไม่กำหนดตามฤดูกาลแต่ใช้สถานการณ์น้ำเป็นตัวกำหนด ว่าจะเปิดเขื่อนต่อเมื่ออัตราการไหลของน้ำที่วัดที่สะพานเสรีประชาธิปไตยไหลที่ 500 ลบ.ม. ต่อวินาทีหรือระดับน้ำโขงที่วัดที่ห้วยสะครามสูง 95 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

อานันท์ขยายความเกี่ยวกับเกณฑ์การเปิดปิดประตูน้ำว่า อัตราการไหล 500 ลบ.ม.ต่อวินาทีแสดงว่าน้ำมาก หากไม่เปิดเขื่อนจะทำให้น้ำท่วมหรือกรณีระดับน้ำห้วยสะครามสูงใกล้เคียงกับธรณีประตู ซึ่งการเปิดประตูระบายน้ำจะทำให้ปลาสามารถกลับขึ้นไปวางไข่ได้

สำหรับเกณฑ์การปิดประตูระบายน้ำ อานันท์เบิกความว่าดูที่อัตราไหลของน้ำ ถ้าอัตราไหลของน้ำอยู่ที่ 100 ลบ.ม.ต่อวินาที แสดงว่าน้ำน้อย หรือระดับน้ำที่สะพานอยู่ที่ 107 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง แสดงว่าปริมาณน้ำต่ำ ต้องปิดประตูระบายน้ำเพราะถ้าระดับน้ำต่ำกว่านี้จะกระทบต่อการผลิตน้ำประปาในเมืองอุบลราชธานี

อานันท์เบิกความต่อว่า คณะอำนวยการฯยอมรับว่าเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นอาจจะไม่ตรงตามสภาพสิ่งแวดล้อม ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ในปี 2559 คณะอำนวยการฯมีการประชุมอีกครั้งหนึ่งและมีความเห็นร่วมกันว่าเกณฑ์ในปี 2558 ยังใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการเปิดหรือปิดประตูเขื่อนได้



อานันท์เบิกความต่อว่า ในเวลาต่อมาปรากฎว่าระดับน้ำไม่ได้เป็นไปตามที่คณะอำนวยการฯเคยกำหนดไว้ ตัวเขาซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการและอนุกรรมการอีกเจ็ดคนคน เกิดความไม่สบายใจ จึงแจ้งไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ของคณะอำนวยการฯ เพื่อเรียกให้มีการประชุมเพื่อปรับเกณฑ์การเปิดปิดประตูเขื่อน แต่การผลักดันดังกล่าวไม่เป็นผล จึงยื่นใบลาออก

อานันท์เบิกความด้วยว่าเกณฑ์ที่คณะอำนวยการฯกำหนดขึ้นเพื่อใช้เปิดปิดประตูเขื่อนไม่ใช่เกณฑ์ที่ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียพึงพอใจ แต่เป็นเกณฑ์ที่เอามาทดลองใช้และเหมาะสมที่สุดในเวลานั้น

ตอบโจทก์ถามค้าน

อานันท์ตอบคำถามอัยการว่า อำนาจปิดหรือเปิดเขื่อนปากมูลอยู่ที่คณะอำนวยการฯ คณะอนุกรรมการทั้งสี่ คณะที่คณะอำนวยการจัดตั้งขึ้นมีหน้าที่เพียงติดตามสภาพน้ำและรายงานสภาพน้ำ กรณีความเห็นอื่นๆก็จะต้องรายงานต่อคณะอำนวยการ คณะอนุกรรมการไม่สามารถดำเนินการตัดสินใจได้เอง

จากสภาพน้ำในวันที่ 29 ตุลาคม 2560 เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์การเปิดหรือปิดประตูเขื่อนแล้ว หากสภาพน้ำมีหลักเกณฑ์ที่เข้ากับการเปิดประตูเขื่อน คณะอนุกรรมการก็สามารถดำเนินการเปิดประตูเขื่อนได้ทันที และตามสภาพสถานการณ์น้ำที่มีอัตราการไหลที่ 2,450 ลบ.ม. ต่อวินาที แม้ผู้ว่าฯจะเป็นประธานอนุกรรมการดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ไม่มีอำนาจสั่งปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลได้

ตอบทนายจำเลยถามติง

อานันท์เบิกความตอบคำถามติงทนายจำเลยว่า ในปี 2558 มีการเปิดและปิดประตูเขื่อนตามหลักเกณฑ์และในปี 2559 ก็ดำเนินการเปิดประตูเขื่อนตามหลักเกณฑ์ แต่ในปี 2559 คณะอนุกรรมการปิดประตูเขื่อนโดยฝ่าฝืนต่อหลักเกณฑ์จึงเป็นเหตุให้อานันท์และอนุกรรมการรวมเจ็ดคนยื่นเรื่องให้ที่ประชุมใหญ่ของคณะอำนวยการฯพิจารณา แต่ก็ไม่เป็นผลจึงยื่นใบลาออก


อานันท์เบิกความต่อว่า กรณีที่สถานการณ์น้ำเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะอำนวยการฯ คณะอนุกรรมการสามารถดำเนินการเปิดหรือปิดประตูได้ทันที แต่ในกรณีที่มีเหตุภัยแล้งหรือกรณีน้ำประปาจะขาดหรือมีสถานการณ์พิเศษ คณะอนุกรรมการจะไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ แต่จะต้องส่งเรื่องให้คณะอำนวยการฯเป็นผู้ตัดสินใจ

สำหรับเหตุที่ตัวเขาลาออกจากคณะอนุกรรมการ อานันท์เบิกความว่าเป็นเพราะคณะอนุกรรมการไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ของคณะอำนวยการฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี เขาจึงคิดว่าคงจะทำงานต่อไปไม่ได้จึงตัดสินใจลาออก


สืบพยานจำเลยปากที่สาม นพ.นิรันดร์พิทักษ์วัชระ   พยานผู้เชี่ยวชาญ

นพ.นิรันดร์เบิกความว่าเขาอาศัยอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่ปี 2520 จบการศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราช ปี 2520  รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษเมื่อปี 2521- 2522  จากนั้นก็ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปี 2543 ในปีเดียวกันเขาได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของจังหวัดอุบลราชธานีและดำรงตำแหน่งจนหมดวาระในปี 2549

นพ.นิรันดร์เบิกความต่อว่า หลังจากหมดวาระการเป็นส.ว. ตำแหน่งที่เขาได้รับต่อมาคือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่หลักๆสามประการ ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ประการแรกคือตรวจสอบและคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากภาครัฐหรือเอกชนต่อประชาชน ประการที่สองคือเสนอแนะเชิงนโยบายและให้การคุ้มครองต่อประชาชนที่ถูกละเมิด ประการสุดท้ายคือให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแก่ทั้งภาครัฐและประชาชน

นพ.นิรันดร์เบิกความต่อว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีภูมิศาสตร์เป็นแอ่งกะทะและเป็นปลายทางของแม่น้ำสามสาย ได้แก่ แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำโขง สภาพของจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อแม่น้ำหลายสายไหลมารวมกันก็อาจจะเกิดน้ำท่วมได้ นอกจากนั้นจังหวัดอุบลราชธานีก็มีป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ เป็นที่ลุ่มไว้สำหรับรับน้ำ ในกรณีที่มีน้ำเอ่อล้นออกมา  

นพ.นิรันดร์เบิกความต่อว่า ก่อนปี 2560 เมื่อมีสถานการณ์น้ำหลาก ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมตลิ่งของแม่น้ำมูลก็จะย้ายขึ้นมาอยู่บนถนนในทุกๆปี นพ.นิรันดร์เบิกความต่อว่าจังหวัดอุบลราชธานีเป็นที่ตั้งของเขื่อนปากมูล ตามที่มีการตกลงครั้งสุดท้าย  รัฐบาลจะเปิดประตูเขื่อนปีละ 4 เดือน และปิดประตูเขื่อนปีละ 8 เดือน ซึ่งหากน้ำมีปริมาณมากก็อาจมีความขัดแย้งเรื่องการปิดหรือเปิดประตูเขื่อนเพราะการเปิดหรือปิดประตูเขื่อนจะมีผลกระทบต่อประชาชนในภาคอีสาน

นพ.นิรันดร์เบิกความถึงผลกระทบของการปิดประตูเขื่อนว่า จะส่งผลกระทบต่อการเกษตร เนื่องจากน้ำจะเอ่อล้นขึ้นทำลายพืชผลทางการเกษตร  จากปัญหาดังกล่าว ทุกรัฐบาลจึงตั้งคณะอำนวยการฯขึ้นมาเพื่อพิจารณาบริหารจัดการปัญหาเขื่อนปากมูล และจัดตั้งคณะอนุกรรมการซึ่งกรรมการส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่เพื่อแก้ไขต่อไป

แม้ช่วงเดือนตุลาคม 2560 จะเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำมาก เนื่องจากน้ำหลากเข้ามา แต่ก็เป็นเรื่องปกติ ประชาชนไม่ได้ตื่นตระหนกตกใจกัน  
สำหรับการแสดงออกของประชาชนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นพ.นิรันดร์เบิกความว่ามีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสมัชชาคนจนที่ต่อสู้ในเรื่องการสร้างเขื่อน ซึ่งมีผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย รายได้ และระบบเศรษฐกิจ

นพ.นิรันดร์เบิกความว่าขณะที่เขาดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชน ช่วงที่มีการชุมนุมระหว่างเสื้อเหลือง เสื้อแดง และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทำรายงานช้ากว่ากำหนด ก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงแสดงความคิดเห็นโดยเอาผลฟักมาให้ และเอาพวงหรีดและดอกไม้จันมาให้คณะกรรมการสิทธิ ซึ่งตัวเขาได้รับผลฟัก การแสดงออกในลักษระดังกล่าวเป็นการแสดงความไม่พอใจหรือการด่า แต่เขาก็เข้าใจว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความอัดอั้นตันใจ

นพ.นิรันดร์เบิกความถึงกรณีดังหล่าวต่อว่า ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่เขาจึงพยายามเข้าอกเข้าใจผู้ที่แสดงสัญลักษณ์โดยไม่โกรธเคือง และไม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องคดี และภายหลังผู้ที่มอบหรือแสดงสัญลักษณ์ครั้งนั้นก็กลับมาขอให้ช่วยเรื่องสิทธิมนุษยชน

ทนายจำเลยถามนพ.นิรันดร์ถึงความเห็นต่อข้อความตามฟ้อง ข้อความที่สามในคดีนี้ นพ.นิรันดร์เบิกความว่า ถ้าผู้ถูกพาดพิงเป็นผู้มีความคิดโบราณก็จะเข้าใจว่าเป็นการชี้แช่งหักกระดูก แต่ส่วนตัวเห็นว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะเห็นต่าง  

นพ.นิรันดร์เบิกความต่อว่า เกี่ยวกับคดีนี้เขาเข้าใจว่าประเด็นตามฟ้องมีอยู่สองประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือกฤษกรไปปลุกระดมคนและก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาเวลามีการเปิดปิดประตูเขื่อน ชาวบ้านก็เรียกร้องตลอดว่าให้รื้อเขื่อน เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลคือประชาชนในพื้นที่ และจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก็พบว่าการก่อสร้างเขื่อนปากมูลมีผลกระทบต่อประชาชนโดยรอบเขื่อนจริง ไม่คุ้มค่ากับจำนวนเงินที่ลงทุนสร้างไป และที่กฤษกรแสดงออกโดยโพสต์ในเฟซบุ๊กก็ไม่ใช่การแสดงข้อความเท็จ แต่เป็นการแสดงความเห็นแตกต่างและสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน

ส่วนประเด็นที่สองคือกฤษกรเลือกแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊กเพราะเขาได้รับความเดือดร้อน และถูกปิดกั้นช่องทางการสื่อสารอื่น และตัวเขาเห็นว่าพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ควรใช้เพื่อปราบปรามอาชญากรทางอินเทอร์เน็ตมากกว่าใช้ปราบปรามผู้ที่มีความเห็นต่าง

ตอบอัยการถามค้าน

นพ.นิรันดร์ตอบคำถามอัยการว่า  เขามีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ปัจจุบัน(ขณะเบิกความ) อาศัยอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี  เขาพอรู้เรื่องเขื่อนปากมูลว่าตั้งอยู่ที่ อำเภอโขงเจียม มีไว้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้พลังน้ำปั่นกระแสไฟ สำหรับสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูลเขาทราบว่าเป็นหนึ่งกลุ่มของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล โดยกรณีเขื่อนปากมูลเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆกรณีปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อน

นพ.นิรันดร์เบิกความว่าเขารู้จักกฤษกรมาเป็นเวลาราว 20 ปี โดยรู้จักครั้งแรกช่วงที่เขาขณะดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เขาทราบว่ากฤษกรมีชื่อเล่นว่า ป้าย รู้จักกฤษกรครั้งแรกเพราะกฤษกรมาร้องเรียนเรื่อการเปิดปิดประตูเขื่อน ต่อมาเมื่อเขาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กฤษกรก็เป็นคนที่ทำงานปกป้องสิทธิของคนในพื้นที่ต่อจากคนรุ่นก่อนๆที่เสียชีวิตไปแล้ว

นพ.นิรันดร์เบิกความตอบอัยการต่อว่า ขณะเบิกความในคดีนี้เขาดำรงตำแหน่งคณบดีอวิทยาลัยแพทยศาสตร์และสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เขามาเป็นพยานคดีนี้เพราะกฤษกรขอให้มาซึ่งตัวเขามองว่าการมาเป็นพยานในศาลเป็นเรื่องปกติเพราะก็มีประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิกลุ่มอื่นๆขอให้เขาไปเป็นพยานในศาลให้เป็นระยะ การมาเป็นพยานให้กฤษกรจึงไม่ได้เป็นการปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด

เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเปิดปิดประตูน้ำ นพ.นิรันดร์เบิกความตอบอัยการว่า เขาทราบหลักเกณฑ์การเปิดหรือปิดประตูเขื่อนตามที่คณะอำนวยการฯกำหนดขึ้นเมื่อปี 2558 ส่วนสาเหตุที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบยังคงออกมาเรียกร้องสิทธิในปัจจุบันแม้จะได้รับเงินชดเชยไปแล้วเป็นเพราะความเสียหายยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง เขาทราบด้วยว่าคณะอำนวยการฯมีอำนาจในการจัดตั้งคณะอนุกรรมการในการบริหารจัดการ อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวเท่าที่เขาทราบคือการพิจารณาเปิดหรือปิดประตูเขื่อน  

นพ.นิรันดร์เบิกความต่อว่า กรณีที่มีพายุและมวลน้ำจำนวนมากไหลเข้ามาที่เขื่อนปากมูล หากมีการปิดประตูเขื่อนปากมูลก็จะทำให้เกิดน้ำท่วม คณะอำนวยการฯมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ส่วนการแก้ปัญหาจะต้องเป็นคนในพื้นที่คือคณะอนุกรรมการ  

เกี่ยวกับการโพสต์ข้อความพาดพิงผู้ว่าฯ นพ.นิรันดร์เบิกความว่า การที่มีคนโพสต์ข้อความว่าจะมีการปิดเขื่อน ก็น่าจะเป็นการถามว่าปิดเพราะอะไร แต่คงจะไม่ทำให้เกิดความตื่นตระหนก ส่วนข้อความที่ว่าจะลอยอังคาร เขาเข้าใจว่าน่าจะเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

นพ.นิรันดร์เบิกความด้วยว่า สื่อสังคมออนไลน์เพิ่งจะเข้ามาตามยุคสมัย การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของคนไทยอยู่ในขั้นตอนการเรียนรู้ ที่ที่กฤษกรโพสต์ข้อความทั้งสามน่าจะเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง

หลังสืบพยานปากนี้เสร็จ ศาลนัดคู่ความฟังคำพิพากษา วันที่ 24 กันยายน 2562

วันที่ 24 กันยายน 2562

นัดฟังคำพิพากษา

เนื่องจากกฤษกรมาถึงห้องพิจารณาคดีที่ 3 ล่าช้าศาลจึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอื่นไปก่อน จากนั้นจึงอ่านคำพิพากษาในเวลาประมาณ 10.30 น. เมื่อกฤษกรมาถึง โดยศาลแจ้งว่าจะอ่านคำพิพากษาโดยสรุปเฉพาะใจความสำคัญเนื่องจากคำพิพากษาตัวเต็มยาวถึง 30 หน้า

เมื่อศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาไปได้ครู่หนึ่งมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นในห้องพิจารณา ศาลจึงเชิญผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกจากห้องพิจารณายกเว้นอัยการ กฤษกรซึ่งเป็นจำเลยและทนายความของกฤษกร

ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาประมาณ 10 นาทีจึงแล้วเสร็จ ทนายความของกฤษกรให้ข้อมูลเกี่ยวกับคำพิพากษาว่า

ศาลพิพากษาว่ากฤษกรกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) รวม 2 กรรม กรรแรกเป็นข้อความที่โพสต์กล่าวหาว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวข้องกับการสั่งปิดประตูเขื่อนปากมูล ซึ่งมีทั้งหมดสองข้อความ ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับเป็นเงิน 50000 บาท กรรมที่สองข้อความที่โพสต์เรื่องการลอยอังคารผู้ว่าฯ ให้จำคุก 2 ปี ปรับเป็นเงิน 60000 บาท รวมจำคุก 4 ปี ปรับเป็นเงิน 110000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน

ทนายของกฤษกรแจ้งด้วยว่า คำพิพากษาที่คัดสำเนามาเป็นคำพิพากษาแบบย่อ ส่วนคำพิพากษาฉบับเต็มต้องขอคัดถ่ายจากศาลอีกที

สำหรับเหตุผลที่ศาลให้ประกอบการลงโทษกฤษกรพอสรุปได้ว่า

ข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจเปิดปิดเขื่อนปากมูลตามที่จำเลยโพสต์ข้อความกล่าวหา จำเลยเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องน้ำและเขื่อนปากมูล น่าจะทราบถึงกระบวนการต่างๆเป็นอย่างดี ที่จำเลยจะอ้างว่าไม่ทราบกระบวนการประชุมของคณะกรรมการ หรือวาระเรื่องการเปิดปิดเขื่อนปากมูลจึงไม่น่าจะเป็นไปได้

ส่วนข้อความที่จำเลยโพสต์ว่าจะลอยอังคารผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นข้อความเท็จและจำเลยน่าจะทราบดีว่า ในวันและเวลาดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานียังไม่ได้เสียชีวิต

หลังการอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวกฤษกรลงไปที่ห้องควบคุมใต้ถุนศาลเพื่อให้ดำเนินการชำระค่าปรับแล้วจึงทำการปล่อยตัว อย่างไรก็ตามกฤษกรยังต้องอยู่ศาลต่อเนื่องจากเขาต้องฟังการพิจารณาคดีของเขาอีกคดีหนึ่ง

คำพิพากษา

ศาลพิพากษาว่ากฤษกรกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) รวม 2 กรรม กรรแรกเป็นข้อความที่โพสต์กล่าวหาว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวข้องกับการสั่งปิดประตูเขื่อนปากมูล ซึ่งมีทั้งหมดสองข้อความ ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับเป็นเงิน 50000 บาท กรรมที่สองข้อความที่โพสต์เรื่องการลอยอังคารผู้ว่าฯ ให้จำคุก 2 ปี ปรับเป็นเงิน 60000 บาท รวมจำคุก 4 ปี ปรับเป็นเงิน 110000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน

ทนายของกฤษกรแจ้งด้วยว่า คำพิพากษาที่คัดสำเนามาเป็นคำพิพากษาแบบย่อ ส่วนคำพิพากษาฉบับเต็มต้องขอคัดถ่ายจากศาลอีกที

สำหรับเหตุผลที่ศาลให้ประกอบการลงโทษกฤษกรพอสรุปได้ว่า

ข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจเปิดปิดเขื่อนปากมูลตามที่จำเลยโพสต์ข้อความกล่าวหา จำเลยเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องน้ำและเขื่อนปากมูล น่าจะทราบถึงกระบวนการต่างๆเป็นอย่างดี ที่จำเลยจะอ้างว่าไม่ทราบกระบวนการประชุมของคณะกรรมการ หรือวาระเรื่องการเปิดปิดเขื่อนปากมูลจึงไม่น่าจะเป็นไปได้

ส่วนข้อความที่จำเลยโพสต์ว่าจะลอยอังคารผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นข้อความเท็จและจำเลยน่าจะทราบดีว่า ในวันและเวลาดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานียังไม่ได้เสียชีวิต

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา