พริษฐ์: อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผบ.ทบ. ขอให้ยกเลิกการเปิดเพลงหนักแผ่นดิน

อัปเดตล่าสุด: 27/10/2563

ผู้ต้องหา

พริษฐ์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2562

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคเพื่อไทยจัดปราศรัยหาเสียงที่ลานคนเมือง โดยช่วงหนึ่งของการปราศรัยมีการพูดถึงนโยบายการลดงบประมาณกองทัพ
 
ต่อมาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับคำปราศรัยของพรรคเพื่อไทยตอนหนึ่งว่า ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน
 
ในวันเดียวกันยังมีกระแสข่าวว่า ผบ.ทบ. มีคำสั่งให้กรมกิจการพลเรือนทหารบกนำเพลงแนวปลุกใจทหาร รวมทั้งเพลง หนักแผ่นดิน ไปเปิดในสถานีวิทยุกองทัพบกที่มีกว่า 160 สถานีทั่วประเทศ แต่ข่าวดังกล่าวก็ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จนสุดท้ายมีการประกาศยกเลิกการเปิดเพลงตามสถานี แต่ให้เปิดเป็นเสียงตามสายในค่ายทหารแทน
 
กรณีดังกล่าวทำให้นักกิจกรรมสองคนได้แก่ พริษฐ์และธนวัฒน์ชวนกันไปอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผบ.ทบ. ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ในวันที่  20 กุมภาพันธ์ 2562 ในเวลา 9.00น. เพื่อเรียกร้องให้ผบ.ทบ.ยกเลิกการเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” ในหน่วยทหารและในวิทยุของกองทัพ

นอกจากการอ่านจดหมายเปิดผนึกนักกิจกรรมทั้งสองยังนำป้ายเขียนข้อความ “หนักแผ่นดินไม่อินดี้ ฟังประเทศกูมี ดีกว่ามั้งลุง” ไปถือด้วย 
 
หลังทั้งสองอ่านจดหมายเปิดผนึกเสร็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวนักกิจกรรมทั้งสองคนไปที่ สน.นางเลิ้งทันที จากนั้นจึงแจ้งถูกแจ้งข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ นักกิจกรรมทั้งสองให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนและได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านโดยไม่ต้องวางเงินประกัน
 
อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงดุสิตในวันที่  22 มีนาคม 2562 การสืบพยานคดีนี้ใช้เวลาเพียงนัดเดียวในวันที่ และจะมีการนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 28 ตุลาคม 2562
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พริษฐ์ หรือเพนกวิ้นเป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิดแต่ไปใช้ชีวิตสมัยเด็กๆอยู่ที่จังหวัดลำปาง พริษฐ์เป็นอดีตเลขาธิการของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีความก้าวหน้า ขณะเกิดเหตุคดีนี้พริษฐ์ศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เช่น ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 พริษฐ์ไปทำกิจกรรมกินมาม่าซ้อมยากจนที่บริเวณสกายวอล์ก เพื่อประท้วงกรณีที่คสช.ยังไม่ยอมประกาศวันเลือกตั้งให้ัชัดเจนขณะที่เศรษฐกิจก็ไม่ดีขึ้น นอกจากนั้นพริษฐ์ยังเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนกลุ่มที่จะจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ด้วย แต่ขณะนั้นพริษฐ์ไม่ได้ร่วมจดจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกพรรคเพราะขณะนั้นเขายังอายุไม่ถึง
 
ธนวัฒน์ หรือบอล เป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเกิดเหตุศึกษาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนวัฒน์เคยเป็นประธานนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 เพื่อประท้วงกรณีที่กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางคนไม่ยอมยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ  
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

พริษฐ์และธนวัฒน์ เดินทางไปทำกิจกรรมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บัญชาการทหารบก เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการเปิดเพลงหนักแผ่นดินในสถานีวิทยุของกองทัพบก บริเวณที่จัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นที่สาธารณะที่บุคคลทั่วไปสามารถสัญจรผ่านไปมาได้

นอกจากนั้นพริษฐ์และธนวัฒน์ก็มีการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ตั้งค่าสาธารณะเรื่องวัน เวลา และสถานที่จัดกิจกรรม การกระทำของทั้งสองจึงเข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะและทั้งสองเข้าข่ายเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมกับผู้กำกับสถานีตำรวจที่รับผิดชอบท้องที่ที่ใช้จัดการชุมนุม

แต่ทั้งสองไม่แจ้งการชุมนุมตามกฎหมายจึงเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 

พฤติการณ์การจับกุม

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวพริษฐ์และธนวัฒน์จากที่เกิดเหตุไปทำการสอบสวนและตั้งข้อกล่าวหาที่สน.นางเลิ้ง

หลังเสร็จสิ้นการสอบสวนซึ่งทั้งสองให้การปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ก็ปล่อยตัวทั้งสองกลับบ้านในวันเดียวกันโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัว

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลแขวงดุสิต

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
15 กุมภาพันธ์ 2562
 
มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ รายงานว่า ระหว่างการปราศรัยของพรรคเพื่อไทยที่ลานคนเมือง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งทำนองว่า พรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่จะตัดงบกลาโหมสิบเปอร์เซ็นต์มาสร้างคนรุ่นใหม่ สร้างกองทุนคนเปลี่ยนงาน สร้างทักษะใหม่ เพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัวเข้ากับอาชีพในโลกยุคใหม่  
 
18 กุมภาพันธ์ 2562
 
โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ รายงานว่า ระหว่างที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มีผู้สื่อข่าวไปสอบถามเกี่ยวกับกรณีที่มีพรรคการเมืองเสนอให้ตัดงบประมาณกองทัพ พล.อ.อภิรัชต์ตอบว่า "บอกให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน" 
 
เนื่องจากแนวคิดที่จะเปิดเพลงหนักแผ่นดินในคลื่นวิทยุของกองทัพบกถูกวิกาษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง พล.อ.อภิรัชต์จึงสั่งให้งดการนำเพลงดังกล่าวไปเปิดในวิทยุ ในเย็นวันเดียวกัน คงให้เปิดเป็นเสียงตามสายภายในกองบัญชาการกองทัพบกและในหน่วยทหารทั่วประเทศแทน  

19 กุมภาพันธ์ 2562
 
พริษฐ์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กซึ่งพอสรุปได้ว่า เนื่องจากผบ.ทบ.ระบุว่าทางกองทัพบกจะเปิดเพลง #หนักแผ่นดิน ตามสายในหน่วยทหารต่าง ๆ ทั้งที่เพลงดังกล่าวเคยถูกใช้ปลุกระดมมวลชนให้มาเข่นฆ่านิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา

เขาและเพื่อนๆจึงจะไปอธิบายให้ ผบ.ทบ.เข้าใจว่าทำไมไม่ควรเปิดเพลง "หนักแผ่นดิน" ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 9.00 น. ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก 
           
20 กุมภาพันธ์ 2562
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในเวลาประมาณ 9.00 น. พริษฐ์ และ ธนวัฒน์ พร้อมด้วยนักกิจกรรมกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) เดินทางไปอ่านจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ผบ.ทบ.ยุติการเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” ในหน่วยทหารและวิทยุของกองทัพเพราะเป็นเพลงที่สร้างความเกลียดชังและส่งเสริมความรุนแรงในสังคม 
 
ระหว่างการอ่านแถลงการณ์ กลุ่มนักกิจกรรมถือแผ่นป้ายเขียนข้อความ “หนักแผ่นดินไม่อินดี้ ฟังประเทศกูมี ดีกว่ามั้งลุง” และ “เพลงหนักแผ่นดิน สร้างความเกลียดชัง ความรุนแรง ความเจ็บปวดในสังคม” ด้วย 
 
หลังนักกิจกรรมอ่านจดหมายเปิดผนึกแล้วเสร็จเจ้าหน้าที่ก็ควบคุมตัวพริษฐ์และธนวัฒน์จากที่ชุมนุมไปที่สน.นางเลิ้งเพื่อตั้งข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุม 
 
22 มีนาคม 2562
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงดุสิต ในข้อหาจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 
 
22 เมษายน 2562 
 
นัดสอบคำให้การ

มติชนออนไลน์รายงานว่า จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลแขวงดุสิตนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม 2562

24 กรกฎาคม 2562 
 
นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย
 
วันนี้เป็นวันนัดสืบพยาน ห้องพิจารณาคดีที่ 409 มีเพียงทีมทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ผู้ร่วมสังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และธนวัฒน์ จำเลยที่สอง ศาลออกนั่งพิจารณาคดีประมาณ 10.30 น.

เนื่องจากพริษฐ์ จำเลยที่หนึ่ง เดินทางมาถึงศาลล่าช้ากว่ากำหนด เขาแถลงต่อศาลว่า การเดินทางมาที่ศาลการจราจรติดขัดมาก และมีอาการป่วย ทำให้มาถึงศาลล่าช้า โดยระหว่างการพิจารณาคดีพริษฐ์มีอาการไอตลอดเวลา จนเจ้าหน้าที่ศาลต้องหาผ้าปิดปากมาให้สวม 
 
ศาลเริ่มการพิจารณาคดี ศาลอ่านคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองคนฟัง จำเลยทั้งสองคนได้ยืนยันให้การปฏิเสธตามข้อกล่าวหา ฝ่ายโจทก์แถลงว่า พยานฝ่ายโจทก์สี่ปากประกอบไปด้วย พยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสามคน คือสารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง, ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง และพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดี ส่วนพยานอีกปากหนึ่ง คือนักศึกษาผู้ร่วมจัดกิจกรรมกับพริษฐ์ และธนวัฒน์ ศาลจึงให้เริ่มสืบพยาน
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.ต.ปฏิญญา ตินโย ผู้กล่าวหา
 
พ.ต.ต.ปฏิญญาเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการตำแหน่งสารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง เกี่ยวข้องในคดีเนื่องจากเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ โดยตำแหน่งสารวัตรสืบสวน มีหน้าที่ป้องกัน ปราบปรามผู้กระทำความผิด และเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของนักเคลื่อนไหว ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาจาก สน.นางเลิ้ง ให้เฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวและการชุมนุมในพื้นที่ 
 
จากการเฝ้าติดตามพบว่า มีเฟซบุ๊กชื่อ Parit Chiwarak ซึ่งเป็นของ พริษฐ์ จำเลยที่หนึ่ง ระบุข้อความเกี่ยวกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กรณีชี้แจงให้เปิดเพลงหนักแผ่นดินในเสียงตามสายในค่ายทหารทั่วประเทศ ผู้โพสต์เกรงว่าเพลงหนักแผ่นดินจะถูกนำมาใช้เพื่อปลุกระดมเพื่อให้เกิดความขัดแย้งเหมือนในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากการตรวจสอบในเฟซบุ๊ก พบว่า มีการนัดหมายให้บุคคลทั่วไปมาที่หน้ากองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.00 น.
 
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ก่อนวันจัดกิจกรรม เวลาประมาณ 22.00 น. เฟซบุ๊กดังกล่าว ได้โพสต์ว่า เรียนพี่ๆ ทุกท่านว่าการที่ไปหน้ากองทัพบกไม่ใช่เป็นการชุมนุม แต่เป็นการไปให้ความรู้กับพลเอกอภิรัชต์ เกี่ยวกับการเปิดเพลงหนักแผ่นดิน นอกจากนั้นจำเลยที่สอง คือ ธนวัฒน์ วงค์ไชย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ตอน 17.00 น. ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ว่า เหตุผลที่ไม่ควรเปิดเพลงหนักแผ่นดิน เนื่องจากจะทำให้เกิดความแตกแยก นอกจากนี้โพสต์ดังกล่าวยังได้บอกให้บุคคลทั่วไปมาที่หน้ากองทัพบกในวันที่  20 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.00 น. ซึ่งเฟซบุ๊กทั้งสองบัญชีตั้งเป็นค่าสาธารณะที่บุคคลอื่นสามารถเข้าถึงได้ 
 
พ.ต.ต.ปฏิญญาเบิกความต่อว่า หลังจากทราบข้อมูลจากเฟซบุ๊กทั้งสองบัญชีแล้ว จึงได้ประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมดของฝ่ายสืบสวนสน.นางเลิ้ง เพื่อแบ่งหน้าที่ในการดูแลควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ 
 
ต่อมา วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 08.30 น. ได้ไปที่หน้ากองทัพบกพร้อมกับ ด.ต.สุชาติ รัตนมณี ซึ่งเป็นผู้บังคับหมวดสืบสวน และตำรวจอีกประมาณ 30 นาย เพื่อทำหน้าที่ดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม จนเวลา 09.00 น. จำเลยทั้งสอง กับปรเมศวร์ มาถึงบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก และพริษฐ์ จำเลยที่หนึ่ง ได้อ่านแถลงการณ์ที่เกาะกลางถนนฝั่งซ้ายหน้ากองบัญชาการกองทับบก

โดยแถลงการณ์นั้นพริษฐ์ได้พกติดตัวมาเอง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และในแถลงการณ์เปิดผนึกดังกล่าวมีข้อความระบุถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ กรณีเปิดเพลงหนักแผ่นดิน หลังจากอ่านแถลงการณ์เสร็จพริษฐ์ ได้นำแถลงการณ์ไปติดไว้ที่ป้ายบอกทางที่มีชื่อกองบัญชาการกองทัพบก 
 
จากนั้นจำเลยทั้งสองได้นำป้ายพลาสติกออกมา เขียนว่า “หนักแผ่นดิน ไม่อินดี้ ฟังประเทศกูมีดีกว่าไม่รู้” และยังมีกระดาษอีกสามแผ่นเรียงต่อกัน โดยมีข้อความระบุว่า “เพลงหนักแผ่นดินสร้าง / ความรุนแรง ความเกลียดชัง / และความเจ็บปวดในสังคม” โดยได้วางแผ่นป้ายไว้บนพื้น ให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ
 
พ.ต.ต.ปฏิญญาเบิกความต่อว่า หลังจากที่จำเลยทั้งสองคนวางแผ่นป้ายเสร็จ ได้เข้าไปสอบถามว่า ได้แจ้งการชุมนุมหรือไม่ จำเลยทั้งสองคนตอบว่า ไม่ได้แจ้งการชุมนุม เนื่องจากมาทำกิจกรรมให้ความรู้ ไม่ใช่การชุมนุม จากนั้นจึงได้เชิญตัวจำเลยทั้งสองคนไปที่ สน.นางเลิ้ง และตรวจยึดของกลางจำนวน 5 รายการ โดยมี แถลงการณ์ แผ่นป้ายพลาสติก และแผ่นกระดาษสามแผ่น ที่ใช้ในการทำกิจกรรม มีการบันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นพยานหลักฐานตามที่ส่งเข้ามาเป็นหลักฐานในศาลนี้
 
ทนายจำเลยแถลงคัดค้านต่อศาลว่า พยานภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวโจทก์ไม่ได้ยื่นมาในบัญชีระบุตั้งแต่แรก ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ด้านอัยการแถลงว่า ในเรื่องการขอยื่นพยานภาพเคลื่อนไหวยังไม่ได้มีกฎหมายรองรับว่า จะยื่นเข้ามาเพิ่มเติมขณะสืบพยานทำได้ หรือไม่ได้ จึงแถลงขอศาลยื่นเข้ามาในวันนี้ ศาลมีคำสั่งรับเอกสารดังกล่าวเป็นพยานเอกสารในคดี
 
พยานไม่ได้รู้จักจำเลยเป็นการส่วนตัว และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน
 
ตอบทนายจำเลยที่หนึ่ง (พริษฐ์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ต.ปฏิญญารับราชการในตำแหน่งสารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง ตั้งแต่เมื่อใด พ.ต.ต.ปฏิญญาตอบว่า ทำงานในตำแหน่งนี้เมื่อประมาณสองปีก่อน ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ต.ปฏิญญา ได้ศึกษา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาเป็นอย่างดีใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยถามต่อว่า ใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้เอาผิดกับผู้จัดการชุมนุม หากชุมนุมโดยไม่แจ้ง ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามต่ออีกว่า หากไม่เป็นการชุมนุมก็ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยให้ พ.ต.ต.ปฏิญญา อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ พ.ต.ต.ปฏิญญา อธิบายว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้รักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม อำนวยความสะดวก และจัดระเบียบการชุมนุมให้เป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญกำหนด 
 
ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ต.ปฏิญญาทราบข้อมูลการจัดกิจกรรมหลังจากเห็นโพสต์ในเฟซบุ๊กนานหรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญาตอบว่า ไม่นาน

ทนายจำเลยถามต่อว่า ที่สน.นางเลิ้ง มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 มีการเรียกประชุมจาก พ.ต.อ.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ ผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง เรียกมาวางแผนจัดการการชุมนุมหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562

ทนายจำเลยถามต่อว่า ในการประชุมมีใครบ้าง พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน และฝ่ายปราบปราม ทนายจำเลยถามว่า วัตถุประสงค์ในการประชุมดังกล่าวว่าประชุมเพื่ออะไร พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า เพื่อการเฝ้าระวังกิจกรรมในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562

ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ต.ปฏิญญาทราบหรือไม่ว่า จำเลยทั้งสองคนเป็นยังเป็นนักศึกษา ไม่ใช่นักกิจกรรมทางการเมือง พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ทราบ 

ทนายจำเลยถามว่า นอกจากเจ้าหน้าที่ตรวจ สน.นางเลิ้ง ยังมีเจ้าหน้าที่จากที่ไหนอีกบ้าง พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายข่าวจากกองบังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล 1, เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจากกองกับกับการตำรวจนครบาล 1

พ.ต.ต.ปฏิญญา เบิกความเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนนั้นได้รับการมอบหมายเป็นพิเศษจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ทนายจำเลยถามต่อว่า ในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดถึง 100 คนหรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า มีไม่ถึง มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดประมาณ 30 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ และนอกเครื่องแบบแล้ว
 
ทนายจำเลยถามว่า สถานะเฟซบุ๊กของจำเลยที่หนึ่ง ไม่มีข้อความเชิญชวนคนให้มาร่วมกิจกรรมใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่าในข้อความที่โพสต์ไม่มีข้อความเชิญชวน แต่ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า เป็นการเชิญชวนโดยปริยาย เนื่องจากในโพสต์ดังกล่าวระบุวัน เวลา และสถานที่

และมีประโยคว่า “จึงแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน” ถือว่าเป็นการเชิญชวน และไม่มีการห้ามคนอื่นมาเข้าร่วม และไม่เป็นการแจ้งให้ชัดเจนว่า จะทำกิจกรรมด้วยตัวเอง

ทนายจำเลยถามต่อว่า แสดงว่า พ.ต.ต.ปฏิญญา เห็นโพสต์เฟซบุ๊กของจำเลยที่หนึ่งแล้วตีความเองว่า เป็นการชุมนุม พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ไม่ใช่ แต่เอาเข้าที่ประชุมแล้วที่ประชุมมีความคิดเห็น ไม่ได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง

ทนายจำเลยถามว่า ในโพสต์เฟซบุ๊กจำเลยที่หนึ่งแจ้งในเชิงว่า “กิจกรรมที่จะจัดนั้นไม่ใช่การชุมนุม แต่เป็นกิจกรรมให้ความรู้” ใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า คิดว่าใช่ โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า การชุมนุมนั้นมีสองแบบ คือ การชุมนุมสาธารณะ และการชุมนุมทางการเมือง
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพาจำเลยทั้งสองคน และปรเมศวร์ ที่มาทำกิจกรรมกับจำเลย ไปที่เกาะกลางถนนที่ทำกิจกรรมในวันนั้น และมีสื่อมวลชนอยู่ ใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบทำแบบนั้นหรือไม่ แต่ส่วนตัวคิดว่าจำเลยทั้งสองคนเดินทางไปตรงนั้นเอง เดินไปหานักข่าวเพื่อให้ถ่ายรูปเป็นเจตจำนงค์หลักของจำเลยทั้งสองคน และเพื่อน

ทนายจำเลยถามว่า เอกสารจดหมายเปิดผนึกที่จำเลยทั้งสองคนนำไปยื่นให้ ผบ.ทบ.นั้นไม่มีข้อความปลุกระดม หรือให้ใช้ความรุนแรงใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ใข่

ทนายจำเลยถามต่อว่า การที่จำเลยที่หนึ่งนำจดหมายเปิดผนึกไปติดที่ป้ายบอกทางกองบัญชาการกองทัพบกเพราะถูกบังคับจากเจ้าหน้าที่เนื่องจากไม่ให้ยื่นหนังสือให้ ผบ.ทบ. ใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญาตอบว่า ไม่ใช่ จำเลยที่หนึ่งไปติดเอง

ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ต.ปฏิญญา มีหน้าที่ในการจับกุมบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งหน้าในคดีอาญาได้หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ได้

ทนายจำเลยถามต่อว่า แล้วในวันนั้นที่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ไม่ได้จับจำเลยทั้งสองคนเนื่องจากไม่มีความผิดใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ไม่ใช่ แต่เนื่องจากพยานหลักฐานยังไม่สมบูรณ์ จึงใช้การเชิญตัวไปที่ สน.นางเลิ้ง แทนการจับกุม โดยคนเชิญตัวคือผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง และพ.ต.ต.ปฏิญญาเอง 

ทนายจำเลยถามว่า ในการพาตัวคนทำกิจกรรมไปที่ สน.นางเลิ้ง นั้นพาตัวไปสามคนคือ จำเลยที่หนึ่ง จำเลยที่สอง และปรเมศวร์ แรมวัลย์ ใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยถามต่อว่า แล้วทั้งสามคนสามารถปฏิเสธการพาตัวไปที่ สน.นางเลิ้งได้หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า สามารถปฏิเสธได้ แต่ทั้งสามคนไม่ปฏิเสธ 

ทนายจำเลยถามต่อว่า พ.ต.ต.ปฏิญญาเคยทราบหรือไม่ว่าเพลงหนักแผ่นดิน เป็นเพลงที่สร้างความแตกแยก ใช้เปิดในช่วง 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการสังหารหมู่นักศึกษา

พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า เคยทราบ เนื่องจากฝ่ายสืบสวนต้องหาข่าวสาร ซึ่งหลังจากเห็นโพสต์เฟซบุ๊กของจำเลยที่หนึ่ง ว่าจะจัดกิจกรรมดังกล่าว จึงได้ตรวจสอบที่มาของเพลงหนักแผ่นดิน และทราบว่าเป็นเพลงที่ทำให้เกิดการฆ่ากัน และเกิดความไม่สงบช่วง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นข้อมูลจาก Wikipedia

ทนายจำเลยถามต่อว่า การที่ ผบ.ทบ. ให้เปิดเพลงหนักแผ่นดิน เนื่องจากในช่วงนั้นมีพรรคการเมืองเสนอให้ลดงบประมาณกองทัพบก และให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยที่สองถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ต.ปฏิญญา ฟังเพลงหนักแผ่นดินแล้วฮึกเหิมหรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ไม่ฮึกเหิม ฟังแล้วรู้สึกเฉยๆ

ทนายจำเลยถามต่อว่า แล้วทราบหรือไม่ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คืออะไร พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ทราบว่า เป็นเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทนายจำเลยถามว่า แล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่า ผบ.ทบ. จะไม่ทราบว่าเพลงหนักแผ่นดินมีประวัติศาสตร์อย่างไร พ.ต.ต.ปฏิญญา ไม่ทราบว่า ผบ.ทบ. จะทราบหรือไม่

ทนายจำเลยถามถึงข้อความที่จำเลยที่สองโพสต์ว่า ในโพสต์ดังกล่าวมีการชักชวนสื่อมวลชนให้มาทำข่าวหรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ไม่ได้มีข้อความเชิญชวนนักข่าว แต่มีการกำหนดเวลา และสถานที่ชัดเจน จึงเป็นการเชิญโดยปริยาย และเฟซบุ๊กของจำเลยที่สองตั้งค่าเป็นโพสต์สาธารณะด้วย

ทนายจำเลยถามต่อว่า แล้วปรเมศวร์ เพื่อนของจำเลยทั้งสองคนได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าวด้วยหรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผู้ชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบแต่ไม่ใช่การแจ้งเพื่อขออนุญาตใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ใช่ เป็นการแจ้งตำรวจเพื่อให้ดูแลความสงบเรียบร้อย และอำนวยความสะดวก

ทนายจำเลยถามว่า แม้จำเลยทั้งสองคนจะไม่แจ้งการชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีการประชุมเพื่อเตรียมแผนควบคุมกิจกรรม และเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่อยู่แล้วใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยถามว่า ที่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ถามจำเลยที่หนึ่งว่า ได้แจ้งการชุมนุมหรือไม่หลังจากจัดกิจกรรมเสร็จนั้น ก่อนหน้านั้นระหว่างจัดกิจกรรม พ.ต.ต.ปฏิญญา ได้มีการสอบถามจำเลยที่หนึ่งหรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ไม่ได้ถาม ถามเพียงตอนที่จำเลยที่หนึ่งอ่านจดหมายเปิดผนึก และวางของที่ใช้ในการทำกิจกรรมเสร็จแล้ว

ทนายจำเลยถามต่อว่า แล้ว พ.ต.ต.ปฏิญญา สามารถถามก่อนจัดกิจกรรมได้หรือไม่ว่าแจ้งการชุมนุมหรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า สามารถทำได้

ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ต.ปฏิญญา ทราบข่าวหรือไม่ว่า พล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ. ให้เปิดเพลงหนักแผ่นดินผ่านวิทยุกระจายเสียงของกองทัพบกทั้งหมด 160 สถานีทั่วประเทศ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ทราบจากข่าว

ทนายจำเลยถามต่อว่า ตำแหน่ง ผบ.ทบ. มีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชา และมีอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมากใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า หากมีการเปิดเพลงหนักแผ่นดินให้ทหารฟังไประยะเวลาหนึ่งจะเกิดความฮึกเหิมใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ไม่ทราบ

ทนายจำเลย ถามว่า เพลงหนักแผ่นดินเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ให้เจ้าหน้าที่ฆ๋านักศึกษาหรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยถามต่อว่า พ.ต.ต.ปฏิญญา เห็นด้วยหรือไม่ว่าสิ่งที่จำเลยทั้งสองคนทำคือการหยุดยั้งการสร้างความเกลียดชังใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า เห็นด้วย ทนายจำเลยถามต่อว่า สิ่งที่จำเลยทั้งสองคนทำนั้นประชาชนทุกคนควรจะทำได้ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า ทำภายใต้กรอบกฎหมายได้ แต่ควรจะต้องแจ้งการชุมนุมก่อน

ทนายจำเลยถามว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยหรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า มี ทนายจำเลยถามคำถามสุดท้ายว่า 

ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามติง

อัยการถามว่า ในกิจกรรมดังกล่าวบุคคลภายนอกสามารถเข้าร่วมชุมนุมได้หรือไม่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า สามารถเข้าร่วมได้ เนื่องจากไม่มีการห้ามคนภายนอกเข้าร่วมไว้

อัยการถามว่า ในโพสต์เฟซบุ๊กของจำเลยที่สอง พ.ต.ต.ปฏิญญา เข้าใจข้อความในโพสต์ดังกล่าวว่าอย่างไร พ.ต.ต.ปฏิญญา ตอบว่า อ่านแล้วเห็นว่าเป็นการเชิญชวนให้คนมานัดพบกันตามที่นัดหมายวัน เวลา สถานที่ที่ระบุไว้ในโพสต์ดังกล่าว

อัยการแถลงหมดคำถาม

หลังสืบพยานโจทก์ปากแรกแล้วเสร็จ ศาลสั่งพักการพิจารณาคดีเนื่องจากขณะนั้นเป็นเวลาเที่ยวแล้วพร้อมทั้งแจ้งคู่ความว่าให้มาสืบพยานต่อในเวลา 13.30 น. โดยหลังพักเที่ยงศาลเริ่มการพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 13.40 น.

สืบพยานโจทก์ปากที่ 2 พ.ต.อ.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ ผู้กำกับการสน.นางเลิ้ง

พ.ต.อ.กัมปนาท เบิกความว่า ปัจจุบันรับราชการเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นผู้กำกับการสน.นางเลิ้ง

พ.ต.อ.กัมปนาท เบิกความถึงการแจ้งการชุมนุมที่ถูกต้องว่า ในขณะที่เขาเป็นผู้กำกับฯสน.นางเลิ้ง มีหน้าที่รับแจ้งการชุมนุมที่จะจัดขึ้นในเขตรับผิดชอบของสน.นางเลิ้ง

สำหรับประชาชนที่ประสงค์จะทำการชุมนุมก็สามารถทำได้ ต้องแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม การแจ้งการชุมนุมสามารถดำเนินการได้ทั้งทางแฟกซ์ อีเมล หรือมาแจ้งด้วยตัวเองที่สถานีตำรวจ 

อัยการถามว่า แล้วจำเลยทั้งสองคนได้แจ้งการชุมนุมหรือไม่ พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า ทั้งสองคนไม่ได้แจ้งการชุมนุม

พยานไม่ได้รู้จักจำเลยเป็นการส่วนตัว และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน

ตอบทนายจำเลยที่หนึ่ง (พริษฐ์) ถามค้าน  

ทนายจำเลยถามว่า ในวันเกิดเหตุพ.ต.อ.กัมปนาทอยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า อยู่ในที่เกิดเหตุ โดยมีจุดประสงค์เพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา

ทนายจำเลยถามต่อว่า แล้วโพสต์ในเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 1 คือพริษฐ์ ที่แจ้งว่า จะไปยื่นหนังสือให้กับ ผบ.ทบ. นั้น เป็นการเชิญชวนคนหรือไม่ พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า เห็นว่าข้อความดังกล่าวมีการกำหนดวัน เวลา และสถานที่ชัดเจน และมีประโยคที่ว่า "ชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกัน" จึงเห็นว่า เป็นการเชิญชวนคนให้มาร่วม

ทนายจำเลยถามต่อว่า แล้วที่จำเลยที่หนึ่ง ได้แจ้งในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยว่า เจตนาของกิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง แต่ทำเพื่อเป็นกิจกรรมให้ความรู้สาธารณะ เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษาใช่หรือไม่ พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า ใช่ 

ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.อ.กัมปนาท อยู่ในที่เกิดเหตุตั้งแต่กี่โมง พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า เริ่มเข้าบริเวณที่จะจัดกิจกรรมตั้งแต่เวลาประมาณ 08.30 น. จนกิจกรรมแล้วเสร็จ ไปถึงที่เกิดเหตุก่อนจำเลยทั้งสอง 

ทนายจำเลยถามว่า นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้งแล้ว มีเจ้าหน้าที่จากที่ไหนอีกบ้าง พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 หน่วยควบคุมฝูงชน และได้ตอบทนายจำเลยว่า เป็นคนขอกำลังเพิ่มเติมจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ด้วยตนเองเนื่องจากมีการชุมนุมหลายกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.นางเลิ้งมีจำนวนไม่พอ

ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.อ.กัมปนาท ไม่ได้ทำการจับกุมจำเลยทั้งสองคนในที่เกิดเหตุใช่หรือไม่ พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า ไม่ได้จับกุม ทนายจำเลยถามต่อว่า ที่ไม่จับเพราะไม่มั่นใจว่ากระทำความผิดอย่างไรในที่เกิดเหตุใช่หรือไม่ พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า ใช่ 

ทนายจำเลยถามว่า ในที่เกิดเหตุนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจำเลยทั้งสองแล้ว ยังมีสื่อมวลชนด้วย พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า ไม่แน่ใจ ทนายจำเลยจึงถามต่อว่า แต่มีลักษณะคล้ายกับสื่อมวลชนใช่หรือไม่ ทั้งการถือไมโครโฟน และการห้อยป้าย พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า มีความคล้าย 

ทนายจำเลยถามว่า ฝ่ายสืบสวนได้รายงานหรือไม่ว่า กิจกรรมจัดขึ้นเพราะ ผบ.ทบ. ให้เปิดเพลงหนักแผ่นดิน ทั้งกองทัพบก และทางวิทยุกองทัพบกทั่วประเทศ พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า ไม่ได้รายงาน และไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามต่อว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ พ.ต.อ.กัมปนาท ได้ทำรายงานส่งให้ผู้บังคับบัญชาหรือไม่ พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า ไม่ได้ทำรายงานส่งให้ผู้บังคับบัญชา แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องทำรายงานส่งให้พ.ต.อ.กัมปนาท

ทนายจำเลยถามว่า แม้ พ.ต.อ.กัมปนาท ไม่ได้รับแจ้งการชุมนุม แต่ก็ได้จัดกำลังพลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้จัดกิจกรรม และคนที่สัญจรไปมาใช่หรือไม่ พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า ใช่

ตอบทนายจำเลยที่สอง (ธนวัฒน์) ถามค้าน 

ทนายจำเลยถามว่า ข้อความในโพสต์ของเฟซบุ๊กของจำเลยที่หนึ่ง ที่แจ้งว่าจะทำกิจกรรมดังกล่าว ไม่มีข้อความปลุกระดมมวลชน แต่เป็นเพียงการบอกวัน เวลา และสถานที่ ไม่มีการเชิญชวนคนให้ออกมาใช่หรือไม่ พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า ใช่ 

ทนายจำเลยถามว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผู้ชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบแต่ไม่ใช่การขออนุญาตใช่หรือไม่ พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่า เป็นการแจ้งตำรวจเพื่อให้ดูแลความสงบเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกใช่หรือไม่ พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า ใช่ 

คำถามสุดท้ายทนายจำเลยถามว่า พ.ต.อ.กัมปนาท อยู่ในที่เกิดเหตุตลอดเวลาหรือไม่ พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า ใช่ อยู่ตลอดเวลา

ตอบอัยการถามติง

อัยการถามว่า พ.ต.อ.กัมปนาท อ่านโพสต์เฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสองที่แจ้งว่าจะไปทำกิจกรรม แล้วเข้าใจว่าอย่างไร พ.ต.อ.กัมปนาท ตอบว่า เข้าใจว่าเป็นการเชิญชวนให้คนทั่วไปมาร่วมชุมนุม เนื่องจากมีข้อความว่า "แจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน" และให้ประชาชนที่เห็นด้วยมาร่วมชุมนุม

สืบพยานโจทก์ปากที่สามปรเมศวร์ แรมวัลย์ ผู้ร่วมทำกิจกรรมกับจำเลยทั้งสองคน

เริ่มสืบพยานเวลา 14.05 น. ปรเมศวร์เบิกความว่า ขณะนี้อายุ 19 ปี เป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจาก เป็นคนถือป้ายในการจัดกิจกรรมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เพื่อไปชี้แจงเรื่องการเปิดเพลงหนักแผ่นดินให้กับ ผบ.ทบ. 

อัยการให้ปรเมศวร์เบิกความถึงการไปทำกิจกรรมในวันนั้นว่าไปได้อย่างไร ปรเมศวร์เบิกความว่า หลังจากเห็นข่าว ผบ.ทบ. จะให้ค่ายทหารทั่วประเทศ และวิทยุทหารทุกสถานี้เปิดเพลงหนักแผ่นดิน จึงได้คุยกับจำเลยที่หนึ่ง และจำเลยที่สอง และนัดหมายกันไปยื่นหนังสือให้กับ ผบ.ทบ. ที่บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก

ปรเมศวร์เบิกความว่าเขารู้จักกับจำเลยทั้งสองคนมาประมาณหนึ่งปี อัยการให้ปรเมศว์ชี้ตัวจำเลยทั้งสองคนว่า อยู่ในห้องพิจารณาคดีหรือไม่ ปรเมศวร์ชี้ตัวจำเลยทั้งสองคนได้ถูกต้อง โดยจำเลยที่หนึ่งคือพริษฐ์ เป็นผู้ชายสวมเสื้อสีขาว ส่วนจำเลยที่สอง คือธนวัฒน์ สวมเสื้อสีดำ และสวมแว่นตา ทั้งสองคนนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดี

อัยการถามว่า แล้วก่อนหน้านี้ปรเมศวร์เคยร่วมกิจกรรมกับจำเลยทั้งสองคนมาแล้วกี่ครั้ง ปรเมศวร์เบิกความว่า หลายครั้ง แต่จำไม่ได้ว่ากี่ครั้ง เช่น เคยจัดงานเสวนาการเมืองที่ธรรมศาสตร์ 

อัยการให้ปรเมศวร์เล่าถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ ปรเมศวร์เบิกความว่า ในวันที่ทำกิจกรรมนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้จำเลยทั้งสองคน และตัวของปรเมศวร์จัดกิจกรรมที่ป้ายกองบัญชาการกองทัพบก และให้เดินไปที่เกาะกลางถนน ในบริเวณที่จัดกิจกรรมตรงเกาะกลางถนนมีทั้งตำรวจในเครื่องแบบ และนอกเครื่องแบบมาล้อมไว้

ปรเมศวร์เบิกความต่อว่า ขณะเกิดเหตุเขาเป็นคนถือป้ายอยู่หลังจำเลยที่หนึ่งขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน อัยการถามว่า แล้วปรเมศวร์ทำอะไรต่อจากนั้น ปรเมศวร์เบิกความว่า หลังจากนั้นได้เดินตามจำเลยที่หนึ่งไปบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบกแต่เข้าไปข้างในไม่ได้ 

อัยการถามว่า ขณะจัดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปคุยกับปรเมศวร์หรือไม่ ปรเมศวร์เบิกความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปคุยกับจำเลยที่หนึ่ง และจำเลยที่สอง แต่ไม่ได้คุยกับปรเมศวร์ อัยการถามว่า ปรเมศวร์ได้ไปที่ สน.นางเลิ้ง กับจำเลยทั้งสองคนหรือไม่ ปรเมศวร์ตอบว่า ไปกับจำเลยทั้งสองคนด้วย ซึ่งไปในฐานะพยานในคดี

ปรเมศวร์เบิกความว่าเขาไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองคนมาก่อน

ตอบทนายจำเลยที่หนึ่ง (พริษฐ์) ถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่า ปรเมศวร์ทราบสาเหตุของการจัดกิจกรรมหรือไม่ ปรเมศวร์ตอบว่า ทราบ เนื่องจากทราบว่าเพลงหนักแผ่นดินเป็นเพลงที่ไม่ค่อยดี จึงต้องการให้ ผบ.ทบ. ยุติการเปิดเพลงหนักแผ่นดิน เพราะเพลงนี้เคยทำให้เกิดเหตุการณ์ฆ่านักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ทนายจำเลยถามว่า ในการไปทำกิจกรรมดังกล่าวเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ ผบ.ทบ. ใช่หรือไม่ ปรเมศวร์ตอบว่า ใช่ 

ทนายจำเลยถามต่อว่า ส่วนกิจกรรมที่ทำนั้น จำเลยที่หนึ่ง และจำเลยที่สองไม่แจ้งการชุมนุมเพราะเข้าใจว่าเป็นการทำกิจกรรมเพื่อการศึกษาใช่หรือไม่ ปรเมศวร์รับว่า ใช่

ทนายจำเลยถามว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าไปหากลุ่มผู้ทำกิจกรรมดังกล่าวตอนไหน ปรเมศวร์ตอบว่า ตามตั้งแต่จำเลยทั้งสองคนเริ่มเข้าพื้นที่เกิดเหตุ

ทนายจำเลยถามต่อว่า ที่ตั้งใจทำกิจกรรมกันคือยื่นหนังสือแล้วจะกลับทันทีใช่หรือไม่ ปรเมศวร์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า ในที่เกิดเหตุมีตำรวจควบคุมฝูงชนหรือไม่ ปรเมศวร์ตอบว่า มีมาตรงเกาะกลางถนนที่จัดกิจกรรม

ทนายจำเลยถามว่า ในวันเกิดเหตุนอกจากกลุ่มของปรเมศวร์แล้ว บุคคลภาพนอกสามารถเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้หรือไม่ ปรเมศวร์ตอบว่า ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เพราะตำรวจล้อมกลุ่มผู้ทำกิจกรรมไว้ทั้งหมด

ทนายความถามต่อว่า แล้วในที่เกิดเหตุมีใครอยู่บ้าง ปรเมศวร์ตอบว่า มีจำเลยทั้งสองคน ตัวของปรเมศวร์ ตำรวจ และนักข่าว 

ทนายจำเลยหมดคำถาม 

ตอบทนายจำเลยที่สอง (ธนวัฒน์) ถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่า การไปทำกิจกรรมนี้ไปได้อย่างไร ปรเมศวร์ตอบว่า คุยกันส่วนตัว เพราะรู้จักกับจำเลยทั้งสองคนอยู่แล้ว โดยที่ไม่ได้ประกาศชักชวนคนอื่นไปร่วมกิจกรรมด้วย

ทนายจำเลยถามว่า ปรเมศวร์ได้เบิกความในชั้นสอบสวนหรือไม่ ปรเมศวร์ตอบว่า ได้เบิกความกับพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุ 

ทนายจำเลยถามคำถามสุดท้ายว่า กิจกรรมที่ทำเป็นการชุมนุมหรือไม่ ปรเมศวร์ตอบว่า เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าเป็นกิจกรรมให้ความรู้กับ ผบ.ทบ. ได้เรียนรู้ จึงเชื่อว่า เป็นกิจกรรมให้ความรู้ ไม่ใช่การชุมนุม

ตอบอัยการถามติง

อัยการถามว่า ปรเมศวร์ได้ให้การในชั้นสอบสวนหรือไม่ว่า มีตำรวจล้อมไว้ขณะทำกิจกรรมจึงไม่สามารถไปที่ป้ายกองบัญชาการกองทัพบกได้ ปรเมศวร์ตอบว่า ไม่

อัยการถามว่า ในการโพสต์เฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสองคนที่ไม่มีข้อความเชิญชวน แต่มีการระบุวัน เวลา และสถานที่ ถือว่าเป็นการเชิญชวนหรือไม่ ปรเมศวร์ตอบว่า ไม่ใช่การเชิญชวน เป็นการแจ้งให้ทราบเฉยๆ

อัยการถามต่อว่า ปรเมศวร์ไม่ได้อ่านโพสต์เชิญชวนในเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสองคนใช่หรือไม่ ปรเมศวร์ตอบว่า ใช่

อัยการถามต่อว่า ปรเมศวร์มีเฟซบุ๊กหรือไม่ ปรเมศวร์รับว่า มี อัยการถามว่า แล้วปรเมศวร์ได้ติดตามเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสองคนหรือไม่ ปรเมศวร์ตอบว่า ติดตามเฟซบุ๊กจำเลยทั้งสองคนด้วย

อัยการแถลงหมดคำถาม ศาลให้นำพยานโจทก์ปากที่สี่เข้าเบิกความต่อทันที

สืบพยานโจทก์ปากที่สี่  พ.ต.ท.ไพรัช ไสยเลิศ พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง 

พ.ต.ท.ไพรัช เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการตำแหน่งพนักงานสอบสวนประจำ สน.นางเลิ้ง ปัจจุบันเป็นพนักงานสอบสวน อยู่ที่ สน.มักกะสัน

ในวันเกิดเหตุคือวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 เวลาประมาณ 09.00 น. พ.ต.ต.ปฏิญญา ตินโย สารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง ได้เข้ามาแจ้งความกับ พ.ต.ท.ไพรัช ว่า จำเลยที่หนึ่ง และจำเลยที่สอง จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง ก่อนการชุมนุมอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

พร้อมมอบหลักฐานได้แก่ แผ่นป้ายจำนวนสี่แผ่น และแถลงการณ์  รวมทั้งหมดห้ารายการ พร้อมกับมอบรายงานการสืบสวนให้ด้วยจำนวน 11 แผ่น และแผ่นซีดีเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ 

พ.ต.ท.ไพรัชเบิกความว่าเขาสอบปากคำทั้งหมดสี่คน ได้แก่ พ.ต.ต.ปฏิญญา ตินโย สารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง ด.ต.สุชาติ รัตนมณี ฝ่ายสืบสวน สน.นางเลิ้ง พ.ต.อ.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง และ ปรเมศวร์ แรมวัลย์ ผู้ร่วมกิจกรรม

พ.ต.ท.ไพรัชเบิกความว่าเขาดำเนินการพิมพ์ลายนิ้วมือจำเลยทั้งสองคนตามปกติ พบว่า จำเลยทั้งสองคนมีประวัติในข้อหา จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนการชุมนุมอย่างน้อย 24 ชั่วโมงมาก่อนหน้านี้ หลังจากนั้น พ.ต.ท. ได้แจ้งสิทธิ แจ้งข้อกล่าวหา และลงประจำวันบันทึกไว้แล้วตามกฎหมาย

พ.ต.ท.ไพรัช แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสองคนว่า ร่วมกันเป็นผู้จัดชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง โดย พ.ต.ท.ไพรัช มีความเห็นสั่งฟ้องคดี และได้ทำการรวบรวมหลักฐานส่งให้อัยการแขวงดุสิต

พ.ต.ท.ไพรัชเบิกความว่าเขาไม่ได้รู้จักจำเลยเป็นการส่วนตัว และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน

 

ตอบทนายจำเลยที่หนึ่ง (พริษฐ์) ถามค้าน 

ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.ไพรัช ได้เข้าร่วมประชุมกับผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง ในการประชุมเตรียมการรับมือในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ได้เข้าร่วม

ทนายจำเลยถามต่อว่า พ.ต.ท.ไพรัช ทราบอยู่ก่อนแล้วว่าจะมีการจัดกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.ไพรัช ทราบเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ต้องให้แจ้งกับเจ้าพนักงานตำรวจก่อนหรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัช ตอบว่า ทราบ ทนายจำเลยถามต่อว่า ในวันเกิดเหตุ พ.ต.ท.ไพรัชไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัช รับว่า ใช่

ทนายจำเลยถามต่อว่า แต่ พ.ต.ท.ไพรัชก็ทราบอยู่แล้วว่ามีเหตุเกิดขึ้น เพราะได้ประชุมเตรียมการเพื่อป้องกันเหตุก่อนแล้ว พ.ต.ท.ไพรัช รับว่า ใช่ 

ทนายจำเลยถามว่า โพสต์เฟซบุ๊กของจำเลยที่หนึ่งที่แจ้งว่าจะจัดกิจกรรมนั้น มีคนนำมาส่งให้วันไหน พ.ต.ท.ไพรัช ตอบว่า มีคนนำมาให้ในวันเกิดเหตุเลย ทนายจำเลยถามต่อว่า ข้อความในโพสต์เฟซบุ๊กจำเลยที่หนึ่งไม่มีข้อความเชิญชวนคนให้มาร่วมกิจกรรมเลยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัช ตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยถามต่อว่า แล้วโพสต์เฟซบุ๊กโพสต์ที่สองของจำเลยที่หนึ่งที่บอกว่า กิจกรรมที่จะไปทำไม่ใช่การชุมนุม ได้โพสต์ข้อความเพื่อบอกว่าไม่ได้มีเจตนาชุมนุมใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ตามที่เห็นในโพสต์ 

ทนายจำเลยถามว่า ความผิดในมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต้องเป็นผู้จัดการชุมนุมเท่านั้น หากไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 10 ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัช ตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยถามว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ทำการจับกุมจำเลยทั้งสองคนใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่ได้จับ เพียงแต่นำตัวมาที่ สน.นางเลิ้ง เฉยๆ ทนายจำเลยถามว่า ความผิดซึ่งหน้าตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น สารวัตรสืบสวน สามารถจับกุมได้หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัช ตอบว่า สามารถจับได้ แต่คดีการเมืองต้องนำตัวมาที่สถานีตำรวจเพื่อสอบสวนก่อนเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และตรวจสอบความผิด

ทนายจำเลยถามว่า ทำไม พ.ต.ท.ไพรัชถึงแจ้งข้อหาในคดีนี้ พ.ต.ท.ไพรัช ตอบว่า เนื่องจากจำเลยทั้งสองคนได้โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่สู่สาธารณะเชิญชวนคนมาชุมนุม ตามความเห็นของพนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาดังกล่าว

ตอบทนายจำเลยที่สอง (ธนวัฒน์) ถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่า ในโพสต์เฟซบุ๊กของจำเลยที่สองไม่ได้โพสต์เพื่อชักชวนใครไปร่วมกิจกรรม แต่บอกเพียงว่าจำเลยที่สองจะไปทำกิจกรรมใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัช รับว่า ใช่

ทนายจำเลยถามต่อว่า ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ผู้จัดการชุมนุมแจ้งเพื่อทราบ ไม่ใช่การแจ้งเพื่อขออนุญาต  และแจ้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมาอำนวยความสะดวกใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัช รับว่า ใช่ 

ทนายจำเลยถามว่า ใน สน.นางเลิ้ง เป็นพื้นที่ที่มีการจัดการกิจกรรมบ่อย จะมีหมายเลขโทรศัพท์ของนักกิจกรรมหรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่สองถามว่า ตอน พ.ต.ท.ไพรัชแจ้งข้อกล่าวหา พ.ต.ท.ไพรัช แจ้งเองด้วยดุลยพินิจ หรือมีข้อกล่าวหาจากคนอื่นมาก่อนแล้ว พ.ต.ท.ไพรัช มีคนแจ้งมาก่อนแล้ว

ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.ไพรัช เคยฟังเพลงหนักแผ่นดินหรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัช ตอบว่า เคยฟังตอนเด็กๆ ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า แล้วทราบหรือไม่ว่าเพลงนี้ทำให้คนฆ่ากัน พ.ต.ท.ไพรัช ตอบว่า ไม่ทราบ

ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า พ.ต.ท.ไพรัช ทันเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัช ตอบว่า ทัน 

ตอบอัยการถามติง

อัยการถามว่า ที่ พ.ต.ท.ไพรัช เบิกความไปว่า ข้อความโพสต์ในเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสองคนไม่มีข้อความเชิญชวนให้คนมาร่วมกิจกรรม แต่ พ.ต.ท.ไพรัช มีความเชื่อว่าอย่างไร พ.ต.ท.ไพรัช ตอบว่า ยืนยันว่าจำเลยทั้งสองคนมีเจตนาจัดการชุมนุม เนื่องจากประกาศ วัน เวลา และสถานที่โดยชัดแจ้ง

อัยการแถลงหมดคำถามและหมดพยาน ศาลจึงสั่งให้นำพยานจำเลยเข้าสืบต่อเลยโดยการสืบพยานโจทก์แล้วเสร็จในเวลา 15.15 น.

สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง พริษฐ์ จำเลยที่หนึ่ง เบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง

พริษฐ์กล่าวกับศาลเกี่ยวกับการสาบานตัวว่า เขาไม่ได้นับถือศาสนาใด จึงขอสาบานตนตามความเชื่อของตนเอง แต่ศาลให้สาบานตนใหม่ โดยกล่าวว่า ให้สาบานตนตามคำสาบานที่เขียนไว้ให้ในคอกพยาน พริษฐ์จึงสาบานตนใหม่โดยใช้คำสาบานของศาสนาพุทธ

พริษฐ์ เบิกความว่าขณะเบิกความเขาอายุ 21 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่สอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเกิดเหตุศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างที่เรียนได้เข้าร่วมทำกิจกรรมสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย

พริษฐ์เบิกความต่อว่าเขาเป็นสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจุดประสงค์เพื่อพิจารณางบประมาณกิจกรรมนักศึกษา และเป็นปากเสียงให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสมาชิกพรรคโดมปฏิวัติ ซึ่งเป็นพรรคของนักศึกษาพรรคหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ใช้เลือกตั้งภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

พริษฐ์ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 เห็นข่าวจากสื่อว่า ผบ.ทบ. จะให้เปิดเพลงหนักแผ่นดิน ในค่ายทหารทุกค่าย และในคลื่นวิทยุทหารทุกคลื่นด้วย จึงได้คุยกับเพื่อนๆ เนื่องจากพริษฐ์ถือว่าตัวเองเป็นรุ่นน้องของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ตายในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

พริษฐ์เบิกความต่อว่าการใช้เพลงหนักแผ่นดินอาจเป็นการปลุกระดม และคิดว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งอาจจะไม่ได้สอนวิชาทางรัฐศาสตร์ ทำให้อาจจะไม่รู้ว่า การใช้เพลงที่มีเนื้อหาแบบเพลงหนักแผ่นดิน ทำให้สังคมแตกแยกได้ และอาจจะไม่ได้เรียนทางด้านภาษาศาสตร์ จึงทำให้ไม่รู้ว่า เพลงหนักแผ่นดินมีเนื้อหารุนแรงอย่างไร จึงต้องการไปพูดคุยกับ พล.อ.อภิรัชต์

พริษฐ์เบิกความต่อว่า หลังจากนั้นจึงได้คุยกับ ธนวัฒน์ จำเลยที่สอง และปรเมศวร์ ที่เป็นพยานฝ่ายโจทก์ว่า พวกเราถือว่าเป็นรุ่นน้องของคนที่ถูกฆ่าจากการเปิดเพลงหนักแผ่นดิน จึงต้องการไปชี้แจงให้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ทราบว่า เพลงหนักแผ่นดินเป็นสาเหตุของความรุนแรง

ทนายจำเลยให้พริษฐ์เบิกความถึงเหตุของการโพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่าจะจัดกิจกรรม พริษฐ์เบิกความว่า การโพสต์เฟซบุ๊กแจ้งการจัดกิจกรรม ประการแรกโพสต์เพื่อให้ พล.อ.อภิรัชต์ ทราบว่า จะมีการเข้าไปยื่นจดหมายปิดผนึกให้ ให้เตรียมคนมารับจดหมายด้วย ประการที่สอง เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาล คสช. หากไปยื่นหนังสือที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกแล้วหายตัวไป คนอื่นจะได้ทราบว่าหายตัวไปที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก

ทนายจำเลยให้พริษฐ์เบิกความถึงเหตุของการโพสต์เฟซบุ๊กในโพสต์ที่สอง ที่แจ้งว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุม พริษฐ์เบิกความว่า ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขามาตลอดอยู่แล้ว จึงเป็นการแจ้งว่า การไปที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกไม่ได้ไปชุมนุม ที่ไปเพียงต้องการชี้แจงให้ ผบ.ทบ. ทราบเท่านั้น

ทนายจำเลยถามต่อว่า ด้วยสาเหตุดังกล่าวทำให้ไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อ สน.นางเลิ้ง ใช่หรือไม่ พริษฐ์เบิกความว่า ใช่ เนื่องจากคิดว่าไปกันสามคน โดยไม่ได้ให้คนนอกเข้าร่วม ตั้งใจจะไปให้ความรู้กับ พล.อ.อภิรัชต์ โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 

พริษฐ์เบิกความเล่าถึงวันเกิดเหตุว่า ตั้งใจจะเดินทางนัดมาเจอกันแถวๆ นางเลิ้ง และเดินไปที่ป้ายหินอ่อนหน้ากองบัญชาการกองทัพบก แต่ยังไม่ทันเดินไปถึง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาขอให้ข้ามไปอ่านแถลงการณ์ที่เกาะกลางถนน เนื่องจากหน้าป้ายกองบัญชาการกองทัพบกมีพระบรมฉายาลักษณ์ ภาพจะไม่งาม พริษฐ์และเพื่อนๆ จึงเดินตามเจ้าหน้าที่ตำรวจข้ามไปที่เกาะกลางถนน โดยมีผู้มาทำกิจกรรมสามคน คือตัวพริษฐ์เอง ธนวัฒน์ และปรเมศวร์

นอกจากพวกเขาในที่จัดกิจกรรมยังมีสื่อมวลชนด้วย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมไว้จึงไม่มีประชาชนคนนอกเข้ามา พริษฐ์เบิกความต่อว่า เริ่มทำกิจกรรมโดยอ่านแถลงการณ์จดหมายปิดผนึกที่เตรียมไว้ ใช้เวลาทำกิจกรรมตรงเกาะกลางถนนประมาณห้านาที จึงถูกเชิญตัวขึ้นรถไปที่ สน.นางเลิ้ง โดยผู้กำกับและสารวัตรสืบสวนเข้ามาพูดคุยประมาณว่า “เสร็จแล้ว ไปโรงพักกันเถอะน้อง”

พริษฐ์เบิกความต่อว่าเขาได้ขอเจ้าหน้าที่ตำรวจวางแผ่นป้ายข้อความไว้ และแปะจดหมายปิดผนึกไว้เพื่อให้ พล.อ.อภิรัชต์ ได้อ่าน โดยติดจดหมายปิดผนึกไว้ตรงป้ายบอกทางของ กทม. เป็นป้ายบอกสถานที่สำคัญ ที่เขียนว่า “กองบัญชาการกองทัพบก”

พริษฐ์เบิกความต่อว่า การถูกเชิญตัวไป สน. นางเลิ้งนั้นยังไม่ถูกจับ และการจัดกิจกรรมในวันดังกล่าวเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น มีเพียง สารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง พยานโจทก์ปากแรก ที่มาพูดกดดันให้กิจกรรมเสร็จเร็วๆ 

ทนายจำเลยถามว่า ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง ได้มีการแจ้งห้ามจัดกิจกรรม โดยแจ้งว่าการชุมนุมสาธารณะไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า ไม่มี ทนายจำเลยถามว่า คิดว่าได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ พริษฐ์ ตอบว่า คิดว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง

ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามค้าน

อัยการถามว่า พริษฐ์ถือว่าเป็นนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ใช่หรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า เป็นนักกิจกรรม ไม่ใช่แค่ทางการเมืองเท่านั้น แต่ทำกิจกรรมในหลายเรื่อง อัยการถามต่อว่า พริษฐ์เคยจัดการชุมนุมมาก่อนหรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า ไม่เคยจัดเอง แต่เคยไปร่วมงานชุมนุมของคนอื่น 

อัยการถามว่า จดหมายปิดผนึกที่เตรียมไปทำขึ้นเองใช่หรือไม่ พริษฐ์รับว่า ใช่ อัยการถามต่อว่า ทำไปกี่แผ่น พริษฐ์ตอบว่า จำไม่ได้ อัยการถามต่อว่า แล้วทำไปจำนวนเยอะหรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า ทำมากกว่าหนึ่งฉบับ เนื่องจากอยากให้ พล.อ.อภิรัชต์ โดยตรง แต่ทำมาเผื่อเนื่องจาก หาก พล.อ.อภิรัชต์ ไม่รับ ต้องทำมาฝากสื่อมวลชนให้เผยแพร่ 

อัยการถามว่า เคยฟังเพลงประเทศกูมีรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า เคยฟัง และเสริมว่าแต่เนื่องเพลงของเพลงประเทศกูมีมีเนื้อหาไม่ได้สร้างความแตกแยก อัยการถามต่อว่า เนื้อหาของเพลงประเทศกูมีเป็นการเสียดสีสังคมใช่หรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า ใช่

อัยการถามต่อว่า เนื้อเพลงประเทศกูมี ท่อนที่บอกว่า “นาฬิกาเป็นของศพ” เป็นการด่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ใช่หรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า ใช่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ พล.อ.ประวิตรเคยให้สัมภาษณ์ 

อัยการถามว่า พล.อ.อภิรัชต์สามารถตำหนิเพลงประเทศกูมีได้หรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า สามารถทำได้ แต่คนอื่นก็ต้องสามารถแสดงความคิดเห็นต่อการกระทำของพล.อ.อภิรัชต์ได้เช่นกัน อัยการถามต่อว่า แล้วพริษฐ์ทราบหรือไม่ว่า เพลงหนักแผ่นดินไม่ได้ทำการเปิดจริง พริษฐ์ตอบว่า ไม่ทราบ แต่รู้ว่า พล.อ.อภิรัชต์ มีอิทธิพลมาก จึงต้องไปให้ข้อมูลตามที่ได้เบิกความไป

อัยการถามว่าโพสต์เฟซบุ๊กเปิดเป็นสาธารณะหรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า เปิดเป็นสาธารณะ อัยการถามต่อว่า ในโพสต์ดังกล่าวมีการแจ้ง วัน เวลา และสถานที่ และมีคำว่า “แจ้งมาให้ทราบโดยทั่วกัน” ใช่หรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า แจ้งแบบนั้นจริงๆ แต่ในประโยคที่ว่าแจ้งมาให้ทราบโดยทั่วกัน เป็นการแจ้งให้ทราบเฉยๆ ไม่ได้มีจุดประสงค์แจ้งให้คนมาร่วมกิจกรรม 

อัยการถามถึงภาพเคลื่อนไหวในแผ่นซีดีที่เป็นภาพบันทึกเหตุการณ์ว่า เป็นเหตุการณ์จริงในวันเกิดเหตุจริงหรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า ภาพเคลื่อนไหวในซีดีเป็นเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุจริง แต่เสียงไม่ชัด อัยการถามต่อถึงภาพเคลื่อนไหวในซีดีว่า ชายเสื้อสีส้มคือ พ.ต.ท.ปฏิญญา ภิญโญ ใช่หรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า ใช่ อัยการถามต่อว่า พริษฐ์เป็นผู้นัดหมายนักข่าวใช่หรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า ใช่ 

อัยการถามว่า  พริษฐ์เคยไปให้การในชั้นตำรวจหรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า ไม่มั่นใจแต่น่าจะเคยไป อัยการถามคำถามสุดท้ายว่า ในระหว่างการสอบสวนมีทนายความเข้าร่วมด้วยหรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า มีทนายความร่วมด้วย

อัยการแถลงหมดคำถามค้าน

ตอบทนายจำเลยถามติง

ทนายจำเลยถามว่า เนื้อหาของเพลงประเทศกูมีเป็นอย่างไร พริษฐ์ตอบว่า เนื้อหาแสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมของสังคม ทนายจำเลยถามต่อว่า ที่อัยการยกเนื้อเพลงส่วนหนึ่งในท่อน “นาฬิกาเป็นของศพ” เป็นการนำเนื้อหาจากข่าวมาทำเป็นเพลงใช่หรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า ใช่ เป็นการนำข่าวมาทำเป็นเพลง 

ทนายจำเลยถามว่า พล.อ.อภิรัชต์ มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้ใช่หรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า มีความคิดเห็นในฐานะส่วนตัวได้ ไม่ผิด แต่ในคดีนี้เป็นการให้ความเห็นชี้นำในฐานะ ผบ.ทบ. ถือว่า ไม่เหมาะสม หากเป็นในต่างประเทศอาจจะถึงขั้นโดนปลด ลาออก หรือขึ้นศาลทหารแล้ว 

ทนายจำเลยถามว่า ซีดีเหตุการณ์ที่อัยการนำมาให้ศาลในวันนี้เคยเห็นมาก่อนหรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า ไม่เคยเห็นมาก่อน มาเห็นพร้อมกันที่ศาลในวันนี้ 

ทนายจำเลยถามว่า ในชั้นสอบสวนให้การว่าอย่างไร พริษฐ์ตอบว่า ให้การปฏิเสธ เนื่องจากไม่ใข่การชุมนุมสาธารณะ เพราะกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้เปิดให้คนนอกเข้าร่วมได้ และกิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง เป็นกิจกรรมสาธารณะที่ให้ความรู้กับสังคม และให้ความรู้ ผบ.ทบ.ว่า เพลงหนักแผ่นดินเคยถูกใช้ในการสังหารหมู่

ทนายจำเลยถามว่า ที่พริษฐ์ตอบอัยการ และให้การกับพนักงานสอบสวนไปว่า เป็นคนโพสต์เชิญชวนนักข่าวจริงหรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า เป็นการโพสต์แจ้งกิจกรรมในเฟซบุ๊กส่วนตัว เหมือนที่เคยเบิกความกับศาล ไม่ได้เชิญชวนนักข่าวแบบส่วนตัว ทนายจำเลยถามว่า พริษฐ์ไปให้การในชั้นสอบสวนวันไหน พริษฐ์ตอบว่า ไปให้การในชั้นสอบสวนด้วยตัวเองในวันเกิดเหตุ คือวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 

ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

การสืบพยานจำเลยปากที่หนึ่งแล้วเสร็จในเวลา ประมาณ 16.10 น. ศาลให้นำพยานจำเลยปากที่สองซึ่งเป็นพยานปากสุดท้ายในคดีนี้เข้าสืบต่อทันที

สืบพยานจำเลยปากที่สอง ธนวัฒน์ จำเลยที่สอง เบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง

ธนวัฒน์ สาบานตน และเบิกความว่า ขณะที่เบิกความเขาอายุ 20 ปี กำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านการทำกิจกรรม เขาเคยเป็นประธานสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย และตรวจสอบงบประมาณกิจกรรมนักศึกษา

ธนวัฒน์ เบิกความว่า ก่อนวันเกิดเหตุเห็นข่าว ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า มีความคิดว่าจะให้เปิดเพลงหนักแผ่นดิน ซึ่งขณะเห็นข่าวอยู่กับพริษฐ์ จำเลยที่หนึ่ง และปรเมศวร์ จึงคุยกันแล้วมีความเห็นว่า มีความน่ากังวล เพราะจะเป็นการสร้างความขัดแย้งให้กับสังคม และเห็นว่า พล.อ.อภิรัชต์ ขาดความตระหนักในการเป็น ผบ.ทบ. อีกทั้งยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย จึงคิดกันว่า ควรไปให้ความรู้กับ พล.อ.อภิรัชต์ 

ธนวัฒน์ เบิกความต่อว่า หลังจากนั้นจึงได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวให้ความรู้ พล.อ.อภิรัชต์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ พล.อ.อภิรัชต์ เคยนำข้อความในโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาไปวิจารณ์ แสดงว่า พล.อ.อภิรัชต์ ได้ติดตามเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่ด้วย จึงโพสต์เฟซบุ๊กให้ได้เห็น และอีกเหตุผลในการโพสต์เฟซบุ๊กคือ เป็นการแจ้งให้คนอื่นรู้เพื่อความปลอดภัยด้วย

ธนวัฒน์เบิกความเล่าถึงวันเกิดเหตุว่า เริ่มแรกตั้งใจจะเดินทางนัดมาเจอกันแถวๆ นางเลิ้ง ใกล้กับกองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งตั้งใจจะเดินไปที่ป้ายหินอ่อนหน้ากองบัญชาการกองทัพบก แต่ยังไม่ทันเดินไปถึง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาขอให้ย้ายไปอ่านแถลงการณ์ที่เกาะกลางถนน โดยแจ้งว่า เนื่องจากผู้ใหญ่ไม่สบายใจ ห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมหน้าป้ายกองบัญชาการกองทัพบก

ธนวัฒน์เบิกความต่อว่าเขาเดินตามเจ้าหน้าที่ตำรวจข้ามไปที่เกาะกลางถนน เริ่มทำกิจกรรมโดยพริษฐ์เป็นคนอ่านแถลงการณ์จดหมายปิดผนึกที่เตรียมไว้บริเวณเกาะกลางถนน และมี พ.ต.ต.ปฏิญญา ภิญโญ สารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง เป็นผู้แนะนำให้นำแถลงการณ์ไปติดกับแผ่นป้ายบอกทางของ กทม. โดยพริษฐ์ จำเลยที่หนึ่งเป็นคนนำกระดาษไปติดที่ผ่านป้ายตามคำแนะนำ

ธนวัฒน์เบิกความว่าพวกเขาใช้เวลาทำกิจกรรมตรงเกาะกลางถนนประมาณห้าถึงสิบนาที จึงถูกเชิญตัวขึ้นรถ เวลาที่ใช้ทำกิจกรรมทั้งหมดตั้งแต่มาถึงบริเวณที่เกิดเหตุเริ่มเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ จนขึ้นรถตำรวจ สน.นางเลิ้ง ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 20-30 นาที

ทนายจำเลยถามว่า คิดว่าได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ธนวัฒน์ ตอบว่า คิดว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ

ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม 

ตอบอัยการถามค้าน

อัยการถามว่า ทราบหรือไม่ว่าสุดท้ายแล้วไม่มีการเปิดเพลงหนักแผ่นดินจริง ธนวัฒน์ ตอบว่า ทราบแต่ว่ามีการเปิดเพลงหนักแผ่นดินจริง จากเฟซบุ๊กของวาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร อัยการถามต่อว่า แต่ไม่มีการอ้าง วาสนา นาน่วมเป็นพยานในคดีใช่หรือไม่ ธนาวัฒน์ตอบว่า ไม่ได้อ้างเป็นพยานในคดี 

อัยการถามว่า เฟซบุ๊กของธนวัฒน์ มีผู้ติดตามถึง 243,113 คน ซึ่งได้โพสต์ว่า จะทำกิจกรรมหน้ากองบัญชาการกองทัพบกใช่หรือไม่ ธนวัฒน์รับว่าใช่ 

อัยการถามว่า ในการทำแถลงการณ์จดหมายเปิดผนึกทำไปกี่แผ่น ธนวัฒน์ตอบว่า ไม่ทราบ อัยการถามต่อว่า ธนวัฒน์ได้เป็นคนทำเอกสารดังกล่าวหรือไม่ ธนวัฒน์ ตอบว่า เป็นคนทำเนื้อหาร่วมกับพริษฐ์ แต่ไม่ได้เป็นคนจัดพิมพ์

อัยการถามว่า ก่อนจัดกิจกรรมได้แจ้งให้ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง ทราบหรือไม่ ธนวัฒน์ ตอบว่า ไม่ได้แจ้ง เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่การชุมนุม แต่เป็นกิจกรรมการให้ความรู้สาธารณะ 

อัยการถามว่า ธนวัฒน์ถือว่าได้นัดหมายกับ พล.อ.อภิรัชต์ หน้ากองบัญชาการกองทัพบกแล้วใช่หรือไม่ ธนวัฒน์ ตอบว่า ใช่ อัยการถามต่อว่า แล้วได้ไปในที่นัดหมายหรือไม่ ธนวัฒน์ ตอบว่า ไปตามที่นัดหมายแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าไปในบริเวณที่นัดหมายได้ เพราะตำรวจห้ามไว้ และให้อยู่ตรงบริเวณเกาะกลางถนนแทน

อัยการถามว่า ธนวัฒน์ และพริษฐ์เป็นคนเรียกนักข่าวมาในวันดังกล่าวใช่หรือไม่ ธนวัฒน์ ตอบว่า ไม่ใช่ อัยการถามต่อว่า แล้วธนวัฒน์ได้อยู่กับพริษฐ์ตอนแถลงข่าวหรือไม่ ธนวัฒน์ ตอบว่า อยู่ด้วย

อัยการถามว่า ธนวัฒน์ได้ดูซีดีเหตุการณ์ฃฃที่เปิดให้ศาลดูในช่วงเช้าหรือไม่ ธนวัฒน์ ตอบว่า ได้ดู อัยการถามต่อว่า ธนวัฒน์รับรองพยานหลักฐานซีดีแผ่นนั้นได้หรือไม่ว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงไม่มีการตัดต่อ ธนวัฒน์ ตอบว่า รับรองได้เพียงบางส่วนที่ได้ดู ส่วนที่ไม่ได้ดูรับรองไม่ได้

อัยการจึงเปิดแผ่นซีดีให้ดูภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์วันเกิดเหตุอีกครั้ง และถามว่าธนวัฒน์คือบุคคลเสื้อสีขาว สวมแว่นตา ที่อยู่ในภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ดังกล่าว และภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่มีการตัดต่อใช่หรือไม่ ใช่หรือไม่ ธนวัฒน์ รับว่า ใช่ และรับรองหลักฐานชิ้นนี้ว่าไม่มีการตัดต่อ 

อัยการถามว่า ก่อนหน้านี้ธนวัฒน์เคยโดนข้อหาอะไร ธนวัฒน์ ตอบว่า ถูกดำเนินคดีในข้อหาจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง เหมือนกับคดีนี้ ซึ่งเหตุเกิดจากการไปทำกิจกรรมที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ทำกิจกรรมเผาพริกเผาเกลือตามความเชื่อชาวล้านนา ซึ่งถือว่า เป็นข้อยกเว้นไม่ต้องแจ้งการชุมนุม อัยการถามต่อว่า ผลคดีเป็นอย่างไรบ้าง ธนวัฒน์ ตอบว่า มีนัดฟังคำพิพากษาเดือนสิงหาคมนี้

อัยการถามว่า ธนวัฒน์ได้ให้การในชั้นสอบสวนหรือไม่ ธนวัฒน์ ตอบว่า ให้การแล้ว อัยการถามต่อว่า มีทนายความร่วมในการสอบสวนหรือไม่ ธนวัฒน์ตอบว่า มีทนายความเข้าร่วมด้วย 

อัยการถามว่า เจตนาของกิจกรรมครั้งนี้อยากให้เป็นกระแสใช่หรือไม่ ธนวัฒน์ ตอบว่า ไม่ใช่ต้องการให้เป็นกระแส แต่ต้องการเพียงให้ พล.อ.อภิรัชต์ ยกเลิกคำสั่งให้เปิดเพลงหนักแผ่นดิน 

อัยการถามคำถามสุดท้ายว่า มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ธนวัฒน์เยอะหรือไม่ ธนวัฒน์ตอบว่า มีนักข่าวมาสัมภาษณ์เยอะ แต่พริษฐ์เป็นคนให้สัมภาษณ์

อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามติง

ทนายจำเลยถามว่า ที่ธนวัฒน์โพสต์เฟซบุ๊กนั้น โพสต์เพราะอะไร เพื่อต้องการเชิญชวนคนให้มาร่วมกิจกรรมหรือไม่ ธนวัฒน์ ตอบว่า ไม่ได้โพสต์เพื่อเชิญชวน แต่เคยเห็น พล.อ.อภิรัชต์ เอาข้อความในเฟซบุ๊กไปวิจารณ์ จึงใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสารกับ พล.อ.อภิรัชต์ เพราะไม่มีช่องทางติดต่อส่วนตัว

ทนายจำเลยถามคำถามสุดท้ายว่า ยืนยันคำให้การในชั้นตำรวจที่ใช้เป็นพยานในคดีนี้หรือไม่ ธนวัฒน์ ตอบว่า ยืนยัน

ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามและแถลงหมดพยานในเวลา ประมาณ 16.30 น.

ศาลอ่านคำเบิกความของพยานครบทุกคน และอ่านกระบวนพิจารณาคดีในวันนี้ โดยสรุปว่าวันนี้ศาลสืบพยานได้ทั้งหมดหกปาก ทั้งฝ่ายโจทก์ และจำเลย ไม่มีพยานเข้าสืบแล้ว นัดสืบพยานในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ให้ยกเลิกไปและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 ตุลาคม 2562 

28 ตุลาคม 2562

นัดฟังคำพิพากษา

เวลาประมาณ 9.30 น. ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวมถึงพริษฐ์และธนวัฒน์มาศาลเพื่อรอฟังคำพิพากษาโดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งมาร่วมสังเกตการณ์การอ่านคำพิพากษาในวันนี้ด้วย

หลังศาลขึ้นบัลลังก์ได้อ่านคำพิพากษาซึ่งสรุปได้ว่าพริษฐ์และธนวัฒน์ทำความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 ลงโทษปรับเงินคนละ 2,000 บาท ศาลให้เหตุผลว่าจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์โพสต์ข้อความเฟสบุ๊กว่าจะมีการชุมนุมและได้ไปชุมนุมจริง จึงถือว่าทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม
 
พริษฐ์พูดถึงความรู้สึกหลังฟังคำพิพากษาว่า “จริงๆก็รู้สึกแปลกใจอยู่เหมือนกันเพราะคิดว่าจะชนะคดีและรู้สึกว่าการที่โดนคดีนี้ เป็นการถูกฟ้องเพื่อการก่อกวนและมุ่งให้เราเดือดร้อนเพื่อที่เราจะได้หยุดการต่อสู้ จึงรู้สึกผิดหวังเพราะที่ผ่านมาคิดว่าจะชนะ โดยหลังจากนี้ก็จะยังคงทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพราะการถูกฟ้องคดีก็รู้อยู่แล้วว่าเป้าหมายของผู้ฟ้องคดีทำเพื่อให้เราหยุดต่อสู้ เราก็จะไม่หยุดต่อสู้เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของเขา”
 
ขณะที่ธนวัฒน์พูดถึงความรู้สึกเกี่ยวกับคำพิพากษาว่า “คาดการณ์ไว้แล้วว่าจะมีผลเช่นนี้ แต่วันนี้มาฟังเพื่อจะดูว่าศาลจะลงด้วยเหตุผลอะไร กฎหมายนี้(พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) มีปัญหาในการตีความเพราะเขียนคำว่าชุมนุม กว้างเกินไป และกังวลว่าในอนาคตอาจจะเกิดเหตุการณ์การตีความที่กว้างแบบนี้ขึ้นอีก อย่างกรณีของเราที่เกิดขึ้นการไปหน้ากองทัพบกแค่ 2 คน มันไม่ใช่การชุมนุมแล้วเราก็ไปเพื่อการสื่อสารอย่างหนึ่งถึงผบ.ทบ.เท่านั้น

และโดยหลักแล้วกฎหมายนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการชุมนุมแต่ถูกตีความและจำกัดสิทธิของประชาชน ทั้งยังเป็นกฎหมายที่เป็นมรดกของคสช. กล่าวคือ ออกโดยสภาสนช.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งหลังจากนี้หวังว่าสภาประชาชนจะแก้กฎหมายนี้ให้ใช้ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย โดยการ อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนไม่ใช่กีดกันและสร้างภาระปัญหาและกำจัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนในอนาคตจะออกมาจัดกิจกรรมอีกหรือไม่ก็ต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป”
 
3 กันยายน 2563
 
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงินคนละ 2000 บาท เนื่องจากจำเลยทั้งสองชำระค่าปรับหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและศาลอุทธรณ์ไม่ได้แก้ไขโทษในคดีนี้ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องดำเนินการใดๆ
 
 
 

 

 


 
 

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อการศึกษาเรื่องเพลงหนักแผ่นดิน ไม่ใช่การจัดชุมนุมสาธารณะ และจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้มีการเชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมกิจกรรมด้วย

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนการเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และวรรคสองบัญญัติว่า ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะด้วยตามที่บัญญัติในวรรคหนึ่

ทั้งมาตรา 4 ได้กำหนดนิยามของคำว่า “การชุมนุมสาธารณะ” ว่า หมายถึงการชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายหรือไม่

และนิยามของคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น

และนิยามของคำว่า “ผู้ชุมนุม” หมายความรวมถึงผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะไม่ว่าจะเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะตามคำเชิญชวนหรือการนัดของผู้จัดการชุมนุมหรือไม่

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองโพสต์ข้อความในเว็บไซต์เฟซบุ๊กบัญชีของจำเลยทั้งสอง ซึ่งสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ก่อนวันเกิดเหตุ โดยมีเนื้อหาแจ้งต่อสาธารณชนว่า จำเลยทั้งสองและเพื่อนนักศึกษาจะไปทำกิจกรรมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งเป็นสถานที่สาธารณะในวันเกิดเหตุ เวลา 9.00 น. เพื่ออธิบายให้พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ควรเปิดเพลงหนักแผ่นดินตามสายในหน่วยทหารต่างๆ

แม้ว่าตามข้อความที่จำเลยทั้งสองโพสต์จะไม่มีคำว่า "เชิญชวน” แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองโพสต์ข้อความทางเว็บไซต์เฟซบุ๊กหลังจากมีข่าวว่าพลเอกอภิรัชต์ สั่งให้สถานีวิทยุและหน่วยงานกองทัพบกเปิดเพลงหนักแผ่นดินซึ่งเป็นเพลงปลุกใจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองอันเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

ประกอบกับจำเลยทั้งสองเบิกความว่า จำเลยทั้งสองเป็นนักศึกษาซึ่งทำกิจกรรมส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และพัฒนาสังคม และจำเลยทั้งสองมีข้อกังวลว่าการเปิดเพลงหนักแผ่นดินจะนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมดั่งเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

จำเลยทั้งสองซึ่งไม่ได้มีส่วนได้เสียในเรื่องนี้เป็นการส่วนตัวย่อมต้องการกำลังใจสนับสนุนจากประชาชนและคาดการณ์ได้ว่าการโพสต์ข้อความดังกล่าว จะเป็นการชักชวนให้บุคคลที่สนใจหรือมีความคิดเห็นเช่นเดียวกับจำเลยทั้งสองมาร่วมชุมนุมทำกิจกรรมกับจำเลยทั้งสอง

ส่วนที่จำเลยทั้งสองเบิกความในศาลว่า การที่บอกสถานที่และเวลาในการจัดกิจกรรมก็เพื่อให้สาธารณชนทราบเพื่อความปลอดภัยของจำเลยทั้งสองนั้น จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นศาลไม่ได้ให้การในชั้นสอบสวนกับตำรวจ และหากมีผู้ประสงค์จะทำอันตราย การโพสต์ข้อความดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นการป้องอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้

เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้โพสต์ข้อความโดยชัดเจนว่าการทำกิจกรรมเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างจำเลยทั้งสองกับพลเอกอภิรัชต์ ที่บุคคลภายนอกไม่สมควรมายุ่งเกี่ยวด้วย บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองประสงค์จะจัดการชุมนุมและเชิญชวนประชาชนที่สนใจให้มาร่วมการชุมนุมด้วย

และที่จำเลยทั้งสองเบิกความในศาลว่า จัดกิจกรรมให้ความรู้และสอนประวัติศาสตร์แก่ผู้บัญชาการทหารบก อันเป็นกิจกรรมเพื่อการศึกษานั้น เป็นการกล่าวอ้างลอยๆไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองที่เป็นนักศึกษานั้นมีความรู้และประสบการณ์หรือมีความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับของสังคมในเรื่องใด และไม่ได้มีหน้าที่ให้การศึกษาหรือมีหน่วยงานองค์กรใดขอให้มาบรรยายให้ความรู้ที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาจัดกิจกรรมเพื่อการศึกษา

การจัดกิจกรรมของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจัดการชุมนุมแสดงความคิดเห็นเพื่อคัดค้านการกระทำของพล.อ.อภิรัชต์ เมื่อจำเลยทั้งสองและปรเมศวร์ร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมบริเวณเกาะกลางถนนด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบกซึ่งเป็นสถานที่สาธารณะ โดยเป็นการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและบุคคลอื่นสามารถร่วมชุมนุมได้ การจัดกิจกรรมดังกล่าวย่อมเป็นการชุมนุมสาธารณะ

แม้ว่าเดิมจำเลยทั้งสองเจตนาจะจัดกิจกรรมบริเวณหน้าป้ายกองทัพบกดังที่จำเลยทั้งสองเบิกความ ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ รวมถึงการที่จำเลยอุทธรณ์ว่าระหว่างทำกิจกรรมไม่ได้มีประชาชนเข้าร่วมทำกิจกรรมด้วย เนื่องจากตำรวจได้ยืนคล้องแขนกันเป็นวงล้อมรอบบริเวณที่จำเลยทั้งสองและปรเมศวร์ทำกิจกรรม เพื่อป้องกันบุคคลอื่นเข้าร่วมกิจกรรมนั้น ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้มีบทบัญญัติเรื่องจำนวนคนผู้เข้าร่วมการชุมนุม แม้จะมีแค่จำเลยทั้งสองและปรเมศวร์ร่วมชุมนุมทำกิจกรรมเพียงสามคน ก็เป็นการชุมนุมสาธารณะแล้ว

พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างตามความนึกคิดลอยๆไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองจัดการชุมนุมทำกิจกรรมอันเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและเป็นการกระทำความผิดตามฟ้อง

อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีที่จะต้องวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานจัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา