ธนาธร: คดีชุมนุมแฟลชม็อบไม่ถอยไม่ทน

อัปเดตล่าสุด: 29/10/2563

ผู้ต้องหา

ธนาธร

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2562

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่กรณีกู็ยืมเงินจากธนาธรซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค
 
หลังจากนั้นในวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ธนาธรทำเฟซบุ๊กไลฟ์สั้นๆ ชวนประชาชนออกมาร่วมกิจกรรมแฟลชม๊อบไม่ถอยไม่ทน ที่สกายวอล์กหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. – 18.00 น.
 
เมื่อถึงวันนัดมีประชาชนหลักพันมาร่วมการชุมนุมจนแน่นสกายวอล์ก ระหว่างการชุมนุมธนาธร ปิยบุตร พิธา และพรรณิการ์ ผลัดกันขึ้นปราศรัย ในช่วงต้นการปราศรัยทำผ่านโทรโข่งจากนั้นจึงมีการนำเครื่องขยายเสียงมาใช้ในภายหลัง
 
 
ในวันเกิดเหตุการณ์ชุมนุมยุติลงโดยไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ หลังจากนั้นในวันที่ 22 ธันวาคม 2562 มีการออกหมายเรียกธนาธรและไพรัฏฐโชติก์ มารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
ในส่วนของพิธา ปิยบุตร และพรรณิการ์ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ในสมัยประชุม ทางตำรวจยังไม่สามารถออกหมายเรียกได้เนื่องจากต้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงนามในหนังสือขออนุญาตหมายเรียกส่งให้สภาผู้แทนราษฎรซึ่งทั้งสามเป็นสมาชิกพิจารณาอนุญาตให้ส่งตัวทั้งสามให้ทางตำรวจ
 
จากนั้นในวันที่ 29 ธันวาคม พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีกสามคน ให้ธนวัฒน์ พริษฐ์ และ  ณัฏฐา มารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา
 
ในวันที่ 10 มกราคม 2563 ผู้ต้องหาทั้งห้าคนยกเว้น พิธา พรรณิการ์และปิยบุตรที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยมีประชาชนประมาณ 50 – 60 คน มาสังเกตการณ์และให้กำลังใจที่หน้าสน.ปทุมวัน ทั้งห้าให้การปฏิเสธ
 
พนักงานสอบสวนนัดหมายให้ทั้งห้าเข้าพบเพื่อส่งตัวฟ้องต่ออัยการแขวงปทุมวันในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 10.00 น. ในส่วนของบุคคลที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสามคน
 
ในวันที่ 15 มกราคม 2563 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเป็นเอกฉันท์ 368 เสียง ไม่อนุญาตให้ทั้งสามไปพบพนักงานสอบสวน การดำเนินการทางคดีต่อบุคคลทั้งสามจึงต้องชะลอออกไปจนกว่าจะปิดสมัยประชุมสภาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ธนาธร เป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สมัยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธนาธรเคยทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มสมัชชาคนจน และอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่ตำรวจบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลสลายการชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจนซึ่งในขณะนั้นมีชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี 

ธนาธรเคยเป็นผู้บริหารของกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ก่อนที่จะลาออกมาทำงานการเมืองในฐานะผู้ร่วมจัดตั้งและหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในปี 2561 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ในการลงเลือกตั้งครั้งแรก

เมื่อรัฐสภาลงคะแนนให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีธนาธรได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีแข่งกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาแคนดิดเดทของพรรคพลังประชารัฐแต่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่า ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ธนาธรพ้นสภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเนื่องจากเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามจากกรณีถือครองหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย ระหว่างที่สมัครรับเลือกตั้ง
 
ไพรัฏฐโชติก์ เป็นอดีตผู้สมัครส.ส.จังหวัดนครปฐมพรรคอนาคตใหม่
 
พริษฐ์หรือเพนกวิ้นเป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิดแต่ไปใช้ชีวิตสมัยเด็กอยู่ที่จังหวัดลำปาง พริษฐ์เป็นอดีตเลขาธิการของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีความก้าวหน้า ขณะเกิดเหตุคดีนี้พริษฐ์ศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เช่น

ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 พริษฐ์ไปทำกิจกรรมกินมาม่าซ้อมยากจนที่บริเวณสกายวอล์ก เพื่อประท้วงกรณีที่คสช.ยังไม่ยอมประกาศวันเลือกตั้งให้ัชัดเจนขณะที่เศรษฐกิจก็ไม่ดีขึ้น นอกจากนั้นพริษฐ์ยังเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนกลุ่มที่จะจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ด้วย แต่ขณะนั้นพริษฐ์ไม่ได้ร่วมจดจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกพรรคเพราะขณะนั้นเขายังอายุไม่ถึง
 
ธนวัฒน์เป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเกิดเหตุศึกษาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนวัฒน์เคยเป็นประธานนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 เพื่อประท้วงกรณีที่กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางคนไม่ยอมยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ

ในเดือนมกราคม 2562 ธนวัฒน์เป็นผู้จัดกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่เปิดพื้นที่ให้คนที่ไม่พอใจการบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงออกร่วมกัน กิจกรรมที่ธนวัฒน์รับผิดชอบมีเพียงกิจกรรมที่สวนรถไฟ กรุงเทพ แต่ก็จุดประกายให้คนที่อยู่ในภูมิภาคอื่นๆนำไปจัดในพื้นที่ของตัวเอง
 
ณัฏฐา หรือ โบว์ เป็นนักกิจกรรมทางสังคมและเคยจัดรายการทีวีทางช่องวอยซ์ ทีวี และทำงานอิสระที่เกี่ยวกับการศึกษา 

ณัฏฐาร่วมเคลื่อนไหวในกิจกรรมทางการเมืองและใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองต่อสาธารณะบ่อยครั้งในช่วงหลังการรัฐประหาร 2557

ณัฏฐายังไม่เคยถูกดำเนินคดีจนกระทั่งเข้าร่วมและปราศรัยในกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเธอถูกดำเนินคดีรวมสี่คดีได้แก่ 

คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าห้างมาบุญครอง ที่ถนนราชดำเนิน ที่หน้ากองทัพบก และที่หน้าสหประชาชาติ ก่อนจะมาถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมแฟลชม็อบไม่ถอยไม่ทน
 
ปิยบุตร เป็นเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่  ก่อนรับตำแหน่งดังกล่าวเขาเคยเป็นนอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2544 – วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ทำหน้าที่สอนและทำงานวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง

ในปี 2553 เขาเริ่มเคลื่อนไหวกับอาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งในนามคณะนิติราษฎร์ ซึ่งประกอบด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ธีระ สุธีวรางกูร สาวตรี สุขศรี ในการจัดเวทีเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายที่สำคัญต่อประชาชนตามโอกาสต่างๆ

การจัดเวทีวิชาการเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นประเด็นที่ทำให้ตัวของปิยบุตรและคณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์อยู่ในความสนใจของฝ่ายความมั่นคง ในการเลือกตั้ง 2562 ปิยบุตรได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่
 
พรรณิการ์ หรือช่อ เป็นอดีตพิธีกรและผู้จัดรายการช่องว๊อยซ์ทีวี เมื่อมีการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ พรรณิการ์เริ่มเล่นการเมืองและได้รับเลือกเป็นโฆษกพรรค ในการเลือกตั้ง 2562  พรรณิการ์ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่

พิธา หรือทิม เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร ก่อนลงเล่นการเมืองพิธาเคยบริหารบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว ดำเนินกิจการด้านการเกษตร 
 

ข้อหา / คำสั่ง

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เอกสารแจ้งข้อกล่าวหาของสน.ปทุมวันพอสรุปได้ว่า ระหว่างวันที่ 13 ถึง 14 ธันวาคม 2562 ธนาธรโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวรวมหกครั้ง เนื้อหาของข้อความเป็นการชักชวนประชาชนให้ประชาชนมาเรียกร้องความชอบธรรม  ความยุติธรรมและความเสมอภาคในสังคม รวมทั้งให้มาร่วมชุมนุมในวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2562 ที่สกายวอล์กปทุมวัน ในเวลา 17.00 น. นอกจากนี้ก็มีเนื้อหาขอบคุณประชาชนรวมทั้งบอกว่าจะมีการจัดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันอีก
 
ปิยบุตรโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมรวมสองครั้งในวันที่ 14 ธันวาคม 2562 เนื้อหาของข้อความเป็นการเชิญชวนประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมและแสดงพลังในวันที่ 14 ธันวาคม 2562 รวมทั้งมีข้อความที่ระบุว่าจะมีการชุมนุมลักษณะเดียวกันอีก และเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมในครั้งต่อไป
 
พรรณิการ์เชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมในวันที่ 13 และ 14 ธันวาคม 2562 ด้วยการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กหนึ่งครั้ง บนทวิตเตอร์หนึ่งครั้ง และแชร์การถ่ายทอดสดการชุมนุมไม่ถอยไม่ทน ที่สกายวอล์กไปที่เฟซบุ๊กของตัวเองหนึ่งครั้ง เนื้อหาของข้อความต่างๆมีลักษณะเป็นการชักชวนประชาชนมาร่วมชุมนุม และสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องประขาธิปไตยและแสดงออกให้เห็นว่าประเทศไม่มีความสุข
 
พิธาเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมสองครั้งในวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ด้วยการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เนื้อหาของข้อความมีลักษณะเป็นการเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุม เพื่อแสดงพลังให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม
 
ไพรัฏฐโชติก์เชิญชวนประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมด้วยการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กรวมสี่ครั้งในวันที่ 14 ธันวาคม 2562 เนื้อหาของข้อความเป็นการเชิญชวนประชาชนมาร่วมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ข้อความที่ไพรัฏฐโชติก์โพสต์ยังขอบคุณประชาชนที่มาร่วมชุมนุมรวมทั้งบอกด้วยว่าในอนาคตจะมีการจัดการชุมนุมลักษณะนี้อีก
 
ณัฏฐาเชิญชวนประชาชนมาร่วมการชุมนุมด้วยการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กรวมสี่ครั้งระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม ถึง 14 ธันวาคม 2562 เนื้อหาของข้อความเชิญชวนประชาชนมาร่วมการชุมนุมโดยอ้างว่าเป็นการแสดงออกเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม รวมทั้งเรียกร้องความเป็นธรรมให้พรรคการเมืองและประเทศชาติที่ถูกครอบงำโดยระบบมาเฟีย
 
ธนวัฒน์ เชิญชวนประชาชนร่วมการชุมนุมรวมสองครั้งด้วยการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กรวมสองครั้งในวันที่ 13 ธันวาคม 2562 เนื้อหาของข้อความเป็นการเชิญชวนประชาชนมาร่วมการชุมนุมเพื่ออนาคตของผู้ร่วมการชุมนุมเอง
 
พริษฐ์ เชิญชวนประชาชนร่วมการชุมนุมหนึ่งครั้งด้วยการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในวันที่ 13 ธันวาคม เชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมแสดงความคิดเห็นเพราะทนดูเผด็จการทหารและพวกพ้องที่ใช้อำนาจทำลายฝ่ายตรงข้าม ทำลายพรรคฝ่ายค้าน ให้ทุกคนออกมาต่อสู้
 
จากนั้นเมื่อถึงวันและเวลาที่นัดหมาย 14 ธันวาคม 2563 เวลา 17.00 น. ผู้ต้องหาทั้งหมดกับพวกร่วมกันจัดการชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์ก ปทุมวัน ระหว่างการชุมนุมมีการปราศรัยผ่านทางโทรโข่งและและไมโครโฟนที่ต่อเข้าลำโพงบลูทูธ เนื้อหาการปราศรัยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดปัจจุบัน
 
จุดที่ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมยืนและจุดที่ปราศรัยอยู่ใกล้ทางเข้าออกสถานีรถไฟบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ นอกจากนั้นก็มีประชาชนยืนฟังปราศรัยบริเวณบันใดทางขึ้นลงสกายวอล์ก ปทุมวันจนเต็มพื้นที่ เป็นการกีดขวางประชาชนที่ต้องการโดยสารรถไฟฟ้าสถานีสยามกีฬาแห่งชาติ และประชาชนที่ต้องการใช้สะพานลอยข้ามแยกปทุมวัน เป็นการขัดขวางเกินสมควรต่อผู้ที่ใช้ต้องใช้ทางสาธารณะ และรบกวนการใช้บริการสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส
 
ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการชุมนุมพยายามนำประกาศเรื่องให้เลิกการชุมนุมไปมอบให้ผู้จัดการชุมนุมแต่ไม่สามารถทำได้เพราะถูกกลุ่มประชาชนที่มาชุมนุมพูดจาขับไล่และขวางกั้นไม่ให้เข้าถึงตัวผู้จัดการชุมนุม จึงใช้โทรโข่งประกาศให้ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม แต่ไม่เป็นผล ผูต้องหากับพวกยังคงชุมนุมต่อไปจนถึงเวลาประมาณ 18.00 น.จึงยุติการชุมนุม
 
ต่อมาในวันที่ 28 ธันวาคม 2562 ผู้กำกับสน.ปทุมวันตรวจสอบพบว่า บริเวณที่จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งอยู่ในรัศมีไม่เกิน 150 เมตรจากวังสระปทุมซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เป็นความผิดตามมาตราเจ็ดของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ต้องหาเพิ่มเติมในข้อกล่าวหานี้เพิ่มเติม
 

พฤติการณ์การจับกุม

ธนาธร ไพรัฏฐโชติก์ ธนวัฒน์ ณัฏฐา และ พริษฐ์เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันด้วยตัวเองในวันที่ 10 มกราคม 2563 ส่วนปิยบุตร พรรณิการ์และพิธา ผู้ต้องหาอีกสามคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอยู่ระหว่างสมัยประชุมไม่ได้เข้าพบพนักงานพร้อมกับผู้ต้องหาคนอื่นเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ไม่ให้ส่งตัวทั้งสามให้พนักงานสอบสวนระหว่างสมัยประชุม  

หลังสภาผู้แทนราษฎรปิดสมัยประชุมในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในวันที่ 16 มีนาคม 2563 พิธา ปิยบุตร และพรรณิการ์เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนโดยทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลแขวงปทุมวัน

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
11 ธันวาคม 2562
 
แนวหน้าออนไลน์รายงานว่า สำนักงานกกต.ออกเอกสารที่ 113/2562 ระบุว่า ที่ประชุมกกต.พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แล้วที่ประชุมเห็นว่าการที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท

เป็นการกระทำอันฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง บัญญัติว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
 
13 ธันวาคม 2562
 
ธนาธรไลฟ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เชิญชวนผู้สนับสนุนออกมาร่วมชุมนุมส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจ เพื่อทวงคืนความยุติธรรม ความชอบธรรม และความเสมอภาคในสังคม ที่สกายวอล์ก ปทุมวันในวันที่ 14 ธันวาคม 2562 เวลา 17.00 น.                
 
14 ธันวาคม 2562
 
เดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า ตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น. มีประชาชนเดินทางมารวมตัวที่สกายวอล์กหน้าหอศิลป์กรุงเทพจนเกือบเต็มพื้นที่ ธนาธรมาถึงพื้นที่ชุมนุมในเวลาประมาณ 17.00 น. จากนั้นจึงมีผู้ผลัดกันปราศรัยอย่างน้อยสี่คนได้แก่ ธนาธร พิธา พรรณิการ์ และ ปิยบุตรผลัดกันปราศรัย ก่อนที่การชุมนุมจะยุติในเวลา 18.00 น. หลังจากที่ผู้ชุมนุมร้องเพลงชาติร่วมกัน

16 ธันวาคม 2562
 
เวิร์คพ็อยท์ออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวถึงการจัดแฟลชม็อบไม่ถอยไม่ทนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ว่า เจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ทราบว่า ใครเป็นผู้จัดการชุมนุม หรือใครเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม ใครเป็นผู้ชุมนุม และกำลังพิสูจน์ว่า มีการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯหรือไม่
 
ในส่วนของผู้ที่ขึ้นปราศรัยเจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมพยานหลักฐานว่าการปราศรัยเข้าข่ายความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือไม่
 
22 ธันวาคม 2562
 
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลรายงานผลสรุปการพิจารณาการชุมนุมไม่ถอยไม่ทน ต่อพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ว่า จากการพิจารณาพยานหลักฐานพบว่า การจัดการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงออกหมายเรียกผู้ต้องหาสองคน คือ ธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และไพรัฎฐโชติก์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 5 นครปฐม ในข้อหาว่า

“ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่”

หมายเรียกผู้ต้องหาที่ออกมากำหนดให้ทั้งสองเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน ในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 เวลา 10.00 น.
 
ในส่วนของผู้เกี่ยวข้องคนอื่นๆได้แก่ พิธา พรรณิการ์และปิยบุตร ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคอนาคตใหม่ที่อยู่ระหว่างสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญคือต้องขออนุญาตสภาผู้แทนราษฎรที่ทั้งสามเป็นสมาชิกก่อนออกหมายเรียก โดยผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะต้องเป็นผู้ลงนามในหนังสือขออนุญาตเรียก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสามคนเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร พนักงานสอบสวนจึงร่างหนังสือส่งถึงผบ.ตร.เพื่อลงนามและนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
 
27 ธันวาคม 2562
 
เนชันทีวีออนไลน์รายงานว่า วรวิทย์ นิติบริรักษ์ ทนายความของพรรคอนาคตใหม่เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เพื่อขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของธนาธรและไพรัฎฐโชติก์ โดยให้เหตุผลว่า ธนาธร ติดภารกิจไปร่วมงานปีใหม่ม้ง ที่จังหวัดตาก โดยภารกิจดังกล่าวมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว ส่วนไพรัฎฐโชติก์ก็ติดภารกิจและการกำหนดวันนัดของเจ้าหน้าที่ก็ค่อนข้างกระชั้น ทำให้ไม่สามารถเตรียมเอกสารหลักฐานได้ทัน พนักงานสอบสวนกำหนดวันนัดใหม่เป็นวันที่ 10 มกราคม 2563
 
ในส่วนของการดำเนินการกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกสามคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พนักงานสอบสวนส่งหนังสือถึงสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอตัวทั้งสามมาดำเนินคดีแล้วอยู่ระหว่างรอให้ทางสภาอนุญาตและส่งมอบตัวให้พนักงานสอบสวน
 
29 ธันวาคม 2562
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า พ.ต.อ.พาติกรณ์ ศรชัย ผู้กำกับสน.ปทุมวัน เข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันในฐานะผู้กล่าวหาเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ ณัฏฐา พริษฐ์ และธนวัฒน์ จากกรณีร่วมจัดการชุมนุมแฟรชม็อบไม่ถอยไม่ทนในวันที่ 14 ธันวาคม 2562 โดยหมายเรียกกำหนดให้ทั้งสามมาพบพนักงานสอบสวนในวันที่  10 มกราคม 2563 วันเดียวกับที่พนักงานสอบสวนนัดหมายให้ธนาธรและไพรัฎฐโชติก์มาพบ
 
ผู้ที่ถูกออกหมายเรียกเพิ่มเติมทั้งสามคนถูกออกหมายเรียกในข้อหาเดียวกับธนาธรและไพรัฎฐโชติก์ ได้แก่ “ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่”
 
10 มกราคม 2562
 
ผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งห้าคนมีกำหนดเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันในเวลา 15.00 น.  โดยตั้งแต่ก่อนเวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่สน.ปทุมวันกั้นพื้นที่รอบสน.ด้วยแผงเหล็กและมีกระดาษเอสี่พิมพ์ข้อความ "สถานที่ราชการ พื้นที่ควบคุม" ติดตามรั้วเหล็ก เป็นระยะ ขณะที่สื่อมวลชน ประชาชนที่มารอให้กำลังใจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบก็มารออยู่ที่หน้าสน.ปทุมวันตั้งแต่ก่อนเวลา 14.00 เช่นกัน
 
จากการสอบถามเกี่ยวกับข้อความ "สถานที่ราชการ พื้นที่ควบคุม" ที่เจ้าหน้าที่นำมาติดบนรั้วว่า เป็นการประกาศพื้นที่ควบคุมหรือดำเนินการใดๆตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯหรือไม่ ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่ได้มีการใช้อำนาจตามกฎหมายใดในการติดป้ายดังกล่าว เจ้าหน้าที่เพียงแต่กั้นรั้วเพื่อความสะดวกในการดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่เท่านั้น
 
สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่หน้าสน.ปทุมวัน เจ้าหน้าที่แจ้งให้ประชาชนที่มารอให้กำลังใจผู้ต้องหายืนอยู่ด้านนอกรั้วเท่านั้น ส่วนสื่อมวลชนสามารถเข้าไปในพื้นที่หน้าสน.ที่เจ้าหน้าที่กันไว้ให้ แต่ผู้ที่จะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวต้องแสดงบัตรสื่อมวลชนต่อเจ้าหน้าที่
 
ในเวลาประมาณ 14.45 พริษฐ์ หนึ่งในผู้ถูกออกหมายเรียกพร้อมเพื่อนนักกิจกรรมนำป้ายเขียนข้อความต่างๆมาถือให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ ส่วนตัวของพริษฐ์ก็ปราศรัยกับประชาชนที่มารอให้กำลังใจไปเรื่อยๆ กลุ่มประชาชนที่มายังเตรียมดอกไม้มาให้กำลังใจผู้ต้องหา เตรียมป้ายผ้าเขียนข้อความ เช่น "#saveประชาชน" หรือ "หยุด 2 มาตรฐาน กฎหมายต้องใช้อย่างเป็นธรรม" รวมทั้งมีป้ายผ้ายาวเขียนข้อความ "2563 เผด็จการครองเมือง" มาวางบนพื้นให้ประชาชนเขียนข้อความระบายความรู้สึกด้วย
 
ในเวลาประมาณ 15.20 น. ธนาธรและ ไพรัฏฐโชติก์เดินทางมาถึงที่หน้าสน.ปทุมวัน ธนาธรพูดคุยกับผู้มาให้กำลังใจผ่านโทรโข่งระยะสั้นๆจากนั้นจึงเข้าไปในสน. หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 15.35 น. ธนวัฒน์และณัฏฐา ผู้ถูกออกหมายเรียกที่เหลืออีกสองคนเดินทางมาสมทบที่สน.ปทุมวัน เมื่อมาถึงทั้งสองให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสั้นๆก่อนจะรีบเข้าไปรายงานตัว
 
ในเวลาประมาณ 16.57 น. ปิยรัฐหรือ "โตโต้" อดีตผู้สมัครส.ส.กาฬสินธุ์เขตหนึ่งพรรคอนาคตใหม่พร้อมด้วยผู้ที่เคยไปร่วมการชุมนุมไม่ถอยไม่ทน อีกสามคนเดินทางเข้าไปที่สน.ปทุมวันเพื่อรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่โดยทั้งสี่ระบุว่าพวกเขาร่วมการชุมนุมด้วยแต่กลับไม่มีการออกหมายเรียก
 
ในเวลาประมาณ 17.20 น. ปิยรัฐกลับออกมาจากสน.ปทุมวันพร้อมทั้งพูดกับประชาชนที่รวมตัวกันหน้าสน.ปทุมวันว่า คนที่ร่วมชุมนุมไม่ถอยไม่ทน คนใดที่ประสงค์จะมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ สามารถเข้าไปที่สน.พร้อมกับนำภายถ่ายของตัวเองจากวันเกิดเหตุไปมอบให้เป็นเจ้าหน้าที่ได้ ส่วนคนที่ไม่มีภาพแต่ประสงค์จะรายงานตัวสามารถลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่แล้วนำภาพถ่ายหลักฐานมามอบให้เจ้าหน้าที่ในโอกาสต่อไป

ปิยรัฐระบุด้วยว่าเจ้าหน้าที่แจ้งกับเขาว่าจะมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีกชุดหนึ่งในภายหลัง คนที่ยังไม่ได้รับหมายในวันนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีหมายออกตามมาในภายหลัง
 
จากการสอบถาม "ลุงวิน" หนึ่งในผู้ที่เขาไปรายงานตัวระบุว่าเขาและเพื่อนๆ เคยพูดคุยกันว่าหากธนาธรถูกออกหมายเรียกพวกเขาในฐานะคนที่ไปร่วมชุมนุมด้วยกันก็ควรจะถูกดำเนินคดีไปด้วย พวกเขาไม่ต้องการปล่อยให้แกนนำหรือผู้ชุมนุมคนใดต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว อย่างไรก็ตามในบรรดาผู้ที่เข้าไปรายงานตัวเพิ่มเติมสี่คนเจ้าหน้าที่รับลงบันทึกประจำวันของปิยรัฐเพียงคนเดียว
 
ในเวลาประมาณ 17.38 น. ผู้ต้องหาทั้งห้าคนเดินลงมาจากสถานีตำรวจ ในจำนวนนั้นมีสี่คนที่ยืนแถลงข่าวร่วมกับธนาธรส่วนธนวัฒน์ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งแยกตัวกลับไปก่อนเพราะมีภารกิจ
 
หลังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวด้านหน้าสน.ปทุมวันผู้ต้องหาทั้งสี่เดินมาปราศรัยกับผู้ที่มาให้กำลังใจซึ่งในช่วงเย็นน่าจะมีอย่างน้อย 60 – 70 คน เป็นเวลาสั้นๆก่อนจะแยกย้ายกันเดินทางกลับ หลังจากนี้ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้ต้องหาทั้งห้าจะต้องมาพบกับอัยการแขวงปทุมวันในเวลา 10.00 น.

3 กุมภาพันธ์ 2563
 
โพสต์ทูเดย์รายงานว่า พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันฟ้องธนาธรและผู้ต้องหาอีกสี่คน ต่ออัยการแขวงปทุมวัน โดยอัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563  เวลา 9.00 น. 
 
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายของธนาธรกล่าวว่า ธนาธรและผู้ต้องหาคดีนี้จะนำข้อเท็จจริงเข้าต่อสู้ โดยหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม เพราะอัยการฯ เคยมีคำสั่งไม่ฟ้องในการคดีผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์กหน้าหอศิลป์กรุงเทพมาแล้ว 
 
ธนาธร กล่าวหลังเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนว่า จะทำงานการเมืองในลักษณะนี้ต่อไป  เพราะการชุมนุมถือเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่จะแสดงความคิดเห็นตามระบบรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ความพยายามขัดขวางจะเรียกว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยได้อย่างไร และไม่เห็นด้วยกับการดำเนินคดีเพื่อขัดขวางคู่แข่งทางการเมือง เพราะทำให้เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา เพื่อเพียงหวังจะให้เกิดความเบื่อหน่ายจนเลิกตรวจสอบรัฐบาล
 
4 กุมภาพันธ์ 2563
 
ธนวัฒน์ วงศ์ไชย โพสต์ข้อความบนแฟนเพจว่า ได้เข้าพบอัยการเพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ต่อกรณีที่พนักงานสอบสวนเพิ่มเติมข้อความในสำนวนคดีในภายหลัง ทำให้ตัวเองไม่มีโอกาสแก้ไขข้อกล่าวหาที่ถูกเพิ่มเติมในภายหลัง รวมทั้งขอความเป็นธรรมว่าการฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเพราะคดีนี้เป็นคดีการเมืองที่รัฐหวังสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน
 
7 กุมภาพันธ์ 2563
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า ผู้ต้องหาทั้งห้าเดินทางเข้าพบอัยการตามนัดเพื่อฟังคำสั่งคดี โดยในวันนี้อัยการยังไม่มีคำสั่งเพราะเห็นว่าหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมมาให้ยังไม่เพียงพอจึงมีคำสั่งให้ไปรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม และนัดให้ผู้ต้องหาทั้งห้ามาฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 17 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 น.
 
ทนายความของธนาธรเปิดเผยหลังเสร็จสิ้นกระบวนการว่าธนาธรยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการให้สอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีกสี่คนมีกลุ่มคนที่พบปะธนาธรในวันเกิดเหตุและนักวิชาการด้านกฎหมาย 
 
ในส่วนของนัฎฐาผู้ต้องหาอีกคนระบุว่าตัวเธอและพริษฐ์ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการโดยมีประเด็นเพิ่มเติมจากกรณีของธนาธรพร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินคดีกับตัวเธอ พริษฐ์และธนวัฒน์เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่จะมีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง 
 
16 มีนาคม 2563
 
The Reporters รายงานว่า พิธา พรรณิกา และ ปิยบุตร เข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันแล้ว โดยทั้งสามคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา มติชนออนไลน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าพนักงานสอบสวนนัดทั้งสามเข้าพบอีกครั้งในวันที่ 7 เมษายน 2563 เพื่อส่งตัวฟ้องต่ออัยการ 
 
17 มีนาคม 2563

แนวหน้าออนไลน์รายงานว่า อัยการมีคำสั่งให้เลื่อนวันนัดสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 23 เมษายน 2563 เนื่องจากผู้ต้องหาและทนายความร้องขอความเป็นธรรมให้อัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำพยานเพิ่มเติม
 
อัยการส่งประเด็นการสอบสวนเพิ่มเติมให้ทางพนักงานสอบสวนแล้วแต่พนักงานสอบสวนยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปก่อน
 
7 เมษายน 2563
 
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่าพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องพิธา พรรณิการ์ และ ปิยบุตร ต่ออัยการแขวงปทุมวันแล้ว เบื้องต้นอัยการนัดฟังคำสั่งคดีวันที่ 15 เมษายน แต่ผู้ต้องหาทั้งสามร้องขอความเป็นธรรมให้สอบปากคำพยานเพิ่มเติมเนื่องจากการสอบปากคำของพนักงานสอบสวนยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
 
ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่าอัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีในสำนวนของธนาธรและผู้ต้องหาอื่นรวมห้าคนจากเดิมที่นัดไว้วันที่ 23 เมษายน เป็นวันที่ 23 มิถุนายน 2563

26 ตุลาคม 2563
 
เว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์รายงานว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องธนวัฒน์ต่อศาลแขวงปทุมวันแล้ว
 
29 ตุลาคม 2563
 
เบอร์นานิวส์รายงานว่า อัยการฟ้องผู้ต้องหาที่เหลือทั้งหมดอีกห้าคนได้แก่ ธนาธร พิธา ปิยบุตร ไพรัฎฐโชติก์ และ พรรณิการ์ ต่อศาลแขวงปทุมวันแล้ว ทั้งหมดให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 22 ธันวาคม 2563    
 
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา