อังคณา นีละไพจิตร: ฟาร์มไก่ฟ้องอดีตกรรมการสิทธิฯ ทวีตสนับสนุนจำเลยคดีก่อนหน้านี้

อัปเดตล่าสุด: 11/05/2563

ผู้ต้องหา

อังคณา นีละไพจิตร

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งประกอบกิจการฟาร์มไก่หลายแห่ง เป็นคู่ค้าที่ขายไก่ให้กับเบทาโกร ในการดำเนินคดีนี้มี ชาญชัย เพิ่มผล เป็นผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์คนเดียวกับที่ยื่นฟ้องลูกจ้างชาวพม่า นักวิชาการ เอ็นจีโอ และสื่อมวลชนอีกรวมหลายคดี

สารบัญ

หนึ่งในคดีมหากาพย์ข้อพิพาทระหว่างฟาร์มไก่ ของบริษัท ธรรมเกษตร และลูกจ้างชาวพม่า อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนถูกยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการทวีตข้อความสองครั้ง ซึ่งโจทก์อ้างว่า เมื่อคลิกตามลิงก์จากทวีตของอังคณาเข้าไปทั้งหมดห้าชั้นจะเจอลิงก์ไปยังคลิปวิดีโอ 107 วินาทีตัวที่เป็นปัญหาในคดีนี้และคดีอื่นๆ ด้วย 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อังคณา นีละไพจิตร เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จบการศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตรที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2547 หลังการปะทุขึ้นของความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อังคณาติดตามคดีความของสามีมาตลอดเป็นเวลากว่าสิบปี และรณรงค์ต่อต้านการอุ้มหายและการซ้อมทรมานในนามประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
 
อังคณาเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ปี 2549-2550) สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปี 2554-2557) เคยได้รับรางวัลบุคคลเกียรติยศ มูลนิธิโกมลคีมทอง (กุมภาพันธ์ 2549), รางวัลนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนกวางจู (Gwangju Prize for Human Rights) มูลนิธิ 18 พฤษภาคม เมืองกวางจู สาธารณรัฐเกาหลี, รางวัล/การยกย่อง “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Women Human Rights Defender)” จากสภาสหภาพยุโรป (ปี 2549), รางวัล/การยกย่อง “สตรีผู้ประสบความสำเร็จของโลก (Women of Achievement)” จากองค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ฯลฯ
 
อังคณาได้รับคัดเลือกให้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเริ่มดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 ต่อมาลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด โดยนายชาญชัย เพิ่มพล ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่ออังคณา นีละไพจิตร ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โดยการกระทำที่กล่าวหาว่า อังคณากระทำความผิด มีดังนี้
 
1. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 อังคณาโพสต์ แชร์ หรือเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว เป็นภาษาอังกฤษว่า Stand by Kratik @SuthareeW #DropDefamation #NonReprisal #SLAPP #BixHRs พร้อมโพสต์ลิงก์ของจากทวิตเตอร์ของผู้ใช้อีกรายหนึ่งชื่อ Kingsley Abbott และเมื่อคลิกที่ลิงก์ก็จะปรากฏเนื้อหาทวีตของผู้ใช้ดังกล่าวซึ่งเชื่อมโยงไปยังหน้าบทความภาษาต่างประเทศในเว็บไซต์ของไอซีเจ (คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล – iLaw) ในบทความดังกล่าวปรากฏข้อความถึงการดำเนินคดีของโจทก์และมีลิงก์เชื่อมโยงไปยังข้อมูลข้อความเรื่อง “แถลงการณ์ร่วมประเทศไทย: ยุติการฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”
 
เนื้อหาของข้อความเรื่อง “แถลงการณ์ร่วมประเทศไทย: ยุติการฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นประมาทของโจทก์ อันเป็นผลเนื่องมาจากภาพยนตร์ความยาว 107 วินาที ซึ่งคำว่า “ภาพยนตร์” มีลักษณะตัวอักษรแตกต่างจากอักษรอื่นเชิญชวนให้กดเข้าไปยังข้อความหรือลิงก์ดังกล่าว เพื่อเชื่อมโยงไปยังหน้าคลิปวิดีโอบทสัมภาษณ์แรงงานขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์ บนยูทูป ซึ่งปรากฏภาพลูกจ้างของโจทก์กล่าวข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีอีกคดีหนึ่ง
 
2. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 อังคณาโพสต์ แชร์ หรือเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ปรากฏข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “#JudicialHarassment #BizHRs Criminal defamation against Ngamsuk lecturer @ Institution of Human Rights and Peace, Mahidol University.” พร้อมโพสต์หรือเผยแพร่ลิงก์ของบทความขององค์กรโฟตี้ฟายไร้ท์ เมื่อคลิกไปที่ลิงก์บทความดังกล่าวก็จะพบข้อความเกี่ยวกับการดำเนินคดีของโจทก์กับอ.งามศุกร์ รัตนเสถียร ปรากฏรายละเอียดคดีและกล่าวว่าอ.งามศุกร์ได้เผยแพร่เอกสารชื่อ Fortify news release และคำว่า ‘news release’ มีลักษณะตัวอักษรแตกต่างจากอักษรอื่น โดยมีลักษณะเป็นลิงก์เชิญชวนให้กด
 
เมื่อคลิกที่คำว่า ‘news release’ จะเชื่อมโยงไปยังบทความภาษาอังกฤษขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์อีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีรายละเอียดการดำเนินคดีหมิ่นประมาทของโจทก์เกี่ยวกับภาพยนตร์ความยาว 107 วินาที ซึ่งคำว่า “ภาพยนตร์” มีลักษณะตัวอักษรแตกต่างจากอักษรอื่นเชิญชวนให้กดเข้าไปยังข้อความหรือลิงก์ดังกล่าว เพื่อเชื่อมโยงไปยังหน้าคลิปวิดีโอบทสัมภาษณ์แรงงานขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์ บนยูทูป ซึ่งปรากฏภาพลูกจ้างของโจทก์กล่าวข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีอีกคดีหนึ่ง
 
 
โพสต์ที่จำเลยได้โพสต์ แชร์ หรือเผยแพร่บนทวิตเตอร์ส่วนตัวที่ปรากฏช่องทางการเชื่อมต่อด้วยไฮเปอร์ลิงก์เพื่อให้บุคคลที่สามเข้าถึงคลิปวิดีโอ 107 วินาทีนั้น บทสัมภาษณ์แรงงานในคลิปวิดีโอดังกล่าวปรากฏลูกจ้างชาวเมียนมาร์ของโจทก์กล่าวยืนยันข้ออท็จจริงด้วยข้อความอันเป็นเท็จ โดยมีคำบรรยายบทสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า 
 
“ในเวลาเช้างานจะเริ่ม 7.00 น. และเราจะได้พักกินอาหารมื้อกลางวันเวลาเที่ยง จากนั้นเราจะหยุดงานในเวลา 17.00 น. แต่ถึงเวลา 19.00 น. เราจะต้องเริ่มงานอีกครั้งไปจนถึง 05.00 น. ซึ่งหนังสือเดินทางและเงินของเราถูกยึดไปหมด”
 
“….เราไม่มีวันหยุด เราต้องทำงานตลอดเวลา”
 
ในคลิปวิดีโอดังกล่าวปรากฏชื่อ บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งบุคคลทั่วไปเข้าใจได้ทันทีว่า หมายถึงโจทก์ ข้อความดังกล่าวเป็นเหตุทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูถูก ดูหมิ่น และเกลียดชังจากบุคคลอื่นซึ่งเป็นบุคคลที่สาม ทำให้บุคคลที่สามเข้าใจว่าโจทก์เอาเปรียบลูกจ้าง ใช้แรงงานหนักเกินสมควร อันเป็นการละเมิดต่อลูกจ้าง ทำให้บุคคลที่สามเข้าใจได้ว่า โจทก์ยึดหนังสือเดินทางของแรงงานเอาไว้ ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญที่แรงงานจะต้องใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ทั้งขณะที่พำนักอยู่ในประเทศไทยหรือเมื่อเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ หากถูกยึดหนังสือเดินทางไปแล้วก็จะไม่สามารถใช้ชีวิต หรือเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศได้อย่างปกติ นอกจากนี้ยังทำให้บุคคลที่สามเข้าใจว่า โจทก์ยึดเงินซึ่งเป็นทรัพย์สินของแรงงานเอาไว้โดยมิชอบ ซึ่งข้อความดังกล่าวนั้นล้วนฝ่าฝืนต่อความจริงทั้งสิ้น ทำให้บุคคลที่สามเข้าใจว่า โจทก์ละเมิดแรงงานลูกจ้าง โดยการใช้แรงงานทำงานเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ให้ทำงานทั้งวันทั้งคืนตลอดเวลา ต้องทำงานทุกวันตลอดทั้งปีโดยไม่มีวันหยุด และไม่ได้พักผ่อน ซึ่งไม่เป็นความจริง
 
ปรากกฏว่า มีบุคคลที่สามเข้าถึงโพสต์ของจำเลย ตามข้อ 1. มีการกดชื่นชอบ (likes) 23 ราย และเผยแพร่ต่อ (Retweet) 8 ราย ส่วนโพสต์ของจำเลยตามข้อ 2. มีการกดชื่นชอบ (likes) 4 ราย และเผยแพร่ต่อ (Retweet) 3 ราย ส่วนคลิปวิดีโอบนยูปทูปมีคนเข้าถึง 683 ครั้ง
 
จำเลยเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบคอยดูแลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษญชน และยังทำงานในหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือ ย่อมทำให้บุคคลที่สามที่พบเห็นโพสต์หรือข้อความดังกล่าวของจำเลยเชื่อถือข้อความที่จำเลยได้เผยแพร่ ดังนั้น การกระทำของจำเลยข้างต้นจึงทำให้บุคคลที่สามที่พบเห็นลิงก์ข้อความเชื่อว่า โพสต์ข้อความที่นำไปสู่คลิปวิดีโอบนทวิตเตอร์นั้นเป็นเรื่องจริง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
 
โจทก์ตรวจสอบพบการกระทำของจำเลยเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง
 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.192/2562

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
25 ตุลาคม 2562 
 
บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด โดยนายชาญชัย เพิ่มพล ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่ออังคณา นีละไพจิตร ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โดยการกระทำที่กล่าวหาว่า อังคณากระทำความผิด มีดังนี้
 
1. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 อังคณาโพสต์ แชร์ หรือเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ปรากฏข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า Stand by Kratik @SuthareeW #DropDefamation #NonReprisal #SLAPP #BixHRs พร้อมโพสต์ลิงก์ของจากทวิตเตอร์ของผู้ใช้อีกรายหนึ่งชื่อ Kingsley Abbott และเมื่อคลิกที่ลิงก์ก็จะปรากฏเนื้อหาทวีตของผู้ใช้ดังกล่าวซึ่งเชื่อมโยงไปยังหน้าบทความภาษาต่างประเทศในเว็บไซต์ของไอซีเจ (คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล – iLaw) ในบทความดังกล่าวปรากฏข้อความถึงการดำเนินคดีของโจทก์เกี่ยวกับคลิปวิดีโอความยาว 107 วินาที และมีลิงก์เชื่อมโยงไปยังข้อมูลข้อความเรื่อง “แถลงการณ์ร่วมประเทศไทย: ยุติการฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”
 
เนื้อหาของข้อความเรื่อง “แถลงการณ์ร่วมประเทศไทย: ยุติการฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นประมาทของโจทก์ อันเป็นผลเนื่องมาจากภาพยนตร์ความยาว 107 วินาที ซึ่งคำว่า “ภาพยนตร์” มีลักษณะตัวอักษรแตกต่างจากอักษรอื่นเชิญชวนให้กดเข้าไปยังข้อความหรือลิงก์ดังกล่าว เพื่อเชื่อมโยงไปยังหน้าคลิปวิดีโอบทสัมภาษณ์แรงงานขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์ บนยูทูป ซึ่งปรากฏภาพลูกจ้างของโจทก์กล่าวข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีอีกคดีหนึ่ง
 
2. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 อังคณาโพสต์ แชร์ หรือเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ปรากฏข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “#JudicialHarassment #BizHRs Criminal defamation against Ngamsuk lecturer @ Institution of Human Rights and Peace, Mahidol University.” พร้อมโพสต์หรือเผยแพร่ลิงก์ของบทความขององค์กรโฟตี้ฟายไร้ท์ เมื่อคลิกไปที่ลิงก์บทความดังกล่าวก็จะพบข้อความเกี่ยวกับการดำเนินคดีของโจทก์กับอ.งามศุกร์ รัตนเสถียร ปรากฏรายละเอียดคดีและกล่าวว่าอ.งามศุกร์ได้เผยแพร่เอกสารชื่อ Fortify news release และคำว่า ‘news release’ มีลักษณะตัวอักษรแตกต่างจากอักษรอื่น โดยมีลักษณะเป็นลิงก์เชิญชวนให้กด
 
เมื่อคลิกที่คำว่า ‘news release’ จะเชื่อมโยงไปยังบทความภาษาอังกฤษขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์อีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีรายละเอียดการดำเนินคดีหมิ่นประมาทของโจทก์เกี่ยวกับภาพยนตร์ความยาว 107 วินาที ซึ่งคำว่า “ภาพยนตร์” มีลักษณะตัวอักษรแตกต่างจากอักษรอื่นเชิญชวนให้กดเข้าไปยังข้อความหรือลิงก์ดังกล่าว เพื่อเชื่อมโยงไปยังหน้าคลิปวิดีโอบทสัมภาษณ์แรงงานขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์ บนยูทูป ซึ่งปรากฏภาพลูกจ้างของโจทก์กล่าวข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีอีกคดีหนึ่ง
 
 
23 พฤศจิกายน 2562
 
อังคณา โพสต์ภาพหมายเรียกที่รับจากศาลบนเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมระบุว่า ถูกบริษัท ธรรมเกษตร ฟ้องคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทเพราะไปทวีตแถลงการณ์ของ ICJ ที่คุณคิงส์ลีย์ โพสต์ไว้ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2561 โดยโจทก์ฟ้องร้องต่อศาลว่าในแถลงการณ์ ICJ ถ้าคลิกเข้าไปอ่านจะสามารถคลิกเข้าไปในคลิปวิดีโอของ Fortyfy Rights เกี่ยวกับเรื่องแรงงานข้ามชาติที่อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
 
โดยในหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องของศาลอาญากรุงเทพใต้ระบุว่า ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 9.00 น.
 
12 กุมภาพันธ์ 2563
 
อังคณาโพสต์ภาพถ่ายของตัวเองบนเฟซบุ๊กที่หน้าป้ายศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยระบุว่า วันนี้ศาลนัดไกล่เกลี่ย ฝ่ายโจทก์ให้ทนายความมาแจ้งต่อศาลว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะไกล่เกลี่ย ศาลจึงนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 9.00 น.
 
 
20 กุมภาพันธ์ 2563
 
ทนายความของอังคณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และ 161/2 สรุปใจความได้ว่า
 
คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เข้าข่ายที่ศาลจะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 ซึ่งให้อำนาจศาลกลั่นกรองคำฟ้องที่บุคคลยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลโดยตรงเพื่อสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาตั้งแต่แรก หากปรากฏว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย โดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ จำเลยจึงขอให้ศาลพิจารณาสั่งไม่รับฟ้องก่อนที่จะไต่สวนมูลฟ้อง ด้วยเหตุผลดังนี้
 
1. คำฟ้องของโจทก์เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงในการฟ้องคดี
 
วิธีการที่โจทก์อ้างตามฟ้องว่า จำเลยโพสต์ข้อความที่จะนำไปสู่การเข้าถึงวิดีโอที่โจทก์อ้างว่า เป็นการหมิ่นประมาทนั้น สำหรับการกระทำตามฟ้องข้อแรกต้องเป็นไปถึงห้าขั้นตอนกว่าจะเข้าถึงวิดีโอดังกล่าวได้ ดังนี้


 
1) บุคคลที่สามต้องเห็นทวิตเตอร์ของจำเลย

2) ต้องคลิกเข้าไปที่โพสต์ทวิตเตอร์ของ Kingsley Abbott

3) ต้องคลิกเข้าไปที่ลิงก์บทความภาษาอังกฤษของไอซีเจ (คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล)

4) ต้องคลิกเข้าไปที่ลิงก์บทความภาษาไทย แถลงการณ์ร่วม ประเทศไทย : ยุติการฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะมีคำว่า “ภาพยนตร์” ที่ต้องคลิกเข้าไปอีกครั้ง

5) ต้องคลิกลิงก์ไปที่คลิปวิดีโอบทสมภาษณ์แรงงานขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์
 


สำหรับการกระทำตามฟ้องข้อสองต้องเป็นไปถึงสี่ขั้นตอน กว่าจะเข้าถึงวิดีโอดังกล่าวได้ ดังนี้
 

1) บุคคลที่สามต้องเห็นทวิตเตอร์ของจำเลย

2) ต้องคลิกเข้าไปที่บทความขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์

3) ต้องคลิกเข้าไปที่บทความภาษาอังกฤษ ขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์อีกชิ้นหนึ่ง 

4) ต้องคลิกไปที่คลิปวิดีโอบทสมภาษณ์แรงงานขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์


 
ข้อความที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยเป็นข้อความที่อยู่ในคลิปวิดีโอเท่านั้น ไม่ได้เป็นข้อความจากทวิตเตอร์ส่วนตัวของจำเลยแต่อย่างใด หากแต่จะต้องมีการคลิกเข้าไปหลายๆ ชั้น ซึ่งโพสต์ในทวิตเตอร์ของจำเลยไม่ได้บรรยายข้อความใดๆ ที่จะเชิญชวนให้ผู้อ่านเข้าไปคลิกลิงก์หรือข้อความต่างๆ การจะทราบข้อมูลที่โจทก์นำมาฟ้องจะต้องเข้าไปคลิกลิงก์ในบทความแถลงการณ์ ซึ่งเป็นเพียงแถลงการณ์เรียกร้องใฟ้ยุติการฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อสุธารี และอ.งามศุกร์ เท่านั้น หากไม่สังเกต คนทั่วไปจะไม่อาจเข้าสู่คลิปวิดีโอในลิงก์ดังกล่าวนั้นได้เลย ทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงโดยจินตนาการของโจทก์ที่พยายามหาความเชื่อมโยงไปให้ถึงวิดีโอที่อ้างว่า มีข้อความหมิ่นประมาท

 
2. การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริต


โจทก์ย่อมรู้อยู่ดีว่า การโพสต์ลิงก์บทความขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์ไม่ได้มีข้อความใดมีลักษณะอันเป็นความเท็จ และไม่ได้มีข้อความดังที่โจทก์นำมากล่าวอ้างว่า จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ หากแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของวิญญูชนย่อมกระทำ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการถูกดำเนินคดีโดยไม่ชอบธรรมเท่านั้น 
 

โจทก์ยอมรับเองว่า ขณะที่จำเลยโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ จำเลยยังดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบ รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ จำเลยยังได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 30 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “กรรมการไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง เนื่องจากตนได้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจโดยสุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้” 

 
นอกจากนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำเลยยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ข้อ 13 ความว่า “ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติโดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพล กระแสสังคม หรือแรงกดดันอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ”

 
ดังนั้น การโพสต์ข้อความของจำเลยจึงเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อันอาจจะถือได้ว่า เป็นการฟ้องเพื่อปิดปาก หรือเพื่อกลั่นแกล้ง ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษ ว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation: SLAPP เพื่อที่จะใช้กระบวนการทางกฎหมายทำให้ผู้ที่แสดงออกในประเด็นที่มีความสำคัญต่อสาธารณะ ให้หยุดการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความนั้น เพื่อข่มขู่ยับยั้งผู้แสดงความเห็นหรือข้อเท็จจริงโดยสุจริตให้ไม่กล้าที่จะแสดงข้อเท็จจริงหรือความเห็นต่อไปอีก หรือเพื่อเจตนาอย่างอื่นอันไม่ใช่เจตนาที่จะฟ้องคดีเพื่อลงโทษบุคคลผู้กล่าวข้อความ หรือเพื่อให้ได้รับการชดเชยความเสียหาย
 
 
อีกทั้ง เหตุแห่งคดีนี้ โจทก์อ้างว่า จำเลยโพสต์ข้อความตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2561 และวันที่ 28 มิถุนายน 2562 แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 โดยอ้างเพียงว่าได้ตรวจการกระทำผิดเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ทั้งๆ ที่โจทก์ได้ฟ้องคดีบุคคลหลายคนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเพิ่งทราบถึงการกระทำผิดในเดือนสิงหาคม 2562 การฟ้องคดีของโจทก์ย่อมเป็นการฟ้องเกินกว่า 3 เดือนที่ต้องห้ามตามกฎหมาย

 
 
24 กุมภาพันธ์ 2563
 
อังคณาและทนายความเดินทางไปศาลอาญากรุงเทพใต้ในนัดไต่สวนมูลฟ้อง โดยมีตัวแทนจากสถานทูตหลายประเทศในสหภาพยุโรปเข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีด้วย การไต่สวนมูลฟ้องวันนี้ยังไม่เสร็จสิ้นศาลให้เลื่อนไปไต่สวนมูลฟ้องต่อในนัดหน้าวันที่ 8 เมษายน 2563 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 จึงเลื่อนนัดการไต่สวนมูลฟ้องในเดือนเมษายนออกไปเป็นวันที่ 8 มิถุนายน 2563
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา