ณัฐวุฒิ: กป.อพช.ยื่นหนังสือกรณีวันเฉลิมต่อสถานทูตกัมพูชา

อัปเดตล่าสุด: 03/10/2564

ผู้ต้องหา

ณัฐวุฒิ

สถานะคดี

อัยการสั่งไม่ฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

เช้าวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กป.อพช. รวม 4 คน เดินทางมาที่สถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยเพื่อยื่นหนังสือร้องขอให้รัฐบาลกัมพูชาติดตามหาตัววันเฉลิมสัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยที่ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์พาตัวขึ้นรถไปตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563
 
เนื่องจากตัวแทนสถานทูตกัมพูชาไม่ออกมารับหนังสือ ทั้งสี่จึงวางหนังสือทิ้งไว้ที่หน้าสถานทูตกัมพูชา ในวันเกิดเหตุระหว่างทำกิจกรรมไม่ได้มีเจ้าหน้าที่คนใดมาห้ามปราม แต่ปรากฏว่าในภายหลังผู้ร่วมกิจกรรมทั้งสี่ถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  
 
 
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ณัฐวุฒิ เป็นผู้ประสานงานสมัชชาประชาชนคนเหนือล่าง
 
แสงศิริ เป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ก่อนจะถูกดำเนินคดีนี้ เธอเคยถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพการชุมนุมอีกหนึ่งคดี ได้แก่ คดี We Walk เดินมิตรภาพ แต่คดีดังกล่าวอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
 
อภิสิทธิ์ เป็นนักกิจกรรมทางสังคม ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพการชุมนุมอย่างน้อย 5 คดี ได้แก่ คดีชุมนุมครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารที่หอศิลป์กรุงเทพฯ คดีขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ คดีผู้เข้าร่วมการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้ากองทัพบก และที่หน้าที่ทำการสหประชาชาติ
 
วศิน เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและเป็นนักกิจกรรมที่ทำงานร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลประเทศไทย 
 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

หมายเรียกผู้ต้องหาของ สน.วังทองหลางสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 เวลาประมาณ 10.00 น. ผู้ต้องหากับพวกร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 

พฤติการณ์การจับกุม

พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหา ทั้งหมดประสานนัดวันพบพนักงานสอบสวนแล้วจึงไม่มีการจับกุม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ภาพปกมาจากเฟซบุ๊กของ กป.อพช.

7 มิถุนายน 2563
 
เฟซบุ๊กของกป.อพช. เผยแพร่แถลงการณ์ที่เตรียมจะนำไปยื่นต่อสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยในวันที่ 8 มิถุนายน 2563  เพื่อส่งต่อไปถึงรัฐบาลกัมพูชา
 
แถลงการณ์ การอุ้มหาย นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
 
“ต้องไม่มีอำนาจใดอยู่เหนือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ต้องคงอยู่ทุกสภาวการณ์มิอาจถูกละเมิดได้”
 
มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตมาแต่กำเนิด ซึ่งสิทธินี้ต้องได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย โดยความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์มิอาจถูกลดทอนหรือละเมิดได้ในทุกกรณี ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกระบุในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ว่าด้วยความพยายามที่จะธำรงศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ไว้ และในรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ฉบับปี 2540 ในมาตรา 4 มาตรา 26 และมาตรา 28
 
ดังนั้น ประชาชนต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐในการใช้สิทธิ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดเสรีภาพ และความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม กลับพบว่า ยังมีกรณีการคุกคาม ข่มขู่ รวมถึงการบังคับให้สูญหายต่อนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิ และประชาชนไทยที่ออกมาเคลื่อนไหว โดยเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าราวกับเป็นเรื่องปกติวิสัย

ในหลายกรณีผู้กระทำยังคงลอยนวลพ้นผิด โดยในการคุกคามสิทธิในการแสดงออกยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น กรณีเอกชัย อิสระทะ เลขาธิการ กป.อพช. ที่ถูกบังคับและปิดกั้นการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีเหมืองหินในจังหวัดพัทลุง ที่แม้กลุ่มผู้กระทำถูกลงโทษตามคำสั่งศาล แต่ในข้อเท็จจริงการเคลื่อนไหวของนักปกป้องสิทธิก็ยังไม่มีหลักประกันในความปลอดภัยและมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการปกป้องคุ้มครองพลเมืองในการใช้สิทธิและเสรีภาพ
 
รวมถึงล่าสุดกรณีการหายตัวอย่างมีเงื่อนงำของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” โดยยังไม่ทราบชะตากรรมในขณะนี้ ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐไทย อันเป็นสิทธิอันพึงมีในฐานะพลเมืองไทย ไม่ควรให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ตามหลักการของกฎหมายในการปกป้องสิทธิและความเป็นมนุษย์ขึ้น ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถเพิกเฉยต่อกรณีนี้ได้ เพื่อให้วันเฉลิมได้รับความปลอดภัย และป้องกันการผลิตซ้ำการบังคับให้สูญหาย เพียงเพราะการแสดงความเห็นที่ไม่เป็นไปในทิศทางของผู้มีอำนาจต้องการ
 
กป.อพช. จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาที่มีหน้าที่ในการดูแลรับใช้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนี้
 
1. ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ข้อเท็จจริง กรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นลักษณะของการถูกอุ้มหาย และดำเนินการใดๆ เพื่อให้วันเฉลิมได้รับความปลอดภัยกลับมา ตลอดทั้งเปิดเผยข้อมูลการหายตัวดังกล่าวต่อสาธารณชน และนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายโดยเร็วที่สุด

2. ต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อยุติการข่มขู่ คุกคาม การบังคับให้สูญหาย ที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เข้ากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายต่อต้านการบังคับให้สูญหาย หรือกฎหมายอื่นๆ เพื่อคุ้มครองประชาชนและลงโทษผู้กระทำผิด

3. จะต้องยับยั้งการยุยง ปลุกปั่น บิดเบือนข่าวสาร ของคนบางกลุ่มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งเกลียดชังผู้แสดงความเห็นที่แตกต่างหลากหลายเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่แท้จริง

4. ต้องเคารพและส่งเสริมให้เกิดการเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น โดยประชาชนต้องรับความคุ้มครองจากรัฐในการใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวที่ยึดมั่นในหลักการของประชาธิปไตย
 
กป.อพช.ยังเชิญชวนให้องค์กรหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจร่วมลงชื่อในแถลงการณ์นี้ด้วย
 
8 มิถุนายน 2563
 
ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า นักกิจกรรม 4 คน ได้แก่ ณัฐวุฒิ อภิสิทธิ์ แสงศิริและวศิน เดินทางไปที่หน้าสถานทูตกัมพูชาเพื่อยื่นหนังสือต่อสถานทูตให้ส่งต่อไปยังรัฐบาลกัมพูชา

โดยข้อเรียกร้องหลักคือขอให้ทางการกัมพูชาติดตามตัววันเฉลิมและขอให้เปิดเผยรายละเอียดการสืบสวนติดตามต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตามไม่มีตัวแทนสถานทูตออกมารับหนังสือ ตำรวจที่เป็นผู้ประสานงานแจ้งนักกิจกรรมว่าทางสถานทูตประสงค์จะรับหนังสือทางไปรษณีย์เท่านั้น 
 
เมื่อไม่มีตัวแทนสถานทูตออกมารับหนังสือนักกิจกรรมทั้งสี่จึงเพียงแต่วางหนังสือไว้ที่ป้ายสถานทูตและเดินทางกลับ
 
14 มิถุนายน 2563
 
เฟซบุ๊กเพจกป.อพช.รายงานว่า พนักงานสอบสวน สน.วังทองหลางออกหมายเรียกให้นักกิจกรรมทั้ง 4 คนที่ทำกิจกรรมหน้าสถานทูตในวันที่ 8 มิถุนายนเดินทางเข้าพบเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมซึ่งออกโดยอำนาจตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยกำหนดให้เข้าพบในวันที่ 19 มิถุนายน 2563 
 
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาทั้งสี่ขอให้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนประสานพนักงานสอบสวนให้เลื่อนไปเข้าพบวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 แทน  
 
9 เมษายน 2564
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาทั้งสี่ อย่างไรก็ตามคำสั่งนี้ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด หากตำรวจไม่ต้องแย้งคดีจะถือเป็นที่สุด แต่หากตำรวจคัดค้านอัยการสูงสุดจะเป็นผู้ให้ความเห็นเป็นที่สุด
 
 
"เมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของผู้ต้องหาทั้งสี่แล้ว ก็เห็นได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสี่มีวัตถุประสงค์เพียงยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสถานทูตกัมพูชา ในเรื่องการขอให้สถานทูตกัมพูชาดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เท่านั้น มิได้มีเจตนาที่จะยุยงให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมกับพวกตนในทันที หรือก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองแต่อย่างใด และเมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่สถานทูตกัมพูชาออกมารับหนังสือจากผู้ต้องหาทั้งสี่แล้ว ผู้ต้องหาทั้งสี่ก็ได้สลายตัวกลับในทันที ซึ่งรวมระยะเวลาที่ผู้ต้องหาทั้งสี่กับพวกอยู่ที่สถานทูตก็เพียงชั่วโมงเศษเท่านั้น จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้งสี่ จึงเห็นได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ไม่ได้มั่วสุมในสถานที่แออัด ไม่ได้ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง คดีจึงมีหลักฐานไม่พอฟ้อง"

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา