การชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ

อัปเดตล่าสุด: 09/04/2564

ผู้ต้องหา

อานนท์

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 21 กรกฎาคม 2563 แฟนเพจพิราบขาวเพื่อมวลชนโพสต์ภาพและข้อความประกาศจัดการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ โดยยังไม่ประกาศวันจัดงาน จากนั้นในวันที่ 23 กรกฎาคม ทางเพจจึงประกาศจัดการชุมนุมที่ห้าแยกหอนาฬิกาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 17.00 น.
 
เมื่อถึงวันและเวลานัดหมายมีประชาชนมารวมตัวชุมนุมในพื้นที่ โดยไฮไลท์ของการชุมนุมอยู่ที่การขึ้นปราศรัยของพริษฐ์หรือเพนกวิ้น นักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นคนลำปาง กับอานนท์ นำภา ซึ่งเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง

ในวันเกิดเหตุการชุมนุมผ่านไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีเหตุรุนแรงหรือการจับกุม แต่แล้วในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 อานนท์ก็ได้รับหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยในหมายดังกล่าวระบุว่าในคดีเดียวกันมีผู้ต้องหาคืออานนท์กับบุคคลอื่นอีกรวม 4 คน โดยอานนท์มีกำหนดเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองลำปางวันที่ 25 สิงหาคม 2563

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อานนท์จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา
 
เมื่อประกอบอาชีพทนาย อานนท์เคยว่าความคดีสิทธิให้ชาวบ้านหลายคดี เช่น คดีชาวบ้านชุมนุมค้านโรงถลุงเหล็ก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านค้านท่อแก๊สที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และคดีความจากการชุมนุมอีกหลายคดี นอกจากนี้ เขายังเป็นทนายความให้กับจำเลยในคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 เช่น คดี อากงsms ด้วย
 
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อานนท์เป็นหนึ่งในทีมทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และว่าความให้กับจำเลยคดีการเมืองหลังรัฐประหารหลายคดี เช่น คดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช. และคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของสิรภพ
 
อานนท์ถูกดำเนินคดีหลายคดีในยุคคสช. เช่น คดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในฐานะแกนนำการชุมนุมรวม 4 คดี และคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ เป็นต้น 
พริษฐ์ เป็นนักกิจกรรมจากสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เคยถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมแขวนพริกกระเทียมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและจากการอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผบ.ทบ.ที่หน้ากองทัพบก  

ธนวัฒน์ เป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเกิดเหตุศึกษาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนวัฒน์เคยเป็นประธานนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 เพื่อประท้วงกรณีที่กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางคนไม่ยอมยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ  

 
พินิจ ทองคำ เป็นสมาชิกกลุ่มนกพิราบขาวเพื่อมวลชน ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมอิสระ 

 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

หมายเรียกผู้ต้องหาระบุว่าอานนท์กับพวกร่วมกันจัดการชุมนุม หรือทำกิจกรรมมั่วสุมในที่ใดๆ  ในสถานที่แออัด หรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ชุมนุมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค         

พฤติการณ์การจับกุม

ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวตามหมายเรียกไม่มีการจับกุม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
21 กรกฎาคม 2563 
 
เพจพิราบขาวเพื่อมวลชน โพสต์ภาพพร้อมข้อความประกาศจัดการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ในพื้นที่ โดยยังไม่ประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ วันหรือเวลาจัดงาน
 
23 กรกฎาคม 2563
 
เพจพิราบขาวเพื่อมวลชน โพสต์ภาพพร้อมข้อความประกาศจัดการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 ที่หอนาฬิกาเมืองลำปาง ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป พร้อมกันนั้นยังประกาศว่าอานนท์และพริษฐ์จะเป็นผู้ปราศรัยบนเวที ทางผู้จัดงานยังประกาศขอความร่วมมือให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุม เว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย และพกเจลล้างมือ 
 
24 กรกฎาคม 2563 
 
เพจพิราบขาวเพื่อมวลชน โพสต์ภาพและข้อความประกาศข้อเรียกร้อง 5 ข้อในการชุมนุม ได้แก่

1. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
2. หยุดคุกคามประชาชน
3. ต้องประกาศยุบสภา
4. แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
5. สร้างพื้นที่การแสดงออกของประชาชนและสร้างบรรยากาศทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย 
 
26 กรกฎาคม 2563
 
การชุมนุมผ่านไปด้วยความเรียบร้อยโดยมีอานนท์ และพริษฐ์ร่วมการปราศรัย ในวันที่มีการชุมนุมไม่มีการจับกุมหรือสั่งให้ยุติการชุมนุม
 
17 สิงหาคม 2563

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อานนท์ได้รับหมายเรียกจากสภ.เมืองลำปางให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยการ "ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การชุมนุมการทำกิจกรรมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค”
 
โดยหมายเรียกดังกล่าวระบุให้อานนท์เข้ารายงานตัวในวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ในเวลา 9.00 น. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและให้ปากคำ

เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่านอกจากอานนท์แล้ว คดีนี้ยังมีคนถูกตั้งข้อหาอีก 3 คนได้แก่ พริษฐ์ซึ่งขึ้นปราศรัยด้วย นอกจากนั้นก็มีธนวัฒน์ นักกิจกรรมที่เคยถูกดำเนินคดีร่วมกับพริษฐ์ 2 คดีและเป็นผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่กรุงเทพ แต่ในการชุมนุมที่ลำปางธนวัฒน์ไม่ได้ขึ้นเวที และพินิจจากกลุ่มพิราบขาวเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง นักกิจกรรมในพื้นที่อีกคนหนึ่งที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีเดียวกัน 
 
ทนายของผู้ต้องหาทั้งสี่ขอเลื่อนนัดรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนนัดใหม่วันที่ 5 กันยายน 2563
 
5 กันยายน 2563
 
ธนวัฒน์ พริษฐ์และพินิจ มาถึงสภ.เมืองลำปาง เมื่อเวลา 9.45 น. เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยมีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจที่หน้าสถานีตำรวจจำนวนหนึ่ง อานนท์ ผู้ต้องหาในคดีนี้อีกคนหนึ่งไม่สามารถเดินทางมารายงานตัวในวันนี้ได้เนื่องจากถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน หลังถูกศาลอาญาเพิกถอนการประกันตัวในคดีชุมนุม #เยาวชนปลกแอก
 
พินิจและธนวัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารในภายหลัง ส่วนพริษฐ์ไม่ขอให้การใดๆและไม่ลงลายมือชื่อในเอกสารแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ หลังเสร็จสิ้นการรายงานตัว พริษฐ์ออกมาปราศรัยนอกสถานีตำรวจ เน้นย้ำข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ก่อนเดินทางกลับ
 
17 กันยายน 2563
 
เชียงใหม่นิวส์ ออนไลน์ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่รายงานว่า อานนท์เข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนแล้วหลังจากที่ในวันที่ 5 กันยายน 2563 วันนัดเดิมที่เขากับผู้ต้องหาคนอื่นมีกำหนดเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน

อานนท์ถูกฝากขังที่เรือนจำในคดีอื่น (คดีเยาวชนปลดแอก) จึงไม่ได้มารายงานตัวด้วย สำหรับบรรยากาศการรายงานตัวโดยทั่วไปเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประชาชนส่วนหนึ่งมารอให้กำลังใจอานนท์และมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาดูแลสถาการณ์โดยที่ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องสอบสวน โดยที่สยามรัฐออนไลน์ รายงานในส่วนของคำให้การว่าอานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
 
29 มีนาคม 2564
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีกับผู้ต้องหาทั้งสี่เนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา