การชุมนุมเยาชนปลดแอก

อัปเดตล่าสุด: 09/10/2563

ผู้ต้องหา

อานนท์

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

กลุ่มเยาวชนปลดแอกนัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยเบื้องต้นทางกลุ่มประกาศตัวผู้ปราศรัย 4 คน ได้แก่ ทัตเทพ จากกลุ่ม Free Youth จุฑาทิพย์ จากสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ภาณุพงศ์ และณัฐชนน จากกลุ่มเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย 

เมื่อถึงวันนัดหมายทางกลุ่มจัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. ในช่วงต้นของการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามบีบพื้นที่เพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม รวมทั้งมีการนำรถเครื่องเสียงของตำรวจเข้ามาในบริเวณใกล้เวทีชุมนุมและอ่านข้อความเตือนให้ยุติการชุมนุม โดยระบุว่าการชุมนุมอาจขัดต่อกฎหมายหลายบท แต่เนื่องจากมีผู้มาร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมากสุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ล่าถอยไป
 
ตัวแทนของผู้ชุมนุมผลัดกันขึ้นปราศรัยในประเด็นต่างๆ เรื่อยไปจนเลิกการชุมนุมในเวลาประมาณ 01.00 น. จากนั้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2563 อานนท์ หนึ่งในผู้ร่วมการปราศรัยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่าว่าถูกจับกุมตัวแล้วในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีรายงานว่าภาณุพงศ์ ผู้ร่วมการปราศรัยอีกคนหนึ่งก็ถูกจับกุมตัว

ทั้งสองได้รับการประกันตัวโดยมีเงื่อนไขในวันถัดมา หลังจากนั้นในวันที่ 14 สิงหาคม พริษฐ์หรือเพนกวิ้น ผู้ร่วมการปราศรัยอีกคนหนึ่งก็ถูกจับกุมตัวขณะที่กำลังจะไปร่วมการชุมนุมที่ท่าน้ำนนท์ และเจ้าหน้าที่ได้ทยอยออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพิ่มเติมจนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 มีผู้ถูกจับกุมในคดีนี้รวม 13 คน 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ไม่มีข้อมูล

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เบื้องต้นพนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาแยกเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ กับ กลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายเรียก

โดยผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ 16 คน ขณะนี้ถูกจับกุมตัวแล้ว 15 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหา ดังนี้

1.ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

2.ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด

3.รวมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

4.ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด

5.ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร

6.ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน

7.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ส่วนผู้ต้องหาอีก 15 คนที่ตำรวจออกหมายเรียกถูกตั้งข้อกล่าวหาเหมือนกับผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ แต่ไม่มีข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ในส่วนของข้อหาชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายเรียกจะไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216 เพิ่มเติม

 

พฤติการณ์การจับกุม

กรณีอานนท์
 
วันที่ 7 สิงหาคม 2563 เวลาประมาณ 14.00 น. อานนท์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ผมโดนจับแล้ว" พร้อมโพสต์ภาพหมายจับศาลอาญาซึ่งระบุว่าอานนท์ทำความผิดหลายข้อหารวมทั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
ข้อหาชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเรื่องห้ามการชุมนุมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

เบื้องต้นอานนท์ถูกนำตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์ แต่ต่อมากลับพาตัวเขาไปสอบสวนที่สน.บางเขน
 
จากนั้นในเวลาประมาณ 17.40 น. มีรายงานว่าอานนท์ถูกนำตัวไปที่ศาลอาญาเพื่อขออำนาจศาลฝากขังซึ่งขณะนั้นเลยเวลาราชการไปแล้ว ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มประชาชนเดินทางมาปักหลักชุมนุมที่หน้าสน.บางเขน เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวอานนท์
 
ขณะที่ขั้นตอนที่ศาลทนายของอานนท์แถลงขอไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ในเวลาประมาณ 21.50 น. ศาลคืนคำร้องฝากขังให้พนักงานสอบสวนโดยให้เหตุผลว่าพนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามาขอฝากขังหลังเวลาราชการ

อานนท์บอกพนักงานสอบสวนว่าไม่มีอำนาจควบคุมตัวแล้วแต่ตำรวจอ้างว่ามีอำนาจควบคุมตัว อานนท์จึงยืนเฉยๆ ไม่ยอมเดินตามตำรวจเพื่อไปที่รถ ตำรวจจึงใช้วิธิหิ้วแขนอานนท์ไปที่รถและนำตัวไปขังที่สน.ห้วยขวางเป็นเวลา 1 คืนและจะนำตัวอานนท์มาขออำนาจศาลฝากขังใหม่

อานนท์ถูกนำตัวมาถึงที่สน.ห้วยขวางในเวลาประมาณ 00.30 น. ประชาชนที่ไปชุมนุมที่หน้าสน.บางเขนบางส่วนหนึ่งติดตามอานนท์ไปที่สน.ห้วยขวางและปักหลักนอนค้างคืน อานนท์ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาในช่วงเช้าวันที่ 8 สิงหาคม 2563 และได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็นวันเดียวกัน
 
กรณีภาณุพงศ์
 
วันที่ 7 สิงหาคม 2563 เวลา 14.50 น. ภาณุพงศ์ถูกจับกุมที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นเขาก็ถูกควบคุมตัวทำการสอบสวนที่สน.สำราญราษฎร์ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ การจับกุมภาณุพงศ์เกิดขึ้นคล้อยหลังการจับกุมอานนท์ประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อถูกนำตัวมาที่สน.สำราญราษฎร์แล้วภาณุพงศ์ไม่ได้ถูกพาตัวไปที่สน.บางเขนพร้อมกับอานนท์แต่ถูกพาตัวไปที่ศาลอาญารัชดาในภายหลัง

โดยหลังจากที่อานนท์ถูกนำตัวไปที่สน.บางเขนก็ยังมีประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ยังปักหลักอยู่ที่สน.สำราญราษฎร์จนกระทั่งภาณุพงส์ถูกนำตัวออกไปประชาชนกลุ่มนั้นจึงได้ติดตามไปที่ศาลอาญา
 
เวลาประมาณ 21.50 น. ศาลคืนคำร้องฝากขังให้พนักงานสอบสวนโดยให้เหตุผลว่าพนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามาขอฝากขังหลังเวลาราชการ ภาณุพงศ์ถูกควบคุมตัวไปที่สน.ห้วยขวางพร้อมกับอานนท์โดยมีประชาชนส่วนหนึ่งติดตามไปนอนเฝ้าที่หน้าสน.ด้วย ภาณุพงศ์ถูกนำตัวไปที่ศาลอาญาพร้อมกับอานนท์ในช่วงเช้าวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ก่อนจะได้รับการประกันตัวในช่วงเย็นวันเดียวกัน
 
กรณีพริษฐ์
 
เย็นวันที่ 14 สิงหาคม 2563 พริษฐ์มีกำหนดร่วมเวทีปราศรัยที่ท่าน้ำนนท์ในการชุมนุม #'ทุเรียนนนท์ไม่ทนเผด็จการ ก่อนหน้านั้นในเวลา 16.20 น. พริษฐ์ถูกจับกุมตัวที่เมืองทองธานี เนื่องจากพริษฐ์ประกาศไม่ยอมรับกระบวนการและอำนาจของเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องอุ้มตัวพริษฐ์ไปขึ้นรถหลังอ่านหมายจับให้ฟัง

ระหว่างที่ถูกอุ้มตัวพริษฐ์ได้แสดงสัญลักษณ์สามนิ้วและตะโกน “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ด้วย มีข้อน่าสังเกตว่ารถที่ใช้ควบคุมตัวพริษฐ์เป็นรถที่ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ของหน่วยงานราชการ
 
หลังถูกควบคุมตัวพริษฐ์ถูกพาตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์มีประชาชนส่วนหนึ่งติดตามไปให้กำลังใจ ระหว่างนั้นพริษฐ์โพสต์ข้อความแสดงความกังวลว่ามีความเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่จะย้ายสถานที่ควบคุมตัวเขาแต่ต่อมาก็โพสต์ข้อความว่าจะไม่มีการย้ายสถานที่ควบคุมตัวแล้วและคืนนั้นเขาจะอยู่ที่สน.สำราญราษฎร์โดยเขาปลอดภัยดี
 
ในวันที่ 15 สิงหาคม พริษฐ์ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาในช่วงเช้าก่อนจะได้รับการประกันตัวในเวลา 15.00 น. ของวันเดียวกัน ศาลตีราคาประกัน 100000 บาท แต่ยังไม่ต้องวางหลักทรัพย์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขว่าหากกระทำการในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีกจะถือว่าผิดสัญญาประกันและต้องชำระเงินจำนวน 100000 บาท

ระหว่างที่พริษฐ์อยู่ในขั้นตอนการไต่สวนคัดค้านการฝากขังและขั้นตอนการขอประกันตัว ตำรวจยังนำหมายค้นของศาลอาญาไปทำการตรวจค้นบ้านของพริษฐ์ด้วยแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ 
 
กรณีบารมี
 
วันที่ 19 สิงหาคม 2563 อานนท์ นำภา ถูกตำรวจสน.ชนะสงครามจับกุมตัวไปที่สน.ชนะสงครามหลังถูกออกหมายจับในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีร่วมปราศรัยในการชุมนุม เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หลังอานนท์ถูกควบคุมตัวมีประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางไปให้กำลังใจเขา บารมีเองก็เดินทางไปให้กำลังใจด้วย

ระหว่างที่เขาอยู่บริเวณข้างวัดบวรนิเวศซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับสน.ชนะสงคราม เจ้าหน้าที่นำหมายจับคดีนี้มาแสดงต่อเขาในเวลาประมาณ 21.45 น. และควบคุมตัวเขาไปที่สน.สำราญราษฎร์

บารมีได้รับการประกันตัวในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 โดยตีราคาประกัน 100000 บาท แต่ยังไม่ต้องวางหลักทรัพย์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขว่าหากกระทำการในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีกจะถือว่าผิดสัญญาประกันและต้องชำระเงินจำนวน 100000 บาท  
 
กรณีสุวรรณา
 
วันที่ 19 สิงหาคม 2563 อานนท์ นำภาถูกตำรวจสน.ชนะสงครามจับกุมตัวไปที่สน.ชนะสงครามหลังถูกออกหมายจับในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีร่วมปราศรัยในการชุมนุม เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หลังอานนท์ถูกควบคุมตัวมีประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางไปให้กำลังใจเขา

สุวรรณาเดินทางไปให้กำลังใจอานนท์ด้วย ในเวลาประมาณ 23.45 น. สุวรรณาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่ทราบว่าตำรวจชุดใดจะมาทำการจับกุมและกระชากแขนเธอ แต่เธอได้ยืนยันว่าจะไปมอบตัวเองไม่ต้องมาจับ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างที่สุวรรณากำลังจะขึ้นรถซึ่งจอดอยู่ใกล้สน.ชนะสงครามไปที่สน.สำราญราษฎร์ และเมื่อรถขับออกไปแล้วก็มีรถของเจ้าหน้าที่ติดตามไปด้วย

เมื่อสุวรรณาไปถึงที่สน.สำราญราษฎร์เจ้าหน้าที่ชุดเดียวกับที่พยายามกระชากตัวเธอก็แสดงหมายจับและทำการควบคุมตัวเธอ สุวรรณาได้รับการประกันตัวในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 โดยตีราคาประกัน 100000 บาท แต่ยังไม่ต้องวางหลักทรัพย์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขว่าหากกระทำการในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีกจะถือว่าผิดสัญญาประกันและต้องชำระเงินจำนวน 100000 บาท
 
กรณีกรกช 

วันที่ 19 สิงหาคม 2563 อานนท์ นำภาถูกตำรวจสน.ชนะสงครามจับกุมตัวไปที่สน.ชนะสงครามหลังถูกออกหมายจับในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีร่วมปราศรัยในการชุมนุม เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หลังอานนท์ถูกควบคุมตัวมีประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางไปให้กำลังใจเขา กรกชเดินทางไปให้กำลังใจอานนท์ด้วยและเมื่อทราบว่าบารมีถูกจับกุมตัว กรกชก็ติดตามไปที่สน.สำราญราษฎร์ด้วย

กรกชระบุว่าเขาเดินทางจากสน.ชนะสงครามไปสน.สำราญราษฎร์ด้วยรถคันเดียวกับสุวรรณา จึงอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามกระชากตัวสุวรรณาโดยไม่แสดงตัวหรือหมายจับด้วย สำหรับตัวของกรกชเองถูกจับกุมที่หน้าสน.สำราญราษฎร์คล้อยหลังสุวรรณาไม่นาน

กรกชได้รับการประกันตัวในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 โดยตีราคาประกัน 100000 บาท แต่ยังไม่ต้องวางหลักทรัพย์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขว่าหากกระทำการในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีกจะถือว่าผิดสัญญาประกันและต้องชำระเงินจำนวน 100000 บาท
 
กรณีเดชาธร
 
วันที่ 20 สิงหาคม 2563 เดชาธรถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวใกล้บ้านพักในจังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างถูกจับกุมภรรยาและลูกเล็กของเดชาธรอยู่กับเขาด้วย หลังถูกจับกุมเดชาธรถูกนำตัวไปที่สภ.เมืองสมุทรปราการก่อนที่จะถูกนำตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์ และถูกนำตัวไปเข้าสู่กระบวนการฝากขังพร้อมกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ ในคดีนี้อีก 3 คนที่ถูกจับกุมตัวในคืนวันที่ 19 สิงหาคม 
 
ในวันที่ 20 สิงหาคม นอกจากเดชาธรแล้วยังมีการจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีก 4 คน ได้แก่ ทศพร ธนายุทธ์ ณัฐวุฒิและธานี แต่ขณะนี้ยังไม่มีพฤติการณ์การจับกุมโดยละเอียดของทั้งสี่ 
 
ผู้ต้องหาทั้ง 5 คนที่ถูกจับกุมตัวในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลพร้อมกับผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมตัวในคืนวันที่ 19 สิงหาคม โดยทั้งหมดได้รับการประกันตัวในวันเดียวกันโดยศาลตีราคาประกัน 100000 บาท แต่ยังไม่ต้องวางหลักทรัพย์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขว่าหากกระทำการในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีกจะถือว่าผิดสัญญาประกันและต้องชำระเงินจำนวน 100000 บาท
 
กรณีทัตเทพและภาณุมาศ 
 
ทัตเทพและภาณุมาศถูกจับตัวพร้อมกันในเวลา 12.15 น. บริเวณใกล้ที่พัก โดยในช่วงบ่ายวันเดียวกันทัตเทพมีกำหนดร่วมเวทีเสวนาที่มติชนอคาเดมีแต่มาถูกจับกุมตัวเสียก่อน หลังถูกควบคุมตัวทัตเทพถ่ายทอดสดเหตุการณ์ขณะที่เขาถูกจับกุมบนเฟซบุ๊กซึ่งปรากฏภาพภาณุมาศอยู่กับเขาบนรถด้วย

ทัตเทพและภาณุมาศถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลในวันเดียวกันในช่วงบ่ายก่อนที่ทั้งคู่ได้รับการประกาศตัวโดยทัตเทพใช้ตำแหน่งของนักวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่วนภาณุมาศใช้ตำแหน่งส.ส.พรรคก้าวไกลเป็นหลักประกัน
 
กรณีจุฑาทิพย์
 
จุฑาทิพย์ถูกจับกุมตัวระหว่างกำลังเดินทางด้วยรถแกรปไปที่มหาวิทยาลัย จุฑาทิพย์ให้ข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ขับรถจักรยานยนต์มาจอดขวางรถของเธอก่อนจะแสดงตัวทำการจับกุม โดยจุฑาทิพย์ถ่ายทอดสดการจับกุมไว้โดยตลอด หลังถูกจับกุมจุฑาทิพย์ถูกนำตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์ในทันทีจากนั้นจึงถูกนำตัวไปที่ศาลเพื่อขออำนาจฝากขังซึ่งเธอได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน
 
กรณีของผู้ต้องหาคนอื่นๆ
 
นอกจากผู้ต้องหาทั้ง 15 คนที่ถูกจับตามหมายจับ คดีนี้ยังมีผู้ต้องหาอีกอย่างน้อย 15 คน ที่ไม่ถูกออกหมายจับเนื่องจากไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่ถูกตั้งข้อกล่าวหาอื่นๆ เหมือนกันรวมทั้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดการชุมนุมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

ผู้ต้องหากลุ่มดังกล่าวได้แก่ จตุภัทร์, ลัลนา,  ณวรรษ, กานต์นิธิ, จิรฐิตา, ณัฐพงษ์, สิรินทร์, ธนชัย, พิมพ์สิริ, ยามารุดดิน, ชลธิศ, ทักษกร, และ จักรธร, ปรัชญา และ กฤษณะ ผู้ต้องหากลุ่มนี้เข้ารายงานตัวตามหมายเรียกในวันที่ 28 สิงหาคม 2563

โดยผู้ต้องหาส่วนหนึ่งได้ร่วมกิจกรรม #นอนแคมป์ไม่นอนคุก ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในคืนวันที่ 27 สิงหาคม ก่อนที่จะเดินเท้าจากอนุสรณ์สถานที่ไปที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเช้าวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ทั้งนี้ผู้ต้องหาที่ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จะถูกฟ้องคดีแยกต่อศาลแขวงดุสิตเป็นอีกคดีหนึ่ง     

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
16 กรกฎาคม 2563

เฟซบุ๊กเพจของเยาวชนปลดแอกเผยแพร่ภาพพร้อมข้อความประกาศชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยระบุข้อความตอนหนึ่งว่า
 
ไม่ทนอีกต่อไป…
 
เวลาไหนกันที่เราจะออกมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างก่อนที่มันจะสายเกินไป?
เวลาที่เพื่อนๆ ของคุณ ถูกจับไปทีละคนสองคน
เวลาที่พ่อแม่พี่น้องของคุณ อดอยากและแร้นแค้น
เวลาที่เขาปลูกฝังอำนาจนิยมบ้าๆ ลงในเวลาเรียนของลูกๆ คุณ
.
ถ้ารอให้ถึงเวลานั้น มันอาจจะสายเกินไป เรารอมากว่า 80 ปีแล้ว จะต้องรอไปอีกนานซักเท่าไหร่กัน
.
เวลานี้เราไม่ทนอีกแล้ว! 17:00น. เป็นต้นไป 18 กรกฎาคมนี้! มุ่งตรงไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลุกขึ้นสู้กับต้นตอของปัญหา ถอนโคนเผด็จการที่ฝังรากลึกมายาวนาน
*โปรดสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลล้างมือ
.
อย่าให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องของลูกหลานเราที่ต้องมาเรียกร้องความยุติธรรมไม่จบสิ้น ให้มันจบในรุ่นของเรา
 
ในวันเดียวกัน เฟซบุุ๊กของเยาวชนปลดแอกยังเผยแพร่ภาพพร้อมรายชื่อผู้ปราศรัยหลักของการชุมนุมรวม 4 คนได้แก่  ทัตเทพ เลขาธิการ FreeYOUTH จุฑาทิพย์ ประธานสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ภาณุพงศ์ และณัฐชนน จากเยาวชนตะวันออกฯเพื่อประชาธิปไตย
 
18 กรกฎาคม 2563 
 
ผู้ชุมนุมเริ่มทยอยมาถึงบริเวณร้านแม็คโดนัลด์ถนนราชดำเนินตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. โดยมารวมตัวบริเวณหน้าร้านแม็คโดนัลด์ราชดำเนิน บนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีการกั้นรั้ว วางกระถางดอกไม้จนเต็มพื้นที่และมีตำรวจนอกเครื่องแบบประจำการอยู่ด้านในรั้ว ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมขึ้นไปยืนบนทางเท้าเป็นระยะและแจ้งว่าหากยืนบนผิวจราจรจะผิดกฎหมาย
 
ในเวลาประมาณ 16.20 น.ผู้จัดการชุมนุมเริ่มตั้งเวทีบนผิวจราจรระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปถ่ายภาพรถและทะเบียนรถ เวลาประมาณ 16.40 น. มีเจ้าหน้าที่จากสน.สำราญราษฎร์มาอ่านประกาศว่าการชุมนุมเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ผู้ชุมนุมยังดำเนินการชุมนุมต่อไป และนำเวทีลงไปตั้งบนถนนได้สำเร็จขณะที่ตำรวจผลักดดันให้ผู้ชุมนุมกลับขึ้นไปบนทางเท้าไม่สำเร็จ หลังจากนั้นตำรวจใช้รถเครื่องเสียงเปิดประกาศห้ามการชุมนุมอยู่ครู่หนึงจนถึงเวลา 17.10 น. รถเครื่องเสียงตำรวจจึงออกจากพื้นที่ไป
 
การชุมนุมดำเนินไปโดยปกติจนถึงเวลาประมาณ 21.20 น. เกิดเหตุชุลมุนเมื่อมีผู้ชุมนุมคนหนึ่งจะถูกควบคุมตัวไปจากพื้นที่การชุมนุม ผู้ชุมนุมคนอื่นพยายามเข้าไปให้ความช่วยเหลือจนเกิดเป็นเหตุชุลมุน สถานการณ์คลี่คลายลงในเวลาประมาณ 21.40 น. จากนั้นในเวลาประมาณ 22.00 น. รถเครื่องเสียงคันหนึ่งถูกยึดไปซึ่งมีผู้ติดตามไปและพบว่าอยู่ที่สน.ตลิ่งชัน แต่กรณีดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้เกิดเหตุวุ่นวายในพื้นที่การชุมนุมแต่อย่างใด เบื้องต้นบนเวทีมีการประกาศว่าการชุมนุมจะเป็นแบบยืดเยื้อค้างคืนแต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโดยมีการประกาศเลิกด้วยความเรียบร้อยในเวลาเที่ยงคืน
 
19 กรกฎาคม 2563
 
พีพีทีวีออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติระบุว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวนพฤติกรรมในรายละเอียดของผู้ชุมนุมว่า เข้าข่ายผิดกฎหมายข้อใดบ้าง โดยจะรวบรวมพยานหลักฐานตามขั้นตอน ได้แก่

การถอดเทปคำปราศรัยของแกนนำ การตรวจสอบข้อความบนป้ายที่เป็นอุปกรณ์การชุมนุม นอกจากนั้นจะตรวจสอบว่าการชุมนุมเข้าข่ายความผิดตามข้อกำหนดมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 ที่กำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย รวมถึงความผิดตามพ.ร.บ.จราจรฯ 
 
พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ ระบุด้วยว่า หากการสอบสวนพบพยานหลักฐานเชื่อมโยงถึงบุคคลใดก็จะต้องออกหมายเรียกคนนั้นมาให้ข้อมูลและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป  โดยการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการกับผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชนปลดแอกคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน และขอเตือนไปถึงผู้ปกครองและครูอาจารย์ให้ตักเตือนกลุ่มเยาวชนถึงการทำกิจกรรมการเมืองในลักษณะนี้ว่าต้องระมัดระวังข้อกฎหมายและอาจทำให้เสียประวัติในอนาคตด้วย    
 
25 กรกฎาคม 2563
 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า เขาได้รับหมายเรียกจากสน.สำราญราษฎร์ให้ไปเข้าพบจากกรณีที่รถของเขามีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมในวันที่ 18 กรกฎาคม อย่างไรก็ตามหมายดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นหมายเรียกผู้ต้องหาหรือหมายเรียกพยานและไม่มีการระบุข้อกล่าวหาในเอกสารเพียงแต่บรรยายว่ารถยนต์ของเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม 
 
7 สิงหาคม 2563
 
มติชนออนไลน์รายงานว่าพนักงานสอบสวนร้องขอต่อศาลให้ออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีการชุมนุมเยาวชนปลดแอกแล้ว 15 คน เหลืออีก 16 คนที่อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อว่าบุคคลใดบ้างที่ถูกออกหมายจับ ทางตำรวจยังกำหนดด้วยว่าการจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดควรจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 10 สิงหาคม 2563
 
เวลา 14.04 น. อานนท์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่าเขาถูกจับแล้ว พร้อมทั้งโพสต์ภาพหมายจับคดีนี้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว
 
เวลา 14.34 น. ภาณุพงศ์แชร์ภาพหมายจับของอานนท์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมเขียนข้อความว่า "ผมคงเป็นรายต่อไป" 
 
เวลา 15.42 น. ภาณุพงศ์โพสต์ภาพหมายจับบนเฟซบุ๊กของตัวเองพร้อมเขียนข้อความ "ผมโดนจับแล้ว"
 
เวลา 14.50 น. ข่าวสดออนไลน์รายงานว่าภาณุพงศ์ถูกจับกุมตัวที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังการจับกุมเขาถูกนำตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์ซึ่งอานนท์ถูกควบคุมตัวอยู่ก่อนแล้ว ขณะเดียวกันที่สน.สำราญราษฎร์ก็มีประชาชนส่วนหนึ่งติดตามไปให้กำลังใจทั้งสอง 
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าในเวลา 16.30 น. อานนท์ถูกนำตัวไปที่สน.บางเขนเพื่อสอบปากคำเพิ่มเติมก่อนนำส่งศาล ส่วนภาณุพงศ์ถูกควบคุมตัวที่สน.สำราญราษฎร์และนำตัวไปส่งศาลในเวลาไล่เลี่ยกัน 

ทั้งสองถูกควบคุมตัวอยู่ในศาลจนกระทั่งเวลาประมาณ 22.30 น. ศาลอาญาคืนคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนโดยให้เหตุผลว่าพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องหลังเวลาราชการ หลังเสร็จสิ้นกระบวนการอานนท์และภาณุพงศ์ไม่ยินยอมเดินไปขึ้นรถตำรวจโดยแจ้งว่าเมื่อศาลไม่รับคำร้องพนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจควบคุมตัวแล้ว

แต่ตำรวจยืนยันว่ายังมีอำนาจควบคุมตัวอยู่จึงได้ทำการอุ้มตัวทั้งสองไปขึ้นรถและนำตัวไปไว้ที่สน.ห้วยขวาง 1 คืนเพื่อรอนำส่งศาลในวันรุ่งขึ้นโดยมีประชาชนบางส่วนติดตามไปนอนค้างคืนที่หน้าสน.ห้วยขวางด้วย
 
ทั้งนี้ระหว่างที่ถกควบคุมตัวอานนท์ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนที่มาให้กำลังใจหรือติดตามคดีของเขาด้วยโดยทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งเป็นผู้นำมาเผยแพร่บนเฟซบุ๊กส่วนตัว
 
 

Anon Numpha's letter 7 August 2020

 
8 สิงหาคม 2563
 
ประชาไทรายงานว่า อานนท์และภาณุพงศ์ถูกนำตัวไปที่ศาลตั้งแต่เวลา 8.00 น. เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีประชาชนส่วนหนึ่งติดตามไปให้กำลังใจผู้ต้องหาทั้งสองที่ศาล ทางศาลจึงวางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องขึ้นไปบนอาคารศาล ที่บริเวณบันไดศาลเจ้าหน้าที่นำแผงเหล็กมากั้นไว้และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยถ่ายภาพคนที่มารวมตัวบริเวณดังกล่าวตลอดเวลา

ในเวลาประมาณ 10.20 น. พริษฐ์ซึ่งต่อมาเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้แต่ในวันนี้ยังไม่ถูกจับกุมพยายามต่อรองให้มีตัวแทนประชาชนขึ้นไปร่วมสังเกตการณ์กระบวนการในศาลได้ หลังการเจรจาเจ้าหน้าที่ยินยอมให้ตัวแทนประชาชนสองคนขึ้นไป 
 
ศาลแยกไต่สวนคำร้องฝากขังของอานนท์และภาณุพงศ์เป็นสองกรณี ไต่สวนแล้วเสร็จในเวลาประมาณ11.55 น.และนัดฟังคำสั่งในเวลา 13.30 น. แต่มาอ่านคำสั่งจริงๆในเวลา 15.25 น. โดยศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองคนได้ จากนั้นผู้ต้องหาทั้งสองขอประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งส.ส.พรรคก้าวไกลสองคนเป็นหลักประกัน ศาลตีราคาประกันคนละ 100,000 บาท แต่ยังไม่ต้องวางหลักทรัพย์ในวันนี้ 
 
ศาลกำหนดเงื่อนไขด้วยว่าหากผู้ต้องนาทั้งสองทำความผิดในลักษณะเดียวกับคดีนี้ให้ถือว่าผิดสัญญาประกัน จากนั้นผู้ต้องหาทั้งสองได้รับการปล่อยตัวในเวลาหลัง 16.30 น. 
 
14 สิงหาคม 2563
 
ไทยโพสต์ออนไลน์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบทำการจับกุมพริษฐ์ที่เมืองทองธานีในเวลาประมาณ 16 นาฬิกาเศษ ระหว่างที่เขากำลังเตรียมไปขึ้นปราศรัยที่ท่าน้ำนนท์ 

หลังการจับกุมาพริษฐ์ถูกนำตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์และถูกควบคุมตัวไว้หนึ่งคืน ในช่วงค่ำก็มีประชาชนส่วนหนึ่งติดตามไปให้กำลังใจพริษฐ์ที่สน.สำราญราษฎร์ด้วย โดยระหว่างที่ประชาชนกำลังรวมตัวกันที่หน้าสน.พริษฐ์ได้เขียนจดหมายฝากให้เพื่อนนำมาอ่านให้ประชาชนฟังด้วย 

 

Parit's statement 14 Aug 2020

15 สิงหาคม 2563

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ในเวลาประมาณ 8.15 น. พนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์คุมตัวพริษฐ์ไปส่งที่ศาลอาญาเพื่อขออำนาจศาลฝากขังในชั้นสอบสวน 

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวถึงการส่งตัวพริษฐ์ไปฝากขังว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้คัดค้านการประกันตัวโดยให้เป็นดุลพินิจของศาล  ในส่วนของการดำเนินคดีตำรวจพิจารณาไปตามพยานหลักฐาน ไม่มีนโยบายว่าจะจับใครหรือไม่จับใคร เมื่อมีการจัดกิจกรรมขึ้นก็ดูและรวบรวมพยานหลักฐาน หากองค์ประกอบเข้าก็ต้องเป็นไปตามนั้น 

ส่วนใครจะถูกแจ้งข้อหาใดบ้างจะแตกต่างกันไปแล้วแต่การทำกิจกรรมในวันนั้นๆ บางคนได้ทำบางสิ่ง บางคนก็ไม่ได้ทำบางสิ่ง
 
บีบีซีไทยรายงานในเวลาต่อมาว่า ศษลเริ่มกระบวนการไต่สวนคำร้องฝากขังในเวลาประมาณ 10.10 น. โดยอนุญาตให้เพียงแม่และอาจารย์ของพริษฐ์ส่วนหนึ่งอยู่ในห้องพิจารณาคดี

ส่วนประชาชนที่มาให้กำลังใจซึ่งมีภาณุพงศ์ ผู้ต้องหาคดีเดียวกันที่ถูกจับกุมตัวไปก่อนหน้านี้หนึ่งสัปดาห์รวมอยู่ด้วยไม่สามารถขึ้นมารับฟังการพิจารณาคดีในห้องพิจารณาคดีได้จึงต้องรอพริษฐ์อยู่ด้านนอกรั้วศาลอาญา 
 
ในช่วงเช้าระหว่างที่ศาลดำเนินกระบวนการไต่สวนคำร้องฝากขัง เจ้าหน้าที่ยังนำหมายค้นไปทำการตรวจค้นบ้านพักของพริษฐ์ที่ย่านรังสิตด้วยแต่ไม่ปรากฎว่าพบของผิดกฎหมายใดๆ 
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานในเวลาต่อมาว่า ศาลอนุญาตให้ฝากขังพริษฐ์ตามคำร้องของพนักงานสอบและให้พริษฐ์ประกันตัวโดยตีราคาประกัน 100000 บาท แต่ยังไม่ต้องวางหลักประกัน พร้อมตั้งเงื่อนไขประกันเหมือนอานนท์และภาณุพงศ์คือห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก หากฝ่าฝืนให้ถือว่าผิดสัญญาประกัน

พริษฐ์ได้รับการปล่อยตัวจากศาลในเวลาประมาณ 15.00 น. พริษฐ์ระบุหลังได้รับการปล่อยตัวว่าเขาจะไปร่วมการชุมนุมใหญ่ของเยาวชนปลดแอกในวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ตามที่ตั้งใจไว้ก่อนหน้านี้ 
 
13 สิงหาคม 2563
 
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่าพนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์ยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนประกันอานนท์และภาณุพงศ์เนื่องจากทั้งสองทำผิดเงื่อนไขประกัน ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอให้ถอนประกันของพนักงานสอบสวนในวันที่ 3 กันยายน 2563 
 
19 สิงหาคม 2563
 
อานนท์ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ถูกควบคุมตัวตามหมายจับในคดีการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หลังอานนท์ถูกจับตัวที่หน้าศาลอาญาในช่วงค่ำและถูกนำตัวไปที่สน.ชนะสงครามเจ้าของท้องที่ ประชาชนส่วนหนึ่งติดตามไปให้กำลังใจอานนท์ ในจำนวนนั้นมีบารมีซึ่งถูกออกหมายจับในคดีนี้รวมอยู่ด้วย ระหว่างที่บารมีกำลังจะไปที่สน.ชนะสงครามเพื่อให้กำลังใจอานนท์ตำรวจก็นำหมายไปแสดงและทำการจับกุมเขาที่บริเวณข้างวัดบวรนิเวศวิหาร
 
หลังบารมีถูกจับกุมตัวประชาชนบางส่วนได้ติดตามไปให้กำลังใจบารมีที่หน้าสน.สำราญราษฎร์ด้วย ในจำนวนนั้นมีสุวรรณาและกรกชรวมอยู่ด้วย ทั้งสองถูกควบคุมตัวในช่วงดึกหลังบารมีถูกควบคุมตัวไม่นาน โดยกรณีของสุวรรณาเธอโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กก่อนถุกจับกุมไม่นานว่า "เมื่อกี้ตำรวจไม่รู้ว่าชุดไหน มากระชากแขนลูกตาลเพื่อจะจับกุม แต่ตาลยืนยันว่าจะไปเอง ไม่จำเป็นต้องจับกุม"

สุวรรณาระบุภายหลังว่าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบซึ่งไม่แสดงตัวพยายามกระชากแขนเธอลงจากรถโดยไม่แสดงตัวหรือแสดงหมาย กระทั่งเมื่อเธอมาถึงหน้าสน.สำราญราษฎร์เจ้าหน้าที่ชุดเดียวกันจึงได้แสดงตัวพร้อมหมายจับ สำหรับกรกชเขาถูกจับกุมตัวที่หน้าสน.สำราญราษฎร์ไม่นานโดยในคืนนั้นก็มีประชาชนมารวมตัวกันที่หน้าสน.สำราญราษฎร์ด้วย
 
20 สิงหาคม 2563
 
ตั้งแต่ช่วงเช้ามีรายงานว่าพนักงานสอบสวนทำการจับกุมผู้ต้องหาคดีนี้เพิ่มเติมอีกห้าคนได้แก่ เดชาธร ทศพร ธานี ณัฐวุฒิ และธนายุทธ ผู้ต้องหาทั้งห้ารวมทั้งบารมี สุวรรณาและกรกชที่ถูกจับตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 19 สิงหาคม ถูกนำตัวไปที่ศาลอาญาเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง 
 
ไทยรัฐออนไลน๋์ รายงานว่าในเวลาประมาณ 18.30 น. ว่าผู้ต้องหาคดีนี้แปดคนรวมทั้งอานนท์ซึ่งถูกจับกุมตัวในอีกคดีหนึ่งได้รับการปล่อยตัวจากศาลอาญา

สำหรับแปดผู้ต้องหาคดีนี้ศาลอนุญาตให้ฝากคำตามคำร้องของพนักงานสอบสวน แต่ก็ให้ทั้งแปดคนประกันตัวตัวตีราคาประกันคนละ 100000 บาท แต่ยังไม่ต้องวางหลักประกันในวันนี้และกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับคดีนี้หากทำจะถือว่าผิดสัญญาประกัน  
 
26 สิงหาคม 2563
 
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ในเวลาประมาณ 12.00 น. ทัตเทพและภาณุมาศ ผู้ต้องหาอีกสองคนถูกออกหมายจับใกล้กับที่พักขณะที่ทัตเทพกำลังเตรียมเดินทางไปร่วมกิจกรรมที่มติชนอคาเดมีย่านประชาชื่น หลังการจับกุมพนักงานสอบสวนนำตัวทั้งสองไปที่สน.สำราญราษฎร์ไปรับทราบข้อกล่าวหา จากนั้นจึงนำตัวทั้งสองส่งศาลอาญาเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง
 
มติชนออนไลน์รายงานในเวลาต่อมาว่า ในเวลา 15.30 น. ทัตเทพและภาณุมาศถูกนำตัวไปถึงศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนและอนุญาตให้ผู้ต้องหาประกันตัวโดยตีราคาประกัน 100000 บาท แต่ยังไม่ต้องวางหลักทรัพย์พร้อมกำหนดเงื่อนไขในลักษณะเดียวกับผู้ต้องหาคนอื่นๆคือห้ามกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก
 
28 สิงหาคม 2563
 
เดอะแสตนดาร์ดรายงานว่า ในเวลา 9.00 น. จตุภัทร์และผู้ต้องหาคนอื่นรวม 15 คน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีนี้เหมือนกับผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมตัวแต่ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116จัดการชุมนุมเดินเท้าไปรายงานตัวที่สน.สำราญราษฎร์ โดยมีประชาชนส่วนหนึ่งร่วมเดินและให้กำลังใจ 
 
การเดินเท้าเริ่มที่หน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ซึ่งช่วงเย็นและค่ำวันที่ 27 สิงหาคม จตุภัทร์และนักกิจกรรมส่วนหนึ่งจัดกิจกรรม เราคือเพื่อนกัน นอนแคมป์ไม่นอนคุก ซึ่งเป็นกิจกรรมปราศรัยทางการเมืองในประเด็นต่างๆก่อนนอนค้างคืนร่วมกันและร่วมกันเดินเท้าไปที่สถานีตำรวจ 
 
เมื่อขบวนของผู้ต้องหาและผู้สนับสนุนไปถึงที่หน้าสถานีตำรวจก็มีเหตุชุลมุนเมื่อผู้ร่วมเดินคนหนึ่งนำสีไปสาดใส่ตำรวจที่ยืนรักษาการณ์บริเวณแผงเหล็กซึ่งกั้นเหตุหวงห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเข้าไป ทั้ยที่สุดตำรวจยอมเปิดทางให้ผู้ร่วมเดินเท้าเข้าไปรอขั้นตอนการรายงานตัวของผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ที่ใต้ถุนสน.สำราญราษฎร์

หลังเสร็จขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธและขอส่งคำให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารตามหลัง ผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน พนักงานสอบสวนนัดผู้ต้องหาทั้ง 15 ส่งตัวฟ้องต่ออัยการศาลแขวงดุสิตวันที่ 16 กันยายน 2563 โดยทั้ง 15 จะถูกแยกฟ้องคดีเป็นอีกสำนวนคดีหนึ่งต่อศาลแขวงดุสิต ส่วนผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับและถูกตั้งข้อกล่าวหามาตรา 116 จะถูกฟ้องคดีต่อศาลอาญา 
 
1 กันยายน 2562
 
ประชาไทรายงานว่า เวลา 12.50 น. จุฑาทิพย์ ประธานสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยซึ่งถูกออกหมายจับในคดีนี้ด้วย ถูกจับกุมตัวระหว่างเดินทางไปเรียน จุฑาทิพย์ระบุว่ามีรถจักรยานยนต์ขับมาดักรถของเธอก่อนที่ชายคนหนึ่งจะเคาะกระจกรถและแสดงตัวว่าเป็นตำรวจ 

ร.ต.อ.ณัฏฐเดช อยู่นุช สารวัตรกองวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ จากตำรวจนครบาลแสดงหมายจับและอ่านหมายจับให้จุฑาทิพย์ฟังโโยตลอดขั้นตอนจุฑาทิพย์ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง 

หลังตำรวจแสดงตัวจับกุมจุฑาทิพย์ถูกพาตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์เพื่อสอบปากคำจากนั้นก็ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารในวันเดียวกัน ซึ่งต่อมาศาลก็ให้จุฑาทิพย์ประกันตัวโดยยังไม่ต้องวางหลักทรัพย์และตั้งเงื่อนไขการประกันเช่นเดียวกับผู้ต้องหาคดีนี้คนอื่นๆ หลังถูกปล่อยตัวจากศาล จุฑาทิพย์ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยใช้สีขาดราดลงบนตัวเอง 
 
1 กันยายน 2563
 
อานนท์โพสต์ภาพหนังสือที่เขาส่งถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาขอให้ศาลดำเนินกระบวนการไต่สวนอย่างเปิดเผย รวมถึงขอให้จัดห้องพิจารณาขนาดใหญ่เพื่อรองรับประชาชนและสื่อมวลชนที่สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์การไต่สวน

เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพทางการเมืองและเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน 


Anon's letter to Court director ที่มาเฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา https://www.facebook.com/photo/?fbid=4315804998460863&set=a.163415147033223

3 กันยายน 2563
 
นัดไต่สวนถอนประกันอานนท์และภาณุพงศ์
 
ตั้งแต่เวลา 8.05 น. หรือประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเวลานัดไต่สวน ศาลอาญาดำเนินมาตรการดูแลพื้นที่อย่างเข้มงวด มีการตั้งแผงเหล็กกั้นบริเวณทางเข้าอาคารศาลและมีตำรวจประจำการอยู่เพื่อคัดกรองโดยอนุญาตให้เฉพาะคู่ความในคดีขึ้นไปที่อาคารศาลเท่านั้น
 
ภาณุพงศ์ พร้อมด้วยผู้ไว้วางใจเดินทางมาถึงศาลก่อนเวลา 8.30 น. เล็กน้อย การไต่สวนภาณุพงศ์ศาลนัดที่ห้องพิจารณา 712 จากนั้นในเวลาประมาณ 9.15 น. อานนท์ นำภา พร้อมทนายความเดินทางมาถึงศาล อานนท์ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสั้นก่อนจะขึ้นไปบนอาคารศาลซึ่งการไต่สวนจะทำที่ห้องพิจารณาคดี 714 
 
เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์และสื่อมวลชนเข้ามาในบริเวณอาคารศาลอาญาได้ จากเดิมที่มีการกั้นรั้วและห้ามผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีไม่ให้เข้าไปในอาคารศาลเลย โดยบริเวณทางเข้าจะมีตำรวจนอกเครื่องแบบคอยบันทึกข้อมูลผู้ผ่านเข้าออก ขอบัตรประชาชนเพื่อบันทึกข้อมูล และสอบถามองค์กรต้นสังกัด รวมถึงมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบันทึกภาพของผู้มาลงทะเบียนเข้าสังเกตการณ์ไว้ด้วย
 
เมื่อสอบถามว่า ตำรวจที่ประจำการที่จุดคัดกรองมาจากสน.ใด ตำรวจนอกเครื่องแบบนายหนึ่งตอบว่า มาจากหลายสน.ทั่วกรุงเทพ
 
ที่หน้าห้องพิจารณาคดี จะมีเจ้าหน้าที่ศาลคอยคัดกรองผู้เข้าออก เจ้าหน้าที่อธิบายว่า ผู้ที่จะสามารถเข้าห้องได้จะต้องมีรายชื่อเป็นผู้ติดตามที่ผู้ต้องหาให้ไว้เท่านั้น หากไม่มีจะต้องรอด้านนอก ห้องพิจารณาคดีเพื่อรักษาพื้นที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันศาลอนุญาตให้ตัวแทนสื่อมวลชนเข้าฟังห้องละ 2 สำนักเท่านั้นและต้องแสดงบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว
 
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุดซึ่งเป็นลูกความของอานนท์มาที่ห้องพิจารณาคดีด้วย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ศาลไม่ให้เข้าห้อง ทนายความจึงต้องออกมาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่จากนั้นสมบัติและผู้มาให้กำลังใจอีกคนหนึ่งจึงได้เข้าห้องพิจารณาคดี
 
สำหรับผู้ที่ได้เข้าห้องพิจารณาคดีจะต้องฝากโทรศัพท์มือถือและสัมพาระไว้ข้างนอก ทนายความจะได้รับอนุญาตให้นำเอกสารเกี่ยวกับคดีเข้าไปเท่านั้นและในห้องพิจารณาคดียังมีตำรวจนอกเครื่องแบบอีกนายหนึ่งเข้าไปฟังการพิจารณาด้วย 
 
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ในเวลาประมาณ 16.20 น. ศาลอาญามีคำสั่ง​เพิกถอนประกันตัว นายอานนท์ นำภา​ โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาผิดเงื่อนไขประกันตัว เนื่องจากการขึ้นปราศรัยใน จ.เชียงใหม่ และ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นการกระทำในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีร่วมชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” และแจ้งกับอานนท์ว่า ศาลไม่ตัดสิทธิในการยื่นประกันตัวใหม่
 
ในส่วนของภาณุพงศ์ ศาลระบุว่าผู้ต้องหายอมรับว่า ขึ้นเวทีปราศรัยจริง ซึ่งผิดเงื่อนไขการประกันตัว แต่เมื่อพิเคราะห์จากอายุ อาชีพ และพฤติการณ์สำคัญไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวน ควรให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาสักครั้งหนึ่ง จึงให้ยื่นสัญญาประกันตัวใหม่โดยเพิ่มวงเงินเป็น 200,000 บาท
 
ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว อานนท์ โพสต์ภาพข้อความเขียนด้วยลายมือของเขาสองภาพลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว 

 
 
 
Anon's memo 01

 

Anon's memo 02

ทั้งอานนท์และภาณุพงศ์ตัดสินใจไม่ยื่นประกันตัวใหม่ ทั้งสองจึงถูกนำตัวไปที่เรือนจำในช่วงเย็นวันเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ไม่ประชาชนติดตามไปจัดการชุมนุมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพด้วย

หลังอานนท์ นำภา และ ภาณุพงศ์ ถูกคุมขัง มีการทำกิจกรรมที่หน้าเรือนจำต่อเนื่องเกือบทุกวัน คือวันที่ 3 – 4 และวันที่ 6 กันยายน

7 กันยายน 2563

เวลา 15.00 น. ประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวทำกิจกรรมที่หน้าศาลอาญาเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสองและเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หลังกิจกรรมยุติในเวลา 16.00 น. ได้ไม่นาน ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ในเวลา ประมาณ 16 นาฬิกาเศษ ศาลอาญาออกข่าวแจกสื่อมวลชนซึ่งสรุปได้ว่า

ในวันที่ 7 กันยายน 2563 พนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์ยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการฝากขังอานนท์และภาณุพงศ์ โดยระบุเหตุผลในคำร้องว่า ได้ทำการสอบสวนมาพอสมควรแล้วจึงไม่จำเป็นต้องขังผู้ต้องหาทั้งสองระหว่างการสอบสวนอีกต่อไป

ศาลพิจารณาแล้วให้หมายปล่อยผู้ต้องหาทั้งสอง โดยแจ้งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทราบแล้วเพื่อปล่อยตัวต่อไป โดยผู้ต้องหาทั้งสองได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในเวลา 17.30 น.
 
7 ตุลาคม 2563
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ผู้ต้องหาแปดคนที่ถูกส่งตัวฝากขังต่อศาลเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 มารายงานตัวต่อศาลอาญาเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายหลังครบกำหนดฝากขัง 48 วัน แต่ในวันนี้อัยการยังไม่มีคำสั่งคดีเนื่องจากเพิ่งได้รับสำนวนจากทางตำรวจในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 และเพิ่งมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาสำนวนวันที่ 6 ตุลาคม 2563 จึงยังไม่สามารถสั่งคดีในวันนี้ได้

ผู้ต้องหาทั้งแปดคนได้แก่ เดชาธร ธานี  ทศพร ณัฐวุฒิ ธนายุทธ บารมี สุวรรณา และ กรกช จึงพ้นจากอำนาจควบคุมตัวของศาล จนกว่าอัยการจะมีคำสั่งคดีจึงจะต้องกลับมารายงานตัวฟังคำสั่งอีกครั้ง       

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา