การชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน

ผู้ต้องหา

ภัสราวลี

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 26 ตุลาคม 2563 ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรประกาศชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย  ผู้จัดนัดหมายผู้ชุมนุมที่หน้าห้างสามย่านมิดทาวน์ จากนั้นจึงเคลื่อนขบวนไปตามถนนพระรามสี่ก่อนจะเลี้ยวขวาที่ถนนสาธรเหนือ

เป้าหมายของผู้ชุมนุมในการชุมนุมคือการยื่นหนังสือต่อเอกอัคราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยผ่านไปถึงรัฐบาลเยอรมันเพื่อให้ตรวจสอบการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยในดินแดนเยอรมัน ตัวแทนผู้ชุมนุมยังได้อ่านแถลงการณ์ซึ่งมีสามภาษาคือภาษาไทย อังกฤษ และเยอรมัน

การชุมนุมในวันเกิดเหตุยุติลงโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงวุ่นวายใดๆ แต่หลังจากนั้นมีผู้ชุมนุมถูกออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

ต่อมาเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับผู้ชุมนุม 13 คน จึงถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้จำเลยทั้ง 13 คน ประกันตัว ตีราคาประกัน 200000 บาท แต่เนื่องจากมีนักวิชาการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาใช้ตำแหน่งประกันตัวให้ผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ครบตามจำนวน จึงไม่ต้องวางเงินเป็นหลักประกันเพิ่มเติม 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ภัสราวลี หรือมายด์ เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร และนักกิจกรรมเคลื่อนไหวในนาม "มหานครเพื่อประชาธิปไตย"
 
กรกช สำเร็จการศึกษาจาก ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรกชเคยถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองสองคดีในยุคคสช. ได้แก่คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์และคดีแจกเอกสารโหวตโนประชามติที่เคหะบางพลี  ขณะถูกตั้งข้อกล่าวหาคดีนี้กรกชทำงานที่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย 
 
ชนินทร์เป็นนักกิจกรรมที่ร่วมทำกิจกรรมผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการกับสหภาพนักเรียนฯ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563
 
ชลธิศ เป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
 
เบนจา สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
 
วัชรากรเป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 
 
อัครพล เป็นนักวิชาการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
 
"โจเซฟ"  
 
ณวรรษ เป็นนักกิจกรรมจาก "กลุ่ม มศว คนรุ่นเปลี่ยน"
 
อรรถพล หรือ ครูใหญ่ เป็นติวเตอร์สอนวิชาสังคมและภาษาไทยให้นักเรียนมัธยมในจังหวัดขอนแก่นและเป็นสมาชิกกลุ่มขอนแก่นพอกันที
 
รวิศรา จบการศึกษาคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาเยอรมัน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขระถูกตั้งข้อกล่าวหาคดีนี้เป็นนักแปลอิสระ
 
สุธินี ขณะถูกตั้งข้อกล่าวหาคดีนี้เป็นนิสิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
"เอ" เป็นนักกิจกรรม
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กับผู้ปราศรัยและผู้ร่วมอ่านแถลงการณ์ที่หน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยโดยสรุปได้ว่า
 
ตัวแทนผู้ชุมนุมสามคน นำโดยภัสราวลี ได้เข้าไปภายในสถานทูตเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง ระหว่างนั้นกลุ่มคณะราษฎร 2563 ได้อ่านแถลงการณ์ที่จัดเตรียมมา ทั้งในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน โดยแบ่งกันอ่านเรียงคนละท่อน ผ่านเครื่องขยายเสียง ให้กลุ่มผู้ชุมนุมฟัง

ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวมีข้อความเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ ในลักษณะเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดการล่วงละเมิดกฎหมาย และจะก่อความไม่สงบขึ้น

รวมทั้งแกนนำยังได้มีการปราศรัยหัวข้อว่า “ต้องการให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี" 
 
ต่อมาตัวแทนผู้ชุมนุม 3 คน ได้ออกมาจากสถานทูต และมีการกล่าวปราศรัยถึงจดหมายที่ได้ยื่นต่อเอกอัครราชทูต เรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันตรวจสอบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยเนื้อหาคำปราศรัยมีความสอดคล้องกับแถลงการณ์ของกลุ่มคณะราษฎร 2563

จึงถือได้ว่าการกระทำของภัสราวลีและพวก มีเจตนามุ่งหวังให้มวลชนที่มาร่วมชุมนุมได้ยินคำแถลงการณ์และคำปราศรัย ฝ่าฝืนหรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินที่บัญญัติไว้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จนเป็นเหตุให้ประชาชนแบ่งเป็นฝักฝ่าย และจะก่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน จนถึงขนาดจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรได้ 

หลังพล.อ.ประยุทธ์ประกาศจะใช้กฎหมายทุกฉบับที่มีอยู่ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ในวันที่ 8 ธันวาคม 2563  พนักงานสอบสวนสน.ทุ่งมหาเมฆแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับผู้ต้องหาทั้ง 13 คน เพิ่มเติมโดยระบุพฤติการณ์ซึ่งสรุปได้ว่า 

“เนื้อหาบางช่วงบางตอนในคําแถลงการณ์ทุกฉบับและคําปราศรัยดังกล่าวเป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ ต่อผู้ร่วมชุมนุมและบุคคลที่อยู่ในบริเวณที่ชุมนุม เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระองค์ ทําให้พระองค์เสื่อมพระเกียรติ เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”
 
“ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ดังนั้น การพูดถึงพระมหากษัตริย์ ในลักษณะที่ปรากฎในแถลงการณ์จึงเป็นการจาบจ้วงล่วงเกิน ไม่เหมาะสม พูดใส่ ความ เพื่อปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมและประชาชนที่ผ่านไปมา มีความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนฝ่าฝืนหรือล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดินที่บัญญัติไว้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จนเป็นเหตุให้ประชาชนแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย ก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในประเทศ และอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ในแถบนั้นจนถึงขั้นก่อความไม่สงบได้”
 
“แม้ว่าผู้อ่านแถลงการณ์จะอ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาไทย ฉบับภาษาอังกฤษ และฉบับภาษาเยอรมันคนละท่อนและข้อความที่บางคนอ่านอาจไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่เนื่องจากการอ่านแถลงการณ์ดังกล่าวนี้เป็นการแบ่งงานกันทำและมีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกัน จึงเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดมาตรานี้ ทั้งเนื้อหายังสอดคล้องกับคำปราศรัยของนางสาวภัสราวลีและนายอรรถพล จึงถือว่าการกระทำของภัสราวลีและอรรถพลนั้นเข้าข่ายความผิดตาม มาตรา 112 ด้วย” 
 

พฤติการณ์การจับกุม

 
ผู้ต้องหาทั้งหมดเข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก จึงไม่มีการจับกุมตัว หลังผู้ต้องหาทั้งหมดเข้ารายงานตัวพนักงานสอบสวนไม่ได้ขออำนาจศาลฝากขังและปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
25 ตุลาคม 2563
 
Infoques รายงานว่า เพจเฟซบุ๊กเยาวชนปลดแอก และเพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศเชิญชวนประชาชน เข้าร่วมชุมนุมและเดินขบวนจากแยกสามย่าน ไปยังสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 15.00 น. โดยระบุเหตุผลว่า หลังจากที่ในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ทางกลุ่มเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกภายในสามวัน ซึ่งจนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 24 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ลาออก ทางกลุ่มจึงต้องออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่ง 
 
เพจเฟซบุ๊กของเยาวชนปลดแอก โพสต์ในวันที่ 24 ตุลาคม 2563 ว่า “หลังจาก 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ประชาชนผู้รักในประชาธิปไตยได้ให้เวลา 3 วัน ในการเซ็นใบลาออกของประยุทธ์ จนถึงตอนนี้ ครบ 3 วันแล้ว ประยุทธ์ไม่มีทีท่าว่าจะลาออกแม้แต่อย่างใด…วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคมนี้ 17:00 น.นี้! โปรดเตรียมตัวให้พร้อม เดินขบวนจากแยกสามย่านไปสถานทูตเยอรมัน รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดตาม”
 
ขณะที่เพจเฟซบุ๊กของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุนนุม ระบุว่า “เมื่อประยุทธ์ไม่ยอมออก เห็นทีแล้วเราก็คงต้องเจอกัน…จันทร์นี้เจอกัน เดินขบวนจากสามย่าน ไปสถานทูตเยอรมัน!”
 
26 ตุลาคม 2563
 
ผู้ชุมนุม ราษฎร เริ่มรวมตัวที่หน้าสามย่านมิดทาวน์ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. ต่อมาในเวลา 16.40 น. ผู้จัดการชุมนุมเริ่มใช้เครื่องเสียงเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมลงไปบนถนนพญาไทเพื่อเตรียมตั้งขบวน โดยใช้สัญญาณมือและป้ายไวนิลขนาดใหญ่เขียนข้อความให้สัญญาณต่างๆ เช่น หยุด หรือ เดินต่อ เป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างผู้จัดกับผู้ชุมนุม ขณะที่การ์ดของผู้ชุมนุมบางส่วนแจกจ่ายหมวกกันน็อคที่มีคนนำมาบริจาค ขณะที่การ์ดบางส่วนนำเทปกาวไปติดชื่อและสถาบันการศึกษาบนเครื่องแบบของนักเรียนที่มาร่วมชุมนุม
 
เวลาประมาณ 17.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศด้วยลำโพงว่า การชุมนุมวันนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีการแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า และได้นำประกาศเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ลงนามโดยผู้กำกับการสน.ปทุมวันมามอบให้คณะผู้จัดการชุมนุมด้วย โดยหนังสือดังกล่าวระบุให้ยุติการชุมนุมภายในเวลา 17.30 น.
 
เวลา 18.00 น. ผู้ชุมนุมยืนร้องเพลงชาติชูสามนิ้วร่วมกันจากนั้นจึงเริ่มเดินเท้าไปที่สถานทูตโดยใช้เวลาประมาณ 40 นาทีหัวขบวนจึงไปถึงที่หน้าสถานทูต
 
ตัวแทนผู้ชุมนุมยื่นหนังสือต่อตัวแทนสถานทูตเยอรมนีในเวลาประมาณ 19.30 น. จากนั้นจึงอ่านแถลงการณ์ 3 ภาษา ในเวลาประมาณ 19.50 น. ซึ่งพอสรุปได้ว่า
 
ตามที่ราษฎรมีข้อเรียกร้องสามประการ คือ พล.อ.ประยุทธ์และองคาพยพต้องลาออก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และได้ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกภายใน 3 วัน บัดนี้ผ่านไป 4 วันแล้ว รัฐบาลเผด็จการไม่ฟังเสียงของราษฎร และจับกุมราษฎรที่พูดความจริงไปคุมขัง และมีการใช้กำลังเช่นฉีดกระสุนน้ำใส่การชุมนุมของราษฎร
 
ในวันนี้ราษฎรจึงมาชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีเพื่อขอให้ทางการเยอรมนีตรวจสอบว่า มีการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยเหนือดินแดนเยอรมันหรือไม่ โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวหวังเพียงให้สถาบันอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
 
อรรถพลหรือ "ครูใหญ่" กลุ่มขอนแก่นพอกันทีปราศรัยตอนหนึ่งว่า รัฐบาลประยุทธ์คือผู้ดึงสถาบันเข้ามาในการเมืองโดยขยายอำนาจให้กว้าง ไม่ใช่ประชาชน และไม่มีรัฐบาลประเทศใดที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในประเทศแล้วไม่มีการตั้งผู้สำเร็๋จราชการแทนพระองค์
 
ขณะที่ภัสราวลี อ่านจดหมายเปิดผนึกตอนหนึ่งว่า ขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและเปิดเผยประวัติการเดินทางเพื่อให้ได้รู้ว่า มีการใช้อำนาจอธิปไตยในแผ่นดินเยอรมนีหรือไม่ เช่น การลงพระปรมาภิไธย พ.ร.บ.งบประประมาณ 2564 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 เป็นต้น เนื่องจาก รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมันตอบกระทู้ในรัฐสภาเยอรมนีว่า หากปรากฏว่า มีการใช้อำนาจอธิปไตยของประมุขต่างประเทศในดินแดนของเยอรมนี จะคัดค้านอย่างถึงที่สุด
 
การปราศรัยดำเนินไปถึงเวลาประมาณ 21.00 น. ภัสราวลีก็ประกาศยุติการชุมนุมก่อนที่ผู้ร่วมชุมนุมจะทยอยเดินทางกลับโดยไม่มีรายงานเหตุวุ่นวาย
 
27 ตุลาคม 2563
 
ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ตำรวจอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 เนื่องจากพบการกระทำความผิด ตั้งแต่การรวมตัวกันที่บริเวณสามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งตำรวจนครบาลปทุมวัน ได้แจ้งให้ยุติการชุมนุม แต่ยังมีการฝ่าฝืนชุมนุมต่อเนื่องไปจนถึงเคลื่อนขบวนตามถนนพระราม 4 ถึงแยกวิทยุ เข้าถ.สาธรใต้ ถึงหน้าสถานทูตเยอรมนี ซึ่งตำรวจได้มีการบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นหลักฐานแล้ว
 
นอกจากนี้ ยังเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ส่วนความผิดอื่น เช่น การขึ้นเวทีปราศรัย หากพบเข้าข่ายยุยงให้เกิดความวุ่นวาย หรือหมิ่นประมาท ให้ร้ายหรือประทุษร้าย ก็จะเป็นความผิดเพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เนื่องจาก มีการกระทำความผิดต่อเนื่องกันหลายพื้นที่
 
29 ตุลาคม 2563
 
เดอะโมเมนต์ทัม รายงานว่า หลังทำการรวบรวมพยานหลักฐาน พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆร้องขอต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อให้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาคดีนี้รวมห้าคนได้แก่ ภัสราวลี  กรกช ชนินทร์ ชลธิศ และเบนจา ในความผิดฐานร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ จากกรณีเป็นแกนนำในการชุมนุม
 
ต่อมาศาลนัดไต่สวนคำร้องขอหมายจับที่ พ.ต.อ.พิทักษ์ สุทธิกุล รักษาราชการแทน ผู้กำกับสน.ทุ่งมหาเมฆ เป็นผู้ยื่น และได้ยกคำร้องดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า  ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษา การชุมนุมระยะเวลาสั้นยังไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี ประกอบกับผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงเห็นควรให้ผู้ร้อง(ตำรวจ)ไปดำเนินการออกหมายเรียกก่อน ในชั้นนี้ให้ยกคำร้อง
 
5 พฤศจิกายน 2563 
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าภัสราวลีเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หลังได้รับหมายเรียกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  โดยมติชนออนไลน์รายงานในเวลาต่อมาว่าในวันนี้นอกจากภัสราวลียังมีผู้ต้องหาคนอื่นได้แก่ กรกช ชนินทร์ ชลธิศ เบนจา วัชรากร และ ณวรรษ เข้ารายงานตัวด้วย 
 
19 พฤศจิกายน 2563
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า อรรถพลเข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แล้ว โดยเขานับเป็นผู้ต้องหาคนที่แปดที่ถูกออกหมายเรียก
 
8 ธันวาคม 2563
 
ประชาไทรายงานว่า หลังพนักงานสอบสวนสน.ทุ่งมหาเมฆออกหมายเรียกนักกิจกรรมมารับทราบข้อกล่าวหารวม 13 คนให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติม

ในวันนี้มีนักกิจกรรมเก้าจาก 13 คน เดินทางเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน ได้แก่ ได้แก่ ภัสราวลี กรกช ชนินทร์ ชลธิศ เบนจา วัชรากร อัครพล และ "โจเซฟ" และ ณวรรษ เข้ารายงานตัวโดยผู้ต้องหาทุกคนยกเว้นณวรรษเข้ารายงานตัวในช่วงเช้าส่วนณวรรษเข้ารายงานตัวในช่วงบ่าย ขณะที่ผู้ต้องหาอีกสี่คนคืออรรถพล รวิศรา สุธินีและ "เอ" ขอเข้ารายงานตัวในวันถัดไป 
 
ในทางคดีผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธและได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการรายงานตัวโดยพนักงานสอบสวนไม่ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาล 
 
7 มกราคม 2564
 
ตามที่พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนให้อัยการในวันนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ทยอยมาถึงที่หน้าสน.ทุ่งมหาเมฆตั้งแต่ก่อนเวลา 10.00 น. โดยมีประชาชนอย่างน้อย 20 คนติดตามมาให้กำลังใจ ขณะเดียวกันนักกิจกรรมบางส่วนที่มาให้กำลังใจเพื่อนๆก็ได้ทำป้ายกระดาษเอสี่พิมพ์ข้อความ อาทิ

"การยัดเยียด ม. 112 โดยเจ้าพนักงานไม่ใช้วิจารณญาณและไร้สำนึกนั่นแหละเป็นการยุยงให้ราษฎรอาฆาตมาดร้าย "สถาบัน" เจ้าพนักงานควรโดน ม.112 ไม่ใช่ "ราษฎร" "

รวมทั้งป้ายข้อความอื่นๆมาติดทั้งที่ตัวอาคารสถานีตำรวจ ป้ายสถานีตำรวจและรถตำรวจที่จอดอยู่บริเวณดังกล่าว
 
จากนั้นในเวลา 10.30 น. ผู้ต้องหาทั้ง 13 คนทยอยแบ่งกลุ่มเดินเข้าไปรายงานตัวข้อกล่าวหาในสถานีตำรวจเพื่อปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่าง เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังทำสำนวนไม่แล้วเสร็จ

ในวันนี้ผู้ต้องหาทั้ง 13 คนจึงเพียงแต่ลงชื่อว่ามารายงานตัวตามนัด จากนั้นพนักงานสอบสวนนัดหมายผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ส่งตัวให้อัยการในวันที่ 22 มกราคม 2564 
 
17 กุมภาพันธ์ 2564
 
อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 25 มีนาคม 2564
 
25 มีนาคม 2564
 
อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีเป็นวันที่ 13 พฤษภาคม 2564
 
13 พฤษภาคม 2564
 
อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีเป็นวันที่ 22 มิถุนายน 2564
 
22 มิถุนายน 2564
 
นัดฟังคำสั่งคดี
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า อัยกาเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาบางส่วนจึงทำหนังสือส่งไปผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอยู่ระหว่างรอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีความเห็น
 
22 กรกฎาคม 2564
 
นัดฟังคำสั่งคดี
 
อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ต่อศาลอาญากรุงเทพ 
 
11 ตุลาคม 2564
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ว๊อยซ์ทีวีออนไลน์รายงานว่า ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เนื่องจากเบิกตัว เบนจา หนึ่งในจำเลยที่เพิ่งถูกคุมขังในชั้นสอบสวนคดีอื่น มาวีดีโอคอนเฟอร์เรนไม่ได้ เพราะเบนจาถูกคุมตัวในแดนกักโรค 
 
ระหว่างการพิจารณาคดีนัดนี้ โจเซฟ ลุกขึ้นแถลงต่อศาลขอให้ปล่อยตัวเบนจา จำเลยคดีนี้ที่ถูกคุมขังในชั้นสอบสวนในคดีมาตรา 112 คดีอื่นที่ศษลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว จากนั้นโจเซฟใช้มีดคัตเตอร์กรีดเลือดตัวเองเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นเหตุให้เขาถูกตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลในเวลาต่อมา 
 
25 ตุลาคม 2564
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 17 ธันวาคม 2564 เนื่องจากอัยการเจ้าของสำนวนต้องกักตัวควบคุมโรคโควิด19เพราะไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อในสำนักงานอัยการ 
 
กรกช หนึ่งในจำเลยคดีนี้เล่าว่าวันนี้ศาลตรวจของมีคมก่อนเข้าห้องพิจารณษคดีอย่างเข้มงวดเพราะในนัดก่อนโจเซฟ หนึ่งในจำเลยเคยใช้คัตเตอร์กรีดแขนประท้วงกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวทนายอานนท์ที่ถูกคุมขังในคดีอื่นและเบนจา จำเลยในคดีนี้ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีอื่น
 
ก่อนการพิจารณาคดีในวันนี้ จำเลยในคดีนี้บางคนยังร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์กับกลุ่มนักกิจกรรมที่มาให้กำลังใจที่หน้าศาลด้วย โดยในกิจกรรมดังกล่าวจำเลยในคดีนี้บางส่วนจะนั่งคุกเข่าบนผืนผ้าใบและมีนักกิจกรรมอีกคนนึ่งนำสีแดงมาสาดเพื่อสื่อสารว่าประชาชนต้องเสียเลือดอีกเท่าไหร่กว่าจะได้รับความยุติธรรม
 
17 ธันวาคม 2565
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า จำเลยทั้ง 13 ราย โดยมีเบนจา อะปัญ ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำ ยืนยันให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยแถลงไม่สามารถรับข้อเท็จจริงกันได้ จึงไม่มีการตัดพยานและนำพยานเข้าสืบทุกปาก
 
อัยการโจทก์แถลงจะสืบพยาน จำนวน 29 ปาก ซึ่งพยานแต่ละคนจะเบิกความถึงการกระทำของจำเลยทั้งสิบสามคน รวมถึงพยานเอกสารและวัตถุพยานอีกหลายรายการ ด้านฝ่ายจําเลยแถลงขอนําสืบพยานจําเลยทั้งหมดร่วมกัน จํานวน 23 ปาก และยื่นพยานเอกสารกับวัตถุพยานหลายรายการเช่นกัน 
 
อย่างไรก็ตาม ศาลได้แจ้งกับทนายจำเลยว่า ไม่สามารถนำพยานเอกสารบางรายการเข้าสืบได้ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกประเทศของรัชกาลที่ 10 จากสามหน่วยงาน คือ การบินไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสถานกงสุลใหญ่นครมิวนิค, ข้อมูลงบประมาณการใช้จ่ายของหน่วยงานราชการในพระองค์ รวมไปถึงพยานบุคคลที่ศาลสั่งไม่ให้ออกหมายเรียกมานำสืบ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
 
ศาลเห็นว่าพยานเอกสารเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นคดี เนื่องจากในคดีนี้ ศาลไม่ได้จะพิสูจน์ว่าคำพูดปราศัยของจำเลยนั้นเป็นจริงหรือเท็จ แต่จะพิสูจน์ว่าคำปราศัยของจำเลยนั้นเข้าข่ายองค์ประกอบข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่
 
ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของศาลภายใน 8 วัน ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้ยื่นคำคัดค้านภายใน 8 วันนับตั้งแต่วันนี้ หากไม่ยื่น ถือว่าไม่ติดใจ
 
ทั้งนี้ ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานรวมทั้งหมด 13 นัด เป็นนัดสืบพยานโจทก์ 7 นัด เป็นวันที่ 2-3, 7-10, 14 มีนาคม 2566 และนัดสืบพยานจำเลย 6 นัด เป็นวันที่ 15-17, 21-23 มีนาคม 2566

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา