พริษฐ์: ใส่ครอปท็อปเดินพารากอน

อัปเดตล่าสุด: 11/01/2565

ผู้ต้องหา

พริษฐ์

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี

สารบัญ

วันที่ 20 ธันวาคม 2563 พริษฐ์, ปนัสยา, ภาณุพงศ์ และเบนจา นัดทำกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป โดยสวมชุดครอปท็อปไปเดินห้างสยามพารากอน

พริษฐ์ให้สัมภาษณ์ว่า กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อยืนยันว่าการแต่งชุดครอปท็อปไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย เนื่องจากก่อนหน้านี้มีกรณีเยาวชนสวมชุดครอปท็อปเข้าร่วมกิจกรรมเดินแฟชั่นที่สีลม ช่วงเดือนตุลาคม 2563 แล้วตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 
 
พริษฐ์ , ปนัสยา , เบนจา และภาณุพงศ์ ซึ่งร่วมกิจกรรมดังกล่าวถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  โดยทั้งหมดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ปทุมวันเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 นอกจากผู้ต้องหาทั้งสี่คนในคดีนี้พนักงานสอบสวนยังออกหมายเรียกเยาวชนที่ร่วมเดินอีกสองคนมารับทราบข้อกล่าวหาด้วย

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พริษฐ์ หรือเพนกวิน เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ใช้ชีวิตวัยเด็กที่จังหวัดลำปาง พริษฐ์เป็นอดีตเลขาธิการของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งทำงานรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีความก้าวหน้า เป็นผู้ก่อตั้งสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และเป็นแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ขณะเกิดเหตุคดีนี้พริษฐ์ศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
 
ปนัสยา หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หัวหน้าพรรคโดมปฏิวัติ กลุ่มกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
ภาณุพงศ์ หรือ ไมค์ ที่รู้จักกันในนาม "ไมค์ ระยอง" เป็นแกนนำกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย มีชื่อเสียงครั้งแรกจากการไปชูป้ายขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อลงพื้นที่ที่จังหวัดระยองและถูกตำรวจใช้กำลังจับกุมตัวโดยอ้างมาตรการป้องกันโรคโควิด19
 
เบนจา สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องของอัยการพอสรุปได้ว่า

ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ในวันที่ 19 ธันวาคม 2563 เวลา 19.16 น. เพจเฟซบุ๊ก “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม-United Front of Thammasat and Demonstration” โพสต์ข้อความเชิญชวนให้ประชาชนสวมเสื้อครอปท็อปไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการสวมเสื้อครอปท็อป หรือชุดไทยเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ โพสต์ดังกล่าวยังแนบภาพประกอบเป็นภาพชายหญิงสองคนสวมเสื้อครอปท็อปและแว่นตาดำไว้ด้วย

จากนั้นเวลา 19.24 น. เฟซบุ๊กของพริษฐ์ยังโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนในลักษณะเดียวกันด้วย
 
จากนั้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 จำเลยทั้งห้ารวมเยาวชนอีกสองคนทำกิจกรรมตามที่ได้มีการนัดหมายไว้ดังข้างต้น โดยการกระทำของจำเลยเป็นการสื่อให้บุคคลที่สามเข้าใจว่า กลุ่มของจำเลยร่วมกันล้อเลียนพระมหากษัตริย์รัชกาลที่สิบและสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการร่วมกันแต่งชุดครอปท็อปและแสดงอิริยาบถหรือกล่าวคำพูดในลักษณะเป็นการเสียดสีพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์
 
พริษฐ์เขียนข้อความบนร่างกายบริเวณเอวในลักษณะที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้หมกมุ่นในเรื่องเพศและเขียนข้อความบริเวณหน้าท้องในลักษณะที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงประพฤติเสื่อมเสียในทางชู้สาว โดยข้อความข้างต้นแม้ไม่ได้เอ่ยพระนามออกมาอย่างชัดเจนแต่ก็ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าหมายถึงบุคคลใดและทำให้ทั้งสองพระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติได้
 
บนร่างกายของปนัสยาเขียนข้อความในลักษณะเป็นการเสียดสี ไม่ให้ความเคารพต่อพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นดั่งพระบิดาของปวงชนชาวไทยและมีข้อความที่เขียนในลักษณะเสียดสีพระนามของรัชกาลที่สิบเมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชที่ประชาชนทั่วไปเรียกขานพระองค์แบบไม่เป็นทางการว่าสมเด็จเจ้าฟ้าชาย นอกจากนั้นปนัสยายังทำกิริยาในลักษณะเป็นการท้าทายเย้ยหยันด้วย 
 
เบนจาเขียนข้อความตามร่างกายในลักษณะเสียดสีและเป็นการไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นดั่งพระบิดาของปวงชนชาวไทยโดยข้อความดังกล่าวปรากฎพระนามของรัชกาลที่สิบอย่างชัดเจนด้วย นอกจากนั้นยังมีข้อความที่เขียนในลักษณะเหยียดหยาม ดูหมิ่น รัชกาลที่สิบด้วย นอกจากนั้นเบนจายังแสดงท่าทางถือพานทองที่มีกระเป๋าวางอยู่ด้านบนเดินตามพริษฐ์และปนัสยาอยู่ตลอดเวลาในลักษณะเสมือนตนเองเป็นหนึ่งในข้าราชบริพารด้วย
 
ภวัตร่วมทำกิจกรรมโดยพูดว่า “ทรงพระเจริญ” พร้อมทั้งยกมือไหว้และมอบดอกไม้ให้กับพริษฐ์และปนัสยา ถือเป็นการเจตนาล้อเลียนว่าตนเองเป็นประชาชนที่มารับเสด็จ ส่วนภาณุพงศ์ก็แสดงออกในลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย
 
ระหว่างการทำกิจกรรม พริษฐ์ยังเปิดรูปภาพบุคคลแต่งกายด้วยชุดคร็อปท้อปและกล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์ทรงฉลองพระองค์ในลักษณะที่ไม่เหมาะสมด้วย 
 
การกระทำของจำเลยทั้งห้า เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมือง โดยมีเจตนาร่วมกันที่จะมุ่งหมายทำลายสถาบันกษัตริย์ให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ทำให้ประชาชนทั่วไปเสื่อมเสียศรัทธาและความเคารพ เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

พฤติการณ์การจับกุม

ผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก จึงไม่มีการจับกุมตัวบุคคลใด หลังเสร็จขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.1180/2564

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ภาพ cover จากทวิตเตอร์ ของพริษฐ์

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
20 ธันวาคม 2563 
 
ว็อยซ์ทีวีออนไลน์รายงานว่า ในเวลาประมาณ 17.00 น. พริษฐ์ และบุคคลอื่นรวมสี่คน แต่งกายด้วยชุดครอปท็อปไปเดินในศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยมีประชาชนบางส่วนร่วมถ่ายภาพ และให้กำลังใจ ด้วยการชูสามนิ้วและมีสื่อมวลชนหลายสำนักรวมทั้งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามถ่ายภาพและตลอดกิจกรรม
 
พริษฐ์ กล่าวถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นว่า เป็นไปเพื่อยืนยันว่าการสวมชุดครอปท็อปไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย เนื่องจากก่อนหน้านี้มีกรณี เยาวชนอายุ 16 ปี สวมชุดครอปท็อปพร้อมเขียนตัวเองด้วยข้อความว่า "พ่อกูชื่อมานะ" ร่วมกิจกรรมเดินแฟชั่นที่ถนนสีลม ในเดือนตุลาคม 2563 แล้วถูกดำเนินคดีมาตรา 112 พริษฐ์กับพวกจึงทำกิจกรรมนี้เพื่อยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย
 
 20 มกราคม 2564 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  รายงานว่า พริษฐ์ , ปนัสยา, เบนจา และภาณุพงศ์ รวมถึงผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปีอีกสองคน เดินทางไปที่สน.ปทุมวัน เพื่อเข้าพบพนักงานสอบสวนหลังถูกออกหมายเรียกในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ก่อนที่ผู้ต้องหาทั้งหมดจะเข้ารายงานตัวในสน.ปทุมวัน มีผู้นำป้ายไวนิลข้อความ “ยาไม่จับ บ่อนไม่จับ จับแต่นักเรียน นักศึกษา” มาติดที่รั้วด้านหน้าสน. แต่ตำรวจสองนายพยายามเข้ายึด ผู้ที่นำป้ายมาและประชาชนอีกส่วนหนึ่งจึงนำป้ายมาถือให้ผู้สื่อข่าวถ่ายภาพแทน ก่อนนำป้ายไปติดที่รั้วฝั่งตรงข้ามสถานีตำรวจ ที่หน้าสน.ยังมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการอุ้มหายผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วย
 
ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวน และแถลงว่าจะยื่นคำให้การเป็นเอกสารภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 
 
พริษฐ์ยังขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นพยานเพื่อให้การว่ารัชกาลที่สิบเคยมีพระราชดำรัสไม่ให้ใช้มาตรา 112 จริงหรือไม่ และได้มีพระราชดำรัสเป็นอย่างอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ และ ให้เรียกพล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง มาสอบปากคำในประเด็นว่า รัชกาลที่สิบได้มีพระราชดำรัสกับ พล.อ.ประยุทธ์ จริงหรือไม่
 
หลังเสร็จขั้นตอนพนักงานสอบสวนปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสี่โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์และนัดส่งสำนวนให้อัยการในวันที่1 มีนาคม 2564
 
29 มิถุนายน 2564
 
สยามรัฐออนไลน์รายงานว่า อัยการมีความเห็นสั่งพริษฐ์ ปนัสยา เบนจา ภวัต และภาณุพงศ์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ คำฟ้องของอัยการพอสรุปได้ว่า  
 
ระหว่างวันที่ 18- 20 ธันวาคม 2563 จำเลยร่วมกันกระทำผิดโดยพริษฐ์ และ ปนัสยา จำเลยที่หนึ่งและสองซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุม ได้โพสต์ข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเฟซบุ๊กส่วนตัว เชิญชวนให้ประชาชน มาร่วมกิจกรรม สวมเสื้อผ้า คล็อปท็อบ (Crop Top) ชุดเสื้อกล้ามเอวลอย แล้วไปเดินที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 
 
เมื่อถึงวันนัดหมายจำเลยทั้งห้าสวมชุดเสื้อกล้ามเอวลอยเขียนข้อความที่แขนและบริเวณเอว ยกเลิก112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและข้อความล้อเลียน อื่น ๆ ซึ่งมีเจตนามุ่งหมายทำลายสถาบันกษัตริย์ให้เสื่อมเสียพระเกียรติ โดยมีแนวร่วมและผู้ชุมนุมจำนวนมาก ก่อนที่สน.ปทุมวันได้แจ้งข้อดำเนินคดีกับพวกจำเลย โดยชั้นสอบสวนพวกจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
 
ในวันที่อัยการส่งสำนวนคดีฟ้องต่อศาล เบนจาและภวัตเดินทางมาศาล ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้ทั้งสองปล่อยตัวชั่วคราวโดยตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการใดๆในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องอันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดหรือการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และให้มาศาลตามกำหนดนัดอย่างเคร่งครัด
 
สำหรับพริษฐ์ ปนัสยา และ ภาณุพงศ์ ขณะที่อัยการฟ้องคดีต่อศาลจำเลยทั้งสามอยู่ในการควบคุมตัวของศาลอาญา จึงให้นายประกันของจำเลยทั้งสาม นำตัวจำเลยทั้งสามมารายงานตัวต่อศาลในนัดสอบคำให้การวันที่ 2 สิงหาคม 2564
15 พฤศจิกายน 2564
 
นัดสอบคำให้การ

ในนัดนี้มีจำเลยมาศาลเพียงสองคนคือปนัสยาและภวัตส่วนพริษฐ์ ภาณุพงศ์ และเบนจา ซึ่งถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีมาตรา 112 คดีอื่น ไม่ได้ถูกเบิกตัวมาที่ศาล
 
สำหรับปนัสยาในนัดนี้เธอต้องทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากในวันที่อัยการฟ้องคดีเธอไม่ได้ถูกนำตัวมาที่ศาล ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเตรียมหลักทรัพย์เป็นเงิน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์มาวางต่อศาล
 
ในเวลาประมาณ 17.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปนัสยาโดยอ้างเหตุว่าจำเลยเคยกระทำการในลักษณะทำนองเดียวกับคดีนี้มาแล้วหลายคดี จำเลยซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของศาลอาญาก็ไปกระทำผิดซ้ำ ซึ่งเป็นการละเมิดข้อห้ามของศาลอาญา จนอัยการเคยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสัญญาประกัน หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยอาจไปทำการในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีกจึงให้ยกคำร้อง   

1 ธันวาคม 2564

เดอะแสตนดาร์ดรายงานว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวปนัสยาโดยตีราคาประกัน 200,000 บาท ทนายความของปนัสยาจึงนำเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์มาวางเป็นหลักประกันต่อศาล ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังกำหนดเงื่อนไขตามสัญญาประกันในคดีนี้ในลักษณะเดียวกับที่ศาลอาญากำหนดเงื่อนไขให้กับปนัสยาในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนด้วย 

สำหรับเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของปนัสยาที่ศาลอาญากำหนดและศาลอาญากรุงเทพใต้ได้วางเงื่อนไขในลักษณะเดียวกัน ได้แก่ 

ห้ามทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง ยกเว้นเดินทางไปสอบ ไปสถานพยาบาล หรือไปตามนัดพิจารณาคดี ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา