นรินทร์: ติดสติกเกอร์ “กูkult” บนพระบรมฉายาลักษณ์

อัปเดตล่าสุด: 22/10/2565

ผู้ต้องหา

นรินทร์

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

นรินทร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนนำสติกเกอร์คำว่า “กูkult” ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 บริเวณสนามหลวง ระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ในวันที่ 19 กันยายน 2563 เขาถูกตำรวจออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นรินทร์ ผู้ถูกอ้างว่าเป็นหนึ่งในทีมงานเพจ กู Kult นอกจากคดีนี้ นรินทร์ยังถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพ์ฯ อีก 1 คดี จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “กูKult” โพสต์รูปตัดต่อ-เสียดสี ร.9 และ ร.10 รวม 12 โพสต์ ในเดือนสิงหาคม 2562 โดยในครั้งนั้น เขาเคยถูกตำรวจบุกค้นบ้านและจับกุมตัวเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องระบุว่า วันที่ 19 กันยายน 2563 เวลากลางคืน จำเลยกระทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ด้วยการนำสติกเกอร์ข้อความว่า #กูkult ไปติดที่บริเวณพระเนตรบนพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 เป็นการกระทำมิบังควร…ให้ระคายเคืองเบื่องพระยุคลบาท ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลายพระให้กษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนขาวไทย  ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

พฤติการณ์การจับกุม

นรินทร์เข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก จึงไม่มีการจับกุมตัว  หลังจากรับทราบข้อกล่าวหา ตำรวจปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
19 กันยายน 2563
 
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดการชุมนุม “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์และสนามหลวง สำนักข่าวประชาไทรายงานว่าได้ทราบเหตุจากเจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวนว่า ในวันนั้นเวลาประมาณ 19.00 น. ขณะที่กิจกรรมชุมนุมบนเวทีปราศรัยดำเนินไปภายในท้องสนามหลวง มีบุคคลนําสติกเกอร์มีอักษร คําว่า “กูkult” ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ตั้งอยู่บริเวณประตูทางเข้าของศาลฎีกา จึงออกทําการสืบสวนติดตามหาตัวบุคคลที่นําสติกเกอร์ดังกล่าวไปติด 
 
 
20 กันยายน 2563
 
จากคำสัมภาษณ์ของนรินทร์ ตอนเช้าหลังจากยุติการชุมนุมที่สนามหลวง ขณะที่นรินทร์กำลังเดินกลับจากพื้นที่ชุมนุมได้มีบุคคลอ้างตัวว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาล้อมหน้าล้อมหลัง บริเวณร้านพรชัยเบเกอรี่ หลังถนนข้าวสาร เพื่อจะขอดูหน้าตา ดูอัตลักษณ์ และจดชื่อที่อยู่ไปโดยไม่แจ้งเหตุว่าเขาทำอะไรผิด
 
18 ธันวาคม 2563
 
เฟซบุ๊กเพจ ศิลปะปลดแอก – FreeArts เผยแพร่ข้อมูลว่า หนึ่งในทีมงานเพจ กู Kult ถูกออกหมายเรียกจากทางตำรวจ ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ที่สถานีตำรวจ ชนะสงคราม ในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 เวลา 13.00 น.
 
22 ธันวาคม 2563
 
เวลาประมาณ 12.50 น. นรินทร์ เดินทางมาถึง สน.ชนะสงครามโดยสวมหน้ากาก ‘กาย ฟอว์กส์’ จากหนังเรื่อง V for Vendetta เพื่อปิดบังอัตลักษณ์ใบหน้า
 
เวลาประมาณ 12.55 น. ทนายความและนรินทร์เดินเข้าอาคาร สน.ชนะสงครามเพื่อเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา และให้การกับพนักงานสอบสวน โดยบริเวณหน้าประตูอาคาร ตำรวจทำการกั้นรั้วและอนุญาตให้เฉพาะคนที่มาติดต่อราชการเท่านั้นจึงจะเข้าไปในสถานีตำรวจได้ บรรยากาศโดยรอบเป็นไปอย่างผ่อนคลาย มีคนมาให้กำลังใจอยู่ประมาณ 5-6 คน มีสื่อมวลชน 2-3 คน และมีตำรวจนอกเครื่องแบบอยู่ประมาณ 10 คน
 
เวลาประมาณ 14.13 น. นรินทร์ออกมาจาก สน. หลังจากรับทราบข้อกล่าวหา นรินทร์ได้ให้การปฏิเสธตำรวจปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน และจะให้การเป็นหนังสือและ/หรือยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมในภายหลัง นัดส่งตัวให้อัยการวันที่ 22 มกราคม 2564
 
 
2 กุมภาพันธ์ 2564 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
เลื่อนไปในวันที่ 4 มีนาคม 64 เวลา 10.00 น. เนื่องจากต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณา

 

 

22-24 กุมภาพันธ์ 
นัดสืบพยานโจทก์
 
1 มีนาคม 2565
นัดสืบพยานจำเลย
 
4 มีนาคม 2565
นัดฟังคำพิพากษา
 
เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดนรินทร์ฟังคำพิพากษา มีคำพิพากษาว่า การที่จำเลยนำสติกเกอร์ไปติดคาดพระเนตรบนพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่สิบ เป็นการแสดงตนให้ยิ่งใหญ่เหนือกว่า แม้จะกระทำต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ก็เป็นการดูหมิ่นต่อองค์พระมหากษัตริย์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี การไปร้องทุกข์ต่อตำรวจสน.ชนะสงครามของนรินทร์เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษจำคุกให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี
 
หลังศาลมีคำพิพากษา ทนายจำเลยใช้เงินสด 100,000 บาท จากกองทุน ดา ตอร์ปิโด ซึ่งเป็นหลักทรัพย์เดิมที่ใช้วางประกันต่อศาลชั้นต้นขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญามีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวนรินทร์ระหว่างอุทธรณ์คดี โดยนรินทร์ได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 11.08 น. 
 
สำหรับบรรยากาศตั้งแต่เวลา 7.30 น. นรินทร์พร้อมด้วยพี่ชายเดินทางมาถึงศาลอาญา นรินทร์เล่าว่า วันนี้จะมีเพื่อนๆและนักกิจกรรมมาร่วมให้กำลังใจ เมื่อวานนี้เขาได้เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เรือนจำแล้ว เช่น เคลียร์งาน พูดคุยกับครอบครัว ดูนิทรรศการศิลปะครั้งสุดท้ายและเล่นกับสุนัขของเขา
 
เวลา 08.20 น. ตำรวจศาลเข้ามาคุยกับผู้สังเกตการณ์จากไอลอว์ที่กำลังสัมภาษณ์นรินทร์บริเวณข้างโรงอาหารศาลว่า วันนี้สามารถเข้าสังเกตการณ์คดีได้ตามปกติ ถ้าคนมาให้กำลังใจไม่เยอะเกินไปก็สามารถเข้าไปภายในห้องพิจารณาคดีได้ แต่ให้รักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัยกันทุกคน ถ้าขาดเหลืออะไรให้บอกได้ จากนั้นตำรวจศาลนรินทร์ว่า เขาจะสวมหน้ากากขาวที่เขาสวมเป็นประจำเข้าศาลหรือไม่ เมื่อนรินทร์ตอบว่าจะไม่สวมเข้าศาล ตำรวจศาลก็ไม่ว่าอะไร และบอกว่าที่มาคุยเพราะ ‘เลขาศาล’ ขอให้ช่วยดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ศาล แต่ถ้าคนที่มาให้กำลังใจไม่ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในบริเวณศาลก็ไม่มีปัญหาอะไร
 
สำหรับการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณศาลในวันนี้ ไม่ปรากฏการตั้งด่านตรวจสอบผู้เข้าออกศาลอาญาที่บริเวณลานจอดรถใกล้กับธนาคารกรุงไทย
 
เวลา 9.00 น. นรินทร์พร้อมพี่ชายของเขากับทนายความ รวมทั้งผู้มาให้กำลังใจประมาณ 20 คน มีทั้งนักกิจกรรม เช่น ศรีไพร นนทรี, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลและเบนจา อะปัญ และผู้สังเกตการณ์จากไอลอว์และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าไปพร้อมกันที่ห้องพิจารณาคดีที่ 710 เพื่อรอฟังคำพิพากษา 
.
เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่า ให้เข้าห้องพิจารณาคดีเท่าที่เข้าได้แบบเว้นระยะห่าง เพราะในห้องพิจารณาคดีมีการพิจารณาคดีอื่นด้วย และต้องระมัดระวังเรื่องโควิด 19 ท้ายสุดในห้องพิจารณาคดีมีคนที่สามารถเข้าฟังคำพิพากษาคดีของนรินทร์ได้ประมาณ 15 คน ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
 
เวลา 09.15 น. ศาลในคดีอื่นเริ่มการสืบพยานในคดีอื่นไปก่อน ผู้พิพากษาในคดีนรินทร์ออกนั่งบัลลังก์ในภายหลัง 
 
เวลา 09.25 น. ผู้พิพากษาคดีของนรินทร์กล่าวในห้องพิจารณาคดีว่า ตามที่ได้มีการแจ้งขอจดรายละเอียดคำพิพากษา ศาลไม่อนุญาตให้จดเนื่องจากหากจดไปไม่ครบถ้วนจะเกิดปัญหาได้ แต่ตามระเบียบแล้วเมื่อศาลอ่านคำพิพากษา จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ คู่ความสามารถคัดถ่ายเอกสารได้เลย
 
จากนั้น เวลา 9.40 น. ศาลจึงเริ่มอ่านคำพากษา เริ่มจากส่วนคำฟ้องตามด้วยเนื้อหาการนำสืบและบทพิเคราะห์ของศาล 
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

คดีนี้โจทก์นำสืบพยานเป็นตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อมาเวลา 19.00 น. ปรากฏภาพสติกเกอร์ กูkult ที่พระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าประตู 1 ของศาลฎีกา โดยสติกเกอร์ติดที่บริเวณพระเนตร ตำรวจทำการตรวจสอบกล้องวงจรปิด เห็นรูปพรรณสัณฐานการแต่งตัวของผู้ติดสติกเกอร์ทั้งสีของเสื้อและกางเกง และเห็นว่าบุคคลดังกล่าวสวมหมวกปีกไม่กว้างนักและสวมหน้ากากอนามัยสีชมพู เบื้องต้นตำรวจเชื่อว่าผู้ก่อเหตุยังอยู่ในพื้นที่ชุมนุม
 
วันถัดมาจำเลยข้ามถนนที่แยกคอกวัว จากฝั่งอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาไปยังถนนตะนาว ตำรวจสะกดรอยตามไป จำเลยเดินและล้ม ตำรวจเข้าแสดงตัว พร้อมเสนอความช่วยเหลือ แต่จำเลยปฏิเสธ เวลา 13.00 น. จำเลยเข้าร้องทุกข์ต่อตำรวจสน.ชนะสงคราม ทำนองว่า มีการคุกคามเกิดขึ้น ตำรวจสอบถามว่า มีเหตุใดก่อนหน้าหรือไม่ จำเลยกล่าวทำนองว่า อาจเพราะเหตุติดสติกเกอร์ที่พระบรมสาทิสลักษณ์ ตำรวจพิมพ์ภาพชายที่ปีนไปติดสติกเกอร์ จำเลยรับว่าเป็นจำเลย จึงให้ลงชื่อไว้ ในเอกสารดังกล่าวเขียนทำนองว่า จำเลยทำไปด้วยความคึกคะนอง รู้เท่าไม่ถึงการณ์และมีอารมณ์ร่วมกับการชุมนุม
 
ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2563 พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับการสน.ชนะสงครามในขณะนั้นออกหมายเรียกให้จำเลยมารายงานตัวเนื่องจากพฤติการณ์ของจำเลยเข้าข่ายการกระทำตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำเลยมารายงานตัววันที่ 20 ธันวาคม 2563 และให้การปฏิเสธ
 
เนื้อหาการสืบพยานโจทก์ไม่ได้มีความขัดแย้งกันและไม่มีเหตุที่พยานจะต้องปรักปรำจำเลย ขณะที่จำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นพิรุธหรือข้อสงสัย ประกอบกับศาลได้ตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดพบว่า รูปพรรณสัณฐานและการแต่งกายตามภาพที่หน้าศาลฎีกาตรงกับภาพที่จำเลยกำลังข้ามถนนที่แยกคอกวัว
 
ในส่วนของพ.ต.ต.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้ตรวจสอบว่า เพจ  กูkult เป็นเพจต่อต้านสถาบันฯ และในส่วนของป้ายพระบรมสาทิสลักษณ์เป็นของหน่วยงานราชการที่จัดไว้เทอดพระเกียรติและมีการติดไฟส่องสว่างเพื่อเทอดพระเกียรติให้สมเกียรติของพระมหากษัตริย์ 
 
ศาลอาญาพิพากษา ว่าการกระทำของกลุ่มบุคคลที่นำสติกเกอร์ไปติดคาดดวงพระเนตรเป็นการแสดงตนให้ยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ แม้จะกระทำต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ก็เป็นการดูหมิ่นต่อองค์พระมหากษัตริย์ เป็นความผิดตามป.อาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี การไปร้องทุกข์ต่อตำรวจสน.ชนะสงครามของนรินทร์เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษจำคุก 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา