อานนท์: การชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย

อัปเดตล่าสุด: 30/08/2564

ผู้ต้องหา

อานนท์

สถานะคดี

ชั้นอัยการ

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 3 สิงหาคม 2563 กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสด จัดการชุมนุม เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย ที่หน้าร้านแม็คโดนัลด์ ถนนราชดำเนิน โดยมีไฮไลท์อยู่ที่การปราศรัยปัญหาทั้งพระราชอำนาจและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยทนายอานนท์ นำภา

ผู้ชุมนุมเลือกใช้วรรณกรรม แฮรี พอตเตอร์ เป็นธีมของการชุมนุมเพื่อสะท้อนกรณีที่การพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยไม่สามารถทำได้อย่างเปิดเผยและเป็นสาธารณะ คล้ายกับวรรณกรรมแฮรี พอตเตอร์ ที่พ่อมดแม่มดในโลกเวทย์มนต์ไม่สามารถพูดชื่อพ่อมดผู้ชั่วร้ายอย่าง ลอร์ด โวเดอร์มอลล์ได้

หลังอานนท์ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการชุมนุมนี้เป็นคนแรก พนักงานสอบสวนก็ทยอยออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมการชุมนุมในวันเดียวกันอีกหกคน มารับทราบข้อกล่าวหา ได้แก่ สุวรรณา ตาลเหล็ก, ชลธิชา แจ้งเร็ว, ภัสราวลี ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ธัชพงษ์ แกดำ, ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ และณรงค์ ดวงแก้ว

ผู้ต้องหาทั้งหกถูกตั้งข้อกล่าวหาพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง แต่ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีทั้งหกจะถูกแยกไปฟ้องคนละศาลกับอานนท์

เนื่องจากข้อกล่าวหาของผู้ต้องหาทั้งหกมีโทษสูงสุดต่ำกว่าโทษจำคุกสามปี จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวง ส่วนโทษจำคุกของข้อหายุยงปลุกปั่นของอานนท์มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินเจ็ดปี คดีของเขาจะอยู่ในอำนาจการพิจารณษของศาลอาญา

ในเวลาต่อมาหลัง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศจะใช้กฎหมายทุกฉบับดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม อานนท์ก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติมอีกหนึ่งข้อหา โดยพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามเข้าไปพบกับเขาในเรือนจำเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อานนท์ นำภา จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา เมื่อประกอบอาชีพ ทนายอานนท์เคยว่าความคดีสิทธิให้ชาวบ้านหลายคดี เช่น คดีชาวบ้านชุมนุมค้านโรงถลุงเหล็ก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านค้านท่อแก๊สที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และคดีความจากการชุมนุมอีกหลายคดี ในเดือนมกราคม 2564 มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ประเทศเกาหลีใต้ ประกาศมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนให้กับอานนท์ 
 
สุวรรณา ตาลเหล็ก เป็นสมาชิกกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เคยถูกดำเนินคดีการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งและคดีชุมนุมปราศรัยที่หน้ากองทัพบก
 
ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด เป็นอดีตสมาชิกของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่เข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ และเป็น 1 ใน 14 ผู้ต้องหาในคดีมาตรา 116 ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่เคยถูกจับกุมและคุมขังในเรือนจำ เป็นเวลา 12 วัน ในปี 2551 ชลธิชาถูกดำเนินคดีจากการร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งรวมสามคดี ได้แก่คดีการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน หน้ากองบัญชาการกองทัพบก และที่หน้าสหประชาชาติ
 
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เป็นสมาชิกกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย เริ่มมีบทบาทในการเคลื่อนไหวช่วงที่มีการจัดแฟลชม็อบนักศึกษาในปี 2563 ภัสราวลีถูกดำเนินคดีมาตรา 112 สามคดี ได้แก่คดีการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมัน คดีการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา และคดีการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564
 
ธัชพงศ์ แกดำ หรือ บอย เป็นนักกิจกรรมทางสังคมและเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรังสิต 
 
ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ เป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลและเป็นหนึ่งในสมาชิกวงสามัญชน  
          
ณรงค์ ดวงแก้ว เป็นนักกิจกรรมทางสังคม
 

ข้อหา / คำสั่ง

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

บันทึกการแจ้งข้อกล่าวงหาเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม จัดทำขึ้นเมื่อพนักงานสอบสวนเข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับอานนท์ ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ สรุปได้ว่า
 
จากกรณีที่ผู้ต้องหาถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ข้อหาเป็นผู้จัดการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 ฉบับที่ 5 ข้อ 2(2) ฉบับที่ 13 ข้อ 1 และ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่องการห้ามชุมนุม ทำกิจกรรม และการมั่วสุม
 
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับผู้ต้องหาเพิ่มเติม โดยผู้ต้องหามีพฤติการณ์คือ
 
ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 เวลา 9.58 น. ผู้ต้องหาโพสต์ข้อความว่าปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ควรพูดอย่างตรงไปตรงมา และพูดในที่สาธารณะ
 
จากนั้นในเวลา 10.43 น. ผู้ต้องหาโพสต์ข้อความแนะนำให้ผู้ที่สนใจจะฟังการปราศรัยควรอ่านบทความในนิตยสารฟ้าเดียวกันฉบับส่งเสด็จ เนื่องจากเขาจำเป็นจะต้องปราศรัยโดยกระชับและปราศรัยเฉพาะสถานการณ์ในปัจจุบัน
 
ผู้ต้องหาระบุถึงเหตุการณ์ที่พระมหากษัตริย์ (ตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาไม่ระบุว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ใด) เคยถูกฟ้องร้องในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่องการโอนทรัพย์สินไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัวและศาลมีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์สินคืนเป็นของแผ่นดิน
 
ในเวลา 19.48 น. ผู้ต้องหาขึ้นกล่าวปราศรัยพาดพึงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในลักษณะชักจูงให้ผู้ฟังคล้อยตามและเกลียดชังต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยผู้ต้องหาปราศรัยทำนองว่า
 
สถานการณ์ปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา เพราะที่ผ่านมาในการชุมนุมมีคนมาร่วมชุมนุมถือป้ายข้อความที่ตีความได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ถอยห่างไปจากการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
 
ผู้ต้องหาได้กล่าวถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทานทั้งที่รัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติไปแล้ว โดยมีการแก้ไขว่าไม่ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อพระมหากษัตริย์ประทับอยู่นอกประเทศ รวมทั้งมีการปรับแก้ให้ทรัพย์สินบางอย่างที่เคยเป็นสาธารณะสมบัติ กลายเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์
 
นอกจากนั้นก็มีการออกกฎหมายโอนอัตรากำลังพลของกรมทหารราบที่ 1 กับกรมทหารราบที่ 11 ไปให้พระมหากษัตริย์ปกครองดูแลตามพระราชอัธยาศัยซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการขัดต่อหลักการของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย 
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อปกครองประเทศแบบไม่เป็นประชาธิปไตย โดยมีตัวอย่างคือการตราพ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินและจ่ายงบประมาณให้กับสถาบันโดยไม่มีการตรวจสอบการใช้เงินของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่การใช้งบประมาณของทุกองค์กรต้องถูกตรวจสอบและวิจารณ์ได้ รวมถึงมีการจัดสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติซึ่งมีคำถามเกี่ยวกับความจำเป็นของการใช้งบประมาณ 
 
การแก้ปัญหาข้างต้นสามารถทำได้โดยการออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำให้ทรัพย์สินที่เป็นของสาธารณะ เช่น สนามหลวงกลับมาเป็นของสาธารณะอย่างแท้จริง และในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ให้สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 
 
และหลังวันเกิดเหตุผู้ต้องหายังโพสต์ภาพแถลงการณ์ของกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสดในเฟซบุ๊กของตัวเอง ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวมีข้อความต่อต้านสถาบันและมุ่งให้เกิดความกระด้างกระเดื่องด้วย
 
นอกจากอานนท์ ผู้ต้องหาที่เหลืออีกหกคน ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมแต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม ใช้เครื่องขยายเสียโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันจัดการชุมนุมในลักษณะแออัดเสี่ยงต่อการระบาดของโรคอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 
 

พฤติการณ์การจับกุม

กรณีอานนท์ นำภา 
 
ตั้งแต่ช่วงบ่ายอานนท์ ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาที่ศาลเพื่อรอทำการจับกุมตัวเขา จากนั้นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทวีตข้อความพร้อมคลิปวิดีโอรายงานสถานการณ์ว่า
 
ในเวลา 19.10 น. ตำรวจแสดงหมายจับศาลอาญา ออกเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ระบุข้อกล่าวหารวมสี่ข้อกล่าวหา ได้แก่
 
ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 เป็นผู้ร่วมจัดชุมนุมไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ศ.2558 ร่วมกันใช้เครื่องเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง มาตรา 4 และนำข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าสู่คอมพิวเตอร์ฯ ตามมาตรา 14(3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560
 
หลังแสดงหมายจับ เจ้าหน้าที่นำตัวอานนท์ไปสอบปากคำที่สน.ชนะสงคราม  พนักงานสอบสวนนำตัวอานนท์ไปศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น (20 สิงหาคม) เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง

ในช่วงค่ำวันที่ 20 สิงหาคม อานนท์จะได้รับการประกันตัวโดยศาลตีราคาประกันหนึ่งแสนบาทแต่ยังไม่ต้องวางเงิน พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดซ้ำ หากทำจะถอนประกันและต้องชำระเงินค่าผิดสัญญาประกัน 
กรณีผู้ต้องหาคนอื่นๆ 
 
กรณีผู็ต้องหาที่เหลืออีกหกคน
 
ผู้ต้องหาทั้งหกเข้ารายงานตัวตามหมายเรียกจึงไม่ถูกจับกุมตัว โดยในวันที่เข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าว ผู้ต้องหาทั้งหมดยังแต่งตัวเป็นตัวละครในเรื่อง แฮรี่ พ็อตเตอร์ และร่วมกันอ่านคำปราศรัยของทนายอานนท์ ที่เป็นเหตุให้เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 ที่หน้าสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามก่อนเข้ารายงานตัวด้วย
 
หลังเสร็จกระบวนการผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
29 กรกฎาคม 2563 
 
เฟซบุ๊กเพจมอกะเสดเผยแพร่โปสเตอร์กิจกรรม เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย โดยตอนหนึ่งของข้อความประชาสัมพันธ์ระบุว่า ประเทศไทยถูกครอบงำด้วยอำนาจมืดมาอย่างยาวนานจึงขอเชิญชวนเหล่าพ่อมดแม่มดมารวมพลังกันปกป้องประชาธิปไตยและทวงคืนอำนาจของประชาชน โดยนัดชุมนุมในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 เวลา 18.00 – 19.30 น. 
 
115759235_581288072535904_1229343784538936524_n
 
3 สิงหาคม 2563 
 
กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสด ร่วมกันจัดการชุมนุม เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย ที่ถนนราชดำเนินโดยตั้งเวทีบริเวณร้านแม็คโดนัลด์ราชดำเนิน ตรงข้ามอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ไฮไลท์ของการชุมนุมอยู่ที่การปราศรัยของทนายอานนท์ นำภา ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งมิติด้านงบประมาณ พระราชอำนาจ และบทบาททางการเมือง รวมถึงวิจารณ์บทบาทของ คสช. และองคาพยพ ที่มีส่วนทำให้สถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่เกินขอบเขตการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

การชุมนุมจบลงโดยไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายใดๆ และไม่มีการจับกุมบุคคลใด
 
19 สิงหาคม 2563 
 
ประชาไทรายงานว่า อานนท์ ถูกจับกุมตัวเป็นคนแรกหลังเสร็จจากการว่าความที่ศาลอาญา รัชดา พนักงานสอบสวนพาตัวอานนท์ไปสอบปากคำที่ สน.ชนะสงคราม เขาถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ความผิดเกี่ยวกับการใช้เครื่องขยายเสียง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อานนท์ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ชนะสงครามหนึ่งคืน  
 
20 สิงหาคม 2563
 
บีบีซีไทยรายงานว่า อานนท์ถูกนำตัวไปที่ศาลอาญาเพื่อฝากขัง ในช่วงค่ำวันเดียวกันอานนท์ได้รับการประกันโดยศาลตีราคาประกันหนึ่งแสนบาทและปล่อยตัวอานนท์โดยยังไม่ต้องวางเงินประกัน แต่กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดซ้า หากฝ่าฝืนจะริบเงินประกันและอาจถอนประกัน  

1 กันยายน 2563
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ผู้ต้องหาหกคนที่ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหามาตรา 116 เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนแล้ว

ก่อนเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ผู้ต้องหาทั้งหมดแต่งตัวด้วยชุดคลุมคล้ายตัวละครในเรื่อง แฮรี่ พอตเตอร์ ซึ่งเป็นธีมของการชุมนุมในวันเกิดเหตุคดี ทั้งหมดร่วมกันอ่านคำปราศรัยที่อานนท์ ปราศรัยในวันเกิดเหตุผ่านเครื่องขยายเสียง โดยระหว่างกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยบันทึกเหตุการณ์ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวโดยตลอด นอกจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบประมาณ 40 นายที่ยืนตั้งแถวรักษาการณ์อยู่ด้านหน้าสน.ชนะสงคราม

หลังเสร็จกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ผู้ต้องหาทั้งหกเข้ารายงานตัว ในทางคดีผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธและแจ้งพนักงานสอบสวนว่าจะให้การเป็นเอกสารตามมาในภายหลัง พนักงานสอบสวนนัดทั้งหมดในวันที่ 21 กันยายน 2563 เพื่อส่งตัวฟ้องต่ออัยการ 
 
21 กันยายน 2563
 
โพสต์ทูเดย์ออนไลน์รายงานว่า ผู้ต้องหาทั้งหกคนในคดีนี้เข้าพบอัยการตามที่พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวฟ้อง โดยอัยการนัดผู้ต้องหาทั้งหกเข้าพบวันที่ 24 กันยายน 2563 เพื่อฟังคำสั่งคดี
 
28 กันยายน 2563 
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีจากวันที่ ออกไปเป็นวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 
 
ทั้งนี้ในชั้นพิจารณา อัยการจะแยกคดีนี้เป็นสองสำนวน สำนวนของอานนท์ซึ่งมีข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จะถูกฟ้องต่อศาลอาญาเนื่องจากเป็นข้อหาที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดเกินสามปี ส่วนสำนวนของผู้ต้องหาที่เหลืออีกหกคน อัยการจะฟ้องคดีต่อศาลแขวงเนื่องจากทั้งหกถูกกล่าวหาในความผิดที่มีอัตราโทษสูงสุดไม่ถึงจำคุกสามปี 
 
24 กุมภาพันธ์ 2564 
 
พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เข้าแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับอานนท์ในเรือนจำ
 
3 มีนาคม 2564 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่คำให้การของอานนท์ ที่ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยอานนท์แบ่งประเด็นโต้แย้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนเป็น 19 ประเด็น
 
อานนท์ยังขอให้พนักงานสอบสวน ออกหมายเรียกพยานบุคคลและเอกสารอีกจำนวนหนึ่งเพื่อมาประกอบการสู้คดีด้วย โดยคำให้การของอานนท์มีประเด็นที่สำคัญ เช่น 
 
1. “เพื่อการอภิปรายที่กระชับมากขึ้น แนะนําให้ผู้ร่วมชุมนุมเย็นนี้อ่านบทความในหนังสือฟ้าเดียวกันฉบับส่งเสด็จ ก่อนฟังอภิปราย เพราะวันนี้อาจไม่ได้เท้าความไปไกลมากนัก อยากอภิปรายในเรื่องปัจจุบันมากกว่า หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการยื่นฟ้องก็พระมหากษัตริย์และพระราชินี ในความผิดข้อหาโอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ต่อมาศาลได้มีคําสั่งคําพิพากษาให้ฝ่ายกษัตริย์เป็นฝ่ายแพ้คดี และต้องถูกอายัดทรัพย์สินรวมทั้งยึดวังสุโขทัยไว้ด้วย”
 
ข้อความข้างต้นเป็นสถานะที่อานนท์โพสต์บนเฟซบุ๊กก่อนขึ้นปราศรัย ในประเด็นนี้ ผู้ต้องหาอธิบายว่า ถ้อยคําปราศรัยดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง กล่าวโดยสุจริต และเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
 
จึงขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพยานเอกสาร ได้แก่ 1) เอกสารสํานวนคดีระหว่าง กระทรวงการคลัง โจทก์ กับ ในหลวงรัชกาลที่ 7 จําเลย ฉบับรับรองสําเนาถูกต้อง 2) ขอให้ออกหมายเรียกสําเนาโฉนดที่ดินและสารบบที่ดินทั้งหมดของวังสุโขทัยฉบับรับรองสําเนาถูกต้องเข้ามาในสํานวนคดี และขอให้ออกหมายเรียกพยานบุคคล ได้แก่ 1) ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2) ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ 3) ณัฐพล ใจจริง มาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การในประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะเนื้อหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
 
เหตุที่ต้องพูดและหยิบประเด็นในนี้ขึ้นมาอภิปราย เนื่องจากมีการออกกฎหมายถ่ายโอนทรัพย์สินสาธารณะมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว เฉกเช่นที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ตามคําพิพากษาที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการโอนหุ้นในธนาคารไทยพาณิชย์ หรือการโอนหุ้นในบริษัทปูนซีเมนต์ไทย และบริษัทหรือหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเดิมหุ้นถูกถือในนามของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
 
2. “เราต้องยอมรับความจริงว่าที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนลุกขึ้นมาชุมนุม เรียกร้องทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายคนต้องการจะตั้งคําถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ในเวทีชุมนุมมีการชูป้ายกล่าวอ้างถึงบุคคลที่อยู่ในเยอรมัน (โฮร้อง) มีการกล่าวอ้างถึงบุคคลที่เป็นนักบิน บินไปบินมา คํากล่าวอ้างเหล่านี้จะหมายถึงใครไปไม่ได้นอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเราครับพี่น้อง (ปรบมือ)”
 
ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของคำปราศรัย ในประเด็นนี้ อานนท์ให้การขยายความว่า หลังจากที่มีการเปลี่ยนรัชสมัย ประชาชนได้ตั้งคําถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ ข้อวิพากษ์วิจารณ์ถูกกดทับและปิดกั้นไม่ให้มีการพูดในที่สาธารณะ จนสิ่งที่ถูกกดทับไว้ได้ระเบิดออกมาภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรดานิสิต นักศึกษา และประชาชน ได้แสดงความกล้าหาญลุกขึ้นหยัดยืนขึ้นมาพูดถึงต้นตอของปัญหาสังคมไทย การยุบพรรคอนาคตใหม่จึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทําให้คนรุ่นใหม่หมดความอดทนต่อสังคมอันโสมม
 
การชุมนุมต่อเนื่องในหลายมหาวิทยาลัยสะท้อนความกล้าหาญของเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนและมุ่งเน้นในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันโดยการใช้ถ้อยคำเปรียบเทียบ ไม่ได้กล่าวถึงตรงๆ แต่นั่นไม่อาจทําให้ปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ ถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา คนรุ่นใหม่ที่แสดงออกเหล่านั้นถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดี ปัญหาดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ได้เลย หากไม่ถูกพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา นั่นคือที่มาของการปราศรัย ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ในนามของ “แฮรี่ พอตเตอร์” ซึ่งเป็นการพูดอย่างเคารพต่อตัวเอง ผู้ฟัง และต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
 
ผู้ต้องหาเชื่อว่า การพูดอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้สถาบันกษัตริย์เองใจกว้างและสังคมจใจกว้าง เปิดใจรับฟังปัญหาอย่างมีวุฒิภาวะ อันจะนําไปสู่การแก้ไขปัญหาในสังคมด้วยวิธีการสันติวิธีและจะทําให้แก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน และ
 
3. “การตั้งหน่วยงานในพระองค์ขึ้นมาและบริหารไปตามพระราชอัธยาศัย การที่บอกว่าบริหารไปตามพระราชอัธยาศัยนั้น แปลเป็นภาษาบ้านเราคือบริหารไปตามใจของพระมหากษัตริย์ เหล่านี้เป็นการออกแบบกฎหมายที่ขัดกับระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น”
 
ข้อความข้างต้นเป็นตอนหนึ่งของการปราศรัย ในประเด็นนี้ อานนท์ให้การว่า ข้อความข้างต้นเป็นที่มาของคําว่าการขยายพระราชอํานาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ห่างจากระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กล่าวคือ เมื่อครั้งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็เนื่องจากว่า ระบอบเดิมไม่ได้ส่งเสริมให้ราษฎรได้มีสิทธิเสรีภาพ ประชาชนถูกปิดกั้นกดขี่อย่างไม่ชอบธรรม และการปกครองนั้นไม่ได้ถูกตรวจสอบ รายละเอียดปรากฏตามแถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 ซึ่งทางผู้ต้องหาได้ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกไปยังหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลที่ครอบครองเอกสารดังกล่าวฉบับรับรองสําเนาถูกต้องเข้ามาในสํานวนคดีด้วย
 
อานนท์ยังกล่าวอีกว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น หมายถึง การปกครองที่อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ สามารถกําหนดผู้แทนเข้าไปใช้อํานาจในการบริหารประเทศ ในการตรากฎหมาย และมีศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งอํานวยความยุติธรรมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักการสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ องค์พระมหากษัตริย์ต้องดํารงตนเป็นหลักชัยแห่งสิทธิเสรีภาพและร่วมปกป้องระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งทําหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด เป็นประมุขของรัฐที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง

หมายเหตุ ดูคำให้การฉบับเต็มของอานนท์ที่เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 
7 กันยายน 2564
 
นัดสอบคำให้การ

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา