ชูเกียรติ: การชุมนุมที่วงเวียนใหญ่

อัปเดตล่าสุด: 22/09/2564

ผู้ต้องหา

ชูเกียรติ แสงวงศ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

จักรพงษ์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส. เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

สารบัญ

ชูเกียรติ แสงวงศ์ หรือ "จัสติน", วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ "ตี้ พะเยา" และธนกร เยาวชนอายุ 17 ปี ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุมที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563
 
ผู้ต้องหาทั้งสามคน ไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกและได้รับการปล่อยตัว โดยธนกรซึ่งอายุไม่ถึง 18 ปีขณะเกิดเหตุ ถูกแยกไปดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนกลางและครอบครัว
 
ในวันที่ 23 มีนาคม 2564 ซึ่งอัยการยังไม่มีคำสั่งคดีนี้ ชูเกียรติถูกนำตัวไปฝากขังในคดีมาตรา 112 คดีอื่น ขณะที่วรรณวลีถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในวันที่ 28 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่อัยการนำตัวเธอไปฟ้องต่อศาลอาญาธนบุรีและศาลไม่อนุญาตให้เธอประกันตัว
 
วรรณวลีถูกคุมขังเป็นเวลา 11 วัน ก่อนได้รับประกันตัวในวันที่ 7 พฤษภาคมภายใต้เงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์และห้ามร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้า ขณะที่ชูเกียรติยังไม่ได้รับการประกันตัว
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ชูเกียรติ แสงวงศ์ มีชื่อเล่นว่านุ๊ก แต่เป็นที่รู้จักในการชุมนุมว่า "จัสติน" จากการที่เขามักแต่งตัวเลียนแบบนักร้องดัง "จัสติน บีเบอร์" เวลาไปร่วมการชุมนุมโดยสวมเสื้อครอปเอวลอย และกางเกงวอร์ม ชูเกียรติเป็นชาวจังหวัดสมุทรปราการ ประกอบอาชีพเป็นช่างสัก เขาเป็นหนึ่งในคนที่นัดหมายจัดการชุมนุมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ 
 
วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ "ตี้ พะเยา" อายุ 21 ปี เป็นนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ สาขาอาชีวอนามัย ชั้นปีที่สาม มหาวิทยาลัยพะเยา และเธองยังลงเรียนคณะนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย วรรณวลีเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 และตั้งกลุ่มราษฎรเอ้ยร่วมกับรุ่นน้องอีก 4-5 คนเพื่อทำงานเคลื่อนไหว

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องของอัยการพอสรุปได้ว่า

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 เวลากลางวันถึงเวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 1 คือ ชูเกียรติ กล่าวปราศรัยแก่ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม บริเวณวงเวียนใหญ่ ในประเด็น “ใครฆ่าพระเจ้าตาก…” มีการกล่าวถึงประเด็นการใช้มาตรา 112 กับประชาชน เพราะกลัวประชาชนเอาความจริงมาพูด และกล่าวถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
 
เนื้อความส่วนใหญ่ของการปราศรัยเป็นการกล่าวโจมตีรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่มีข้อความตอนหนึ่งใช้คำว่า “กระสุนพระราชทาน” มีเนื้อหาบางส่วนที่พูดถึงการหมอบคลาน การปิดถนน โดยเปรียบเทียบกับการปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่นด้วย
 
โดยข้อความตามฟ้องมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต แต่เป็นการจงใจใส่ร้าย จาบข้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่จะทำให้พระบาทสมเด็จพระประเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศร ราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
 
จำเลยที่ 2 วรรณวลี กล่าวปราศรัยแก่ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม บริเวณวงเวียนใหญ่ ในประเด็นการจัดสรรงบประมาณ และกล่าวถึงบทบาทของตำแหน่ง “จอมทัพไทย” ที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นจอมทัพไทย นอกจากนั้นวรรณวลียังกล่าววิพากษ์วิจารณ์การลงพระปรมาภิไธยรับทราบการทำรัฐประหาร นอกจากนั้นวรรณวลียังเอ่ยพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในระหว่างการปราศรัยด้วย
 
คำฟ้องของอัยการระบุว่า ข้อความของวรรณวลีไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต แต่เป็นการจงใจใส่ร้าย จาบข้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่จะทำให้พระบาทสมเด็จพระประเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศร ราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง
 
โดยจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
 

พฤติการณ์การจับกุม

ผู้ต้องหาทั้งสองคนเข้ารายวานตัวตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวนจึงไม่ถูกควบคุมตัว

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

372

ศาล

ศาลอาญาธนบุรี

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
6 ธันวาคม 2563 

กลุ่มราษฎรฝั่งธนบุรีนัดชุมนุมกันที่วงเวียนใหญ่ โดยมีกลุ่มการ์ดอาชีวะและกลุ่มฟันเฟืองธนบุรีนำรถกระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียงจอดอยู่ริมถนนลาดหญ้า ลักษณะการชุมนุมคือมีเวทีปราศรัยในหัวข้อ ‘การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ รวมทั้งการอุ้มหายของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมยืนยันสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของคณราษฎร
 
การชุมนุมเริ่มเวลาประมาณ 16.00 น. ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.บุปผารามเข้ามาอ่านประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมภายในเวลา 17.30 น. เนื่องจากทางจัดการผู้ชุมนุมไม่ได้แจ้งจัดการชุมนุมตาม พ.ร.บ. ชุมนุมฯกับเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย

เวลาประมาณ 17.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ให้ออกจากลานอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน เนื่องจากกรุงเทพมหานครไม่อนุญาตให้เข้าทำกิจกรรมภายในพื้นที่ หากฝ่าฝืนจะเอาผิดผู็ชุมนุมฐานบุกรุก ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมย้ายกลับมาทำกิจกรรมบริเวณถนนลาดหญ้าดังเดิมโดยมีเวทีปราศรัยสลับกับทำกิจกรรม สักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชภายในลานอนุสาวรีย์ฯ

การชุมนุมยุติลงอย่างสงบเวลาประมาณ 22.00 น.

11 มกราคม 2564

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ชูเกียรติ วรรณวลี และธนกร เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกโดยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ธนกรถูกแยกดำเนินคดีเป็นอีกสำนวนหนึ่งเนื่องจากขณะเกิดเหตุ เขายังเป็นเยาวชน โดยจะต้องไปรายงานตัวที่สถานพินิจเยาวชนธนบุรีเพื่อสืบเสาะประวัติในภายหลัง
 
ก่อนหน้านี้ชูเกียรติและธนกรได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนสน.บุปผาราม ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามคดีนี้โดยในหมายเรียกผู้ต้องหาระบุชื่อจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา สำหรับวรรณวลีเจ้าตัวไม่ได้รับหมายเรียกเป็นเอกสาร แต่ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่ามีการออกหมายเรียกเธอด้วยเช่นกัน
 
หลังผู้ต้องหาทั้งสองรับทราบข้อกล่าวหาพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไปฝากขังที่ศาล
 
22 มีนาคม 2564 
 
เวลา 20.24 น. ชูเกียรติโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตำรวจกำลังนำตัวเขาไปสน.ชนะสงคราม ด้วยหมายจับคดีมาตรา 112 และเวลา 20.25 น. เขาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า ด่วนๆๆๆ ผมเกมส์แล้วจริงๆ สน.ชนะสงคราม 
 
ประชาไทรายงานว่า  ชูเกียรติ ถูกตำรวจจับกุมตัวจากกรณีที่เขาเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ซึ่งนัดหมายกันที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 โดยทราบภายหลังว่าชูเกียรติถูกออกหมายจับจากกรณีที่เขานำป้ายประกาษเขียนข้อความบางอย่างไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งติดตั้งอยู่ที่บริเวณหน้าศาลฎีกาใกล้พื้นที่การชุมนุม 
 
ชูเกียรติถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาในวันที่ 23 มีนาคม 2564 โดยเขาไม่ได้รับการประกันตัว
 
27 เมษายน 2564 
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
อัยการนัดวรรณวลี ฟังคำสั่งคดีที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 3 วรรณวลีเดินทางมาที่สำนักงานอัยการสูงสุดธนบุรีตั้งแต่ก่อนเวลา 10.00 น.พร้อมกับผู้ใหญ่ที่เธอเคารพนับถืออีกสองคน ในฐานะพ่อและแม่บุญธรรม ซึ่งเมื่อถึงเวลานัดอัยการได้มาพบเธอและแจ้งว่า จะส่งตัวเธอฟ้องคดีมาตรา 112 ต่อศาล จากนั้นวรรณวลีจึงไปที่ศาลอาญาธนบุรีเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟ้อง โดยเธอถูกควบคุมตัวที่ห้องควบคุมตัวของศาลอาญาธนบุรี ขณะที่ทนายของวรรณวลี ยื่นขอประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

สำหรับชูเกียรติซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในคดีอื่น และมีรายงานยืนยันว่าติดเชื้อโควิด 19 ไม่ได้ถูกนำตัวมาศาลในวันนี้ด้วย
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ด้วยว่าทนายความได้ยื่นขอประกันตัวโดยที่คำร้องประกอบคำขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุว่าจำเลยประสงค์ที่จะขอยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยมีรายละเอียดและเหตุผลดังต่อไปนี้
 
1. จำเลยที่ 2 (วรรณวลี) ปัจจุบันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา มีภาระทางการศึกษาที่ต้องรับผิดชอบ หากจำเลยถูกฝากขัง จะกระทบกับการเรียนของจำเลยอย่างร้ายแรง
 
2. จำเลยให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนและอัยการเป็นอย่างดี เดินทางมาตามที่เจ้าพนักงานนัดหมายทุกครั้งที่ได้รับหมายเรียก ไม่เคยมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีมาตั้งแต่ต้น คดีนี้ จำเลยให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนและมีความประสงค์ที่จะสู้คดีต่อไปอย่างเต็มที่

3. จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ปัจจุบันจำเลยมีอายุ 21 ปี เป็นนักศึกษา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ประกอบกับพยานเอกสาร พยานวัตถุและพยานบุคคลก็อยู่ในความครอบครองของโจทก์ทั้งหมดแล้ว

4. จำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่จะไปก่อเหตุอันตรายอื่นใด ทั้งจำเลยยังไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน ประกอบกับคดีนี้ยังมีการวางหลักประกันที่น่าเชื่อถือเป็นเงินสดตามเกณฑ์ของศาล ดังนั้น การปล่อยตัวชั่วคราวจึงไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพิจารณาคดีของศาลแต่อย่างใด
 
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในสถานที่คุมขังหรือเรือนจํา การปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี ตามคําแนะนําของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 3 ข้อ 7 กําหนดว่า เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจําอันอาจนําไปสู่การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ผู้ต้องหาหรือจําเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจําเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยกําหนดเงื่อนไขก็ได้
 
ในเวลา 16.36 น. ศาลอาญาธนบุรียกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของวรรณวลีโดยให้เหตุผลว่า
 
"พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับโจทก์ (อัยการ) คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) ไว้ และจำเลยถูกกล่าวหา อยู่ระหว่างสอบสวน ในข้อหาความผิดเดียวกับคดีนี้อีก หากปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี…"
 
ในเวลา 17.35 น. วรรณวลีถูกนำตัวไปคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีที่ทัณฑสถานหญิงธนบุรี โดยมีรายงานว่า ระหว่างที่พูดคุยและร่ำลากับคนที่มาส่งวรรณวลียังร้องไห้ออกมา แต่ก็ยังพยายามยิ้มและให้กำลังใจคนที่อยู่นอกห้องขัง บริเวณด้านหลังอาคารศาลอาญาธนบุรี ขณะที่วรรณวลีจะขึ้นรถเรือนจำตำรวจศาล และ รปภ. ไม่อนุญาตให้คนที่ยืนส่งยกมือถือขึ้นมาถ่ายรูป และคอยห้ามปรามตลอดเวลา
 
วรรณวลี เล่าในภายหลังว่า กระบวนการในวันที่เธอถูกฟ้องคดี เธอถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องร่วมกับจำเลยคดีอื่นๆ รวมแปดคน ศาลอ่านคำฟ้องของจำเลยคดีอื่นให้จำเลยฟัง และอ่านคำสั่งให้ประกันตัว รวมทั้งจำเลยคดีความผิดฐานฆ่าคนตาย แต่ศาลไม่ได้อ่านคำฟ้องให้เธอฟังและเดินลงจากบัลลังก์ไป
 
28 เมษายน 2564

ระหว่างที่วรรณวลีถูกคุมขังอยู่ท่ีทัณฑสถานหญิงธนบุรี ซึ่งเธอถูกแยกกักตัวอยู่ในห้องคนเดียว เนื่องจากเป็นผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด เพราะเธออยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ วรรณวลีถูกเจ้าหน้าที่พาไปพบศาลผ่านทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยไม่ได้แจ้งให้ทนายความทราบ และไม่มีทนายความอยู่ร่วมในกระบวนการด้วย

วรรณวลีเล่าให้ฟังว่า ศาลอ่านคำฟ้องให้เธอฟัง และถามเธอว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดี ซึ่งเธอตอบว่า จะขอต่อสู้คดี หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นำสำเนาคำฟ้องมาให้เธอเก็บไว้ โดยศาลแจ้งวันนัดครั้งต่อไป คือ นัดคุ้มครองสิทธิ วันที่ 25 พฤษภาคม และนัดตรวจพยานหลักฐาน 12 กรกฎาคม 2564

7 พฤษภาคม 2564

ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัววรรณวลี เป็นครั้งที่สองต่อศาลอาญาธนบุรี โดยในเวลาประมาณ 13.00 วรรณวลี ถูกเบิกตัวมาเข้ารับการไต่สวนผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์

วรรณวลีแถลงรับเงื่อนไขในลักษณะเดียวกันกับจำเลยคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และได้ชี้แจงว่า ตัวเองมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและอัยการก็ไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว
 
ในเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว ด้วยหลักประกันเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ ห้ามชุมนุมก่อความวุ่นวาย ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และต้องมาศาลทุกนัด
 
เวลาประมาณ 17.57 วรรณวลีถูกปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานหญิงธนบุรี รวมเวลาอยู่ในเรือนจำ 11 วัน โดยในการปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ให้พ่อและแม่บุญธรรม เอารถเข้าไปรับจากด้านใน แต่กันเพื่อนๆ ผู้มาให้กำลังใจ และนักข่าว ให้อยู่ด้านนอกรั้วเท่านั้น เมื่อรถของพ่อขับออกมา เจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้หยุดทักทาย และให้ขับรถออกไปจากบริเวณนั้นเลย
 
6 กรกฎาคม 2564
 
นัดคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในวันนี้ชูเกียรติพร้อมทนายความเดินทางมาศาลขณะที่วรรณวลีไม่ได้เดินทางมาศาลเพราะมีอาการป่วย ศาลอ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง จากนั้นถามคำให้การ ชูเกียรติให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและจะให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารในภายหลังในนัดตรวจพยานหลักฐานซึ่งศาลกำหนดนัดในวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.00 น.
 
ในนัดนี้อัยการยังยื่นคำร้องลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราววรรณวลี ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 
 
คำร้องของอัยการพอสรุปได้ว่า ศาลได้กำหนดเงื่อนไขห้ามวรรณวลีห้ามกระทำในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง อันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

แต่อัยการได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สน.บุปผารามว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 เวลาประมาณ 17.00 ถึง 20.30 น. จำเลยที่ 2 ได้เข้าร่วมการชุมนุม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยไม่ได้ขออนุญาตจากสำนักงานเขตพื้นที่ มีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 700 คน การบริหารจัดการผู้ร่วมชุมนุมแออัดใกล้ชิด ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยวรรณวลีปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และกฎหมายมาตรา 112 อันเป็นการผิดเงื่อนไขการประกันตัว

อัยการจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 โดยอัยการได้ส่งบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยในการชุมนุมวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งถอดโดย พ.ต.ท.ธนพล ติ้นหนู สารวัตรสอบสวน สน.ปทุมวัน ต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณา 
 
ศาลอาญาธนบุรีตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 โดยในนัดดังกล่าวจะไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนสัญญาประกันของวรรณวลีไปด้วยในคราวเดียว
 
8 กรกฎาคม 2564
 
ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า ศาลอาญาธนบุรีประสานขอให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานและนัดไต่สวนเพิกถอนสัญญาประกันของวรรณวลีออกไปเป็นวันที่ 21 กันยายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 ในขระนั้นมีความร้ายแรง
 
12 กรกฎาคม 2564 
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ยกเลิกนัดเพราะสถานการณ์โควิด19
 
22 กันยายน 2564 
 
นัดสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และไต่สวนเพิกถอนสัญญาประกันวรรณวลี
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในวันนี้ศาลอาญาธนบุรีนัดพิจารณาคดีของชูเกียรติและวรรณวลี โดยนอกจากกระบวนการสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานแล้ว ศาลยังนัดไต่สวนคำร้องเพิกถอนสัญญาปล่อยตัวชั่วคราวที่อัยการเจ้าของสำนวนยื่นให้เพิกถอนสัญญาประกันของวรรณวลีด้วย

ทนายจำเลยยื่นคำให้การของชูเกียรติและวรรณวลีโดยทั้งสองให้การปฏิเสธ และแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า สิ่งที่ทั้งสองปราศรัยไม่ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โจทก์ยื่นบัญชีพยาน และแถลงขอสืบพยานบุคคลทั้งหมด 11 ปาก ทนายจำเลยแถลงขอสืบพยานบุคคลรวม 6 ปาก ศาลนัดสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 3 นัด และสืบพยานจำเลย 2 นัด 

หลังเสร็จขั้นตอนนี้ศาลไต่สวนคำร้องของอัยการ ที่ขอให้เพิกถอนสัญญาประกันของวรรณวลี 

นัดสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และไต่สวนเพิกถอนสัญญาประกันวรรณวลี
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 6 ชูเกียรติ พร้อมกับพี่สาว วรรณวลีและเพื่อน ผู้ร่วมมาให้กำลังใจ เดินทางมาถึง ขณะที่ในวันนี้มีตัวแทนจากสถานทูตสวีเดนเดินทางมาสังเกตการณ์การไต่สวนด้วย แต่เจ้าหน้าที่หน้าศาลอนุญาตให้เพียงคู่ความเข้าห้องพิจารณาคดีเท่านั้น ทำให้ตัวแทนสถานทูตไม่สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีได้  
 
ทนายความได้ยื่นคำให้การของ ชูเกียรติ (จำเลยที่ 1) และวรรณวลี (จำเลยที่ 2) โดยทั้งสองนั้นให้การปฏิเสธ และแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า สิ่งที่ทั้งสองปราศรัยนั้นไม่ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ด้านโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยาน และแถลงขอสืบพยานบุคคลทั้งหมด 11 ปาก ขณะที่ทนายจำเลยแถลงขอนำสืบพยานบุคคลทั้งหมด 6 ปาก โดยศาลได้กำหนดให้สืบพยานโจทก์ทั้งหมด 3 นัด และสืบพยานจำเลย 2 นัด 
 
หลังเสร็จกระบวนการสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน ศาลได้เริ่มไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนประกันวรรณวลี 
 
ทนายจำเลยแถลงว่า ในการชุมนุมราษฎรยืนยันดันเพดาน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน วรรณวลีร่วมปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 จริง แต่คำถอดเทปคำปราศรัยของวรรณวลีที่พนักงานสอบสวนนำมายื่นประกอบคำร้องมีข้อความบางส่วนไม่ถูกต้อง เช่น “ที่มึงเย็ดเด็กอายุสิบสี่” แต่ความเป็นจริงแล้ววรรณวลีพูดว่า “ยัดเด็กอายุสิบสี่” เท่านั้น นอกจากนั้นวรรณวลียืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น
 
โจทก์แถลงว่าที่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนสัญญาประกันต่อศาลเป็นเพราะพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม มีหนังสือถึงอัยการ โดยในวันนี้ ร.ต.อ.วสันต์ดิลก คำโสภา รองสารวัตรสอบสวน สน.บุปผาราม เดินทางมาที่ศาลเพื่อให้ปากคำด้วย 
 
ร.ต.อ.วสันต์ดิลก เบิกความว่า เขาได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้มีหนังสือถึงอัยการขอให้ยื่นคำร้องขอถอนประกันวรรณวลีต่อศาล สำหรับบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยของวรรณวลี ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ถอดเทป และ ตัวร.ต.อ.วสันต์ดิลก ไม่ได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุมในวันนั้น และหลังจากการชุมนุมวันที่ 24 มิถุนายน ก็ไม่ทราบว่า วรรณวลีได้เข้าร่วมการชุมนุมที่ใดอีก 
 
วรรณวลีเบิกความตอบศาลว่า เธอปราศรัยตามข้อความในบันทึกถอดเทปว่า “แล้วหนูใส่เสื้อเหลืองแล้วเดินไปถวายตัวเองกับกษัตริย์ หนูก็จะไม่โดนคดี” จริง แต่ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกลุ่มคนเสื้อเหลืองเท่านั้น โดยวรรณวลียอมรับต่อศาลว่า ตั้งแต่วันนี้ไปจะไม่กล่าวถ้อยคำหรือกระทำการใด อันเป็นลักษณะดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อีก 
 
เวลาประมาณ 14.00 น. ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนสัญญาประกัน ซึ่งสรุปความได้ว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่ปรากฏว่าวรรณวลีได้กระทำผิดเงื่อนไขสัญญาประกันซ้ำอีก เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และเพื่อให้โอกาสวรรณวลีต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ศาลจึงตักเตือนให้วรรณวลีปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา