ชินวัตร:ปราศรัยละเมิดอำนาจศาลอาญา

อัปเดตล่าสุด: 02/06/2565

ผู้ต้องหา

ชินวัตร จันทร์กระจ่าง

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญา

สารบัญ

วันที่ 29 เมษายน 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายชุมนุมที่หน้าศาลอาญาในเวลา 12.00 น. เพื่อให้กำลังใจผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี รวมถึงเพื่อยื่นหนังสือและรายชื่อของประชาชนที่มีข้อเรียกร้องขอให้ศาลคืนสิทธิการประกันตัวกับผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี

ในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมเข้าไปรวมตัวที่บริเวณหน้าอาคารศาลอาญา โดยเจ้าหน้าที่ศาลนำรั้วเหล็กมากั้นบริเวณบันไดทางขึ้นอาคารศาลอาญาไม่ให้ผู้ชุมนุมขึ้นไปและมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่มายืนประจำการในบริเวณดังกล่าวด้วย
 
ระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไป เบนจา อะปัญ และณัฐชนน ไพโรจน์ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมผลัดกันปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาลโดยเฉพาะกรณีไม่ให้ประกันตัวผู้ถูกคุมขังด้วยคดีมาตรา 112

เมื่อไม่ปรากฎว่ามีตัวแทนศาลอาญาลงมารับหนังสือและรายชื่อประชาชนที่ร่วมกันลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมือง เบนจาได้ฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่เข้าไปจากนั้นก็วิ่งขึ้นวิ่งลงบันไดศาล โปรยรายชื่อของประชาชนที่รวบรวมมาพร้อมทั้งอ่านบนกวีถึงมหาตุลาการที่อานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ไปด้วย 
 
ขณะที่ ชินวัตรก็ปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาลอยู่ที่บริเวณนอกแนวรั้วของเจ้าหน้าที่หน้าบันไดศาล เนื้อหาการปราศรัยโดยรวม พูดถึงสิทธิในการประกันตัวและตั้งข้อสังเกตว่าการทำงานของศาลเป็นการทำงานภายใต้อาณัติของบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือไม่ ตอนหนึ่งของการปราศรัยชินวัตรกล่าวด้วยว่า ศาลไทยมีฆาตกร และใช้ถ้อยคำเช่น "ไอ้เย็ดแม่" ในการปราศรัย
 
เหตุการณ์ที่หน้าศาลสงบลงในช่วงเย็นเมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของศาลขอให้ทนายความและแม่ของพริษฐ์ ชิวารักษ์หรือเพนกวิ้น หนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และไม่ได้รับการประกันตัวมาเจรจากับผู้ชุมนุม สุดท้ายผู้ชุมนุมก็ออกจากบริเวณศาลไปรวมตัวทำกิจกรรมนอกบริเวณศาลแทน
 
ในเวลาต่อมาผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญาทำบันทึกรายงานสถานการณ์ความไม่สงบในศาลเสนออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นำไปสู่การตั้งสำนวนและไต่สวนในคดีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลกับบุคคลรวมสามคนได้แก่ เบนจา ณัฐชนนและชินวัตร

ศาลนัดไต่สวนชินวัตรและผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญาในวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ก่อนมีคำสั่งจำคุกชินวัตรในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นเวลาสี่เดือนโดยไม่รอลงอาญา ชินวัตรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางเงิน 10000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ระหว่างอุทธรณ์คำสั่งศาล
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ชินวัตร แกนนำเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ที่จัดกิจกรรม “รวมพลคนนนทบุรีไล่เผด็จการ” อยู่หลายครั้ง ปี 2554-2556 ชินวัตร เริ่มจัดรายการวิทยุชุมชนคนเสื้อแดง และเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาชน (กวป.) ที่จัดการชุมนุมคู่ขนานกับกลุ่ม กปปส.

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ในวันที่ 29 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 12.30 น. มีกลุ่ม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประมาณ 300 คน เชิญชวนกันมาทำกิจกรรมยื่นจดหมาย ราชอยุติธรรม และยืนอ่านกลอน ตุลาการภิวัฒน์ ที่ศาลอาญา บุคคลกลุ่มดังกล่าวมีพฤติการณ์ รวมตัวกันบริเวณบันไดทางขึ้นศาลอาญา มีการใช้เครื่องขยายเสียงและตะโกนว่า "ปล่อยเพื่อนเรา"

 
เวลาประมาณ 12.50 น. พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กำกับการปราบปรามสน.พหลโยธิน อ่านคำสั่งผู้ว่ากทม.เรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 และเตือนให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบแต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือ ต่อมาในเวลา 13.05 น. พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับการสน.พหลโยธิน ประกาศเรื่องการใช้สิทธิเสรีภายใต้ข้อกฎหมายของผู้ชุมนุม และอ่านข้อกำหนดศาลรวมทั้งแจ้งให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบแต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ
 
ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ร่วมชุมนุมที่บริเวณหน้าบันไดทางขึ้นศาลอาญา ทำการปราศรัยด้วยเครื่องขยายเสียงมีข้อความว่า
 
"ผมขอประกาศ วันที่ 30 เมษายน 2564 นี้ ผมจะเดินทางมาศาลอาญารัชดาแห่งนี้ ตั้งแต่ก้าวแรกที่ผมก้าวขึ้นศาล ผมจะไม่เคารพต่อศาลอาญารัชดาแห่งนี้อีกต่อไปครับพี่น้อง อะไรจะเกิดให้มันเกิด ต่อไปนี้เราจะไม่เคารพศาลอีกต่อไป ในเมื่อศาลทำตัวเหี้ยๆแบบนี้ ขอให้พี่น้องแชร์ทั้งโลกให้โลกรู้ว่า ศาลไทยมีฆาตกร ไอ้ฆาตกร ไอ้ฆาตกร ไอ้ฆาตกร ไอ้เย็ดแม่"
 
"วันนี้พวกเราไม่ได้มาร้องขอให้มาเข้าข้างพวกเรา เราเพียงขอให้คุณทำตามกระบวนการที่มีอยู่ได้มั้ย ท่านอย่าบังคับให้เราเป็นกปปส. และท่านอยากบังคับให้เราไปยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ใช่หรือไม่ ให้เราไปยึดทำเนียบ ใช่หรือไม่ ท่านกำลังบังคับทำให้ประชาชนถึงตายใช่หรือไม่ ท่านกำลังบังคับให้เราถือรูปพระบรมฉายาลักษณ์และกระทืบคนถึงตายใช่หรือไม่ ในอนาคตพวกเราอาจทำแบบนั้น และทำไปแล้วศาลตัดสินได้ประกัน พวกเราถูกกล่าวหาว่าทำผิดม.112 ยังไม่มีการตัดสินเลย

เอาเพื่อนเราไปขังคุกแล้วแบบนี้ ความยุติธรรมไปอยู่ที่ไหน ถ้าท่านทำแบบนี้เปลี่ยนสโลแกนศาลยุติธรรมเปลี่ยนเป็นศาลยุติ ความเป็นธรรม เพราะไม่มีความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่รักประชาธิปไตยเลย มีแต่ความเป็นธรรมให้ลุงกำนันเท่านั้น ลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกตัดสินจำคุกหลายปี  ถูกสั่งขังวันเดียวออกมา ทรงผมเหมือนเดินเป๊ะ แต่เพื่อนเรายังไม่ทันตัดสินเข้าเรือนจำปุ๊ป จับกล้อนผมเลย ไอ้ฉิบหาย ผมขอสาบแช่งคนที่มีส่วนร่วมเอาเพื่อนของเราไปขังคุก เอาเพื่อนของเราไปทรมานในเรือนจำ ขอให้โคตรตระกูลมันพบแต่ความอัปปรีย์ จัญไร ให้พังพินาศทั้งตระกูล เราไม่อยากจะพูดคำหยาบ แต่ท่านกดดันให้ประชาชนพูดคำหยาบกับท่าน"
 
"ศาลผู้ทรงเกียรติครับ ปล่อยตัวเพื่อนเรามาเถอะครับ ถ้าท่านยังไม่ปล่อยผมขอท่านอย่างเดียว คือท่านจงเอาอัยการไปฝากขังพร้อมกับเพื่อนเรามาสู้คดีด้วยกัน ถ้าเอาเพื่อนเราไปขังอย่างเดียวอย่าทำเลย มันขัดหลักการ ที่ผ่านมาเราไม่เคยพูดถึงศาลเลย คิดว่าศาลคงมีหน้าที่หรือคงจะยึดอุดมการณ์ของตัวเองแต่วันนี้ไม่รู้ศาลไปรับโทรศัพท์ใครมา ท่านอย่าตอบแบบสนธิ บุญรัตนกลิน พวกเราที่ไปชุมนุมแต่ละพื้นที่เราไม่เคยบอกกับประชาชนให้ใช้ความรุนแรง เพื่อนของเราที่ถูกขังอยู่ไม่เคยยุยง ปลุกปั่นให้ล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด

เพื่อนของเราเพียงแต่ออกมาพูดความจริงว่า การปกครองที่ผ่านมามันจอมปลอม หลอกลวง แหกตาประชาชน ท่านครับ ไหนไหนก็ไหนไหน ผมรู้ชะตากรรมของผม ผมขอพูดถึงประธานศาล ท่านเป็นนักกฎหมาย ท่านเป็นผู้ดำรงความยุติธรรมของประเทศนี้ ท่านต้องรักษาไว้ซึ่งความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ จะบอกกับท่านวันนี้ว่า หลัง 2475 ประเทศนี้ไม่มีประชาธิปไตยมานานแล้ว มันเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์"
 
"ท่านครับ ผมกราบเรียนท่านด้วยหัวใจของผม กราบเรียนด้วยความเป็นมนุษย์ของผมคนหนึ่ง ถ้าเพนกวิ้น รุ้ง ไมค์ อานนท์ หรือเพื่อนเราหลายคนที่ถูกขังเขาคือบุตรหลานหรือลูกหลานของพวกท่าน ทั้งๆที่ท่านมั่นใจว่าลูกของท่านออกมาพูดความจริง ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และวันนั้นลูกหลานของพวกท่านถูกกระทำ ความรู้สึกของท่านจะเป็นอย่างไร ผมไม่รู้ว่าวันนี้หัวใจของพวกท่านมันยังมีอยู่หรือไม่ ท่านอย่าทำเป็นคนใจสัตว์ครับ ท่านต้องเห็นประชาชนว่าเขามีสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่เอาไปขังคุก

ศาลครับ ท่านคือที่พึ่งนะครับ จริงๆแล้วการพิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่ให้ประกัน มันไม่จำเป็นต้องเลื่อนหรอกครับ วันไหนก็ได้เขาควรให้ประกันแต่ต้น ไม่ใช่มาอ่านหรือไม่อ่าน ผมรู้นะครับว่าท่านหน้าบางเหลือเกิน พอเห็นประชาชนมาฟัง ท่านก็ว่าประชาชนมากดดันท่าน ได้หรือครับ ถ้าประชาชนกดดันท่านได้ ป่านนี้ประเทศชาติเจริญไปนานแล้ว คงไม่มีพวกท่านอยู่จนถึงทุกวันนี้

แล้วพวกท่านคิดว่าทำอะไรก็ทำ พอพวกเราออกมาพูดออกมาต่อสู้ท่านก็ออกหมายจับ ความผิดพลาดท่านไม่เคยรับผิดชอบ ท่านโทษทนาย ประชาชนมาตลอด แล้วแบบนี้ท่านจะเป็นศาลยุติธรรมได้อย่างไร ในเมื่อมันไม่เคยมีความยุติธรรมให้ประชาชนเลย ตายายเก็บเห็ดในป่าติดคุกหัวโต แต่คนยิงเสือดำได้ประกัน คนที่ออกมาพูดความจริงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติถูกเอาไปขัง แต่คนที่มันโกงที่ดินของแผ่นดินมันยังลอยหน้า ลอยนวล…"
 
การกระทำของชินวัตรเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล และฝ่าฝืนข้อกำหนดศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา 

พฤติการณ์การจับกุม

ชินวัตรเดินทางเข้ารับการไต่สวนและมาปรากฎตัวต่อศาลตามนัดจึงไม่มีการจับกุม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
25 เมษายน 2564 
 
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรมราชอยุติธรรม ยื่นหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เรียกร้องให้ศาลเคารพหลักการที่ว่าผู้ต้องหาคดีอาญาต้องได้รับการสันนิจฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ 

29 เมษายน 2564
 
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ภาพและข้อความบนเฟซบุ๊ก แจ้งว่ามีประชาชนร่วมลงชื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวรวม 7736 รายชื่อ บนภาพประชาสัมพันธ์ดังกล่าวยังประกาศเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมในเวลาตั้งแต่ 12.30 น. ที่ศาลอาญาด้วย

จากนั้นในเวลาประมาณ 13.45 น. เบนจาจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนำจดหมายเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมืองพร้อมทั้งรายชื่อแนบท้าย 11,035  รายชื่อ มายื่นต่อศาล ระหว่างนั้นมีการชูป้ายผ้าเขียนข้อความ "รัฐโจรถ่อยปล่อยเพื่อนเรา" ที่ด้านหน้าศาลด้วย เบนจาเรียกร้องให้ตัวแทนอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาออกมารับจดหมายและรายชื่อ กระทั่งเวลา 14.09 น. ยังไม่มีบุคคลใดออกมารับหนังสือและมีตำรวจออกมาอ่านประกาศกทม.เรื่องโรคติดต่ออีกครั้ง ผู้ชุมนุมจึงตะโกนว่า "ขี้ข้าเผด็จการ"

ในเวลาประมาณ 14.59 น. เมื่อไม่มีบุคคลใดออกมารับหนังสือ เบนจาจึงอ่านท่อนสุดท้ายของบทกวีถึงมหาตุลาการ ที่อานนท์ นำภา เป็นผู้ประพันธ์ "หากรับใช้ ใบสั่ง ดั่งกาลี ตุลาการ เช่นนี้  อย่ามีเลย!" และเดินฝ่าแนวเจ้าหน้าที่ขึ้นบันไดศาลอาญาและโปรยกระดาษรายชื่อกับจดหมายที่เตรียมมายื่น ขระที่ผู้ชุมนุมตะโกนรับว่า "ปล่อยเพื่อนเรา" หลังจากนั้นตำรวจพยายามควบคุมสถานการณ์จนกระทั่งสถานการณ์สงบลง 
 
การชุมนุมที่หน้าศาลดำเนินเรื่อยไปจนกระทั่งเวลาประมาณ 18.47 จึงยุติโดยในวันเกิดเหตุยังไม่มีการจับกุมบุคคลใดและไม่มีการสลายการชุมนุม
 
19 พฤษภาคม 2564 
 
ศาลอาญานัดชินวัตรเข้าไต่สวนละเมิดอำนาจศาล แต่ในวันดังกล่าวชินวัตรยังไม่เดินทางไปศาลตามนัดเนื่องจากเขามีประวัติใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ covid19 และอยู่ระหว่างการกักตัว ศาลจึงให้เลื่อนนัดไต่สวนละเมิดอำนาจศาลออกไปก่อนโดยนัดใหม่วันที่ 8 มิถุนายน 2564
 
8 มิถุนายน 2564
 
นัดไต่สวนละเมิดอำนาจศาล
 
ชินวัตรพร้อมภรรยาและลูกวัยเจ็ดเดือนมาถึงศาลในเวลาประมาณ 10.00 น. ตั้งแต่ก่อนเวลานัดศาลมีการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยและตั้งจุดคัดกรองที่ลานจอดรถใกล้ธนาคารกรุงไทยสาขาศาลอาญา โดยมีเจ้าหน้าที่คอยสอบถามว่าผู้ที่มาศาลมาติดต่อราชการเรื่องใด
 
เวลาประมาณ 10.30 น. ศาลเริ่มการไต่สวนชินวัตร โดยถามชินวัตรก่อนว่าได้ดูคลิปวิดีโอวันเกิดเหตุแล้วหรือยัง ชินวัตรรับว่าดูแล้ว ศาลถามว่าคนที่ปรากฎในคลิป และข้อความที่ปรากฎตามคลิปคือชินวัตรใช่หรือไม่ ชินวัตรรับว่าใช่และพยายามขยายความต่อว่าเหตุการณ์ที่คลิปตัดมาเป็นเพียงเหตุการณ์ช่วงเดียวซึ่งอาจไม่ครบถ้วนจึงขอให้ศาลหาคลิปวิดีโอฉบับเต็มมาเป็นหลักฐาน แต่ศาลตอบปฏิเสธโดยกล่าวทำนองว่า ศาลไม่ได้มีหน้าที่หาหลักฐานดังกล่าว เป็นหน้าที่ของชินวัตร และก่อนนัดไต่สวนวันนี้ศาลก็ได้ให้เวลาฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาในการหาพยานหลักฐานพอสมควรแล้วและการไต่สวนจะดำเนินการในวันนี้โดยไม่มีการเลื่อน
 
ศาลชี้แจงด้วยว่า คดีละเมิดอำนาจศาล ศาลจะสนใจเพียงข้อเท็จจจริงว่ามีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นในศาลจริงหรือไม่เท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการที่ชินวัตรกับพวกถูกดำเนินคดีดูหมิ่นศาลซึ่งเป็นคนละส่วนกัน เนื่องจากในขณะนั้นผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญายังไม่มาที่ห้องพิจารณษคดีเนื่องจากติดภารกิจ ศาลจึงขอลงจากบัลลังก์ไปก่อนเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหากับญาติๆได้นั่งกันอย่างผ่อนคลาย
 
เวลาประมาณ 11.15 น. ศาลกลับขึ้นบัลลังก์ ก่อนทำการไต่สวน ศาลระบุกับชินวัตรว่าในการไต่สวนศาลจะสนใจเฉพาะประเด็นว่าเกิดเหตุวุ่นวายในบริเวณศาลหรือไม่เท่านั้น พร้อมชี้แจงว่าผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการที่มาเบิกความเป็นเพียงผู้มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยโดยทั่วไปในศาลและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น การตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นดุลพินิจและอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาซึ่งเป็นเสมือน "ผู้ดูแลบ้าน" และในการไต่สวนนี้องค์คณะที่ทำการไต่สวนก็จะต้องเสนอสำนวนต่อผู้บริหารและผู้บริหารศาลก็จะมีความสำคัญในการร่วมออกคำสั่งคดีด้วย จากนั้นศาลจึงให้ผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญาเข้าสาบานตนและเริ่มกระบวนการไต่สวน
 
ไต่สวนชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญา
 
ชวัลนาถเบิกความว่าเมื่อได้รับรายงานการสืบสวนจากทางสน.พหลโยธิน พร้อมทั้งแผ่นซีดีบันทึกเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ เธอก็ทำรายงานสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาลเสนอต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อธิบดีจึงให้ตั้งสำนวนละเมิดอำนาจศาลและให้มีการไต่สวนบุคคลที่เกี่ยวข้อง 
 
ชวัลนาถเบิกความต่อศาลว่า ที่เธอเป็นผู้จัดทำรายงานเสนออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นเพราะเธอในฐานะผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญามีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการดูแลความเรียบร้อยภายในบริเวณศาล ศาลถามว่าเท่าที่จำได้มีการตั้งสำนวนละเมิดอำนาจศาลจากกรณีวันที่ 29 เมษายน กี่คน ชวัลนาถเบิกความว่าประมาณหกถึงเจ็ดคน ศาลถามว่ามีสำนวนใดที่ศาลมีคำสั่งออกมาบ้างแล้วหรือยัง ชวัลนาถบอกว่ายังไม่มี
 
ศาลอนุญาตให้ทนายของผู้ถูกกล่าวหาถามค้าน
 
ทนายถามว่าในวันเกิดเหตุชินวัตรยืนอยู่จุดใดและมีความพยายามที่จะฝ่าแนวของเจ้าหน้าที่เข้ามาหรือไม่ ชวัลนาถตอบว่าชินวัตรยืนอยู่ด้านหน้าแนวรั้วที่เจ้าหน้าที่กั้นไว้ แต่ไม่ได้เข้าหรือมีความพยายามที่จะเข้ามาหลังแนวของเจ้าหน้าที่ 
 
ทนายถามว่าในวันเกิดเหตุไม่ได้มีการไต่สวนใดๆในคดีของพริษฐ์กับพวก เป็นเพียงการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและการดำเนินคดีอื่นๆของศาลก็เป็นไปโดยปกติใช่หรือไม่ ชวัลนาถรับว่าใช่ 
 
ทนายถามว่าที่ผู้ถูกกล่าวหากับพวกมาชุมนุม ชวัลนาถทราบใช่หรือไม่ว่าก่อนหน้านั้นมีกรณีที่พริษฐ์และผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ เคยยื่นประกันตัวหลายครั้งแล้วไม่ได้รับการประกันตัว นอกจากนั้นก็มีข่าวว่าพริษฐ์ที่อดอาหารมีอาการกะเพาะอาหารย่อยเนื้อเยื่อภายในจนมีชิ้นเนื้อออกมาตอนถ่าย ชวัลนาถตอบว่าทราบเรื่องที่พริษฐ์กับพวกไม่ได้รับการประกันตัวหลายครั้ง ทราบเรื่องการอดอาหาร ส่วนเรื่องอาการป่วยของพริษฐ์จากการอดอาหารทราบว่ามีการรายงานข่าวแต่พริษฐ์จะมีอาการเช่นนั้นจริงหรือไม่ ไม่ทราบ
 
ทนายถามว่าได้เห็นหนังสือหรือรายชื่อที่เบนจานำมาโปรยหรือไม่ ชวัลนาถตอบว่าทราบว่ามีการโปรยกระดาษ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เก็บกระดาษที่ถูกโปรยมาให้ดู จึงไม่ทราบเนื้อความว่ากระดาษที่โปรยคืออะไร
 
ทนายถามว่าชวัลนาถทราบหรือไม่ว่าวันเกิดเหตุอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาแจ้งว่าหากผู้ชุมนุมไม่ยอมออกไปจากบริเวณศาล  จะเลื่อนการอ่านคำสั่งประกันตัวออกไป ชวัลนาถตอบว่าไม่ทราบและวันดังกล่าวไม่ได้คุยกับอธิบดี
 
ทนายถามว่า ตัวของชวัลนาถเห็นด้วยตัวเองหรือไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหายืนอยู่บริเวณใดระหว่างการชุมนุม ชวัลนาถตอบว่าเธอไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเองเพราะวันเกิดเหตุเธอทำงานอยู่ที่บ้านตามมาตรการลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อโควิด19 เธอมาที่ศาลในเวลาประมาณ 16.00 น. ซึ่งเมื่อเธอมาถึงเหตุการณ์สงบลงแล้ว ผู้ชุมนุมออกไปจากบริเวณมุกศาล ไปรวมตัวที่ด้านนอกอาคารศาลแล้วแต่ยังใช้เครื่องเสียงปราศรัยต่อไป สำหรับเหตุการณ์ที่เบิกความทั้งหมดเป็นการเบิกความตามคลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ที่เธอดูในภายหลัง โดยคลิปวิดีโอมีทั้งหมดสองชุด ชุดแรกทางศาลเป็นผู้จัดทำ อีกชุดหนึ่งทางสน.พหลโยธินเป็นผู้จัดทำและมอบให้ 
 
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ไต่สวนชินวัตร จันทร์กระจ่าง ผู้ถูกกล่าวหา
 
ชินวัตรเบิกความตอบศาลว่าเหตุการณ์ตามวิดีโอหลักฐานเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ตัวเขาอยู่ในวิดีโอดังกล่าวและพูดถ้อยคำตามที่ปรากฎจริง แต่คลิปวิดีโอดังกล่าวไม่ได้บันทึกเหตุการณ์ทั้งหมด ซึ่งเหตุการณ์ที่ขาดหายไปเมื่อนำมาประกอบรวมกันจะทำให้เห็นเจตนาในการปราศรัยของเขาทั้งหมด
 
ชินวัตรเบิกความว่า หากในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามารับหนังสือจากผู้ชุมนุม เชื่อว่าเหตุการณ์จะไม่บานปลาย เพราะผู้ชุมนุมเพียงตั้งใจมายื่นหนังสือต่อศาลเท่านั้น สำหรับถ้อยคำที่ถูกนำมากล่าวหาตัวเขาในคดีนี้ซึ่งเป็นคำหยาบและมีข้อความที่เขากล่าวหาว่าศาลไทยมีฆาตกร ชินวัตรเบิกความว่าก่อนการชุมนุมประมาณสองวันมีข่าวว่าพริษฐ์หรือเพนกวิ้นซึ่งอยู่ระหว่างอดอาหารประท้วงที่ศาลไม่ให้ประกันตัวขับถ่ายโดยมีก้อนเนื้อปนออกมาเพราะกระเพาะอาหารเริ่มย่อยเนื้อเยื่อภายใน เขาจึงปราศรัยไปเช่นนั้นเพราะเกรงว่าหากพริษฐ์ไม่ได้รับการประกันตัวอีกจะได้รับอันตรายถึงชีวิต ทั้งจากการอดอาหาร และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ในเรือนจำ
 
ชินวัตรเบิกความว่าคำปราศรัยของเขาทั้งหมดหากฟังโดยรวมจะเข้าใจได้ว่าเขาเพียงต้องการสื่อว่าอยากให้ศาลไทยดำรงอยู่อย่างสง่างาม ไม่เป็นเครื่องมือของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เขายังกล่าวด้วยว่าไม่ได้ต้องการให้ศาลมาเข้าข้างผู้ชุมนุมแต่ขอให้ปฏิบัติตามหลักกฎหมายเท่านั้น ส่วนการปราศรัยในบริเวณศาลเป็นความผิด ข้อนั้นเขาไม่ทราบ เขาทราบเพียงว่าหากไปชุมนุมหรือปราศรัยในอาคารศาลจึงจะเป็นความผิด สำหรับลำโพงที่เขาใช้ปราศรัยก็เป็นเพียงลำโพงขนาดเล็ก 
 
ชินวัตรเบิกความด้วยว่าระหว่างการชุมนุมยังมีเหตุการณ์ที่ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาศาลอาญาออกมาโต้เถียงกับผู้ชุมนุมบางคนซึ่งตัวชนาธิปเป็นคนออกคำสั่งไม่ให้ประกันพริษฐ์ เขาจึงเห็นว่าการที่ชนาธิปลงมาเป็นการยั่วยุผู้ชุมนุมและการมาของชนาธิปก็ทำให้ผู้ชุมนุมรวมทั้งตัวเขาเกิดอารมณ์โกรธ 
 
ทนายขออนุญาตาลถามคำถามผู้ถูกกล่าวหา
 
ทนายถามชินวัตรว่าในวันเกิดเหตุมาถึงศาลประมาณกี่โมงและมีผู้ชุมนุมประมาณกี่คน ชินวัตรตอบว่าเขามายืนที่แผงกั้นตรงมุกศาลในเวลาประมาณ 13.30 น. ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมประมาณ 100 คนเศษ ในวันนั้นตอนที่มาถึงศาลไม่ได้ปิดประตูรั้วหรือมีมาตรการใดเป็นพิเศษ พวกเขาสามารถเดินเข้ามาในศาลได้เลย ส่วนเครื่องเสียงที่เบิกความตอบศาลไปตอนแรกเขาก็ไม่ทราบว่าเป็นของบุคคลใด 
 
ชินวัตรเบิกความตอบทนายจำเลยด้วยว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดและผู้ชุมนุมเกิดอารมณ์เป็นเพราะมีคนของศาลมาบอกว่าหากผู้ชุมนุมไม่ออกนอกศาลก็จะเลื่อนการอ่านคำสั่งออกไปว่าจะให้ประกันตัวพริษฐ์กับพวกหรือไม่ นอกจากนั้นการที่ไม่มีตัวแทนศาลออกมารับหนังสือกับรายชื่อที่พวกเขาระดมมาก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดอารมณ์เพราะเขาทราบว่าโดยทั่วไปเวลามีคนมายื่นหนังสือกับศาลหรือหน่วยราชการอ่านก็จะมีคนมารับหนังสืออยู่เสมอ
 
ชินวัตรเบิกความตอบทนายด้วยว่าเหตุผลหนึ่งที่เขามาร่วมชุมนุมเป็นเพราะเขาไม่เห็นด้วยที่ศาลสั่งให้คุมขังนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีไว้ก่อนเพราะบุคคลเหล่านั้นยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ 
 
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
หลังเสร็จการไต่สวนศาลนัดฟังคำสั่งในเวลา 14.00 น. และสั่งยุติการพิจารณาคดีช่วงเช้าในเวลาประมาณ12.10 น.
 
เวลา 14.20 น. ศาลกลับขึ้นบัลลังก์และอ่านคำสั่งลงโทษจำคุกชินวัตรเป็นเวลาสี่เดือนโดยให้เหตุผลว่าพฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง และผู้ชุมนุมทราบจากประกาศของตำรวจแล้วว่ากำลังกระทำการขัดต่อข้อกำหนดศาลแต่ยังคงดำเนินการชุมนุมต่อจึงถือว่ามีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย นอกจากนั้นผู้ถูกกล่าวหายังมีพฤติการณ์ปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมฮึกเหิม ถือเป็นการกระทำที่ไม่ยำเกรงต่อ กฎหมาย
 
หลังศาลมีคำสั่งจำคุกทนายความของชินวัตรวางเงินสด 10,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ประกันตัว ซึ่งศาลอนุญาต
 
2 มิถุนายน 2565
 
เวลา 9.45 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 904 ศาลอ่านคำสั่งใจความโดยสรุปว่า เนื่องจากชินวัตรให้การรับว่าเข้าร่วมการชุมนุมและได้ร่วมปราศรัยในวันที่ 29 เมษายน 2564 จริง ตามที่ปรากฏหลักฐานในแผ่น CD บันทึกเหตุการณ์ แต่มีข้อโต้แย้งว่า ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวยังขาดข้อเท็จจริงบางส่วน ได้แก่ ช่วงการยื่นหนังสือต่อศาลขอให้มีการปล่อยตัว พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งหากศาลลงมารับหนังสือ ความวุ่นวายของเหตุการณ์ในวันดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น อีกทั้งชินวัตรยังได้ขอยื่นอุทธรณ์ว่า โทษจำคุก 4 เดือนของศาลชั้นต้นนั้นหนักเกินไป ซึ่งศาลมองว่าคำแถลงของชินวัตรฟังขึ้นบางส่วน จึงมีคำสั่งให้ลดโทษจากจำคุก 4 เดือน เป็นกักขัง 1 เดือน
 
ภายหลังอ่านคำสั่ง มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พาตัวชินวัตรเดินแยกออกไป โดยทนายความของชินวัตรได้ทำเรื่องยื่นประกันตัวและกล่าวว่าอาจมีการทำเรื่องในชั้นฎีกาต่อไปภายในหนึ่งเดือนนับจากนี้

คำพิพากษา

สรุปคำสั่งศาลชั้นต้น
 
ในวันเกิดเหตุแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายชุมนุมที่ศาลอาญาเพื่อให้กำลังใจพริษฐ์ ชิวารักษ์กับพวก ซึ่งถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ที่ศาลอาญาและไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี ในวันเกิดเหตุวันที่ 29 เมษายน 2564 มีประชาชนประมาณ 300 คน เดินทางมาชุมนุมที่บริเวณศาลและมีการใช้เครื่องเสียงปราศรัย เบนจา อะปัญและณัฐชนนท์ ไพโรจน์ ผลัดกันปราศรัย ขณะที่ชินวัตรผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ก็ปราศรัยต่อว่าศาลว่า ศาลเป็นฆาตกรและมีข้อความอื่นๆที่เป็นถ้อยคำหยาบคาย ก้าวร้าว และเป็นการดูหมิ่นศาลอาญาและผู้พิพากษาศาลอาญาอย่างรุนแรง เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย
 
ช่วงต้นของการชุมนุมเจ้าพนักงานจากสน.พหลโยธินได้อ่านข้อกำหนดเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลให้ผู้ชุมนุมฟังและขอให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อยแต่ผู้ชุมนุมหาฟังไม่ จึงถือว่าผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อมูลเรื่องข้อกำหนดศาลแล้วแต่มีเจตนาฝ่าฝืน ทั้งผู้ถูกกล่าวหาก็มีพฤติการณ์ปราศรัยให้ผู้ชุมนุมเกิดความฮึกเหิม ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างของผู้ถูกกล่าวหา พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรงและเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล พิพากษาจำคุก 4 เดือน 
 
สรุปคำสั่งศาลอุทธรณ์
 
เนื่องจากชินวัตรให้การรับว่าเข้าร่วมการชุมนุมและได้ร่วมปราศรัยในวันที่ 29 เมษายน 2564 จริง ตามที่ปรากฏหลักฐานในแผ่น CD บันทึกเหตุการณ์ แต่มีข้อโต้แย้งว่า ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวยังขาดข้อเท็จจริงบางส่วน ได้แก่ ช่วงการยื่นหนังสือต่อศาลขอให้มีการปล่อยตัว พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งหากศาลลงมารับหนังสือ ความวุ่นวายของเหตุการณ์ในวันดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น อีกทั้งชินวัตรยังได้ขอยื่นอุทธรณ์ว่า โทษจำคุก 4 เดือนของศาลชั้นต้นนั้นหนักเกินไป ซึ่งศาลมองว่าคำแถลงของชินวัตรฟังขึ้นบางส่วน จึงมีคำสั่งให้ลดโทษจากจำคุก 4 เดือน เป็นกักขัง 1 เดือน

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา