ไดโน่, เลิศศักดิ์ : เปิดลำโพงเสียงดัง ละเมิดอำนาจศาล

อัปเดตล่าสุด: 18/01/2566

ผู้ต้องหา

นวพล หรือ ไดโน่ และ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

สถานะคดี

ชั้นศาลฎีกา

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ชวัลนารถ ทองสม ผู้อำนวยการประจำสำนักอำนวยการศาลอาญา

สารบัญ

8 มีนาคม 2564 อัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร รุ้ง-ปนัสยา, ไมค์-ภาณุพงศ์, ไผ่-จตุภัทร์ ตามมาตรา 112 ต่อศาลอาญา วันดังกล่าวมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาให้กำลังใจประมาณ 100 คน  ในระหว่างที่รอการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ชุมนุมปราศรัยบริวเณหน้าศาลอาญา เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากเครือข่าย People Go และไดโน่-นวพล ต้นงาม สมาชิกหมู่บ้านทะลุฟ้า เป็นผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐาละเมิดอำนาจศาล 
 
จากบันทึกคำกล่าวหา และการสืบพยานฝ่ายผู้กล่าวหา การปราศรัยของทั้งสองคนไม่มีเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นความผิดใด แต่พฤติกรรมการชุมนุมเปิดเครื่องขยายเสียง และหันลำโพงเข้าหาศาล รบกวนการพิจารณาคดีอื่นๆ 
 
22 ธันวาคม 2564 หลังไต่สวนแล้ว ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนได้จัดการชุมนุมและใช้เครื่อยขยายเสียง แม้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการแจ้งให้ยุติการกระทำดังกล่าว แต่ก็ยังคงปราศรัย ปลุกเร้าผู้ชุมนุมและมีผลต่อการกระบวนการพิจารณาคดี จึงไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและเป็นการประพฤติตัวไม่เรียบร้อย อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลให้จำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา ต่อมาจำเลยอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นวพล ต้นงาม หรือไดโน่ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาชิกกลุ่ม Unme of Anarchy หนึ่งในนักกิจกรรมคนสำคัญที่จัดกิจกรรม "เดินทะลุฟ้า" จากจังหวัดนครราชสีมาเข้ากรุงเทพ และเป็นสมาชิกก่อตั้ง "หมู่บ้านทะลุฟ้า" ที่ปักหลักข้างทำเนียบรัฐบาล 2 สัปดาห์ก่อนถูกสลายการชุมนุม
 
 
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากเครือข่าย People Go ก่อนหน้านี้ เลิศศักดิ์ อยู่กลุ่มศึกษานิเวศน์วัฒนธรรม ซึ่งศึกษาผลกระทบจาการทำเหมืองแร่ และร่วมในการต่อต้านการทำเหมือนหินดงมะไฟ เพื่ออนุรักษ์ป่าชุมชน-เขาเหล่าใหญ่ผาจันได อ. สุวรรณคูหา จ. หนองบัวลำภู และเหมืองแร่ในอีกหลายพื้นที่ เลิศศักดิ์เป็นหัวหน้าพรรคสามัญชนซึ่งส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2562 และเป็นหนึ่งในคนสำคัญที่จัดกิจรรม "เดินทะลุฟ้า" ร่วมกับไดโน่
 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ในบันทึกคำกล่าวหา ระบุว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 อัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จำนวน 18 คนต่อศาลอาญา ซึ่งวันดังกล่าวมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาให้กำลังใจประมาณ 100 คน ในระหว่างที่รอการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ชุมนุมรวมตัวกันและปราศรัยที่หน้าสำนักงานอัยการสูงสุดในช่วงเช้า และที่หน้าศาลอาญาในช่วงบ่าย โดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียง โดยหันหน้าลำโพงไปยังบริเวณหน้าศาลอาญารัชดา เพื่อเปิดเพลง ปราศรัย และพูดคุย ซึ่งมีเจตนาให้เกิดเสียงดัง ก่อให้เกิดความรำคาญ และอาจรบกวนการพิจารณาคดีหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในศาลในคดีต่างๆ ที่มีนัดพิจารณาคดีในวันดังกล่าวกว่าร้อยคดี จึงเป็นเหตุให้ ชวัลนารถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ทำรายงานเสนอท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
 
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีการจับกุมเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาไปรายงานตัว

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ลศ.2/2564

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
8 มีนาคม 2564
 
ผู้ต้องหาคดีการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร 18 คน มีกำหนดเข้าฟังคำสั่งคดีกับอัยการอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้งหมดมีนัดเข้าฟังคำสั่งคดีในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 แต่อัยการเลื่อนนัดคำสั่งคดีออกมาเป็นวันนี้เนื่องจากในนัดก่อนอัยการเพิ่งได้รับสำนวนคดีจากตำรวจจึงยังไม่สามารถมีคำสั่งคดีได้
 
ผู้ต้องหาหลายคนและผู้มาให้กำลังใจร่วมกันเดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าวไปถึงที่สำนักงานอัยการ เมื่อมาถึงพบว่าประตูรั้วสำนักงานอัยการบางส่วนถูกปิด รปภ.ขอให้ผู้ที่ประสงค์จะเข้าไปในพื้นที่ทุกคนแลกบัตรประจำตัวก่อน ระหว่างนั้นก็มีเสียงประกาศของเจ้าหน้าที่ว่า สำนักงานอัยการสูงสุดออกข้อกำหนดเพื่อความเรียบร้อย ขอให้ผู้ที่มาติดต่อผ่านจุดคัดกรองและเข้ามารอในพื้นที่พักคอยที่เตรียมไว้ 
 
เวลาประมาณ 11.20 น. อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 18 คน โดยจตุภัทร์, ภาณุพงศ์และปนัสยาถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ขณะที่ผู้ต้องหาอื่นๆอีก 14 คนที่ไม่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 มีข้อหาหลัก คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 
 
หลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี ทนายความพร้อมด้วยผู้ต้องหาทั้งหมดเดินเท้าไปที่ศาลอาญาเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการฟ้องคดี ขณะที่ผู้มาให้กำลังใจก็เคลื่อนขบวนไปที่หน้าศาลอาญาเช่นกัน
 
12.22 น. ขบวนเดินทะลุฟ้า อยู่ด้านหน้าประตูทางเข้าศาลอาญา มวลชนปักหลักรอหน้าประตูศาลอาญา ตัวแทนปราศรัยว่า จะนั่งรออยู่หน้าประตูเพื่อดูใจศาล
 
ในวันนี้ศาลอาญายังมีการแจกจ่ายข้อกำหนดศาลอาญา ซึ่งสรุปได้ว่าเพื่อการรักษาความสงบและความปลอดภัยในบริเวณศาล ห้ามไม่ให้ผู้ใดประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา เช่น ทำลายทรัพย์สิน ปีนเข้าไปในบริเวณศาลให้คำพูดหรือกริยาไม่เรียบร้อย ก่อความรำคาญ ส่งเสียงดัง ใช้เครื่องขยายเสียง บันทึกภาพ ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ต่างๆทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือกระทำการอื่นในลักษณะส่งเสริม ยั่วยุ หรือก่อให้เกิดความเรียบร้อยในศาลอาญา โดยผู้กระทำการดังกล่าวถือว่ามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ขณะที่การรักษาความปลอดภัยที่หน้าศาลก็เป็นไปอย่างเข้มงวด เจ้าหน้าที่มีการคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปในพื้นที่ศาลว่ามาด้วยเหตุใด 
 
เวลา 15.22 น. เฟซบุ๊กของจตุภัทร์ปรากฏข้อความข้อความว่า “ศาลไม่ให้ประกัน ไผ่ ไมค์ รุ้ง สู้ๆนะทุกคน” โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากพริ้ม แม่ของไผ่ เธอระบุว่า ตำรวจเดินมาบอกเรื่องคำสั่งของศาลและจากนั้นจึงพาตัวทั้ง 3 คนออกไปเรือนจำแล้ว
 
15.50 น. ตัวแทนประกาศกิจกรรมเดินทะลุฟ้า v2 มุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาล ขอให้ทุกคนเตรียมตัวและติดตามกำหนดการ “นี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายและเราจะไม่ยอมแพ้” ในช่วงเย็นก็ประกาศให้เลิกการชุมนุม
 
ดูรายละเอียดการชุมนุมในวันนี้ได้ทาง Mobdatathailand.org
 
 
26 เมษายน 2564 
 
ศาลอาญานัดไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาล เลิศศักดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่สองได้รับหมายเรียกแล้วมาศาลตามกำหนดพร้อมทนายความ ส่วนนวพล ยังไม่ได้รับหมายเรียก ไม่ได้มาศาล ซึ่งทนายความแจ้งต่อศาลด้วยว่า นวพลอยู่ในระหว่างการกักตัวเพราะเสี่ยงติดเชื้อโควิด
 
ศาลได้แจ้งให้เลิศศักดิ์รับทราบถึงข้อกล่าวหาฐานละเมิดอำนาจศาล เลิศศักดิ์รับทราบแล้วให้การปฏิเสธ 
 
ในรายงานกระบวนพิจารณาคดีระบุว่า แม้คดีละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31 (1) เป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงที่มีการกล่าวหา การดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่การดำเนินคดีอาญาทั่วไปและไม่ใช่การสืบพยานปกติแต่เป็นการไต่สวนโดยการสอบข้อเท็จจริงและการสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้รู้เห็นเหตุการณ์หรือผู้เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับสถานการณ์การแพทยระบาดของโรค โควิด-19 จึงมีเหตุจำเป็นให้เลื่อนนัดไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เวลา 9.00 น.
 
 
15 มิถุนายน 2564 
 
เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดสืบพยานของฝ่ายผู้กล่าวหา โดยมี ชวัลนารถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอัยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา
 
เวลา 09.00 น. นักกิจกรรมกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้าบางส่วน ตั้งขบวนเดินเท้ามาจากแยกรัชดา-ลาดพร้าว มายังบริเวณหน้าทางเข้าศาลอาญารัชดาภิเษก ประตูแปด มีวัตุถุประสงค์เพื่อมาให้กำลังใจและมาส่ง 
“เพื่อน” คือ เลิศศักดิ์ และ ไดโน่-นวพล โดยมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการใช้กากบาทปิดทับใบหูและหน้ากากอนามัย เพื่อแสดงออกถึงความยากลำบากของการใช้เสรีภาพในการแสดงออก พร้อมทั้งมีการชูป้ายด้วยข้อความว่า “เพื่อนเราพูดความจริง” และ  “ศาลต้องคุ้มครองเสรีภาพ” รวมถึงนั่งสงบนิ่งเป็นเวลาประมาณสิบห้านาที
 
ด้านหน้าห้องพิจารณาคดีที่ 812 เจ้าพนักงานตำรวจศาล ให้งดการนำโทรศัพท์เข้าห้องพิจารณาคดี โดยให้ปิดเสียง หรือปิดเครื่อง และฝากไว้กับเจ้าพนักงานฯ ด้านนอก 
 
หลังจากศาลขึ้นบัลลังก์ ก่อนการไต่สวนศาลได้แจ้งว่า ศาลมีข้อกำหนดไม่ให้ถ่ายภาพ ไม่ให้บันทึกเสียง ไม่ให้บันทึกบทสนทนาระหว่างผู้พิพากษาและทนายความ หากฝ่าฝืนอาจถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล ในวันดังกล่าว มีผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์พร้อมกันสี่คน ศาลย้ำชัดว่า จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยระบุว่า การดำเนินคดีนี้เป็นกฎหมายแบบพิเศษ หากศาลเป็นผู้เห็นเหตุการณ์สามารถตัดสินคดีได้เลย หรือหากศาลจะสืบพยานเพียงฝ่ายเดียวก็สามารถทำได้ แต่ศาลต้องการให้โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่แก่ผู้ถูกกล่าวหาด้วยเช่นกัน
 
ในการไต่สวนพยานวันนี้ มีพยานรวมทั้งหมดสามปาก ได้แก่ ชวัลนารถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา, ร.ต.อ.ตฤณ รัตนแก้ว เจ้าพนักงานตำรวจศาล และพ.ต.ท. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กํากับการปราบปราม สน. พหลโยธิน ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
 
พยานปากที่หนึ่ง ชวัลนารถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา
 
ชวัลนารถเบิกความว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 หลังกลุ่มมวลชนเคลื่อนขบวนจากสำนักงานอัยการสูงสุดมายังหน้าศาลอาญารัชดา พร้อมรถเครื่องขยายเสียงโดยหันลำโพงไปยังศาล เปิดเพลง ปราศรัย พูดคุย ซึ่งมีเจตนาให้เกิดเสียงดัง ก่อให้เกิดความรำคาญ และอาจรบกวนการพิจารณาคดีหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของศาลในคดีอื่นๆ ซึ่งมีนัดพิจารณาคดีในวันเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้ทำรายงานเสนอท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
 
หากเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่ได้ส่งเสียงดังรบกวนบริเวณศาล สามารถจัดกิจกรรมต่อไปได้และไม่เข้าข่ายการละเมิดอำนาจศาล เช่น การที่ผู้ชุมนุมนั่งอย่างสงบเรียบร้อยบริเวณริมถนนด้านนอกศาล แต่ในทางกลับกัน ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีการหันลำโพงไปยังศาลและมีเสียงเล็ดลอดไปด้านในศาล ซึ่งมีการพิจารณาคดีอื่นอยู่ในวันเดียวกันด้วย
 
เมื่อทนายความถามค้าน ผอ.ฯ ระบุว่า ในขณะที่มีการชุมนุม ตนเองทำงานอยู่ที่ชั้นสองของศาลอาญา และได้เดินออกมาดูเป็นระยะๆ ลักษณะการปราศรัยนั้น ไม่ได้ใช้คำหยาบคาย หรือขู่เข็ญด่าทอศาล แต่เป็นการให้กำลังใจผู้ต้องหา เมื่อมีการเตือนเสียงก็หยุดลง และมีดังขึ้นบ้างเป็นระยะๆ โดยในวันนั้น ไม่ได้รับการรายงานว่ามีการเลื่อนพิจารณาคดีด้วยเหตุจากการชุมนุม
 
 
พยานปากที่สอง ร.ต.อ.ตฤณ รัตนแก้ว เจ้าพนักงานตำรวจศาล
 
ร.ต.อ.ตฤณเบิกความว่า เวลา 13.00 น. ของวันดังกล่าว ตนเองได้ออกไปเจรจา โดยขอความร่วมมือจากผู้ชุมนุม ให้ลดเสียงลง เนื่องจากใช้เสียงดังเกินไปจนเกิดแรงสั่นสะเทือนไปถึงด้านใน จึงมีการแจ้งข้อกำหนดของศาลให้ผู้ชุมนุมทราบ เมื่ออ่านจบจึงได้ทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการแจ้งข้อกำหนดกับทีมเจรจาของผู้ชุมนุม ถึงแม้ระหว่างอ่านจะมีคนฟังบ้าง เป่าแตรแทรกบ้าง แต่ภายหลังจากนั้นเสียงก็เบาลง สลับกับการปราศรัยบ้างเป็นครั้งคราว ภายหลังจากนั้น เมื่อผู้ชุมนุมทราบว่า ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวรุ้ง-ปนัสยา, ไมค์-ภาณุพงศ์และไผ่-ดาวดิน การชุมนุมก็สิ้นสุดลง
 
เมื่อทนายถามค้าน ตำรวจศาลตอบว่า ผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงในเวลาก่อนเที่ยงเล็กน้อย ช่วงเวลาที่ใช้เครื่องขยายเสียงส่วนใหญ่จึงอยู่ในช่วงเวลาพักเที่ยงต่อไปยังช่วงบ่าย ลำโพงของเครื่องขยายเสียงติดตั้งอยู่บนรถสามล้อซึ่งหันหน้าลำโพงออกไปยังท้ายรถ ตอนจอดรถผู้ชุมนุมก็ได้หันท้ายรถเข้าไปยังบริเวณศาล เนื่องจากหากจอดเป็นแนวขวาง อาจกีดขวางทางเข้า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่แจ้งว่าไม่ประสงค์จะเข้าไปยังพื้นที่ที่จัดไว้ให้ เนื่องจากจะไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ แต่ก็มีชุมนุมบางส่วนที่ป็นผู้สูงอายุ เข้ามานั่งพักในบริเวณศาลที่เป็นที่ร่ม ผู้ชุมนุมสื่อสารกับเจ้าหน้าที่เป็นปกติ เมื่อเจรจาจบแล้ว "โน่" จึงได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมนั่งลง ไม่ส่งเสียงดัง และชูสามนิ้ว เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ 
 
ตำรวจศาล ระบุเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วเมื่อมีคดีเกี่ยวกับการเมือง จะมีผู้ชุมนุมมาให้กำลังใจบ่อยๆ ประตูทางเข้าที่ 8 ก็จะเปิดให้ใช้สัญจรได้เป็นปกติ และมีการใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อควบคุมผู้ชุมนุมเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ในวันดังกล่าว มีการใช้เสียงดังมากกว่าปกติ ไม่มีการใช้ความรุนแรง หรือถ้อยคำหยาบคาย มีการปราศัยว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นการขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งเป็นสิทธิของจำเลยในคดีอาญา ในวันนั้น ผู้ชุมนุมนั่งบนถนนหนึ่งเลนหน้าศาล ไม่มีการปิดถนน รถสามารถสัญจรผ่านไปมาได้
 
 
พยานปากที่สาม พ.ต.ท. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กํากับการปราบปราม สน.พหลโยธิน
 
พ.ต.ท. ศักดิ์ชัย เบิกความว่า ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณศาลและโดยรอบ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เดิมที ผู้ชุมนุมไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดก่อน แล้วจึงเคลื่อนมาหน้าประตูที่ 8 ทางเข้าศาลอาญา ในวันนั้นมีผู้ชุมนุมเกิน 100 คนและมีการใช้เครื่องขยายเสียง จึงได้ประสานงานไปยังเจ้าพนักงานตำรวจศาลให้ปิดทางเข้าออกประตู 8 และลดการใช้เครื่องขยายเสียง อย่างไรก็ตาม การเจรจาเบื้องต้นเรื่องการใช้เสียงไม่เป็นผล จนเวลาประมาณ 13.30 ผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน ได้แจ้งเตือนไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลอาญา รวมถึง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ 
 
ผู้ชุมนุมไม่ได้มีการเปลี่ยนจากการใช้ลำโพงขนาดใหญ่ไปใช้ขนาดเล็กแทน แต่ยังคงใช้ลำโพงเดิมอย่างต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ส่วนในกรณีการปล่อยตัวชั่วคราว ในวันนั้นมีบางส่วนได้รับการปล่อยตัว และมีบางส่วนที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน โดยในปัจจุบันได้รับการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวไปหมดแล้ว เมื่อผู้ชุมนุมทราบคำสั่งศาลแล้ว การชุมนุมก็ได้ยุติลง 
 
ศาลจึงให้เปิดคลิปวิดีโอที่นำส่งหลักฐานโดยตำรวจให้ทุกคนดู โดยในห้องพิจารณาคดีมีการติดตั้งจอภาพหลายมุมเพื่อให้ทุกคนสามารถร่วมรับชมพร้อมกันได้ และยังให้ผู้ถูกกล่าวหาตรวจสอบข้อความที่ถอดเทปมาจากคลิปวิดีโอเพื่อยืนยันว่า เป็นคำพูดที่พูดจริง โดยตำรวจเบิกความว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นคนถ่ายคลิป แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนเป็นคนรวบรวมมานำส่ง 
 
เวลา 16.00 น. เสร็จสิ้นการสืบพยานสามปาก ศาลได้สอบถามไปยังทนายความและผู้ถูกกล่าวถึงการรับวัคซีนโควิด-19 แต่เนื่องจากยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ศาลจึงให้เลื่อนการนัดหมายครั้งต่อไปเป็นระยะเวลาหลายเดือน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด โดยศาลนัดสืบพยานของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาอีกครั้งในวันที่ 13 กันยายน 2564
 
 
13 กันยายน 2564
 
 
เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาอยู่ระหว่างการกักตัวเพราะเสี่ยงติดเชื้อโควิด19 จึงไม่ได้มาศาล ศาลอนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 22 ธันวาคม 2564
 
 
22 ธันวาคม 2564
 
ศาลได้ไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองปาก มีสาระสำคัญโดยสรุป คือ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรวมตัวกับกลุ่มประชาชน โดยมีเจตนามาให้กำลังใจและรับฟังคำสั่งฟ้องต่อศาลอาญาในคดีของปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กับพวกรวม 18 คน ในกรณีชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร เท่านั้น ต่อมาเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องปนัสยาและพวกแล้ว ทั้งสองก็เคลื่อนย้ายการรวมตัวกันจากหน้าตึกสำนักงานอัยการสูงสุดมาที่หน้าศาลอาญา เพื่อรอฟังคำสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราวของเพื่อนนักกิจกรรมต่อ 
 
การใช้เครื่องขยายเสียงในที่หน้าศาลอาญานั้น เป็นไปเพื่อดูแลความเรียบร้อยของประชาชนที่มาร่วมให้กำลังใจนักกิจกรรมซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50 คน และป้องกันไม่ให้ทุกคนเข้าไปในบริเวณศาลจนเกิดการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของศาล ซึ่งอาจเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาล   
 
ส่วนการปราศรัยของทั้งสองคนนั้น ก็เป็นการปราศรัยในประเด็นสิทธิในการประกันตัวในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่แล้ว อันเป็นการกระทำที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา 44 วรรค 1 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ 
 
หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น เวลาประมาณ 11.00 น.  ศาลได้นัดฟังคำสั่งคดีนี้ในช่วง 15.00 น. ในทันที 
 
ศาลพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนได้จัดการชุมนุมและใช้เครื่องขยายเสียง แม้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการแจ้งให้ยุติการกระทำดังกล่าว แต่ ผู้ถูกกล่าวหาไม่ปฏิบัติตามก็ยังคงปราศรัย โดยมีใจความว่า จะรอดูความยุติธรรมจากศาล มาดูใจศาล ซึ่งศาลเห็นว่า พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการปลุกเร้าผู้ชุมนุมและมีผลต่อการกระบวนการพิจารณาคดี จึงไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและเป็นการประพฤติตัวไม่เรียบร้อยอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 และ 31(1)
 
ศาลมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 1 เดือน และปรับเงินอีก 500 บาท แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกจึงให้รอการลงโทษ (รอลงอาญา) เป็นเวลา 1 ปี
 
 
17 มกราคม 2566
 
ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
คำพิพากษาโดยสรุปว่า การที่จำเลยชุมนุมและหันลำโพงเข้าไปทางศาลอาญา ทำให้ผู้ที่อยู่ด้านในศาลอาญาได้ยิน ก่อความรำคาญ เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของศาล การใช้ข้อกำหนดศาลอาญาชอบด้วยกฎหมาย เห็นพ้องลงโทษตามศาลชั้นต้น พิพากษายืนให้จำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 
 
 

คำพิพากษา

 

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองนั้นเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 กับกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากเดินไปรออยู่หน้าประตู 8 มีการนำเครื่องเสียงมาใช้ในการพูดคุย ร้องเพลง หันลำโพงเข้าไปในศาลอาญา 
 
ต่อมาเมื่อตำรวจศาลเข้าไปเจรจาให้หยุดใช้เครื่องขยายเสียง ก็ไม่ยอมหยุด เมื่อตำรวจสน.พหลโยธินประกาศแจ้งเตือนในยุติการกระทำดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ไม่ยอมรับฟัง ยังชักชวนกลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนต่อไป ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ร่วมใช้เครื่องขยายเสียงด้วย แม้เป็นการกระทำนอกบริเวณศาล แต่ก็อยู่บริเวณติดเแนวรั้วหน้าศาลอาญา ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลให้มีเสียงดังรบกวน แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เป็นพฤติการณ์ขัดขวาง 
 
คำพูดบางช่วงบางตอนซึ่งต่อเนื่องกัน เช่น “รอความยุติธรรมของศาล ที่นี่ศาลอาญารัชดาเนี่ย มีความยุติธรรมกับเราหรือเปล่า พี่น้องเอ้ย ปล่อยเพื่อนเรา …………….. เพื่อนเราเข้าไปแล้ว เราจะสู้ต่อมั้ย เราจะยอมรับกับความยุติธรรมอย่างนี้ เราจะต่อสู้ต่อใช้มั้ย เราจะลุยต่อใช่มั้ย …………… วันนี้แจ้งให้ศาลทราบว่า วันนี้เรามาดูใจศาล เรามาดูใจศาลเท่านั้น แล้วเราก็อยู่ …… ไปเรื่อยๆ ว่า พี่น้องเราได้รับการประกันตัวหรือเปล่า ………. เข้าลักษณะปลุกเร้า และแสดงออกถึงอำนาจของกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อให้มีผลต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในคดีที่พวกของกลุ่มผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนั้น มิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
 
จากพฤติการณ์ข้างต้น ศาลระบุว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31 (1) โดยศาลสั่งลงโทษจำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 500 บาท แต่เนื่องจากทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ไม่ปรากฎความเสียหายอย่างอื่นจึงให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดีของสังคม โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ก่อนเป็นเวลา 1 ปี โทษปรับให้คงไว้เหมือนเดิม 
 
 
สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
คำพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 33 และ 44 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญให้ถือใช้ไม่ได้ อย่างไรก็ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิอยู่บ้าง แต่ไม่ได้เพิ่มภาระจนเกินสมควรแก่เหตุ การที่จำเลยชุมนุมและหันลำโพงเข้าไปทางศาลอาญา ทำให้ผู้ที่อยู่ด้านในศาลอาญาได้ยิน ก่อความรำคาญ เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของศาล พิจารณาแล้วมาตรการจำกัดสิทธิที่สอดคล้องกับหลักความจำเป็นความได้สัดส่วน พอเหมาะเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นทั่วไปไม่ได้มุ่งใช้เฉพาะเจาะจง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ยกอุทธรณ์ของจำเลย
 
สำหรับที่จำเลยอุทธรณ์เรื่องข้อกำหนดศาลอาญาว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาไม่มีอำนาจในการออกข้อกำหนดทำให้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิจารณาแล้วอธิบดีฯ นอกจากจะมีอำนาจในการบริหารแล้วยังมีอำนาจในทางตุลาการที่ออกข้อกำหนดที่ใช้ภายในและรอบศาลอาญา ทำให้เกิดความเรียบร้อย การใช้ข้อกำหนดศาลอาญาจึงชอบด้วยกฎหมาย เห็นพ้องลงโทษตามศาลชั้นต้น พิพากษายืนให้จำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 
 
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา