การชุมนุมหน้าสภ.ภูเขียว

อัปเดตล่าสุด: 13/07/2564

ผู้ต้องหา

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 นักกิจกรรม “ราษฎร” ผู้จัดค่าย “ราษฎรออนทัวร์” จัดการชุมนุมหน้าสภ.ภูเขียว  อ. ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว แถลงข่าวต่อสาธารณะเพื่อขอโทษกรณีที่ไปติดตามคุกคามนักเรียนที่ลงชื่อสมัครเข้าร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 ในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมนำป้ายผ้าเขียนข้อความต่างๆ เช่น "ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” “SAVE เมียนมาร์” และ “เจ้าของประเทศที่แท้จริงคือ ปชช.” มาติดบริเวณสภ.ภูเขียวซึ่งทางกลุ่มใช้จัดการชุมนุมด้วย ไผ่ จตุภัทร์ และ ครูใหญ่อรรถพล ยังขึ้นปราศรัยโดยที่เนื้อหาบางส่วนพูดถึงการปฏิรูปหรือจำกัดอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย
 
ในเวลาต่อมามีผู้ร่วมชุมนุมอย่างน้อยสามคนได้แก่จตุภัทร์, อรรถพล, และไมค์ภาณุพงศ์ ซึ่งร่วมการชุมนุมและขึ้นปราศรัยที่หน้าสภ.ภูเขียว ถูกออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อกล่าวหาอื่นๆ จคตุภัทร์และอรรถพลเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2564 ทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและได้รับการปล่อยตัว ส่วนภาณุพงศ์ยังไม่ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 โดยเขาให้การปฏิเสธและได้รับการปล่อยตัวหลังเข้าพบพนักงานสอบสวน

ภูมิหลังผู้ต้องหา

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่  บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เคยร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมและเป็นสมาชิกกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือ กลุ่มดาวดิน ทั้งยังเคยร่วมกิจกรรมกับประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ จตุภัทร์ และกลุ่มดาวดินเคยได้รับรางวัล “เยาวชนต้นแบบ” ในงานประกาศผลรางวัล “คนค้นฅนอวอร์ด” ครั้งที่ 5  
 
ในเดือนธันวาคม 2559 จตุภัทร์แชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่สิบของเว็บไซต์บีบีซีไทย จนเป็นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เบื้องต้นจตุภัทร์ได้รับการประกันตัวแต่ต่อมาเขาถูกถอนประกันเพราะโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในลักษณะ "เย้ยหยันอำนาจรัฐ" และหลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้รับการประกันตัวอีกเลย

เบื้องต้นจตุภัทร์ให้การปฏิเสธแต่ต่อมากลับคำให้การเป็นรับสารภาพ เขาถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน เขาพ้นโทษในเดือนพฤษภาคม 2562 รวมเวลารับโทษจำคุก 2 ปี 5 เดือน กับ 7 วัน ระหว่างที่จตุภัทร์อยู่ในเรือนจำเขาได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูในเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งครอบครัวของเขาต้องไปรับรางวัลแทนเพราะจตุภัทร์อยู่ในเรือนจำ

ภาณุพงศ์ จาดนอก เป็นชาวจังหวัดระยอง ถูกดำเนินคดีครั้งแรกจากกรณีที่เขาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ชูป้ายในจังหวัดระยองเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่จังหวัดระยองหลังเกิดกรณีทหารเรืออียิปต์ที่ติดเชื้อโควิด19 เข้าไปเที่ยวในพื้นที่

หลังถูกดำเนินคดีภาณุพงศ์เริ่มเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองระดับประเทศบ่อยครั้งขึ่้นโดยเข้าร่วมปราศรัยในการชุมนุมครั้งสำคัญตลอดปี 2563 หลายครั้ง เช่น การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกในเดือนกรกฎาคม 2563 การชุมนุมธรรมศษสตร์จะไม่ทนในเดือนสิงหาคม 2564 และการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร โดยประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในประเด็นที่ภาณุพงศ์มักหยิบยกมาปราศรัยจนเป็นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หลายคดี
 
อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ "ครูใหญ่" ประกอบอาชีพครูและติวเตอร์สอนวิชาสังคมและภาษาไทยให้นักเรียนมัธยมในจังหวัดขอนแก่นมาก่อน อรรถพลเริ่มมีบทบาททางการเมืองจากจัดการชุมนุมที่จังหวัดขอนแก่นในนามกลุ่มขอนแก่นพอกันที และดำเนินกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายภาคอีสาน ในนาม ‘ราษฎร โขง ชี มูล’ 
 
อรรถพลปราศรัยที่กรุงเทพมหานครครั้งแรกในการชุมนุมประชาชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563 
 
อรรถพลถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการร่วมการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีเป็นคดีแรกและถูกดำเนินคดีในข้อหาอื่นๆจากการร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพ อาทิ ข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการร่วมชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวง 
 
นอกจากประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนาก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อรรถพลมักหยิบยกขึ้นมาปราศรัย 

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

บันทึกการแจ้งกล่าวหา ลง วันที่ 11 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2564 พอสรุปได้ว่า
 
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เวลาประมาณ 08.00 น. ผู้ต้องหาทั้งสามกับพวกกลุ่มราษฎรอีก 20-30 คน จัดการชุมนุมและปราศรัยบริเวณข้างรั้วโรงเรียนภูเขียวและสถานีตำรวจภูธรภูเขียว โดยการจัดการชุมนุมดังกล่าวไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาและไม่ได้แจ้งจัดกิจกรรม เป็นการฝ่าฝืน ข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ 
 
ผู้ต้องหากับพวกแจ้งให้ผู้ร่วมชุมนุมทราบถึงจุดมุ่งหมายของการชุมนุมว่า เพื่อขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 
 
จตุภัทร์ ปราศรัยว่า ปัญหาของสังคมไทยที่ยาวนานคือสถาบันพระมหากษัตริย์ กษัตริย์ไทยรวยที่สุด แต่ประชาชนจนที่สุด ในยามวิกฤตกษัตริย์ไม่เคยมาเยียวยาหรือดูแลประชาชน นักภาษาศาสตร์ให้ความเห็นว่า คำพูดของจตุภัทร์มีความหมายที่เมื่อผู้ฟังได้ฟังแล้วจะเกิดความรู้สึกไม่ดี เกิดความเคลือบแคลงสงสัย และรู้สึกไม่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และก่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้ 
 
จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มของผู้ต้องหาเคลื่อนขบวนมาที่หน้า สภ.ภูเขียว มีการนําป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” และข้อความว่า “SAVE เมียนมาร์” มาติดที่บริเวณป้ายหน้าสถานีตํารวจ และติดป้ายเขียนข้อความว่า “เจ้าของประเทศที่แท้จริงคือ ปชช.” “หยุดคุกคามประชาชน” ที่รั้วด้านหน้าทางเข้า สภ.ภูเขียว
 
เวลา 16.45 น. จตุภัทร์ขึ้นปราศรัยอีกครั้ง มีเนื้อหาโดยสรุปว่า หลังการประชามติรัฐธรรมนูญ 60 ในเดือนสิงหาคม 2559 ผ่านพ้นไปแล้ว รัชกาลที่ 10 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านประชามติ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ คำพูดดังกล่าวสื่อให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจแก้กฎหมายโดยอำเภอใจ ซึ่งก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้ ทั้งยังทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเกิดความรู้สึกไม่ดี เกิดความเคลือบแคลง และไม่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์
 
ส่วนอรรถพลกล่าวปราศรัยใจความว่า ต้องจำกัดงบประมาณของกษัตริย์ ต้องไม่เอานโยบายรัฐบาลไปผูดขาดสัมปทานโรงงานปูนแถวสระบุรี ระเบิดภูเขา หายไปเป็นลูก ซึ่งสื่อความหมายให้คนที่ได้ฟังเข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์หรือพระมหากษัตริย์เป็นผู้บงการรัฐบาล เป็นการใส่ร้ายป้ายสีสถาบันกษัตริย์ โดยในการจัดกิจกรรมและการปราศรัยได้ทำการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กในเพจกลุ่มของผู้ต้องหาตลอดการชุมนุม ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

พฤติการณ์การจับกุม

จตุภัทร์กับอรรถพลเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกในวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ส่วนภาณุพงศ์ในวันที่ 11 มิถุนายนยังไม่ได้เข้ารายงานตัวเนื่องจากยังไม่ได้รับหมายเรียกและเขาเพิ่งได้รับการประกันตัวในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 จึงต้องกักตัวเพื่อดูอาการตามมาตรการเฝ้าระวังโควิด19 โดยภาณุพงศ์เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาระหว่างถูกคุมขังในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จนถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ภาพ cover จาก เพจ UNME of Anarchy

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

29 มกราคม 2564

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าหลังกลุ่มราษฎรนำโดยจตุภัทร์ประกาศจัดค่ายราษฎรออนทัวร์ในพื้นที่อำเภอวังสะพุงจังหวัดเลยและประกาศให้เยาวชนหรือนักเรียนที่สนใจร่วมทำกิจกรรม ปรากฎว่ามีนักเรียนในพื้นที่อำเภอภูเขียวอย่างน้อยสี่คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามคุกคาม นอกจากการติดตามโดยตำรวจแล้วครูของนักเรียนบางส่วนก็ไปพบลูกศิษย์เพื่อพูดคุยให้ถอนตัวจากกิจกรรมราษฎรออนทัวร์

1 กุมภาพันธ์ 2564

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานผ่านเฟซบุ๊กว่า นักกิจกรรมกลุ่มราษฎรจัดการชุมนุมที่หน้าโรงเรียนภูเขียวในเวลาประมาณ 8.00 น. เพื่อประท้วงกรณีที่ครูนำข้อมูลส่วนตัวเขานักเรียนที่ลงชื่อร่วมกิจกรรมราษฎรออนทัวร์ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจนนำไปสู่การติดตามคุกคามนักเรียน

หลังชุมนุมที่หน้าโรงเรียนภูเขียวจนถึงเวลาประมาณ 10.00 น.ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปที่หน้าสภ.ภูเขียวโดยไปถึงในเวลาประมาณ 10.30 จากนั้นผู้ชุมนุมจัดพื้นที่การชุมนุมที่หน้าสภ.ภูเขียวในลักษณะของการตั้งแคมป์ จตุภัทร์ชี้แจงจุดประสงค์การชุมนุมที่หน้าสภ.ภูเขียวว่าเขาต้องการเรียกร้องให้ตำรวจออกมาขอโทษที่ไปติดตามคุกคามนักเรียนที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมจนหลายคนถอนตัวจากกิจกรรมเพราะความหวาดกลัว จากนั้นในเวลาประมาณ 16.50 น.ผู้ชุมนุมนำป้ายข้อความ "ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" ไปผูกไว้กับอาคารสภ.ภูเขียว

ป้ายปฏิรูปสถายบันฯและป้ายเขียนข้อความอื่นๆถูกแขวนไว้กระทั่งประมาณ 23.30 น. ของวันเดียวกันจึงถูกตำรวจปลดและยึดไปซึ่งเวลานั้นการชุมนุมยุติแล้วและผู้ชุมนุมแยกย้ายกันพักแรมหน้าสภ.ภูเขียว  

10 กุมภาพันธ์ 2564

เฟซบุ๊กเพจไผ่ ดาวดิน โพสต์ภาพหมายเรียกสภ.ภูเขียว ที่เรียกจตุภัทร์พร้อมทั้งบุคคลอื่นรวม 11 คน เข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาจากกรณีจัดการชุมนุมที่หน้าสภ.ภูเขียวโดยครั้งนั้นยังไม่มีชื่อของอรรถพลและภาณุพงษ์และพนักงานสอบสวนยังไม่ต้องข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับจตุภัทร์

11 มิถุนายน 2564

มติชนออนไลน์รายงานว่า จตุภัทร์และอรรถพลเดินทางไปที่สภ.ภูเขียวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 จากกรณีจัดการชุมนุมและปราศรัยที่หน้าสภ.ภูเขียวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธและได้รับการปล่อยตัวกลับ ส่วนภาณุพงศ์ผู้ต้องหาในคดีอีกคนหนึ่งยังไม่เข้ารายงานตัว เนื่องจากเขายังไม่ได้รับหมายเรียก และเขายังอยู่ระหว่างการกักตัวตามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

ภาณุพงศ์ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อขณะถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีมาตรา 112 จากการร่วมชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เขาถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 และพักรักษาตัวภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่นั่นกระทั่งได้รับประกันตัวในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 

6 กรกฎาคม 2564 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ภาณุพงศ์เข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนแล้ว ก่อนเริ่มกระบวนการภาณุพงศ์พยายามสอบถามเรื่องหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนเนื่องจากตัวเขาไม่ได้รับ พนักงานสอบสวนนำสำเนาหมายเรียกมาให้เข้าดูรวมสามฉบับแต่หมายเรียกเหล่านั้นไม่มีหลักฐานตอบกลับจากทางสภ.บ้านฉางซึ่งเป็นเจ้าของท้องที่ตามภูมิลำเนาของภาณุพงศ์มายืนยันว่าดำเนินการส่งหมายให้ภาณุพงศ์แล้วหรือไม่อย่างไร 

มีเนื้อหาตอนหนึ่งของการปราศรัยของภาณุพงศ์ที่เป็นเหตุแห่งคดี  ภาณุพงศ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์และการศึกษาไทยว่า มีการสอนให้เด็กนักเรียนให้เทิดทูนกษัตริย์ที่… (คำวิจารณ์) ถือเป็นการหลอกลวง

พนักงานสอบสวนระบุว่า คําพูดดังกล่าวเมื่อผู้คนทั่วไปและประชาชนได้ฟังแล้วจะเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในสถาบันกษัตริย์ และรู้สึกไม่เทิดทูน อีกทั้งเป็นการดูหมิ่นที่ระบุชัดเจนโดยมีการเอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์ออกมาด้วย พนักงานสอบสวนแจ้งด้วยว่าได้มีการเชิญนักวิชาการมาให้ปากคำแล้ว

หลังการสอบสวนภาณุพงศ์ได้รับการปล่อยตัวกลับเนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตัวเองไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา