ภัทรพงศ์: ชุมนุมละเมิดอำนาจศาล

อัปเดตล่าสุด: 19/01/2565

ผู้ต้องหา

ภัทรพงศ์ น้อยผาง

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 29 เมษายน 2564 เวลา 12.00 น. ที่ศาลอาญา แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดรวมตัวเพื่อให้กำลังใจแม่ของพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่จะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยคดีมาตรา 112 ซึ่งมีพริษฐ์ ชิวารักษ์หรือเพนกวิน สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ขณะนั้นอดอาหารมาเป็นเวลา 45 วันรวมอยู่ด้วย 
 
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศนัดหมายชุมนุมที่หน้าศาลอาญา โดยเตรียมจดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาขอให้คำนึงถึงหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (presumption of innocence) และเรียกร้องให้คืนสิทธิ์ในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีการเมือง มีผู้ชุมนุมประมาณ 300 คน เข้ามารวมตัวบริเวณบันไดหน้ามุกศาลอาญา มีระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไป เบนจา หนึ่งในผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่บริเวณหน้ามุกศาลอาญาขึ้นไปโปรยรายชื่อบนบันไดทางขึ้นอาคารศาล 
 
หลังเหตุการณ์มีผู้ถูกตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลรวมหกคนรวมทั้งภัทรพงศ์ โดยภัทรพงศ์ถูกกล่าวหาว่าร่วมชุมนุมและฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่เข้าไปบริเวณบันไดทางขึ้นอาคารศาลอาญา หลังศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าการกระทำของภัทรพงศ์เป็นความผิด เป็นการใช้เสียงดัง ใช้เครื่องขยายเสียงในบริเวณศาล สร้างความเดือดร้อนรำคาญ อย่างไรก็ตามพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหายังไม่ถือว่ามีความรุนแรงควรให้รอการกำหนดโทษไว้สองปี

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ภัทรพงศ์ น้อยผาง ขณะเกิดเหตุเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยทำกิจกรรมร่วมกับพริษฐ์และเป็นสมาชิกพรรคปฏิวัติโดม พรรคนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เอกสารคำกล่าวหาพอสรุปได้ว่า

ภัทรพงศ์เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคลที่บริเวณบันไดทางขึ้นอาคารศาลอาญา ในลักษณะที่เป็นการก่อความวุ่นวาย โดยภัทรพงศ์พูดผ่านเครื่องขยายเสียงที่หันหน้าเข้าอาคารศาล ข้อความบางส่วนที่พูดพอสรุปได้ว่า

“ให้อํานาจแล้วอย่าหลงทะนงตน ว่าเป็นคนเหนือคนชี้เป็นตาย เสาหลักต้องเป็นหลักอันศักดิ์สิทธิ์ ใช่ต้องลมเพียงนิดก็ล้มหงาย เสายิ่งสูงใจต้องสูงเด่นท้าทาย เสาหลักต้องเป็นหลักอันเปิด โลกทัศน์ให้ชัดเจน ใช่ซ่อนเร้นอ่านตําราแต่ในหอ ขอบบัลลังก์นั่งเพลิน คําเยินยอ เลือกเหล่ากอ มากองห้อง ทํางาน ตุลาการคือหนึ่งอธิปไตย อันเป็นของคนไทย ไพร่ชาวบ้าน มิใช่ของผู้หนึ่ง ซึ่งดักดาน แต่เป็นตุลาการ ประชาชน ฉะนั้นจึงสํานึกนะ….ใช่ด้านดับมือดับด้วยสับสน”  โดยข้อความที่ภัทรพงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาพูดนำมาจากบทกวีถึงมหาตุลาการของทนาย อานนท์ นำภา
 

พฤติการณ์การจับกุม

ผู้ถูกกล่าวหาเข้ารายงานตัวกับศาลตามหมายศาล ไม่มีการจับกุม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
 
28 ตุลาคม 2564
 
นัดไต่สวนละเมิดอำนาจศาล
 
ศาลอาญานัด ภัทรพงศ์ ไต่สวนละเมิดอำนาจศาล โดยการไต่สวนนัดนี้เลื่อนมาจากนัดวันที่ 19 สิงหาคม 2564 
 
สำหรับบรรยากาศที่ศาลในวันนี้มีการตั้งจุดคัดกรองที่หน้าธนาคารกรุงไทย สาขาศาลอาญา และที่หน้าห้องพิจารณาคดี 808 ก็จะมีตำรวจศาลมาคอยดูแลความเรียบร้อยครั้งละห้าถึงหกนาย และมีตำรวจศาลหนึ่งถึงสองนายเข้าไปนั่งในห้องพิจารณาคดีด้วย ผู้ถูกกล่าวหาและผู้ที่เข้าห้องพิจารณาคดียังต้องฝากโทรศัพท์ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีด้วย
 
ไต่สวนพยานปาก ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญา ผู้กล่าวหา

ชวัลนาถ เบิกความต่อศาลโดยสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน เธอทำงานจากที่บ้านตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ระหว่างนั้นได้รับการติดต่อจากผู้กำกับ สน.พหลโยธิน ว่าแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดชุมนุมที่หน้าศาลอาญาในเวลา 12.30 น. เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้ผู้ต้องขังคดีการเมือง
 
เมื่อทราบเรื่อง ชวัลนาถจึงประสานกับ สน.พหลโยธิน เพื่อวางมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยมีการตั้งแผงเหล็กกั้นบริเวณมุกบันไดทางขึ้นอาคารศาล ขณะที่ตัวเธอก็ประสานงานและติดตามสถานการณ์ทางโทรศัพท์ก่อนจะเดินทางมาที่ศาลอาญาในช่วงเย็น
 
ชวัลนาถ เบิกความว่าเธอเดินทางมาถึงศาลในเวลาประมาณ 16.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่เหตุการณ์ต่างๆ สงบแล้ว แต่มาทราบเหตุการณ์ในรายละเอียดและดูคลิปวิดีโอเหตุการณ์ในช่วงบ่ายซึ่งมีเหตุการณ์วุ่นวายในภายหลัง  
 
ในส่วนของตัวผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ ตามคลิปวิดีโอจะเห็นว่าระหว่างที่เบนจา ผู้ถูกกล่าวหาในอีกคดีหนึ่ง กำลังโปรยกระดาษบนบันไดศาลจะปรากฏภาพของภัทรพงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้อยู่หลังแนวรั้วที่เจ้าหน้าที่กั้นเป็นพื้นที่ควบคุมด้วย สำหรับพฤติการณ์ของภัทรพงศ์ในวันเกิดเหตุ นอกจากจะเข้ามาหลังแนวรั้วที่เจ้าหน้าที่กั้นเป็นพื้นที่ควบคุมแล้วยังใช้เครื่องขยายเสียงอ่านบทกวีด้วย.
 
ชวัลนาถ ระบุว่าแม้ในวันเกิดเหตุจะไม่มีบุคคลใดไม่ว่าประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ศาลมาร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุม และไม่มีรายงานว่า คดีที่มีการพักการพิจารณาระหว่างเกิดเหตุ แปดคดีมีการยกเลิกกระบวนพิจารณาเพราะมีการชุมนุมที่หน้าศาลเป็นมูลเหตุหรือไม่

แต่ก็ถือว่าผู้ชุมนุมประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเพราะมีผู้ชุมนุมราว 200 คนมาออกันที่หน้าทางขึ้นอาคารศาล มีการใช้เครื่องขยายเสียง จึงถือเป็นการรบกวนการทำงานและการใช้พื้นที่ศาลโดยสภาพ จึงทำบันทึกรายงานอธิบดีศาลอาญาและได้รับคำสั่งให้ตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลกับผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รวมถึงภัทรพงศ์ผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้
 
ชวัลนาถ เบิกความต่อว่า ที่ผ่านมาเคยมีประชาชนที่มาทำกิจกรรมเมื่อมีบุคคลสำคัญมาเข้ากระบวนพิจารณาคดีที่ศาล ซึ่งหากประสานมาศาลจะจัดจุดคัดกรอง และจุดพักคอยให้ และหากในวันดังกล่าวมีการพิจารณาคดีก็จะจัดห้องสำหรับถ่ายทอดการพิจารณาคดีผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้ แต่ในวันเกิดเหตุทางผู้ชุมนุมไม่ได้ประสานมาจึงไม่มีการดำเนินการในส่วนนี้
 
ส่วนกรณีวันเกิดเหตุไม่มีการตั้งจุดคัดกรองนอกอาคารศาลเป็นเพราะก่อนหน้านี้เคยมีประชาชนร้องเรียนมาว่าการตั้งจุดคัดกรองทำให้ไม่ได้รับความสะดวกจึงยกเลิกไป ส่วนเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่เป็นผู้ประกาศนัดชุมนุมตัวเธอไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นแอดมินหรือเป็นผู้ประกาศนัดหมายการชุมนุม
 
 
23 ธันวาคม 2564
 
นัดฟังคำสั่ง
 
 ศาลอาญานัดฟังคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาล ภัทรพงศ์กับเพื่อนอีกสองคนมาที่ศาล หนึ่งในนั้นคือณัฐชนน ไพโรจน์ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม สำหรับการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณศาลในวันนี้ไม่พบว่ามีการตั้งจุดคัดกรองที่ลานจอดรถศาลเหมือนวันที่มีนัดพิจารณาคดีการเมืองคดีอื่นๆ
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลา 9.35 น. แต่มาอ่านคำสั่งคดีนี้ในเวลาประมาณ 10.50 น. โดยก่อนหน้านั้นศาลอ่านคำพิพากษาคดีอื่นอีกสามคดีซึ่งแต่ละคดีใช้เวลาอ่านค่อนข้างนานเพราะมีรายละเอียดเยอะ
 
ศาลมีคำสั่งว่า การชุมนุมของผู้ถูกกล่าวหากับพวกก็มีลักษณะเป็นการใช้เสียงดัง ใช้เครื่องขยายเสียงในบริเวณศาล รวมถึงมีการตะโกนถ้อยคำต่างๆเป็นระยะ ส่งผลให้มีเสียงรบกวนการพิจารณาคดีและสร้างความเดือดร้อนรำคาญและความไม่สะดวกให้กับประชาชนที่มาติดต่อราชการ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นความผิด
 
ตามพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหายังไม่ถือว่ามีความรุนแรง ผู้ถูกกล่าวหาเป็นนักศึกษายังมีอายุน้อย ควรให้โอกาสในการกลับตัว จึงเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้สองปีและให้คุมประพฤติผู้ถูกกล่าวหาไว้ตลอดเวลาที่รอการกำหนดโทษ และห้ามผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอีกตลอดระยะเวลาที่รอการกำหนดโทษ
 
หลังฟังคำสั่ง ทนายความของภัทรพงศ์เปิดเผยว่า คำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลคดีนี้ถือเป็นคำสั่งที่ออกมาเป็นลำดับสุดท้ายในชุดคดีละเมิดอำนาจศาลที่มีมูลเหตุจากการชุมนุมในศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 โดยคดีนี้ถือว่าศาลใช้ดุลพินิจลงโทษต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้คือรอการกำหนดโทษไว้ก่อน
 
ทนายของภัทรพงศ์ระบุด้วยว่า สำหรับทนายถือว่าคำสั่งศาลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจแล้ว เพราะเป็นไปได้ยากที่จะคาดหวังให้ศาลยกคำร้องว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล แต่จะต้องหารือกับผู้ถูกกล่าวหาต่อไปว่าจะอุทธรณ์ ฎีกาหรือไม่
 
ขณะที่ภัทรพงศ์ระบุว่า ก่อนมาฟังคำสั่งศาลเขายังถามตัวเองว่าวันนี้จะได้กลับบ้านหรือต้องไป 'บ้านใหม่' ซึ่งหมายถึงเรือนจำแทน อย่างไรก็ตามเขาก็ยังมองว่าคดีของเขาพฤติการณ์ไม่ได้มีความร้ายแรง น่าจะไม่ถึงขั้นถูกสั่งจำคุก
 
สำหรับการดำเนินคดีลักษณะนี้ภัทรพงศ์เห็นว่าตัวเขาเองจากนี้คงต้องระมัดระวังหากจะมาเข้าร่วมกิจกรรมที่บริเวณศาล เพราะศาลอธิบายให้เขาฟังเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ศาลสั่งห้ามกระทำการไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอีก ไม่ได้หมายถึงเฉพาะศาลอาญาแต่หมายรวมถึงศาลอื่นๆด้วย
 
ภัทรพงศ์ระบุด้วยว่าแม้ศาลจะใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลดำเนินคดีกับคนที่มาร่วมชุมนุมบริเวณศาล แต่เขาก็เชื่อว่าหากมีคนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็อาจจะมีการชุมนุมที่ศาลอีกในอนาคต
 
 
 

คำพิพากษา

คำสั่งของศาล พอสรุปได้ว่า

 
ก่อนวันเกิดเหตุ เฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศจัดกิจกรรมราชอยุติธรรม อ่านบทกวีถึงมหาตุลาการที่ศาลอาญาและชักชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุม โดยตั้งแต่เวลาประมาณ 12.30 น. ของวันเกิดเหตุมีประชาชนมาร่วมชุมนุมประมาณ 200 คน มารวมตัวที่หน้ามุกบันไดทางขึ้นศาลอาญา
 
ในวันเกิดเหตุศาลได้ประสานของกำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.พหลโยธินให้มาช่วยดูแลความปลอดภัยและรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ด้วย
 
ผู้ถูกกล่าวหาเดินทางมาถึงศาลอาญาในเวลาประมาณ 13.00 น. จากนั้นได้ร่วมการชุมนุมและใช้เครื่องขยายเสียงอ่านบทกวีถึงมหาตุลาการ (ศาลบันทึกว่าบทกวีตุลาการภิวัฒน์) โดยลำโพงถูกตั้งในลักษณะหันหน้าเข้าไปในศาลอาญา
 
ต่อมาเมื่อเบนจา อะปัญ ฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ขึ้นไปบนบันไดหน้ามุกศาลอาญา ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าไปในแนวกั้นด้วย ระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหากับผู้ชุมนุมรวมตัวกันหน้ามุกบันไดศาลอาญา รองผู้กำกับการฝ่ายสืบสวนสอบสวนสน.พหลโยธิน และผู้กำกับการสน.พหลโยธิน ได้เข้ามาอ่านประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องการห้ามทำกิจกรรมรวมตัวในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และข้อกำหนดเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา และขอให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบและให้ยุติการชุมนุม
 
ทว่าทั้งผู้ถูกกล่าวหาและผู้ชุมนุมต่างเพิกเฉย ผู้ถูกกล่าวหาและผู้ชุมนุมยังคงทำกิจกรรมโดยใช้เครื่องขยายเสียงต่อไปจนถึงเวลาประมาณ 18.00 น. เหตุการณ์จึงสงบลง
 
แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะนำสืบต่อสู้ว่าการกระทำของตนเป็นเพียงการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เนื้อหาของบทกวีที่อ่านไม่ได้มีข้อความในลักษณะข่มขู่คุกคามต่อศาล เป็นเพียงการเรียกร้องให้ตุลาการปฏิบัติหน้าที่ไปตามธรรมนองครองธรรม และการชุมนุมในวันดังกล่าวไม่กระทบต่อการพิจารณาคดีของศาลเพราะได้เปิดช่องทางให้ประชาชนและข้าราชการสามารถเข้าไปในอาคารศาลได้ และประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ที่ประสงค์จะเข้าไปในอาคารศาลหากเดินผ่านผู้ชุมนุมก็จะเปิดทางให้
 
แต่การชุมนุมของผู้ถูกกล่าวหากับพวกก็มีลักษณะเป็นการใช้เสียงดัง ใช้เครื่องขยายเสียงในบริเวณศาล รวมถึงมีการตะโกนถ้อยคำต่างๆเป็นระยะ ส่งผลให้มีเสียงรบกวนการพิจารณาคดีและสร้างความเดือดร้อนรำคาญและความไม่สะดวกให้กับประชาชนที่มาติดต่อราชการ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นความผิด
 
อย่างไรก็ตามพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหายังไม่ถือว่ามีความรุนแรง ที่ผู้กล่าวหา กล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าเข้าไปด้านหลังแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ ปรากฎเพียงภาพถ่ายขณะที่ผู้ถูกกล่าวหายืนอยู่บริเวณแผงกั้นทางขึ้นบันไดหน้ามุกศาลอาญา และผู้ถูกกล่าวหาเบิกความว่าตนเองเข้าไปในแนวกั้นเพราะเกรงว่าเบนจาที่ฝ่าแนวกั้นเข้าไปก่อนหน้านั้นจะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว แต่เมื่อไม่มีการควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาก็เพียงแต่เดินชูสามนิ้วออกมาไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง
 
เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีที่ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงและผู้ถูกกล่าวหาเป็นนักศึกษายังมีอายุน้อย ควรให้โอกาสในการกลับตัว จึงเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้สองปีและให้คุมประพฤติผู้ถูกกล่าวหาไว้ตลอดเวลาที่รอการกำหนดโทษ และห้ามผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอีกตลอดระยะเวลาที่รอการกำหนดโทษ
 
ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาเบิกความว่าการกระทำเดียวกันนี้ผู้ถูกกล่าวหาถูกดำเนินคดีในความผิดฐานดูหมิ่นศาลด้วยจะเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อนหรือไม่ เห็นว่าความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองกระบวนพิจารณาคดี เป็นคนละส่วนกับการดำเนินคดีอาญา จึงไม่ถือว่าเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อน
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา