- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
ฐานข้อมูลคดี
ชื่อคดี
สิริชัย : พ่นสเปรย์ #ยกเลิก112 บนรูปพระบรมวงศานุวงศ์
หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท
ผู้ต้องหา
สิริชัย นาถึง
สถานะคดี
คำอธิบายสถานะคดี ภาษาไทย
ชั้นศาลชั้นต้น
สถานะผู้ต้องหา
ได้รับการประกันตัว
ข้อหา / คำสั่ง
มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
เนื้อหาคดีโดยย่อ
คืนวันที่ 13 มกราคม 2564 เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบแสดงหมายจับคดีมาตรา 112 ต่อสิริชัย นาถึง สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จากนั้นพาตัวเขาไปทีสภ.คลองหลวง โดยไม่ให้ติดต่อทนายความหรือผู้ไว้วางใจ เป็นเหตุให้เพื่อนๆติดตามตัวเขาอยู่หลายชั่วโมงจนพบตัวในเวลา 01.30 น.ของวันถัดมาระหว่างที่เขาถูกนำตัวกลับไปที่หอพักเพื่อทำการตรวจค้น สิริชัยถูกกล่าวหาว่าใช้สีสเปรย์พ่นข้อความเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรา 112 และข้อความ "ภาษีกู" บนพระฉายาลักษณ์และฐานติดตั้งพระฉายาลักษณ์พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงรวมหกจุดในพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีระหว่างวันที่ 9-10 มกราคม 2564
ศาลจังหวัดธัญบุรีอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสิริชัย โดยตั้งเงื่อนไขว่า ห้ามกระทำการในทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก คดีของสิริชัยถือเป็นคดี 112 คดีแรกๆ ที่เกิดขึ้นช่วงปี 2563 - 2564 ที่ตำรวจออกหมายจับโดยไม่ออกหมายเรียกผู้ต้องหาก่อน
ข้อเท็จจริงเบื้องต้น
ข้อกล่าวหา
หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท
-
รูปแบบการจำกัดเสรีภาพ
การดำเนินคดี
-
ประเภทสื่อ
อื่นๆ
-
จังหวัด
ปทุมธานี
-
ศาล
ศาลจังหวัดธัญบุรี
รายละเอียดการกระทำตามข้อกล่าวหา
ตามคำฟ้องระบุว่า เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นวันเวลาใดไม่ชัดเจน แต่อยู่ระหว่างวันที่ 9 มกราคม 2564 ช่วงกลางคืนจนถึงวันที่ 10 มกราคม 2564 ช่วงกลางคืนเช่นกัน สิริชัยและพวกอีกหนึ่งคนที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้องคดีได้กระทำการเข้าข่ายมาตรา 112 ด้วยการร่วมกันใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นข้อความบริเวณดังต่อไปนี้
- พ่นข้อความว่า "ภาษีกู ยกเลิก112" ลงบนพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าคลีนิกแพทย์สมภพ
- พ่นข้อความว่า "ยกเลิก 112" ลงบนพระรูปของเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่ติดอยู่บริเวณสะพานลอยโรงเรียนไทยรัฐวิทยา
- พ่นข้อความว่า "ภาษีกู" ลงบนพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่ตั้งประดิษฐานอยู่บริเวณเกาะกลางถนนพหลโยธินขาออก หน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- พ่นข้อความว่า "ยกเลิก 112" ลงบนพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนามเจ้าสิริกิติ์ บริเวณเกาะกลางถนนพหลโยธินขาออก หน้าตลาดประทานพร
- พ่นข้อความว่า "ยกเลิก 112" ลงบนป้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
- พ่นข้อความว่า "ภาษีกู" และ "ยกเลิก112" ลงบนแผ่นป้านทรงพระเจริญ ซึ่งอยู่ใต้พระฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่เก้าและพระนางเจ้าสิริกิตติ์ ที่อยู่บริเวณสะพานลอยหน้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
พื้นที่ฉีดพ่นข้อความลำดับที่หนึ่งถึงสี่เป็นทรัพย์สินของเทศบาลเมืองคลองหลวง ผู้เสียหายที่หนึ่ง และลำดับที่หกเป็นทรัพย์สินของแขวงการทางปทุมธานี กรมทางหลวง ผู้เสียหายที่สอง
ถ้อยคำที่สิริชัยและพวกฉีดพ่นเป็นถ้อยคำเสียดสีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ว่า ทรงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้โดยเฉพาะแตกต่างจากประชาชนทั่วไป และทำให้ประชาชนเห็นว่า กลุ่มบุคคลข้างต้นอยู่ในฐานะที่ไม่ควรเคารพสักการะและไม่ควรได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกต่อไป ต้องการให้ยกเลิกมาตรา 112
ข้อความว่า "ภาษีกู" ทำให้บุคคลที่เห็นข้อความเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ มีการนำเงินภาษีของจำเลยกับพวก รวมถึงภาษีทีรับจัดเก็บจากประชาชนทั่วไปมาใช้ประโยชน์เป็นการส่วนพระองค์หรือใช้ในการติดตั้งพระฉายาลักษณ์ พระรูป หรือป้ายที่จำเลยกับพวกฉีดพ่นสีใส่ แทนที่จะนำเงินภาษีดังกล่าวไปใช้ในกิจการอย่างอื่น ทำให้รัชกาลที่เก้าและพระนางเจ้าสิริกิตติ์ (เป็นบุคคลที่จำเลยมีการพ่นข้อความ"ภาษีกู" ลงบนพระฉายาลักษณ์หรือบริเวณใกล้เคียง), เจ้าฟ้าสิริวัณณวลีฯ, รัชทายาทและสถาบันกษัตริย์ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง
โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะและเป็นเหตุให้พระฉายาลักษณ์ พระรูปและป้ายทรงพระเจริญ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเทศบาลเมืองคลองหลวงและแขวงการทางปทุมธานี กรมทางหลวงได้รับความเสียหาย เสื่อมค่าและไร้ประโยชน์ คิดเป็นค่าเสียหายของเทศบาลเมืองคลองหลวง 10,000 บาทและแขวงการทางปทุธานี 3,000 บาท
ความเคลื่อนไหวคดี
13 มกราคม 2564
สิริชัยเล่าว่า กลางดึกระหว่างที่เขากำลังขี่รถมอเตอร์ไซด์อยู่ด้านนอกหอพักเพียงคนเดียว ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นายแสดงหมายจับควบคุมตัวเขา จากนั้นจึงนำตัวไปที่สภ.คลองหลวง ระหว่างที่ควบคุมตัวตำรวจไม่ให้สิริชัยติดต่อผู้ที่ไว้ใจหรือทนายความ และมีความพยายามจะยึดโทรศัพท์ แต่เขาไม่ยินยอมจึงยังไม่ได้ยึดไป เมื่อถึงสภ.คลองหลวง เขามีอาการไข้ขึ้นเนื่องจากตื่นตกใจจากการจับกุม ตำรวจจึงให้พยาบาลเข้าทำการตรวจร่างกายเขาที่สภ.คลองหลวง
ต่อมาเมื่อเพื่อนไปติดตามตัวเขาที่สภ.คลองหลวง ตำรวจพาตัวเขาย้ายไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาคที่ 1 เมื่อเพื่อนไปติดตามที่กองบังคับการฯ ตำรวจก็พาตัวเขาย้อนกลับมาตรวจค้นหอพัก สิริชัยกล่าวว่า ตอนที่พาไปค้น ตำรวจไม่ได้แสดงหมายค้น เพิ่งจะมาแสดงตอนหลัง ไม่มีการทำบันทึกตรวจค้น เมื่อถามว่า มีการทำร้ายร่างกายหรือไม่ สิริชัยตอบว่า ไม่มี มีเพียงการกระชากตอนที่จะจับกุมตัวเท่านั้น
14 มกราคม 2564
เวลาประมาณ 01.31 น. เพื่อนของสิริชัยติดตามตัวเขาไปที่หอพักและพบสิริชัยอยู่บนรถตำรวจ โดยก่อนหน้านั้นได้มีการตรวจค้นห้องพักของสิริชัย เพื่อนจึงเข้าไปถามว่า การตรวจค้นที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้างและพยายามขอขึ้นรถไปที่สถานีตำรวจด้วยเนื่องจากไม่ไว้ใจว่า ตำรวจจะพาตัวสิริชัยไปที่ใด เพื่อนของสิริชัยยังขอดูหมายค้น หมายจับจากตำรวจ แต่ตำรวจไม่แสดงหมายและบอกให้เจอกันที่สภ.คลองหลวง
เพื่อนของสิริชัยต่อว่าตำรวจว่า เหตุใดถึงพาตัวสิริชัยไปที่ตชด.และการควบคุมตัวสิริชัยไปแต่ละที่เหตุใดจึงไม่แจ้งผู้ไว้วางใจให้ทราบว่าสิริชัยไปที่ใดและหากตำรวจไม่ยอมให้ผู้ที่สิริชัยไว้วางใจติดตามไปด้วยจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิริชัยถูกนำตัวไปสถานีตำรวจด้วยความปลอดภัย ท้ายที่สุดตำรวจยอมให้เพื่อนของสิริชัยนั่งกระบะไปด้วย เพื่อนของสิริชัยพยายามขอให้ตำรวจแสดงบันทึกการตรวจค้นเนื่องจากไม่ไว้วางใจตำรวจเพื่อนๆของสิริชัยยังขวางรถตำรวจไม่ให้ออกจากหน้าหอพักของสิริชัยจนกว่าทนายความจะมาถึงด้วย
เวลา 01.38 น. พริษฐ์ ชิวารักษ์ เดินทางมาสมทบที่หน้าหอพักของสิริชัยและสอบถามหมายค้น แต่ตำรวจนิ่งเฉย ต่อมาทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมาถึง สิริชัยเล่าว่า ก่อนหน้านี้ตำรวจพาตัวเขาไปที่สภ.คลองหลวงและตชด. ก่อนมาค้นที่หอพัก เพื่อนๆถามว่า ตอนจับกุมตำรวจแสดงหมายจับหรือไม่ สิริชัยตอบว่า แสดง ตำรวจให้ทนายความขึ้นรถไปด้วย แต่ทนายขอให้ตำรวจแสดงหมายจับก่อน เมื่อเห็นหมายทนายความจึงยินยอมให้ตำรวจพาตัวสิริชัยไปที่สภ.คลองหลวง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานด้วยว่า ตำรวจได้เข้าตรวจค้นโดยไม่ได้แสดงหมายค้น แต่มีเพื่อนของสิริชัยมาร่วมรับทราบการตรวจค้นด้วย 1 คน หลังจากตรวจค้นแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงหมายค้นและให้สิริชัยลงลายมือชื่อ รายละเอียดในหมายค้นทำให้เห็นว่า ตำรวจสภ.คลองหลวงร้องศาลจังหวัดธัญบุรีให้ออกหมายจับชยพลและสิริชัย กล่าวหาว่า ทั้งสองร่วมกันกระทำตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และทำให้เสียทรัพย์ แต่ช่วงเวลาที่เป็นเหตุในคดีนี้คือ 10 มกราคม 2564 ชยพลไม่ได้อยู่บริเวณที่เกิดเหตุ แต่อยู่ในบ้านพักจังหวัดสงขลามาตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 (https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10153394320770551/10165627939...)
เวลาประมาณ 8.50 น. ตำรวจสภ.คลองหลวงควบคุมตัวสิริชัยมาถึงศาลจังหวัดธัญบุรี โดยเข้าทางด้านหลัง ขณะที่ด้านหน้าเจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดธัญบุรีปิดประตูทางเข้าออกของศาล ให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องและรถยนต์ของผู้เกี่ยวข้องที่ผ่านการตรวจเข้าไปเท่านั้น ต่อมามีการเจรจาให้ส่งเพื่อนของสิริชัยเข้าไปสังเกตการณ์ภายในศาล 2 คน
จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น. อมรัตน์ โชติปมิตกุล ส.ส.พรรคอนาคตใหม่รายงานทางทวิตเตอร์ว่า ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวสิริชัยแล้ว โดยตั้งวงเงินประกันตัวที่ 150,000 บาท เรียกเป็นหลักทรัพย์ร้อยละ 20 เป็นเงิน 30,000 บาท และที่เหลือร้อยละ 80 ใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทน
ต่อมาศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวสิริชัย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า สิริชัยถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 จากการพ่นสีสเปรย์ข้อความ #ภาษีกู และ #ยกเลิก112 บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ และป้ายหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต รวม 6 จุด รวมทั้งกล่าวหาว่า ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งตรวจยึดได้ขณะเข้าจับกุมด้วย
อย่างไรก็ตามเวลา 11.30 น. สิริชัยยังไม่ได้รับการปล่อยตัวออกมาด้านนอก เพื่อนที่ร่วมชุมนุมให้กำลังใจจึงตัดสินใจนั่งขวางประตูทางเข้าออกของศาลไว้ท่ามกลางแดดที่ร้อนจัด ในเวลาประมาณ 12.15 น. สิริชัยถูกปล่อยตัวออกมาถึงหน้าศาล ศาลระบุในเอกสารข่าวแจกว่า สิริชัยได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลพิเคราะห์แล้วผู้ต้องหาเป็นนักศึกษา มีอาจารย์เป็นนายประกัน น่าเชื่อว่า ไม่หลบหนี สั่งปล่อยตัวในชั้นสอบสวน โดยมีเงื่อนไขว่า “ห้ามผู้ต้องหากระทำการใดในทำนองเดียวกันซ้ำอีก”
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานด้วยว่า ขณะทนายความกำลังยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยสิริชัยยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ห้องควบคุมของศาล พ.ต.ต.สุรโชค กังวานวาณิชย์ สารวัตรกองกํากับการกลุ่มงานสนับสนุน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้นำคำสั่งศาลจังหวัดธัญบุรีที่ 1/2564 มาให้ เป็นคำสั่งศาลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งสั่งให้สิริชัยให้รหัสเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือและไอแพดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดไปเมื่อคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่แจ้งว่า หากไม่ปฏิบัติตามหรือไม่ให้ความร่วมมือจะถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 27 (ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละ 5 พันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง) และจะดำเนินคดีแจ้งข้อหาเพิ่ม
สิริชัยยืนยันไม่ให้รหัสผ่าน ทำให้ พ.ต.ต.สุรโชค เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ พ.ต.ท.ภุมเรศ อินทร์คง สว. (สอบสวน) สภ.ธัญบุรี ดําเนินคดีกับสิริชัย หลังจากสิริชัยได้รับการปล่อยตัวจากศาลจังหวัดธัญบุรี จึงได้เดินทางไปที่ สภ.ธัญบุรี พ.ต.ท.ภุมเรศ แจ้งข้อกล่าวหา ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 18 และ 27
สิริชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่า คดีของ สภ.คลองหลวง ที่เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนขอศาลออกคำสั่งให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น เป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการพ่นสี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จึงไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา หลังสอบปากคำ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวสิริชัยไปโดยไม่ได้มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด
8 เมษายน 2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า สิริชัยพร้อมทนายความ เดินทางไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีเพื่อฟังคำสั่งในคดี ต่อมาพบว่าอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 และคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯของสิริชัยต่อศาลจังหวัดธัญบุรีตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนแล้ว สิริชัยจึงต้องเดินทางไปที่ศาล และทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา โดยวางหลักประกันในคดีมาตรา 112 เป็นเงินจำนวน 150,000 บาท ในขณะที่คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ วางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในทั้ง 2 คดี ในส่วนของคดีมาตรา 112 ศาลกำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยกระทำการในทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก
6 กรกฎาคม 2564
นัดสอบคำให้การ
สิริชัยให้การยืนยันปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้ง 2 คดี
12 ตุลาคม 2564
นัดสืบพยานโจทก์
-
15 ตุลาคม 2564
นัดสืบพยานโจทก์
-
19 มกราคม 2565
นัดสืบพยานโจทก์
การสืบพยานโจทก์ แบ่งออกเป็นรอบเช้า (เริ่ม 09.00 น. จนถึง 12.00 น.) และรอบบ่าย (เริ่ม 13.00 น.) พยานโจทก์ที่เบิกความรายแรก คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงจากศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 ซึ่งค้นสถานที่เกิดเหตุ เนื้อหาการเบิกความของพยานเล่าถึงการปฏิบัติงานในการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ โดยพยานระบุว่าขณะที่พยานเข้าเวรอยู่ ได้รับแจ้งจาก สภ. คลองหลวง ให้ไปตรวจห้องพักของจำเลย เมื่อเข้าไปในห้องพักก็พบกับจำเลย แล้วตรวจพบสเปรย์สี เสื้อฮู้ดมีหมวก ชุดคล้ายเสื้อกั๊กสีดำ ถุงผ้าสีแดงซึ่งภายในมีแผ่นโลหะสองแผ่นและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ทั้งนี้ ขณะที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ จำเลยอยู่คนเดียว ไม่มีญาติ ผู้ไว้วางใจ หรือทนายความอยู่ด้วย
ส่วนพยานโจทก์ที่เบิกความรายที่สอง คือชยพล ดโนทัย หรือเดฟ หนึ่งในสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยชยพลมีความเกี่ยวข้องกับคดีนี้ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดหลายจุดในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี แล้วพบว่าจำเลยและพวกอีกหนึ่งรายได้ขับรถจักรยานยนต์ซึ่งมียี่ห้อ รุ่น สี เหมือนกับรถจักรยานยนต์ของชยพล เพื่อเคลื่อนย้ายไปยังจุดต่างๆ ในพื้นที่อำเภอคลองหลวง อีกทั้งรถจักรยานยนต์ของชยพลกับรถจักยานยนต์ที่ปรากฏในภาพจากกล้องวงจรปิดยังมีจุดสังเกตเหมือนกันคือมีสติ๊กเกอร์สีขาวติดไว้ที่บริเวณใต้แผ่นป้ายทะเบียน
โดยชยพล เบิกความว่า ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 จนถึงช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 ซึ่งรวมถึง ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุนั้น ตนได้เดินทางกลับภูมิลำเนาคือ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ไม่แน่นอนว่าจะได้เรียนออนไลน์หรือเรียนที่มหาวิทยาลัย ก่อนจะเดินทางกลับสงขลา จึงได้บอกกับบรรดาเพื่อนของตนว่าจะกลับสงขลาและฝากกุญแจรถไว้กับเพื่อน เพื่อให้เพื่อนดูแลรถจักรยานยนต์ให้และสามารถนำไปใช้ได้ เพราะหากทิ้งร้างไว้ไม่ได้ใช้นานๆ จะส่งผลต่อเครื่องยนต์ ทั้งนี้ ชยพลระบุว่า ตอนที่ฝากกุญแจไว้กับเพื่อนๆ ไม่ได้ฝากไว้ให้กับใครคนใดคนหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง และจำไม่ได้ว่าเพื่อนคนใดหยิบกุญแจรถไป เนื่องจากตอนนั้นมีเพื่อนที่พบหน้ากันหลายคน และกลุ่มเพื่อนก็มาเจอหน้ากันหลายกลุ่ม
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ชยพลทราบว่าชื่อของเขาปรากฏอยู่ในหมายค้นร่วมกับสิริชัย และทราบข่าวว่ามีการออกหมายจับ จึงเดินทางมายังสภ.คลองหลวงเพื่อรายงานตัว ภายหลังตำรวจจึงเพิกถอนหมายจับ และถูกกันไว้เป็นพยาน
ทนายความฝ่ายจำเลย ให้ชยพลดูภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดหลายๆ ภาพ เพื่อให้ชยพลยืนยันว่ารถจักรยานยนต์ที่ปรากฏในภาพเป็นรถยนต์ของเขาหรือไม่ ชยพลระบุว่าไม่แน่ใจ เนื่องจากรถจักรยานยนต์ในภาพที่ปรากฏแม้จะเป็นรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ รุ่น และสีเดียวกันกับรถจักรยานยนต์ของเขา แต่ก็ไม่ได้มีลักษณะโดดเด่น อีกทั้งสติ๊กเกอร์สีขาวที่ติดใต้ทะเบียนรถจักรยานยนต์ของเขา เป็นสติ๊กเกอร์ที่ติดมาตั้งแต่ซื้อรถจักรยานยนต์จากศูนย์จำหน่าย หากเป็นรถที่ซื้อจากที่เดียวกัน ก็จะมีสติ๊กเกอร์แบบเดียวกันติดไว้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ตอนท้ายอัยการได้ให้ชยพลดูภาพจากกล้องวงจรปิดอีกภาพหนึ่งซึ่งถ่ายติดมุมที่เห็นป้ายทะเบียนของรถจักรยานยนต์ที่ใช้ก่อเหตุ เพื่อให้ชยพลยืนยันว่ารถคันดังกล่าวมีเลขทะเบียนเดียวกันกับรถของเขาหรือไม่ ชยพลยืนยันว่ารถจักรยานยนต์ที่ปรากฏในกล้องวงจรปิดเป็นรถที่มีเลขทะเบียนเดียวกันกับรถจักรยานยนต์ของตน
พยานโจทก์รายที่สาม เป็นชายวัยกลางคน พยานรายนี้เบิกความว่าประกอบอาชีพทนายความมา 24 ปี ได้รับใบอนุญาตว่าความตั้งแต่ พ.ศ. 2541 พยานไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยตรง แต่เป็นผู้ที่ติดตามเฟซบุ๊กเพจแนวร่วมธรรมศาตร์และการชุมนุม และเห็นโพสต์ภาพถ่ายจากเพจดังกล่าว ซึ่งในภาพปรากฏรูปภาพของรัชกาลที่ 9 รัชกาลที่ 10 พระพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ถูกสีเปรย์สีขาวและสีดำ พ่นข้อความว่า “ยกเลิก 112” “ภาษีกู” ทับลงบนภาพ ลักษณะตัวอักษรที่ปรากฏมีลักษณะเป็นบล็อกเดียวกัน โดยรูปภาพดังกล่าวตั้งอยู่ย่านถนนพหลโยธิน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตลาดประทานพร
พยานเบิกความว่า ตอนที่เห็นโพสต์ดังกล่าว รู้สึกว่าไม่เหมาะสม เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนคำว่า ภาษีกู ในฐานะนักกฎหมายและประชาชน รู้สึกว่าคำนี้สื่อไปในทางว่าพระมหากษัตริย์นำภาษีประชาชนไปใช้ ซึ่งทำให้ผู้ที่เห็นข้อความดังกล่าว รวมถึงประชาชน เกิดความไม่ศรัทธา ไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ พยานยังระบุอีกว่า เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตีความว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ใช้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงไม่ได้จำเพาะเจาะจงเฉพาะรัชกาลที่ 10 เท่านั้น
พยานรายนี้ระบุว่า ตนได้รับการประสานมาให้มาเป็นพยานในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย พยานเคยเห็นสิริชัย นาถึง ซึ่งเป็นจำเลยมาก่อน เมื่ออัยการให้พยานชี้ตัวของสิริชัย นาถึง พยานได้ชี้ตัวไปที่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่จำเลย
ต่อมาทนายความของจำเลยได้ถามค้านพยานรายนี้ โดยพยานเบิกความว่าตนเคยเป็นอดีตสมาชิกกลุ่มไทยภักดี เมื่อทนายความถามว่า กลุ่มดังกล่าวมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากจำเลยหรือไม่ พยานไม่ได้ตอบยืนยัน เมื่อทนายความถามว่ากลุ่มไทยภักดีเคยมีการออกแถลงเกี่ยวกับมาตรา 112 หรือไม่ พยานไม่ได้ตอบยืนยัน ทั้งนี้ พยานเบิกความว่าจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พยานไม่เคยทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อทนายความถามว่าพยานได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมหรือไม่ พยานระบุว่าที่มาเป็นพยานในวันนี้ มาเป็นในฐานะนักกฎหมาย เมื่อทนายความจำเลยขอให้พยานระบุรายชื่อผู้เชี่ยวชาญมาตรา 112 พยานไม่ได้ตอบยืนยัน
ทนายจำเลยถามพยานว่า พยานรู้จักศาสตราจารย์พิเศษ จิตติ ติงศภัทิย์ ศาสตราจารย์พิเศษ หยุด แสงอุทัย ศาสตราจารย์ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ หรือไม่ พยานตอบว่ารู้จัก เมื่อทนายถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่ามีนักวิชาการที่เขียนหนังสือตำรา อธิบายว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน พยานไม่ได้ยืนยันในข้อนี้
พยานเบิกความต่อว่า พยานทราบว่าการแต่งตั้งรัชทายาท เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 เมื่อทนายจำเลยถามพยานว่า ทราบหรือไม่ว่าตั้งแต่รัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ ได้มีการแต่งตั้งรัชทายาทหรือไม่ พยานระบุว่าไม่รู้ ทนายจำเลยถามต่อไปอีกว่า ที่พยานระบุว่ามาตรา 112 คุ้มครองอดีตพระมหากษัตริย์ ครอบคลุมถึงพระเจ้าตากสินมหาราชด้วยหรือไม่ พยานตอบว่าคุ้มครอง เมื่อทนายความถามว่า แล้วคุ้มครองถึงอดีตพระราชินี อดีตรัชทายาท อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยหรือไม่ พยานตอบว่าคุ้มครอง แต่เมื่อทนายจำเลยถามว่า หากมีผู้ใส่ความปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เช่นนี้จะถือว่าผิดหรือไม่ พยานไม่ได้ตอบยืนยันเรื่องนี้
ทนายจำเลยได้ให้พยานแสดงความเห็นว่า คำว่า “ยกเลิก 112” และ “ภาษีกู” เข้าองค์ประกอบใดในมาตรา 112 ระหว่าง ดูหมิ่น, หมิ่นประมาท, แสดงความอาฆาตมาดร้าย พยานตอบว่า ทั้งสองคำเข้าองค์ประกอบดูหมิ่น โดยคำว่า “ภาษีกู” พยานอ่านแล้วตีความว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์นำภาษีไปใช้ ส่วนคนอื่นจะตีความอย่างไรพยานไม่ทราบ ส่วนคำว่า “ยกเลิก 112” เข้าองค์ประกอบดูหมิ่นเช่นกัน
พยานเบิกความว่า พยานทราบว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ไม่ได้ห้ามให้ยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พยานทราบว่าบทบัญญัติดังกล่าวเคยถูกแก้ไขมาก่อนแล้ว พยานทราบว่านายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ว่า รัชกาลที่ 10 ทรงไม้ให้ใช้มาตรา 112 พยานเองไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พยานไม่ได้ยืนยันว่ามีความคิดเห็นตรงกันข้ามกับจำเลยหรือไม่ พยานระบุว่าที่มาเป็นพยานก็เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตในฐานะประชาชน ทั้งนี้ ในตอนท้าย อัยการถามพยานเกี่ยวกับนักวิชาการสืบเนื่องจากที่ทนายจำเลยได้ถามก่อนหน้า พยานระบุว่า ความเห็นทางวิชาการของนักวิชาการ ก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น
ทั้งนี้ หลังสืบพยานปากนี้จบ พนักงานอัยการแจ้งต่อศาลว่าพยานโจทก์ยังมีพยานผู้เชี่ยวชาญอีกหนึ่งราย คือ ศาตราจารย์ไชยันต์ ไชยพร แต่ศาลแจ้งต่ออัยการว่าไม่ต้องสืบพยานโจทก์ที่เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญแล้ว ดูจากเอกสารคำให้การก็น่าจะเพียงพอ
การสืบพยานรอบบ่ายหนึ่งปาก พยานเคยเป็นรองผู้กำกับฝ่ายสืบสวน สภ.คลองหลวง ในขณะที่เกิดเหตุ แต่ปัจจุบันพยานรายดังกล่าวได้ย้ายไปปฏิบัติราชการในสถานีตำรวจอื่นแล้ว โดยเนื้อหาการสืบพยานรายนี้ มุ่งเน้นไปที่รายละเอียดของการก่อเหตุแต่ละจุดรวมไปถึงการซื้อสีสเปรย์ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จำเลยใช้กระทำความผิด
20 มกราคม 2565
นัดสืบพยานโจทก์
โจทก์ขอเลื่อนคดีเนื่องจากยังไม่สามารถติดตามตัวพยานโจทก์ปากหนึ่งให้มาศาลได้อีกทั้งพยานยังมีพฤติการณ์หลบเลี่ยงไม่ยอมมาเบิกความต่อศาล ศาลจึงออกหมายจับให้พยานมาเบิกความในนัดหน้า และพยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจติดภารกิจขบวนรับเสด็จ จึงเลื่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ปากที่เหลือไปเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และสืบพยานจำเลยวันที่ 21 กรกฏาคม 2565 เป็นต้นไป