กลุ่มทะลุฟ้า : ขีดเขียนในห้องเวรชี้ ละเมิดอำนาจศาล

อัปเดตล่าสุด: 28/02/2566

ผู้ต้องหา

วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์

สถานะคดี

ชั้นศาลฎีกา

คดีเริ่มในปี

2565

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ชวัลนาถ ทองสม

สารบัญ

18 มกราคม 2565 สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าหกคน ได้แก่ ปีก วชิรวิชญ์, เปา ปวริศ, พี พีรพงศ์, ออ วิโรฌา, ไดโน่ นวพล และยาใจ ทรงพล เดินทางมามอบตัวตามหมายจับที่ศาลอาญา และศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว ต่อมา วันที่ 21 มกราคม 2565 มีคำสั่งจากศาลให้ทั้งหกคนพร้อมทนายเดินทางมาที่ศาลอาญารัชดาอีกครั้ง เนื่องจากมีหลักฐานจากกล้องวงจรปิดว่า ระหว่างรอคำสั่งประกันในวันที่ 18 มกราคม 2565 ผู้ต้องหาบางคนได้ขีดเขียนข้อความภายในบริเวณห้องเวรชี้ของศาล ส่งผลให้ช่วงเย็นวันดังกล่าว ศาลมีคำสั่งถอนประกันทั้ง 6 คนพร้อมพาตัวไปเรือนจำ เนื่องจากเป็นการทำผิดเงื่อนไข พร้อมตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาลเพิ่มต่อทั้งหกคน

ภายหลังการไต่สวนในวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2565 มี 3 คนที่รับสารภาพ คือ ปีก เปา และพี โดยศาลตัดสินลงโทษกักขังจำนวน 15 วัน และทุกคนได้รับการประกันตัวในระหว่างการยื่นอุทธรณ์

ต่อมา 28 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น คือ กักขัง 15 วัน โดยไม่รอลงอาญา โดยทุกคนได้รับการประกันตัวระหว่างการยื่นฎีกา

ภูมิหลังผู้ต้องหา

วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ หรือ ปีก สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า

ปวริศ แย้มยิ่ง หรือ เปา สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า

พีรพงศ์ เพิ่มพูน หรือ พี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า

วิโรฌา ชัชวาลวงศ์ หรือ ออ สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า

นวพล ต้นงาม หรือ ไดโน่ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า

ทรงพล สนธิรักษ์ หรือ ยาใจ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
ละเมิดอำนาจศาล

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เอกสารคำกล่าวหาสรุปได้ดังนี้

 

สืบเนื่องจากวันที่ 17 มกราคม 2565 ศาลนัดสอบคำให้การประชุมคดีตรวจพยานหลักฐานและกำหนดนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้ง 18 คนในคดีอาญาดำที่ อ 2608/2564 โดยมี ทรงพล สนธิรักษ์ จำเลยที่ 3, นวพล ต้นงาม จำเลยที่ 4, วิโรฌา ชัชวาลวงศ์ จำเลยที่ 6, พีรพงศ์ เพิ่มพูล จำเลยที่ 8, ปวริศ แย้มยิ่ง จำเลยที่ 12 และวชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ จำเลยที่ 15 ไม่ได้เดินทางมาศาล จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับและปรับผู้ประกันตามสัญญา

 

ในวันที่ 18 มกราคม 2565 ผู้ประกันได้นำตัวจำเลยมาส่งศาล พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหกในระหว่างพิจารณา โดยให้นั่งรอฟังคำสั่งปล่อยชั่วคราวในห้องพิจารณาคดี (ห้องเวรชี้) ต่อมาศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหกในระหว่างพิจารณา

 

ในวันที่ 19 มกราคม 2565 ผู้กล่าวหาระบุว่า ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยภายในห้องพิจารณาคดี (ห้องเวรชี้) จากเจ้าพนักงานตำรวจศาลประจำศาลอาญา จึงได้เข้าไปตรวจสอบและพบการกระทำดังนี้

 

– การเขียนข้อความ "ปล่อยเพื่อนเรา" "ประเทศทวย" "ยกเลิก 112" บนเก้าอี้แถวหลัง

– การเขียนข้อความบนปฏิทินที่ปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9

– การเขียนข้อความ "ประเทศทวย ยกเลิก 112 ปล่อยเพื่อนเรา” ที่ประตูห้องน้ำด้านใน

– การเขียนข้อความ "ประเทศทวย" บนฝาครอบชักโครก

– การเขียนข้อความ "ยกเลิก ๑๑๒" ที่ผนังห้องโถงที่อยู่บริเวณหน้าห้องน้ำ

– การเขียนข้อความ "ประเทศทวย" ที่ถังขยะ

– การเขียนข้อความ “ประเทศทวย” “112” ที่โทรศัพท์

– การดึงสติ๊กเกอร์แสดงสัญลักษณ์ "โปรดเว้นระยะห่าง" ที่ติดอยู่บนพนักพิงเก้าอี้ออกไปปิดทับข้อความที่เขียนไว้ที่ผนังห้องโถงหน้าห้องน้ำ

 

นอกจากนี้ ในบริเวณห้องเวรชี้ยังพบว่า มีพนักพิงเก้าอี้ยาวไม้หลุดเสียหาย 1 ตัว และพบปากกาเมจิกจำนวน 1 อัน ถูกทิ้งอยู่ในถังขยะ จึงได้แจ้งให้ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนและสอบสวน สน.พหลโยธิน และเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน เข้าตรวจสอบพื้นที่และเก็บรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

ต่อมา ผู้กล่าวหาระบุว่าได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศของศาลอาญา ทำการตรวจสอบภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิด วันที่ 18 มกราคม 2565 ในช่วงระหว่างเวลา 15.30 – 18.00 น. พบว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกคนได้นั่งรวมกันอยู่ในห้องพิจารณาคดี (ห้องเวรชี้) โดยได้นั่งพูดคุย และเดินไป-มา ภายในห้องพิจารณาคดี และเดินเข้า-ออกห้องพิจารณาคดีกับห้องโถงหน้าห้องน้ำ รวมทั้งเดินเข้าห้องน้ำเป็นระยะๆ โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 กระทำการอันเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาล และผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-6 ได้รู้เห็นถึงการกระทำและอยู่ร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

 

หลังจากนั้น ผู้กล่าวหาได้สรุปว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 เป็นการร่วมกันประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา อันเป็นความผิดต่อกฎหมายและบทมาตรา คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31, 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงขอให้ศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดตามกฎหมาย

พฤติการณ์การจับกุม

ผู้ต้องหาเดินทางมามอบตัวและถูกส่งตัวไปเรือนจำโดยไม่มีการไต่สวน

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญารัชดา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

17 มกราคม 2565

ในคดีการสาดสีที่ สน.ทุ่งสองห้อง จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลออกหมายจับสมาชิกทะลุฟ้าทั้งหกคนในช่วงบ่าย เนื่องจากไม่ได้เดินทางไปตามนัดสืบพยานหลักฐานในเวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา

 

18 มกราคม 2565

9.00 น. สมาชิกทะลุฟ้าทั้ง 6 คนเดินทางมามอบตัวที่ศาลอาญา และในเวลา 16.55 น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวโดยต้องเพิ่มหลักทรัพย์ประกันอีกเท่าตัว จากเดิม 35,000 ต่อคน เป็น 70,000 บาทต่อคน จำนวน 4 คน ได้แก่ ปีก วชิรวิชญ์, เปา ปวริศ, ไดโน่ นวพล และยาใจ ทรงพล ในขณะที่ พี พีรพงศ์ และออ วิโรฌา ต้องวางเงินประกันใหม่คนละ 70,000 บาท เนื่องจากนายประกันคนเดิมไม่สามารถเดินทางมาที่ศาลได้ในวันนี้

 

21 มกราคม 2565

13.00 น. สมาชิกทะลุฟ้าทั้ง 6 คนเดินทางมารายงานตัวที่ศาลอาญารัชดา เนื่องจากทนายได้รับแจ้งจากศาลว่าจะมีคำสั่งตั้งสำนวนละเมิดอำนาจศาลเพิ่ม

16.00 น. มีคำสั่งจากศาลให้ถอนประกันสมาชิกทะลุฟ้าทั้ง 6 คน โดยทนายได้ยื่นขอประกันตัวอีกครั้งในทันทีและยื่นคำร้องให้มีการไต่สวนพฤติการณ์ฐานละเมิดอำนาจศาลก่อนเดินทางไปเรือนจำ แต่ศาลได้ยกคำร้อง รวมทั้งถอนคำสั่งขอประกัน โดยทนายให้ข้อมูลว่า “ศาลไม่อนุญาตให้คัดถ่ายคำสั่ง ทั้งคำสั่งถอนประกัน และคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวที่ทำการยื่นไป”

17.30 น. สมาชิกทะลุฟ้าถูกนำตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ยกเว้น ออ วิโรฌา ซึ่งเป็นผู้หญิงถูกแยกไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

 

22 มกราคม 2565

ทนายความยื่นขอประกันตัวออ วิโรฌา ในวันนี้ และเวลา 14.00 น. ศาลอนุญาตให้ประกันตัว จึงปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลาง

 

3 กุมภาพันธ์ 2565

นัดไต่สวนที่ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณาคดีที่ 714 โดยผู้ถูกกล่าวหา 5 คน คือ ปีก วชิรวิชญ์, เปา ปวริศ, พี พีรพงศ์, ไดโน่ นวพล, ยาใจ ทรงพล ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ส่วนออ วิโรฌา เดินทางมาศาลเอง

 

ก่อนเริ่มการพิจารณา ศาลได้ชี้แจงรายละเอียดข้อห้ามสำหรับการบันทึกภาพและเสียง และการเผยแพร่ภาพและเสียง รวมทั้งสั่งห้ามไม่ให้ผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาจดบันทึกระหว่างการไต่สวน

 

เวลาประมาณ 9.30 น. ศาลเริ่มอ่านพฤติการณ์ที่ปรากฏในคำฟ้อง สรุปความได้ว่า “เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 เจ้าพนักงานตำรวจศาลประจำศาลอาญา ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยภายในห้องพิจารณาคดี (ห้องเวรชี้) จึงได้เข้าไปตรวจสอบและพบการขีดเขียนข้อความบนผนังและสิ่งของต่างๆ ในห้อง เช่น เก้าอี้ ถังขยะ ตู้โทรศัพท์ มีการโยกพนักพิงเก้าอี้ในห้องจนเสียหาย รวมทั้งมีการดึงสติ๊กเกอร์แสดงสัญลักษณ์ “โปรดนั่งเว้นระยะห่าง” ที่ติดอยู่บนพนักพิงเก้าอี้ออกไปปิดทับข้อความที่เขียนไว้ตามจุดต่างๆ และเมื่อตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดในช่วงเวลาดังกล่าว พบผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 (ปีก วชิรวิชญ์, เปา เปาวริศ และพี พีรพงศ์) เป็นผู้กระทำการ และผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-6 (ออ วิโรฌา, ไดโน่ นวพล และยาใจ ทรงพล) รู้เห็นและอยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วย”

 

ต่อมา ทนายของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 แจ้งต่อศาลว่า ขอเลื่อนการไต่สวน เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำยังไม่ได้รับหมายเรียกและไม่มีเวลาอ่านพฤติการณ์ข้อกล่าวหา จึงขอเวลารวบรวมพยานหลักฐาน และจะนำมายื่นต่อศาลอีกครั้งในวันที่ 17 มีนาคม 2565 อย่างไรก็ตาม ได้มีการพูดคุยปรึกษากันอีกครั้งระหว่างทนายความกับผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 คนว่า ต้องการเลื่อนการไต่สวนเป็นช่วงบ่ายของวันเดียวกัน

 

เวลาประมาณ 15.00 น. เริ่มต้นการไต่สวน ศาลได้เรียกให้ผู้ถูกกล่าวหายืนขึ้นเพื่อแถลงคำให้การเป็นรายบุคล โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 ได้ให้การรับสารภาพ ในด้านผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-6 ได้ให้การปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการขีดเขียนข้อความ รวมทั้งไม่ได้กระทำการยั่วยุ เพียงแต่อยู่ร่วมกันในเหตุการณ์วันดังกล่าว

 

หลังจากการรับสารภาพ ศาลได้ให้เจ้าหน้าที่จากส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศของศาลอาญา เปิดคลิปวิดีโอช่วงเวลาที่มีการขีดเขียนผนัง ตู้โทรศัพท์ และโยกพนักเก้าอี้ในห้องเวรชี้ ตามลำดับพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหารายบุคคล และถามซ้ำรายบุคคลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทุกคนไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงคำรับสารภาพ มีแค่พี พีรพงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่อธิบายเพิ่มเติมต่อศาลว่า ตนไม่ได้ตั้งใจทำลายเก้าอี้ แต่ตะปูบริเวณพนักพิงหลังนั้นใกล้หลุดอยู่ก่อนแล้ว เมื่อตนไปสัมผัส พนักพิงแผ่นบนจึงหลุดออกมา

 

เวลาประมาณ 15.40 น. มีการเบิกตัวผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ขึ้นอ่านพฤติการณ์รวมของผู้ถูกกล่าวหา โดยเอ่ยถึงพฤติการณ์อื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุผู้ถูกกล่าวหาไว้ตามเอกสารคำฟ้อง ได้แก่ การขีดเขียนข้อความบนปฏิทินพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และบริเวณหลังประตูห้องน้ำด้านใน

 

ภายหลังคำกล่าวของผู้กล่าวหา ทนายของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 ได้ทักท้วงต่อศาลว่า “พฤติการณ์การขีดเขียนปฏิทินนั้นไม่ได้ปรากฏเป็นหลักฐานตามคลิปวิดีโอ” อีกทั้งได้สอบถามว่า “ห้องเวรชี้ในวันเกิดเหตุถูกใช้งานต่อเนื่องในทุกคดี มิใช่เฉพาะช่วงเวลาในวันเกิดเหตุใช่หรือไม่” ซึ่งทางผู้กล่าวหาได้ยืนยันว่าห้องดังกล่าวมีการใช้งานตามปกติสำหรับทุกคดีในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว

 

เวลาประมาณ 16.40 น. ศาลได้อ่านสรุปการไต่สวน และนัดหมายเพื่อไต่สวนรวมทั้งฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น.

 

4 กุมภาพันธ์ 2565

นัดไต่สวนต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ที่ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณาคดีที่ 714 โดยผู้ถูกกล่าวหา 5 คน คือ ปีก-วชิรวิชญ์, เปา-ปวริศ, พี-พีรพงศ์, ไดโน่-นวพล, ยาใจ-ทรงพล ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

 

เวลา 10.00 น. ศาลเริ่มการอ่านคำสั่งโดยไม่ไต่สวนเพิ่มเติม โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 (ปีก วชิรวิชญ์, เปา ปวริศและพี พีรพงศ์) มีความผิด กำหนดโทษจําคุก 1 เดือน แต่เนื่องจากทั้ง 3 คนยอมรับสารภาพและมีความคิดรู้สึกสำนึกผิด รวมถึงยังมีสถานะเป็นนักศึกษา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 15 วัน ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-6 (ออ วิโรฌา, ไดโน่ นวพลและยาใจ ทรงพล) ศาลเห็นว่าพฤติการณ์ไม่ได้มีการกระทำอันใดที่ยุยง หรือร่วมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่รับสารภาพ และไม่สามารถหาหลักฐานมาเอาความได้ จึงไม่ได้ลงโทษ

 

สำหรับพฤติการณ์ขีดเขียนข้อความบนปฏิทินและบริเวณหลังประตูห้องน้ำด้านในนั้น ศาลกล่าวว่าไม่มีหลักฐาน จึงไม่สามารถเอาผิดผู้ถูกกล่าวหาได้ เสร็จสิ้นการอ่านคำสั่งโดยไม่มีผู้ใดทักท้วง อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่าย ทนายได้ทำการยื่นอุทธรณ์ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 ในคดีละเมิดอำนาจศาล รวมทั้งยื่นประกันตัวทั้ง 5 คนในคดีการสาดที่สน.สีทุ่งสองห้องควบคู่ด้วย

 

ในเวลาประมาณ 16.00 ทั้ง 6 คนได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยคนที่รับสารภาพคือ ปีก วชิรวิชญ์, เปา ปวริศและพี พีรพงศ์ มีเงื่อนไขการประกันตัวที่ระบุตามใบคำสั่งของศาลคือ “ห้ามกระทำการในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง รวมทั้งห้ามกระทำการใดอันจะมีลักษณะเป็นการรบกวนการพิจารณาคดีหรือการรักษาความสงบเรียบร้อยของศาล”

 

นอกจากนี้ สืบเนื่องจากความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ทั้ง 3 คนที่รับสารภาพจึงมีเงื่อนไขการประกันตัวในคดีการสาดสีที่สน.ทุ่งส้องห้องเพิ่มขึ้นมาจากจำเลยคนอื่นๆ จำนวนหนึ่งข้อ คือ “ให้ตั้งบิดาและ/หรือมารดาของจำเลย เป็นผู้กำกับดูแลมิให้กระทำการอันเป็นการผิดเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนด หรือก่อให้เกิดการทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองใดๆ กับให้ผู้กำกับดูแลพาจำเลย มารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน ในระหว่างการปล่อยชั่วคราว” รวมถึงทนายยังได้รับเอกสารคำเตือนแนบมากับใบคำสั่งศาล ระบุข้อความว่า “ผู้ใดขัดขืนไม่ไปตามคำสั่งนี้ ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลมีอำนาจลงโทษจำคุกได้ไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท”

 

ทั้งนี้ เมื่อถึงเวลาปล่อยตัวที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มีเพียง ไดโน่ นวพล ที่ยังไม่ปรากฏตัว โดยศาลแจ้งต่อมาในภายหลังว่า ไดโน่ยังเหลืออีกหนึ่งคดีที่ต้องรอคำสั่งประกันตัว ได้แก่ คดีการสาดสีที่พรรคพลังประชารัฐ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564

 

5 กุมภาพันธ์ 2565

เวลา 16.20 น. ไดโน่ นวพล ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

 

28 กุมภาพันธ์ 2566

นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

เวลา 10.16 น. ศาลอุทธรณ์ อ่านคำสั่งโดยสามารถสรุปได้ว่า ตามที่จำเลยอ้างว่าขอให้ศาลรอการลงโทษ เพราะพฤติการณ์ที่ทำไปมาจากความโกรธเคืองเจ้าพนักงานและรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้อความที่ขีดเขียนลงบนผนัง จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ พิพากษากักขัง 15 วันตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา

 

ภายหลังอ่านคำพิพากษา ได้มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จำนวนหนึ่งคนพาทั้งสามเดินลงไปรอที่ห้องใต้ถุนศาล จากนั้น ทนายได้ยื่นเรื่องประกันตัวออนไลน์ ต่อมา เวลา 16.00 น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งสามจึงได้รับการปล่อยตัว 

คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลชั้นต้น

ให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 ได้แก่ ปีก วชิรวิชญ์, เปา ปวริศและพี พีรพงศ์ มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31(1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จำคุกคนละ 1 เดือน คำให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 15 วัน

เมื่อพิจารณาถึงอายุ การศึกษา สภาพความผิดและรู้สำนึกในการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เมื่อโทษจำคุกที่จะลงแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามมีกำหนดไม่เกินสามเดือน เมื่อปรากฎว่าผู้ถูกกล่าวหา เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกมีกำหนด 15 วันนับแต่วันนี้ และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ให้ยกคำกล่าวหาสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-6

 

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สามารถสรุปได้ว่า 

ตามที่จำเลยระบุว่าขอให้ศาลรอการลงโทษ เพราะพฤติการณ์ที่ทำมาจากความโกรธเคืองเจ้าพนักงานและรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้อความที่ขีดเขียนลงบนผนัง จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ พิพากษากักขัง 15 วันตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา