พอร์ท ไฟเย็น : โพสต์เฟซบุ๊กต่อต้านสิ่งงมงาย

อัปเดตล่าสุด: 22/10/2565

ผู้ต้องหา

ปริญญา ชีวินกุลปฐม

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือพอร์ท ไฟเย็นถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จากการโพสต์เฟซบุ๊กสามข้อความระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2559 ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2564 พอร์ทถูกตำรวจจับกุมที่บ้านพักและคุมขังระหว่างการพิจารณาในชั้นสอบสวน โดยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 4 ครั้งจึงได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564
 
15 สิงหาคม 2565 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปีรวม 9 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือ 6 ปี

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือพอร์ท ไฟเย็น เป็นนักดนตรีซึ่งก่อตั้งตั้งแต่ปี 2554 โดยมีผลงานเพลงเกี่ยวกับการเมืองมากมาย พอร์ท เป็นคนสุดท้ายของวงไฟเย็นที่ยังอยู่ในประเทศไทย ในปัจจุบันสมาชิกอีกสามคนที่เหลือได้รับสถานะผู้ลี้ภัยที่ประเทศฝรั่งเศส

พอร์ทถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จากการโพสต์เฟซบุ๊กสามข้อความระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2559 โดยถูกตำรวจจับในวันที่ 5 มีนาคม 2564

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องระบุว่า ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
 
จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ดังนี้
 
หนึ่ง เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 จำเลยโพสต์ว่า สถาบันกษัตริย์ (ที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีบทลงโทษรุนแรงคุ้มครอง) คือสิ่งงมงายอย่างหนึ่งใครก็ตามที่อ้างตนว่า ต่อต้านสิ่งงมงาย แต่แจ้งจับคนที่เห็นต่างด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คนๆนั้นคือคนตอแหลและจิตใจโหดเหี้ยม  โพสต์ดังกล่าวมีการเผยแพร่เป็นสาธารณะทำให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อมูลเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งงมงาย ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะสำหรับประเทศไทย สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับสังคมมาอย่างยาวนาน โดยฐานะของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ คือ ทรงเป็นประมุขและประชาชนต้องเคารพเทิดทูน ที่สำคัญพระมหากษัตริย์นังมีบทบาทในการใช้พระราชอำนาจผ่านสถาบันนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการจึงไม่ใช่สิ่งงมงาย
 
สอง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 จำเลยโพสต์ข้อความว่า "เพลงสถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันกากสัสสถาบันระยำๆๆ สถาบันอะไรกดหัวผู้คน สั่งฆ่าประชาชน หนุนรัฐประหาร สถาบันอะไรห้ามคนวิจารณ์ ใช้อำนาจเผด็จการ ครอบงำสังคม มันใช้งานผ่านศาล ทหาร ตำรวจ ไอ้สัสกะหมาๆๆ …สถาบันอะไร ผูกขาดความผิด แดกหาภาษี ย่ำยีคนจน สถาบันอะไร ร่ำรวยสุดล้นทั้งโกงทั้งปล้น เสือกสอนให้คนพอเพียง มันไม่เคยจะพอ โลภหลงอำนาจไอสัสกะหมาๆๆ สถาบันกากสัส…"
 
"แต่งทำนองและท่อนฮุคไว้หลายเดือนแล้ว แต่เพิ่งแต่งเสร็จทั้งเพลงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บันทึกเสียงในส่วนจองกีตาร์ไว้แล้ว หากโชคดีภายในปีนี้คงได้ฟังกันครับ (โชคไม่ดีก็ภายในปีหน้า) ปล.สถาบันอะไรก็ไม่รู้นะครับ มีสถาบันตั้งหลายสถาบัน ตีความกันได้กว้างๆครับ 55555” 
 
สาม เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2559 จำเลยโพสต์ข้อความว่า ไม่มีกษัตริย์เซ็นรับรองการรัฐประหารก็งี้แหละ #ตุรกี#รัฐประหารตุรกี จำเลยโพสต์เป็นสาธารณะเพื่อให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่เห็นโพสต์เข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ของไทยลงพระปรมาภิไธยเพื่อรับรองการรัฐประหารในประเทศไทย ทั้งที่ระบอบการปกครองของไทยสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองจึงไม่อยู่ในสถานะที่จะทรงให้ความเห็นชอบใดๆกับการรัฐประหาร
 
ในท้ายคำบรรยายพฤติการณ์แต่ละข้อพนักงานอัยการได้บรรยายประกอบในลักษณะเดียวกันว่า จำเลยโพสต์เป็นสาธารณะเพื่อให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่เห็นโพสต์เข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย  เป็นสถาบันที่ไม่ดี กดหัวผู้คน หนุนรัฐประหาร ใช้อำนาจเผด็จการครอบงำสังคม ย่ำยีคนจน โลภหลงอำนาจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และปลุกปั่นให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปเกิดความตระหนกตกใจ เกิดความเข้าใจผิด
 
ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและปลุกปั่นทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปเกิดความตระหนกตกใจ เกิดความเข้าใจผิดและถูกชักจูงให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ จนอาจนำมาซึ่งความเกลียดชังหรือความแตกแยกในสังคม ถึงขั้นออกมากระทำความผิดต่อกฎหมาย ก่อความเดือดร้อน หรือก่อให้เกิดความไม่สงบของประชาชนภายในประเทศไทย อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร และจำเลยได้บังอาจเผยแพร่ข้อมูล โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และเป็นการกระทำไม่บังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ประการที่จะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง จำเลยมีเจตนาทำลายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชา ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

พฤติการณ์การจับกุม

ตามบันทึกการจับกุมระบุว่า วันที่ 5 มีนาคม 2564 เวลาประมาณ 11.00 น. พ.ต.ท.แทน ไชยแสง จับกุมตัวปริญญาที่บ้านพัก สืบเนื่องจากปริญญาเป็นบุคคลตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพที่ 41/2559 ที่ออกเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีการหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ไปที่ประเทศลาว ต่อมาปลายปี 2563 สืบทราบว่า ปริญญากลับเข้ามาที่ไทย ตำรวจจึงได้ติดตามและขอศาลอาญาพระโขนงออกหมายค้นที่ 32/2564 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 เพื่อค้นบ้านพักของปริญญา จากนั้นเมื่อเข้าค้นพบปริญญากำลังนั่งกินข้าวอยู่ มีการแสดงหมายค้นให้มารดาของเขาดูและยึดของกลางสองรายการคือ โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา รัชดา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
5 มีนาคม 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า พอร์ท ไฟเย็น ปริญญา ชีวินกุลปฐมถูกจับกุมบริเวณบ้านพักย่านอุดมสุข ตั้งแต่เวลาประมาณ 11.00 น. จากนั้นได้ถูกตำรวจนำตัวไปที่ บก.ปอท. โดยมีการตรวจยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ พอร์ทถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กสามโพสต์
 
29 เมษายน 2564
 
เวลา 12.00 น. ที่ศาลอาญา แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดรวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจราษมัมและทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่จะยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีการเมือง 7 คนคือ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ที่อดอาหารมา 45 วันและมีรายงานอาการถ่ายเป็นชิ้นเนื้อและลิ่มเลือด, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลที่อดอาหารมา 30 วัน, อานนท์ นำภา, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก, แอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์, จัสติน-ชูเกียรติ แสงวงค์ ซึ่งติดโรคโควิด 19 จากแดนแรกรับของเรือนจำ และพอร์ท-ปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือ พอร์ท ไฟเย็น
 
ขณะที่ตัวแทนแนวร่วมฯจะยื่นจดหมายถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาขอให้คำนึงถึงหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of innocence) และคืนสิทธิ์ให้ประกันตัวให้ผู้ต้องหาคดีการเมืองที่อยู่ระหว่างการพิจารณา มีผู้ลงชื่อแนบท้ายจำนวน 11,035  คน ต่อมาเวลา 18.03 น. ศาลอาญายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 7 คน โดยสั่งในลักษณะเดียวกันว่า ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
 
12 พฤษภาคม 2564
นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
 
เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องประกันตัวของปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือ พอร์ท วงไฟเย็น ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 โดยปริญญาถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความเข้าข่ายมาตรา 112 บนเฟซบุ๊กรวมสามข้อความ สำหรับการไต่สวนคำร้องประกันตัวในวันนี้ ศาลไต่สวนพยานรวมสามปากได้แก่ปริญญา, แม่ของปริญญา และพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
 
ในเวลา 14.00 น. ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวปริญญา โดยวางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆรวมทั้งการใช้สื่อออนไลน์ในลักษณะที่อาจก่อนให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้มารายงานตัวตามนัดศาลทุกครั้ง
 
การไต่สวนในวันนี้ต้องทำผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์เนื่องจากปริญญาติดเชื้อโควิด19 และต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ทำให้ในห้องพิจารณาคดีที่ศาลอาญามีเพียงพ่อและแม่ของปริญญามาฟังการไต่สวน
 
เวลา 10.15 น. เจ้าหน้าที่ศาลติดต่อกับปริญญาผ่านทางระบบเทเลคอนเฟเรนซ์ ภาพที่ปรากฏในจอคือ ปริญญา สวมใส่เสื้อสีมัดย้อมซึ่งเป็นเสื้อตัวที่เขาใส่ในวันที่ถูกจับกุม กำลังนั่งอยู่ในห้องโถงโล่งที่ตามคำบอกเล่าของทนายความห้องสำหรับผู้ป่วยโควิด 19 ไม่มีเตียง ด้านบนมีพัดลมเพดาน ด้านหลังห้องมีกำแพงก่อขึ้นมาประมาณระดับอกคาดว่า เป็นบล็อคห้องน้ำ บนพื้นห้องมีการปูผ้ามากกว่า 20 ที่น่าจะเป็นที่นอนของผู้ต้องขังแต่ละคน ขณะระหว่างที่ปริญญากำลังไต่สวนนั้นมีผู้อยู่ร่วมห้องด้วยกว่าสิบคน บางคนสวมหน้ากากแต่บางคนก็ไม่สวม แต่ปริญญาสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ทำการไต่สวน
 
จากนั้นศาลขึ้นบัลลังก์ ศาลถามพนักงานสอบสวนว่าเห็นคำร้องของปริญญาแล้วหรือยัง พนักงานสอบสวนตอบว่ายังไม่เห็น จากนั้นทนายความจึงนำคำร้องไปให้พนักงานสอบสวนดูก่อนที่ศาลจะให้เริ่มไต่สวนปริญญาเป็นคนแรก
 
ปริญญาเบิกความว่า เขาขอยืนยันตามที่แถลงในคำร้องขอประกันตัวฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 ว่าจะไม่กระทำการใดๆให้เป็นการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเขายินดีรับเงื่อนไขตามที่ศาลจะกำหนด ทนายจำเลยถามถึงเลขที่ของบ้านที่ปริญญาอยู่ในวันจับกุมกับเลขที่บ้านตามทะเบียนราษฎรว่า ทะเบียนทั้งสองเป็นของบ้านหลังเดียวกันหรือไม่ ปริญญายืนยันว่าเป็นบ้านหลังเดียวกันแต่เนื่องจากทางเขตมีการเปลี่ยนแปลงบ้านเลขที่ทำให้บ้านที่เขาอยู่อาศัยมีทะเบียนบ้านสองเลข และบ้านที่เขาอยู่ขณะถูกจับกุมก็เป็นบ้านที่เป็นภูมิลำเนาไม่ใช่เป็นบ้านที่หลบหนีไปอยู่แต่อย่างใด
 
ทนายจำเลยถามปริญญาถึงกรณีที่เขาเคยเดินทางไปอยู่ที่ลาวอยู่เป็นระยะๆ ปริญญาตอบว่าหลังการรัฐประหารในปี 2557 คสช.ออกหมายเรียกประชาชนจำนวนมากไปรายงานตัว ตัวเขาเองเคยทำกิจกรรมร่วมกับคนเสื้อแดงจึงมีความกังวลใจในความปลอดภัย จึงตัดสินใจออกไปอยู่ที่ลาว ต่อมาเมื่อไม่ปรากฎว่า มีชื่อเขาถูกเรียกรายงานตัวเขาก็เลยเดินทางไปๆมาๆระหว่างไทยและลาว โดยการเดินทางเขาของเป็นการเดินทางผ่านแดนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเขาเช่นนี้เป็นประจำตั้งแต่ก่อนถูกออกหมายจับในปี 2559 ทนายจำเลยถามว่า ปริญญาทราบเรื่องที่ตัวเองถูกออกหมายจับหรือไม่ ปริญญาตอบว่า ไม่ทราบจนกระทั่งวันที่เขาถูกจับกุมถึงได้ทราบ
 
ศาลถามปริญญาว่า ระหว่างที่อยู่ลาวเขาได้ประกอบอาชีพหรือไม่ ปริญญาตอบว่ายังไม่ได้ประกอบอาชีพ เนื่องจากหางานไม่ได้ เขาเคยลองไปออดิชันที่ร้านอาหารแต่ก็ไม่ผ่าน ศาลถามว่าระหว่างที่อยู่ลาว ปริญญาอยู่ที่เมืองไหนบ้าง ปริญญาตอบว่าเขาอยู่แค่ที่นครหลวงเวียงจันทร์ ศาลถามว่า ปริญญาพักอาศัยอยู่กับใคร ปริญญาตอบว่า เขาพักอาศัยกับเพื่อนซึ่งมีทั้งคนไทยและคนลาว โดยเขาก็จะสลับไปอยู่กับคนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง
 
ศาลถามว่าหากจะตั้งเงื่อนไขให้ปริญญาติดกำไลอีเอ็มจะยอมรับหรือไม่ ปริญญาตอบว่า ยอมรับ ศาลถามว่า หากศาลจะกำหนดให้ปริญญาอยู่เฉพาะในกรุงเทพมหานครจะได้หรือไม่ พร้อมอธิบายว่าปริญญาเคยมีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนได้จึงถือว่ามีความสามารถที่จะหลบหนี หากจะอนุญาตให้ปล่อยตัวศาลก็จำเป็นจะต้องลดความเสี่ยงด้วยการจำกัดการเคลื่อนไหวของปริญญา ซึ่งการจำกัดในลักษณะนี้เกิดขึ้นทั้งกับคดีการเมือง, ยาเสพติดและคดีอื่นๆที่ศาลพิจารณาและเล็งเห็นว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นมีความสามารถในการเดินทางและใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ปริญญาตอบว่า หากศาลจะกำหนดเงื่อนไขใดเขาก็จะปฏิบัติตาม
 
ทนายจำเลยถามปริญญาต่อเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของเขา ปริญญาตอบว่า เขากังวลเรื่องมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19ในเรือนจำ ในแดนของเขามีผู้ติดเชื้อมากกว่าครึ่ง ซึ่งเขาเห็นว่ามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในเรือนจำไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แม้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการณ์จะทำงานหนักแล้ว แต่ก็อาจเป็นปัญหามาจากระดับนโยบาย ปริญญาเบิกความด้วยว่า ตัวเขาถือเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงเพราะเคยป่วยเป็นตับอ่อนอักเสบ ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานและโรคปลายประสาทอักเสบ หลังไต่สวนปริญญาแล้วเสร็จ ศาลถามทนายจำเลยว่าหากได้รับการปล่อยตัวจะดำเนินการเรื่องการรักษาพยาบาลอย่างไร ทนายจำเลยแถลงว่าได้ประสานโรงพยาบาลไว้แล้ว
 
แม่ของปริญญาเบิกความยืนยันกับศาลว่า บ้านของเธอมีเลขที่สองเลขที่เพราะทางสำนักงานเขตมีการออกเลขที่บ้านใหม่แต่เป็นหลังเดียวกัน ตัวเธอในฐานะนายประกันจะดูแลให้ปริญญาปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลอย่างเคร่งครัด ก่อนถูกจับกุมปริญญาพักอาศัยอยู่กับเธอและสามี ซึ่งเป็นพ่อของปริญญา เมื่อพ่อและแม่บอกอะไรไปปริญญาก็จะปฏิบัติตาม หลังจากที่ปริญญามีอาการป่วยดังที่เบิกความไปตัวเธอก็ดูแลเขาอย่างใกล้ชิด แม่ของปริญญาถามศาลเกี่ยวกับข้อกำหนดเรื่องการจำกัดพื้นที่ว่า ขอขยายให้อย่างน้อยเป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้หรือไม่ ศาลอธิบายว่า ปริญญามีความสามารถในการเดินทางและใช้ชีวิตในต่างประเทศถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะหลบหนี ศาลจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขเพื่อลดความเสี่ยงพร้อมทั้งอธิบายว่าในบางกรณีศาลยังเคยกำหนดเงื่อนไขที่เล็กกว่าจังหวัดเช่น ห้ามออกนอกเขตหรือห้ามไปค้างที่อื่นนอกจากบ้านตัวเอง ซึ่งกรณีของปริญญาศาลจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตามจะไม่กำหนดเงื่อนไขให้ไปกระทบการใช้ชีวิตจนเกินไป แม่ของปริญญาก็แถลงว่า หากศาลมีข้อกำหนดใดๆเธอก็ยินดีที่จะดูแลให้ปริญญาปฏิบัติตามนั้น
 
หลังไต่สวนแม่ของปริญญา ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนซึ่งเบิกความโดยสรุปได้ว่า การเดินทางไปลาวของผู้ต้องหาเท่าที่เขามีข้อมูลเป็นการเดินทางก่อนถูกออกหมายจับและเข้าออกเพียงจุดเดียวคือสะพานมิตรภาพไทยลาวที่จังหวัดหนองคายและเป็นการเดินทางเข้าออกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในส่วนของสำนวนการสอบสวนขณะนี้พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนแล้วเหลือเพียงส่งมอบให้อัยการ ไม่มีพยานหลักฐานใดๆที่ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงได้ และพนักงานสอบสวนไม่คัดค้านหากผู้ต้องหาจะขอประกันตัว จากนั้นศาลนัดผู้ต้องหาฟังคำสั่งในเวลา 13.30 น.
 
เวลาประมาณ 13.45 น. เจ้าหน้าที่ศาลและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์พยายามจะเชื่อมต่อระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์แต่ดูเหมือนจะมีปัญหาทางเทคนิคอยู่ครู่หนึ่ง กระทั่งเวลาประมาณ 14.00 น. เจ้าหน้าที่จึงสามารถเชื่อมต่อระบบได้จากนั้นศาลจึงขึ้นบัลลังก์และเริ่มอ่านคำสั่งทันทีซึ่งสรุปได้ว่า
 
วิมลรัตน์ ชีวินกุลปฐม มารดาของผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาโดยที่พนักงานสอบสวนไม่คัดค้าน
 
ข้อเท็จจากการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ความว่า ผู้ต้องหาถูกจับกุมตัวในที่พักอาศัยซึ่งเป็นภูมิลำเนา หลังการรัฐประหาร 2557 ผู้ต้องหาเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยกับสปป.ลาวเป็นระยะเนื่องจากเกรงจะถูกดำเนินการโดยไม่เหมาะสมเพราะตนเองเคยร่วมกิจกรรมกับคนเสื้อแดงมาก่อน และผู้ต้องหาไม่ทราบว่าตนเองถูกออกหมายจับกระทั่งถูกทำการจับกุม และผู้ต้องหาแถลงด้วยความสมัครใจว่าหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่กระทำการใดๆที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งจะปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล และมีวิมลรัตน์มารดายืนยันว่าจะดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลอย่างเคร่งครัด
 
กรณีมีประเด็นต้องพิจารณาว่า มีเหตุให้ศาลไม่ปล่อยตัวชั่วคราวตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 วรรคหนึ่ง อันได้แก่ 1.ผู้ต้องหาอาจหลบหนี 2. ผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 3. ผู้ต้องหาอาจไปก่อภยันตรายประการอื่น 4. หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และ 5.การปล่อยตัวอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี
 
เห็นว่า ผู้ต้องหาถูกจับกุมที่ภูมิลำเนา ไม่ปรากฎพฤติการณ์ว่าหลบหนี พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนแล้วและพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานผู้ต้องหาจึงไม่อาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ และพนักงานสอบสวนแถลงไม่คัดค้านการประกันตัว จึงไม่มีเหตุให้ศาลไม่ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา กรณีมีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
 
อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา กำหนดวงเงินประกัน 200,000 บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆรวมทั้งการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ผู้ต้องหามาศาลตามนัดทุกครั้ง
 
หลังศาลอ่านคำสั่งให้ประกัน แม่ของปริญญาพูดกับปริญญาผ่านทางระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์สั้นๆ ว่าเมื่อได้ปล่อยตัวแล้วจะยังไม่ได้เจอกัน ขอให้ดูแลตัวเอง ดูแลสุขภาพให้ดี ถ้าไอก็กินน้ำเยอะๆ ขณะที่ปริญญาระบุว่าห้องที่เขาถูกควบคุมในโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีผู็ต้องขังถูกควบคุมประมาณ 30 กว่าคน ซึ่งผู้ต้องขังเหล่านี้ได้รับการวินิจฉัยผลโควิดเป็นบวกเช่นเดียวกับเขา
 
ทั้งนี้เนื่องจากปริญญาติดเชื้อโควิด19 เขาจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันทีที่ได้รับการปล่อยตัวเพื่อรับการรักษาและในระหว่างนี้จะยังไม่ได้พบหน้าพ่อและแม่ สำหรับเงิน 200,000 บาท ที่ใช้เป็นหลักประกันปริญญาในคดีนี้เป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์
 
28 มิถุนายน 2564
นัดสอบคำให้การ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลา 09.00 น. ศาลได้อ่านคําฟ้องให้จําเลยฟัง จำเลยได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือต่อศาล โดยแถลงรับว่าตนเองเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กที่ชื่อ “Rishadan Port” จริง และยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความทั้ง 3 โพสต์ตามที่ถูกโจทก์ฟ้องจริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตามข้อกล่าวหาของโจทก์
 
ต่อมาพนักงานอัยการนำส่งพยานเอกสาร จํานวน 12 ฉบับ ตามที่ได้ยื่นบัญชีต่อศาล ให้จำเลยและทนายจำเลยตรวจสอบ ทางด้านจําเลยและทนายจําเลยแถลงว่าในชั้นนี้ยังไม่มีพยานเอกสารและพยานวัตถุที่จะอ้างเป็นพยาน หากมีพยานเอกสารและพยานวัตถุเพิ่มเติม จะขอนำส่งต่อศาลในวันก่อน หรือวันนัดสืบพยานต่อไป
 
อัยการโจทก์ยังแถลงแสดงความประสงค์จะนำสืบพยานบุคคลรวม 8 ปาก ได้แก่ เจ้าพนักงาน บก.ปอท. ผู้ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโพสต์ตรมข้อกล่าวหา, เจ้าพนักงานกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก, พยานคนกลางผู้อ่านข้อความที่จําเลยได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก, เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมจําเลย และพนักงานสอบสวน 
 
อัยการยังแถลงว่าหากจำเลยแถลงรับว่าเป็นผู้ใช้งานเฟซบุ๊กและโพสต์ข้อความตามฟ้องจริง และสามารถรับข้อเท็จจริงเรื่องการตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กของเจ้าพนักงานจากกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ โจทก์ก็ไม่ติดใจนำสืบพยานปากนี้ 
 
จําเลยและทนายจําเลยจึงได้แถลงรับว่านายพงศธร วรรณสุคนธ์ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ตรวจพบเฟซบุ๊กตามข้อกล่าวหาจริง และได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนตามเอกสารในคดี
 
อัยการโจทก์จึงแถลงไม่ติดใจสืบพยานปากดังกล่าวอีก แต่ขอใช้พยานเอกสารแทนการสืบพยานบุคคล และสรุปยังเหลือพยานที่ประสงค์นำสืบอีก 7 ปาก โดยขอใช้เวลาสืบพยานโจทก์ 1 นัดครึ่ง
 
ทางด้านจําเลยและทนายจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า ไม่ได้กระทําผิดตามฟ้องโจทก์ ประสงค์จะนำสืบพยานรวม 2 ปาก โดยขอใช้เวลาสืบพยานจําเลยครึ่งนัด
 
ศาลจึงเห็นควรให้กําหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ 1 นัดครึ่ง และพยานจําเลยครึ่งนัด ตามที่คู่ความแถลง ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงวันนัดสืบพยานรวม 2 นัด เป็นวันที่ 8 และ 9 มีนาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปของแต่ละวัน
 
 
 
8 มีนาคม 2565
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ในนัดนี้อัยการเตรียมพยานโจทก์เข้าสืบรวมสี่ปาก คือตำรวจที่เป็นผู้กล่าวหา, ตำรวจที่เป็นผู้ตรวจข้อมูลบนเฟซบุ๊กของปริญญาและประชาชนทั่วไปอีกสองคน ในห้องพิจารณาคดีนอกจากคู่ความแล้วยังมีพ่อกับแม่ของปริญญาเดินทางมาร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.21 น. และเริ่มการพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 9.40 น.  
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง: พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา 
 
พ.ต.อ.โอฬารเบิกความโดยสรุปได้ว่า ขณะเกิดเหตุเขาดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการนำเข้า เผยแพร่ข้อความที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 เขาได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า มีบัญชีเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งที่มีชื่อว่าอะไรจำไม่ได้แน่ชัดแต่มีชื่อทำนองว่า Risha เผยแพร่ข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือพระมหากษัตริย์ รายงานดังกล่าวปรากฏภาพเคลื่อนไหว เป็นข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จึงแจ้งกองบังคับการสืบสวนทราบ และตัวเขาได้เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ 
 
พ.ต.อ.โอฬารเบิกความว่าเหตุที่ทราบว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวคือ ปริญญาเป็นเพราะมีหลักฐานปรากฏเป็นรูปภาพ ภาพเคลื่อนไหวและเสียง สำหรับการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับปริญญา พ.ต.อ.โอฬารเบิกความว่าหลังได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาเขาก็ต้องดำเนินการไปตามระเบียบ 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พ.ต.อ.โอฬารเบิกความตอบทนายจำเลยโดยสรุปได้ว่า เขาเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษคดีมาตรา 112 มาแล้วหลายคดี จึงทราบว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คุ้มครองบุคคลใดบ้าง เมื่อทนายจำเลยถามคำถามเกี่ยวกับองค์ประกอบความผิดของกฎหมาย ศาลแจ้งกับทนายจำเลยว่า ปกติแล้วหากเป็นข้อกฎหมาย ศาลจะวินิจฉัยเองแต่ครั้งนี้ศาลจะบันทึกให้  
 
ทนายจำเลยถามว่าคดีนี้จำเลยถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งหมดสามกรรม ซึ่งเหตุเกิดในปี 2559 พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ในขณะนั้นคือรัชกาลที่เก้าใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารตอบว่าใช่ ศาลกล่าวกับพ0ต0อ0โอฬารว่าให้ฟังคำถามทนายและนึกดีๆก่อนตอบ พ.ต.อ.โอฬารตอบใหม่ว่า จำไม่ได้เพราะปี 2559 เป็นช่วงรอยต่อระหว่างรัชกาลที่เก้ากับรัชกาลที่สิบ โดยเขาทราบว่าวันสวรรคตของรัชกาลที่ 9 คือวันที่ 13 ตุลาคม 2559 
 
ทนายจำเลยถามพ.ต.อ.โอฬารว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ด้วยหรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารตอบว่า ในความหมายของเขามาตรา 112 มุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์และอดีตพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี เนื่องจากมีการสืบทอดราชสมบัติต่อกันมา ทนายจำเลยถามว่า หากเป็นพระมหากษัตริย์นอกราชวงศ์จักรี ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะไม่คุ้มครองใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามถึงสาเหตุที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้ พ.ต.อ.โอฬารตอบว่า เพราะคณะทำงานมีความเห็นให้ร้องทุกข์ กล่าวโทษไม่ใช่ความเห็นของเขาเป็นการส่วนตัว
 
ทนายจำเลยถามถึงโพสต์ตามฟ้องโพสต์ที่หนึ่งว่า ตามโพสต์ดังกล่าวไม่มีการเอ่ยถึงพระนามพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารตอบว่า ใช่ ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อความอาจจะไม่ได้ระบุ แต่เป็นคำที่เข้าใจเป็นอื่นไม่ได้ และตอนท้ายโพสต์มีการเขียนถึงมาตรา 112 ว่ามีบทลงโทษรุนแรง เพื่อชี้ให้เห็นว่า ข้อความด้านบนกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ ทนายจำเลยถามว่า ตามที่อธิบายมาเป็นการตีความของตัวพ.ต.อ.โอฬารเองใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าข้อความดังกล่าวมีข้อความหยาบคาย รุนแรงหรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารรับว่า ไม่มี ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า ความผิดตามมาตรา 112 ไม่จำเป็นต้องมีถ้อยคำที่หยาบคาย

ทนายจำเลยให้พ.ต.อ.โอฬารดูเอกสารซึ่งเป็นการให้ความหมายคำว่า "งมงาย" จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานและถามว่า อ่านแล้วมีความหมายตามเอกสารว่า หลงเชื่อโดยไม่มีเหตุผลใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารรับว่า ใช่ ทนายจำเลยอ้างส่งเอกสารต่อศาล

ทนายจำเลยถามว่าข้อความที่บอกว่า ใครก็ตามที่ต่อต้านสิ่งงมงายแต่ไปแจ้งความตามมาตรา 112 นั้นเป็นคนตอแหล หมายถึงคนอื่นที่ไปแจ้งความใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารรับว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า ที่กล่าวหาว่าข้อความของจำเลยเป็นการใส่ร้ายว่า สถาบันฯเป็นสิ่งงมงายเป็นความเห็นของตัวพ.ต.อ.โอฬารใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามถึงโพสต์ที่สองว่า ในโพสต์นี้ไม่ได้มีการเอ่ยพระนามหรือนามของบุคคลตามองค์ประกอบมาตรา 112 ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า คำว่า สถาบันมีหลายองค์กรใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารรับว่า ใช่
 
ทนายจำเลยให้พ.ต.อ.โอฬารดูความหมายของคำว่า สถาบันตามพจนานุกรมราชบัณฑิตสถาน พ.ต.อ.โอฬารรับว่า เป็นไปตามเอกสาร ทนายจำเลยอ้างส่งต่อศาล ทนายจำเลยถามว่าที่ตอนท้ายของข้อความที่สองมีเขียนว่า สถาบันอะไรไม่รู้ ตีความกว้างๆ ก็อาจจะไม่ได้หมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารตอบว่าในความเห็นของเขาน่าจะเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์เพราะในช่วงที่จำเลยโพสต์ข้อความเป็นช่วงที่มีขบวนการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์และในเนื้อเพลงที่อยู่ในโพสต์ดังกล่าวอ่านแล้วเข้าใจว่ามีสถาบันเดียว ข้อความที่ว่า ตีความกว้างๆนั้นเกิดขึ้นหลังจำเลยกระทำความผิดสำเร็จแล้ว ซึ่งหมายถึงโพสต์เพลงในส่วนบนของข้อความ 
 
ทนายจำเลยถามว่า ส่วนหนึ่งของข้อความที่เขียนว่า การตีความกว้างๆอยู่ในโพสต์เดียวกันใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า คำด่าหรือคำไม่สุภาพเป็นอย่างเดียวกันกับความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ พ.ต.อ.บอกว่า ใช่ มีความหมายอย่างเดียวกัน และกล่าวว่า เนื้อหาของเพลงตามโพสต์นั้นเป็นการจาบจ้วงดูหมื่นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน ทำให้เข้าใจได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนับสนุนเผด็จการ ย่ำยีคนจน ทนายจำเลยถามว่า ที่กล่าวเช่นนี้เป็นความเห็นของพยานและคณะทำงานใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารตอบว่า ใช่
 
ทนายจำเลยถามถึงโพสต์ที่สามตามฟ้องว่า ในโพสต์นี้ไม่ได้มีการเอ่ยพระนามหรือนามของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารตอบว่า ใช่ และเบิกความเพิ่มเติมว่าแม้ข้อความจะไม่ระบุชื่อบุคคลใดแต่เนื้อหาของข้อความทำให้เข้าใจได้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงรับรองการรัฐประหาร และช่วงเวลาที่ปริญญาโพสต์ข้อความก็มีกระแสการต่อต้านรัฐประหาร ปริญญาจึงยกตัวอย่างการทำรัฐประหารที่ไม่สำเร็จอย่างในตุรกีขึ้นมาเพราะตุรกีไม่มีพระมหากษัตริย์เพื่อเปรียบเทียบกับกรณีของไทยที่นำความกราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วรัฐประหารต้องสำเร็จก่อนถึงจะกราบบังคมทูลได้  ไม่ใช่กราบบังคมทูลแล้วจึงสำเร็จ

ทนายจำเลยถามว่า ข้อความที่ปริญญาโพสต์ไม่มีข้อความทำนองว่า พระมหากษัตริย์รับรองการรัฐประหารใช่หรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารตอบว่า ใช่ 
 
ศาลกล่าวขึ้นว่าที่ทนายจำเลยกำลังถามอยู่เป็นการแปลความ ศาลพยายามบันทึกประเด็นให้ทั้งสองฝ่าย แต่ปกติถ้าประเด็นปรากฏตามเอกสารแล้วศาลจะไม่บันทึกให้ ศาลต้องใช้ดุลพินิจในการจด
 
จากนั้นทนายจำเลยถามพ.ต.อ.โอฬารว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่เกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 โดยเฉพาะและทราบหรือไม่ว่า คดีนี้คณะกรรมการเคยสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ต.อ.โอฬารตอบว่า ไม่ทราบ 
 
เวลา 11.01 น. ศาลอ่านทวนคำเบิกความให้พ.ต.อ.โอฬารฟัง เมื่ออ่านจบทนายจำเลยท้วงว่า มีหนึ่งคำถามที่หายไปและขออนุญาตศาลถามพยานใหม่และบันทึก ศาลอนุญาต ทนายจำเลยถามว่า ดูหมิ่นและหมิ่นประมาทเหมือนกันหรือไม่ พ.ต.อ.โอฬารตอบว่า ไม่เหมือน ศาลบันทึกเพิ่มเติม จากนั้นศาลจึงเลื่อนไปสืบพยานโจทก์ต่อในช่วงบ่าย
 
9 มีนาคม 2565
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลเริ่มการสืบพยานในเวลา 9.18 น. ในนัดนี้อัยการนำพยานที่เป็นประชาชนผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความต่อพนักงานพนักงานสอบสวนมาเบิกความต่อศาล
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม: กำธร พยานผู้ให้ความเห็น
 
กำธรเบิกความโดยสรุปได้ว่า ประมาณปี 2560 แต่จำวันที่ไม่ได้แน่ชัด ตัวเขาซึ่งประกอบอาชีพทนายความได้นำลูกความไปติดต่อราชการที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) หลังเสร็จภารกิจตำรวจที่เป็นเจ้าของสำนวนคดีนี้ขอความเห็นจากเขาโดยได้นำโพสต์ของปริญญามาให้ดู 
 
กำธรเบิกความว่าเท่าที่จำได้โพสต์ที่เจ้าหน้าที่นำมาให้ดูมีทั้งหมดสามโพสต์ โพสต์ที่หนึ่งพูดถึงการรัฐประหารในประเทศตุรกีที่ไม่สำเร็จเพราะไม่มีพระมหากษัตริย์เซ็นรับรอง พนักงานสอบสวนถามเขาว่า อ่านแล้วมีความเห็นอย่างไร ซึ่งเขาตอบไปว่าข้อความดังกล่าวเป็นการเชื่อมโยงการรัฐประหารที่ตุรกีกับการรัฐประหารในไทย ในทำนองว่าการทำรัฐประหารในไทยสำเร็จเพราพระมหากษัตริย์เซ็นรับรอง การเขียนข้อความลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นการโยนความผิดให้พระมหากษัตริย์
 
โพสต์ที่สองเป็นเนื้อเพลงที่ใช้คำว่า "กากสัส" ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงของคำว่า กษัตริย์ ในเนื้อหาของเพลงทำให้ตีความได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เข่นฆ่าประชาชน ซึ่งไม่เป็นความจริง

สำหรับโพสต์ที่สามเบิกความว่าเขาจำไม่ได้เพราะเคยให้ความเห็นไว้นานแล้ว ศาลจึงบอกกำธรว่า หากจำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อัยการจึงนำบันทึกคำให้การที่กำธรเคยให้ปากคำไว้กับพนักงานสอบสวนมาให้ดูเพื่อเบิกความรับรองเอกสาร จากนั้นอัยการจึงอ้างส่งเอกสารต่อศาล
 
อัยการแถลงหมดคำถาม ศาลตรวจเอกสารคำเบิกความและส่งให้ทนายจำเลยอ่าน พร้อมย้ำว่า ทนายจำเลยไม่จำเป็นต้องรีบถามค้าน ขอให้อ่านให้เข้าใจก่อน ศาลสามารถรอได้ ทนายจำเลยใช้เวลาอ่านครู่หนึ่งจึงเริ่มถามค้าน

ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า ตอนที่พนักงานสอบสวนนำโพสต์มาให้อ่าน ได้เล่ารายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติมหรือไม่ กำธรตอบว่า เขาได้อ่านเพียงข้อความเท่านั้น

ทนายจำเลยถามว่า กำธรเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ กำธรตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า เมื่อกำธรอ่านข้อความที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้แล้วยังเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ กำธรตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยถามว่า หลังอ่านข้อความนี้กำธรไม่ได้อยากจะกระทำการที่ไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ กำธรตอบว่า ไม่ได้มีความรู้สึกอยากจะไปทำอะไรที่ไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพียงแต่อ่านแล้วเห็นเจตนาที่ไม่ดีของผู้เขียนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 
 
ทนายจำเลยถามว่า ในโพสต์เรื่องรัฐประหารตุรกี ไม่ได้ระบุพระนามของพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใช่หรือไม่ กำธรตอบว่า ตามโพสต์ไม่มีการเอ่ยพระนามหรือชื่อของบุคคลที่กล่าวถึง แต่ข้อความเป็นภาษาไทยสื่อความหมายที่เปรียบเทียบกับการทำรัฐประหารในไทย

ทนายจำเลยถามว่า คำอธิบายที่กำธรกล่าวถึงเป็นการตีความของกำธรเองใช่หรือไม่ กำธรรับว่า ใช่

ทนายจำเลยถามว่า คำว่า "กะ" กับคำว่า "กาก" ออกเสียงเหมือนกันหรือไม่ กำธรบอกว่า ไม่เหมือนแค่คล้ายกัน 
 
ทนายจำเลยให้กำธรดูความหมายของคำว่า สถาบัน ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานและถามว่า คำดังกล่าวเป็นคำที่ใช้โดยทั่วไปใช่หรือไม่ กำธรตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นการเข่นฆ่าประชาชนกลางกรุงจำนวนมาก ผู้ฆ่าคือ ทหารและตำรวจ ทราบหรือไม่ กำธรตอบว่า ทราบจากการอ่านหนังสือแต่ตัวเขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทนายจำเลยถามว่า ที่กำธรให้การกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับคำว่าสถาบันกากสัส เป็นความเข้าใจของกำธรเองใช่หรือไม่ กำธรตอบว่าใช่และอธิบายเพิ่มเติมว่า กากสัสเป็นการเลียนแบบเสียง ตีความหมายได้ว่า กษัตริย์ 
 
ทนายจำเลยถามว่า ตามรายละเอียด เพลงสถาบันกากสัส ไม่ได้ระบุพระนามของพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใช่หรือไม่ กำธรตอบว่า ไม่มีการเอ่ยถึง ทนายจำเลยถามว่า ไม่ปรากฏคำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยใช่หรือไม่ กำธรตอบว่า ไม่มีคำดังกล่าว ศาลถามกำธรว่าจะอธิบายเพิ่มเติมหรือไม่ กำธรอธิบายว่า คำว่า สถาบันกากสัส เมื่ออ่านและแปลความได้ว่า ต้องการสื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในเพลงดังกล่าว ทนายจำเลยถามว่า ในโพสต์ดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงสถาบันอื่นใดเลยเช่น สถาบันศาลและสถาบันการเงิน กำธรตอบว่า ไม่ได้มีการกล่าวถึง แต่ใช้คำว่า สถาบันกากสัส ซึ่งเขาอ่านแล้วเข้าใจว่าหมายถึง สถาบันกษัตริย์ 
 
ทนายจำเลยถามว่า คำว่า กากสัสเป็นคำที่วัยรุ่นใช้ใช่หรือไม่ กำธรตอบว่า เคยได้ยิน ทนายจำเลยถามว่า ข้อความตามฟ้องในโพสต์ที่หนึ่งเรื่องมาตรา 112 ไม่ได้มีการเอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนั้นคำให้การที่กำธรให้ไว้เป็นความเชื่อของตัวกำธรเองใช่หรือไม่ กำธรอธิบายว่า การที่บอกว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งงมงายไม่ถูกต้อง เนื่องจากพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และอยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน และข้อความมีการกล่าวถึงมาตรา 112 ด้วย ซึ่งเป็นมาตราที่กำหนดโทษการกระทำดูหมิ่น หมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อบุคคลที่กฎหมายคุ้มครอง
 
ทนายจำเลยถามว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ประกอบไปด้วยหลายส่วน มีพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ กำธรตอบว่าใช่และอธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อความดังกล่าว เขาอ่านแล้วเข้าใจว่า ผู้เขียนหมายถึงพระมหากษัตริย์ ทนายจำเลยถามว่า กำธรอ่านข้อความดังกล่าวแล้วมีความไม่พอใจหรือโกรธใช่หรือไม่ กำธรตอบว่า ไม่ได้รู้สึกโกรธแต่เห็นว่า ข้อความนี้ผิดกฎหมาย ทนายจำเลยถามว่า นอกจากคดีนี้แล้วกำธรไปเป็นพยานคดีมาตรา 112 อีกกี่คดี กำธรตอบว่า สองคดี ทนายจำเลยถามว่า กำธรทราบหรือไม่ว่าหนึ่งในคดีที่กำธรไปเบิกความเป็นพยานศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยไปแล้ว กำธรตอบว่าไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยถามว่า ข้อความที่บอกว่า ใครก็ตามที่ไม่เชื่อในสิ่งงมงายแต่ไปแจ้งจับคนอื่นมาตรา 112 เป็นคนตอแหล ผู้เขียนหมายถึงคนที่ไปที่แจ้งความด้วยกฎหมายนี้ใช่หรือไม่ กำธรรับว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า การวิจารณ์ข้อกฎหมายเป็นเรื่องที่ได้ใช่หรือไม่ กำธรฟังแล้วตอบว่า ใช่ แต่ไม่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทนายจำเลยถามว่า ข้อความตามโพสต์ของปริญญาที่บอกว่า สถาบันอะไรก็ไม่รู้ตีความอะไรก็ได้ ไม่ได้เป็นการเจาะจงถึงสถาบันใดสถาบันหนึ่งใช่หรือไม่ กำธรตอบว่า ผู้เขียนระบุเช่นนั้นแต่เมื่ออ่านโดยรวมแล้วหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
อัยการไม่ถามติง 
 
หลังจบการสืบพยานโจทก์ปากนี้ในช่วงเช้า อัยการแถลงต่อศาลว่า พ.ต.ท.สุรชัจ สิมุเทศ ผู้ใต้บังคับบัญชาของพ.ต.อ.โอฬารที่เป็นผู้ตรวจสอบโพสต์ไม่สามารถมาเบิกความได้เนื่องจากมีเหตุจำเป็นเกี่ยวกับโควิด 19 แต่อัยการประสงค์จะสืบพยานปากพ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวนของคดีต่อจากปากพ.ต.ท.สุรชัจ จึงขอให้ศาลเลื่อนการสืบพยานออกไปก่อน ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นควรให้เลื่อนการสืบพยานออกไปเพื่อประโยชน์ในการป้องการแพร่ระบาดของโควิด 19 และกำหนดนัดสืบพยานในนัดต่อไปเป็นวันที่ 2 มิถุนายน 2565 
 
ในนัดนี้ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยโดยแบ่งเป็นเอกสารการประชุมในเดือนกรกฎาคมและมีนาคม 2560 มีรายละเอียดทำนองว่า คณะกรรมการดังกล่าวมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีมาตรา 112 ปริญญา เพื่อประกอบนำมาประกอบการต่อสู้คดีในชั้นศาล 

2 มิถุนายน 2565
 
 
สืบพ.ต.ท.แทน ไชยแสง ผู้จับกุมตัวจำเลย
 
พ.ต.ท.แทนเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเขารับราชการที่กองบังคับการตํารวจนครบาล 2 มีหน้าที่สืบสวนจับกุมตัวผู้กระทำความผิด รวมทั้งมีหน้าที่บริหารงานข่าวกรองด้านความมั่นคง เขาปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2558 พ.ต.ท.แทนเบิกความว่า เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ในฐานะที่เป็นผู้จับกุมตัวจำเลย เดือนมีนาคม 2563 เขาได้ดำเนินการตรวจสอบหมายจับที่ค้างอยู่ในระบบและพบว่าปริญญาเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลทหารที่ยังไม่ถูกจับกุมตัว ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งให้เขาดำเนินการสืบสวนและติดตามจับกุมตัวปริญญา จากการสืบสวนทราบว่าปริญญาซ่อนตัวอยู่ที่บ้านซึ่งเป็นร้านขายรองเท้าของแม่
 
พ.ต.ท.แทนเบิกความต่อว่าหลังทราบที่อยู่ของปริญญาเขาได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญาพระโขนงในวันที่ 5 มีนาคม 2564 เพื่อทำการตรวจค้นบ้านแม่ของปริญญาเมื่อศาลอนุมัติหมายจับเขาจึงนำกำลังไปทำการตรวจค้นในเวลา 11.00 น. ของวันเดียวกัน เมื่อไปถึงก็พบว่าจำเลยกำลังรับประทานอาหารอยู่ที่บ้านกับแม่ จึงแสดงหมายค้นและหมายจับให้จำเลยดูและทำการยึดโทรศัพท์ 1 เครื่องไปทำการตรวจค้นรวมทั้งได้ยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ของปริญญาไปด้วย
 
ปริญญายอมรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กที่มีโพสต์ตามฟ้อง เจ้าหน้าที่จึงทำการยึดโทรศัพท์เครื่องที่ใช้ทำการโพสต์เป็นของกลาง จากนั้นจึงแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาและนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พ.ต.ท.แทนเบิกความตอบคำถามค้าน สรุปได้ว่า ขณะทำการจับกุมปริญญาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี 
 
หลังจบการสืบพยานปากนี้จบในเวลา 9.40 น. ศาลพักการพิจารณาไว้ชั่วคราวเนื่องจากพยานอีกปากที่นัดไว้อยู่ระหว่างเดินทางมาจากต่างจังหวัด กระทั่งเวลา 11.12 น. พยานยังมาไม่ถึง ศาลจึงเสนอว่า ให้พักกลางวันไปก่อนเพื่อให้คู่ความไปรับประทานอาหารแล้วนัดพิจารณาช่วงบ่ายเร็วขึ้นเป็นเวลา 12.30 น. ซึ่งพยานโจทก์น่าจะเดินทางมาถึงพอดี คู่ความรับทราบและสืบพยานต่อในช่วงบ่าย
 
สืบพยานปาก พ.ต.อ.สุรชัจ สีมุเทศ  ผู้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย
 
พ.ต.อ.สุรชัจเบิกความโดยสรุปได้ว่า ขณะเกิดเหตุเขารับราชการอยู่ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีอำนาจหน้าที่สืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เกี่ยวกับคดีนี้เขาได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยซึ่งมีการโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เฟซบุ๊กดังกล่าวมีภาพของจำเลยและจำเลยเป็นนักดนตรีวงไฟเย็นและถือเป็นคนมีชื่อเสียง
 
พ.ต.อ.สุรชัจเบิกความว่า ข้อความแรกที่ปริญญาโพสต์ในวันที่ 27 เมษายน 2559 ทำนองว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีกฎหมายหมิ่นที่มีอัตราโทษรุนแรงคุ้มครองเป็นเรื่องงมงาย คนที่บอกว่าตัวเองต่อต้านสิ่งงมงายแต่แจ้งจับคนอื่นด้วยมาตรา 112 เป็นคนตอแหลและโหดเหี้ยม เป็นข้อความเท็จ และใส่ร้ายสถาบันฯ เป็นความผิดตามมาตรา112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยในความเป็นจริงสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานและประชาชนต่างให้ความเคารพเทิดทูล ทั้งตามโบราณราชประเพณี สถาบันพระมหากษัตริย์ก็คอยให้ความช่วยเหลือประเทศไทยไม่เคยใช้กฎหมายทำร้ายประชาชน
 
พ.ต.อ.สุรชัจเบิกความด้วยว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทางนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา ใช้อำนาจตุลาการผ่านทางสถาบันศาล ไม่ได้ทรงใช้อำนาจด้วยพระองค์เอง ดังนั้นสิ่งที่ปริญญาโพสต์จึงไม่ใช่เรื่องจริงและสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่สิ่งงมงาย
 
เกี่ยวกับข้อความที่สองซึ่งเป็นเนื้อเพลง พ.ต.อ.สุรชัจเบิกความว่า เนื่องจากเนื้อเพลงค่อนข้างยาวเขาจึงจำข้อความไม่ได้ในรายละเอียด เท่าที่จำได้มีคำว่า “สถาบันกากสัส” ซึ่งคำว่ากากหมายถึงสิ่งไม่ดีและมีข้อเรื่องของการใช้ภาษีประชาชน ข้อความว่า “สถาบันกากสัส” เป็นข้อความที่ไม่สมควรอ่านแล้วเข้าข่ายเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของปริญญา ประชาชนทั่วไปไม่ได้คิดเช่นนั้น
 
เกี่ยวกับข้อความตามฟ้องข้อความที่สาม พ.ต.อ.สุรชัจเบิกความว่าข้อความดังกล่าวโพสต์ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2559 พูดถึงการรัฐประหการที่ประเทศตุรกีว่าเป็นเพราะไม่มีพระมหากษัตริย์เซ็นรับรองจึงทำไม่สำเร็จ ซึ่งในความเป็นจริงพระมหากษัตริย์ไทยทรงอยู่เหนือการเมืองและไม่ได้ทรงใช้อำนาจด้วยพระองค์เอง 
 
พ.ต.อ.สุรชัจเบิกความถึงภาพรวมของข้อความที่ปริญญาโพสต์ทั้งสามข้อความว่า ข้อความทั้งสามเป็นความเห็นส่วนตัวของปริญญาที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พ.ต.อ.สุรชัจเบิกความต่อว่าเท่าที่ทราบปริญญาเป็นนักดนตรีวงไฟเย็นซึ่งเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดง 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พ.ต.อ.สุรชัจเบิกความตอบคำถามค้าน สรุปได้ว่า ตัวเขาก็ใช้งานเฟซบุ๊ก โดยปกติใครจะสมัครบัญชีเฟซบุ๊กก็ได้  และสามารถตั้งรูปใดเป็นรูปโปรไลฟ์ก็ได้ แต่ในกรณีนี้ทางเจ้าหน้าที่มีการพิสูจน์ทราบตัวตนของผู้ใช้เฟซบุ๊กโดยใช้เครื่องมือและวิธีการของเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะจะทำให้บุคคลอื่นนำไปเป็นช่องทางในการกระทำความผิดได้ ระหว่างการเบิกความ พ.ต.อ.สุรชัจยังเบิกความย้ำกับทนายจำเลยด้วยว่า เขาเป็นเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
พ.ต.อ.สุรชัจเบิกความว่า แม้ข้อความที่จำเลยโพสต์จะไม่มีส่วนใดที่เอ่ยพระนามแต่เมื่ออ่านโดยรวมก็จะเข้าใจได้ว่าจำเลยหมายถึงรัชกาลที่สิบ และปี 2559 ก็มีเหตุการณ์เสื้อแดงชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่มีการพูดพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ระหว่างการตอบคำถามทนายจำเลยในบางช่วงน้ำเสียงของพ.ต.อ.สุรชัจเปลี่ยนไปและมีการเบิกความในลักษณะคล้ายโต้เถียงกับทนาย มีตอนหนึ่งที่เขากล่าวทำนองว่าข้อความของปริญญาอ่านดูก็รู้ว่าหมายถึงอะไร และบางตอนยังย้อนถามทนายความด้วยว่าทราบหรือไม่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอะไรบ้าง
 
ในส่วนของข้อความที่สองซึ่งเป็นเนื้อเพลง พ.ต.อ.สุรชัจเบิกความว่าไม่ปรากฎพระนามหรือนามของบุคคลใด ไม่มีคำระบุว่าหมายถึงสถาบันอะไร ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.อ.สุรชัจมีลูกหรือไม่ พ.ต.อ.สุรชัจตอบว่ามี ทนายจำเลยถามต่อว่าคำว่า "กาก" เป็นคำที่เด็กวัยรุ่นหรือนักเรียนนักศึกษาใช้พูดกันใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรชัจตอบว่าตนเคยไปบรรยายให้นักเรียนนักศึกษาฟังแต่ไม่เคยได้ยินว่ามีใครพูดคำดังกล่าว 
 
ในส่วนของข้อความตามฟ้องในโพสต์ที่สาม พ.ต.อ.สุรชัจเบิกความว่า ข้อความที่ปริญญาเขียนเป็นการเปรียบเทียบการทำรัฐประหารระหว่างตุรกีกับไทย โดยน่าจะมีเจตนาสื่อว่าที่การรัฐประหารในไทยสำเร็จได้เพราะพระมหากษัตริย์ทรงให้การรับรอง 
 
บรรยากาศการสืบพยานปากนี้ค่อนข้างตึงเครียดในบางช่วงพ.ต.อ.สุรชัจตอบคำถามทนายความด้วยลักษณะและท่าทางคล้ายโต้เถียง
 
ตอบอัยการถามติง
 
พ.ต.อ.สุรชัจเบิกความตอบอัยการว่าแม้เนื้อเพลงจะไม่ระบุชื่อหรือเพราะนามบุคคลใด แต่เมื่ออ่านโดยรวมจะเขาใจได้ว่าปริญญาต้องการสื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ 
 
สืบพยานปาก พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวน
 
พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรเบิกความว่า เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ในฐานะพนักงานสอบสวนผู้รับเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ระหว่างที่เขาปฏิบัติหน้าที่มีพ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษมเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนว่าบัญชีเฟซบุ๊กของปริญญามีการโพสต์ข้อความในลักษณะจาบจ้วงสถาบันรวมสามข้อความ มีข้อความทำนองว่าสถาบันเป็นสิ่งงมงาย ข้อความเป็นเนื้อเพลงที่เขียนว่าสถาบันกากสัส และข้อความเกี่ยวกับเหตุผลที่การรัฐประหารในตุรกีที่ไม่ประสบความสำเร็จ
 
พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรเบิกความว่า ในทางสืบสวนทราบว่าบัญชีเฟซบุ๊กที่เป็นปัญหาเป็นบัญชีของปริญญามือกีตาร์วงไฟเย็น โดยที่ข้อความที่โพสต์เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ (5) เขาได้ประสานไปที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อขออนุมัติหมายจับปริญญาเนื่องจากในขณะนั้นคดีความมั่นคงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลอาญา ในขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานเขายังได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน เจ้าหน้าที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) ไว้ด้วย ขณะที่เกิดเหตุคดีนี้ภาครัฐมีนโยบายเร่งรัดการดำเนินคดีมาตรา 112 เขาจึงสรุปสำนวนเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ที่กองบัญชาการตำรวจสอบกลาง ซึ่งต่อมามีความเห็นให้สั่งฟ้องปริญญา
 
พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรเบิกความต่อว่า เมื่อคณะกรรมการมีความเห็นสั่งฟ้องก็ได้ส่งสำนวนคดีให้กองคดีอาญา สำนักงานตำนวจแห่งชาติประมวลข้อมูลในสำนวนอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงส่งสำนวนไปให้คณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้มีคำสั่งให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม แต่เนื่องจากเมื่อคณะกรรมการส่งเรื่องกลับมาตัวเขาถูกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานอื่น เขาจึงไม่ได้ทำคดีต่อ
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรเบิกความตอบคำถาม สรุปว่า เขารับราชการที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีระหว่างปี 2553 – 2560 จากนั้นถูกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานอื่น ก่อนที่จะกลับมาที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2564 เขาเคยทำหน้าที่พนักงานสอบสวนคดีมาตรา 112 หลายคดี สำหรับคดีนี้เขาเป็นผู้ตรวจสอบโพสต์ที่ปริญญาโพสต์ทั้งสามโพสต์

พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรเบิกความว่าโพสต์ทั้งสามไม่มีถ้อยคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ โพสต์แรกไม่มีถ้อยคำหยาบคาย ไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริงถึงบุคคลใด และข้อความน่าจะหมายถึงผู้ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลอื่นด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อความที่สองที่เป็นเนื้อเพลงไม่มีการกล่าวถึงบุคคลใด มีเพียงคำว่ากากสัส ไม่ได้เอ่ยถึงพระมหากษัตริย์หรือพระราชินี ส่วนข้อความที่สามเป็นการโพสต์ถึงการรัฐประหารในประเทศตุรกี ไม่มีคำด่าทอหรือหยาบคาย ส่วนข้อความที่เขียนก็เขียนด้วยประโยคบอกเล่า
 
พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรเบิกความเกี่ยวกับวิธีการสอบสวนว่า การสอบสวนใช้วิธีถามคำถามไป พิมพ์คำตอบไปตามคำบอกของพยานที่มาให้ปากคำ ส่วนที่ทนายจำเลยถามว่าเหตุใดในเอกสารบันทึกคำให้การของพยานสองคนที่เป็นประชาชนทั่วไปที่มาให้ความเห็นสองคนจึงเขียนเหมือนกัน พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรเบิกความว่าเป็นเพราะพยานทั้งสองคนตอบคำถามเหมือนกัน
 
สืบพยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม
 
พยานเบิกความว่า เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดสำนวนคดีของปริญญาต่อหลังคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม โดยในวันที่ 5 มีนาคม 2564 พ.ต.ท.แทน ไชยแสงกับพวกนำตัวปริญญาซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับมาส่ง พร้อมของกลางเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่องมาส่งมอบให้ เขาจึงรับตัวปริญญาไว้และทำบันทึกประจำวันพร้อมแจ้งสิทธิผู้ต้องหาให้ปริญญา จากนั้นจึงแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับปริญญา ซึ่งปริญญาปฏิเสธไม่ประสงค์จะให้การกับพนักงานสอบสวน และไม่ได้ให้รหัสโทรศัพท์กับคอมพิวเตอร์กับเจ้าหน้าที่

พยานเบิกความว่า เนื่องจากในขณะที่ปริญญาถูกจับกุมตัวมีการออกคำสั่งให้โอนย้ายคดีของพลเรือนที่อยู่ในศาลทหารกลับมาให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาคดี เขาจึงนำตัวปริญญาไปฝากขังที่ศาลอาญา จากนั้นจึงทำการตรวจสอบประวัติผู้ต้องหาและสรุปความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่สั่งฟ้องในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พยานเบิกความว่า ตอนที่เขาได้รับสำนวนเขาไม่ได้สอบปากคำพยานเพิ่มเติม ได้แต่สอบปากคำเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนที่เป็นผู้จับกุมตัวจำเลยมาส่ง ส่วนความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นไปตามเอกสารส่วนที่ทนายจำเลยนำเอกสารเป็นคำพิพากษาศาลจังหวัดนครพนมมาให้ดูเขาไม่เคยเห็นแต่เคยได้ยินข่าวว่ามีกรณีที่ศาลจังหวัดนครพนมยกฟ้องจำเลยคดีมาตรา 112 สำหรับข้อความตามฟ้องของปริญญา เขาอ่านแล้วแต่ยังเคารพและศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์

หลังสืบพยานปากนี้ อัยการแถลงหมดพยาน ส่วนทนายจำเลยแถลงว่าฝ่ายจำเลยไม่ประสงค์จะนำพยานเข้าสืบแต่ประสงค์จะส่งคำแถลงปิดคดี ศาลอนุญาตให้ส่งคำแถลงปิดคดีภายใน 30 วัน และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 15 สิงหาคม 2565 
 
หลังจบการพิจารณาคดี ปริญญาให้สัมภาษณ์กับไอลอว์ไว้สั้นๆว่า ขณะนี้เขามีปัญหาสุขภาพ คือ โรคเบาหวานและปลายประสาทบริเวณเท้าอักเสบซึ่งทำให้มีอาการชา ต้องไปพบแพทย์สามเดือนครั้งเพื่อรับยาและตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยอาการ โดยแพทย์ระบุว่าอาการป่วยทั้งหมดน่าจะเป็นไปตลอดชีวิต ส่วนอาการป่วยที่ตับอ่อนแพทย์นัดตรวจปีละครั้ง
 
เมื่อสอบถามถึงอาการป่วยและความกังวลต่อคำพิพากษาที่อาจถูกตัดสินจำคุก ปริญญาระบุว่าไม่กังวลมากนักเพราะแพทย์ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์พอจะให้การดูแลได้ และอาหารที่จะไปกระตุ้นโรคเกี่ยวกับตับอ่อนก็ไม่ได้มีในเรือนจำอยู่แล้ว ส่วนเรื่องเบาหวานก็เพียงแต่ควบคุมน้ำตาลโดยก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับการรักษาระหว่างอยู่ในเรือนจำมาบ้างแล้ว
 
15 สิงหาคม 2565
นัดพิพากษา
 
ปริญญามาถึงห้องพิจารณาคดี 907 ตั้งแต่เวลาก่อน 9.00 น. โดยมีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ในนัดนี้ศาลมีนัดพิจารณาคดีในช่วงเช้าพร้อมกันหลายคดี ศาลจึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอื่นไปก่อน
 
จากนั้นในเวลาประมาณ 10.30 น.จึงอ่านคำพิพากษาของปริญญา

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้องลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวจริง ทั้งสามข้อความ 
 
ข้อความที่หนึ่ง
 
ปริญญาโพสต์ทำนองว่า ข้อความแรกปริญญาโพสต์ทำนองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษสูงให้ความคุ้มครอง ผู้ที่อ้างตัวว่าต่อต้านสิ่งงมงายแต่ใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดำเนินคดีบุคคลอื่นเป็นคนโกหกและโหดร้าย ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีความสำคัญกับประเทศ อยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ในฐานะประมุขของประเทศและมีบทบาทในการใช้อำนาจผ่านทางฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ทรงเป็นที่เทิดทูนสักการะ ไม่ใช่สิ่งงมงาย 
 
ข้อความที่สอง
 
ปริญญาโพสต์เนื้อเพลงที่มีคำว่า "สถาบันกากสัส" อยู่ในเนื้อเพลงพร้อมระบุข้อความท้ายโพสต์ทำนองว่าให้ผู้อ่านไปตีความเนื้อเพลงกันเอาเอง ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า ข้อความดังกล่าวมีความหมายว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งไม่ดี กดหัวผู้คน หนุนหลังเผด็จการ ใช้อำนาจเผด็จการครอบงำสังคม ย่ำยีคนจน โลภอำนาจ ซึ่งไม่เป็นความจริง
 
ข้อความที่สาม
ปริญญาโพสต์ทำนองว่า ที่การรัฐประหารในตุรกีไม่สำเร็จเป็นเพราะไม่มีพระมหากษัตริย์ลงนามรับรอง ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า เป็นข้อความอันมิบังควร เป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พระมหากษัตริย์ พระราชินี ผู้สำเร็จราชการและรัชทายาท
 
การกระทำของจำเลยเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 (2), (3) และ(5) รวม 3 กระทง และแต่ละกระทงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุดคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พิพากษาจำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 9 ปี จำเลยพอให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือ จำคุกกระทงละ 2 ปี คงจำคุก 6 ปี
 
ต่อมา มีข้อพิจารณาเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิดนั้นถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ คอมฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 จึงเป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจะใช้กฎหมายฉบับใดพิพากษาความผิดศาลเห็นว่า กฎหมายทั้งสองฉบับมีอัตราโทษเท่ากัน เช่นนี้จึงไม่ต้องด้วยกรณีกฎหมายใหม่เป็นคุณกว่ากฎหมายเก่า จึงบังคับใช้กฎหมายเก่าหรือ พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา