ปิยรัฐ: ติดป้ายวิจารณ์วัคซีนพระราชทาน

2455

ผู้ต้องหา

ปิยรัฐ

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ในเดือนมกราคม 2564 มีการติดป้ายไวนิลรวมเจ็ดแผ่นที่ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบนเกาะกลางถนน รวมทั้งซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ บนถนนสายยางตลาด – กาฬสินธุ์ ป้ายไวนิลทั้งเจ็ดแผ่นเมื่ออ่านโดยรวมมีเนื้อหาเป็นการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายวัคซีนของรัฐบาลโดยมีข้อความที่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีลักษณะเป็นการเสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์ปรากฎอยู่ด้วย

นอกจากป้ายทั้งเจ็ดจะถูกติดตั้งในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์แล้ว ป้ายทั้งเจ็ดยังถูกนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กของปิยรัฐซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ รวมถึงยังถูกนำไปเผยแพร่ในทวิตเตอร์ของกลุ่มมวลชนอาสา We Volunteer ซึ่งเป็นบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าอยู่ในความดูแลของปิยรัฐด้วย

เมื่อปิยรัฐถูกฝากขังในคดีอั้งยี่ ซ่องโจร พร้อมกับสมาชิกกลุ่ม We Volunteer รวม 15 คน ในเดือนมีนาคม 2564 พนักงานสอบสวนสภ.ยางตลาดได้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเขาที่เรือนจำ ก่ต่อมาเมื่อปิยรัฐได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีดังกล่าวตำรวจสภ.ท่ายางอายัดตัวเขามาฝากขังในคดีนี้ที่จังหวัดกาฬสินธุ์จนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 เขาจึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ 

อัยการฟ้องคดีปิยรัฐต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ในเดือนมิถุนายน 2564 ก่อนที่ศาลจะสืบพยานคดีนี้ในเดือนสิงหาคม 2565

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ปิยรัฐ จงเทพ  เป็นชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ สมัยที่ปิยรัฐศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือเคยทำกิจกรรมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้าน Sotus ในมหาวิทยาลัย

หลังการรัฐประหารปี 2557 ปิยรัฐเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองในบางโอกาส ในปี 2559 เขาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการฉีกบัตรออกเสียงประชามติจนทำให้ถูกดำเนินคดีในความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

ต่อมาในปี 2561 ปิยรัฐเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีในความปิดฐานยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
 
ในการเลือกตั้งปี 2562 ปิยรัฐลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตหนึ่ง ของพรรคอนาคตใหม่ โดยได้คะแนนเป็นลำดับที่ 3 ในปี 2563 ปิยรัฐเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มราษฎรและได้ก่อตั้งกลุ่มมวลชนอาสา “We Volunteer” ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นฝ่ายดูแลความปลอดภัยและสนับสนุนด้านเทคนิคในพื้นที่การชุมนุม

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

อัยการบรรยายฟ้องคดีนี้โดยสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564 เวลากลางวัน ปิยรัฐกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันจัดทําป้ายไวนิลติดประกาศให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ของรัฐบาล โดยได้ใส่ข้อความที่เข้าข่ายเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทรัชกาลที่สิบ ลงในแผ่นป้ายไวนิลจํานวนเจ็ดแผ่น 
 
ข้อความบนป้ายทั้งเจ็ดข้อความเมื่ออ่านโดยรวมพอสรุปได้ว่า มีการผูกขาดวัคซีนให้สถาบันพระมหากษัตริย์นำไปแจกจ่ายในลักษณะเป็นการสร้างภาพ ซึ่งหากนักการเมืองทำในลักษณะเดียวกันจะกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน
 
แผ่นป้ายทั้งเจ็ดถูกนำไปติดที่ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบนเกาะกลางถนน รวมทั้งซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ถนนสายยางตลาด – กาฬสินธุ์ จากนั้นปิยรัฐได้นําภาพถ่ายป้ายทั้งเจ็ดไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ชื่อ โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat Chongthep และทวิตเตอร์ ชื่อ We Volunteer ของปิยรัฐ ในลักษณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ 
 
นอกจากนั้นข้อความบนป้ายยังเขียนในลักษณะเสียดสีประชดประชัน สร้างความเสียหายต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์อย่างร้ายแรง เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อ พระมหากษัตริย์ และเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 30 มีนาคม 2564 พนักงานสอบสวน สภ.ยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์เข้าพบปิยรัฐที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างที่เขาถูกฝากขังในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจรซึ่งเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมเขาและสมาชิกกลุ่ม We Volunteer ในวันที่ 6 มีนาคม 2564 ระหว่างรับประทานอาหารที่เมเจอร์รัชโยธินโดยในวันดังกล่าวกลุ่ม “REDEM” นัดชุมนุมเดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าวไปหน้าศาลอาญา

ต่อมาในวันที่ 2 เมษายน 2564 หลังปิยรัฐได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีอั้งยี่ – ซ่องโจร เขาถูกตำรวจสน.ประชาชื่นทำการอายัดตัวไปที่สน.ประชาชื่นโดยแจ้งปิยรัฐว่าตำรวจสภ.ยางตลาดประสานให้อายัดตัวปิยรัฐเพื่อนำตัวไปดำเนินการทางคดีต่อ
 
ในวันที่ 3 เมษายน 2564 ปิยรัฐถูกควบคุมตัวไปที่สภ.ยางตลาด พนักงานสอบสวนแจ้งปิยรัฐในการสอบสวนเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ปิยรัฐไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนจึงเกรงว่ากระบวนการสอบสวนที่ทำในเรือนจำจะไม่สมบูรณ์

ปิยรัฐให้เหตุผลกับเจ้าหน้าที่ว่าหลังการสอบปากคำพนักงานสอบสวนไม่ได้นำเอกสารบันทึกคำเบิกความมาให้อ่านแต่นำแบบพิมพ์ลายนิ้วมือมาให้อ่านและลงลายมือชื่อ ปิยรัฐจึงเห็นว่ากระบวนการอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ปิยรัฐถูกนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ฝากขังในวันที่ 4 เมษายน 2564 และถูกคุมขังจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.959/2564

ศาล

ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
23 มกราคม 2564
 
มีป้ายไวนิลรวมเจ็ดแผ่นถูกติดตั้งที่ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบนเกาะกลางถนน รวมทั้งซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ บนถนนสายยางตลาด – กาฬสินธุ์ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ภาพป้ายไวนิลทั้งเจ็ดผืนถูกเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat Chongthep และบัญชีทวิตเตอร์ We Volunteer
 
30 มีนาคม 2564
 
พนักงานสอบสวนสภ.ยางตลาดเข้าพบปิยรัฐที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพด้วยหมายขังคดีอั้งยี่ ซ่องโจร ที่เขาถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2564 เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้โดยที่ปิยรัฐไม่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือ ปิยรัฐเปิดเผยในภายหลังว่าเขาไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้นำบันทึกการสอบปากคำมาให้เขาอ่านลงลายมือชื่อ
 
2 เมษายน 2564  
 
ปิยรัฐได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำพิเศษกรุงทพฯ ในคดีอั้งยี่ – ซ่องโจร แต่เมื่อเขาถูกปล่อยออกจากเรือนจำก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ประชาชื่นมาอายัดตัวขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขังไปที่ สน.ประชาชื่น โดยสน.ประชาชื่นได้รับการประสานงานจากพนักงานสอบสวนสภ.ยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้ควบคุมตัวปิยรัฐเพื่อนำตัวไปดำเนินคดีต่อ
 
3  เมษายน 2564
 
ปิยรัฐถูกนำตัวไปถึง สภ.ยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำปิยรัฐอีกครั้งโดยอ้างว่าปิยรัฐไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือในการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่เรือนจำกรุงเทพ พนักงานสอบสวนเกรงว่ากระบวนการจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง

ปิยรัฐให้เหตุผลที่ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือว่าเป็นเพราะหลังการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ไม่ได้นำบันทึกคำให้การมาให้เขาอ่านและลงลายมือชื่อแต่กลับนำแบบพิมพ์ลายนิ้วมือมาให้เขาพิมพ์โดยไม่แจ้งอะไร จึเขาจึงเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ถูกต้อง 
 
หลังการสอบสวน พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังปิยรัฐต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์จากสถานีตำรวจ ปิยรัฐขอให้ศาลไต่สวนคัดค้านคำร้องฝากขัง

เบื้องต้นศาลจะให้พนักงานสอบสวนไปเบิกความที่ศาลแต่ให้ปิยรัฐเข้าร่วมการไต่สวนผ่านระบบวิดีโอโดยอ้างเหตุมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 แต่ปิยรัฐคัดค้าน ศาลจึงให้เบิกตัวปิยรัฐไปร่วมการไต่สวนคัดค้านการฝากขังที่ศาล

เนื่องจากวันที่ 3 เมษายน 2564 เป็นวันเสาร์ที่ศาลเปิดทำการเพียงครึ่งวัน ทนายความของปิยรัฐจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไปพร้อมกับการคัดค้านการฝากขังเลยเพื่อให้กระบวนการไม่ล่าช้า
 
หลังการไต่สวนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาและยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปิยรัฐโดยให้เหตุผลว่า 
 
“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นคดีอาญาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง ประกอบกับปรากฏพฤติการณ์ตามทางไต่สวนคำร้องขอฝากขังว่า ผู้ต้องหาเป็นหัวหน้ากลุ่มการ์ด Wevo ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง ก่อให้เกิดความวุ่นวาย สร้างความแตกแยกขึ้นในราชอาณาจักร จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีอื่นอีกหลายคดี

ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา เนื่องจากเกรงว่าจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่น หรือก่อเหตุช้ำในทำนองเดียวกันอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว”
 
4 เมษายน 2564 
 
ทนายความของปิยรัฐยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ต่อศาลอุธรณ์ภาค 4 โดยให้เหตุผลหกข้อในคำร้อง ได้แก่
 
ข้อ 1 การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาขัดกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด
 
2 คำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการสั่งนอกเหนือคำบรรยายคำร้องฝากขัง หรือเป็นการสั่งเกินคำขอที่ยื่นต่อศาล เนื่องจากเหตุผลของศาลชั้นต้นที่ว่า “ผู้ต้องหาเป็นหัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง ก่อให้เกิดความวุ่นวาย สร้างความแตกแยกขึ้นในราชอาณาจักร” เป็นเหตุผลที่ไม่ได้บรรยายในคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน
 
3 ระหว่างไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 พ.ต.ท.ไพศาล ใจเกษม ซึ่งเป็นพยานเบิกความว่า ได้สอบปากคำผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะฝากขังผู้ต้องหาเพื่อทำการสอบสวนต่อไป
 
4 ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีภูมิลำเนาในพื้นที่สามารถเรียกตัวมาให้ปากคำเพิ่มเติมหรือส่งตัวให้พนักงานอัยการตามนัดได้ และในการจับกุมผู้ต้องหาไม่ได้มีการขัดขืนหรือต่อสู้
 
5 ผู้ต้องหาไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาชญากรรมใด ๆ และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใด ๆ มาก่อนจึงไม่มีพฤติการณ์จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอย่างแน่นอน
 
6 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวไม่สอดคล้องกับนโยบาย 5 ข้อของประธานศาลฏีกา ข้อที่ 1 ที่ให้ยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย
 
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศาลอุธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งยกคำอุทธรณ์ของปิยรัฐโดยให้เหตุผลว่า 

“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้วและไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี แต่ผู้ต้องหามีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้

และหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อาจไปกระทำการเช่นเดิมอีก อันเป็นการก่อเหตุอันตรายประการอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 (3)  จึงให้ยกคำร้อง”
 
9 เมษายน 2564 
 
พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังปิยรัฐต่อเป็นครั้งที่สอง ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ สั่งให้มีการไต่สวนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยไม่ได้เบิกตัวปิยรัฐมาที่ศาล พนักงานสอบสวนโดยอ้างเหตุผลในการฝากขังว่า

การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ มีพยานที่ต้องเรียกมาสอบปากคำอีกหลายปากรวมทั้งต้องรวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆ พนักงานสอบสวนระบุด้วยว่าเนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษสูงและเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่น จึงขอคัดค้านหากผู้ต้องหาขอปล่อยตัวชั่วคราว
 
ขณะที่ทนายความของปิยรัฐคัดค้านคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนโดยให้เหตุผลว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฝากขังผู้ต้องหา  เพราะพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนผู้ต้องหาแล้ว นอกจากนั้นยังได้ทำการสืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ มาเป็นเวลานานแล้ว
 
การสอบสวนที่เหลือไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา ทั้งผู้ต้องหาไม่เคยหลบหนีกระบวนการทางกฎหมายใด ๆ ไปรายงานตัวตามนัดหมายโดยตลอดและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
 
หลังการไต่สวนศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อไปอีก 12 วัน หลังศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทนายของปิยรัฐยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้เงินสด 300,000 บาทวางต่อศาลเป็นหลักประกัน แต่ศาลยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า
 
“ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” 
 
30 เมษายน 2564
 
ทนายความยืนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปิยรัฐอีกครั้ง โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด 300,000 บาท และมีแม่ของปิยรัฐเป็นนายประกัน ทนายยังขอให้ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนี้ด้วยซึ่งศาลนัดไต่สวนในวันที่ 3 พฤษภาคม 2564

3 พฤษภาคม 2564

นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปิยรัฐ ในนัดนี้ปิยรัฐไม่ได้ถูกเบิกตัวมาที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์แต่เข้าร่วมการไต่สวนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในนัดนี้มีการไต่สวนพยานรวมห้าปาก ได้แก่ ตัวของปิยรัฐ, แม่ของปิยรัฐ, อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และหัวหน้างานควบคุมผู้ต้องขังชาย เรือนจำกลางจังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะที่พนักงานสอบสวนก็มาแถลงคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวในการไต่สวนนัดนี้ด้วย โดยฝ่ายผู้ต้องหาเสนอต่อศาลว่ายินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขประกอบสัญญาประกันสามข้อ ได้แก่

ผู้ต้องหาจะมาตามนัดหมายของศาลโดยเคร่งครัด จะไม่ทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  และหากศาลเห็นสมควรให้กำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ผู้ต้องหาก็ยินดีปฏิบัติตาม

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา