‘บุญลือ’ : คอมเมนท์บนเฟซบุ๊กถกเถียงเรื่องปฏิรูปกษัตริย์

อัปเดตล่าสุด: 22/10/2565

ผู้ต้องหา

‘บุญลือ’

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

‘บุญลือ’ เป็นชาวจังหวัดสุโขทัยถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทกษัตริย์จากการแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก และมีการโต้เถียงกับกัลฐิตา ชวนชมผู้ร้องทุกข์ที่อยู่จังหวัดพังงา จากนั้นผู้ร้องทุกข์ไปแจ้งความดำเนินคดีที่สภ.ทุ่งคาโงก เป็นผลให้เขาต้องเดินทางไปรายงานตัวและเข้ารับการพิจารณาคดีที่จังหวัดพังงา ในนัดสอบคำให้การ ‘บุญลือ’ ให้การปฏิเสธ แต่กลับคำให้การเป็นรับสารภาพในเวลาต่อมา ศาลจังหวัดพังงานัดฟังคำพิพากษาวันที่ 22 กันยายน 2565 ให้จำคุก 3 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน เห็นว่าจำเลยกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ภูมิหลังผู้ต้องหา

‘บุญลือ’ เป็นนามสมมติของชายวัย 25 ปี เขาเป็นชาวจังหวัดสุโขทัย จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง หลังจบการศึกษา ‘บุญลือ’ เข้ารับเกณฑ์ทหาร หลังปลดประจำการเขาเริ่มหางาน แต่ต้องมาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เสียก่อน

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องของอัยการฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ระบุว่า ระหว่างวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2563 จำเลยแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กสามข้อความที่เกี่ยวข้องกับ การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นมีที่มาที่ไปที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของกษัตริย์ และตั้งคำถามถึงพระราชกรณียกิจในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยเป็นการเขียนข้อความลงในช่องคอมเม้นต์ ตอบโต้กับบุคคลอื่น ซึ่งอัยการกล่าวหาว่า การกระทำของจำเลยทำให้เพื่อนของจำเลยและผู้ที่เข้าใช้เฟซบุ๊กสามารถเข้าถึงข้อความดังกล่าวที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหาย ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร 
 
คำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลจังหวัดพังงา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
6-7 พฤศจิกายน 2564 
 
‘บุญลือ’ แสดงความเห็นในโพสต์เกี่ยวกับการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 และมีการโต้เถียงกับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กคนอื่น กัลฐิตา ชวนชม ผู้ร้องทุกข์ในคดีนี้เข้ามาเห็นคอมเมนท์ของเขาและมีการโต้เถียงกัน “เขามาด่าผมด้วยคำที่หยาบคายมาก ผมโมโหเลยเรียกเขาว่า “ป้า” ทีนี้เขาโมโห เขาเลยบอกว่า ต้องการอย่างงี้ใช่ไหม เดี๋ยวเจอกัน เดี๋ยวไปเเจ้งความก่อนอยู่ใกล้สถานีตำรวจพอดี”
 
กัลฐิตาเป็นข้าราชการที่ทำงานอยู่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งในจังหวัดพังงา หลังจากการโต้เถียงกันในช่องคอมเมนต์ประมาณ 15 นาที กัลฐิตาส่งหลักฐานที่เเจ้งความ, เบอร์โทรสารวัตรสอบสวน มาทางช่องข้อความส่วนตัว หลังจากเขาได้รับข้อความ เขาได้โทรไปหาสารวัตรสอบสวนตามเบอร์ที่เขาได้รับมาจากผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งสารวัตรสอบสวนบอกกับ 'บุญลือ' ว่า ผู้ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษได้เเจ้งความไปเเล้ว ซึ่งไม่สามารถถอนเเจ้งความได้เพราะเป็นคดีอาญาแผ่นดินทำให้ยอมความไม่ได้ โดยทางสารวัตรสอบสวนจะส่งหมายเรียกให้มาที่สถานีตำรวจ เพื่อสอบปากคำ
 
19 มกราคม 2564 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า 'บุญลือ' ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนสภ.ทุ่งคาโงก อำเภอเมือง จังหวัดพังงา ในคดีที่มีกัลฐิตา ชวนชม เป็นผู้กล่าวหา 
 
5 กุมภาพันธ์ 2564 
 
'บุญลือ' เดินทางจากจังหวัดสุโขทัยไปรายงานตัวที่สภ.ทุ่งคาโงก จังหวัดพังงา พร้อมทนายความที่เขาว่าจ้างไปเอง ในบันทึกข้อกล่าวหาระบุว่า กัลฐิตามาทํางานที่ อบต.ทุ่งคาโงก  ซึ่งเป็นสถานที่ทํางาน และได้พบข้อความคอมเมนต์ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้คอมเมนต์ลงข้อความในทางเสียหายต่อพระมหากษัตริย์ ตอบผู้กล่าวหาและบุคคลอีก 2 คน รวมจำนวน 3 คอมเมนท์ กัลฐิตาเดินทางมาแจ้งความตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 เนื่องจากอ่านดูแล้วรู้สึกว่าเป็นข้อความที่ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน 
 
ในชั้นสอบสวน 'บุญลือ' ได้ให้การรับสารภาพ เนื่องจากตำรวจกล่าวว่าคดีไม่มีอะไรมาก ถ้ารับสารภาพ ก็จะสิ้นสุดเร็ว ก่อนที่ตำรวจจะให้ปล่อยตัวกลับไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้
 
14 มิถุนายน 2564 
 
พนักงานอัยการจังหวัดพังงามีความเห็นสั่งฟ้อง ศาลจังหวัดพังงามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 300,000 บาท 
 
6-8 กรกฎาคม 2565
 
ศาลจังหวัดพังงานัดสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อเนื่องกัน โดยเมื่อเริ่มการพิจารณาคดีศาลสอบถามจำเลยว่า ต้องการจะรับสารภาพหรือไม่ แต่จำเลยไม่ต้องการที่จะรับสารภาพและยืนยันขอต่อสู้คดี เมื่อเริ่มการสืบพยานไปได้พักหนึ่ง ศาลก็ยังกลับมาสอบถามจำเลยอีกว่า ต้องการจะรับสารภาพหรือไม่ ซึ่งศาลไม่ต้องการที่จะลงโทษหนัก ทนายความของจำเลยจึงขอเวลาปรึกษากับตัวจำเลยก่อน และในช่วงเวลาก่อนเที่ยงของวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ฝ่ายจำเลยก็แถลงต่อศาล เปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจึงยกเลิกวันนัดสืบพยานที่นัดไว้ก่อนหน้านี้ทั้งหมด และกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษา เป็นวันที่ 22 กันยายน 2565
 
22 กันยายน 2565 
นัดฟังคำพิพากษา 
 
ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน เห็นว่าจำเลยกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อตักเตือนก็ยินยอมลบข้อความ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองหรือหวังผลอย่างอื่นใด จึงให้โอกาสได้แก้ไข ฟื้นฟู และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคุมประพฤติไว้กำหนด 1 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง และทำกิจกรรมบริการสังคม 12 ชั่วโมง

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา