ธนกร : ปราศรัยเรื่องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใน #ม็อบ6ธันวา

อัปเดตล่าสุด: 22/11/2565

ผู้ต้องหา

ธนกร หรือ เพชร

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

สารบัญ

ธนกร หรือเพชร ขณะเกิดเหตุอายุ 17 ปี ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จากการปราศรัยเรื่องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และกรณีที่กษัตริย์เซ็นรับรองการรัฐประหารในการชุมนุมที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวโทษให้ดำเนินคดีนี้
 
คดีของเขาพิจารณาด้วยกระบวนการสำหรับเยาวชนในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ธนกร หรือเพชร ขณะเกิดเหตุคดีนี้อายุ 17 ปี เป็นนักเรียนอาชีวะและเป็นคนที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองอยู่เป็นประจำ เพชรถูกดำเนินคดีอย่างน้อยห้าคดี เป็นคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวนสองคดี จากการร่วมชุมนุมเดินเท้าจากแยกอุดมสุขไปสี่แยกบางนาช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 และจากการร่วมชุมนุมที่สามย่านมิตรทาวน์ช่วงเดือนมกราคม 2564 คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หนึ่งคดีจากการร่วมชุมนุมที่ท่าน้ำนนท์ในเดือนกันยายน 2563 และคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกสองคดีจากการปราศรัยที่วงเวียนใหญ่และการร่วมกิจกรรมแต่งคร็อปท็อปเดินสยามพารากอนในเดือนธันวาคม 2563
 
ฟังประสบการณ์ของเพชร เมื่อถูกดำเนินคดีนี้ได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/node/1110

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องของอัยการระบุว่า วันที่ 6 ธันวาคม 2563 ที่หัวถนนลาดหญ้า ใกล้กับวงเวียนใหญ่ จำเลยได้ปราศรัยตั้งคำถามถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปัจจุบัน, การลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารและการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศ เนื้อหาที่จำเลยปราศรัยไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือเป็นข้อความโดยสุจริต แต่เป็นการใส่ความรัชกาลที่สิบต่อประชาชนที่มาชุมนุมและผู้ที่รับฟังการปราศรัยผ่านช่องทางอื่นๆ ทำให้บุคคลที่สามเข้าใจว่า “พระองค์เป็นบุคคลไม่ดี ไม่เคารพกฎหมาย ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทำสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดก็ไม่ต้องรับผิดใดๆ และสามารถกระทำการใดๆเกินกว่าที่กฎหมายจะบังคับได้” และรัชกาลที่ 9 “ทรงสนับสนุน อนุญาต ยอมรับหรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการทำรัฐประหารและปกครองระบอบเผด็จการ โดยทรงลงนาม (เซ็น) ยินยอมให้มีการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗” 
 
อันเป็นความเท็จและเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากบุคคลที่สาม ที่ได้รับฟังเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์

พฤติการณ์การจับกุม

 
11 มกราคม 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ธนกรรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนที่สน.บุปผาราม พร้อมด้วยผู้ถูกกล่าวหาอีกสองคนจากการปราศรัยในวันเดียวกัน ได้แก่ ชูเกียรติ แสงวงค์หรือ "จัสติน" และวรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ "ตี้ พะเยา" ต่อมาพนักงานสอบสวนคุมตัวธนกร จากสน.ไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อยื่นคำร้องขอควบคุมตัวธนกรไว้ระหว่างการสอบสวน ศาลอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้อง ทนายความยื่นประกันตัว ศาลอนุญาตระบุว่า เนื่องจากผู้ต้องหามีอายุ 17 ปี ขณะนี้ประเทศอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด และผู้ต้องหามาตามหมายเรียก ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างต่อสู้คดี  ทั้งนี้ให้วางหลักทรัพย์ประกันตัว 5,000 บาท 
 
เจ้าหน้าที่ได้นัดหมายธนกรไปยังสถานพินิจเยาวชนธนบุรีวันที่ 20 มกราคม 2564 เพื่อให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะ พินิจประวัติครอบครัว เพื่อประกอบสำนวนของพนักงานสอบสวน และนัดพบกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ให้คำปรึกษา ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในวันที่ 16 มีนาคม 2564 เพื่อพบที่ปรึกษาคดีเยาวชน และทำแบบสอบถามทางจิตวิทยาต่อไป 
 
เนื่องจากขณะเกิดเหตุธนกรมีอายุอยู่ในเกณฑ์เยาวชน คดีของธนกรจึงถูกพิจารณาในศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแยกจากคดีของชูเกียรติและวรรณวลี
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ยชอ 109/2564

ศาล

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
24 พฤษภาคม 2564 
 
นัดฟังคำสั่งฟ้อง
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลแจ้งต่อธนกรและที่ปรึกษากฎหมาย (ทนายความ) ว่า อัยการได้ฟ้องคดีไปตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2564 จากนั้นศาลอ่านคำฟ้องให้ธนกรฟังและถามถึงการแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมาย ธนกรแถลงว่าแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายเองแล้ว โดยประสงค์จะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ที่ปรึกษากฎหมายแถลงว่า เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา และจำเลยเพิ่งได้รับคำฟ้องในวันนี้  ประกอบกับคดีนี้มีอัตราโทษสูง มีพยานเอกสารและพยานบุคคลเป็นจํานวนมาก จึงขอเวลาตรวจสอบพยานหลักฐานและพยานเอกสารให้ถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง ศาลเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานเป็นวันที่ 11 มิถุนายน 2564 
 
 
 
 
11 มิถุนายน 2564
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
 
 
 
 
17-19 และ 24-25 สิงหาคม 2565 
 
นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย
 
ตามพ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 108 ให้พิจารณาคดี "เป็นการลับ" เป็นหลักทุกคดี ทำให้ผู้สังเกตการณ์เข้าสังเกตการณ์คดีไม่ได้ ซึ่งในวันดังกล่าวมีผู้สังเกตการณ์ที่ไปติดตามการพิจารณาคดีอยู่บ้าง แต่ศาลแจ้งว่าให้ออกจากห้อง รวมทั้งทนายความที่ไม่มีใบอนุญาตเป็นที่ปรึกษากฎหมายในคดีเยาวชนก็ให้ออกนอกห้องพิจารณาคดีด้วย
 
 
 
22 พฤศจิกายน 2565 
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ไปติดตามการพิจารณาคดีนี้ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางระบุว่า เบื้องต้นในวันนี้ ศาลเยาวชนนัดเพชรฟังคำพิพากษาในเวลา 9.00 น. อย่างไรก็ตามเนื่องจากศาลมีนัดพิจารณาคดีหลายคดีทำให้การอ่านคำพิพากษาคดีของเพชรล่าช้าออกไป ประกอบกับเพชรมีความประสงค์ให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมสังเกตการณ์ จึงเขียนคำร้องยื่นต่อศาลเพื่อขอให้อนุญาตให้บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ที่เขาไว้วางใจอยู่ร่วมในกระบวนการอ่านคำพิพากษาด้วย ศาลจึงให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นช่วงบ่ายเพื่อรอปรึกษาอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในประเด็นการให้บุคคลภายนอกร่วมฟังคำพิพากษาตามคำร้องของเพชรก่อน 
 
จากนั้นเฟซบุ๊กของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานโดยสรุปได้ว่าในเวลา 14.50 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกร่วมฟังคำพิพากษาตามที่เพชรร้องขอ จากนั้นจึงอ่านคำพิพากษาทันทีซึ่งสรุปได้ว่า
 
ธนกรมีความผิด ให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลาสองปีโดยไม่รอการลงโทษ อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีรายงานจากสถานพินิจว่าจำเลยควรเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อขัดเกลานิสัยจะเป็นประโยชน์กว่าการเอาตัวไปคุมขังในเรือนจำ จึงให้เปลี่ยนโทษเป็นนำตัวไปฝึกอบรมกำหนดขั้นต่ำหนึ่งปีหกเดือน ขั้นสูงไม่เกินสามปี

 

คำพิพากษา

การปราศรัยของเพชรในวันที่ 6 ธันวาคม 2563 แม้จะไม่มีการเอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดออกมาโดยตรง แต่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้มุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่มุ่งคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมด การกระทำของเพชรจึงเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่จากรายงานของสถานพินิจเห็นว่า จำเลยควรได้รับการฝึกอบรมเพื่อขัดเกลานิสัยความประพฤติสักระยะหนึ่ง อาจจะเป็นประโยชน์กับจำเลยมากกว่าโทษจำคุก จึงให้เปลี่ยนโทษจากจำคุกเป็นคุมประพฤติ ให้นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูงไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้ไม่เกินกว่าจำเลยมีอายุ ครบ 24 ปีบริบูรณ์

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บอร์ดทีโอที v.s. เครือผู้จัดการ

ปนัสยา: เขียนจดหมายถึงพระมหากษัตริย์

การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพ #MBK39 (คดีผู้จัดการชุมนุม)