พรชัย : คดี 112 ฟ้องทางไกลไปบันนังสตา

อัปเดตล่าสุด: 24/12/2565

ผู้ต้องหา

พรชัย

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

วัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ ภาคีประชาชนปกป้องสถาบันฯ ชาวอำเภอบันนังสตาเป็นผู้ริเริ่มแจ้งความไว้ที่สภ.บันนังสตา

สารบัญ

พรชัย ชาวปกาเกอะญอจากแม่ฮ่องสอน ที่ทำงานอยู่กรุงเทพ ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่สภ.บันนังสตาด้วย จากการถ่ายคลิปวิดีโอตัวเองลงบนเฟซบุ๊ก และโพสต์ข้อความอีกสองข้อความ โดยมีวัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ ภาคีประชาชนปกป้องสถาบันฯ ชาวอำเภอบันนังสตาเป็นผู้ริเริ่มแจ้งความไว้ที่สภ.บันนังสตา ทำให้คดีนี้ต้องขึ้นศาลจังหวัดยะลา

พรชัยรับว่า คลิปวิดีโอเป็นของเขาจริง แต่อีกสองโพสเฟซบุ๊กเขาไม่ได้เป็นคนโพส และหลักฐานที่โจทก์นำมาใช้ฟ้องคดีไม่น่าเชื่อถือ 

15 ธันวาคม 2565 ศาลพิพากษา ให้มีความผิด 1 กรรมจากการโพสต์คลิปไลฟ์ ในขณะที่อีก 2 กรรมให้ยกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่ปรากฏ URL จึงไม่สามารถตรวจสอบไปยังต้นโพสต์ได้

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พรชัย หรือมาริโอ้ เป็นชาวปกาเกอะญอวัย 39 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมาทำธุรกิจส่วนตัวอยู่ที่กรุงเทพได้หลายปีแล้ว พรชัยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง พรชัยมีคดีมาตรา 112 สองคดี ที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดยะลา

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องที่อัยการยื่นต่อศาลจังหวัดยะลา กล่าวหาว่าจำเลยกระทความผิดสามกรรม ดังต่อไปนี้

1) วันที่ 27 ตุลาคม 2563 พรชัยใช้เฟซบุ๊กที่มีรูปของเขาเป็นภาพประจำตัว โพสคลิปวิดีโอพร้อมเสียงพูดของเขา โดยเริ่มจากการพูดถึงประสบการณ์การเข้าร่วมชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 อธิบายถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม พูดถึงนักการเมืองที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​เพราะไม่ต้องการให้แตะต้องหมวด 1 หมวด 2 หมวด 3 พูดถึงพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญ การสืบทอดพระราชอำนาจในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี รวมถึงการ “เซ็นรัฐประหาร”
 
2) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 พรชัยโพสต์ข้อความทำนองว่า ผู้บริหารของพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้วางเส้นทางการเมือง เช่น การให้ส.ว. 250 คนเลือกนายกรัฐมนตรีและการใช้พระราชอำนาจ รวมทั้งการที่พระมหากษัตริย์เซ็นรัฐประหาร และโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบประกอบโพสต์ดังกล่าว
 
3) วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่เวลากลางวันต่อเนื่องถึงกลางคืนพรชัยโพสต์ข้อความ 4 ข้อความประกอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่สิบ ได้แก่
  • วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ข้อเรียกร้องของพวกเขาคือ ให้นำเจ้าของหมานำ ‘หมา’ ทุกตัวออกจากคณะรัฐมนตรีและส.ว.250 คนก็ให้ออกไปด้วย “xxxมึงคิดให้ดีๆ ชีวิตของมึงสบายไปทั้งชาติจนมึงตายห่าลูกหลานของมึงก็ยังมีแดก วัดใจกับพวกกูคณะราษฎรมึงคิดผิดมหันต์”
  • วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 แยกราชประสงค์จะเปลี่ยนชื่อเป็นราษฎรประสงค์ เป็นวันแห่งจุดเปลี่ยน พลังแห่งเสรีภาพและความเสมอภาค “มึงxxxอย่าเล่นสกปรก กูแค่ต้องการให้มึงเอาหมาของมึงลาออก ส่วนตัวมึงxxxแค่ยอมรับอยู่ภายใต้กติกา ภายใต้รัฐธรรมนูญถึงเวลาที่มึงต้องเลือกว่าจะดันทุรังใช้ความรุนแรงหรือมึงจะเข้าสู่กติตาภายใต้รัฐธรรมนูญ…”
  • “ถ้ามึงมาถามกูว่ามึงไม่กลัวตายเหรอที่ฟัดกับเจ้ากูแน่กูไม่ใช่คนดีสมบูรณ์แบบแต่กูมีจรรยาบรรณในการใช้ชีวิตไม่เหมือนxxxมั่วซั่วไปทั่ว”
  • “คนบางคนต้องพูดกับมันตรงๆเพราะสันดานเหี้ยๆ ที่ฝังลึกจนตัวมันเองไม่รู้ว่า เลวระยำ กูฝากถึงมึงxxx”
 
ข้อความตามฟ้องทั้งสามข้อเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่สิบ ทั้งนี้จำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์
 
โดยจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 10 มีนาคม 2564 เวลาประมาณ 7.00 น. พรชัยถูกจับกุมที่คอนโดย่านแคราย ระหว่างเขากำลังจะออกไปทำงาน มีตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 30 นายจับกุม จากนั้นเขาถูกพาตัวไปที่สภ.รัตนาธิเบศร์ และส่งตัวไปกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เขาถูกสอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์เผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าศาลอาญาในการชุมนุมของรีเด็มวันที่ 6 มีนาคม 2564 แต่พรชัยปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการเผารูปดังกล่าว เขาเผาแค่กล่องลังเบียร์เท่านั้น เมื่อตำรวจสอบสวนและดูภาพแล้วไม่ได้ดำเนินคดีกับพรชัยจากเหตุดังกล่าว
 
พรชัยจึงถูกส่งตัวกลับมาที่สภ.รัตนาธิเบศร์ และถูกพาตัวไปค้นที่ห้องพัก ตรวจค้นโทรศัพท์มือถือที่อยู่ภายในห้องพัก ซึ่งเป็นของลูกค้าของเขา ต่อมามีตำรวจจากสภ.แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่มารับตัวจากที่สภ.รัตนาธิเบศร์ โดยตำรวจจากสภ.แม่โจ้แจ้งข้อกล่าวหาว่า พรชัยโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ครั้งเป็นภาพและข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และการชุมนุม ก่อนจะคุมตัวพรชัยเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ทันทีและเดินทางไปถึงในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น กระบวนการฝากขังในชั้นสอบสวน ตำรวจวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ไปศาลจังหวัดเชียงใหม่และศาลให้ฝากขังโดยไม่ให้ประกันตัว ทำให้เขาต้องถูกคุมขังที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลา 44 วัน ก่อนจะได้ประกันตัวภายหลัง และติดโควิดจากเรือนจำทำให้ต้องกักตัวเพิ่มอีก 15 วัน
 
ระหว่างถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ ตำรวจจากสภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา เดินทางไปพบเขาที่เรือนจำกลางเชียงใหม่เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ว่า เขาถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่สภ.บันนังสตาด้วย
 
 
 

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลจังหวัดยะลา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ดูข้อมูลคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ของพรชัย ได้ทาง https://database.tlhr2014.com/public/case/1785/lawsuit/569/

 

 

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
10 มีนาคม 2564
 
เวลาประมาณ 7.00 น. เขาถูกจับกุมในคดีแรกที่คอนโดย่านแคราย ระหว่างนั้นเขากำลังจะออกไปทำงาน มีตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 30 นายจับกุม จากนั้นเขาถูกพาตัวไปที่สภ.รัตนาธิเบศร์ และส่งตัวไปกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เขาถูกสอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์เผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าศาลอาญาในการชุมนุมของรีเด็มวันที่ 6 มีนาคม 2564 แต่พรชัยปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการเผารูปดังกล่าว เขาเผาแค่กล่องลังเบียร์เท่านั้น
 
เมื่อตำรวจสอบสวนและดูภาพแล้วไม่ได้ดำเนินคดีกับพรชัยจากเหตุดังกล่าว พรชัยจึงถูกส่งตัวกลับมาที่สภ.รัตนาธิเบศร์ และถูกพาตัวไปค้นที่ห้องพัก ตรวจค้นโทรศัพท์มือถือที่อยู่ภายในห้อง ซึ่งเป็นของลูกค้าของเขา
 
ต่อมามีตำรวจจากสภ.แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่มารับตัวจากที่สภ.รัตนาธิเบศร์ โดยตำรวจจากสภ.แม่โจ้แจ้งข้อกล่าวหาว่า พรชัยโพสต์เฟซบุ๊กสี่ครั้งเป็นภาพและข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และการชุมนุม ก่อนจะคุมตัวพรชัยเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ทันที
 
11 มีนาคม 2564
 
พรชัยเดินทางไปถึงสภ.แม่โจ้ กระบวนการฝากขังในชั้นสอบสวน
ตำรวจวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ไปศาลจังหวัดเชียงใหม่และศาลให้ฝากขังโดยไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้เขาต้องถูกคุมขังที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ
 
12 มีนาคม 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พนักงานสอบสวนสภ.บันนังสตา จังหวัดยะลาแจ้งข้อกล่าวหาต่อพรชัยว่า เป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่สภ.บันนังสตา ผู้ร้องทุกข์คือ วัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ ประชาชนที่มาแจ้งความจากโพสต์เฟซบุ๊กของพรชัยจำนวน 13
โพสต์ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยพรชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือในภายหลัง
 
พนักงานสอบสวนจะทำการสอบปากคำพรชัยอีกกว่า 1 ชั่วโมง
ทนายความได้รับเพียงเอกสารบันทึกเหตุอันควรเชื่อเพื่อตรวจค้นอุปกรณ์มือถือของพรชัย จากเจ้าหน้าที่ปอท. เท่านั้น
 
ส่วนบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวนสภ.บันนังสตานั้น พนักงานสอบสวนระบุว่า จะต้องไปติดตามที่สภ.แม่โจ้
ในการลงบันทึกประจำวันต่อไป
 
 
5 เมษายน 2564
 
ยื่นประกันตัวคดีเชียงใหม่ครั้งที่สอง
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพรชัยเป็นครั้งที่สอง โดยใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลักประกัน และขอให้ศาลมีคําสั่งไต่สวนประกอบคําร้อง
โดยเรียกพนักงานสอบสวนและเบิกตัวผู้ต้องหามาไต่สวนที่ศาล ต่อมาศาลจังหวัดเชียงใหม่ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุว่า “พิเคราะห์ตามคำร้อง ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่มีเหตุเรียกพนักงานสอบสวนและผู้ต้องหามาไต่สวน
 
 
21 เมษายน 2564
 
อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้กันตัวของศาลชั้นต้น
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพรชัย
 
 
22 เมษายน 2564
 
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวพรชัย ระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้คดีที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาจะมีอัตราโทษสูง แต่ปรากฏจากบันทึกการจับกุมว่า ผู้ต้องหาถูกจับที่หน้าคอนโดมิเนียมที่พักอาศัย มิได้มีพฤติการณ์หลบหนี
 
จากเหตุผลในการขอฝากขังครั้งที่ 4 เนื่องจากรอผลตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา และรอสอบผู้ใหญ่บ้านถึงความรู้สึกต่อข้อความตามที่ถูกกล่าวหาว่านั้น การปล่อยตัวชั่วคราวจึงไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน ผู้ต้องหาถูกขังมาตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2564 พิจารณาแล้วคดีนี้ไม่มีเหตุอันสมควรเชื่อตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน ตีวงเงินประกัน 150,000 บาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป”
 
เนื่องจากศาลมีคำสั่งในช่วงเย็นแล้ว ทำให้อยู่ระหว่างการประสานงานนายประกัน และจัดเตรียมหลักทรัพย์ประกันตัว รวมทั้งให้ผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่เซ็นเอกสารประกอบคำร้องขอประกันตัว ทำให้ทนายความจะเข้ายื่นหลักประกันใหม่ในวันถัดไป
 
 
23 เมษายน 2564
 
พรชัยได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ แต่พบว่า ติดเชื้อโควิด 19 จากเรือนจำ
 
 
30 พฤษภาคม 2565
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี
ศาลจังหวัดยะลารับฟ้องไว้และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท
 
ในนัดนี้ศาลอธิบายคำฟ้องให้พรชัยฟัง พรชัยยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อหา โจทก์และจำเลยตกลงรับพยานกันได้ทั้งหมด 14 ปาก เช่น เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจยึดโทรศัพท์ของจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจสอบคลิปวิดีโอและเฟซบุ๊กจำเลย เจ้าของหอพัก บิดามารดาของจำเลยและผู้ใหญ่บ้านของจำเลย จึงไม่ต้องนำพยานเหล่านี้เข้ามาเบิกความ
 
แต่ยังมีพยานโจทก์ที่ฝ่ายจำเลยไม่สามารถรับข้อเท็จจริงได้จำนวนหกปาก อัยการโจทก์จึงแถลงขอนำสืบพยานจำนวนสองนัด ขณะที่ฝ่ายจำเลยแถลงจะสืบพยานทั้งหมดสามปาก ขอสืบพยานหนึ่งนัด ศาลจึงกำหนดการสืบพยานจำนวนสามนัด ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2565
 
 
4-6 ตุลาคม 2565
 
สืบพยานโจทก์และจำเลย
 
พรชัยปฏิเสธว่า เขาไม่เคยโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวเลย แต่สงสัยว่า เฟซบุ๊กของเขามีคนเข้าใช้ได้หลายคน โดยพรชัยเล่าว่า วัชรินทร์ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ก็ไม่ได้เป็นผู้พบเห็นข้อความดังกล่าวเอง แต่เบิกความต่อศาลว่า มีเพื่อนในเครือข่ายที่ไม่ทราบว่าเป็นใครส่งภาพมาในกลุ่มไลน์ และเขาเป็นผู้นำภาพเหล่านั้นมาแจ้งความดำเนินคดี ทำให้ในคดีนี้ไม่มีพยานฝ่ายโจทก์ที่เคยเห็นข้อความดังกล่าวจริงๆ บนเฟซบุ๊ก
 
ด้านพรชัยต่อสู้คดีว่า ภาพถ่ายที่แคปเจอร์มาจากเฟซบุ๊กที่นำมาใช้ดำเนินคดีกับจำเลยนั้น เป็นภาพที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่มี URLs ที่ระบุถึงต้นทางของการโพสต์และไม่มีผู้ที่ยืนยันได้ว่าโพสต์เหล่านั้นมีอยู่จริงบนโลกออนไลน์หรือไม่
 
 
15 ธันวาคม 2565
นัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลจังหวัดยะลาพิพากษา ให้มีความผิด 1 กรรมจากการโพสต์คลิปไลฟ์ ในขณะที่อีก 2 กรรมให้ยกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่ปรากฏ URL จึงไม่สามารถตรวจสอบไปยังต้นโพสต์ได้
 
นอกจากนี้ ศาลระบุว่า เนื่องจากเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 112 ที่เป็นบทหนักสุด จำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 2 ปี โดยภายหลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ศาลระบุว่าสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาได้ภายใน 1 เดือน ก่อนที่ตำรวจศาลจะควบคุมตัวพรชัยลงไปที่ใต้ถุนศาล
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ในเวลา 15.00 น. พรชัยได้รับการประกันตัว โดยต้องวางหลักประกันเพิ่มกึ่งหนึ่ง จากหลักประกันเดิมที่เคยวางไว้ 150,000 บาท รวมเป็นหลักประกันชั้นอุทธรณ์ที่วางต่อศาลจำนวน 225,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และให้เดินทางมารายงานตัวต่อศาลจังหวัดยะลาอีกครั้ง 16 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอุทธรณ์คำพิพากษา

 

คำพิพากษา

สำหรับคำพิพากษาของศาลจังหวัดยะลา ศูนย์ทนายฯ สรุปเอาไว้ดังนี้

(1) ความผิดจากการโพสต์คลิปวิดีโอ : ลงโทษจำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือ 2 ปี

จำเลยโพสต์คลิปวิดีโอมีเนื้อหาสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ที่วางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย เห็นว่าเป็นการดูหมิ่น จาบจ้วง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้อต่อสู้ที่ว่าจำเลยไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท แต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพนั้น เห็นว่าพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญนั้นดำรงอยู่ในฐานะอันล่วงละเมิดมิได้ ทรงอยู่เหนือการติชมทั้งปวง

 

(2-3) โพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 2 ข้อความ : ยกฟ้อง ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

นายวัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ เบิกความว่าเป็นสมาชิกกลุ่มพิทักษ์สถาบันฯ โดยมีเพื่อนเป็นผู้ส่งภาพมาให้ จึงไม่ปรากฏ URL ที่มาของข้อความในเอกสารที่นำมาแจ้งความ และพนักงานสอบสวนเบิกความว่าไม่แน่ใจว่าภาพถูกต้องตามต้นโพสต์หรือไม่ เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้

ประกอบกับจำเลยมีพยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความว่า ภาพตามเอกสารพยานโจทก์ดังกล่าว เป็นการถ่ายมาจากหน้าจอโทรศัพท์และภาพมีความผิดปกติ คือมีเส้นขีดสีแดง ซึ่งน่าจะมีการทำเพิ่มเติมผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และ อีกภาพหนึ่งก็เป็นการนำ 2 ภาพมารวมกัน และมีการลบภาพบางส่วนออก แสดงว่าไม่ใช่ภาพต้นฉบับ ซึ่งหากถ่ายภาพจากคอมพิวเตอร์ จะปรากฏลิงค์ URL และสามารถถูกแก้ไขด้วยโปรแกรมคอมคอมพิวเตอร์ ต่างๆ ทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ยังเบิกความว่าภาพมีความผิดปกติ อาจผ่านการตัดต่อมา

พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีพิรุธสงสัยว่ามีโพสต์ดังกล่าวอยู่ในเฟซบุ๊กจริงหรือไม่ ทั้งนี้พยานโจทก์ยังไม่อาจนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความทั้งสอง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา