พิพัทธ์: โพสต์ภาพรัชกาลที่สิบในรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส

อัปเดตล่าสุด: 28/10/2565

ผู้ต้องหา

พิพัทธ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

อุราพร สุนทรพจน์ เป็นประชาชนทั่วไปที่พักอาศัยอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ อุราพรเป็นผู้ริเริ่มดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์รวมอย่างน้อยห้าคดี เป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อสภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการทั้งหมด

สารบัญ

พิพัทธ์พลทหารชาวพิษณุโลกซึ่งทำงานอยู่ที่จังหวัดลพบุรีถูกฟ้องคดีตามมาตรา 112 ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ อุราพร สุนทรพจน์ ประชาชนทั่วไปซึ่งอาศัยอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสภ.บางแก้วว่าพิพัทธ์โพสต์ภาพที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หนึ่งภาพในกลุ่มเฟซบุ๊ก“รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส”

ภาพที่เป็นเหตุแห่งคดีเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่รัชกาลที่สิบที่ทรงฉายกับเจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ โดยมีการตัดต่อข้อความที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ลงไปบนภาพด้วย

หลังถูกดำเนินคดีพิพัทธ์ต้องเดินทางมารายงานตัวและต่อสู้คดีที่สมุทรปราการ ศาลจังหวัดสมุทรปราการสืบพยานคดีนี้ในเดือนสิงหาคม 2565 ก่อนจะมีคำพิพากษายกฟ้องพิพัทธ์ในวันที่ 26 ตุลาคม 2565 เพราะเห็นว่าหลักฐานของโจทก์มีความน่าสงสัยว่าจะเป็นการตัดต่อภาพหรือไม่
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พิพัทธ์เป็นชาวพิษณุโลก ขณะถูกดำเนินคดีอายุ 20 ปี พิพัทธ์สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวะแห่งหนึ่งก่อนจะมาสมัครเป็นพลทหารและทำงานอยู่ที่จังหวัดลพบุรี

พิพัทธ์เคยสอบติดนายสิบทหารบกและอยู่ระหว่างรอการสัมภาษณ์แต่ก็มาได้รับหมายเรียกคดีมาตรา 112 เสียก่อน พิพัทธ์จึงตัดสินใจสละสิทธิ์นายสิบเพราะกังวลว่าจะมีปญหาหรือถูกบีบออกราชการในภายหลัง

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องคดีนี้พอสรุปได้ว่า
 
ขณะเกิดเหตุคดีนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ไทย และมีสมเด็จพระในวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 มีเจ้าฟ้าทีปังกรฯ เป็นพระราชโอรส ซึ่งถือเป็นรัชทายาทโดยสันนิษฐาน ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 
 
วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 จำเลยโพสต์ภาพถ่ายซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ พร้อมมีข้อความในลักษณะที่คล้ายเป็นการสนทนาโต้ตอบระหว่างทั้งสองพระองค์ โดยข้อความที่อยู่บนภาพอาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาททั้งรัชกาลที่สิบและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ
 

 

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 20 เมษายน 64 พิพัทธ์เดินทางมาที่สภ.บางแก้วเพื่อรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก

หลังการสอบสวน พนักงานสอบสวนสภ.บางแก้วนำตัวพิพัทธ์ไปขออำนาจศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขังในชั้นสอบสวน ทนายความของพิพัทธ์ใช้เงิน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์วางต่อศาลเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งศาลอนุญาต

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.791/2564

ศาล

ศาลจังหวัดสมุทรปราการ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
28 พฤษภาคม 2563
 
อุราพร สุนทรพจน์ ประชาชนจากจังหวัดสมุทรปราการเข้าไปดูกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ได้พบเห็นผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีหนึ่ง โพสต์ภาพหนึ่งภาพเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบและเจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ

บนภาพดังกล่าวมีข้อความสองข้อความเป็นลักษณะบทสนทนาระหว่างสองพระองค์ ซึ่งอุราพรเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และรัชทายาท จึงเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความดังกล่าว 
 
20 เมษายน 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พิพัทธ์ ชาวพิษณุโลกที่ได้รับหมายเรียกคดีนี้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข รองผู้กำกับการสอบสวนสภ.บางแก้ว แจ้งข้อกล่าวหารวมสองข้อหากับพิพัทธ์คือข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ข้อหาตามมาตรา 14(3)  ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

พิพัทธ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และแจ้งพนักงานสอบสวนว่าเขาจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารภายใน 30 วัน หลังแจ้งข้อกล่าวหาพนักงานสอบสวนนำตัวพิพัทธ์ไปขออำนาจศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขังในชั้นสอบสวน โดยอ้างเหตุว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุร้ายประการอื่น ทั้งทีพิพัทธ์ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนด้วยดี และเดินทางมารายงานตัวด้วยตัวเอง 
 
หลังพนักงานสอบสวนนำตัวพิพัทธ์ไปขออำนาจศาลฝากขังและศาลอนุญาต ทนายความของพิพัทธ์ใช้หลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท วางต่อศาลเพื่อขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งศาลอนุญาต

มีข้อน่าสังเกตด้วยว่าแม้พนักงานสอบสวนจะเอาตัวพิพัทธ์ไปฝากขัง แต่ในเอกสารบันทึกประจำวันกลับระบุว่าตำรวจได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปโดยไม่ได้ควบคุมตัว 
 
12 กรกฎาคม 2564
 
พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ 
 
13 กรกฎาคม 2564
 
พิพัทธ์เดินทางมารายงานตัวที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการหลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี ทนายความของพิพัทธ์ใช้หลักทรัพย์ที่ใช้ประกันตัวในชั้นสอบสวนมูลค่า 150,000 บาท วางต่อศาลเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวพิพัทธ์ในชั้นศาล ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวพิพัทธ์ด้วยหลักทรัพย์เดิม
 
23-24 สิงหาคม 2565
 
ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดสืบพยานโจทก์จำเลย วันที่ 23 สิงหาคม เป็นการสืบพยานโจทก์ ส่วนวันที่ 24 สิงหาคมเป็นการสืบพยานจำเลย

พยานผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายจำเลยปากหนึ่งขึ้นเบิกความโดยสรุปได้ว่า หลักฐานที่ผู้กล่าวหานำมาใช้ปรักปรำจำเลยไม่มีความน่าเชื่อถือเพราะเป็นเพียงภาพบันทึกหน้าจอซึ่งสามารถใช้คอมพิวเตอร์ตัดต่อเปลี่ยนแปลงได้โดยใช้คอมพิวเตอร์ หลังการสืบพยานแล้วเสร็จศาลนัดพิพัทธ์ฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ตุลาคม 2565
 
26 ตุลาคม 2565
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
พิพัทธ์เดินทางจากภูมิลำเนาที่จังหวัดพิษณุโลกมาถึงห้องพิจารณาคดี 12 ศาลจังหวัดสมุทรปราการตั้งแต่เวลาก่อน 9.00 น. โดยมีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ในวันนี้ศาลมีนัดพิจารณาคดีในช่วงเช้าพร้อมกันหลายคดีจึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอื่นไปก่อน หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 10.05 น. จึงอ่านคำพิพากษาคดีของพิพัทธ์ โดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่าพยานหลักฐานที่ผู้กล่าวหาใช้ปรักปรำจำเลยมีความน่าสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดสมุทรปราการ)

พิเคราะห์หลักฐานข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า จากการเก็บหลักฐานของผู้กล่าวหาซึ่งเป็นการบันทึกภาพหน้าจอโพสต์ที่เป็นปัญหาแห่งคดีและโปรไฟล์เฟซบุ๊กของจำเลย จากแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊กผ่านโทรศัพท์มือถือของผู้กล่าวหา แล้วนำมารวมกันก่อนปรินท์ออกมาเป็นเอกสารหลักฐาน กรณีจึงไม่ใช่สิ่งที่พิมพ์ออกจากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง
 
ขณะที่พยานจำเลยเบิกความต่อสู้ว่า ภาพหลักฐานดังกล่าวสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัดต่อให้เกิดขึ้นได้ ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจริง ประกอบกับโจกท์มิได้นำสืบให้เห็นถึงข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ว่าจุดเริ่มต้นและปลายทางของการส่งข้อมูลเป็นอย่างไร และไม่สามารถระบุหมายเลขประจำตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ระบุตัวตนขณะเกิดเหตุว่าจำเลยอยู่ที่ใดและใช้อุปกรณ์ดังกล่าวในการกระทำความผิดหรือไม่
 
เมื่อโจกท์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์ของจำเลยว่าได้กระทำความผิดจริงโดยปราศจากความสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2 พิพากษายกฟ้อง

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา