สุทธิเทพ : เขียนข้อความตำหนิสถาบันกษัตริย์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “คณะประชาชนปลดแอก”

อัปเดตล่าสุด: 09/11/2565

ผู้ต้องหา

สุทธิเทพ

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

สารบัญ

สุทธิเทพ สมาชิกกลุ่มคนรุ่นใหม่นนบุรี วัย 24 ปี ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จากการโพสต์ข้อความในกลุ่มเฟซบุ๊ก  “คณะประชาชนปลดแอก – Free people” เมื่อ 14 ตุลาคม 2563 โดยเป็นการโพสต์ข้อความประชดกลุ่มรักสถาบันประชดคำกล่าวอ้างของกลุ่มรักเจ้าว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไทยจะทำให้ตกนรก
 
ทั้งนี้ คืนก่อนที่สุทธิเทพจะโพสข้อความ มีการสลายการชุมนุมและเข้าจับกุมผู้ชุมนุมคณะราษฎรอีสานอย่างน้อย 21 คน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สุทธิเทพ หรือต้มจืด เป็นชาวอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี อายุ 22 ปีในวันที่ถูกจับกุม และปัจจุบันเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องระบุว่า
 
วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ช่วงกลางวัน จำเลยได้โพสต์ข้อความที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะลงกลุ่มเฟซบุ๊ก “คณะประชาชนปลดแอก – Free people” ข้อความว่า “ถ้าวิจารณ์เจ้าแล้วตกนรก กูยอมตกนรก…” ซึ่งเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยเป็นการทำให้รัชกาลที่สิบเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย 
 
อีกทั้งในขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีรัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พฤติการณ์การจับกุม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อ 9 เมษายน 2564 เวลา 11.30 น. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมนำโดย พ.ต.ต.พิเชต ชมมณฑา สว.กก.2 กองบังคับการปราบปราม และ พ.ต.ต.กิตติพงศ์ อมฤตโอฬาร จากกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (กก.3 บก.ปอท.) เข้าจับกุมสุทธิเทพตามหมายจับของศาลอาญาที่ 498/2564 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2564 ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
สุทธิเทพถูกควบคุมตัวไปที่กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม (กก.2 บก.ป.) เพื่อทำบันทึกจับกุมและบันทึกตรวจยึด 
 
ในบันทึกการจับกุมบรรยายพฤติการณ์ในการจับกุมว่า เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุม ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ออกสืบสวนติดตามจับกุมบุคคลตามหมายจับดังกล่าว และได้รับข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ จนทราบว่าผู้ถูกจับได้มาทํางานอยู่ใกล้เคียงบริเวณสถานที่จับกุม
 
จึงได้เดินทางไปสังเกตการณ์เพื่อทําการจับกุม จนกระทั่งพบผู้ถูกจับ มีตําหนิรูปพรรณตรงกับผู้กระทําความผิดตามหมายจับ จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตํารวจและแสดงหมายจับให้ผู้ถูกจับดูจนเป็นที่พอใจแล้ว และผู้ถูกจับให้การยอมรับว่าตนเองเป็นบุคคลคนเดียวกับบุคคลตามหมายจับนี้จริง และยังไม่เคยถูกจับในหมายจับนี้มาก่อน เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับและสิทธิของ ผู้ถูกจับให้ทราบและแจ้งว่าต้องถูกจับ โดยผู้ถูกจับไม่ขอให้การในชั้นจับกุม
 
ตำรวจชุดจับกุมยังได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของสุทธิเทพไปจำนวน 1 เครื่อง พร้อมซิมการ์ดไว้เป็นของกลาง
 
สุทธิเทพให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และถูกควบคุมตัวไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง เป็นเวลา 1 คืน ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังในวันถัดไป โดยศาลให้ประกันด้วยวงเงิน 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้สื่อสังคมออนไลน์ดูหมิ่นผู้ใด

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

1537/2564

ศาล

ศาลอาญารัชดา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
ลำดับเหตุการณ์
 
9 เมษายน 2564 
 
ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า เวลา 11.30 น. สุทธิเทพถูกล้อมจับที่ห้างสรรพสินค้าย่านรามอินทรา ไปที่กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม (กก.2 บก.ป.) เพื่อทำบันทึกจับกุมและบันทึกตรวจยึดโทรศัพท์มือถือพร้อมซิมการ์ดเป็นของกลาง
 
10 เมษายน 2564 
 
พนักงานสอบสวนนำตัวสุทธิเทพไปขออำนาจศาลอาญาฝากขัง 12 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวในระหว่างการสอบสวนในวงเงิน 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมเงื่อนไข ห้ามใช้สื่อสังคมออนไลน์ดูหมิ่นผู้ใด  และนัดรายงานตัวอีกครั้ง 28 พฤษภาคม 2564 เวลา 08.30 น.
 
2 กรกฎาคม 2564
 
อัยการยื่นฟ้องต่อศาลในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14
 
5 กรกฎาคม 2564
 
สุทธิเทพเดินทางมารับทราบคำฟ้อง ผู้พิพากษาได้สอบถามคำให้การจำเลยเบื้องต้น โดยสุทธิเทพได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
 
9 สิงหาคม 2564
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน เวลา 9.00 น.
 
7 กันยายน 2565
 
นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โดยสุทธิเทพให้การรับสารภาพ ศาลนัดฟังคำพิพากษา 8 พฤศจิกายน 2565
 
ทั้งนี้ สุทธิเทพให้สัมภาษณ์ว่าพร้อมเผชิญหน้า เนื่องจากอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีครอบครัว ไม่รอดก็แค่เข้าคุก ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่สิ่งเดียวที่เขาห่วงที่สุดหากไม่ได้ประกันตัวคือ “ผู้กอง” แมวจรจัดสีส้มตัวจ้ำม่ำที่เขาเลี้ยงดูมาอย่างดีภายในห้องเช่าหลังคาเดียวกัน
 
8 พฤศจิกายน 2565 
 
นัดฟังคำพิพากษา
สุทธิเทพพร้อมนายประกันเดินทางไปถึงศาลอาญาตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น. 
 
จากนั้นศาลขึ้นบัลลังก์ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. แต่ดำเนินการสืบพยานคดีอื่นไปก่อน แล้วมาเริ่มอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในเวลา 11.40 น. โดยมีคำสั่งลงโทษจำคุก 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำเลยให้การสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน
 
ต่อมา เวลา 16.30 น. ศาลอนุญาตให้ประกันตัวสุทธิเทพระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ โดยตีราคาประกัน 100,000 บาทเนื่องจากในการสู้คดีในศาลชั้นต้นสุทธิเทพต้องวางหลักประกันเป็นเงิน 90,000 บาทอยู่แล้ว ในวันนี้จึงต้องวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติมอีก 10,000 บาท

 

คำพิพากษา

คำพิพากษาคดีสรุปได้ว่า 

ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ ความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)  เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายที่โทษหนักที่สุด ลงโทษจำคุก 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำเลยให้การสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน
 
พิเคราะห์การสืบเสาะและพินิจแล้วเห็นว่า แม้จำเลยจะไม่เคยถูกพิพากษาจำคุกมาก่อน แต่พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า จำเลยอ้างว่าโพสต์ข้อความตามฟ้องเพราะไม่พอใจที่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและรักษาความปลอดภัยในสถานการณ์การชุมนุมในวันที่มีประชาชนมารวมตัวในเส้นทางขบวนเสด็จ ทำให้เพื่อนของจำเลยที่ร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บ 
 
ศาลเห็นว่าข้อความที่จำเลยโพสต์เข้าข่ายเป็นการ ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดในองค์พระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นกระทำความผิดที่ร้ายแรง กรณีจึงไม่เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา