จรัส : วิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9

อัปเดตล่าสุด: 09/12/2565

ผู้ต้องหา

จรัส (สงวนนามสกุล)

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

โจทก์ นิรุตต์ แก้วเจริญ

สารบัญ

จรัส นักศึกษาชาวจันทบุรี ได้ไปคอมเมนต์ถกเถียงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 กับนิรุตต์ แก้วเจริญ ผู้กล่าวหา ในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “เพจจันทบุรี” โดยคดีนี้ในเริ่มแรก มีการตั้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) เพียงข้อหาเดียว ต่อมา มีคำสั่งของคณะทำงานกำหนดแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายในคดีตามประมวลกฎหมาอาญามาตรา 112 ให้แจ้งข้อกล่าวหาต่อจรัสในข้อหาตามมาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เพิ่มเติม
 
คดีนี้มีความน่าสนใจในประเด็นคำพิพากษา โดยนอกจากจะเป็นคำพิพากษาแรกที่มีขึ้นภายหลังการบังใช้มาตรา 112 ในระลอกปี 2563 แล้ว เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2565 ศาลชั้นต้นจังหวัดจันทบุรีก็ยังพิพากษา “ยกฟ้อง” ในมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เนื่องจากขาดองค์ประกอบความผิด โดยระบุว่ามาตรา 112  “คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่” เท่านั้น แต่ให้มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1)  
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังอัยการโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง 22 พฤศจิกายน 2565 ศาลอุทธรณ์จังหวัดจันทบุรีก็กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ว่าจรัสมีความผิดทั้งตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)  โดยระบุว่ามาตรา 112 “คุ้มครองอดีตกษัตริย์” ด้วย แต่ให้รอลงโทษไว้สองปี ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติสี่ครั้งภายในหนึ่งปี และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง

ภูมิหลังผู้ต้องหา

จรัส (สงวนนามสกุล) อายุ 18 ปีในวันที่ถูกตั้งข้อหา เป็นชาวจังหวัดจันทบุรี ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุคำบรรยายพฤติการณ์ของพนักงานสอบสวนว่า 
 
เมื่อวันที่  7 เมษายน 2563 เวลา 02.00 น. ผู้กล่าวหาซึ่งอาศัยอยู่ที่อำเภอเมืองจันทบุรี ได้เปิดใช้งานโทรศัพท์มือถือส่วนตัวและคอมพิวเตอร์เข้าดูเฟซบุ๊กกลุ่ม “เพจจันทบุรี” และพบข้อความซึ่งผู้ดูแลเพจโพสต์ว่า “ช่วงนี้โรคโควิดระบาด เศรษฐกิจไม่ดี ให้ใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง” หลังจากนั้นไม่นาน มีสมาชิกในกลุ่มเพจได้แสดงความคิดเห็นลงในโพสต์ และผู้กล่าวหาอ้างว่าจรัสได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็น ดังนี้
 
“Nirut Kaewcharoen ไม่ต้องรู้หรอก ว่าผมทำไรบ้างอะ แต่แค่ผมจะสื่อสารว่าเราโดนหลอกอะ ทฤษฎีที่มันเอามาแค่หลอกให้พวก ปชช ที่ไม่รู้จักรู้ร้อนรู้หนาว(คนส่วนใหญ่)ได้สบายใจกับคำว่าพอเพียง กับคำว่าประหยัด ส่วนพวกบุคคลที่ได้รับผลกระทบจริงๆ กลับไม่มีอะไรมาเยียวยาเค้าเลย แบบนี้พอเข้าใจว่ามันไม่ควรใช้ยังไง อารมณ์แบบเราเสียภาษีให้กษัตริย์เพื่อให้กษัตริย์มาพัฒนาประเทศและดูแลทุกคนใน ปทท ปะ ไม่ใช่ทอดทิ้งคนกลุ่มล่างปะวะ คิดเอาว่าคนพวกนี้จะอยู่ไง ลำบากแค่ไหน ตื่นมาหาหาข้าวกินสักมื้อนี่โคตรจะลำบากแล้ว ไม่เคยเห็นคนพวกนี้เข้าถึงทฤษฎีนี้สักนิด เพราะผมพูดเลยว่าไม่ต้องมีเศรษฐกิจพอเพียงคนไทยก็อยู่ได้ (แม่งแค่ฉลาดบอกคนไทยให้พอ มันจะรวยได้คนเดียวจะได้กดหัวหัวง่ายๆ) คิดแบบนี้นะ บอกเลยมันโหนคำว่าประหยัดเพื่อหลอก ปชช ครับ คืนประเทศไทยให้คนไทยจะเปลี่ยนให้เป็นเมือง” 
 
ผู้กล่าวหาอ้างว่าข้อความดังกล่าวทำให้บุคคลทั่วไปที่มาอ่าน เข้าใจผิดว่าเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย จึงมาแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับจรัส พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาจรัสว่า “นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1)
 
ข้อกล่าวหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
ศูนย์ทนายความฯ เผยแพร่คำฟ้องของสุรเชษฐ บุญสนอง พนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรี ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 โดยสรุปว่า 
 
วันที่ 7 เมษายน 2563 จำเลยโดยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่เก้า ที่ทรงเสด็จสวรรคตดังกล่าวต่อบุคคลที่สาม ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กกลุ่ม “เพจจันทบุรี” กล่าวถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีความหมายว่า แนวพระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงที่รัชกาลที่เก้า พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย เป็นทฤษฎีที่นำมาหลอกลวงประชาชนชาวไทย ให้เพียงพอ ประหยัด บังคับให้ประชาชนอยู่ใต้อำนาจโดยง่าย โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่เก้า เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยเจตนาแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ อันเป็นการนำเข้าสู่คอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
 
ข้อหาที่เพิ่มขึ้นมาข้างต้น สืบเนื่องจากทางพนักงานอัยการระบุว่า ได้มีคำสั่งจากทางอัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ภายใต้คณะทำงานกำหนดแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายในคดีตามประมวลกฎหมาอาญามาตรา 112 ให้แจ้งข้อกล่าวหาต่อจรัสเพิ่มเติม ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 

พฤติการณ์การจับกุม

11 สิงหาคม 2563 จรัสพร้อมผู้ปกครอง เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก สภ.เมืองจันทบุรี ในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) 
 
ต่อมา 15 มีนาคม 2564 จรัสเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองจันทบุรี อีกครั้งภายหลังถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เพิ่มเติม โดยจรัสให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและเมื่อสอบปากคำเสร็จก็ได้รับการปล่อยตัว 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

1335/2564

ศาล

ศาลจังหวัดจันทบุรี

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
7 เมษายน 2563
จรัสโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นต่อเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่เก้า ในเฟซบุ๊กกลุ่ม “เพจจันทบุรี” 
 
11 สิงหาคม 2563 (รับทราบข้อกล่าวหา)
จรัสพร้อมผู้ปกครอง เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก สภ.เมืองจันทบุรี ในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ต่อมา ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ในช่วงพฤศจิกายน 2563 (ไม่ทราบวันที่) พนักงานสอบสวนส่งตัวจรัสพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรี แต่อัยการยังไม่มีคำสั่ง  และนัดหมายมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 27 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น
 
27 มกราคม 2564
อัยการยังไม่มีคำสั่ง นัดหมายมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น.
 
24 กุมภาพันธ์ 2564
อัยการยังไม่มีคำสั่ง นัดหมายมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น.
 
ต้นเดือนมีนาคม 2564
อัยการแจ้งว่า มีคำสั่งจากทางอัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ภายใต้คณะทำงานกำหนดแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้แจ้งข้อกล่าวหาต่อจรัสเพิ่มเติม ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมสองข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 
 
15 มีนาคม 2564  (รับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม)
จรัสเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองจันทบุรี อีกครั้งภายหลังถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เพิ่มเติม โดยเขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและได้รับการปล่อยตัวภายหลังสอบปากคำ
 
24 มีนาคม 2564 
อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนฟังคำสั่งไปเป็นวันที่ 27 เมษายน 2564 เวลา 10.00 น.
 
27 เมษายน 2564
อัยการยังไม่มีคำสั่ง เนื่องจากตำรวจยังไม่ส่งสำนวนสอบสวนที่สอบเพิ่มเติมให้อัยการ เลื่อนไปฟังคำสั่งวันที่ 27 พฤษภาคม 2564
 
27 พฤษภาคม 2564 (นัดฟ้อง)
อัยการมีคำสั่งฟ้องจรัส ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากนั้นอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลรับฟ้องไว้ 
 
ต่อมา ญาติของจรัสได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวและศาลอนุญาตด้วยวงเงิน 150,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ พร้อมกำหนดวันนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น. และนัดสอบคำให้การวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00 น. 
 
5 กรกฎาคม 2564 (นัดตรวจพยานหลักฐาน)
ศาลได้อ่านคำฟ้องและสอบถามคำให้การ โดยจรัสยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาพร้อมยื่นคำให้การเป็นหนังสือประกอบ โดยให้การว่า ข้อความตามฟ้องเกี่ยวข้องกับการตั้งคำถามเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตนไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่เก้า อีกทั้งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น มุ่งคุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น
 
ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า จากนั้น พนักงานอัยการโจทก์ ได้แถลงขอนำส่งพยานเอกสารจำนวนห้าฉบับ และส่งให้ฝ่ายจำเลยตรวจ ขณะที่จำเลย ยังไม่มีพยานเอกสารที่จะส่งต่อศาล หลังจากตรวจดูเอกสาร คู่ความแถลงว่าไม่มีข้อเท็จจริงในเอกสารใดที่สามารถรับกันได้ อัยการโจทก์ได้แถลงว่าประสงค์จะนำสืบพยานบุคคลทั้งหมดห้าปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา ซึ่งเป็นผู้พบข้อความตามฟ้อง, เพื่อนของจำเลย, คณะพนักงานสอบสวนที่ทำสำนวนคดีนี้ อีกจำนวนสามนาย โดยโจทก์ของใช้เวลาสืบพยานจำนวนหนึ่งนัด
 
ฝ่ายทนายจำเลยแถลงประสงค์จะนำสืบพยานทั้งหมดสองปาก ได้แก่ ตัวจำเลยเอง และพยานนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ โดยขอใช้เวลาสืบพยานทั้งหมดครึ่งนัด และคู่ความได้กำหนดวันนัดสืบพยานเป็นวันที่ 7-8 ตุลาคม 2564 
 
7 ตุลาคม 2564 
นัดสืบพยาน
 
มีพยานโจทก์เข้าเบิกความจำนวนสองปากและจรัสเข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเองเพียงหนึ่งปาก โดยมีข้อต่อสู้ในประเด็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์องค์พระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว ไม่เข้าข่ายองค์ประกอบของมาตรา 112 
สำหรับบันทึกการสืบพยาน ศูนย์ทนายฯ สรุปภาพรวมไว้ดังนี้
 
o พยานโจทก์ปากที่ 1 – นิรุตต์ แก้วเจริญ (ผู้กล่าวหา) 
 
นิรุตต์เบิกความว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 เวลาประมาณ 02.00 น. ตนได้ใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวเข้าไปดูกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อว่า “เพจจันทบุรี” ซึ่งมีสมาชิกภายในกลุ่มประมาณ 100,000 คน และพบว่ามีผู้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่อง “การควรนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” แต่ไม่ได้กล่าวว่าหลักการดังกล่าวเป็นของผู้ใด แต่นิรุตต์ทราบว่า หลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าวเป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่เก้า โดยผู้โพสต์คือชานนท์ ซึ่งนิรุตต์จำนามสกุลไม่ได้ ซึ่งชานนท์เป็นผู้ดูแลกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าว
 
ต่อมา นิรุตต์พบว่า มีบุคคลผู้หนึ่งเข้าไปโต้ตอบพิมพ์ข้อความในทำนองว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องวาทกรรมหลอกลวง เป็นการกดขี่คนจน ประชาชนเสียภาษีให้แก่พระมหากษัตริย์ แต่กษัตริย์ไม่ดูแลประชาชน” โดยผู้ที่ตอบข้อความในลักษณะเช่นนี้มีเพียงคนเดียว นิรุตต์จึงได้กดบันทึกภาพหน้าจอที่มีการโต้ตอบกระทู้ซึ่งเป็นข้อความโต้ตอบอันเป็นประเด็นในคดีนี้ และพบว่ามีจำเลยเป็นผู้โพสต์ตอบโต้ดังกล่าว
 
นิรุตต์เห็นว่าข้อความดังกล่าวของจำเลย เป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม หลังจากเกิดเหตุ 2-3 วัน จึงได้เดินทางไปร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองจันทบุรี โดยไม่ได้ระบุข้อกล่าวหา เพียงแต่เข้าไปแจ้งพฤติการณ์ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการดูหมิ่นกษัตริย์เท่านั้น ต่อมา นิรุตต์ได้ไปค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมจาก “จิรศักดิ์ นักธรรม” ซึ่งเป็นคนรู้จักของนิรุตต์ซึ่งประกอบอาชีพเป็นช่างภาพเหมือนกัน จิรศักดิ์บอกกับนิรุตต์ว่ารู้จักกับจำเลย และได้ให้รายละเอียดข้อมูลส่วนตัวของจำเลยไว้
 
ในช่วงตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน นิรุตต์เบิกความว่า “เพจจันทบุรี” ไม่ได้เปิดต่อสาธารณะ แต่เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาโดยมีสมาชิกของกลุ่ม ผู้ที่จะเข้าไปดูในเพจดังกล่าวได้ต้องเป็นสมาชิกและได้รับการอนุญาตให้เข้าไปดูก่อน จึงจะเข้าไปไปดูเนื้อหาในกลุ่มได้ ส่วนกระทู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าว จำเลยเพียงเข้าไปแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ผู้ที่ตั้งกระทู้เอง ทั้งนี้มีผู้ที่เข้าไปแสดงคิดเห็นจำนวนหลายคน รวมถึงพยานด้วย แต่มีเพียงจำเลยที่แสดงความคิดเห็นในเชิงลบ ส่วนการที่ตนไปร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนนั้นเป็นการระบุถึงการหมิ่นประมาทกษัตริย์รัชกาลที่เก้าเพียงพระองค์เดียว
 
พนักงานอัยการถามติง นิรุตต์เบิกความตอบกลับว่า การเข้าไปดูกลุ่มเฟซบุ๊ก “เพจจันทบุรี” ได้นั้นจะต้องเป็นสมาชิกของกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าวเท่านั้น โดยวิธีการเป็นสมาชิกมีสองวิธี คือ ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มนั้น ต้องกดคำขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก และต้องได้รับความยินยอมจากสมาชิกเดิมให้เข้าร่วมได้ และอีกวิธีหนึ่งคือการที่สมาชิกของกลุ่ม กดชวนให้เข้าไปเป็นสมาชิก
 
o พยานโจทก์ปากที่ 2 – ร.ต.อ.พิชิต สายกระสุน (พนักงานสอบสวน สภ.เมืองจันทบุรี)
 
ร.ต.อ.พิชิต เบิกความว่า ในคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 เวลา 15.45 น. นายนิรุตต์ แก้วเจริญ ได้มาแจ้งความร้องทุกข์กับ ร.ต.อ.วินิจ สิมะลิ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเวร เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นลงในกลุ่มเฟซบุ๊กหนึ่งเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในลักษณะหมิ่นประมาทรัชกาลที่เก้า ซึ่งขณะนั้นนิรุตต์ยังไม่ได้ระบุว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นผู้ใด
 
ต่อมา ร.ต.อ.วินิจ ได้สอบปากคำนิรุตต์ โดยเขาได้ระบุตัวตนของจำเลยด้วยการระบุว่าภาพโปรไฟล์บนบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลย ตรงกันกับรูปภาพในข้อมูลทะเบียนราษฎรของจำเลยที่พนักงานสอบสวนหามาได้ นอกจากนี้ ร.ต.อ.วินิจ ยังได้สอบปากคำ “จิระศักดิ์ นักธรรม” ซึ่งรู้จักกันกับจำเลยและยืนยันตัวจำเลยได้
 
ต่อมา พนักงานสอบสวนทั้งสองคนได้ย้ายไปรับราชการที่อื่น และ ร.ต.อ.พิชิต ได้มารับสำนวนคดีแทน จากนั้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ตนได้ออกหมายเรียกให้จำเลยมาพบ และทำการแจ้งข้อกล่าวหา หลังจากนั้นพยานได้รวบรวมพยานหลักฐานและมีความเห็นสั่งฟ้อง ก่อนส่งสำนวนคดีต่อให้พนักงานอัยการ ต่อมาพนักงานอัยการเห็นว่าควรแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
 
ขณะแจ้งข้อกล่าวหา จำเลยมีอายุ 18 ปีเศษ การสอบปากคำในวันที่ 11 สิงหาคม 2563 จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีเจตนาดูหมิ่นกษัตริย์” และบอกว่าเป็นเพียงการลงข้อความในลักษณะตั้งคำถาม แต่ปรากฏว่ามีผู้อื่นมาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อจากจำเลยจนเกิดความขัดแย้งขึ้น โดยจำเลยยังระบุโดยเชื่อว่าเหตุของคดีนี้ ผู้กล่าวหามีปัญหาโกรธเคืองกับตนเอง เนื่องจากความคิดเห็นไม่ตรงกัน ผู้กล่าวหาจึงได้ไปร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดี นอกจากนี้ จำเลยยังระบุว่าเมื่อเห็นว่าข้อความนั้นไม่เหมาะสม จึงได้ดำเนินการลบความคิดเห็นนั้นออกไปแล้ว
 
ร.ต.อ.พิชิต เบิกความอีกว่า ในการแจ้งข้อกล่าวหาและทำสำนวนส่งฟ้องครั้งที่สองนั้น ตนเห็นว่าข้อความที่จำเลยโพสต์ลงในกลุ่ม “เพจจันทบุรี” นั้น เป็นข้อความจาบจ้วงและใส่ความรัชกาลที่เก้า โดยกล่าวหาว่าพระองค์นำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาทำให้ประชาชนหลงเชื่อ แม้ว่าท่านจะเสด็จสวรรคตไปแล้ว แต่พยานก็มีความเห็นว่าการกระทำของจำเลย ยังเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
 
ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานว่า มีความเห็นของอาจารย์ทางกฎหมายหลายท่านเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้แก่ หยุด แสงอุทัย, จิตติ ติงศภัทิย์, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, สาวตรี สุขศรี และ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งได้ให้ความเห็นว่า “มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลสี่ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์, พระราชินี, รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยบุคคลดังกล่าวต้องยังมีชีวิตอยู่และดำรงตำแหน่งดังกล่าว หากพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะจากการสวรรคตหรือสละราชบัลลังก์ จะถือว่าไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 112”
 
ร.ต.อ.พิชิต เบิกความว่า แม้จะมีความเห็นทางวิชาการดังกล่าว แต่การกระทำของจำเลยเป็นการจาบจ้วงหรือหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ จึงเห็นสมควรสั่งฟ้องจำเลยในข้อหานี้ จากนั้น ทนายจำเลยถามพยานว่า “หากมีผู้หมิ่นประมาทใส่ความ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” แล้วมีผู้นำข้อความดังกล่าวมาแจ้งความให้ดำเนินคดี พยานจะดำเนินคดีหรือไม่” พยานระบุว่าไม่ขอตอบ
 
หลังจบการเบิกความของ ร.ต.อ.พิชิต พนักงานอัยการแถลงว่า มีความประสงค์ที่จะสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก จำนวนสามปาก ซึ่งได้แก่ นายจิรศักดิ์ นักธรรม ผู้ให้การยืนยันตัวตนของจำเลย, พ.ต.ท.ประเชิญ และ ร.ต.อ.วินิจ พนักงานสอบสวน แต่หากฝ่ายจำเลยยอมรับพยานโจทก์ทั้งสามได้ โจทก์จะไม่ติดใจสืบพยาน จากนั้น เมื่อฝ่ายจำเลยได้ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับพยานโจทก์ทั้งสามปากแล้ว จึงได้แถลงยอมรับข้อเท็จจริง โจทก์จึงไม่ติดใจสืบพยานบุคคลทั้งสามปากดังกล่าว ทำให้การสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น
 
o พยานจำเลย – จรัส 
 
จรัสเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนมีอายุ 18 ปีเศษ ศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน จังหวัดจันทบุรี โดยเหตุในคดีนี้เกิดขึ้นในกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มปิด ที่ชื่อ “เพจจันทบุรี” ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้เป็นเจ้าของกลุ่มหรือผู้ดูแลก่อน จึงจะเข้าเป็นสมาชิกได้ พยานยืนยันว่ากลุ่มดังกล่าวไม่ใช่กลุ่มสาธารณะ ผู้ที่จะเห็นข้อความได้ จะต้องเป็นสมาชิกของกลุ่ม
 
วันเกิดเหตุในคดีนี้ ประมาณวันที่ 6-7 เมษายน 2563 ขณะที่ตนกำลังเล่นเฟซบุ๊กในโทรศัพท์มือถือได้พบว่าเจ้าของกลุ่มเฟซบุ๊ก “เพจจันทบุรี” โพสต์ข้อความว่า “ขณะนี้ติดเชื้อโรคระบาดควรปรับใช้เศรษฐกิจพอเพียงกับการดำเนินชีวิต” ตนจึงเข้าไปแสดงความคิดเห็น โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง จากนั้นก็มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหลายคนในลักษณะด่าว่าและเสียดสี ทั้งที่เป็นการตั้งคำถามกับเจ้าของโพสต์เท่านั้น
 
จากนั้น นิรุตต์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและลงข้อความในกลุ่มดังกล่าวด้วย โดยมีหลายข้อความที่ด่าว่าและเสียดสี จนทำให้ตนรู้สึกโกรธและขาดสติจึงได้ลงข้อความตามที่โจทก์ได้ฟ้องในคดีนี้ เมื่อได้สติแล้วก็พูดคุยปรึกษากับเพื่อน จึงลงความเห็นว่าการกระทำของตนเองไม่เหมาะสมจึงได้ลบข้อความคอมเมนต์แรกออกไป เป็นเหตุให้ข้อความอื่นๆ หายไปจากกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าวด้วย พร้อมระบุว่า นิรุตต์โต้เถียงกับพยานในกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าวหลายข้อความ ทำให้ตนเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้นิรุตต์โกรธเคืองพยาน จนไปแจ้งความดำเนินคดีในครั้งนี้
 
จรัสเบิกความยืนยันว่า “เจตนาเพียงจะตั้งคำถามเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาจะหมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้ายในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่อย่างใด” และเบิกความอีกว่า “สาเหตุที่ต่อสู้ในคดีนี้เนื่องจากโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นสูงเกินไป ไม่สอดคล้องกับการกระทำของตน”
 
จรัสยอมรับว่าข้อความที่ตนเองโพสต์ลงในกลุ่มเพจจันทบุรีนั้นอาจไม่เหมาะสมอยู่บ้าง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เห็นว่าเป็นบทมาตราที่รุนแรงเกินกว่าการกระทำ พยานจึงยืนยันให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดีจนถึงที่สุด
 
พนักงานอัยการถามค้าน จรัสได้เบิกความตอบกลับว่า ขณะโพสต์ข้อความหรือแสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊กเพจจันทบุรี ตนเองไม่ทราบว่าสมาชิกอยู่ในกลุ่มทั้งหมดเท่าใด การที่ตนเองลบข้อความนั้น กระทำไปโดยไม่มีผู้ใดสั่งการ แต่ทำไปเพราะรู้สึกสำนึกผิดในการกระทำของตนเอง ซึ่งควรจะพูดจาโต้ตอบในลักษณะที่ดี ไม่ขัดแย้งกัน และไม่ควรโต้ตอบผู้ที่เสียดสี พร้อมยืนยันว่าการลบข้อความต้นเหตุนั้นไม่ใช่เพราะเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด
 
ในตอนท้าย จรัสยังได้เบิกความว่า ตามที่ได้อ้าง ผศ.สาวตรี สุขศรี เข้าเป็นพยานในคดีนี้นั้น ตนเองได้ส่งบทความฎีกาวิเคราะห์ตามเอกสารที่ยื่นต่อศาลแล้ว จึงไม่ได้ขอให้พยานนักวิชาการ มาเบิกความอีก โดยความเห็นดังกล่าวยืนยันว่ามาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น ไม่รวมถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตที่สวรรคตแล้ว
 
หลังจากสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลจึงยกเลิกนัดสืบพยานจำเลยที่กำหนดไว้เดิมในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00 น.
 
30 พฤศจิกายน 2564
นัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลชั้นต้นจังหวัดจันทบุรี พิพากษายกฟ้องจรัสในมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เนื่องจากเห็นว่า องค์ประกอบมาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น แต่ให้มีความผิดตามมาตรา 14 (1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พิพากษาจำคุกสองปี แต่ลดโทษให้เหลือจำคุกหนึ่งปีสี่เดือนและปรับเงิน 26,666.66 บาท ทั้งนี้ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้สองปี ให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติสี่ครั้งในหนึ่งปี กับให้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 12 ชั่วโมง  
 
ภายหลังอ่านคำพิพากษา ตำรวจศาลได้ควบคุมตัวจรัสไปยังห้องควบคุมตัว จากนั้นจรัสก็ถูกปล่อยตัวภายหลังทนายความและพ่อของเขาได้ดำเนินการชำระค่าปรับเป็นเงิน 26,666.66 บาท ซึ่งเป็นเงินส่วนตัวของครอบครัว
 
++ การต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ ++
 
9 มีนาคม 2565 
อัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ามาตรา 112 นั้นให้ความคุ้มครองถึงอดีตพระมหากษัตริย์ของไทยด้วย 
 
18 เมษายน 2565
ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ทนายจำเลยได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีเนื้อหาโดยสรุปว่า
 
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่เก้า พระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 แต่จำเลยขอยืนยันว่าตามมาตราดังกล่าวไม่ได้ให้ความคุ้มครองถึงอดีตพระกษัตริย์แต่อย่างใด โดยได้ให้เหตุผลประกอบที่สำคัญไว้ ดังนี้ 
 
1. “กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ภาคภาษาอังกฤษ” ซึ่งเป็นต้นร่างของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปัจจุบันนั้นได้กล่าวไว้ชัดเจนว่ามีเจตนารมณ์เพื่อที่จะให้ความคุ้มครองแก่พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และสี่บุคคลดังกล่าว หมายถึง บุคคลที่ยังมีสภาพบุคคล (มีชีวิต) และยังดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาที่มีการกล่าวหาว่ากระทำความผิดเท่านั้น
 
2. มาตรา 112 กำหนดการกระทำที่เป็นความผิดไว้สามประการ ได้แก่ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ซึ่งลักษณะการกระทำทั้งสามประการจะเกิดขึ้นและเป็นความผิดได้ก็ต่อเมื่อกระทำต่อพระมหากษัตริย์ที่ยังมีพระชนม์อยู่เท่านั้น โดยเฉพาะ “อาฆาตมาดร้าย” ซึ่งหมายถึง การขู่เข็ญโดยแสดงออกด้วยกิริยา หรือวาจาในอนาคต หรือในภายหน้าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือทำให้เสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ทรัพย์สิน เช่น การขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย หรือจะปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ เป็นต้น ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นกับพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วได้เลย
 
3. ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายท่าน ยกตัวอย่างเช่น หยุด แสงอุทัย และจิตติ ติงศภัทิย์ มีความเห็นว่า “พระมหากษัตริย์” ตามกฎหมายนั้น หมายถึง องค์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะที่มีการกระทำความผิด ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ที่ทรงสละราชบัลลังก์แล้วหรือพระมหากษัตริย์ในอดีต
 
4. ในหลวงรัชกาลที่เก้า ได้เสด็จสวรรคตไปแล้วตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะลงข้อความตามคำฟ้องในเฟซบุ๊ก การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ฉะนั้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
 
5. การตีความและขยายความมาตรา 112 ให้ครอบคลุมไปถึงอดีตพระมหากษัตริย์ที่ทรงสวรรคตไปแล้วนั้นย่อมจะเกิดความไม่ชัดเจนแน่นอนในองค์ประกอบความผิด และเกิดความแปลกประหลาดในทางกฎหมาย เกิดความปั่นป่วนในแวดวงการศึกษาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องหลายประการ
 
ตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาข้างต้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ได้ยกฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นั้น จึงถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น จำเลยจึงขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหาดังกล่าวตามศาลชั้นต้นด้วย
 
22 พฤศจิกายน 2565 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ผู้พิพากษาเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เวลาประมาณ 09.45 น. ให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 19 ปี ลดโทษจำคุกสองปี ทั้งนี้คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ให้ลดโทษ จำคุกหนึ่งปีสี่เดือน แต่ให้รอลงโทษสองปี กับให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
o ความผิดตามมาตรา 112 ศูนย์ทนายฯ สรุปคำพิพากษาไว้ดังนี้
 
ศาลพิพากษาว่าจรัสไม่มีความผิด โดยประเด็นที่ใช้วินิจฉัยนั้น ได้แก่ การตีความคำว่า “พระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา 112 นั้นหมายถึง พระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ขณะที่กระทำความผิด ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ในอดีตที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว โดยรัชกาลที่เก้าได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จรัสจะลงข้อความที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง การกระทำของจรัสจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเป็นการกระทำต่อ “อดีตพระมหากษัตริย์” ซึ่งสวรรคตไปแล้ว 
 
o ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศูนย์ทนายฯ สรุปคำพิพากษาไว้ดังนี้
 
ศาลพิพากษาในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) จากการลงข้อความในกลุ่มเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “เพจจันทบุรี” ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนตัว ข้อความและกิจกรรมไม่ได้เปิดเผยเป็นสาธารณะ ทั้งนี้ ศาลได้ระบุว่าขณะเกิดเหตุกลุ่มดังกล่าวมีสมาชิกจำนวนมากถึง 196,447 คน ถือเป็น “ประชาชนกลุ่มหนึ่ง”
 
ศาลเห็นว่า ข้อความดังกล่าวปราศจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ ขาดความระมัดระวังและยับยั้งชั่งใจ ลักษณะของข้อความย่อมกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของผู้ที่พบเห็นหรือประชาชนทั่วไปอันจะนำไปสู่ความไม่พอใจ และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้ ศาลจึงเห็นว่าโพสต์ของจำเลยเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนโดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน แต่ยังไม่ถึงขนาดเป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
 
ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 19 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา 76 เหลือจำคุกสองปี และปรับ 40,000 บาท รวมทั้งคำให้การชั้นสอบสวนและคำนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุให้บรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกหนึ่งปีสี่เดือน และปรับเงิน 26,666.66 บาท 
 
นอกจากนี้ จำเลยเป็นนักศึกษาอายุยังน้อย และเพิ่งกระทำความผิดคดีนี้เป็นครั้งแรก เห็นสมควรให้จำเลยได้กลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกของจำเลยให้รอการลงโทษไว้สองปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติสี่ครั้ง ภายในระยะเวลากำหนดหนึ่งปี กับให้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เป็นระยะเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ข้อหาอื่นให้ยก
 
 
สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ศาลอุทธรณ์จังหวัดจันทบุรี พิพากษาว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังครองราชย์อยู่ในขณะกระทำความผิดหรือไม่ รวมทั้งไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ที่ถูกกระทำจะต้องยังครองราชย์ เมื่อพิจารณาดูบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่าแม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท เพียงพระองค์เดียว ย่อมมีผลกระบทต่อความมั่นคงของประเทศ
 
ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งถึงระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังได้รับความเคารพสักการะให้ทรงเป็นประมุขของประเทศหรือจอมทัพไทย กฎหมายที่ผ่านสภาโดยฝ่ายนิติบัญญัติ การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญไม่ว่าจะเป็น คณะรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง
 
การดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์กระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์จะสืบทอดสันตติวงศ์ตามสายพระโลหิตติดต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรีตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต้นราชวงศ์จนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะ รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือบุคคลใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องไม่ได้
 
ด้วยเหตุนี้การที่มาตรา 112 มิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แม้จะกระทำต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่
 
การที่จำเลยกล่าวถึงพาดพิงถึงเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวทางพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ด้วยข้อความมิบังควร ลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นนั้น พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของรัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน หากตีความมาตรา 112 ว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้
 
ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปว่า ประชาชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนาน แม้พระมหากษัตริย์จะสวรรคตไปแล้วก็ยังมีพิธีวางพวงมาลาในทุกๆ ปี ในวันคล้ายวันสวรรคตของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ มีการร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ มีการประกอบพิธีสำคัญ มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี มีการประดับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไว้บนที่สูงเพื่อสำนึกถึงพระมหากรุณาคุณ
 
ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่เป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นรัชกาลที่เก้า ด้วยข้อความที่มิบังควร จึงเป็นความผิดตามมาตรา 112 ทั้งการกระทำดังกล่าวของจำเลยยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน อาจนำไปสู่ความไม่พอใจและกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 วรรค 1 อนุมาตรา 3 ด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 19 ปี ลดโทษ หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 76 จำคุกสองปี คำในการในชั้นสอบสวนกับนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ในการพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกหนึ่งปีสี่เดือน 
 
นอกจากนี้ขณะที่กระทำความผิดจำเลยเป็นนักศึกษาอายุยังน้อย และเพิ่งกระทำความผิดคดีนี้เป็นครั้งแรกเห็นสมควรให้จำเลยมีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงให้รอลงโทษไว้สองปีนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และคุมความประพฤติจำเลยไว้โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติสี่ครั้งภายในหนึ่งปี กับให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา