สายน้ำ : พ่นสีสเปรย์บนพระบรมฉายาลักษณ์ ร. 10

อัปเดตล่าสุด: 03/04/2566

ผู้ต้องหา

สายน้ำ (เยาวชน)

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

สายน้ำถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ใช้กระดาษที่มีข้อความว่า “CANCEL LAW 112” ปิดทับบนพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่สิบ บริเวณพระพักตร์และข้อความว่า และนำป้ายข้อความว่า “เอาช่วงเวลาชีวิกพวกกูคืนมา” ปิดทับบนพระบรมฉายาลักษณ์ ใช้สเปรย์สีดำพ่นทับข้อความว่า “ทรงพระเจริญ” และพ่นทับพระบรมฉายาลักษณ์เป็นข้อความหยาบคาย รวมทั้งการเผาสิ่งของที่ใช้ประดับพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครใกล้แยกนางเลิ้ง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 
 
พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้งสืบสวนจนทราบว่า ผู้กระทำคือสายน้ำจึงยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้ออกหมายจับ ศาลเห็นตามคำร้องออกหมายจับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 อย่างไรก็ตามตำรวจยังไม่ได้จับกุมสายน้ำในทันที
 
วันที่ 24 กรกฎาคม 2564 สายน้ำเข้าแสดงตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้งด้วยตนเอง จากนั้นตำรวจจึงแสดงหมายจับและเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางปล่อยตัวชั่วคราวสายน้ำเรื่อยมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนของตำรวจ คดีนี้มีทั้งข้อหามาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์และฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในชั้นศาลพิจารณาเป็นการลับเนื่องจากเป็นคดีเยาวชน

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สายน้ำ เป็นชื่อเล่นของนักเคลื่อนไหวเยาวชน ขณะเกิดเหตุในคดีนี้อายุ 17 ปี เริ่มต้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อวิพากษ์ระบบการศึกษาไทย ก่อนจะมาเป็นทีมการ์ดให้กับกลุ่ม "แนวร่วมศาลายาเพื่อประชาธิปไตย" ก่อนเกิดเหตุคดีนี้สายน้ำเคยถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแต่งกายด้วยเสื้อครอปท็อป (Crop Top) ร่วมกิจกรรมที่สื่อสารตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217, 358

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องอธิบายโดยสรุปว่า วันที 18 กรกฎาคม 2564 จำเลยกระทำความผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน แบ่งเป็นการเข้าร่วมชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคและการกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 
 
 
๐ การชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค 
 
จำเลยจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มากกว่าห้าคน และชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กิจกรรมชื่อว่า “ทวงคืนประเทศ ขับไล่ปรสิต” เพื่อเรียกร้องแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยการชุมนุมไม่มีการจัดมาตรการป้องกันโควิด 19 ไม่มีการจัดให้เว้นระยะห่างอย่างน้อยหนึ่งเมตร ไม่มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อใช้เป็นการทั่วไป และจัดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
 
๐ การกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10
 
ที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร บริเวณคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ใกล้แยกนางเลิ้ง จำเลยใช้กระดาษที่มีข้อความว่า “CANCEL LAW 112” ”ปิดทับบนพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่สิบบริเวณพระพักตร์และข้อความว่า และป้ายข้อความว่า “เอาช่วงเวลาชีวิกพวกกูคืนมา” ปิดทับบนพระบรมฉายาลักษณ์ ใช้สเปรย์สีดำพ่นทับข้อความว่า “ทรงพระเจริญ” และพ่นทับพระบรมฉายาลักษณ์เป็นข้อความหยาบคาย นอกจากนี้ยังเผาผ้าประดับสีเหลืองและสีขาวและพานพุ่มพร้อมกรวยธูปเทียน แพรถวายพระพร ซึ่งใช้ในการประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ความเสียหายรวมเป็นเงิน 2,950 บาท ซึ่งพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวทางราชการได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี เป็นการเฉลิมพระเกียรติ เชิดชูเกียรติเทิดทูนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐและทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย
 
การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่สมควร แสดงออกโดยประการที่จะสร้างความเสียหาย เช่น ทรัพย์สินหรือชื่อเสียงเกียรติคุณ อันไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกติ เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทำให้รัชกาลที่สิบ “ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น หมิ่นพระเกียรติ ถูกลบหลู่ และมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของปวงชนชาวไทย ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้” 
 
ในคำฟ้องของพนักงานอัยการขอให้ศาลลงโทษจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกมาเพื่อควบคุมโรคระบาดโควิด19 ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา112, วางเพลิงเผาทรัพย์สินของผู้อื่น ตามมาตรา 217 และทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

จำเลยเข้ารายงานตัวต่อตำรวจเอง

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
 
18 กรกฎาคม 2564 
 
เวลา 14.00 น. เยาวชนปลดแอกนัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเคลื่อนตัวไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาลาออกจากตำแหน่ง, ลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์และกองทัพเพื่อนำมาสู้โควิด และจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA รูปขบวนแบ่งเป็นกลุ่มการ์ดกรุยทาง, ขบวนเดินเท้า, ขบวนมอเตอร์ไซด์และขบวนรถยนต์ โดยขบวนเริ่มตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยาวไปจนถึงกองสลากเก่าฯ ผู้ชุมนุมมีการแจกอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 เช่น หน้ากากอนามัยและเฟซชิลด์
 
เวลา 15.10 น. ขบวนเคลื่อนตัวและยืนยันที่จะเดินไปทางถนนราชดำเนินนอก แต่ไม่สามารถผ่านไปได้เนื่องจากตำรวจตั้งแถวและวางรั้วเหล็กขวางไว้ ที่บริเวณแยกสะผานผ่านฟ้าฯและบริเวณใกล้กับสำนักงานสปก. จากนั้นมีการประกาศเตือนให้ออกจากแนวและย้ำอย่างต่อเนื่องถึงการดำเนินการที่ได้สัดส่วน ผู้ชุมนุมยังยืนยันไปต่อและเริ่มเก็บลวดหนามชั้นแรก เวลา 15.38 น. ตำรวจเริ่มใช้รถฉีดน้ำครั้งแรกโดยมีการเตือนก่อน ระหว่างนั้นมีผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บ เมื่อตรวจสอบแผลทีมพยาบาลยืนยันว่า เป็นบาดแผลจากกระสุนยาง ทั้งที่ขณะนั้นยังไม่มีการเตือนเรื่องกระสุนยาง 
 
ตำรวจประกาศจะใช้แก๊สน้ำตา หากไม่หยุดฝ่าเข้ามา และเริ่มใช้แก๊สน้ำตาครั้งแรกเวลา 16.10 น.  จากนั้นเวลา 16.11 น. ตำรวจประกาศว่า "ต่อไปเป็นการใช้กระสุนยาง" หนึ่งนาทีต่อมาตำรวจยิงกระสุนยางต่อเนื่อง เมื่อตำรวจใช้กระสุนยางหนักขึ้น บอย-ธัชพงศ์ แกดำประกาศเปลี่ยนเส้นทางการเดินขบวนไปทางถนนนครสวรรค์เข้าแยกนางเลิ้งแทน ซึ่งเมื่อผู้ชุมนุมเดินเท้าต่อไปถึงแยกนางเลิ้งก็ยังไม่สามารถผ่านเข้าไปที่ทำเนียบรัฐบาลได้ เนื่องจากตำรวจตั้งแนวสิ่งกีดขวางอย่างแน่นหนามีลวดหนาม 2 ชั้นบริเวณพาณิชย์พระนคร และที่แนวศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์มีการใช้รถตู้ตำรวจ รถผู้ต้องขังใหญ่ขวางไว้ ด้านหลังมีรถฉีดน้ำและตู้คอนเทนเนอร์บนสะพานชมัยมรุเชฐ
 
การ์ดพยายามที่จะฝ่าแนวที่ศาลกรมหลวงชุมพรฯ แต่เมื่อเข้าไปใกล้ ตำรวจจะยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำสกัดเป็นระยะ ทำให้ไม่สามารถฝ่าเข้าไปได้ ท้ายสุดเวลาประมาณ 18.00 น. ผู้จัดฯตัดสินใจทำกิจกรรมที่แยกนางเลิ้ง เป็นการเผาหุ่นศพผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 และกิโยติน พร้อมร้องเพลง Do you hear the people sing? ในตอนท้ายฟ้า-พรหมศร วีระธรรมจารีกล่าวว่า ประชาชนจะต้องได้วัคซีนที่ดี และเราจะไม่ต้องเป็นทาสอีกต่อไป จากนั้นยุติกิจกรรมในเวลา 18.30 น. นอกจากการเผาหุ่นที่แยกนางเลิ้งแล้วยังมีการเผาที่หน้าพาณิชย์พระนคร, หน้าธกส. และหน้าวัดโสมนัสวรวิหาร
 
เวลา 18.50 น. ทีมงานเยาวชนปลดแอกประกาศต่อเนื่องให้มวลชนกลับทางยมราช แต่ยังมีผู้ชุมนุมหลงเหลืออยู่ เวลานี้แนวปะทะที่ศาลกรมหลวงชุมพรฯสงบลงแล้ว เปลี่ยนมาที่แยกเทวกรรมแทน จากนั้นเมื่อผู้ชุมนุมไม่ถอยตำรวจประกาศจะจับกุมและใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาต่อเนื่อง รุกไล่ผู้ชุมนุมมาทางแยกนางเลิ้ง จนถึงเวลา 19.30 น. ยังมีมวลชนหลงเหลือที่แยกนางเลิ้ง ต่อมาเวลา 21.00 น. ตำรวจแถลงข่าวชี้แจงว่า มีการจับกุมตัวผู้ชุมนุมในที่เกิดเหตุ 13 คน
 
อ่านรายละเอียดทั้งหมด : https://www.mobdatathailand.org/case-file/1626583327054/
 
 
24 กรกฎาคม 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า สายน้ำ พร้อมด้วยผู้ปกครองและผู้ไว้วางใจเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ต่อมาพนักงานสอบสวนแสดงหมายจับออกโดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ที่ 21/2564 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2564  ตำรวจอนุญาตให้ผู้ปกครอง ผู้ไว้วางใจ และที่ปรึกษากฎหมาย  รวมถึงผู้สังเกตการณ์จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เข้าร่วมกระบวนการในห้องสอบสวนได้ 
 
ก่อนเริ่มกระบวนการตำรวจแจ้งว่า การสอบสวนในวันนี้จะทำโดยพนักงานสอบสวนกับเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ ส่วนพนักงานอัยการ ตำรวจได้ส่งหนังสือขอให้อัยการมาร่วมการสอบสวนแต่พนักงานอัยการระบุว่า ไม่สะดวกมาเข้าร่วม ในวันนี้พนักงานสอบสวนจึงได้ประสานไปที่อัยการอีกครั้ง ก่อนแจ้งที่ปรึกษากฎหมายของสายน้ำว่า อธิบดีอัยการมีคำสั่งให้ยกเว้นการสอบปากคำเยาวชนในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ยกเว้นมีเหตุเร่งด่วน ซึ่งหากอัยการจะมาร่วมสอบสวนในวันนี้จะสามารถมาได้เวลา 13.00 น. ทำให้ผู้ปกครองของสายน้ำตัดสินใจไม่ขอให้มีอัยการเข้าร่วมด้วย เกรงว่า กระบวนการสอบสวนล่าช้าไปจนถึงช่วงบ่าย ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการขอประกันตัวในชั้นศาล
 
ในชั้นนี้จึงขอให้มีแค่ที่ปรึกษากฎหมาย ผู้ปกครอง และนักจิตวิทยา อยู่ร่วมในการแจ้งข้อกล่าวหา และสอบคำให้การ พฤติการณ์ที่เป็นเหตุในการออกหมายจับของคดีนี้คือ วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 หลังจากยุติชุมนุม พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐาน ตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 บริเวณข้างตู้เอทีเอ็ม ธนาคารกรุงเทพ หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น แปะข้อความว่า “CANCEL LAW 112” ทับที่บริเวณพระพักตร์ และมีสีสเปรย์สีดําพ่นทับพระบรมฉายาลักษณ์ด้วยคําด่า พบกระดาษแปะไว้ที่บนพระบรมฉายาลักษณ์เขียนด้วยลายมือ ข้อความว่า “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” และพบร่องรอยไฟไหม้ผ้าสีเหลืองที่ใช้ประดับพระบรมฉายาลักษณ์
 
เวลา 15.30 น. หลังพนักงานสอบสวนนำตัวสายน้ำไปให้ศาลตรวจสอบการจับกุม และยื่นคำร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน ศาลได้ตรวจสอบการจับกุม  โดยสอบถามพนักงานสอบสวนและสายน้ำ ซึ่งได้แถลงว่าได้ดำเนินการจับกุมโดยชอบ สายน้ำยังได้แถลงต่อศาลเพิ่มเติมว่า เขา ได้มามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเอง
 
ต่อมาศาลมีคำสั่งว่า การจับกุมสายน้ำเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และอนุญาตให้ควบคุมตัวสายน้ำตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ  ก่อนให้ประกันในวงเงินประกัน 20,000 บาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ 
 
อ้างอิง : https://tlhr2014.com/archives/32688
 
 
 
29 ตุลาคม 2564 
 
อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง
 
 
 
1 กุมภาพันธ์ 2565 
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการโจทก์แถลงติดใจสืบพยานทั้งหมด 24 ปาก ในจำนวนนี้เป็นพยานความเห็นจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ถึง 14 ปาก โดยจำเลยยอมรับพยานปากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำบันทึกจับกุมในวันที่จำเลยเข้ามอบตัวที่ สน.นางเลิ้ง โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องนำพยานปากนี้เข้าสืบ  ฝ่ายโจทก์จึงเหลือพยานนำสืบทั้งหมด 23 ปาก ศาลเยาวชนฯ อนุญาตให้โจทก์ใช้เวลาสืบพยานจำนวน 6 นัด ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลย (ทนายความ) แถลงขอนำสืบพยานฝ่ายจำเลยรวม 8 ปาก
 
อ้างอิง : https://tlhr2014.com/archives/40159
 
 
 
1-2, 14-15 กันยายน 2565
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ตามพ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 108 ให้พิจารณาคดี "เป็นการลับ" เป็นหลักทุกคดี ทำให้ผู้สังเกตการณ์เข้าสังเกตการณ์คดีไม่ได้
 
 
28-30 กันยายน 2565
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
เนื่องจากการถามค้านพยานโจทก์ใช้เวลาล่วงเลยมาในวันนัดสืบพยานจำเลยด้วย ทำให้การสืบพยานจำเลยตามที่นัดไว้ไม่แล้วเสร็จ และศาลเยาวชนฯ จึงให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยอีกสองนัดในวันที่ 23 ธันวาคม 2565 และ 28 ธันวาคม 2565
 
 
 
23 ธันวาคม 2565
 
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นัดสืบพยานจำเลย โดยในวันนี้ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความสองปาก สายน้ำ ตัวจำเลยขึ้นเบิกความเป็นพยานปากแรก โดยยอมรับว่า ในวันเกิดเหตุได้ไปร่วมการชุมนุมจริง ตามที่ปรากฏในภาพถ่ายของตำรวจฝ่ายสืบสวน โดยร่วมเดินขบวนไปถึงแยกผ่านฟ้า เมื่อถูกฉีดน้ำและแก๊สน้ำตา รู้สึกไม่สบายจึงเดินทางกลับบ้านก่อนโดยไม่ได้ร่วมเดินขบวนไปถึงแยกนางเลิ้งด้วย ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณใกล้แยกนางเลิ้งนั้นไม่เป็นความจริง เพราะเวลาที่เกิดเหตุได้เดินทางถึงบ้าน อาบน้ำพักผ่อนแล้ว ส่วนถ่ายในที่เกิดเหตุที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภาพของสายน้ำนั้น สายน้ำปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง
 
พยานอีกปากหนึ่ง คือ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากไอลอว์ ซึ่งไปร่วมการชุมนุมในวันดังกล่าวมายืนยันเหตุการณ์การปะทะกันที่บริเวณแยกผ่านฟ้า และเบิกความถึงเพจเฟซบุ๊กชื่อ ปราชญ์สามสี ซึ่งเป็นเพจเฟซบุ๊กที่โพสภาพถ่ายและกล่าวหาว่า สายน้ำเป็นคนกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ โดยอธิบายว่า ปัจจุบันมีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่เพจนี้ร่วมกับอีกหลายบัญชีทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จใส่ร้ายผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง
 
หลังการสืบพยานจำเลยทั้งสองปากเสร็จสิ้นในช่วงบ่าย ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานเพิ่มเติม และศาลเยาวชนฯ นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 30 มีนาคม 2566
 
นัดฟังคำพิพากษา
30 มีนาคม 2566
 
 
เวลา 10.45 น. ศาลออกนั่งพิจารณา ก่อนอ่านคำพิพากษา “สายน้ำ” ได้ยื่นคำร้องประสงค์ขอให้บุคคลภายนอกร่วมเข้าฟังคำพิพากษาจำนวนหนึ่ง ด้านศาลชี้แจงว่า ตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าฟังคำพิพากษา ขอให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปรอด้านนอก 
 
พร้อมกันนี้ศาลชี้แจงว่า ศาลตัดสินคดีนี้อย่างเป็นธรรม ใช้ดุลยพินิจอย่างอิสระ ไม่มีใครมีอำนาจเหนือศาล และตลอดการพิจารณาคดีก็ให้ความเป็นธรรมกับจำเลยตลอด ต่อให้มีบุคคลภายนอกหรือไม่มีเข้าร่วมฟังคำพิพากษา ก็ไม่ได้ทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด 
 
เมื่อ “สายน้ำ” ได้รับฟังเช่นนั้น จึงลุกขึ้นยืนแถลงต่อศาล ยืนยันจะขอให้เพื่อนที่เดินทางมาร่วมให้กำลังใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษา พร้อมแสดง “อารยะขัดขืน” ด้วยการลงไปนั่งบนพื้นกลางห้องพิจารณาแล้วหันหลังให้ผู้พิพากษา โดยยืนยันว่า หากศาลไม่อนุญาตให้เพื่อนเข้าฟังก็จะขอนั่งหันหลัง ไม่ให้ศาลเห็นใบหน้าเช่นนี้ต่อไป ตลอดการฟังคำพิพากษา
 
เมื่อศาลเห็นพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลย ศาลก็ได้ชี้แจงกับสายน้ำว่า การกระทำดังกล่าวไม่เรียบร้อยเหมาะสม ไม่เคยมีใครนั่งฟังคำพิพากษาในลักษณะนี้มาก่อน จึงขอให้สายน้ำปรึกษาหารือกับที่ปรึกษากฎหมายให้ดีก่อน แต่จำเลยก็ยืนยันที่จะแสดงอารยะขัดขืนต่อไป ทำให้ศาลต้องขอเวลาปรึกษากับองค์คณะผู้พิพากษา
 
เวลา 11.12 น. ศาลกลับมานั่งพิจารณาอีกครั้ง พร้อมกับชี้แจงว่า เนื่องจากห้องพิจารณาคับแคบ ศาลจึงจะอนุญาตให้ประชาชนบางส่วนเข้ามาร่วมฟัง แต่จะต้องเก็บโทรศัพท์มือถือไว้ และให้เจ้าหน้าที่ศาลยืนยันตัวบุคคลที่มาร่วมเข้าฟังคำพิพากษาอย่างเคร่งครัด
 
จากนั้น ศาลได้อ่านคำพิพากษา โดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2
 
ในส่วนข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากพยานหลักฐานพบว่า จำเลยไปร่วมการชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกในวันเกิดเหตุจริง และในขณะนั้นมีการออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยพบว่าจำเลยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย และมีพฤติกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 
 
จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากขณะเกิดเหตุ จำเลยอายุ 17 ปี จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง ลงโทษปรับ 6,000 บาท และเนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษปรับ เหลือ 4,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
 
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 
จากพยานหลักฐานของโจทก์ ที่เป็นรูปภาพชายชุดดำกำลังทำอากัปกิริยาพ่นสีและจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นภาพที่เห็นเพียงด้านหลัง ไม่เห็นหน้าตา หรือด้านหน้าอย่างชัดเจน แม้รูปพรรณสัณฐานและเสื้อผ้าจะคล้ายกับจำเลยที่เข้าร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวก็ตาม อีกทั้งในวันดังกล่าวก็มีผู้ชุมนุมหลายคนที่แต่งกายในลักษณะเดียวกัน จึงไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้แน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่
 
ที่สำคัญภาพหลักฐานดังกล่าว เป็นภาพมาจากเพจเฟซบุ๊ก “ปราชญ์ สามสี” ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้มีการนำตัวผู้โพสต์ภาพดังกล่าวมาสอบสวนให้การ จึงมีเหตุให้สงสัยว่า ข้อมูลภาพดังกล่าวถูกต้องและน่าเชื่อถือหรือไม่
 
นอกจากนี้ในส่วนคำให้การของพยานความเห็นของโจทก์จากกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ เห็นว่า พยานโจทก์กลุ่มนี้ประสงค์จะเข้ามาให้การกับพนักงานสอบสวนตั้งแต่แรก และคำให้การในชั้นศาลที่เบิกความว่า ดูภาพเหตุการณ์ที่ถ่ายทอดสดการชุมนุม เห็นหน้าจำเลยตอนเปิดผ้าปิดปากออก เป็นการให้การเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งไม่ได้ปรากฏไว้ในคำให้การเดิมตั้งแต่ชั้นสอบสวนแต่อย่างใด จึงทำให้ยังมีเหตุเคลือบแคลงสงสัยต่อคำให้การดังกล่าว 
 
ในประเด็นเรื่องการตรวจสอบวัตถุพยาน ศาลรับฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานได้เก็บกระดาษ “CANCEL LAW 112” กับฝากกระป๋องสเปรย์ที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุไปเพื่อตรวจพิสูจน์ แม้จะมีการเก็บหลักฐานดังกล่าวไปตรวจลายนิ้วมือ แต่ไม่ได้มีการตรวจเทียบเคียงว่าใช่ลายนิ้วมือของจำเลยจริงหรือไม่ อีกทั้งคำให้การของพนักงานสอบสวนก็เบิกความสับสน ไม่อยู่ในร่องในรอย ไม่แน่ใจว่าได้ส่งตรวจเทียบเคียงหรือไม่ จึงไม่สามารถรับฟังได้ 
 
คดีจึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีความผิดจริงหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2
 
ในส่วนข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากพยานหลักฐานพบว่า จำเลยไปร่วมการชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกในวันเกิดเหตุจริง และในขณะนั้นมีการออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยพบว่าจำเลยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย และมีพฤติกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 
 
จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากขณะเกิดเหตุ จำเลยอายุ 17 ปี จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง ลงโทษปรับ 6,000 บาท และเนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษปรับ เหลือ 4,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา