1533 1402 1010 1367 1098 1009 1107 1853 1061 1132 1105 1448 1420 1011 1599 1229 1949 1822 1423 1226 1248 1547 1018 1142 1027 1550 1860 1300 1344 1472 1214 1074 1333 1121 1085 1277 1584 1690 1224 1681 1106 1385 1230 1245 1997 1516 1419 1374 1488 1509 1844 1907 1611 1029 1428 1087 1942 1501 1156 1746 1463 1364 1853 1635 1234 1913 1930 1505 1415 1376 1244 1378 1935 1358 1624 1244 1365 1970 1346 1559 1748 1658 1291 1218 1697 1551 1056 1128 1807 1082 1590 1519 1935 1174 1093 1863 1205 1518 1684 ปรากฏการณ์อาเซียน: การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตในยุคประชาธิปไตยโตบนโลกดิจิทัล | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ปรากฏการณ์อาเซียน: การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตในยุคประชาธิปไตยโตบนโลกดิจิทัล

เรื่องโดย เจเชนดร้า คารุนาคาเร็น

แปลโดย iLaw

 

การปราบปรามและจำกัดเสรีภาพการแสดงออก เกิดขึ้นในทุกประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความไม่พอใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศต่างๆ ถูกปิดกั้นอย่างรุนแรงโดยรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวกันทำกิจกรรม และการแพร่กระจายตัวอย่างรวดเร็วของความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาลบนโลกโซเชียลมีเดีย สำนักข่าวอิสระบนโลก และในสังคมชาวบล็อกเกอร์ ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็ได้เจอการตอบโต้เป็นการควบคุมสื่อออนไลน์ที่เข้มข้นขึ้น การดำเนินคดี และการข่มขู่คุกคาม
 
เกือบทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีกฎหมายหมิ่นประมาท และกฎหมายห้ามยุยงปลุกปั่น (sedition law) ซึ่งกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการแสดงออกบนโลกออนไลน์ในลักษณะวิจารณ์รัฐบาล และในบางประเทศ การพูดถึงประเด็นเชื้อชาติ และศาสนา ในลักษณะดูหมิ่นก็เป็นความผิดด้วย ช่วงระยะเวลาของโทษจำคุกอาจแตกต่างกัน ตั้งแต่จำคุกไม่กี่เดือน ไปจนถึงจำคุกนานที่สุด คือ 20 ปี กลไกการบังคับใช้กฎหมายในประเทศเหล่านี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ปิดเว็บไซต์ และเซ็นเซอร์เนื้อหาได้ หรือที่รู้จักกันว่า การ "บล็อค" ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ผลิตเนื้อหาบนโลกอินเทอร์เน็ตต่างต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานรัฐ และส่วนมากก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะความกลัวจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต ทั้งที่เกือบทุกประเทศยกเว้นบรูไนรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกไว้ในรัฐธรรมนูญ
 
บทความนี้เปรียบเทียบการกำหนดโทษในกฎหมาย และระบบการเซ็นเซอร์เนื้อหา ของหลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
 
 
662
 
 
ประเทศไทย
 
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยมติ 168 ต่อ 0 และ งดออกเสียง 4 เสียง ขณะที่เจตนารมณ์ของร่างกฎหมายนี้บอกว่า เพื่อป้องกันการฉ้อโกง การปลอมหน้าเว็บไซต์ (Phishing) แต่กลับเป็นที่สังเกตว่า ร่างกฎหมายใหม่นี้อาจจะถูกใช้เพื่อปิดปากการวิพากษ์วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดให้ การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เป็นความผิดที่มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท
 
ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันมีลักษณะลามกอนาจาร ข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ก็จะถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกัน ข้อจำกัดตามมาตรา 14 นี้ ถือได้ว่า อันตรายเนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐมีดุลพินิจที่จะตัดสินใจว่า ข้อความแบบใดกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ และบทกำหนดโทษที่รุนแรงเช่นนี้ยังใช้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอีกด้วย ตามที่เขียนไว้ในมาตรา 15 ส่งผลให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อจะได้ไม่ต้องถูกลงโทษ ทางเดียวที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะไม่ต้องถูกลงโทษก็คือการยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งให้ปิดกั้นหรือลบข้อมูลที่อาจจะ "เป็นภัย" ทั้งหลาย
 
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายที่เพิ่งแก้ไขใหม่ยังกำหนดให้มี "คณะกรรมการกลั่นกรอง" ขึ้นมาใหม่ หน่วยงานนี้ประกอบด้วยกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้ง 9 คน มีอำนาจให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ควรจะขอหมายจากศาลเพื่อปิดกั้นเนื้อหาแบบใดบ้าง
 
 
ฟิลิปปินส์ 
 
กฎหมายป้องกันอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ (Cybercrime Prevention Law or Republic Act 10175) ผ่านออกมาเพื่อกำหนดให้การแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์เป็นความผิด กฎหมายนี้กำหนดให้การหมิ่นประมาทกันบนโลกออนไลน์มีโทษทางอาญา ซึ่งหลายๆ ครั้งถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับนักข่าวหรือประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่ไม่ค่อยถูกต้องของรัฐบาล กฎหมายนี้ยังให้อำนาจแก่กระทรวงยุิตธรรมที่จะออกคำสั่ง "ลบ" ข้อมูล โดยไม่ต้องอาศัยหมายจากศาล เพื่อจะจำกัดการเข้าถึงข้อมูลที่มีลักษณะหมิ่นประมาท และเพื่อเฝ้าจับตาเนื้อหาต่างๆ บนโลกออนไลน์ กฎหมายนี้ยังให้อำนาจตำรวจสั่งปิดเว็บไซต์ได้ด้วย 
 
การกระทำอื่นๆ ที่ต้องห้ามตามกฎหมายนี้ ก็เช่น การมีเพศสัมพันธ์ทางออนไลน์ (Cybersex), ภาพโป๊เด็ก, การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ชอบ หรือ การแฮ็ค การปลอมแปลงตัวตนหรือขโมยตัวตน และการส่งสแปม
 
กฎหมายนี้เพิ่มโทษของการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ จากเดิมที่การหมิ่นประมาทมีโทษจำคุก 6 เดือน ถูกเพิ่มขึ้น 24 เท่า เป็นจำคุกสูงสุดไม่เกิน 12 ปี 
 
ประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 ลงนามให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2555 ท่ามกลางการฟ้องร้องคดีต่อศาลสูงสุดของฟิลิปปินส์หลายคดีเพื่อจะพิสูจน์ว่ากฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ และละเมิดพันธะกรณีที่ฟิลิปปินส์มีต่อนานาชาติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ผ (ICCPR) แต่กฎหมายก็ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่
 
 
เวียดนาม
 
ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เวียดนามออกกฎหายหลายฉบับเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มอบอำนาจให้กับรัฐบาลที่จะเฝ้าดู สืบสวน และดำเนินคดี ต่อข้อมูลต่างๆ บนโลกออนไลน์ กฎหมายฉบับแรก คือ กฎหมายความมั่นคงของชาติ ปี 2547 (2004 Law on National Security (Law No. 32/2004/QH11)) ซึ่งให้อำนาจหน่วยที่ทำหน้าที่ปกป้องความมั่นคงของรัฐตรวจสอบอุปกรณ์การสื่อสาร ตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์ และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อหาภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ
 
ในเดือนสิงหาคม ปี 2551 กระทรวงข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ออกกฤษฎีกา เลขที่ 97/2008 ซึ่งกำหนดความผิดฐาน การใช้อินเทอร์เน็ต "ในทางที่ผิด" ซึ่งฐานนี้รวมทั้ง "การต่อต้านรัฐ" "การลดทอนความมั่นคงของชาติ และความเป็นระเบียบและความปลอดภัยของสังคม" และ "ทำลายขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติ" ตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่ากฎหมายนี้ถูกใช้อย่างไร คือ การห้ามชาวเน็ตเผยแพร่ลิงก์เชื่อมโยงไปยังเนื้อหาที่อาจจะ "ต่อต้านรัฐ" หรือ "เผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน ให้ร้าย ทำให้เสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศของหน่วยงานใดๆ และกฎหมายนี้ยังมีส่วนที่ให้อำนาจแก่รัฐบาลบังคับให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ส่งมอบข้อมูลของผู้ใช้บริการ และปิดกั้นหรือลบเนื้อหาด้วย
 
ในเดือนเมษายน ปี 2553 คณะกรรมการประชาชนฮานอย ประกาศใช้กฤษฎีกา เลขที่ 15/2010 สั่งให้ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่นับพัน และผู้ให้บริการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในฮานอย ติดตั้งโปรแกรมที่รัฐบาลจัดหามาลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อจะติดตามดูกิจกรรมของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและปิดกั้นการเข้าถึงหน้าเว็บต่างๆ กฎหมายนี้ยังให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเข้าตรวจสอบร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ได้ด้วย
 
ในเดือนกรกฎาคม ปี 2556 นายกรัฐมนตรีเหงียน เติ๊น สุง ลงนามในกฤษฎีกาเลขที่ 72 ซึ่งมีมาตรา 5 กำหนดห้ามข้อมูลที่น่าจะเป็นการ "ต่อต้านระบอบสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม" หรือ คุกคามต่อความมั่นคงของรัฐและความเป็นระเบียบของสังคม หรือขัดแย้งต่อประเพณีของชาติ เปิดเผยความลับของราชการ และเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ
 
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา ของเวียดนาม มีมาตรา 79 ที่กำหนดห้าม กิจกรรมที่มีวัตถุประสสงค์เพื่อล้มล้างการปกครองของประชาชน ขณะที่มาตรา 88 ห้าม การโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านพรรคสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งเวียดนาม มาตราแรกมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ถึง 20 ปี ส่วนมาตราหลังมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 20 ปี 
 
มาตรา 245 กำหนดห้ามใครก็ตามก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย โดยกำหนดโทษปรับไว้ระหว่าง 1,000,000-10,000,000 ดอง และมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ส่วนมาตรา 258 กำหนดห้ามใช้เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยในทางที่ผิดเพื่อฝ่าฝืนต่อผลประโยชน์ของรัฐ สิทธิอันชอบธรรม และผลประโยชน์ของหน่วยงานต่างๆ หรือประชาชน ซึ่งมาตรานี้มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี 
 
กรณีที่ได้รับโทษหนักๆ เช่น คดีที่ศาลประชาชนเมืองโฮจิมินห์ ซิตี้ ตัดสินลงโทษ ตรัน ฮุน ดาย (Tran Huynh Duy) ให้จำคุก 16 ปี และกักบริเวณภายในบ้านอีก 5 ปี เนื่องจากบทบาทของเขาที่เป็นผู้ดูแลบล็อกหลายๆ แห่งเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจและสังคม อีกคดีหนึ่งที่มีชื่อเสียง คือ คดีของบล็อกเกอร์ชื่อดัง เหงียน ฮู วิน (Nguyen Huu Vinh) ผู้ที่ใช้นามปากกาว่า อา บา แซม (Anh Ba Sam) และผู้ช่วยของเขา เหงียน ธี มินห์ ทวี (Nguyen Thi Minh Thuy) ซึ่งถูกตั้งข้อหาว่า ทำบล็อกสาธารณะเกี่ยวกับข่าวสารประจำวัน โดยเอาข้อมูลมากจากชาวเวียดนามกลุ่มต่อต้านที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ
 
 
อินโดนีเซีย 
 
กฤษฎีกาของประธานาธิบดี เลขที่ 11/2008 เรื่อง ข้อมูลและธุรกรรมทางอิเล็กโทรนิคส์ หรือ กฎหมาย ITE (Law No. 11/2008 on Electronic Information and Transaction (the ITE Law)) เป็นกฎหมายพื้นฐานที่ถูกนำมาใช้เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นศาสนา บนโลกออนไลน์ 
 
ในอินโดนีเซีย การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกส่วนใหญ่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายดูหมิ่นศาสนา (blasphemy laws) ในปี 1965 ประธานาธิบดีซูการ์โน ประกาศใช้กฤษฎีกา เลขที่ 1/PNPS/1965 เรื่อง การป้องกันการให้ร้ายศาสนาหรือการหมิ่นประมาท ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า the blasphemy law กฎหมายนี้ผ่านออกมาเพื่อให้สอดรับกับข้อเรียกร้องขององค์กรอิสลาม เพื่อจะขัดขวางความเชื่อทางไสยศาสตร์ของชนเผ่าพื้นเมือง ที่พวกเขามองว่าเป็นอันตรายต่อการคงอยู่ของศาสนาในอินโดนีเซีย มาตรา 4 ของกฎหมายนี้กำหนดโทษสูงสุดให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี 
 
ตัวอย่างของคดีที่มีชื่อเสียง คือ คดีของอับราฮัม ซูโจโก (Abraham Sujoko) ซึ่งถูกตัดสินในเดือนมิถุนายน 2557 โดยศาลแขวง ภายใต้กฎหมายข้อมูลและธุรกรรมทางอิเล็กโทรนิคส์ จากการโพสต์วิดีโอของตัวเองบนยูทูป เขากล่าวว่า กะบ๊ะห์ (อาคารสี่เหลี่ยมสีดำที่เมืองเมกกะ ที่ชาวมุสลิมนิยมไปประกอบพิธีฮัจญ์) เป็นเพียงรูปเคารพอย่างหนึ่งเท่านั้น และชาวมุสลิมไม่ควรจะสวดมนต์โดยหันหน้าไปในทิศทางของก๊ะบ๊ะห์ เขาถูกตัดสินให้จำคุก 2 ปี และปรับ 3.5 ล้านรูเปีย ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 288 เหรียญสหรัฐ
 
อีกกรณีหนึ่ง เซบาสเตียน โจ (Sebastian Joe) ถูกตัดสินให้จำคุก 4 ปี ในเดือนพฤศจิกายน 2555 โดยศาลแขวง และต่อมาถูกตัดสินเพิ่มโทษเป็นจำคุก 5 ปี โดยศาลสูง ภายใต้กฎหมายข้อมูลและธุรกรรมทางอิเล็กโทรนิคส์ จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กดูหมิ่นศาสนาอิสลาม และกล่าวว่า เขาได้ก่อตั้งศาสนาใหม่ขึ้น กรณีคล้ายกัน อเล็กซานเดอร์ แอน (Alexander An) ถูกตัดสินให้จำคุก 2 ปีครึ่ง โดยศาลแขวง และปรับ 100 ล้านรูเปีย ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 7,500 เหรียญสหรัฐ จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กที่เข้าข่ายการดูหมิ่นศาสนาอิสลามและศาสดามูฮัมหมัด
 
 
มาเลเซีย 
 
เครื่องมือทางกฎหมายที่ถูกใช้เป็นหลักเพื่อจำกัดเสรีภาพการแสดงออกบนโลกออนไลน์ คือ กฎหมายการยุยงปลุกปั่น (the Sedition Act of 1948) กฎหมายนี้กำหนดโทษทางอาญาสำหรับคนที่ทำอะไรก็ตามที่เข้าข่ายการ "ปลุกปั่น" ซึ่งรวมทั้งการทำสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย มาตรา 3(1) ให้นิยามของการ "ปลุกปั่น" ว่าหมายถึง การพูดที่เห็นว่าจะ "นำมาซึ่งความเกลียดชัง การดูหมิ่น หรือทำให้เอาใจออกห่าง ต่อ พระมหากษัตริย์ หรือผู้ปกครองของรัฐใดๆ ในมาเลเซีย หรือการสร้างความไม่พอใจหรือความแตกแยกในหมู่ประชาชนของมาเลเซีย" นอกจากนี้ มาตรา 3(ae) ยังให้ความหมายของการปลุกปั่นรวมถึง การแสดงออกใดๆ ที่มีแนวโน้มจะ "สนับสนุนความรู้สึกไม่ดี ความเป็นศัตรู หรือความเกลียดชังระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคล หรือบนพื้นฐานของศาสนา การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถูกตีความให้อยู่ในความหมายของการ "ปลุกปั่น" ในฐานะที่เป็นเหตุให้เกิด "ความแตกแยกในหมู่ประชาชนของมาเลเซีย" 
 
ในปี 2558 มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อทำให้รัฐบาลมีอำนาจดำเนินคดีกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียได้อย่างชัดเจนขึ้น โดยการเพิ่มความผิดฐาน "โฆษณาชวนเชื่อ" เป็นส่วนหนึ่งของการปลุกปั่น การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ไม่เพียงแต่เพิ่มอำนาจในการบล็อคเว็บไซต์ แต่ยังให้สั่งห้ามการส่งต่อข้อมูลโดยอุปกรณ์อิเล็กโทรนิคส์ใดๆ อีกด้วย ใครก็ตามที่ฝ่าฝืนกฎหมายนี้ โดยการไม่ลบเนื้อหาที่เข้าข่ายการปลุกปั่น จะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี 
 
กรณีที่มีเชื่อเสียง รวมถึงการตัดสินในคดีของ เจ โกพินาท (J. Gopinath) ด้วยกฎหมายปลุกปั่น เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 จากการกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับอิสลามบนเฟซบุ๊กของตัวเองเมื่อเดือนกันยายน ปี 2555 เขายังถูกสั่งปรับ 5,000 ริงกิต ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 1210 เหรียญสหรัฐ ในคดีเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์แห่งมาเลเซีย วันจิวัน ฮุสเซ็น (Wan Ji Wan Hussain) ถูกตั้งข้อหาปลุกปั่นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2555 จากการโพสต์ความเห็นบนเฟซบุ๊กซึ่งถูกมองว่าเป็นการดูหมิ่นสุลต่านแห่งเซลังกอร์ การวิจารณ์รัฐบาลในประเด็นการดูแลจัดการเรื่องศาสนา ก็ยังนำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีฐานปลุกปั่นด้วย 
 
สำนักข่าวออนไลน์ก็ตกเป็นเป้าของกฎหมายนี้ ในเดือนมีนาคม 2558 บรรณาธิการสามคน รวมทั้งหัวหน้ากองบรรณาธิการ และผู้จัดพิมพ์ของสำนักข่าว เดอะ มาเลเซียอินไซด์เดอร์ (The Malaysian Insider (TMI)) ถูกจับกุมในข้อหาปลุกปั่น และละเมิดกฎหมายการสื่อสารและมัลติมีเดีย ข้อกล่าวหาของพวกเขา คือ การรายงานว่า สภาผู้ปกครองของมาเลเซียปฏิเสธข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายสหพันธรัฐ เพื่อเปิดทางให้บังคับใช้การลงโทษตามกฎหมายชารีอะห์ในรัฐกลันตัน
 
 
พม่า 
 
แม้ว่าจะมีความพยายามผ่อนคลายกฎหมายเซ็นเซอร์สื่อ ของอดีตนายกรัฐมตรีเต็งเส่ง แต่ก็ยังมีกฎหมายชุดสามฉบับที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออกบนโลกออนไลน์ กฎหมายเหล่านี้ออกในสมัยรัฐบาลทหาร ได้แก่ กฎหมายการพัฒนาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ปี 2539 (1996 Computer Science Development Law), กฎหมายควบคุมเว็บไซต์ ปี 2543 (2000 Web Regulations) และกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิคส์ ปี 2547 (the 2004 Electronic Transactions Law (ETL))
 
กฎหมายการพัฒนาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ห้ามใครก็ตามใช้สื่อออนไลน์ในทางที่เหยียดหยาม "ความมั่นคงของรัฐ, ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และความสงบสุขของชุมชน" และห้ามการนำเข้า การครอบครอง หรือการใช้คอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการสื่อสาร กฎหมายควบคุมเว็บไซต์ ห้ามเนื้อหาซึ่ง "ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของสหภาพพม่า ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม"
 
อย่างไรก็ดี การดำเนินคดีกับบล็อกเกอร์จำนวนมาก เกิดขึ้นจากกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิคส์ ปี 2547 เช่น คดีของ ไน โพน ลัท (Nay Phone Latt) และติน จูไล ชอว์ (Thin July Kyaw) นักกิจกรรม ในปี 2550 และซาร์กานาร์ (Zarganarนักแสดงตลก ในปี 2551 ภายใต้มาตรา 33 ของกฎหมายนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอาจถูกตัดสินจำคุก 4 ปี ได้หากกระทำการใดๆ ที่เข้าข่ายเหยียดหยาม "ความมั่นคงของรัฐ, ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และความสงบสุขของชุมชน หรือความสามัคคีในชาติ หรือเศรษฐกิจของชาติ หรือวัฒนธรรมของชาติ" และการรับหรือส่งข้อมูลที่เป็นความลับของชาติ มาตรา 34(d) ก็กำหนดโทษจำคุก 5 ปี สำหรับใครก็ตามที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐาน "สร้าง เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข ข้อมูล" หรือเผยแพร่ข้อมูลที่อาจเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของบุคคลหรือองค์กร
 
ขณะที่กฎหมายเหล่านี้ผ่านในยุคสมัยของเผด็จการทหาร กฎหมายโทรคมนาคม ปี 2556 ก็ผ่านในยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย มาตรา 66(d) ของกฎหมายนี้กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี สำหรับการข่มขู่ บีบบังคับ การขัดขวางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การหมิ่นประมาท การแทรกแซง การมีอิทธิพลโดยไม่สมควร หรือการคุกคาม การใช้งานเครือข่ายโทรคมนาคม กฎหมายนี้ออกโดยรัฐบาลของนายพลเต็งเส่ง เพื่อดำเนินคดีกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกโซเชียลมีเดียในทางที่ ดูหมิ่นรัฐบาลหรือกองทัพ และยังคงถูกใช้ดำเนินคดีต่อการแสดงความคิดเห็นที่เข้าข่ายการดูหมิ่นต่อเนื่องมาเรื่อยๆ
 
ปลายเดือนพฤษภาคม 2558 ช่างภาพอิสระ อ่อง เน เมียว (Aung Nay Myo) ถูกจับกุมจากการอัพโหลดภาพเสียดสีบนเฟซบุ๊กล้อเลียนความสัมพันธ์ของประธานาธิบดีกับกองทัพ เดือนตุลาคม 2558 ชอว์ ซานดิ ตัน (Chaw Sandi Tun) และ แพทริค คัม จา ลี (Patrick Kum Ja Lee) ถูกจับกุมจากการโพสต์เนื้อหาเสียดสีที่ถูกมองว่าเป็นการวิจารณ์กองทัพ และเดือนต่อมากวีนักกิจกรรม มวง สวง ขา (Maung Saung Kha) ถูกจับกุมจากการฝ่าฝืนมาตรา 66(d) จากการโพสต์บทกวีบนเฟซบุ๊ก ทำนองว่าเขามีรอยสักเป็นรูปของประธานาธิบดี 
 
คดีของ ไน โพน ลัท และติน จูไล ชอว์ คนแรกถูกตัดสินลงโทษจำคุก 15 ปี ในปี 2550 ขณะที่คนต่อมาถูกลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ด้วยกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิคส์ โทษของ เน โพน ลัท มาจากการเผยแพร่ข่าวบนบล็อกของเขาเกี่ยวกับการปฏิวัติโดยพระสงฆ์ ขณะที่ติน จูไล ชอว์ ถูกตัดสินจากการให้เงินสนับสนุนนักกิจกรรมที่อยู่ในต่างประเทศ ซาร์กานาร์ ถูกตัดสินจำคุก 45 ปี จากการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์คนไร้บ้านนับล้านที่เป็นเหยื่อของพายุนาร์กีส
 
 
สิงคโปร์ 
 
กฎหมายที่นิยมใช้กันมากที่สุดเพื่อปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกออนไลน์ คือ กฎหมายปลุกปั่น (the Sedition Act) กฎหมายนี้ห้ามการพูดคุยกันในทางสาธารณะ รวมทั้งบนอินเทอร์เน็ต ในประเด็นเชื้อชาติ ศาสนา เพศ รวมทั้งการวิจารณ์รัฐบาล โทษสูงสุดสำหรับผู้ฝ่าฝืน คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี และ 5 ปีสำหรับการกระทำความผิดซ้ำ  
 
หน่วยงานกำกับดูแลสื่อของสิงคโปร์ ที่เรียกกันว่า Media Development Authority (MDA) กำหนดให้เว็บไซต์ข่าวทุกแห่งต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งต้องต่อใบอนุญาตรายปี และอาจถูกสั่งปิดได้ภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ เว็บไซต์หลักๆ ยังถูกห้ามการรณรงค์สนับสนุนการรักเพศเดียวกันด้วย
 
บล็อกเกอร์เป็นเป้าหมายของกฎหมายนี้ คดีที่มีชื่อเสียง เช่น ในปี 2558 รอย เงิงยี่หลิง (Roy Ngerng Yi Ling) ถูกสั่งให้จ่ายค่าปรับเป็นเงิน 150,000 ดอลล่าห์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นเงินประมาณ 111,000 เหรียญสหรัฐ ในข้อหาหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ว่า คอร์รัปชั่นในการบริหารแผนการออมเงินหลังเกษียณของสิงคโปร์ อีกคนหนึ่ง อามอส ยี (Amos Yee) ถูกตัดสินจำคุก 4 สัปดาห์จากการอัพโหลดภาพลามกอนาจาร พร้อมกับแสดงความเห็นในทางที่ดูหมิ่นศาสนาในคลิปวีดีโอที่เขาโพสต์
 
 
กัมพูชา 
 
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 รัฐบาลที่นำโดยฮุนเซ็นออกกฤษฎีกาเพื่อยกสถานะของหน่วยต่อต้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หรือที่รู้จักกันว่า “Cyber War Team” กฤษฎีกาฉบับนี้ให้อำนาจหน่วยงานของรัฐที่จะ "สืบสวนและใช้มาตรการต่างๆ ตามกฎหมาย เพื่อจัดการการยั่วยุบนอินเทอร์เน็ต การดูหมิ่น การเหยียดเชื้อชาติ และการดำเนินกิจกรรมทางสังคม" หน่วยงานนี้ยังรับผิดชอบการเฝ้าระวังและการตอบโต้ข้อมูลที่ "ไม่ถูกต้อง" จากสื่อสารมวลชนและโซเชียลมีเดีย
 
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน รัฐบาลส่งร่างกฎหมายโทรคมนาคมให้กับรัฐสภาเพื่อพิจารณา แต่พรรคประชาชนกัมพูชาเห็นชอบกฎหมายใหม่นี้โดยไม่มีการถกเถียงกันในสภา และไม่มีการเปิดให้ภาคสังคมได้ตรวจสอบ กฎหมายนี้ให้อำนาจตามอำเภอใจแก่รัฐบาลที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเฝ้าจับตาดูและบันทึกข้อมูลการสื่อสารอย่างลับๆ และสั่งจำคุกประชาชนที่ใช้เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคมในลักษณะที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ ภายใต้มาตรา 6 และ 7 ของกฎหมายนี้ กระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม มีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการรายใด ส่งมอบข้อมูล ระบบ และอุปกรณ์ใดๆ โทษของผู้ฝ่าฝืนคือจำคุกไม่เกิน 15 ปี
 
ประมวลกฎหมายอาญา ก็ถูกนำมาใช้เพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้ามที่แสดงออกในทางวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์เช่นเดียวกัน ในเดือนมีนาคม 2559 คง ระยา (Kong Raya) นักศึกษามหาวิทยาลัยถูกตัดสินจำคุก 18 เดือน ในข้อหาปลุกปั่นยั่วยุและกระทำความผิดที่ร้ายแรง ข้อหาของเขาคือการเรียกร้องให้มีการปฏิวัติบนเฟซบุ๊ก และเปลี่ยนแปลงระบอบห่วยๆ ที่กำลังขับเคลื่อนสังคมกัมพูชาอยู่ คดีที่มีชื่อเสียงอีกคดีหนึ่ง คือ คดีที่ลูกชายของนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นที่ยื่นฟ้อง ชาม ชานี่ (Chham Chhany) ฐานหมิ่นประมาทครอบครัวของเขาบนเฟซบุ๊ก
 
ขณะที่รัฐบาลยังไม่ได้จำกัดการเข้าถึงหรือเซ็นเซอร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ มีรายงานที่น่าเชื่อถือจำนวนหนึ่งระบุว่า หน่วยงานของรัฐกำลังจับตาดูการสื่อสารของประชาชนอยู่ ช่วงต้นปี 2554 พนมเปญโพสต์รายงานว่า โซคุน (So Khun) รัฐมนตรีกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม ขอให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ให้ความร่วมมือในการปิดกั้นเว็บไซต์ ที่กระทบต่อศีลธรรมและวัฒนธรรมของเขมรและรัฐบาล
 
 
ลาว 
 
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดเสรีภาพออนไลน์ของลาว อยู่ในรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า กิจกรรมทางวัฒนธรรมและสื่อสารมวลชนทุกชนิดที่ขัดแย้งต่อ "ผลประโยชน์ของชาติ" หรือ "วัฒนธรรมอันมีมาช้านานและเกียรติยศศักดิ์ศรี" จะกระทำไม่ได้ 
 
มาตรา 65 ของประมวลกฎหมายอาญา ห้ามการใส่ร้ายรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือการบิดเบือนคำแนะนำของพรรคและนโยบายของรัฐบาล หรือการเผยแพร่ส่งต่อข่าวลืออันเป็นเท็จทำให้เกิดความไม่สงบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้รัฐอ่อนแอ ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดและมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 กีบ ถึง 10,000,000 กีบ ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 62-1,223 เหรียญสหรัฐ
 
กฎหมายเหล่านี้ยังใช้กับการสื่อสารบนโลกออนไลน์ด้วย ตามกฤษฎีกา 327 ซึ่งเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เผยแพร่หรือส่งต่อ "ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงหรือมีเป้าหมายเชิงลบต่อพรรคสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลลาว" ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อ "ความสงบ, ความเป็นอิสระ, อำนาจอธิปไตยอันเป็นหนึ่งเดียว, ความมั่งคั่งของประเทศ" จะมีความผิด นอกจากนี้ เนื้อหาใดๆ ที่ถูกมองว่าเป็นการ "สร้างความแตกสามัคคีระหว่างชนเผ่าต่างๆ" ก็ถูกห้าม ข้อห้ามที่กว้างและคลุมเครือมีผลต่อการวิจารณ์รัฐบาลบนโลกออนไลน์
 
เหยื่อของกฎหมายนี้ รวมทั้ง โพธิ์ มีเทน (Phout Mitane) ซึ่งถูกตำรวจควบคุมตัวเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 โดยไม่มีหมายศาล จากการโพสต์รูปบนเฟซบุ๊กกล่าวหาว่าตำรวจรับเงินโดยไม่ชอบจากพี่ชายของเธอเพราะฝ่าฝืนกฎหมายจราจร เธอถูกสั่งปรับหนึ่งล้านกีบ หรือประมาณ 123 เหรียญสหรัฐ ในอีกคดีหนึ่ง จันทาโพน (Chanthaphone) ข้าราชการจากกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 เป็นเวลาหนึ่งเดือน จากการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการให้สัมปทานที่ดินแก่นักลงทุนชาวจีนบนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2559 บูทัน คัมมะวงศ์ (Bouthanh Khammavong) ถูกตัดสินให้จำคุก 4 ปี 9 เดือน โดยศาลในเวียงจันทร์ จากการวิจารณ์รัฐบาลลาวบนเฟซบุ๊ก อีกคดีหนึ่งที่คล้ายกัน จำเลยสามคน (Somphone PhimmasoneLodkam Thammavong and Soukan Chaithad) ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในคุกที่เวียงจันทร์จากการวิจารณ์รัฐบาลเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น การทำลายป่าไม้ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
 
บรูไน 
 
แม้จะเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว บรูไนมีสังคมออนไลน์ที่ตื่นตัวและไม่ค่อยถูกปิดกั้น อย่างไรก็ดีรัฐบาลจับตาดูอีเมล์ของประชาชน รวมทั้งกล่องสนทนาต่างๆ ซึ่งสงสัยว่าจะมีเนื้อหาออกไปในทางล้มล้าง หรือเป็นกลุ่มศาสนาหัวรุนแรง บรูไนเป็นประเทศที่มีความพิเศษเฉพาะที่รัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกของพลเมืองเลย 
 
อย่างไรก็ดี บรูไนก็มีระบบกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออก กฎหมายปลุกปั่น (The Sedition Act) จำกัดเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพสื่อ และกำหนดให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากรัฐบาล รวมทั้งบรรณาธิการ นักข่าว และผู้พิมพ์ ที่เป็นชาวต่างชาติ กฎหมายห้ามการกระทำที่ท้าทายอำนาจของราชวงศ์ และหลักการของการมีสถาบันกษัตริย์อิสลามเชื้อสายมาเลย์ ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของชาติและรัฐบรูไน ที่ประกาศว่าอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ และคุ้มครองอภิสิทธิ์ของชาวบรูไนเชื้อสายมาเลย์ นอกจากนี้กฎหมายอาญาชารีอะห์ ก็ยังห้ามการดูหมิ่นสุลต่านและห้ามดูหมิ่นการปกครองของกฎหมายชารีอะห์ด้วย เนื่องจากกฎหมายเหล่านี้มีโทษสูง นักข่าวจึงมักจะเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่แล้ว
 
ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ต้องจดทเบียนต่อผู้อำนวยการฝ่ายกิจการกระจายเสียงของสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาลปิดกั้นเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการเปิดเผยเรื่องเพศ และบริษัทอินเทอร์เน็ตสงวนสิทธิที่จะตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้ต้องแจ้งล่วงหน้า 
 
 
 
ตารางสรุปข้อห้ามบนโลกออนไลน์ตามกฎหมายของประเทศต่างๆ ในอาเซียน
 
ประเทศ ชื่อกฎหมาย เรื่องที่กฎหมายห้าม โทษสูงสุด
ประเทศไทย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (แก้ไขแล้ว) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือเป็นเท็จ 5 ปี
 
นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูล อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
ฟิลิปปินส์ กฎหมายป้องกันอาชญากรรมในโลกไซเบอร์  การหมิ่นประมาทออนไลน์ 12 ปี 
เวียดนาม ประมวลกฎหมายอาญา กิจกรรมที่มีวัตถุประสสงค์เพื่อล้มล้างการปกครองของประชาชน (มาตรา 79) 5 ถึง 20 ปี
การโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านพรรคสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งเวียดนาม  (มาตรา 88) 3 ถึง 20 ปี
ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย (มาตรา 245) 2 ปี
ใช้เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยในทางที่ผิดเพื่อฝ่าฝืนต่อผลประโยชน์ของรัฐ สิทธิอันชอบธรรม และผลประโยชน์ของหน่วยงานต่างๆ หรือประชาชน (มาตรา 258) 7 ปี 
อินโดนีเซีย
กฤษฎีกา เลขที่.1/PNPS/1965,
(ITE Law)
หมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นศาสนาออนไลน์ 5 ปี
มาเลเซีย
กฎหมายยุยงปลุกปั่น ที่แก้ไขเมื่อปี 2558
"ปลุกปั่น" ซึ่งรวมทั้งการทำสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย และการโฆษณาชวนเชื่อด้วยเนื้อหาปลุกปั่น 20 ปี
เมียนมาร์ กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิคส์ ปี 2547

เหยียดหยาม "ความมั่นคงของรัฐ, ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และความสงบสุขของชุมชน หรือความสามัคคีในชาติ หรือเศรษฐกิจของชาติ หรือวัฒนธรรมของชาติ" และการรับหรือส่งข้อมูลที่เป็นความลับของชาติ 

"สร้าง เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข ข้อมูล" หรือเผยแพร่ข้อมูลที่อาจเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของบุคคลหรือองค์กร

5 ปี
กฎหมายโทรคมนาคม ปี 2556 ข่มขู่ บีบบังคับ การขัดขวางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การหมิ่นประมาท การแทรกแซง การมีอิทธิพลโดยไม่สมควร หรือการคุกคาม การใช้งานเครือข่ายโทรคมนาคม 3 ปี
สิงคโปร์ กฎหมายปลุกปั่น ห้ามการพูดคุยกันในทางสาธารณะ รวมทั้งบนอินเทอร์เน็ต ในประเด็นเชื้อชาติ ศาสนา เพศ รวมทั้งการวิจารณ์รัฐบาล 3 ปี, 5 ปี ถ้ากระทำผิดซ้ำ
กัมพูชา กฎหมายโทรคมนาคม ปี 2558 ใช้เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคมในลักษณะที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ 15 ปี

 

 
 
 
ชนิดบทความ: