1293 1071 1266 1493 1274 1383 1485 1675 1704 1393 1898 1061 1834 1995 1150 1152 1237 1597 1317 1773 1279 1048 1361 1651 1867 1323 1991 1791 1112 1569 1306 1707 1946 1045 1392 1855 1974 1437 1625 1400 1132 1256 1108 1948 1833 1484 1237 1681 1494 1446 1545 1558 1203 1854 1082 1320 1977 1338 1623 1306 1802 1593 1981 1222 1000 1360 1969 1064 1914 1000 1170 1211 1897 1232 1836 1974 1327 1676 1842 1782 1567 1388 1059 1708 1370 1969 1029 1688 1730 1445 1458 1202 1986 1092 1778 1669 1014 1881 1509 เงื่อนไขการสั่งเซ็นเซอร์สื่อ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เงื่อนไขการสั่งเซ็นเซอร์สื่อ

TRANSLATION IN NEED!

To be a volunteer? click here for detail.

......................................

กฎหมายกำหนดเงื่อนไขการปิดกั้นสื่อแต่ละประเภทไว้ไม่เหมือนกัน โดยรวมอาจมีหลักการหลายอย่างที่สอดคล้องกันแต่หากเปรียบเทียบกฎหมายหลายฉบับจะพบว่า มีเนื้อหาบางประเภทที่สามารถเผยแพร่ในสื่อบางประเภทได้ แต่ไม่สามารถเผยแพร่ในสื่อบางประเภทได้ ขณะที่เนื้อหาบางประเภท เช่น เนื้อหาที่ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อย” หรือ “ศีลธรรมอันดี” ถูกกำหนดให้เป็นเงื่อนไขห้ามเผยแพร่ในกฎหมายที่ควบคุมดูแลสื่อทุกประเภท    

เงื่อนไขการสั่งเซ็นเซอร์สื่อ

ประเภทสื่อ
สถาบันพระมหากษัตริย์
ความมั่นคงของรัฐ
ความสงบเรียบร้อย
ศีลธรรมอันดี
ลามกอนาจาร
ชื่อเสียงบุคคล
อื่นๆ

วิทยุและโทรทัศน์
/
/
/
/
/
 
กระทบต่อความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพ

สิ่งพิมพ์
/
/
/
/
 
 
 

ภาพยนตร์
/
/
/
/
/
 
เหยียดหยามศาสนา สร้างความแตกแยก กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

อินเทอร์เน็ต
 
/
/
/
/
/
 

 

วิทยุและโทรทัศน์

พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดว่า

“มาตรา ๓๗ ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง”

เงื่อนไขของการเซ็นเซอร์เนื้อหาในวิทยุและโทรทัศน์ส่วนใหญ่ เป็นเงื่อนไขที่ต้องห้ามสำหรับสื่อประเภทอื่นด้วยอยู่แล้ว มีข้อน่าสังเกตคือ เงื่อนไขเกี่ยวกับรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง เป็นเงื่อนไขที่มีในกฎหมายฉบับนี้เพียงฉบับเดียว นอกจากการห้ามออกอากาศรายการบางประเภทแล้ว ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังมีบทบัญญัติที่ควบคุมเนื้อหาในกรณีอื่นๆ อยู่อีกบ้าง เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบกิจการสื่อต้องจัดผังรายการตามที่คณะกรรมการกำหนด (มาตรา ๓๔)  การออกอากาศแจ้งข่าวหรือเตือนภัยในกรณีมีภัยพิบัติฉุกเฉิน (มาตรา ๓๕) หรือ การกำหนดมาตรการบางอย่างเพื่อส่งเสริมสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาส (มาตรา ๓๖) เป็นต้น

 

สิ่งพิมพ์

พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดว่า

“มาตรา ๑๐ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์ใดๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยจะกำหนดเวลาห้ามไว้ในคำสั่งดังกล่าวด้วยก็ได้ การออกคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นำข้อความที่มีลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาแสดงไว้ด้วย สิ่งพิมพ์ที่เป็นการฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจริบและทำลาย”

ทั้งนี้ กฎหมายให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพียงออกคำสั่งห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรเท่านั้น แต่ไม่ได้ให้อำนาจองค์กรใดสั่งปิดกั้น เช่น สั่งห้ามพิมพ์ ยึดแท่นพิมพ์ หรือทำลายสื่อสิ่งพิมพ์ที่ตีพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักร เรื่องนี้ถูกนับรองไว้ในมาตรา ๔๕ วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งบัญญัติไว้ว่า การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอยเสรีภาพ จะกระทำมิได้

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่สื่อสิ่งพิมพ์ถูกตีพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักรโดยมีเนื้อหาและเจตนาที่เป็นความผิดต่อกฎหมายที่มีโทษทางอาญา เช่น มีเนื้อหาและเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา หรือเป็นสื่อลามกอนาจารที่ผลิตขึ้นเพื่อการค้า หรือเป็นสิ่งพิมพ์ที่ปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หากศาลตัดสินว่าผู้ผลิตสิ่งพิมพ์นั้นมีความผิดแล้ว ศาลอาจสั่งให้ริบสิ่งพิมพ์นั้นทั้งหมด ในฐานะที่เป็นทรัพย์สินที่ทำขึ้นเป็นความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดด้วย (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๓)     

 

ภาพยนตร์

พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ กำหนดให้ภาพยนตร์ทุกเรื่องต้องผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งหากคณะกรรมการเห็นว่า ภาพยนตร์ใดมีเนื้อหาที่บ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้ (มาตรา ๒๙)

“มาตรา ๒๙  ในการพิจารณาอนุญาตภาพยนตร์ตามมาตรา ๒๕ ถ้าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่าภาพยนตร์ใดมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้”

การตรวจพิจารณาภาพยนตร์จะนำไปสู่การจัดประเภทภาพยนตร์ซึ่งกำหนดช่วงอายุผู้ชมที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ภาพยนตร์เรื่องใดเป็นภาพยนตร์ประเภทที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรได้ โดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์มาตรา ๒๖ (๗)     

ส่วนหลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าภาพยนตร์ลักษณะใดจัดอยู่ในประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรนั้น ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ว่า     

“ข้อ ๗  ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้     

(๑) เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(๒) สาระสำคัญของเรื่องเป็นการเหยียดหยามหรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนาหรือไม่เคารพต่อปูชนียบุคคล ปูชนียสถาน หรือปูชนียวัตถุ

(๓) เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ

(๔) เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ

(๕) สาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์

(๖) เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ”

 

อินเทอร์เน็ต

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มีมาตราที่กำหนดเงื่อนไขการใช้อำนาจที่ปิดกั้นเว็บไซต์ไว้อย่างชัดเจน คือ มาตรา ๒๐ ซึ่งระบุว่า การทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี สามารถยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้

นอกจากเงื่อนไขตามมาตรา ๒๐ แล้วองค์ประกอบของเว็บไซต์ถูกปิดกั้นได้ ต้องเข้าข่ายเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อันกำหนดไว้ในมาตรา ๑๔ และ มาตรา ๑๖     

“มาตรา ๑๔  ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้     

(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)     

มาตรา ๑๖  ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

Article type: