1029 1040 1776 1433 1126 1422 1647 1381 1263 1950 1601 1663 1222 1025 1669 1195 1166 1597 1780 1444 1812 1788 1352 1595 1276 1529 1689 1993 1294 1670 1755 1662 1101 1863 1288 1787 1173 1559 1743 1140 1697 1895 1862 1298 1905 1119 1833 1581 1039 1815 1750 1429 1176 1448 1140 1937 1258 1223 1719 1275 1489 1283 1175 1256 1307 1544 1673 1980 1960 1768 1016 1937 1536 1394 1681 1878 1063 1493 1024 1454 1820 1388 1971 1341 1796 1029 1814 1087 1125 1604 1150 1978 1642 1453 1219 1998 1905 1531 1753 รวมปรากฏการณ์ ‘รูปแบบใหม่’ ของการคุกคามเสรีภาพ ตลอดปี 2564 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

รวมปรากฏการณ์ ‘รูปแบบใหม่’ ของการคุกคามเสรีภาพ ตลอดปี 2564

2199
 
ตลอดปี 2564 นักกิจกรรมและคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต้องเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์การคุกคามเสรีภาพการแสดงออกโดยใช้กระบวนการกฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนัก นอกจากปี 2564 จะมีสถิติการชุมนุมทางการเมืองนับเป็นจำนวนครั้งมากที่สุด และก็มีคดีความทางการเมืองพุ่งสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นปีที่ได้พบกับรูปแบบหรือเครื่องมือใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อคุกคาม สร้างอุปสรรค รวมถึงเพิ่มต้นทุนทางสังคมให้แก่ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
การคุกคามรูปแบบเดิมๆ ต่อนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นและเกิดขึ้นในปริมาณที่มากขึ้น เช่น การตั้งข้อหาดำเนินคดี ถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ การไปหาที่บ้าน การพาตัวไปทำประวัติ เพื่อสร้างความกลัวต่อการออกมาเคลื่อนไหว วิธีการใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้นี้เองที่แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายรัฐไม่อาจยินยอมให้การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นดำเนินต่อไปได้ง่ายๆ เมื่อไม่สามารถหาดำเนินคดีจากข้อหาที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ ก็ยังคงต้องหาวิธีการอื่นมาใช้เพื่อตอบโต้ต่อไป เท่าที่จะสามารถทำได้
 
2186
 
ชวนย้อนดูตัวอย่างของการคุกคาม ‘รูปแบบใหม่’ จากเจ้าหน้าที่กระทำต่อผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ตลอดปี 2564 ดังนี้
 
๐ ยกเลิกพาสปอร์ตนักกิจกรรม 
 
17 พฤศจิกายน 2564 อั๋ว จุฑาทิพย์ นักกิจกรรม โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ชีวิตนักศึกษาปี 4 ที่กำลังจะเรียนจบและวางแผนทำนั่นทำนี่เยอะมาก เมื่อคืนรู้มาว่าโดนยกเลิกพาสปอร์ตจากคดีทางการเมือง ออกนอกประเทศไม่ได้แล้ว ชีวิตโคตรพัง” พร้อมทั้งโพสต์ภาพหนังสือของสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ถึงอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ที่มีเนื้อหาใจความระบุถึงสาเหตุที่มีการขอให้ยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้ต้องหาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จำนวน 6 คน จากเหตุชุมนุมทางการเมือง ได้แก่ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ , กรกช แสงเย็นพันธ์ , สุวรรณา ตาลเหล็ก , บารมี ชัยรัตน์ , เดชาธร บำรุงเมืองและภาณุมาศ สิงห์พรม สืบเนื่องจากทั้ง 6 คนถูกดำเนินคดีเป็นคดีอาญาหมายเลขที่ 428/2563 ซึ่งพนักงานอัยการได้มีคำสั่งเห็นควรให้สั่งฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จึงทำให้บุคคลเหล่านี้ยังเป็นที่ต้องการตัว อย่างไรก็ดีในคดีดังกล่าว มีผู้ต้องหารวม 11 คนและทางสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ได้ยื่นหนังสือขอให้ยกเลิกหนังสือเดินทางทุกคน แต่ทางกรมการกงศุลได้ระบุว่าผู้ต้องหาอีก 5 คนที่เหลือบางคนหนังสือได้ถูกยกเลิก หมดอายุไปแล้ว บางคนไม่มีหนังสือเดินทาง จึงไม่สามารถยกเลิกได้ 
 
เดชาธร นักร้องนำวง Rap against dictatorship ได้ออกมาเผยแพร่หนังสือของสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ฉบับเดียวกันต่อสาธารณะ โดยได้ให้สัมภาษณ์ต่อเว็บไซต์บีบีซีไทยว่า การขอระงับหนังสือเดินทางของตำรวจ นอกจากจะรู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิแล้วยังสร้างความกังวลเนื่องจากกระทบกับงานที่ต้องเดินทางต่างประเทศบ่อยครั้ง และกระทบต่อการวางแผนไปต่างประเทศกับครอบครัว 
 
กระบวนการยกเลิกพาสปอร์ตนั้น เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 หมวด 7 การปฏิเสธหรือยับยั้งคําขอหนังสือเดินทาง โดยในข้อ 21 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธหรือยับยั้งการขอหรือแก้ไขหนังสือเดินทางในกรณีที่เมื่อได้รับแจ้งว่าผู้ร้องเป็นผู้ซึ่งกำลังรับโทษในคดีอาญาหรืออยู่ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว หรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ได้มีการออกหมายจับไว้แล้ว ซึ่งศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเห็นว่าไม่ควรออกหนังสือเดินทางให้  และเมื่อผู้ร้องขอหนังสือเดินทางเป็นผู้ที่ศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายอื่นสั่งห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยในในระเบียบฯข้อที่ 23 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถยกเลิกและเรียกคืนหนังสือเดินทางได้ เมื่อปรากฎภายหลังว่าผู้ถือหนังสือเดินทางเป็นบุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจออกหนังสือเดินทางให้ตามเงื่อนไขท่ีระบุในข้อ 21 
 
2187
 
๐ เนรเทศชาวฝรั่งเศส ตลกล้อการเมืองไทย
 
27 พฤศจิกายน 2564  Yan Marchal ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินจังหวัดภูเก็ตกักตัวไม่ให้เดินทางเข้าประเทศไทยโดยได้พยายามผลักดันให้เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศส ในหนังสือแจ้งคำสั่งระบุว่า Yan Marchal เป็นคนต้องห้ามเข้าเมือง ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 12 (7) ซึ่งมีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม Yan Marchal คาดว่าการที่เขาถูกห้ามไม่ให้เข้าประเทศไทยเป็นเพราะการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง 
 
อย่างไรก็ตาม เขาได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐมนตรีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และหลังจากที่ได้ปรึกษากับทนายความ Yan Marchal  ได้ตัดสินใจเดินทางกลับฝรั่งเศส เนื่องจากมีความกังวลว่าหากอยู่ต่ออาจะถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112   
 
Yan Marchal มีชื่อเสียงบนแพลตฟอร์มออนไลน์จากการแต่งเพลงและทำวิดิโอที่มีเนื้อหาล้อเลียนคณะรักษาความสงบแห่งชาติในช่วงปี 2562 จนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปพบที่บ้านพักและขอให้ลบวิดิโอออกจากแพลตฟอร์มออนไลน์พร้อมให้ลงลายเซ็นว่าจะไม่วิจารณ์ คสช.อีก 
 
กระบวนการห้ามเข้าประเทศนั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 12 ที่กำหนดห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร 
 
(1) ไม่มีหนังสือเดินทาง
(2)ไม่มีปัจจัยยังชีพตามสมควรแก่การเข้ามาในราชอาณาจักร
(3)เข้ามาเพื่อทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ
(4)วิกลจริต
(5)ยังไม่ได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ
(6)เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาศาลไทยหรือคำพิพากษาศาลต่างประเทศ เว้นแต่เป็นความผิดลหุโทษหรือความผิดอันยอมความได้
(7)มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นภัยต่อสังคมหรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
(8)มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อค้าประเวณี ยาเสพติด ลักลอบหนีภาษี หรือประกอบกิจการอื่นที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย
(9)ไม่มีเงินติดตัว
(10)รัฐมนตรีไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 14
(11)ถูกรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างประเทศเนรเทศ 
 
ซึ่งในมาตรา 22 ได้กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้คนต่างด้าวที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 12 กลับออกไปนอกราชอาณาจักรได้ โดยจะต้องมีคำสั่งเป็นหนังสือ ถ้าคนต่างด้าวผู้นั้นไม่พอใจคำสั่ง อาจอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ โดยคำสั่งของรัฐมนตรีให้ถือเป็นที่สุด
 
2188
 
๐ Watchlist เก็บข้อมูลนักกิจกรรม โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
 
9 สิงหาคม 2564 มีการเปิดเผยเอกสารระบุว่า “ลับที่สุด” เป็นรายชื่อนักกิจกรรม นักการเมือง และคนทำงานภาคประชาสังคม รวม 183 รายชื่อที่ถูก “จับตา” (Watchlist) มีการระบุถึง ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด เลขบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง สถานะทางคดี สถานภาพการเดินทาง และรูปภาพหน้าตรง ท้ายเอกสารระบุชื่อผู้อัพเดตข้อมูลว่า “พ.ต.ท.หญิง โสภิดาฯ สว.กก.สส.ปป.บก.ตม.2 (กองกำกับการสืบสวนปราบปราม กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2)”
 
ในรายชื่อเหล่านี้ มีทั้งนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่าง เช่น อานนท์ นำภา, ปนัสยา (รุ้ง) สิทธิจิรวัฒนกุล, ปิยรัฐ จงเทพ มีทั้งนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เช่น รังสิมันต์ โรม, ปิยบุตร แสงกนกกุล, วัฒนา เมืองสุข มีบางคนที่มีแถบสีแดงขึ้นว่าออกนอกประเทศแล้ว เช่น ปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์ รวมทั้งมีการระบุถึงเจ้าของเพจเฟซบุ๊กต่างๆ ที่ไม่ทราบชื่อนามสกุลจริงด้วย
 
2189
 
๐ พบจีพีเอส แอบติดใต้รถนักเคลื่อนไหว
 
พรรณิการ์ วานิช - อดีตส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ว่า เมื่อหลายเดือนก่อนในขณะที่เอารถไปซ่อม ช่างได้ตรวจพบอุปกรณ์ติดตามตัว ข้างหลังเป็นแถบแม่เหล็กติดอยู่ที่ใต้ท้องรถ ด้านในมีซิมการ์ด และมีลักษณะของวิธีการติดอย่างมืออาชีพ ด้าน เพจทะลุฟ้า - กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ว่า ตรวจพบเครื่องติดตามและดักฟังใต้ท้องรถยนต์ โดยคาดว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะถูกเจ้าหน้าที่นำมาติดตั้ง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 หลังกลุ่มทะลุฟ้าโดนจับกุมและถูกยึดรถจากหน้าสโมสรตำรวจไว้ที่สน.ทุ่งสองห้อง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://freedom.ilaw.or.th/blog/GPDnotlegal
 
ปัจจุบันไม่มีกฎหมายไทยฉบับใดที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่หาข้อมูลสืบสวน หรือติดตามผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยวิธีการนี้ได้ 
 
2190
 
๐ ส่งสปายแวร์แฮ็คโทรศัพท์นักกิจกรรม 
 
ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นักกิจกรรมและนักวิชาการหลายคนทยอยได้รับอีเมลล์แจ้งเตือนจาก Apple โดยระบุว่าทางบริษัทฯ พบว่าผู้ใช้บริการอาจตกเป็นเป้าหมายการดำเนินการที่เข้าข่ายว่าเป็นการโจมตีโดยสปายแวร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ  ซึ่งมีอย่างน้อย 5 รายที่ได้รับการแจ้งเตือนและออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ได้แก่ เดฟ-ชยพล ดโนทัย กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และสมาชิกกลุ่ม WeVo, เอเลียร์ ฟอฟิ กลุ่มศิลปะปลดแอก, รพี อาจสมบูรณ์ กลุ่มศาลายาเพื่อประชาธิปไตย, รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ 
 
เนื้อหาในอีเมลล์จาก Apple ส่วนหนึ่งระบุว่า “Apple เชื่อว่าคุณกำลังตกเป็นเป้าหมายของแฮ็กเกอร์ที่รัฐให้การสนับสนุน ซึ่งพยายามแฮ็ก iPhone จากระยะไกลด้วย Apple ID ของคุณ แฮ็กเกอร์เหล่านี้อาจมุ่งโจมตีคุณส่วนตัว สืบเนื่องจากสิ่งที่คุณเป็นหรือสิ่งที่คุณทำ หากอุปกรณ์ของคุณถูกโจมตีโดยแฮ็กเกอร์ที่รัฐให้การสนับสนุน พวกเขาอาจสามารถเข้าถึงข้อมูล การสื่อสารที่อ่อนไหว หรือแม้แต่อาจเข้าถึงกล้องและไมโครโฟนจากระยะไกลได้ ถึงแม้ว่านี่อาจเป็นคำเตือนที่ผิดพลาด แต่ก็ขอให้ระวังไว้” นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า ก่อนที่นักกิจกรรมทางการเมืองในไทยจะได้รับอีเมลแจ้งเตือนเรื่องความปลอดภัย Apple สำนักงานใหญ่ได้ยื่นฟ้องบริษัท NSO Group ผู้สร้างมัลแวร์ Pegasus ที่สามารถเข้าควบคุมเครื่องได้อย่างสมบูรณ์โดยที่ไม่รู้ตัว และสามารถแฮ็กได้ทั้ง Android และ iOS
 
2191
 
๐ ประกาศผ่านรถตำรวจ หวังประจานผู้ชุมนุม
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า วันที่ 31 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขับรถไปจอดหน้าบ้าน ‘ขจรศักดิ์’ หนึ่งในผู้ต้องหาจากเหตุชุมนุมหน้าสน.พญาไทและถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดป้อมจราจรบริเวณแยกพญาไท พร้อมกับประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “ผู้ต้องหาครอบครองวัตถุระเบิด นายขจรศักดิ์อยู่บ้านหลังนี้นะ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษสำหรับผู้ต้องหารายนี้นะ นายขจรศักดิ์ ครอบครองวัตถุระเบิด ครอบครองวัตถุระเบิด มีการประดิษฐ์วัตถุระเบิด อยู่บ้านหลังนี้นะ บ้านหลังสีขาว…”  และกระทำการคล้ายๆกันอีกสามครั้ง คือนำรถมาจอดหน้าบ้านหลายคัน บีบแตรและเปิดเสียงสัญญาณไซเรน โดยครั้งล่าสุดเท่าที่ทราบคือวันที่ 12 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจมาพร้อมรถยนต์ 9 คัน บางคันมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนอยู่ท้ายกระบะ ขับมาวนเวียนและจอดอยู่ชั่วครู่บริเวณบ้านก่อนจะขับออกไป โดยแม่ของขจรศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์กับทางศูนย์ทนายฯว่า นี่คือการคุกคามสร้างความกลัวและเป็นการประจานเพื่อให้เกิดความเกลียดชังอันกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตของคนในครอบครัว  
 
อ่านบทสัมภาษณ์ครอบครัวของขจรศักดิ์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ที่ https://tlhr2014.com/archives/37745
หมายเหตุ : ขจรศักดิ์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564  
 
2192
 
๐ ใช้ข้อมูลนัดหมายฉีดวัคซีน ตามจับนักกิจกรรม
 
23 พฤศจิกายน 2564 ศุภกร ขุนชิต นักกิจกรรมและนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตหาดใหญ่ได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปหมายจับผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่าตนโดนตำรวจล้อมจับขณะมาฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นหมายจับคดี มาตรา112 จากศาลจังหวัดพัทลุง โดยศุภกรได้เปิดเผยบนเว็บไซต์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าถึงเหตุการณ์ขณะถูกล้อมจับว่า หลังเขาเดินทางไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเป็นเข็มที่ 2 แล้วเสร็จ ระหว่างเดินออกมา ได้มีชายนอกเครื่องแบบคนหนึ่งติดตามมาร้องเรียก “น้องๆ” เขาจึงคิดว่าเป็นชาวบ้านจะมาสอบถามข้อมูล จึงเดินเข้าไปหา กลับพบว่ามีชายนอกเครื่องแบบอีก 3-4 คน รุมกันออกมาล้อมเขา พร้อมแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และแสดงหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดพัทลุง จากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกไม่ต่ำกว่า 7-8 นาย ออกมาจากรถ เข้ามาล้อมเขาเพิ่ม บางนายห้อยป้ายเป็นตำรวจ ระหว่างการถูกควบคุมตัว ศุภกรยังพยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมถึงมีหมายจับเลย เขาไม่เคยได้หมายเรียกมาก่อน ตำรวจชุดจับกุมรับว่าไม่ทราบ ศุภกรยังระบุว่าเมื่อเดือนก่อนหน้านี้ คือเดือนตุลาคม เขาเพิ่งเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบหาดใหญ่ ที่ สภ.คอหงส์ แต่หมายจับออกมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ทำไมเจ้าหน้าที่ถึงไม่จับกุมเขาทันที กลับมารอจับในตอนนี้ ตำรวจได้ระบุว่าเขาก็เพิ่งทราบเรื่อง 
 
ต่อมา 24 พฤศจิกายน 2564 อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อนนักศึกษา และทนายความ ได้เดินทางไปยังสถานีตำรวจเพื่อเข้าพบศุภกร และร่วมฟังการสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหากระทำความผิดทั้งหมด 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 , ข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากเหตุถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆในจังหวัดพัทลุงและใส่ข้อความในภาพดังกล่าว จำนวน 15 ภาพและโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊ก "พัทลุงปลดแอก" และ "ประชาธิปไตยในด้ามขวาน" โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าภาพและข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น และใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี ทำให้พระองค์ท่านเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร ทั้งนี้ ศุภกรได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ยื่นฝากขังต่อศาลจังหวัดพัทลุง ศาลเห็นว่าเป็นคดีมีอัตราโทษสูงต้องมีประกัน สุทธิชัยซึ่งเป็นอาจารย์และคณบดีคณะนิติศาสตร์ จึงยื่นคำร้องขอประกันโดยใช้ตำแหน่งทางวิชาการ และศาลอนุญาตให้ประกันตัว 
 
2193
 
๐ เอาตัวไปทำประวัติก่อน ส่วนข้อหาคิดวันหลัง
 
ในการตัดสินใจว่า จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับนักเคลื่อนไหวคนใด หรือจะใช้มาตรการอื่นใด ตำรวจอาจต้องการหาข้อมูลให้ได้มากที่สุดก่อน จึงมีกระบวนการที่ตำรวจแอบทำประวัตินักกิจกรรม โดยที่ไม่ได้มีกฎหมายใดให้อำนาจไว้ หรือไม่ใช่ขั้นตอนใดๆ ในกระบวนการยุติธรรม แต่นักกิจกรรมส่วนใหญ่ก็จะยินยอมให้ข้อมูลเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ตัวอย่างเช่น กลางดึกของคืนวันที่ 11 กันยายน 2564 ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงและจับกุมผู้ที่อยู่ในพื้นที่ไปจำนวนมาก ในจำนวนนี้ 25 คนเป็นทีมแพทย์อาสาจากหลายกลุ่ม ตำรวจเอาตัวไปไว้รวมกันที่ สน.ดินแดง และไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าพบ โดยอ้างว่า ไม่ได้จับกุมมาดำเนินคดีใดๆ "เดี๋ยวก็ได้กลับ" เมื่อทนายความไปถึงก็ได้แต่พูดคุยกับคนถูกจับแค่ 2-3 ประโยคและต้องรอในห้องประชุม โดยผู้ถูกจับได้ปล่อยตัวในเวลา 2-3 ชั่วโมงให้หลัง และเล่าว่าตำรวจสอบถามข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ประวัติการทำกิจกรรม ของแต่ละคนทีละคนและบันทึกไว้ ต่อมาชาญชัย ผู้ประสานงานของทีมแพทย์อาสาที่ถูกจับ ถูกสน.ดินแดงเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาจากการร่วมชุมนุมร่วม 12 คดี 
 
อีกกรณีหนึ่งในคืนวันที่ 31 ตุลาคม 2564 หลังการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ตำรวจติดตามจับกุมตัวคนขับรถเครื่องเสียงของเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี และคนที่นั่งมาด้วยรวมสองคน ไปที่สน.ลุมพินี เพื่อตั้งข้อหาฐานร่วมชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังจากกระบวนการสอบสวนเสร็จทั้งสองคนถูกสั่งให้ขึ้นไปที่ชั้นสองเพื่อพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่กลับใช้เวลามากกว่า 30 นาที เมื่อลงมาทั้งสองคนเล่าว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบ อายุไม่มาก อีกชุดหนึ่ง 4-5 คนมาเอาตัวไปซักประวัติและบันทึกไว้ โดยถามคำถามทำนองว่า การไปร่วมชุมนุมมีใครชักชวนให้ไป และได้รับเงินจากใครหรือไม่ ซึ่งเป็นกระบวนการนอกขั้นตอนของกฎหมาย
 
2194
 
๐ กสทช. ออกตัวคุมสื่อ ขอเลี่ยงนำเสนอข่าวปฏิรูปสถาบันฯ-มาตรา 112  
 
26 พฤศจิกายน 2564 พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ ประธานคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ เชิญตัวแทนสื่อมวลชนเพื่อมาพูดคุยถึงการนำเสนอข่าวโดยเฉพาะในประเด็นที่มีข้อกฎหมายต่างๆ เช่น ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อผู้ถูกร้อง 3 รายได้แก่ อานนท์ นำภา, ไมค์ ภาณูพงศ์, รุ้ง ปนัสยา จากกรณีปราศรัยถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยขอความร่วมมือสื่อมวลชนแต่ละสำนักให้หลีกเลี่ยงการนำเสนอเนื้อหา 10 ข้อเรียกร้องของแกนนำการชุมนุมที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และการเผยแพร่ข่าวนั้นอาจจะเป็นการกระทำซ้ำ โดยเสนอให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวโดยหลีกเลี่ยงลักษณะการสัมภาษณ์แหล่งข่าว เช่น แกนนำที่ถูกคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ชุมนุม หรือบุคคลที่มีความคิดเข้าข่ายลักษณะเดียวกับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ โดยสามารถรายงานตามปรากฎการณ์ข้อเท็จจริงได้ และขอให้หลีกเลี่ยงการรายงานสดแช่บรรยากาศนาน เพื่อป้องกันการนำเสนอซ้ำจากเสียงการปราศรัยในการชุมนุม รวมถึงการพูดถึงบรรยากาศที่เข้าลักษณะการชักชวน นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือสื่อมวลชนหลีกเลี่ยงการนำเสนอประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เป็น 1ใน 10 ข้อเสนอ  
 
กระบวนการกำกับดูแลเนื้อหาในสื่อมวลชนนั้น เป็นอำนาจของ กสทช. ตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งให้อำนาจกสทช. ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการ ที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง หากไม่ปฏิบัติตามอาจปรับ 50,000 - 500,000 บาท หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ (สั่งปิดช่อง) 
 
2195
 
๐ ขู่แบนนิทานเด็ก ศธ.ชี้ยุยงปลุกปั่น-ครอบงำความคิด
 
นิทานชุด ‘วาดหวังหนังสือ’ มีเนื้อหาพูดถึงการเมืองไทย เรื่องราวประวัติศาสตร์ สะท้อนบทเรียนเรื่องพลเมือง สิทธิมนุษยชน นำเสนอแตกต่างจากแบบเรียนทั่วไปจนกลายเป็นที่โด่งดังในโลกออนไลน์ ต่อมา 27 กันยายน 2564 ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกมาระบุว่า ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ขณะนี้มีการผลิตหนังสือนิทานสำหรับเด็กคล้ายตำราเรียนและนำออกมาจัดจำหน่ายให้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไป ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายบิดเบือนและอาจให้เด็กเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้หากไม่ได้รับการชี้แนะอย่างถูกต้องโดยครูหรือผู้ปกรอง โดยได้ตั้งทีมเฉพาะกิจทำงานประสานกับฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบเนื้อหาของนิทานชุดดังกล่าว นอกจากนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  และสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้ร้องเรียนเพื่อให้ตรวจสอบกรณีหนังสือดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ดี ทางเพจวาดหวังหนังสือที่เป็นคณะผู้จัดทำได้โพสต์ข้อความระบุว่าหลังจากเกิดกระแสข่าวที่หน่วยงานรัฐจะเข้ามาตรวจสอบทำให้หนังสือจำนวน 17,000 เล่มขายหมดภายในไม่กี่วัน สร้างความสนใจให้กับนักอ่านจำนวนมาก 
 
กระบวนการตรวจสอบสิ่งพิมพ์เป็นไปตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2551 มาตรา 10 ที่ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจสั่งห้ามการนำเข้าสิ่งพิมพ์ที่อาจเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี โดยอำนาจที่มีคือการสั่งห้าม "นำเข้า" เท่านั้น ไม่ได้ห้ามการพิมพ์และเผยแพร่ในราชอาณาจักร ทางตำรวจจึงยังไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดที่จะสั่งห้ามพิมพ์หรือเผยแพร่นิทานชุดนี้ได้
 
2196
 
๐ ไล่ปิดแอคเค้าท์ ส่งหมายเรียกทางช่องแชท
 
ช่วงกลางปี2564 หลังศาลอาญาได้มีแนวบรรทัดฐานว่า คำร้องขอให้ศาลสั่งบล็อคเว็บต้องไต่สวนโดยให้ผู้เกี่ยวข้องมีโอกาสคัดค้านได้ ก็ปรากฏว่า เมื่อเจ้าหน้าที่จากกระทรวงดีอียื่นคำร้องต่อศาล ศาลก็ออกหมายนัดไต่สวนคำร้องส่งไปยังผู้ที่น่าจะเป็นเจ้าของข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น และหลายกรณีที่ไม่ทราบว่า เจ้าของบัญชีที่แท้จริง คือใคร และมีที่อยู่ที่ใด จึงใช้วิธีการส่งหมายนัดไปทางช่องทางบนโลกออนไลน์ เช่น DM ของ Twitter หรือ Inbox ของ Facebook โดยหมายนัดของศาลจะระบุที่มุมซ้ายบนว่า เป็น "หมายนัดไต่สวนคำร้อง" พร้อมข้อความว่า ศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องในวันใด เวลาใด พร้อมกับระบุว่า หากจะคัดค้านประการใดให้คัดค้านต่อศาลก่อนเวลานัด และมีผู้ใช้โซเชี่ยลมีเดียหลายรายโพสข้อความว่า ได้รับหมายเรียกลักษณะนี้ สร้างความตื่นตระหนก เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่า เป็นกระบวนการอะไรและจะมีผลกระทบอะไรต่อตนเองบ้าง
 
ต่อมา 26 กรกฎาคม 2564 สำนักงานศาลยุติธรรมออกเอกสารแจกให้สื่อมวลชน โดยอธิบายว่า สำหรับผู้ที่มีชื่ออยู่ในหมายแจ้งไต่สวนนั้นไม่ได้ถือว่ามีสถานะทางกฎหมายเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่ว่าหากไม่มาศาลตามนัดแล้วจะถูกออกหมายจับ หรือมีความผิดที่ไม่มาศาล หมายนัดไต่สวนคำร้องขอปิดเว็บไซต์การส่งจะดำเนินการในรูปแบบหมายอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับสภาพของผู้เกี่ยวข้องล้วนอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงช่องทางนั้นได้ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/blog/BlockProcess
 
2197
 
๐ ร่างพ.ร.บ. เอ็นจีโอฯ มุ่งควบคุมองค์กรทำงานรณรงค์
 
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งกัน พ.ศ. ... ถูกจัดทำขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเข้ามาควบคุมการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้ โดยที่หากร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาที่น่ากังวลว่าจะส่งผลให้สมาคม มูลนิธิ คณะบุคคลที่ดำเนินกิจกรรมโดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงกำไร ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย และให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบและมีอำนาจในการพิจารณาว่าจะทำกิจกรรมใดไม่ได้บ้าง ถ้าองค์กรนั้นได้รับเงินทุนจากต่างประเทศ ซึ่งในระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ เครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กรได้ออกมาคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยชี้ว่าการรวมกลุ่มเพื่อขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆควรเป็นเสรีภาพที่ไม่ถูกควบคุม แต่ร่างกฎหมายนี้มีขึ้นเพื่อมุ่งจำกัดเสรีภาพในการรวมกลุ่ม อันจะขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ
 
อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้มีการปรับแก้เนื้อหาสองครั้ง โดยสาเหตุที่มีการยกร่างขึ้นใหม่ คณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่าเพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน และกำหนดกลไกการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น ไม่เป็นภาระเกินสมควร โดยก่อนที่จะมีการยกร่างใหม่ ทางคณะรัฐมนตรีได้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับหลักการในข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ รวมทั้งให้รับฟังความเห็นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งล่าสุดวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือแจ้งต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอร่างกฎหมายที่แก้ไขใหม่ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง โดยคาดว่าจะมีกำหนดเข้าที่ประชุมในวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ซึ่งถ้าหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับร่างฯนี้ ขั้นตอนต่อไปคือจะมอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและทำการประเมินผลกระทบของร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ก่อนจะสรุปผลและนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
 
2198
Article type: