1266 1460 1177 1448 1976 1559 1316 1566 1099 1581 1339 1593 1127 1023 1590 1461 1396 1513 1035 1457 1724 1579 1867 1657 1936 1896 1303 1620 1300 1279 1079 1747 1662 1049 1222 1709 1522 1985 1433 1354 1881 1644 1738 1614 1908 1929 1634 1462 1937 1995 1017 1103 1992 1928 1731 1794 1531 1794 1703 1307 1301 1596 1911 1232 1570 1005 1931 1127 1197 1347 1336 1539 1580 1137 1741 1892 1679 1979 1547 1437 1438 1705 1552 1291 1887 1677 1780 1090 1549 1642 1672 1332 1021 1942 1523 1685 1822 1330 1221 “ไม่แออัด-ไม่ปลุกปั่น-ไม่มีหลักฐาน”: ทบทวนคำสั่ง 'ไม่ฟ้อง-ยกฟ้อง' ในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตลอดปี 2564 - ต้นปี 2565 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

“ไม่แออัด-ไม่ปลุกปั่น-ไม่มีหลักฐาน”: ทบทวนคำสั่ง 'ไม่ฟ้อง-ยกฟ้อง' ในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตลอดปี 2564 - ต้นปี 2565

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษแก่รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเพื่อความปลอดภัยของประเทศ ได้ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 โดยมีทั้งข้อห้ามมิให้บุคคลออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด ห้ามการเสนอข่าวสารที่บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม กระทั่งการห้ามมิให้มีการชุมนุมรวมตัวกัน

 

ภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเวลามากกว่าหนึ่งปี จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในข้อหา "ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ถูกกล่าวหาแล้วอย่างน้อย 1,444 คน ใน 623 คดี โดยแยกเป็นคดีในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกจำนวน 24 คดี จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ “ได้หมายซ้ำซ้อน” ของแกนนำผู้จัดและผู้เข้าร่วมชุมนุม เช่น ไบร์ท เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ได้รับหมายจำนวน 28 คดี, ไดโน่ ทะลุฟ้าจำนวน 21 คดี และครูใหญ่ อรรถพลจำนวน 18 คดี 

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ตัวเลขดังกล่าว บางคดีก็ได้สิ้นสุดลงแล้วสืบเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ เช่น คดีชุมนุมรำลึกครบรอบหกปี รัฐประหาร ที่จัดขึ้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2563 เพื่อระดมทุนช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากการระบาดของโควิด-19 โดยอัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้อง “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” หรือ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และทศพร เสรีรักษ์ ต่อศาลแขวงปทุมวัน ภายหลังการรับทราบข้อกล่าวหาและรับสารภาพ ทั้งสองได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง จากโทษปรับคนละ 5,000 บาท เหลือ 2,500 บาท

 

นอกเหนือจากการรับสารภาพแล้ว ยังมีคดีอีกจำนวนหนึ่งที่สิ้นสุดลงด้วยคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” จากคำสั่งของอัยการ รวมทั้งคำตัดสิน "ยกฟ้อง" จากการพิพากษาของศาล ไอลอว์ชวนย้อนดูเอกสารคำวินิจฉัยของคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตลอดปี 2564 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 7 คดีดังต่อไปนี้

 

 

2206

 

คำสั่งไม่ฟ้อง

1) ชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ (26 กรกฎาคม 2563) 

จากกรณีการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณสวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เมื่อ 26 กรกฎาคม 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยื่นข้อเรียกร้องจำนวนห้าข้อต่อรัฐบาล ภายหลังการชุมนุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาต่อผู้ชุมนุมสี่คน ประกอบไปด้วย พินิจ ทองคำ, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, บอล ธนวัฒน์ วงค์ไชย และ อานนท์ นำภา

 

หนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดี ลงวันที่ 3 มีนาคม 2564 ลงนามโดยนายณัฐนนท์ ไวปัญญา อัยการจังหวัดผู้ช่วย ปฏิบัติราชการแทนอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงลำปาง มีเนื้อหาโดยสรุปแบ่งเป็น 2 ประเด็นดังนี้

 

  • สถานที่จัดไม่มีลักษณะเป็นพื้นที่แออัด

“พิจารณาแล้ว จากพยานหลักฐานรูปถ่ายสถานที่เกิดเหตุบริเวณข่วงนคร ห้าแยกหอนาฬิกา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะ มีลักษณะเป็นลานกว้าง โล่งแจ้ง ไม่มีลักษณะเป็นสถานที่แออัด อันจะมีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทยในช่วงเวลาเกิดเหตุแต่อย่างใด"

 

“อีกทั้งมีภาพถ่ายของผู้ที่มาร่วมชุมนุมส่วนใหญ่มีการป้องกันโรคติดต่อ ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย ยืนและนั่งกระจายกันตามจุดต่างๆ ไม่มีลักษณะแออัด ที่เบียดเสียดใกล้ชิดกันแต่ประการใด และในการชุมนุมมีการประสานกับเจ้าหน้าที่จัดกิจกรรมในระยะเวลาที่ไม่นาน เนื้อหาปราศรัยส่วนใหญ่โจมตีการบริหารงานของรัฐบาล มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพ ที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดที่ชัดว่ามีการยุยงปลุกปั่น หรือกระทำการใดๆ เพื่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองแต่อย่างใด"

 

  • ไม่มีตัวเลขของผู้ติดเชื้อในช่วงเวลาที่มีการจัดชุมนุม

“เมื่อพิจารณาจาก รายงานหรือสถิติผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในท้องที่จังหวัดลำปาง ตามหนังสือของ ศาลากลางจังหวัดลำปางที่ ลป 0032/23631 ลงวันที่ 17 พ.ย. 2563 (เหตุในคดีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2563) ไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในท้องที่จังหวัดลำปางแต่อย่างใด"

 

“คดีนี้ ผู้ต้องหาทั้งสี่ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีนี้ พยานหลักฐานในคดียังมีไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีนี้ คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ในคดีนี้"

 

โดยจากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า คดีการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ นับเป็นคดีแรก ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นต้นมา 

 

อ่านเอกสารแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดี : https://tlhr2014.com/archives/28755

 

2) ชุมนุม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ (29 กรกฎาคม 2563)

จากกรณีการชุมนุม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ  ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณลานท่าน้ำนนทบุรีเมื่อ 26 กรกฎาคม 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนสามข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ภายหลังการชุมนุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาต่อผู้ชุมนุมสามคน ประกอบไปด้วย ปาริชาติ เลิศอัคระรัตน์, ศศณัฐ เจริญราษฎร และไบรท์ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง

 

หนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดี ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ลงนามโดยอัคคพล รักผกา อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 1 รักษาการในตำแหน่งอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี มีเนื้อหาโดยสรุปแบ่งเป็น 3 ประเด็นดังนี้

 

  • พฤติการณ์และคำปราศรัยไม่เข้าข่ายการยุยงปลุกปั่น

“ในความผิดฐานการกระทำอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย พนักงานอัยการเห็นว่าคดีมีบันทึกการถอดเทปปราศรัยกลุ่มผู้ชุมนุม และบันทึกข้อความ เรื่องรายงานการจัดกิจกรรมของกลุ่มเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนและกลุ่มลูกทุเรียนต่อต้านเผด็จการ ลงวันที่ 3 กันยายน 2564 ซึ่งได้สรุปเนื้อหาในการชุมนุมว่า “ในส่วนของผู้ต้องหาที่ 1 (ชินวัตร) ได้กล่าวข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน 2. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน 3. ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หยุดคุกคามประชาชน ส่วนของแกนนำอื่นได้สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันพูดกับนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มาร่วมการชุมนุม โดยเนื้อหาจะเป็นการพูดเกี่ยวกับระบบการศึกษา การเรียนการสอนของครูในโรงเรียน และร่วมกันทำกิจกรรมร้อง เต้น ฯลฯ..”

 

“และยังได้สรุปข้อความสำคัญจากการปราศรัยว่า “ไม่ปรากฏว่าได้มีการพูดกับประชาชนที่มาร่วมชุมนุมในทำนองและลักษณะที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปกระทำละเมิดต่อกฎหมาย หรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแต่อย่างใด หรือปลุกระดมประชาชนทั่วไป หรือมีถ้อยคำจาบจ้วงหรือหมิ่นสถาบันแต่อย่างใด” ประกอบกับผู้กล่าวหา ที่ทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมตลอดระยะเวลาที่ชุมนุม ก็ไม่ยืนยันว่าในวันชุมนุม ผู้ต้องหาทั้งสามได้กระทำการใดหรือกล่าวถ้อยคำใดมีลักษณะเป็นการยุยงผู้ร่วมชุมนุม ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด จึงเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสามได้การกระทำอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”

 

  • สถานที่จัดไม่มีลักษณะเป็นพื้นที่แออัด

“ในส่วนความผิดฐานร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด อันมีลักษณะเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค พนักงานอัยการเห็นว่า คดีมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ตำแหน่งรักษาการณ์นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน ได้ตรวจดูภาพถ่ายการชุมนุมในวันดังกล่าว ยืนยันว่าบริเวณลานกิจกรรมท่าน้ำนนทบุรี เป็นสถานที่โล่ง โป่ง ไม่มีสิ่งบดบัง อากาศถ่ายเทได้ตลอดเวลา มิได้เป็นสถานที่แออัด อันจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคแต่อย่างใด การชุมนุมดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558”

 

  • ไม่มีตัวเลขของผู้ติดเชื้อในช่วงเวลาที่มีการจัดชุมนุม

“ทั้งพยานให้การยืนยันว่าในกรณีการชุมนุมนี้ ไม่พบว่ามีผู้ที่เป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นโควิด-19 ทั้งในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ทั้งพื้นที่จังหวัดนนทบุรีไม่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 60 วัน จึงไม่จำเป็นต้องสอบสวนโรค การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่มีโอกาสแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายผู้เข้าร่วมชุมนุมและภาพจากโดรนมุมสูง ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีการใส่หน้ากากอนามัย และผู้นำปราศรัย ได้มีการเว้นระยะห่างจากผู้ฟังพอสมควร”

 

“ทั้งในวันชุมนุมดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกันจัดทางเข้าออกให้กับผู้ชุมนุมเป็นทางเดียว และจัดให้มีการตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมชุมนุม อันเป็นการป้องกันมิให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเสี่ยงต่อการติดโรคได้ จึงเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาทั้งสาม ยังไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา”

 

ทั้งนี้ ภายหลังคำสั่งไม่ฟ้อง ศศณัฐและปาริชาติยังถูกเรียกตัวไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในข้อหา “ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” และชำระค่าปรับเทียบเป็นจำนวนเงิน 100 บาท เป็นผลให้คดีเป็นอันสิ้นสุดลง

 

อ่านเอกสารแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดี : https://tlhr2014.com/archives/37389

 

3) และ 4) กิจกรรมยื่นหนังสือ #Saveวันเฉลิม หน้าสถานทูตกัมพูชา (8 มิถุนายน 2563)

จากกรณีการทำกิจกรรมยื่นหนังสือ #Saveวันเฉลิม ที่หน้าสถานทูตกัมพูชา เมื่อ 8 มิถุนายน 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาติดตามการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และสืบเนื่องจากการชุมนุมในวันดังกล่าวได้แบ่งเป็นสองช่วงเวลา หมายเรียกฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงได้แบ่งออกเป็นสองคดี ดังนี้

 

คดีแรก แจ้งต่อกลุ่มที่ไปยื่นหนังสือต่อสถานทูตในช่วงเช้า โดยเป็นนักกิจกรรมจากเครือข่าย People Go และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) รวมสี่คน ประกอบไปด้วย ณัฐวุฒิ อุปปะ, แสงศิริ ตรีมรรคา, วศิน พงษ์เก่า และ อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ โดยหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้อง ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ลงนามโดยพนักงานอัยการพิเศษคดีศาลแขวง 2 มีเนื้อหาโดยสรุปแบ่งเป็น 2 ประเด็นดังนี้

 

  • พฤติการณ์-คำปราศรัยไม่เข้าข่ายการยุยงปลุกปั่น และ สถานที่จัดไม่มีลักษณะเป็นพื้นที่แออัด

“จากคำให้การของพยาน ต่างยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ยืนอยู่หน้าสถานทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย ที่เกิดเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.10 น. โดยมีวัตถุประสงค์มายื่นหนังสือ 2 ฉบับ ต่อสถานทูตกัมพูชา คือหนังสือแถลงการณ์ของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และหนังสือขอให้เร่งรัดดำเนินการและหาตัวและช่วยเหลือนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหายตัวไปในประเทศกัมพูชา และนำตัวผู้กระทำความผิดมาสู่กระบวนการตามกฎหมาย แต่ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหน้าที่สถานทูตกัมพูชาออกมารับหนังสือ”

 

“จนกระทั่งเวลา 11.40 น. ผู้ต้องหาทั้งสี่แยกย้ายกันกลับ โดยที่ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายหรือรุนแรงแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองแต่อย่างใด เป็นเพียงการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไป ทั้งสถานที่ที่ผู้ต้องหาทั้งสี่ไปขอยื่นหนังสือต่อสถานทูตกัมพูชานั้น ก็เป็นบริเวณด้านนอกสถานทูตฯ บนทางเท้าเป็นที่โล่งและกว้างขวาง ไม่ได้เป็นสถานที่แออัดแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ต้องหาทั้งสี่ก็ได้สวมหน้ากากอนามัยขณะที่ทำกิจกรรมด้วยกันทุกคน

 

“และเมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของผู้ต้องหาทั้งสี่แล้ว ก็เห็นได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสี่มีวัตถุประสงค์เพียงยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสถานทูตกัมพูชา ในเรื่องการขอให้สถานทูตกัมพูชาดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เท่านั้น มิได้มีเจตนาที่จะยุยงให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมกับพวกตนในทันที หรือก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองแต่อย่างใด และเมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่สถานทูตกัมพูชาออกมารับหนังสือจากผู้ต้องหาทั้งสี่แล้ว ผู้ต้องหาทั้งสี่ก็ได้สลายตัวกลับในทันที ซึ่งรวมระยะเวลาที่ผู้ต้องหาทั้งสี่กับพวกอยู่ที่สถานทูตก็เพียงชั่วโมงเศษเท่านั้น จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้งสี่ จึงเห็นได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ไม่ได้มั่วสุมในสถานที่แออัด ไม่ได้ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง คดีจึงมีหลักฐานไม่พอฟ้อง”

 

คดีที่สอง แจ้งต่อกลุ่มที่ทำกิจกรรมในช่วงเย็น โดยเป็นนักกิจกรรมจากหลากหลายกลุ่ม ถูกดำเนินคดีอีกหกคน ได้แก่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข, โชติศักดิ์ อ่อนสูง, นภัสสร บุญรีย์, มัทนา อัจจิมา, ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี และ ‘แชมป์ 1984’ (นามสมมติ) โดยหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ก็ได้วินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องคดีในลักษณะเดียวกันกับคดีแรก โดยเห็นว่า “การชุมนุมเป็นเพียงการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไป ไม่ได้มั่วสุมในสถานที่แออัด ไม่ได้ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง” เช่นเดียวกัน

 

อ่านเอกสารแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดี : https://tlhr2014.com/archives/35711

 

5) คาร์ม็อบ #ไล่ประยุทธ์ จังหวัดตาก (15 สิงหาคม 2564)

จากกรณีการชุมนุมคาร์ม็อบ #ไล่ประยุทธ์ ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณจุดนัดพบหมู่บ้านหนองบัวใต้ และเคลื่อนขบวนไปยังเขตพื้นที่ สภ.วังเจ้า จังหวัดตาก เมื่อ 15 สิงหาคม 2564 ภายหลังการชุมนุมดังกล่าว “สุภา” (นามสมมติ) ประชาชนในจังหวัดตากวัย 63 ปี ถูกกล่าวหาว่าเธอได้แชร์โพสต์เชิญชวนทำกิจกรรม รวมทั้งนำรถกระบะมาเข้าร่วมในวันเกิดเหตุ จึงมีความผิดในสี่ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดตาก, ส่งเสียงดังอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร และกีดขวางทางสาธารณะ

 

หนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้อง ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ลงนามโดยกิตติพงษ์ สินพิทักษ์กุล รองอัยการจังหวัดตาก สำนักงานอัยการจังหวัดตาก ได้มีความเห็นไม่สั่งฟ้องในทุกข้อกล่าวหา มีเนื้อหาโดยสรุปแบ่งเป็น 2 ประเด็นดังนี้

 

  • สถานที่จัดไม่มีลักษณะเป็นพื้นที่แออัด

“คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ ได้เดินทางมาบริเวณที่เกิดเหตุโดยต่างคนต่างขับรถยนต์ส่วนตัว ต่างคนต่างจอดรถยนต์บริเวณหน้าวัดพระนารายณ์ รวมกันประมาณ 17 คัน โดยจอดเป็นแถวเรียงต่อกันยาวบริเวณที่เกิดเหตุ เข้าร่วมกันทำกิจกรรมประมาณ 20 คน โดยทุกคนมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด แม้จะมีการรวมตัวกันบนถนนประมาณ 6-7 คน และทำการถ่ายรูปและแสดงสัญลักษณ์ยกมือชู 3 นิ้ว หลังจากนั้นผู้ต้องหาและผู้ร่วมกิจกรรมได้ขับรถเคลื่อนขบวนเป็นแถวเรียงยาวตามกันเป็นขบวน มุ่งหน้าสู่ถนนสาธารณะในหมู่บ้าน รวมตัวกันในระยะเวลาอันสั้น โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอยู่ โดยไม่ปรากฏว่ามีการสัมผัสใกล้ชิดหรือการกระทำอื่นใดที่จะทำให้เห็นว่าเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคติดต่อแต่อย่างใด ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก”

 

  • กิจกรรมไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน

“ขณะเกิดเหตุคดีนี้เป็นเวลากลางวันไม่ใช่ยามวิกาล ผู้ต้องหาและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ขับรถเคลื่อนขบวนเป็นแถวเรียงยาวตามกันเป็นขบวนมุ่งหน้าสู่ถนนสาธารณะในหมู่บ้าน โดยขณะเคลื่อนขบวน ผู้ต้องหาและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เปิดกระจกรถแสดงสัญลักษณ์ยกมือชู 3 นิ้ว โดยมีการเปิดไฟฉุกเฉินและบีบแตรเป็นระยะๆ ไปตามถนนที่เกิดเหตุในระดับปกติของการใช้รถยนต์ ไม่เป็นการใช้เสียงดังเกินกำหนด ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ประชาชนตกใจ และถนนสาธารณะดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีประชาชนอยู่กันอย่างหนาแน่น จนถึงขนาดทำให้ประชาชนเดือดร้อน”

 

“การที่ผู้ต้องหาและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ขับรถเคลื่อนขบวนเป็นแถวเรียงตามกันเป็นขบวนไปตามถนนสาธารณะที่เกิดเหตุ ยานพาหนะอื่นๆ ในเส้นทางสาธารณะดังกล่าวก็ยังสามารถขับขี่ได้ตามปกติ โดยไม่ปรากฏว่ามีการปิดกั้นถนนที่เกิดเหตุโดยเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบแต่อย่างใด แม้จะเป็นการไม่สะดวกอยู่บ้าง ก็ยังไม่เป็นเหตุถึงขนาดเป็นการกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร ดังนั้น พยานหลักฐานจึงไม่พอฟ้อง”

 

โดยคดีของ “สุภา” นับเป็นคดีการชุมนุมคาร์ม็อบคดีแรกในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี

 

อ่านเอกสารแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดี : https://tlhr2014.com/archives/39280

 

2325

 

คำสั่งยกฟ้อง

6) ปรเมษฐ์ ศรีวงษา ชุมนุม #อุดรสิบ่ทน (24 กรกฎาคม 2563)

จากกรณี การชุมนุม #อุดรสิบ่ทน เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ที่ลานน้ำพุ ทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยกลุ่ม "เสรีประชาธิปไตย นิสิต นักศึกษา อุดรธานี" ได้จัดกิจกรรมเพื่อชูสามข้อเรียกร้องหลักไปกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกและการชุมนุมอื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งมีการอ่านแถลงการณ์ยืนยันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ภายหลังการชุมนุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาต่อปรเมษฐ์ ศรีวงษา นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จากการไลฟ์สดขณะมีชุมนุม ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า คดีนี้นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองและมีการต่อสู้คดี คดีแรกของประเทศที่มีคำพิพากษาออกมา 

 

สำหรับคำสั่งยกฟ้องในคดีนี้ วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ศาลแขวงอุดรธานีได้มี คำพิพากษา โดยสรุปแบ่งเป็น 4 ประเด็นดังนี้

 

  • ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม
"แม้โจทก์จะพิสูจน์ได้ว่า ปรเมษฐ์เป็นหนึ่งในผู้ดูแลเพจ “กลุ่มเสรีประชาธิปไตย นิสิต นักศึกษา อุดรธานี” และมีการโพสต์เชิญชวนให้คนไปร่วมชุมนุมในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 แต่ไม่ถือว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม เนื่องจากขณะเกิดเหตุรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลให้ไม่บังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จึงนำนิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาปรับใช้กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้  การตีความให้ผู้เชิญชวนผู้อื่นมาร่วมชุมนุมเป็นผู้จัดการชุมนุม เป็นผลร้ายต่อผู้เชิญชวนมากเกินไป เนื่องจากขัดแย้งกับสภาพและขอบเขตการกระทำของผู้เชิญชวน อีกทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ไม่สามารถยืนยันได้ว่า จำเลยเป็นผู้ดูแลสถานที่ขณะเกิดเหตุ หรือก่อนเกิดเหตุแต่อย่างใด เมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมจึงไม่ต้องมีหน้าที่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ"
 
  • พฤติการณ์-คำปราศรัยไม่เข้าข่ายการยุยงปลุกปั่น
"การชุมนุมดังกล่าวไม่ถือเป็นการยุยงให้เกิดความวุ่นวาย เพราะตลอดการชุมนุมไม่มีเหตุวุ่นวาย อีกทั้ง พ.ต.อ.ยศวัจน์ แก้วสืบธัญนิจ  พยานโจทก์ ในฐานะผู้แจ้งความก็ระบุว่า เนื้อหาการปราศรัยในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 มีเพียงการวิจารณ์รัฐบาล และการชุมนุมไม่มีการขัดขวางเจ้าหน้าที่รัฐ" 
 
  • สถานที่จัดไม่มีลักษณะเป็นพื้นที่แออัด และ ไม่มีตัวเลขของผู้ติดเชื้อในช่วงเวลาที่มีการจัดชุมนุม
"ประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่า ในการชุมนุมดังกล่าวผู้เข้าร่วมชุมนุมนั่งและยืนชิดติดกันแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น ศาลเห็นว่า จะต้องมีการแออัดกันของผู้ชุมนุมตลอดพื้นที่ แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ผู้ชุมนุมยังคงเคลื่อนย้ายในพื้นที่ชุมนุมได้อย่างอิสระ และทุ่งศรีเมืองเป็นสถานที่โล่งกว้าง อีกทั้งจำเลยได้เว้นระยะห่างโดยไม่ได้ยืนใกล้ชิดหรือเกาะกลุ่มกับผู้ใด ส่วนการเกาะกลุ่มรวมตัวกันของผู้ชุมนุมอยู่เหนือการควบคุมของปรเมษฐ์ เนื่องจากไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ หรือมีการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง"

 

ึ7) มายด์ ภัสราวลี ชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย (21 ตุลาคม 2563)

จากกรณีการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 โดยเป็นการนัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นจดหมายลาออกของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ฉบับจำลอง) ให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี ภายหลังการชุมนุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาต่อผู้ชุมนุม 14 คน อาทิ ชลธิชา แจ้งเร็ว, กรกช แสงเย็นพันธ์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ปิยรัฐ จงเทพ, ชาติชาย แกดำ และไพศาล จันปาน โดยพนักงานอัยการได้ทยอยสั่งฟ้องจำเลยและแยกสำนวนคดีเป็นรายบุคคล จึงไม่ได้มีการพิจารณาร่วมเป็นคดีเดียวกัน

 

สำหรับคดีของมายด์ ภัสราวลี ที่ถูกตั้งข้อหา “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง” ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาโดยสรุปแบ่งเป็น 2 ประเด็นดังนี้

 

  • พฤติการณ์-คำปราศรัยไม่เข้าข่ายการยุยงปลุกปั่น และ เป็นเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

“ตามข้อกล่าวหาของโจทก์ ที่ว่าจำเลยมีพฤติการณ์ร่วมก่อความรุนแรง คือ มีการฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น ในทางนำสืบพบว่า จำเลยอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัย และบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธหรือได้กระทำความรุนแรงใด กรณีมีการฝ่าแนวกั้นตำรวจนั้น ก็ไม่มีพยานหลักฐานปรากฏว่าจำเลยได้อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ หรือมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ฝ่าแนวกั้นดังกล่าว พฤติการณ์ของจำเลยจึงยังไม่ได้กระทำความรุนแรงตามโจทก์ฟ้อง”

 

“ประกอบกับการออกคำสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นั้น จำต้องประกาศใช้ในสถานการณ์ที่มีความฉุกเฉินและมีความร้ายแรงอย่างยิ่ง รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ร้ายแรงนั้น จำต้องใช้บังคับกับการชุมนุมที่ไม่ชอบโดยกฎหมายเท่านั้น” 

 

“แต่ศาลเห็นว่าการชุมนุม เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งนั้น เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44 การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจึงเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการคุ้มครอง” 

 

“ส่วนในประเด็นของการชุมนุมที่มีการมั่วสุมเกินกว่า 5 คน ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 63  ศาลแขวงดุสิตได้วินิจฉัยว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “มั่วสุม” หมายถึง การชุมนุมกันเพื่อกระทำการในทางไม่ดี “ส่วนการที่มีบุคคลมารวมตัวกันกว่า 10,000 คน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น เป็นการเรียกร้องโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่ “การมั่วสุม” ประกอบกับอัยการโจทก์นำสืบไม่ได้ว่ามี “การมั่วสุม” อย่างไร”

 

อ่านคำพิพากษายกฟ้อง : https://tlhr2014.com/archives/38803

 

ข้อสังเกตแนวทางของคำวินิจฉัยในปี 2564

หากพิจารณาคำวินิจฉัยจากเอกสารคำสั่งไม่ฟ้องในห้าคดีแรกจะพบว่า มูลเหตุซึ่งชี้ว่าจำเลยไม่มีความผิดนั้นเป็นไปในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ การจัดกิจกรรมไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งปัจจัยด้านสถานที่จัดซึ่งเป็นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด รวมทั้งมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายของผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ที่มีการการสวมใส่หน้ากากอนามัย มีการเว้นระยะห่างจากกัน และมีการตั้งจุดตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิ รวมทั้งสองในสี่คดียังได้อ้างอิงข้อมูลเชิงสถิติว่า วันเวลาที่มีการจัดชุมนุมในจังหวัดนั้นๆ หรือในบริเวณดังกล่าว ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ มูลเหตุของคำสั่งไม่ฟ้องในแต่ละคดียังมุ่งพิจารณาไปที่เนื้อหาคำปราศรัย โดยหากเนื้อความส่วนใหญ่นั้นเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล ก็จะสามารถอนุมานได้ว่าเป็น “การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง” อันเป็นสิทธิเสรีภาพและได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังพิจารณาจากการไม่สามารถหาข้อเท็จจริงและหลักฐานมากพอเพื่อชี้ชัดว่า การทำกิจกรรมในวันเวลาดังกล่าวเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่

 

ในขณะที่คดีที่เจ็ดซึ่งเป็นคำสั่งยกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรงจากศาลแขวงดุสิตในกรณีคดีของมายด์ ภัสราวลี ก็ได้มีการพิจารณาไปในทิศทางเดียวกัน คือ มีการอ้างอิงพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานเพื่อโต้แย้งว่า พฤติการณ์ของจำเลยไม่เข้าข่ายคำว่า “มั่วสุม” และการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้นเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตจากตัวเลขในภาพรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า คดีที่มีคำสั่ง "ไม่ฟ้อง" ยังเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เนื่องจากแนวโน้มส่วนใหญ่ของพนักงานอัยการมักมีคำสั่งฟ้องส่งให้คดีขึ้นไปสู่ชั้นศาล ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า บทบาทของพนักงานอัยการในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองนั้นยังเป็นไปอย่างจำกัด

 

อัพเดท คดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งไม่ฟ้อง-ยกฟ้อง ในปี 2565

สำหรับคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่สิ้นสุดลงแล้วด้วยคำสั่งไม่ฟ้อง-ยกฟ้อง ในช่วงต้นปี 2565 มีอย่างน้อย 5 คดีดังต่อไปนี้

*อัพเดทล่าสุด วันที่ 16 มีนาคม 2565

 

2326

 

คำสั่งไม่ฟ้อง

1) คาร์ม็อบมุกดาหาร (29 สิงหาคม 2564)

จากกรณีการจัดกิจกรรม คาร์ม็อบที่จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 เพื่อแสดงพลังขับไล่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ออกจากตำแหน่ง ภายหลังการชุมนุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาต่อ ประเศียร สีสด ส.อบจ.มุกดาหาร, เดชณรงค์ (สงวนนามสกุล) อดีตแกนนำคนเสื้อแดงมุกดาหาร และสุระนาวา (สงวนนามสกุล) อดีตนายก อบต.แห่งหนึ่งใน จ.มุกดาหาร 

 

สำหรับคำสั่งไม่ฟ้อง วันที่ 7 มกราคม 2565 พ.ต.ท.นิเวศ เด่นนินนาท อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 4 รักษาการอัยการจังหวัดมุกดาหาร ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง 3 ผู้ต้องหาไปถึง ผกก.สภ.เมืองมุกดาหาร มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้ 

 

  • ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม

“พิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวันเวลา และสถานที่ที่กําหนดไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตให้ใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียง หรือขอให้ทางราชการอํานวยความสะดวกในการชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง แต่มาตรา 3 บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะ ดังต่อไปนี้ (6) การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน…”

 

"คดีนี้เหตุเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีการออกข้อกําหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงเรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 9) และคําสั่งจังหวัดมุกดาหารที่ 3905/2564 เรื่องห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค แต่พระราชกําหนดและกฎหมายลําดับรองที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุในคดีตามที่กล่าวมาข้างต้น มิได้บัญญัติให้นําบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลมแต่อย่างใด"

 

"กรณีไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กําหนดโดยชัดแจ้ง ให้ถือว่าผู้เชิญชวนบุคคลอื่นให้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นผู้จัดกิจกรรม ซึ่งผู้จัดกิจกรรมมีหน้าที่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานตามที่กําหนดไว้ในคําสั่งจังหวัดมุกดาหารที่ 3905/2564 ข้อ 1 แต่ผู้เชิญชวนให้ร่วมกิจกรรม หมายถึง 'ผู้ที่สนใจหรือเห็นด้วยกับกิจกรรมนั้น' โดยอาจไม่ใช่ผู้ที่ทําให้กิจกรรมนั้นเกิดขึ้น"

 

"สอดคล้องกับคําให้การของพยานว่าผู้ต้องหาทั้งสามได้มีการเชิญชวนให้คนมาร่วมชุมนุมผ่านเครื่องขยายเสียง ส่วนผู้ต้องหาที่ 1 โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้คนมาร่วมกิจกรรม ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่า ผู้ต้องหาทั้งสามมีบทบาทในการกํากับดูแลหรือสั่งการในการจัดทํากิจกรรม ประกอบกับมีภาพเคลื่อนไหว ปรากฏภาพเคลื่อนขบวนรถโดยมีเสียงผ่านเครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งอยู่กับรถยนต์กระบะของผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งนํามาร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง วิจารณ์การทํางานของนายกรัฐมนตรี ส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์คันอื่นที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีการจ้างมาจากที่ใด จึงฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคนนํามาร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง ส่วนภาพถ่ายหมู่ผู้ที่มาร่วมชุมนุม เป็นการถ่ายรูปร่วมกันระหว่างผู้มาร่วมกิจกรรมเท่านั้น ไม่มีภาพใดที่จะแสดงหรือสื่อความหมายให้เข้าใจได้ว่า ผู้ต้องหาทั้งสามเป็นผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้"

 

สำหรับคดีคาร์ม็อบมุกดาหาร นับเป็นคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบคดีที่ 2 ที่มีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง

 

อ่านเอกสารคำสั่งไม่ฟ้องคดี : https://tlhr2014.com/archives/41075

 

คำสั่งยกฟ้อง

2) ไบรท์ ชินวัตร ชุมนุม #ม็อบ6ธันวา63

จากกรณี #ม็อบ6ธันวา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ที่จัดโดยกลุ่มราษฎรฝั่งธนฯ และกลุ่มฟันเฟืองธนบุรี บริเวณหัวถนนลาดหญ้าและวงเวียนใหญ่ จังหวัดนนทบุรี โดยได้มีการปราศรัยบนรถกระบะและชักชวนประชาชนให้บวงสรวงดวงวิญญาณของพระเจ้าตากสิน ภายหลังการชุมนุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาต่อ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ใน 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, กีดขวางทางสาธารณะ, กีดขวางการจราจร, ตั้งวางวัตถุใดๆ บนถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

สำหรับคำสั่งยกฟ้องในคดีนี้ วันที่ 31 มกราคม 2565 ศาลแขวงธนบุรีได้มีคำพิพากษาโดยสรุปดังนี้

 

  • ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม
"ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยออกจากที่ชุมนุมกะทันหัน และไม่ได้อยู่ดูแลการชุมนุมจนกระทั่งจบการชุมนุม ถือว่าผิดวิสัยของผู้จัดการชุมนุม หลักฐานและพยานของฝ่ายโจทก์จึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดชุมนุมดังกล่าวจริง รวมถึงจำเลยไม่ได้มีการโพสต์ชักชวน หรือนำข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมแต่อย่างใด ดังนี้ การชุมนุมในวันดังกล่าว จึงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดในฐานที่เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ" 
 
"ในส่วนของประเด็นการกีดขวางทางจราจร, กีดขวางทางสาธารณะ, ตั้งวางวัตถุใดๆ บนถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และการใช้เครื่องขยายเสียง ศาลเห็นว่าการที่จำเลยจะเคลื่อนย้ายรถกระบะจากห้างสรรพสินค้าไปที่ลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ถือเป็นการกีดขวางทางสาธารณะโดยสภาพ แม้จะใช้เพียงช่องทางจราจรช่องเดียวในการเคลื่อนย้าย ส่วนประเด็นเรื่องการตั้งวางแผงเหล็ก ในทางนำสืบพบว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้วางแผงเหล็ก หรือสั่งการให้วางแผงเหล็กบนพื้นผิวถนนแต่อย่างใด"
 
ขณะที่ประเด็นเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลระบุว่า "เนื่องจากจำเลยเป็นผู้กล่าวปราศรัยและใช้เครื่องขยายเสียงดังกล่าว จึงถือเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องรับผิดชอบ ตรวจสอบว่าทางผู้จัดการชุมนุมได้มีการขอนุญาตเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าก่อนหรือไม่" 
 
ภายหลังมีคำพิพากษา ศาลได้สั่งลงโทษชินวัตรใน 2 ข้อหา คือ 1) ความผิดฐานกีดขวางทางจราจร ลงโทษปรับ 1,500 บาท และ 2) ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษปรับ 150 บาท แต่เนื่องจากชินวัตรให้การเป็นประโยชน์ ศาลจึงลดโทษปรับลงหนึ่งในสาม เป็นข้อหาแรก เหลือปรับ 1,000 บาท และข้อหาที่สองปรับ 100 บาท ตามลำดับ รวมเป็น 1,100 บาท ในขณะที่ข้อหาอื่นๆ มีการยกฟ้อง  

 

3) อานันท์ ลุ่มจันทร์ #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย (21 ตุลาคม 2563)

จากกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ที่มีการนัดรวมพลบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่น "จดหมายลาออกของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฉบับจำลอง" ให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี โดยภายหลังการชุมนุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาต่อผู้ชุมนุม 14 คน ซึ่งพนักงานอัยการได้ทยอยสั่งฟ้องจำเลยและแยกสำนวนคดีเป็นรายบุคคล จึงไม่ได้มีการพิจารณาร่วมเป็นคดีเดียวกัน

 

สำหรับคำสั่งยกฟ้องในคดีนี้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ศาลแขวงดุสิต ได้มีคำพิพากษาเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคดีของมายด์ ภัสราวลี โดยสามารถสรุปแยกเป็น 3 ประเด็นดังนี้

 

  • พฤติการณ์-คำปราศรัยไม่เข้าข่ายการยุยงปลุกปั่นหรือมั่วสุม
"จากพยานหลักฐานของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ที่ประชาชนปะทะกับเจ้าพนักงานตำรวจ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ปะทะกันก็ไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ใด และไม่มีใครถูกดำเนินคดี  ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธ ไม่มีพฤติการณ์อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ไม่เห็นว่ามีการทำลายทรัพย์สิน"  
 
"แม้ในวันเวลาเกิดเหตุจะอยู่ระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง แต่เมื่อพิจารณาบทนิยามคำว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามมาตรา 4 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดฉบับที่ 1 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง การชุมนุมที่จะเป็นความผิดได้นั้น จำต้องเป็นการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ ก่อให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นตามนัยมาตรา 4" 
 
  •  เป็นเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และ ไม่มีผู้ติดเชื้อในช่วงเวลาที่มีการจัดชุมนุม
"เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 บัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธไว้ และพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยเพียงแต่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เดินขบวนไปตามถนนสาธารณะ เพื่อนำข้อเรียกร้องไปยื่นต่อตัวแทนรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และกลุ่มผู้ชุมนุมก็ประกาศยุติการชุมนุม แม้การชุมนุมจะมีเหตุปะทะกันบริเวณแยกยมราช และแยกอุรุพงษ์ แต่ยังถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นทั้งหมด ภาพรวมเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ สถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่รุนแรงเกินกว่าจะนำมาอ้างเป็นเหตุห้ามชุมนุม"
 
"การที่จำเลยเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จึงเป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของสาธารณะ จึงมิใช่การชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง การเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยตามฟ้องจึงไม่ขัดต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ"
 
อ่านข่าวการยกฟ้องคดี : https://tlhr2014.com/archives/40897 
 

4) ชุมนุม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง (27 กรกฎาคม 2563)

จากกรณีการชุมนุม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 ที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง ภายหลังการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาต่อประชาชน 4 ราย ได้แก่ ชินภัทร วงค์คม บัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, ธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.มนตรา พงษ์นิล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และ ศิริวัฒน์ จุปะมัดถา อดีตแกนนำคนเสื้อแดงในจังหวัดพะเยา

 

สำหรับคำสั่งยกฟ้องในคดีนี้ ในวันที่ 10 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดพะเยาได้มีคำพิพากษาโดยสรุปแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นดังนี้

 

  • ประกาศผบ.สส. ฉบับแรก ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

"ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรม การมั่วสุม ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2563 ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่มีผลใช้บังคับ ย่อมไม่ต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหรือไม่"

 
  • สถานที่จัดไม่มีลักษณะเป็นพื้นที่แออัด
"มีข้อต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1-4 ชุมนุมในสถานที่แออัดหรือไม่นั้นเห็นว่า เป็นสถานที่โล่งแจ้ง มีพื้นที่เหลืออยู่มาก ผู้เข้าร่วมมีมาตรการป้องกันตัวเอง จึงไม่ถือว่าเป็นสถานที่แออัด"
 
  • พฤติการณ์-คำปราศรัยไม่เข้าข่ายการยุยงปลุกปั่น

"มีข้อต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1-4 จัดกิจกรรมยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่นั้น เห็นว่า พยานโจทก์ระบุว่าจำเลยใช้ถ้อยคำปลุกเร้าให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ชุมนุมเป็นเพียงการเรียกร้องกล่าวโจมตีการทำงานของรัฐบาล โดยเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะลาออก 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. หยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาชุมนุม ไม่มีถ้อยคำเป็นการยุยงปลุกปั่น และไม่ได้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น จึงเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งบันทึกถ้อยคำของตำรวจ มีลักษณะเหมือนคัดลอกกันมา ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการยุยงปลุกปั่น" 

 

อ่านคำพิพากษายกฟ้อง : https://tlhr2014.com/archives/41443?fbclid=IwAR0eZWIG-7BxGv7aN84mXqeExcnD0u6iX6uAGz0Bijjca91-Q_iYTGovMuk

 

5) ไพศาล จันปาน #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย (21 ตุลาคม 2563) 

จากกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ที่มีการนัดรวมพลบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่น "จดหมายลาออกของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฉบับจำลอง" ให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี โดยภายหลังการชุมนุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาต่อผู้ชุมนุม 14 คน ซึ่งพนักงานอัยการได้ทยอยสั่งฟ้องจำเลยและแยกสำนวนคดีเป็นรายบุคคล จึงไม่ได้มีการพิจารณาร่วมเป็นคดีเดียวกัน

 

สำหรับคำสั่งยกฟ้องในคดีนี้ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ศาลแขวงดุสิต ได้มีคำพิพากษาโดยสรุปแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นดังนี้

 

  • พฤติการณ์-คำปราศรัยไม่เข้าข่ายการยุยงปลุกปั่นหรือมั่วสุม

ศาลพิจารณาโดยอ้างอิงบทนิยามของคำว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบกับข้อกำหนดฉบับที่ 1 ที่ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง

 

"จากพยานหลักฐานที่นำสืบ จำเลยไม่ได้กระทำความรุนแรงอื่นใด รวมทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธ หรือมีพฤติการณ์อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ไม่เห็นว่ามีการทำลายทรัพย์สิน และจากคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาว่า ไม่ได้มีการบรรยายให้เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาดังกล่าวอย่างไร ทั้ง “การมั่วสุม” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสภา ให้ความหมายการมั่วสุมว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี เช่น ร่วมกันเสพยาเสพติดหรือเล่นการพนัน การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุม

 

  • เป็นเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

"การที่จำเลยร่วมกับบุคคลอื่นราว 10,000 คน ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วร่วมกันเดินขบวนไปตามถนนสาธารณะ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ให้แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เดินขบวนไปเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อตัวแทนรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นการใช้สิทธิที่เป็นไปตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นความผิดตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมข้อ 1"

 

"การที่จำเลยเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยมีข้อเรียกร้องดังกล่าวมา เป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มิใช่การชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง การเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยตามฟ้องจึงไม่ขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง"

 

คำพิพากษายกฟ้องทั้ง 3 คดีจากการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย นับว่ามีแนวทางคำพิพากษาไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ พฤติการณ์ของจำเลยไม่เข้าข่ายความผิดตามบทนิยามของคำว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” และข้อกำหนดการห้ามชุมนุมฯ อีกทั้งยังอาศัยการตีความเนื้อหาการกระทำในวันเกิดเหตุว่าอยู่ภายใต้สิทธิที่ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญอีกด้วย 

 

อ่านข่าวการยกฟ้องคดี : https://tlhr2014.com/archives/41459?fbclid=IwAR1TzEQzDx_i1sTqGVw3JXm6QF1GG9USNs_g9T8BvhwwJkDoayjQxvhaVmY

 

โดยสรุป ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา มีคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่สิ้นสุดลงด้วยคำสั่งไม่ฟ้อง-ยกฟ้อง โดยปรากฏแนวทางคำวินิจฉัยที่น่าสนใจ เช่น "ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรม" ซึ่งถูกใช้จำนวนสองในห้าคดี รวมทั้งมีคำวินิจฉัยว่า "ประกาศผบ.สส. ฉบับแรก ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ปรากฏออกมาเป็นครั้งแรก

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2565 ก็ยังคงมีการทยอยสั่งฟ้องคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ เช่น คดีจากกิจกรรม “CARPARK Phitsanulok” ในจังหวัดพิษณุโลก, กิจกรรม “ราษฎรออนทัวร์” จากการชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งได้ยื่นฟ้องแยกออกเป็น 2 คดี และกรณีการฟ้อง ไหม ธนพร จากกิจกรรมการยื่นหนังสือของกลุ่มสหภาพแรงงาน เป็นต้น

 

น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตอันใกล้นี้เราจะได้เห็น "คำพิพากษาที่ยึดบรรทัดฐานเดียวกัน" กับคำวินิจฉัยของบรรดาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่สิ้นสุดลงแล้วข้างต้นหรือไม่

Article type: