1418 1536 1261 1629 1195 1625 1344 1978 1180 1068 1328 1050 1452 1970 1257 1110 1715 1190 1276 1704 1749 1839 1656 1859 1785 1532 1471 1030 1060 1773 1185 1994 1529 1877 1002 1278 1909 1844 1933 1402 1628 1830 1516 1023 1861 1895 1679 1948 1071 1013 1404 1826 1408 1879 1371 1056 1214 1098 1747 1308 1918 1654 1091 1805 1426 1237 1109 1144 1732 1858 1303 1101 1801 1249 1322 1155 1760 1837 1411 1014 1459 1668 1315 1086 1835 1149 1859 1657 1452 1207 1463 1014 1172 1074 1493 1421 1341 1521 1901 บ้านทะลุฟ้าในคืนนี้ ไม่มีเสียงกวีของพี่แซม | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

บ้านทะลุฟ้าในคืนนี้ ไม่มีเสียงกวีของพี่แซม

“หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน

การสร้างสรรค์ย่อมสิ้นแผ่นดินหมอง

กลัวน้ำตาไหลหลั่งดั่งน้ำนอง

ก็จะต้องเห็นแก่ตัวชั่วนิรันดร์...”

 

2442

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เด็กหนุ่มสวมเสื้อสีดำคนหนึ่งขึ้นไปยืนอ่านบทกวีด้วยน้ำเสียงดุดัน แววตามุ่งมั่น บนเวทีงานรำลึก “20 ปี พฤษภาประชาธรรม” ในฐานะเลขาธิการของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

 

ชื่อของเขาคือ “แซม” พรชัย ยวนยี นักโทษทางการเมืองคนล่าสุดที่เพิ่งถูกส่งเข้าเรือนจำด้วยมาตรา 112 เมื่อ 7 กรกฎาคม 2565

 

แต่ด้วยเส้นทางการทำกิจกรรมที่ยาวนาน นี่จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่แซมมีคดีความติดตัวหรือต้องนอนในห้องตะราง ย้อนกลับไปในปี 2558 แซมเคยถูกจับกุมฐานชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 และเคยถูกฝากขังโดยศาลทหาร ในคดี “14 นักศึกษา” ด้วยข้อหามาตรา 116 จากการเคลื่อนไหวต่อต้านคณะรัฐประหาร กระทั่งมาในปี 2564 แซมก็ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกจำนวนสี่คดี จากการร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุฟ้า

 

ภายใต้ชื่อ “ทะลุฟ้า” แซมอาจไม่ใช่แกนนำเบื้องหน้าที่ผู้คนจดจำได้โดยทั่วไป แต่สำหรับสมาชิกหลายสิบคนที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังเดียวกันเพื่อเข็นดันวงล้อการเมืองบนถนน แซมคือพี่ชายคนสำคัญที่ “ไผ่ ดาวดิน” เคยฝากฝังให้ช่วยดูแลน้องๆ เมื่อครั้งที่ไผ่ถูกจำกัดเสรีภาพอยู่ในเรือนจำนานกว่าหกเดือน

 

แม้เอกลักษณ์โดดเด่นของทะลุฟ้าคือการทุ่มเทขับเคลื่อนขบวนให้ไปข้างหน้าเรื่อยๆ อย่างบ้าพลัง แต่ทุกคราวที่พวกเขาพักรบเพื่อสังสรรค์ ภาพคุ้นตาของเหล่าสมาชิกคือการมานั่งล้อมวงจิบเบียร์-เล่นดนตรี ที่คลุกเคล้าไปด้วยเสียงบทกวีเติมกำลังใจ พร้อมซอยจุ๊รสเด็ด

 

ทว่า จนถึงตอนนี้ ชั่วโมงกวียามค่ำคืนของพี่แซมได้ห่างหายมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

 

2437

 

“ผมเป็นเพื่อนกับแซมสมัยเป็นนักศึกษา แซมเป็นเลขาของ สนนท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) เรียนอยู่ที่จุฬาฯ ส่วนผมเป็นนักศึกษาที่ มข. แซมรหัส 52 ผมรหัส 53 เข้าเรียนช่วงใกล้ๆ กัน ตอนนั้นประเด็นที่เราทำด้วยกันเรื่องคัดค้านการเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ”

 

“ถ้าเรื่องคลาสสิคของแซม คือเรื่องตอนทำ สนนท. แซมจัดงาน รำลึก “35-53” 2 ทศวรรษ พฤษภาทมิฬ 2 ปี พฤษภาเลือด (20 พฤษภาคม 2555) ยุคนั้นเป็นยุคที่ สนนท. เคลื่อนไหวและแอคทีฟมากๆ สิ่งสำคัญในงานนั้นคือการขึ้นอ่านบทกวี ‘หมดจิตหมดใจ’ ที่เขียนโดยยังดี วจีจันทร์ ของแซม”

 

“อีกเหตุการณ์ธรรมดาๆ วันนั้นมีม็อบ 1 สิงหาคม 2564 แต่เราสองคนมีนัดต้องไปคุยกับใครซักที่ ก็เลยแยกตัวออกไป ระหว่างทางไปบนทางด่วนมีรถกระบะที่ทำของหล่น พอเห็นแล้วเราก็มองหน้ากัน จากนั้นไอแซมจอดรถเลย รู้ใจมาก เปิดไฟแล้วลงไปช่วยเขาเก็บ ฮาดี เห็นปุ๊ปสบตากันแล้วก็จอด เก็บกันเหงื่อแตกเลยงานนั้น ประทับใจนะ มันเป็นคนชอบช่วยเพื่อนมนุษย์ มันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัยไหนจนถึงปัจจุบัน”

 

“แซมอุทิศให้ขบวนมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา เป็น สนนท. หรืออยู่กับเครือข่ายต่างๆ ถ้ามีพี่น้องมากรุงเทพฯ ก็จะให้มาอยู่ที่บ้าน จนเหมือนเป็นที่รู้กันว่าถ้ามากรุงเทพฯ ให้มาอยู่ที่นี่ แซมดูแลพี่น้องดีมาก” 

 

“ตอนที่ทะลุฟ้าเดินมากรุงเทพฯ (มีนาคม 2564) เราบอกแซมว่า ถ้าติดคุกไป ฝากดูน้องด้วยนะ เราคิดว่าเราน่าจะโดน เลยคิดว่าต้องมีใครมาดูแทน และเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ทำให้แซมเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ในขบวนการ และเป็นบทบาทในการหนุนเสริมที่ดีมาก ในระหว่างที่ผมติดคุกไป แซมก็สร้างการเติบโต ต่อยอดขบวนการ มันเหมือนกับตอนที่เรายังเป็นนักศึกษา ยังเหมือนเดิม ทุกวันนี้พวกเราก็ยังเชื่อในแนวทาง แนวคิด วิธีการเดิม”

 

“เราทำงานด้วยกันมานานเลยรู้ใจแล้วก็เชื่อกัน เชื่อว่าแซมมันเอาอยู่ สามารถดูแลทะลุฟ้าได้ ในบรรดาคนที่ร่วมสู้กันมา คนนี้คือของจริง ฝากฝังไว้ใจได้ เรารู้สึกว่าน้องๆ ควรจะมีที่พึ่งที่สามารถให้คำปรึกษา ดูแล ในสไตล์เรา ซึ่งแซมก็ตอบโจทย์นี้ เข้าใจการใช้ชีวิตรวมหมู่และเข้าใจวิถีชีวิตของนักศึกษา” 

 

“คุณพลาดนะครับที่จับแซม พลาดแล้ว ฝากถึงคนอื่นๆ ในสังคม ถ้าความอยุติธรรมมันเกิดขึ้นกับมนุษย์คนหนึ่ง มันก็สามารถเกิดขึ้นได้อีกกับมนุษย์คนอื่นๆ ถ้าเรายังไม่เบื่อกับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นก็มาช่วยกัน ทำอะไรได้ก็ทำ ใครรู้จักก็ช่วยกันพูดถึงแซมกัน”

 

“สำหรับใครที่ไม่รู้จัก การเลือกตั้งครั้งหน้าก็อย่าไปเลือกพวกพรรคที่เป็นรัฐบาล หรือพวกพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลที่จับกุมคุมขังประชาชน ผมคิดว่าเหตุการณ์ต่างๆ สถิติต่างๆ ในการจับกุมเพื่อนๆ ที่อยู่ในเรือนจำ เป็นตัวชี้วัดว่านี่คือผลงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว ขออย่าไปเลือกมันอีกในครั้งหน้า ให้การสูญเสียอิสรภาพของแต่ละคนมันคุ้มค่ากับอีกสิบเดือนที่จะเลือกตั้ง” 

 

2438

 

“เราเป็นนักศึกษาซิ่ว ที่คณะนิติศาสตร์ มข. เลยได้มารู้จักกับกลุ่มดาวดิน พอพี่ไผ่ออกมาจากคุกรอบนั้นในคดี ม.112 (พฤษภาคม 2562) เราเลยได้เดินทางกับพี่ไผ่บ่อยๆ พี่ไผ่ก็พามาเจอแซมมี่ ตอนนั้นแซมมี่ยังไม่ได้เคลื่อนไหวภาคประชาชนเต็มตัว เพราะแกทำงานสภากับพรรคการเมือง”

 

“ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องผลกระทบจากโรงงานน้ำตาลที่หนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ พี่แซมกับพี่ไผ่ก็พาเราไปลงพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านก็ยังไม่รู้เรื่อง ทั้งๆ ที่โรงงานกำลังจะมาตั้งข้างๆ หมู่บ้านอยู่แล้ว ห่างกันไม่กี่เมตร กรณีนี้ก็เป็นผลกระทบจากนโยบายรัฐด้วย คือนโยบายเปลี่ยนข้าวเป็นอ้อยหกล้านไร่ ตอนนั้นเราก็ยังพูดไม่ค่อยเก่ง ยังทำหน้าที่แค่ขับรถให้พี่ๆ แต่พอถึงสถานการณ์จริง แกก็เข้ามาพูดปลุกใจว่า ‘ไปพูดให้ความรู้ชาวบ้านหน่อย’ เราก็เครียดนะ ตอนนั้นพยายามลองทำดูแต่ก็ทำไม่ได้ ถึงกับน้ำตาแตกเลย กดดัน เพราะว่าตอนเรียนก็ไม่เคยพรีเซนหน้าห้องเลย แต่พี่แซมก็เข้ามาช่วยเรียงเนื้อหาให้ สอนเราพูด จากนั้นเราก็มีความมั่นใจมากขึ้น แล้วก็กล้าที่จะทำ”

 

“พอทำงานกับชาวบ้านอยู่ไม่ถึงปี เราก็ตั้งกลุ่มที่ชื่อว่าประชาธิปไตยไทยบ้าน เป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวเรื่องชาวบ้านโดยเฉพาะ แต่หลังจากนั้นเราเปลี่ยนไปเคลื่อนไหวกับนักศึกษา ส่วนพี่แซมก็ไปทำงานให้พรรคการเมืองอีกรอบหนึ่ง แต่ยังติดต่อกันเรื่อยๆ นะ ไปนอนบ้านแก เล่นกับลูกแก ได้รู้จักกับพี่เอ (ภรรยาของแซม) ทุกคนก็น่ารักดี สังสรรค์กันอยู่เรื่อยๆ ครั้งหนึ่ง เราพาพี่แซมไปขอนแก่น เพราะแกเศร้าหนัก ทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องชีวิต เลยอยากไปเจอเพื่อนๆ”

 

“หลังจากนั้น เราได้เจอกันอีกทีตอนพี่ไผ่โดนจับ ช่วงตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า (มีนาคม 2565) แกก็เข้ามาช่วยเต็มตัว แกจะทำหน้าที่เป็นคนพาคุย และให้น้องๆ ออกแบบ ส่วนมากแกชอบสอนให้น้องๆ ได้เติบโต”

 

“เช้าๆ แกก็จะตื่นมากวาดบ้าน เก็บโต๊ะ เก็บนู่นเก็บนี่ บอกให้น้องๆ มาช่วยทำ แล้วแกก็นั่งสูบบุหรี่ (หัวเราะ) สไตล์แซมมี่ นั่งบ่น แต่ไม่ค่อยบ่นผมเท่าไหร่ น่าจะเพราะรู้จักกันตั้งแต่แรกแล้วก็รู้ศักยภาพว่าเราไม่ใช่คนเก่งซักเท่าไหร่ แกรู้ทุกอย่าง ใครทำอะไร กินข้าวหรือยัง แล้วก็ชอบชวนทะเลาะเรื่องล้างจาน เช่น ‘สรุปว่าเราจะทำยังไงดีกับจานหลังบ้าน ใครจะเป็นคนล้าง’ เพราะว่ามันเยอะมากๆ เราอยู่ด้วยกันหลักสิบคน...พอแกหายไปก็ไม่มีคนชวยคุย ไม่มีคนชวนเก็บบ้าน ตอนนี้คนอื่นๆ เวลาคิดถึงพี่แซมก็คงชวนกันเก็บบ้านกันก่อน”

 

“คิดถึงแกตลอดแหละ ไม่รู้ว่าอยู่ข้างในจะเป็นอย่างไรบ้าง เราก็เคยเข้าไปอยู่เหมือนกัน แต่คิดว่าพี่แซมอยู่ได้แหละ น่าจะมีเพื่อนเยอะเพราะแกคุยเก่ง น้องๆ ทุกคนก็ตั้งใจเคลื่อนไหวเพื่อให้พี่แซมได้ออกมาเร็วขึ้น เร็วขึ้นได้ซักวันสองวันก็ยังดี เพราะทุกคนก็คิดถึงพี่แซม”

 

2439

 

“เดิมทีผมเคลื่อนไหวอยู่กับพี่ไผ่ในชื่อกลุ่ม UNME of Anarchy แต่ก็ยังไม่รู้จักพี่แซม แต่เดิมที่พี่แซมกับพี่ไผ่เขารู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ตอนนั้นผมก็ไม่ได้รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว เคยแค่เห็นคลิปที่อ่านกวีในยูทูป เคยได้ยินชื่อ แต่ก็ไม่เคยได้เจอตัวจริง”

 

“คืนก่อนวันที่พี่แอมมี่จะไปสาดสีที่สน.สำราญราษฎร์ ที่เริ่มเดินขบวนจากอนุสรณ์ 14 ตุลาฯ ในคืนนั้น (27 สิงหาคม 2563) พี่แซมมาที่ขอนแก่นเพื่อมาให้กำลังใจน้องๆ เพราะแก๊งนี้ยังไม่เคยไปเคลื่อนไหวที่กรุงเทพฯ เลย แกก็เลยมาให้ขวัญกำลังใจ เราก็นั่งสังสรรค์กัน”

 

“ไม่แน่ใจว่านี่คือสิ่งที่ประทับใจไหม แต่คืนที่เจอกับแกวันแรก ตอน 4-5 ทุ่ม มันเริ่มเข้าโหมดปรัชญา พี่แซมก็พูดว่า ‘พวกมึงจะไปรบ จะไปสู้กับรัฐ กันถึงกรุงเทพเนี่ย กูถามหน่อย... อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยนะ... มีใครทำลาบเป็ดเป็นบ้าง?’ เหมือนกับจะฮา แต่สายตาแกจริงจังมาก ถามแบบซีเรียสว่า ‘มีใครทำเป็นไหม ถ้าไม่เป็น ไปซื้อเป็ดเป็นๆ มาเลยตัวนึง’ สุดท้ายคืนนั้นก็มีเป็ดมาที่บ้านประมาณสามตัว แล้วแกก็สอนน้องๆ ทำลาบเป็ดทีละคน”

 

“แต่จริงๆ การทำอาหาร มันก็เป็นเครื่องมือในการสอนให้ใช้ชีวิตแบบรวมหมู่นะ วิธีการที่แกทำ การสอนน้องเรื่องขบวนการเคลื่อนไหว ผมรู้สึกว่ามันเรียล มันคืออัตลักษณ์ของแกจริงๆ แกเป็นเด็กจุฬาแต่บ้านเกิดอยู่ที่บึงกาฬ พอมาอยู่ที่กรุงเทพฯ แกไม่ได้เขินอายกับความเป็นอีสานแต่ภูมิใจด้วยซ้ำ เวลาพี่แซมไปที่ไหน ที่นั่นต้องมีซอยจุ๊ หรือถ้าอย่างดีต้องมีลาบเป็ด”

 

“สำหรับผม พอคนมันอยู่ด้วยกันทุกวัน รู้จักกัน ผ่านอะไรร่วมกันมาหลายๆ อย่าง มันก็โหวงๆ อยู่นะ อยู่ดีๆ พี่เราก็โดนจับเข้าคุกไป จริงๆ แกวางแผนว่าจะไปต่างประเทศกับแฟนและครอบครัวมาพักใหญ่แล้ว วางแผนว่าจะไปสร้างชีวิต ไปวางอนาคตอยู่ที่ต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว แล้วอยู่ดีๆ ก็มาโดนพันธนาการในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง”

 

“ในเรื่องการขับเคลื่อน แกก็คงจะบอกเหมือนเดิมว่าให้เคลื่อนกันต่อไป สู้กันต่อไปนี่แหละ เพราะบ้านเมืองหรือสังคมที่เราอยู่มันยังไม่เป็นประชาธิปไตย มันยังไม่มีแนวคิดที่มองว่าคนเท่ากันด้วยซ้ำไป ถ้าเราเชื่อในเรื่องนี้แล้ว เราต้องยืนยันต่อ”

 

“ถ้ามองในฐานะมิตร แกเป็นคนที่รักพวกพ้อง ถึงไหนถึงกัน เป็นคนตรงๆ ด้วย คิดอย่างไรก็อธิบายอย่างนั้น แต่ก็เข้าใจคนอื่นด้วยว่าทำไมเขาจึงคิดแบบนั้น เวลาแกอธิบาย สิ่งที่แกทำก็คือการยืนยันในสิ่งที่แกเชื่อ”

 

“ถ้ารัฐจะมองว่าสิ่งที่แกทำเป็นภัยความมั่นคง หรือถ้าสังคมจะมองว่าการเลือกยืนยันอธิบายความจริงแบบนี้เป็นสิ่งที่ผิด สำหรับผม ผมยืนยันอยู่ข้างแก และถ้าสุดท้ายสังคมจะยังเลือกมองแบบเดิมต่อไป ผมว่านี่คือสังคมที่วิปริต”

 

2440

 

“จริงๆ พี่แซมเป็นมนุษย์ที่จะว่าเข้าใจยากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย พี่แซมเป็นนักจิตวิทยา รู้ว่าต้องสื่อสารกับคนตรงหน้าอย่างไร มีความเป็นนักวิเคราะห์และวิเคราะห์เก่งมากๆ วิเคราะห์ทุกอย่างรอบตัว เป็นนักคิดคนหนึ่งและใช้สมองเยอะมากๆ ถ้าคุยกับเรา พี่แซมก็จะวิเคราะห์ว่าเราเป็นคนอย่างไร สภาวะของเราในตอนนั้นเป็นอย่างไร หรือต้องการให้อะไรกับเรา ไม่รู้ทำไมแกถึงรู้ไปหมด เราโดนอ่านความคิดประจำ”

 

“แกใส่ใจ แกสังเกตอยู่ตลอด แต่แกก็จะไม่พูดหรอก แกจะเก็บข้อมูลของแกไปเรื่อยๆ เรื่องของคนในบ้าน แกรู้ไว เช่น สองคนนี้กิ๊กกันปะเนี่ย (หัวเราะ) งอนกัน ทะเลาะกันปะเนี่ย อะไรแบบนี้”

 

“บทบาทในกลุ่ม แกเป็นที่ปรึกษาทุกด้านให้ทุกๆ ฝ่าย อาจจะเพราะมีประสบการณ์ชีวิตเยอะ มีความรู้หลายด้าน เลยเป็นที่ปรึกษาให้น้องๆ ได้ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัว การเคลื่อนไหว จิตใจ เราเคยไปปรึกษาเรื่องจิตใจที่เหนื่อย ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในสภาวะอะไร ก็เลยไปอธิบายให้พี่แซมฟังว่า หนูมีอาการแบบนี้ รู้สึกแบบนี้ แล้วร่างกายมันก็ส่งผลแบบนี้ จะทำยังไงดี”

 

“พี่แซมชอบพูดอยู่บ่อยๆ ว่า หลังจากที่เราชนะ อยากซื้อที่ดินซักผืนหนึ่งที่เพชรบุรีเพื่อสร้างหมู่บ้าน ที่ไม่ใช่หมู่บ้านแบบไปนอนข้างทำเนียบเพื่อเรียกร้องให้ประเทศดีขึ้น แต่เป็นหมู่บ้านของจริงให้ทะลุฟ้าได้มาอยู่ด้วยกัน ในวันที่ประเทศมันดีขึ้นแล้ว”

 

“เรื่องที่พี่แซมถูกจับ ไม่เกินความคาดหมายหรอก คิดว่ายังไงแกก็น่าจะโดนซักวันหนึ่ง  แต่ก็ไม่คิดว่าจะเป็นช่วงนี้ เพราะอย่างที่รู้ว่าแกมีแพลนจะไปต่างประเทศใช่ไหม แกก็เตรียมตัว เคลียร์คดีเก่าๆ ทำตัวเองให้เรียบร้อยและโปร่งใสที่สุดเพื่อให้ง่ายต่อการเดินทาง ไม่ต้องมีอะไรมาพะวงข้างหลัง แกทำตามขั้นตอนทุกอย่างเลยนะ ไม่คิดว่ารัฐจะมาเล่นแง่อะไรที่ผิดกระบวนการไปหมด เขาอ้างว่า ‘เคยส่งหมายเรียกมาสองครั้งแล้วแต่ไม่มีการรายงานตัว’ แต่ความจริงเจ้าตัวไม่เคยรับรู้ว่ามีหมาย แล้ววันที่ในหมายจับคือต้นปี (มีนาคม 2565) แต่นี่มันคือกลางปีแล้ว (กรกฎาคม 2565)”

 

“แกไม่ได้กลัวเรื่องโดนคดีหรอก ตัวแกเองก็รู้ว่าจะต้องเจอความเสี่ยงอะไรหรือต้องถูกกระทำจากภาครัฐยังไงบ้าง แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรเป็นวิธีการแบบนี้ คือกระบวนการที่จะจับ จะขัง รัฐมีอำนาจทั้งหมดอยู่แล้ว ถ้าจะทำ ก็ควรทำให้ถูกกระบวนการ ไม่ให้น่าเกลียดขนาดนี้”

 

2441

 

“ผมเคยอยู่กับกลุ่มกิจกรรมหนึ่งและได้ร่วมงานกับทะลุฟ้าที่นำโดยพี่แซมเป็นคนพาเข้ามาช่วย พอจบกิจกรรมเราก็ถอดบทเรียนร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน หลังจากนั้นเราก็ร่วมงานกันบ่อยขึ้น จนพี่แซมชวนมาอยู่ด้วยกัน เพื่อให้เราพัฒนาศักยภาพของตนเอง”

 

“ตอนนั้นทะลุฟ้าอยากทำรถห้องน้ำ แต่ยังไม่มีคนช่วยออกแบบ ซึ่งเรามีความถนัดด้านนี้ พี่แซมเลยบอกว่า ‘คุณออกแบบจริง ผมทำจริง เราคนจริง มาคุยกัน’ เราก็เลยรู้สึกอยากทำให้จริงๆ พี่แซมเป็นคนที่เคารพความคิดเห็นของคนอื่น ถ้าเราหาชุดคำพูดมาอธิบายให้เขาได้ ก็คือจบ”

 

“ถึงพี่แซมจะชอบบอกว่า 'ผมไม่ใช่สายเยียวยา' แต่แกเป็นคนที่แคร์น้องๆ และเป็นคนชอบสอดแทรกสิ่งที่เราไม่เข้าใจไปในระหว่างการสนทนา มันทำให้รู้สึกว่าเมื่อเราอยู่กับคนๆ นี้ เราจะได้เรียนรู้ตลอดเวลา”

 

“ฉากที่ประทับใจคือวันที่ทะลุฟ้ารวมพลกันไปที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (17 สิงหาคม 2564) ตอนนั้นฝนตกหนักมาก ใครหลายคนก็บอกว่าไม่อยากเปียกฝน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อยู่ดีๆ พี่แซมก็วิ่งออกไปกลางสายฝนแล้วพูดว่า ‘มาเล่นฝนกัน’ จากนั้นพวกเราขับรถวนรอบอนุสาวรีย์ แล้วก็ตะโกนด้วยกันว่า ‘ประยุทธ์ออกไป’ พอนึกถึงแล้วมันประทับใจมาก”

 

“สำหรับผมมันก็เคว้งๆ เพราะตอนเข้ามาอยู่กับทะลุฟ้า ถ้ามีอะไรเราจะคุยกับพี่แซมตลอด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่บ้าน สุขภาพของตัวเอง หรือเรื่องเรียน ก็จะปรึกษาพี่แซมตลอด ถึงช่วงหลังๆ พอจะเดาสถานการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นแบบนี้ มันรู้สึกแป่ว ใจมันแห้งๆ โหรงเหรง เคว้ง แต่อีกแง่หนึ่งสภาวะแบบนี้มันก็เติมเต็มผม มันทำให้ผมรู้ว่าไอฟืนที่เคยหายไปมันกลับมาติดอีกครั้งแล้ว ผมรู้สึกว่าอยากทำม็อบ อยากลงถนน หมายถึง ผมเศร้าอยู่บ้าง แต่ก็รู้หน้าที่ตัวเองและรู้ว่าต้องทำอะไร”

 

“สิ่งที่พวกเราทำ ก็ทำเพื่อต้องการให้สังคมดีขึ้น แต่สิ่งที่เขาขัดขวาง ด้วยการเอาพี่แซมเข้าไปในเรือนจำโดยที่ยังไม่รู้มูลเหตุว่าจริงไหม มันทำให้เรายิ่งเชื่อเหลือเกินว่าความยุติธรรมในยุคนี้ไม่มีอยู่จริง ตัวผมเองก็โดนฟ้อง ม.112 พอยิ่งรู้ว่าพี่แซมโดนฟ้องในคดีเดียวกันอีก มันก็ทำให้ยิ่งชัดเลยว่ากระบวนการมันไม่ซื่อและไม่มีความยุติธรรม"

 

Article type: