1467 1428 1899 1088 1293 1899 1883 1091 1425 1139 1925 1162 1221 1642 1342 1034 1760 1369 1983 1715 1532 1788 1478 1642 1372 1105 1598 1046 1324 1830 1932 1475 1327 1350 1301 1586 1679 1247 1253 1059 1670 1921 1433 1086 1656 1423 1781 1279 1742 1417 1694 1876 1376 1528 1010 1253 1753 1948 1140 1944 1950 1384 1264 1838 1292 1048 1256 1358 1046 1261 1474 1738 1688 1413 1718 1625 1722 1397 1672 1993 1488 1951 1966 1377 1194 1069 1151 1896 1491 1667 1665 1877 1301 1373 1508 1937 1407 1742 1195 สายน้ำ: คดีเยาวชนต้องถูกปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเปิดเผยการพิจารณาได้ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สายน้ำ: คดีเยาวชนต้องถูกปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเปิดเผยการพิจารณาได้

 
 
ภายหลัง “มาตรา 112” ถูกรัฐบาลนำกลับมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนอีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 สถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในจำนวนมากกว่า 200 คดี มี 20 คดีที่ผู้ถูกดำเนินคดียังเป็นเยาวชน รวมทั้งหมด 17 คน (ข้อมูลล่าสุดเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2565)
 
นี่เป็น “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์ไทย ที่มีการนำกฎหมายมาตราดังกล่าว ซึ่งมีโทษสูงสุดถึง 15 ปี มาบังคับใช้กับเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี
 
สายน้ำ (สงวนชื่อและนามสกุลจริง) อดีตนักเรียนมัธยมปลาย เป็นหนึ่งในเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการร่วมชุมนุมระหว่างปี 2563-2564 จำนวน 2 คดี คดีแรก จากการแต่งกายด้วยเสื้อครอปท็อปไปเดินพรมแดงในกิจกรรม #ม็อบ29ตุลา63 รันเวย์ของประชาชน ที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม ซึ่งเป็นคดีสืบเนื่องกับคดีของ “นิว จตุพร” ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาเมื่อ 12 กันยายน 2565 ให้จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา (ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี) แต่เนื่องจากสายน้ำเป็นเยาวชน อัยการจึงแยกฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ส่วนคดีที่สอง มาจากข้อกล่าวหาว่าวางเพลิงผ้าแพรข้างพระบรมฉายาลักษณ์ ระหว่างการชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 18 กรกฎาคม 2564
 
เราไม่เคยเจอสายน้ำมาก่อน และแทบไม่รู้อะไรยิ่งกว่าเกี่ยวกับตัวเขา เราทราบแต่เพียงว่า เขาเป็นเยาวชนที่กำลังถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม ม.112
 
2668
 
เรานัดกับสายน้ำที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในย่านสามเสน บรรยากาศสบายๆ ของเช้าวันเสาร์กับกลิ่นกาแฟที่คุกรุ่นอยู่เบื้องหลัง ชวนให้เคลิ้มไปกับช่วงเวลาแสนสงบที่นับวันจะหาได้ยากยิ่งในกรุงเทพฯ สถานที่นัดพบครั้งนี้สายน้ำเป็นคนเลือก เพราะคิดว่าที่นี่เงียบและไม่วุ่นวาย เหมาะกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประสบการณ์การขึ้นศาลในวัยยังไม่ถึง 18 ปีของเขา
 
แต่ระหว่างที่กำลังนั่งรอพลางคิดว่าสายน้ำน่าจะเป็นคนแบบไหน วัยรุ่นในเสื้อยืดคอกลมสีดำคาดสะพายกระเป๋าข้างสีขาวก็แสดงตัวเดินผ่านประตูร้านกาแฟเข้ามา เขาดูเหมือนเด็กหนุ่มธรรมดาที่ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองมาแล้วรวม 8 คดี สายน้ำทักทายเราด้วยรอยยิ้ม เขาดูสดใสและเป็นกันเองกว่าที่คิด หลังจากเลือกเครื่องดื่มที่ชอบและพากันไปนั่งอยู่ในซอกมุมหนึ่งของร้าน บทสนทนาของพวกเราสองคนก็เริ่มต้นขึ้น
 

‘ความเหี้ย’ บนโต๊ะอาหาร นำพาให้อยากเคลื่อนไหวบนท้องถนน

 
“ผมก็เป็นเด็กนักเรียนทั่วไป อายุประมาณสัก 16 อยู่ ม.5 จริงๆ แล้ว ผมต้องไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศที่เดนมาร์ก โครงการของ AFS แต่เพราะเรื่องโควิดเลยไม่ได้บิน หลังจากนั้นมันก็เคว้งๆ อยู่ มันเหมือนกับว่าเราจะได้ไปจากประเทศเหี้ยนี่แล้วแต่ก็ไม่ได้ไป ก็เลยลังเลหลายอย่าง เอาไงต่อดี เพราะผมไม่ได้อยากเรียนในไทยต่อแล้ว ถึงที่เรียนมาจะเป็นอีพี (โครงการภาษาอังกฤษ) แต่มันก็ไม่อยากเรียนแล้วเหมือนกัน ผมก็เลยลาออก ตอนแรกก็รอว่าจะสอบเทียบต่างประเทศ แต่ว่าสุดท้ายก็โดนอายัติพาสปอร์ตทำให้สอบไม่ได้ ตอนนี้เลยต้องมาลง กศน. แทน”
 
“ผมสัมผัสถึง ‘ความเหี้ย’ ของประเทศนี้ได้ตั้งแต่เด็ก คือด้วยการที่บ้านเป็นหัวก้าวหน้าระดับนึง เรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่เราคุยกันบนโต๊ะอาหาร คุยกันทุกที่ คุยกันตลอด เพราะทั้งพ่อแม่ทั้งแม่ เมื่อก่อนเคยเป็นนักข่าวสายการเมืองด้วยกันทั้งคู่ ไม่เหมือนบางบ้านที่คุยกันไม่ได้เลย บ้านผมคุยเรื่องการเมืองจนเป็นเรื่องปกติ ทำให้ผมได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร รู้นั่นรู้นี่และนำมาแชร์กัน”
 
“การเคลื่อนไหวของผมเริ่มต้นจากการไปม็อบ มีที่ไหนก็ไปที่นั่น ตั้งแต่ช่วงแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัย (2563) จนถึงม็อบดินแดง (2564) คดี ม.112 ที่ผมโดนคือคดีครอปท็อป อีกอันหนึ่งคือโดนกล่าวหาว่าวางเพลิงผ้าแพรข้างพระบรมฉายาลักษณ์ฯ ซึ่งคดีหลังนี้จะเป็นคดีที่ตัดสินก่อนคดีครอปท็อป คดีครอปท็อปเป็นคดีที่เกิดในวันเดียวกันกับคดีของพี่นิว จตุพร ซึ่งผมไม่ได้รู้จักพี่เขามาก่อน แต่ศาลอ้างว่าไปเตรียมการกันมา คดีนี้ตำรวจแจ้งข้อหากล่าวเราว่า มีการแต่งตัวเลียนแบบ โบกไม้โบกมือ มีการให้คนกราบเท้า มีคำเขียนที่หมิ่นประมาทกษัตริย์อยู่บนหลังของเรา”
 

ครั้งแรกของ ‘ม.112’ ที่ถูกแยกฟ้องต่อศาลเยาวชนฯ

 
“ตอนที่โดนคดี 112 ครั้งแรก ผมไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ พ่อโทรมาบอกว่ามีหมายมาถึงบ้าน ซึ่งจริงๆ ก็เตรียมใจไว้แล้ว เพราะวันต่อมาหลังจากที่ใส่ครอปท็อป ก็มีสมาชิก ศปปส. (ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน) ไปยื่นแจ้งความ แต่เขาแจ้งเป็น ม.116 ผมเลยถามพ่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับ ม.116 หรอ ก็เซ็นรับไปสิ ไม่เห็นเป็นไรเลย พ่อบอกไม่ใช่ เป็น 112 เราก็นิ่งไปพักใหญ่เลย”
 
“ก็แบบมันไม่เคยมีใครโดน มันไม่เคยมีเด็กคนไหนที่โดน ตอนนั้นเราอายุ 16 มันก็เคว้ง ทำอะไรไม่ถูก จากนั้นเราก็ตัดสินใจตีรถกลับกรุงเทพฯ ระหว่างตีรถกลับ เราคิดในหัวว่า ประเทศนี้มันขนาดนี้แล้วหรอ ที่แจ้งกฎหมายที่มีอัตราโทษสูงขนาดนี้กับเด็กที่แค่ใส่เสื้อ ตอนนั้นผมไม่กลัวนะ ผมหงุดหงิดมากกว่า ผมโกรธว่าทำไมเราถึงโดนแบบนี้”
 
“วันที่เราไปรับทราบข้อกล่าวหา ตำรวจตั้งแผงเหล็กเต็มหน้า สน. เลย ตอนแรกจะไม่ให้ผู้ติดตามเราเข้า เพราะวันนั้นมีทั้งตัวแทนสถานทูต นักข่าว และ ส.ส. มาสังเกตการณ์ด้วย ตอนแรกเจ้าหน้าที่ก็โวยวาย แต่สุดท้ายก็ยอมให้ทั้งผู้ติดตามและ ส.ส. เข้าไป เมื่อเข้าไปแล้วเราจะเจอห้องเล็กๆ ห้องหนึ่ง สีขาว เหมือนเอาห้องประชุมมาดัดแปลง แต่ใหญ่กว่าที่เคยเห็นในหนังนิดนึง แต่ไม่เท่เหมือนในหนังนะ แล้วก็มีตำรวจ 3-4 คนนั่งอยู่ เราถูกแยกออกจากพี่นิว เพราะตามหลักแล้วคดีเยาวชนต้องสอบแยกจากผู้ใหญ่”
 
“ตอนเข้าไป ตำรวจก็ดูเหมือนจะทำคดีเด็กไม่เป็นด้วย น่าจะเป็นเพราะตำรวจไม่เคยเจอมาก่อน เพราะส่วนใหญ่ถ้าเป็นคดีเด็ก ตำรวจจะทำแต่คดียาเสพติด คดีทางเพศ แต่นี่คดีความมั่นคง โดยปกติในห้องต้องมีนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ร่วมสอบด้วย แต่วันนั้นเขามาสาย กว่าจะมาก็นานเอาเรื่องอยู่ ไม่ใช่ว่านัดสิบโมงแล้วทุกคนจะมารอเราหมดแล้ว”
 
“ ‘รถติดอยู่พี่ หาที่จอดไม่ได้’ เขาบอกตำรวจมาอย่างนี้ ซึ่งกระบวนการก็ยังไม่เริ่มสอบจนกว่าทุกคนจะมาครบ ต้องยอมรับว่าตำรวจ สน. นี้มีคนกดดันเยอะ เขา (นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์) เลยถามคำถามเฉพาะที่เขาต้องถาม ไม่ถามซอกแซก เพราะว่าจากประสบการณ์ส่วนตัว เวลาเราไป สน. อื่น ในคดีอื่น ก็มักจะเจอคำถามซอกแซกบ้าง ถามละล้วงบ้าง”
 

คดีผู้ใหญ่ได้กลับบ้าน คดีเด็กไปศาลต่อ

 
“เรารู้สึกมึนๆ งงๆ ทำอะไรไม่ถูก แล้วก็รู้วันนั้นเลยว่าต้องถูกนำตัวไปที่ศาลต่อ เพราะต้องขออำนาจศาลตรวจสอบการจับ แล้วก็ขอให้ศาลเป็นคนตัดสินวงเงินประกัน ซึ่งเราก็งงๆ ว่า ทำไมคดีของพี่นิวที่เป็นคดีผู้ใหญ่ แต่กลับได้ออกก่อนเรา คดีเยาวชนมันควรทำให้ง่ายกว่าไม่ใช่หรอ แต่ในคดีของผู้ใหญ่ พี่นิวสามารถวางหลักทรัพย์กับพี่ตำรวจได้เลย เสร็จแล้วกลับบ้านได้ ส่วนเราไม่ใช่ ต้องไปศาลต่อ”
 
“เขาจับเราขึ้นรถกระบะตำรวจไปส่งที่ศาลเยาวชนฯ เมื่อไปถึงศาล เขาก็พาเราไปนั่งรอสักพักหนึ่ง ก่อนจะพาเราเข้าห้องบัลลังก์ นี่เป็นการเข้าบัลลังก์ครั้งแรกในชีวิต มองขึ้นไปจะมีผู้พิพากษานั่งอยู่บนบัลลังก์ วันนั้นมีผู้พิพากษาที่ลงเวรแค่คนเดียว ในห้องก็มีพ่อแม่และทนายคนหนึ่ง ส่วนคนอื่นไม่อนุญาตให้เข้า ผู้พิพากษาก็ถามเราว่า ‘ไปทำอะไร-ทำไปทำไม’ เสร็จแล้วก็ให้รอเรื่องประกัน”
 
“ระหว่างรอประกัน เราก็เคว้งระดับหนึ่ง เขาพาเราไปในห้องเวรชี้ แต่ไม่ได้พาเข้าห้องกรงนะ อาจเพราะเป็นคดีการเมือง แต่ก็ได้รู้มาว่าคดีทะลุแก๊สโดนจับใส่ห้องกรง แต่คดีผมเนี่ยเขาพาไปห้องแอร์ เป็นห้องสี่เหลี่ยมแล้วก็มีคนนั่งเฝ้าคนนึง ที่เหลือก็เป็นเด็กคดีอื่นๆ คดียาเสพติด คดีเพศ อะไรอย่างนี้ ก็ได้นั่งคุยกับเด็กคนอื่นๆ เขาบ้าง น่าสนใจว่าคดีที่เกิดกับเยาวชนมันเยอะเหมือนกันนะ มีคดีข่มขืนด้วย และยังเป็นเด็กมัธยมต้นอยู่เลย”
 
2669

 

‘สถานพินิจ’ ด่านแรกของคดีเยาวชน

 
“หลังจากประกันตัวเสร็จ วันต่อมาก็จะมีกำหนดนัดว่าต้องไปสถานพินิจวันไหน ต้องมาศูนย์ให้คำปรึกษาวันไหน เมื่อไปถึงสถานพินิจ พอไปนั่งแล้วก็โดนสอบ จะมีเจ้าหน้าที่สถานพินิจและนักจิตวิทยามาถามนู่นถามนี่เรา คำถามก็เช่น ‘เที่ยวกลางคืนมั้ย’ ‘เคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่’ ‘เคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่’ คืออยากจะย้ำเตือนเขานะว่าเราโดนคดีอะไร (หัวเราะ)”
 
“สถานพินิจบางที่เขาพยายามเค้นคำตอบเรานะว่า ‘เฮ้ย มึงเล่าพฤติการณ์คดีดิ’ ‘มึงเล่าหน่อยว่าทำอะไรไปบ้าง’ ซึ่งทนายก็บอกเราแต่แรกแล้วว่าไม่จำเป็นต้องตอบ เราก็เลยไม่ได้ตอบ แต่เรารู้สึกหงุดหงิดกับการโดนเค้นถามแบบนี้นะ หลายๆ คนพอโดนเค้นถามแบบนี้ก็หลุดตอบออกมา ซึ่งมันมีผลต่อรูปคดี คือขั้นตอนนี้ไม่ได้อนุญาตให้ทนายเข้าไปด้วย และเด็กบางคนเขาไม่ได้เข้าใจขั้นตอนละเอียดขนาดนั้น ทำให้บางครั้งมันเป็นผลเสียต่อตัวเองจากการตอบคำถามโดยไม่มีทนายอยู่ด้วย”
 
“ผมเคยถามเขานะว่าถามไปทำไม เขาก็ตอบว่าระเบียบเป็นแบบนี้ มันมีกระดาษแนวคำถามที่ต้องถาม เช่น เคยเที่ยวกลางคืนมั้ย เคยมีเพศสัมพันธ์มั้ย เคยกับเพศเดียวกันมั้ย เป็นระเบียบที่เขาต้องรู้ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าจะรู้ไปทำไม”
 

ศูนย์ให้คำปรึกษาฯ ที่ผู้ใช้บริการไม่เคยได้รับคำปรึกษา

 
“ศูนย์ให้คำปรึกษาก็ชอบถามคำถามอะไรแบบนี้เหมือนกัน ศูนย์ให้คำปรึกษาอยู่ที่ใต้ถุนศาลเยาวชนฯ เขาบอกว่าเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาแก่เยาวชนที่ถูกดำเนินคดี และผมเองก็ได้ใช้บริการอยู่หลายคดีเหมือนกัน แต่ไม่เคยได้รับคำปรึกษาอะไรเลย นอกจากแบบเจอหน้ากันแล้วก็ยื่นกระป๋องให้ แล้วก็บอกให้ไปตรวจเยี่ยว (หัวเราะ)”
 
“ที่สถานพินิจเราเจอกับเจ้าหน้าที่รอบเดียว แต่ที่ศูนย์ให้คำปรึกษา เราต้องเจอกันหลายรอบ แต่รอบหลังๆ เขาก็เหมือนเห็นหน้าผมบ่อย แล้วก็รู้ว่าผมจะโวยวาย เขาก็เลยบอกรอบเดียวพอ (หัวเราะ) ในศูนย์ให้คำปรึกษาจะมีเจ้าหน้าที่และนักจิตวิทยาของศาลมาคอยให้คำปรึกษา กระบวนการนี้ก็ห้ามไม่ให้คนอื่นเข้าฟังเหมือนกัน เหมือนกับสถานพินิจ คนที่จะเข้าได้ อย่างมากเต็มที่ก็แค่พ่อกับแม่ ที่นี่จะแตกต่างกับสถานพินิจตรงที่เจ้าหน้าที่จะพยายามโน้มน้าวเราให้เข้ามาตรการพิเศษ เช่น รับสารภาพเพื่อล้างประวัติ ซึ่งอาจจะชดเชยโทษด้วยการไปบำเพ็ญประโยชน์แทน”
 
“ผมไม่เคยได้รับคำปรึกษาจากที่นี่เลย มีแต่โดนถาม บางทีอาจเป็นเพราะความรู้สึกของเรา แต่ในความรู้สึกของเขา เขาอาจจะรู้สึกว่าแบบนั้นเป็นการให้คำปรึกษา มีอยู่รอบนึง ในคดีอื่นที่ไม่ใช่คดี ม.112 เขาเปิดคลิปแล้วบอกว่าคนที่เคยมีคดีเยาวชนซึ่งเป็นคนที่เขาเคยให้คำปรึกษา ตอนนี้ไปเป็นทหารตำรวจหมดแล้วนะ ผมกับแม่ที่นั่งกันอยู่ก็คิดในใจคล้ายๆ กันว่า ‘บอกกูทำไมวะ (หัวเราะ) กูต้องอยากรู้มั้ย’”
 
“เรารู้สึกว่า ทุกคนในกระบวนการยุติธรรมมองเด็กเหมือนตัดสินไปแล้วว่าเด็กมีความผิด ทั้งที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาด้วยซ้ำว่าเด็กกระทำผิดจริงหรือไม่ แน่นอนว่ามันรวมถึงการปฏิบัติของพวกเขาต่อเด็ก ซึ่งอาจเป็นเพราะกระบวนการหลายอย่างมันเริ่มก่อนศาลพิพากษา เปรียบเทียบกับคดีผู้ใหญ่ที่ผมเคยเห็น อย่างอื่นมันไม่หนักขนาดนี้ มันไม่มีใครมายุ่งหรือจ้อกแจ้กกับเรา แล้วมาตรฐานของแต่ละศาล แต่ละสถานพินิจ แต่ละศูนย์ให้คำปรึกษาฯ ก็ไม่เหมือนกัน บางศูนย์ฯ เนี่ยบังคับเราตรวจปัสสาวะ แต่บางศูนย์ฯ ถามเราว่าตรวจได้ไหม ถ้าตรวจไม่ได้ก็ปฏิเสธได้นะ เราก็เอ้า ปฏิเสธได้หรอ”
 

ห้ามคนนอกเข้า.. เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน (?)

 
“คดีนี้เราไม่เคยเจอหน้าอัยการเลย ไปเจออัยการครั้งแรกก็ตอนสืบพยานแล้ว ส่วนวันฟ้อง เราก็ต้องไปที่ศาลเพื่อเซ็นรับทราบว่าเขาฟ้องแล้วนะ แล้วก็กลับบ้าน ซึ่งศาลเยาวชนฯ ระยะทางมันไม่เท่าไหร่ มันยังอยู่ใกล้บ้านผม แต่ศาลของพื้นที่รังสิตมันอยู่ที่คลองห้า อยู่แถวธัญบุรี พี่ลองนึกสภาพว่าผมเดินทางไปเองคนเดียวไม่ได้ พ่อก็ต้องลางานพาไป ถ้าศาลเยาวชนฯ อยู่แถวนี้ ก็ยังไปกับแม่สองคนได้ นั่งแท็กซี่กันไป แต่ศาลนั้นมันไกล ไปเองไม่ได้ ก็ต้องให้พ่อขับรถพาไป ซึ่งมันเสียงานเสียการ”
 
“ตั้งแต่นัดแรก ทนายความก็ขออนุญาตให้คนนอกสามารถเข้าห้องพิจารณาได้แล้ว แต่ไม่เคยเป็นผล เคยถามศาลว่าทำไมถึงไม่ให้คนนอกเข้า ศาลบอกว่าเป็นดุลยพินิจของเขา แต่บางครั้งก็ตอบว่า ‘คดีเยาวชนต้องพิจารณาในที่ปิด’ หรือมีอยู่รอบนึง มีคนจากไหนไม่รู้เดินสุ่มสี่สุ่มห้าเปิดประตูเข้ามาเสียงดัง ปึ้ง! ศาลก็บอกว่านี่เป็นคดีความมั่นคง คนนอกไม่สามารถรับฟังได้ สรุปศาลจะเอาคำตอบไหนกันแน่”
 
“เรารู้สึกว่าอยากให้คนนอกเข้าฟังการพิจารณาคดีของเรา ซึ่งเราบอกต่อศาลนะ แต่ศาลก็ยังไม่ให้เข้า เขาชอบอ้างว่าเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก แต่เมื่อทนายต้องการให้มีคนเข้าฟัง ผู้ปกครองก็ต้องการให้มีคนเข้าฟัง และตัวเด็กก็ต้องการให้มีคนเข้าฟัง ถ้าบอกว่าเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็กจริง แต่ทำไมกลับไม่ยอมให้เข้าฟังเลย ถ้าบอกว่าจะไม่เชื่อใจดุลยพินิจของเด็ก แต่พ่อแม่ก็อนุญาตแล้ว ทนายก็อนุญาตแล้ว”
 
“มันเป็นคดีการเมือง มันไม่ใช่คดียา คดีข่มขืนที่ต้องตัดสินในที่ปิด เราไม่รู้สึกว่าเราจะเสียหายอะไรถ้ามีคนได้รับรู้เรื่องของเรา”
 

คดีเยาวชนต้องถูกปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเปิดเผยการพิจารณาได้

 
“ผู้พิพากษาจะมีทั้งหมด 4 คน พิจารณาหลัก 2 คน และสมทบอีก 2 คน ผู้พิพากษาสมทบส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนจบนิติฯ มา แต่เป็นอาชีพอื่นๆ และอาสามาช่วยพิจารณาคดีทำนองนั้น เรารู้สึกว่ามุมมองต่อเด็กของศาลเด็กและศาลผู้ใหญ่แตกต่างกัน ผู้พิพากษาเด็กบางคนจะพยายามให้เด็กรับสารภาพเพื่อล้างประวัติ แต่ผู้พิพากษาศาลผู้ใหญ่บางคนไม่จำเป็นต้องมองจุดนี้ เขาจะทำหน้าที่ของเขา เขาจะไม่วอแวเหมือนศาลเยาวชนฯ เรื่องการตัดสินเราไม่ได้พูดถึงว่าเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม พูดถึงแต่พฤติกรรมบนบัลลังก์”
 
“ผมไม่เคยเข้าฟังคดีเยาวชนคดีอื่น แต่เราก็รู้สึกว่าการปฏิบัติแตกต่างกัน เช่น ในคดีปกติ มีคดีอื่นกำลังพิจารณาอยู่ ทำนู่นทำนี่อยู่ ก็ให้คู่ความในคดีอื่นมานั่งรอใช้ห้องต่อได้ บางช่วงที่ศาลเร่งๆ ทำคดี ก็เปิดประตูห้องไว้บ้าง ให้คดีอื่นมานั่งต่อแถวในห้องบ้าง คือจะไม่เคร่งเครียดเท่าคดีเยาวชนของเรา ยกเว้นคดีข่มขืนนะ อันนั้นเราเข้าใจได้”
 
“เรื่องที่ควรเปลี่ยนแปลงอย่างแรกของศาลเยาวชนฯ คือมุมมองต่อเด็ก เพราะเด็กยังไม่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งตามหลักกฎหมายต้องปฏิบัติกับเขาเสมือนว่าเขาไม่ได้กระทำความผิด แต่ในคดีเยาวชน เราไม่ได้ถูกปฏิบัติแบบนั้นเลย ทั้งให้ตรวจปัสสาวะ ทั้งให้อะไรต่ออะไร ซึ่งไม่ได้ดีต่อเด็กเลย และหลายครั้งก็ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นในคดี”
 
“อีกเรื่องคือการต้องพิจารณาว่าบางคดีมันเปิดเผยได้ มันไม่จำเป็นต้องทำเป็นเรื่องลึกลับ เด็กหลายคนเคยบอกว่าการมาศาลเยาวชนฯ มันเป็นเหมือนเรื่องลึกลับมากๆ ห้องก็ปิด ห้ามใครรับฟัง ห้ามเอาเรื่องไปเปิดเผย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไม และตัวเด็กเองก็ไม่ได้รู้สึกปลอดภัย”
 
2670

 

ความฝันที่แลกได้แม้อาจต้องติดคุก

 
“ถ้าตอนนี้ไม่มีคดีอยู่ และไม่ได้เคลื่อนไหว เราคงไม่ได้อยู่ไทย เพราะเดิมทีเรามีแผนว่าจะไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย จริงๆ ผมเกิดทีนั่น ตอนแรกอยากกลับไปเรียนที่นั่นมากๆ ได้ไปเที่ยวแล้วรู้สึกชอบ บรรยากาศการศึกษามันดีกว่าที่ไทยเยอะ แต่ผมไม่รู้สึกเสียใจกับการเคลื่อนไหวนะ มันเป็นอะไรที่ต้องแลกมา มันเป็นความฝันของเราที่ต้องการเปลี่ยนแปลง มันเป็นหนึ่งสิ่งที่เราแลกได้แม้กระทั่งว่าเราจะต้องติดคุกก็ตาม แต่เราไม่อยากให้ใครต้องมาโดนแบบนี้แล้ว ไม่อยากให้เด็กคนไหนต้องมาโดน เราโชคดีมากๆ ที่ครอบครัวคอยสนับสนุนเรา แต่เด็กหลายคนโดนตัดขาดจากครอบครัวเพราะโดนคดี มันรู้สึกแย่”
 
“เราคิดว่าคดีของเราจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานของศาลเยาวชนฯ ว่าจะตัดสินคดีเยาวชนที่เขาอ้างว่าเป็นภัยความมั่นคงยังไง เป็นคดีเด็กด้วย เป็นคดีความมั่นคงด้วย คดีวางเพลิงมีอัตราโทษสูง คดี ม.112 ก็มีอัตราโทษสูง เลยอยากรู้เหมือนกันว่าเขาจะตัดสินมาในรูปแบบไหน และจะถึงขั้นเข้าสถานพินิจเลยหรือไม่”
 

#ยกเลิกมาตรา112 คือจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

 
“มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ทำให้คนไม่เท่ากัน ควรจะยกเลิกซะ เนื่องจากว่าหมิ่นประมาทเนี่ย สมมติผมหมิ่นประมาทพี่ พี่ต้องไปแจ้งความเอง ไม่ใช่ว่าให้ใครก็ได้มาแจ้งความเรา รวมถึงว่า ถ้าหากผมหมิ่นประมาทพี่ โทษมันต่างกับการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ‘ดูหมิ่น’ ‘อาฆาต’ ‘มาดร้าย’ สามคำนี้ ความหมายมันแตกต่างกันแต่โทษมันรวมกันในบทเดียว ถ้าเกิดกรณีหมิ่นประมาท ผมคิดว่าพระมหากษัตริย์ควรลงมาแจ้งเองด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทที่เท่ากัน แล้วควรเปลี่ยนกฎหมายหมิ่นประมาททั้งหมดให้เป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา หากมีการหมิ่นประมาทกันจริง ก็ให้ไปเรียกเงิน ไม่ใช่ติดคุก”
 
“ถ้ายกเลิก 112 ได้ มันจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทอื่น รวมถึงตอนนี้ ม.112 กลายเป็นข้อหาที่ถูกแจ้งเพื่อกลั่นแกล้งกัน ทั้งจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยทางการเมือง บางกรณีแค่ไม่ชอบหน้าก็ไปแจ้ง ม.112 กันแล้ว แต่ถ้ายกเลิกได้จริง มันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ผู้คนพูดได้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อนำข้อมูลเป็นความจริงในทุกด้านออกมาเปิดเผย”
 
2671
Article type: