1276 1171 1402 1759 1143 1572 1221 1604 1220 1302 1813 1133 1843 1934 1034 1150 1700 1284 1140 1336 1016 1142 1179 1218 1969 1228 1077 1682 1331 1995 1936 1677 1466 1737 1004 1891 1981 1259 1779 1560 1999 1529 1149 1996 1827 1847 1134 1397 1484 1207 1207 1510 1130 1348 1247 1656 1697 1322 1395 1326 1308 1984 1696 1043 1515 1669 1348 1910 1949 1387 1165 1443 1228 1708 1083 1846 1207 1834 1209 1082 1127 1445 1931 1955 1612 1075 1385 1640 1283 1237 1381 1758 1912 1491 1469 1845 1325 1072 1645 ก้อง อุกฤษฏ์: Welcome to the “New World” | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ก้อง อุกฤษฏ์: Welcome to the “New World”

 
ในวัย 23 ปี อาจเป็นช่วงอายุที่ใครหลายคนกำลังศึกษาเล่าเรียน เริ่มต้นชีวิตทำงาน หรือออกไปค้นพบโลกกว้างใบใหม่ เช่นเดียวกันกับ ก้อง-อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษาปีสี่ ชาวพัทยา ที่กำลังจะเรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
 
ในปี 2563-2564 ก้องขึ้นปราศรัยหลายครั้งในนาม “เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย” และปัจจุบันกำลังเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่กับกลุ่ม “ทะลุราม” เพื่อหวังจะสร้างโลกใบใหม่ที่ดีขึ้น
 
“เป้าหมายของผมตอนนี้คืออยากให้คนใน ม.ราม หรือแค่นักศึกษาราม ตื่นรู้ในเรื่องการเมือง ที่ไม่ใช่แค่รู้แล้ว แล้วไงต่อ แต่สามารถออกมาเคลื่อนไหวหรือเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้” ก้องเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เขากลายมาเป็นนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย
 
แต่ทว่า “โลกใบใหม่” ในความเป็นจริงที่ก้องต้องเผชิญ ดูเหมือนจะไม่ใช่โลกที่ใจดีซักเท่าไหร่ เพราะในวัย 20 ปีเศษ ก้องถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จำนวน สองคดี โดยมีที่มาจาก “การแชร์ข่าว” บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก
 
คดีแรก เป็นข่าวการชุมนุมประท้วงที่หน้าโรงแรมในเยอรมันจากเพจ Jonh New World เพจแบ่งปันข่าวการเมืองที่มีคนติดตามมากกว่า 57,000 คน โดยมีผู้กล่าวหาคือ ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล นักร้องมือฉมังแห่งสมุทรปราการที่ไปริเริ่มคดีไว้ที่ สภ.บางแก้ว และคดีต่อมา จากการถูกกล่าวหาว่าใช้บัญชีเพจเฟซบุ๊ก John New World เผยแพร่ข่าวเท็จเกี่ยวกับอาการประชวรของรัชกาลที่ 10 โดยในคดีนี้ ก้องถูกตำรวจ ปอท. บุกค้นห้องพัก พร้อมยึดสิ่งของ และพาไปทำการสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
 
ก้องเล่าว่าในคดีหลัง ระหว่างการสอบสวนไม่มีทนาย เขาถูกกดดันให้รับสารภาพ เพื่อที่โทษจะได้เบาลง จากนั้นเมื่อได้พบทนาย ก้องก็ตัดสินใจต่อสู้คดี แต่ในท้ายที่สุด เขาได้เลือกที่จะรับสารภาพอีกครั้งในวันแรกของการสืบพยานเมื่อ 18 ตุลาคม 2565 อย่างไรก็ตาม ก้องยืนยันว่าเจตนาของเขาไม่ใช่การอาฆาตมาดร้าย เพียงแค่ต้องการเผยแพร่ข่าวสารต่อประชาชนทั่วไปเท่านั้น
 
ชวนทำความรู้จัก “โลก” ที่ก้องเติบโตมา และ ความฝันใน “โลกใบใหม่” ที่เขาเฝ้าฝันถึง ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีใจรักในประชาธิปไตยและการทำม็อบ
 
2759
 

01 จอทีวีสีเหลืองในวัยเด็ก

 
ก้อง เด็กหนุ่มอายุ 23 ปี มีพ่อทำงานรับเหมาก่อสร้างและถมที่ดิน แม่เป็นแม่บ้าน มีพี่ชายหนึ่งคน เขาเป็นคนหุ่นหมี มีแววตาที่ดูเป็นมิตรกับทุกคน อีกทั้งยังเป็นคนพูดน้อยและตะกุกตะกัก
 
ในเริ่มแรกของการสนทนา ก้องตอบคำถามสัมภาษณ์สั้นๆ แบบถามคำตอบคำ แต่เมื่อรู้สึกผ่อนคลายก็เริ่มเล่าเรื่องอย่างลงรายละเอียดมากขึ้น ก้องเล่าว่า ปัจจุบันเขากำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่สี่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่กับกลุ่มทะลุราม
 
ตั้งแต่เด็ก ก้องเป็นคนชอบเรียนมากกว่าทำกิจกรรม โดยเฉพาะวิชาสังคมศึกษา เขาเล่าว่าชอบอ่านหนังสือที่มีข้อมูลว่าแต่ละประเทศในโลกนี้เป็นอย่างไร โดยหนังสือเล่มแรกที่ชอบมากในวัยมัธยมต้นอย่าง “20 ทรราช” ที่ไปเจอเข้าในห้องสมุดของโรงเรียนนั้นก็ว่าด้วยเรื่องระบอบการปกครองแบบเผด็จการ
 
ก้องบอกว่า รู้ตัวว่าสนใจการเมืองจริงจังตอน ม.4 แต่ในความเป็นจริง ภาพการเมืองซึมซับลงไปผ่านสายตาของเขาตั้งแต่จำความได้ โดยในช่วงปี 2548-2549 ที่กำลังมีม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก้องเล่าว่า ด้วยความที่บ้านเป็นเสื้อเหลือง พ่อของเขาจึงมักจะเปิดโทรทัศน์ช่อง ASTV ทิ้งไว้กลางบ้านอยู่เสมอ
 
“ตอนแรกก็คิดว่า ทักษิณเขาทำประโยชน์เยอะ แต่ทำไมมีแง่มุมในแบบที่ถูกโจมตีด้วย น่าสนใจดี ผมชอบเพลงของพันธมิตรด้วย...”
 
“ไหน เพลงมันร้องยังไง” ก้องถูกถาม
 
“สี่เหลี่ยมก็มีสี่ด้าน ไอคนหน้าด้าน ไอหน้าเหลี่ยม...” ก้องร้องเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” หนึ่งท่อนถ้วนให้ฟังผสมไปกับเสียงหัวเราะ
 

02 บ้านใหญ่ในพัทยา

 
“เคย!” 
 
ก้องตอบกลับมาทันท่วงทีที่ได้ยินคำถามว่า “เคยอยากเป็นนักการเมืองไหม?”
 
พ่อหนุ่มตาใสเล่าว่า จริงๆ แล้วเมื่อก่อนเคยอยากลงเล่นการเมืองภายในบ้านเกิดที่ “พัทยา” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคล้ายกับกรุงเทพมหานคร โดยก้องเล่าว่า ก่อนจะย้ายมาเรียนที่รามคำแหงในปี 2561 เขาเกิดและเติบโตที่พัทยา แต่ท่ามกลางการเมืองในพื้นที่ซึ่งถูกผูกขาดมาอย่างยาวนาน รวมทั้งสภาพเมืองที่ไม่น่าอยู่ ทำให้เขารู้สึกอึดอัดมากพอสมควร
 
“ตอนนี้ก็เป็นฝั่งบ้านใหญ่ที่คุมพัทยาไว้อยู่ ซึ่งก็มี ส.ส.จากที่อื่นมาแข่งด้วย แต่สู้ทางบ้านใหญ่ไม่ได้ ด้วยอิทธิพลและทุนของเขาหนากว่า แต่ก็จะมีพวกเสี่ย พวกมีอิทธิพล หรือธุรกิจลงมาแข่งกับบ้านใหญ่บ้าง เป็นอะไรที่เห็นได้ปกติในการเลือกตั้ง”
 
“ถ้าเป็นคนนอกพัทยา มาเที่ยวได้ แต่ถ้ามาอยู่อาศัยคืออยู่ไม่ได้ สภาพของสาธารณูปโภคไม่ได้เอื้อให้คนอยู่ยาว มีน้ำท่วมในพัทยา ยิ่งฝนตกหนักก็ท่วมหนัก การระบายน้ำแย่มาก เรื่องสาธารณสุขก็ลำบากพอสมควร เช่น เรื่องขยะ มีบางวันที่ขยะเต็ม กองทิ้งไว้ แล้วก็โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา พอจบ ม.3 โรงเรียนของ ม.ปลายก็มีไม่กี่แห่ง ส่วนใหญ่ต้องไปต่อที่อาชีวะ แต่พอจบอาชีวะก็ไม่รู้จะไปไหนต่อ กลายเป็นคนว่างงานเยอะพอสมควร”
 
“คนในพัทยาเขาก็เฉยๆ เพราะเขามองว่า เอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่า ถ้าไม่ได้เคลื่อนใน ม.ราม พัทยาก็เป็นสถานที่ที่น่าเคลื่อนไหว ตอนปี 2563 ก็มีกลุ่มหนึ่งชื่อว่า ‘พัทยาปลดแอก’ แต่ตอนนี้ก็... หายไปแล้ว หายไปกับการเวลา...” ก้องจบบทสนทนาเรื่องบ้านเกิดของตัวเองด้วยน้ำหนักเสียงแฝงความตลกร้าย
 

03 ม.มาเฟีย ม.ราม

 
สิงหาคม 2563 กลุ่ม “เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย” เกิดขึ้นรับควันหลงกระแสการตื่นตัวของนักศึกษาตามแต่ละมหาวิทยาลัยหลังการยุบพรรคอนาคตใหมม่ โดยจัดเดบิวต์ “ม็อบแรก” ที่ลานพ่อขุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก้องเล่าว่าเขาเป็นสมาชิกรุ่นที่สองของกลุ่ม และเริ่ม “ปราศรัย” ในฐานะสมาชิกกลุ่มเมื่อเดือนกันยายน 2563
 
“ตอนแรกเข้ามาเคลื่อนไหวในฐานะกลุ่มเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย 1 กันยายน 2563 ผมปราศรัยที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตอนนั้นก็เป็นครั้งแรกที่ปราศรัยด้วย ยังงงเหมือนกันว่าทำไมเพื่อนถึงเลือกเรา ผมก็อาสาเองด้วยส่วนหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะตัวเลือกอื่นมันไม่มี วันนั้นเราพูดเรื่องยุทโธปกรณ์ของกองทัพที่ซื้อโดยใช้งบจากภาษีประชาชน ประมาณ 10-20 นาที”
 
ตลอดการสนทนา ก้องเรียกชื่อกลุ่มสังกัดกิจกรรมการเมืองแรกของเขาด้วยชื่อย่อว่า “เครือข่ายรามฯ” บ้าง “เครือข่ายฯ” บ้าง สลับกันไป โดยเขาเล่าว่า นอกจากทางเครือข่ายฯ จะเคลื่อนไหวแบบจัดม็อบ หรือไปช่วยสมทบขบวน เป็นการ์ด ฝ่ายสวัสดิการ และฝ่ายพัสดุแล้ว ทางกลุ่มก็ยังเคลื่อนไหวเรื่องการเมืองภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย เช่น ประเด็นโซตัส หรือสวัสดิการพื้นฐานของนักศึกษา
 
ทว่า สมญานามความเลื่องชื่อของ “อำนาจนิยม” ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในรั้วมหา’ลัยพ่อขุน ก็ดูจะเป็นอุปสรรคสำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มอยู่บ้าง
 
“ตอนที่เข้ามาตั้งแต่ปีหนึ่ง ผมก็รู้ได้เลยว่า ม.ราม เป็นดินแดนที่อันตรายระดับหนึ่งในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเรื่อง NO SOTUS มันมีประเด็นของพรรคหนึ่งในมหาลัย ไม่อยากเอ่ยชื่อเพราะเดี๋ยวโดนสอย (หัวเราะ) มีครั้งหนึ่งเราโพสต์เรื่อง NO SOTUS พอโพสต์ปุ๊ปก็กลายเป็นประเด็นขึ้นมา พอคนของทางพรรคเห็น เขาก็พูดกับคนอื่นๆ ว่า ถ้าเจอตัวผม จะเก็บทันทีเลย”
 
“คือการเคลื่อนไหวใน ม.ราม มันต้องเจอกับมาเฟียที่รายล้อมอยู่ข้างนอกมหาลัย พวกเขามองว่า เราเคลื่อนเรื่องการเมือง ไม่เป็นไร แต่อย่ามายุ่งกับผลประโยชน์ภายใน ม.ราม ก็พอ”
 
“ถ้าไปติดป้าย หรือไปยุ่งอะไรกับผลประโยชน์รถตู้ วินมอไซต์ เขาจะขู่ไว้ก่อนเลย เพราะเขาผูกขาดธุรกิจนี้ (ขนส่ง) ใน ม.ราม”
 

04 ชุลมุนที่ลานพ่อขุน

 
ไม่เพียงแต่มวลอำนาจนิยมภายในและรอบๆ มหาวิทยาลัย ในช่วงที่อุณหภูมิทางการเมืองกำลังร้อนแรงในปี 2563  ก้องยังเล่าถึงประสบการณ์เกือบถูก “ทุ่มลำโพงใส่” เมื่อ 21 ตุลาคม 2563 ในเหตุการณ์ “ม็อบชนม็อบ” ที่เครือข่ายรามฯ เลือกใช้ลานพ่อขุนเพื่อจัดกิจกรรมต้อนรับเพื่อนสมาชิกที่ได้รับการปล่อยตัว ภายหลังถูกจับกุมในม็อบคณะราษฎรอีสาน
 
ประจวบเหมาะที่ในวันเดียวกัน กลุ่มอาชีวะช่วยชาติและนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ประกาศนัดชุมนุมแถลงการณ์ประกาศจุดยืน “ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่ลานพ่อขุนในเวลาไล่เลี่ยกัน
 
“มีช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่มีฝั่งเสื้อเหลืองมาทำร้ายสมาชิกของเครือข่ายรามฯ ตอนนั้นมีม็อบของเสื้อเหลืองจัดที่ลานพ่อขุน เขาประกาศว่า ‘เราจะไปตีพวกล้มเจ้า’ แล้วทางเครือข่ายรามฯ ก็กำลังจัดกิจกรรมต้อนรับสมาชิกที่โดนจับในม็อบ 13 ตุลาคม 2563 ใกล้ๆ กัน”
 
“พวกม็อบเสื้อเหลืองเขาประกาศว่า เป้าหมายต่อไปคือ ‘เราจะขับไล่พวกล้มเจ้าออกจาก ม.ราม’ ตอนนั้นเราไม่ทันตั้งตัว แล้วเขาก็เดินเข้ามาทันทีเลย เครื่องเสียงต่างๆ ก็เกือบเละ โดนยก (ลำโพง) ปาใส่เลย ตอนนั้นผมก็อยู่ใกล้ๆ ลำโพงด้วย ต้องรักษาลำโพงที่เหลือ เราย้ายลำโพงไปไว้ที่ สน.หัวหมาก เพื่อไม่ให้กลุ่มเสื้อเหลืองยึดไปได้ ในส่วนของเครือข่ายรามฯ ก็ได้รับบาดเจ็บ เป็นน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกทุ่มลำโพงใส่”
 
เหตุการณ์ในวันดังกล่าว ส่งผลให้ “แบม” หนึ่งในนักศึกษารามคำแหงที่ขึ้นปราศรัยบนรถกระบะขณะที่เกิดเหตุชุลมุน ถูกลำโพงทุ่มใส่และไปรักษาพยาบาลโดยการใส่เฝือกที่ข้อเท้า รวมทั้งมีการ์ดนักศึกษาอีกหลายคนที่ถูกทำร้าย
 
2755

 

05 ปอท. บุกห้อง

 
ตุลาคม 2563 หมายเรียกมาตรา 112 จากจังหวัดสมุทรปราการถูกส่งตรงมาถึงบ้านที่ก้องอาศัยอยู่กับแม่ในกรุงเทพฯ เขาเล่าว่า ในหมายฉบับแรกนี้มีที่มาจากการแชร์โพสต์ข่าวของเพจ Jonh New World เข้ากลุ่มรอยัลลิสท์ มาเก็ตเพลส โดยเป็นข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมของชาวต่างชาติเพื่อประท้วงกษัตริย์ไทยที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนี พร้อมข้อความประกอบการแชร์ว่า “อย่างนี้ต้องทรงพระเจริญเต็มที่เลยนะเนี่ย”
 
ก้องเล่าว่า เมื่อแม่เห็นหมายก็บอกกับเขาว่า “ขอให้โพสต์นี้เป็นโพสต์สุดท้าย” เพราะแม่กลัวมาตรา 112 และกลัวว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเขา
 
“ตอนนั้นผมก็ไม่โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวอีก ระวังมากขึ้น... แต่แม่ก็ยังไม่รู้ ว่าหลังจากนั้นผมมีเพิ่มอีกคดี” ก้องเล่าแล้วหัวเราะ
 
เกือบหนึ่งปีต่อมา ในวันที่ 8 มิถุนายน 2564 เฟซบุ๊กของเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย โพสต์ข้อความว่า “ประกาศตามหา ก้อง อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ปีที่สาม โดยทราบข่าวว่า ถูกจับกุมตัวคดี 112 อยู่ที่ ปอท. และถูกยึดโทรศัพท์มือถือ” 
 
ก้องเล่าว่า การมาถึงของคดีที่สองนั้นมาพร้อมกันทั้ง “หมายค้นและหมายจับ” ซึ่งเป็นเหตุสืบเนื่องจากการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับอาการประชวรของรัชกาลที่ 10 บนเฟซบุ๊ก และภายหลังจากประตูหอพักของก้องถูกเปิดในเวลา 11 โมงเช้า เขาก็ขาดการติดต่อกับโลกภายนอกไปนานเกือบหนึ่งวัน
 
“ตอนนั้นเพิ่งตื่นนอนและอยู่คนเดียวที่หอพักแถวรามคำแหง เวลาประมาณ 11 โมง เราตื่นเพราะได้ยินเสียงเคาะประตู ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร นึกว่าเพื่อนมาหา แต่พอเปิดเข้ามาปุ๊ป ตำรวจก็ล้อมเจ็ด-แปดคน เขามีกุญแจพร้อมเปิดเข้ามาเอง เป็นตำรวจชุดของ ปอท. เลย แล้วก็มีคนในชุดกากีอีกประมาณสองคน”
 
“จากนั้นเขาก็อ่านหมายค้น พอเสร็จแล้วก็ทำการค้น ในขณะค้นเขาอ่านหมายจับทันที ซึ่งตอนนั้นก็ขัดขืนอะไรไม่ได้เพราะเขาล็อคตัวผม สั่งห้ามยุ่ง แล้วเขาก็ค้นห้อง ยึดพวกเอกสารเล็กๆ น้อยๆ โทรศัพท์ แล้วก็สมุด ไปที่ ปอท.ด้วย พอค้นเสร็จเขาก็พาขึ้นรถกระบะสีดำ มีเจ้าหน้าที่สองคนนั่งอยู่ในรถข้างหน้า ส่วนข้างหลังมีเจ้าหน้าที่คุมตัวนั่งไปด้วยอีกคน”
 
“พอไปถึงศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ที่ทำการของ ปอท. ตอนนั้นก็ปวดฟันด้วยเพราะเพิ่งไปผ่าฟันคุดมา ขาไปในรถก็ทรมานพอสมควร”
 
ก้องเล่าว่า เขาถูกสอบสวนเพียงคนเดียวโดยไม่มีทนายในห้องสอบสวน ด้วยบรรยากาศที่ตึงเครียด ความกังวลก็เข้าครอบงำจนทำให้เขาตัดสินใจ “รับสารภาพ”
 
“เขามาแบบไกล่เกลี่ยนะ แต่พอเรายอมรับสารภาพ เขาก็เริ่มขู่ ประมาณว่าเดี๋ยวจะเกิดเรื่องตามมา อย่าเพิ่งติดต่อทนาย รอสืบสวนอะไรให้เสร็จก่อน คือตอนนั้นผมก็กังวลและเครียดมากด้วย ตอนนั้นไม่สามารถติดต่อทนายได้เลย เขาบอกว่า ‘รอเสร็จตรงนี้ก่อน!’ อะไรแบบนี้ คุมตัวไว้นานจนต้องยอมรับสารภาพ”
 
“เห้ย ถ้าคุณยอมรับตอนนี้ โทษจะได้ลดน้อยนะ แต่ถ้าคุณไปสารภาพในชั้นศาลมันจะไม่น้อยเหมือนตรงนี้นะ ถ้ามาพูดกันตอนนี้ยังโอเค แต่ถ้าจะเรียกทนายให้มาคุยเนี่ย... อาจจะยาก!” ก้องกระแทกเสียงคำว่า “ยาก” เลียนแบบคำพูดของเจ้าหน้าที่ในวันดังกล่าว
 
2756
 
หลังจากสอบสวนเสร็จ เวลาประมาณสองทุ่ม เจ้าหน้าที่ก็พาก้องไปฝากขังไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง และที่นั่นเอง เขาได้พบกับ “บุคคลแปลกหน้า” ที่ช่วยให้สามารถติดต่อทนายได้ในที่สุด
 
“ในห้องขังของ สน.ทุ่งสองห้อง มีคนที่โดนคดีเดียวกันกับผม โดน 112 และพ.ร.บ.คอมพ์ฯ จากการโพสต์ในทวิตเตอร์ ชื่อ ต่อ-สหรัฐ เจริญสิน แต่ไม่รู้จักกันมาก่อน เราได้พูดคุยกันหลังสืบสวนเสร็จ ได้ความว่าทั้งสองคนเป็นชุดแรกที่โดนจับ ในปฏิบัติการกวาดล้างไซเบอร์อะไรซักอย่าง มารู้ภายหลังว่ามันมีคนถูกจับในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน”
 
“พออยู่ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ก็มีทนายจากศูนย์ทนายสิทธิฯ มา ... คือตอนนั้นทนายก็เพิ่งรู้ นึกว่ามีแค่คนเดียว ก็ถือว่าโชคดีที่ยังมีคนติดร่วมด้วย” ก้องตอบแล้วหลุดขำ
 
“ตอนห้าทุ่มกว่าๆ ทางเครือข่ายรามฯ ก็มาเยี่ยมด้วย เพราะเขาให้ใช้โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ได้แล้ว แต่ติดต่อได้แค่คนเดียว เพราะเราจำเบอร์เพื่อนที่เป็นสมาชิกได้คนเดียว พอมาแล้วเพื่อนก็ให้ข้าวให้น้ำ ทางเครือข่ายฯ ก็เฝ้าอยู่กันจนดึกพอสมควร จนประมาณตีสอง-สาม เขาบอกว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้มาใหม่ พอวันต่อไปก็ไปรอเราประกันตัวที่ ปอท.”  
 
วันต่อมา ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวในเวลา 15.30 น. โดยวางหลักทรัพย์ 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดให้มารายงานตัวต่อศาลอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในคืนนั้นเขาก็ยังไม่สามารถกลับไปนอนที่หอพักได้ตามใจอยากเสียที
 

06 แขกจาก สภ.บางแก้ว

 
“พอทำเรื่องประกันเสร็จก็มีเรื่องที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ตอนกำลังเดินออกไป ก็มีตำรวจของทาง สภ.บางแก้ว ขึ้นมาอายัตตัวจากคดีที่สมุทรปราการ น่าจะเป็นหมายจับให้ไปที่ สภ.บางแก้ว แต่รอบนี้มีเครือข่ายฯ สี่-ห้าคนนั่งไปด้วยบนรถของตำรวจ”
 
ก้องเล่าว่า ในคดีมาตรา 112 ที่สมุทรปราการ เขาเคยได้รับหมายเรียกพยานให้เดินทางไปให้ปากคำเพื่อเป็นพยานประกอบคดีที่ สภ.บางแก้ว แล้วครั้งหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ได้พูดคุยกับเขาว่า “ขอให้เงียบๆ ไว้ก่อน” พร้อมตั้งเงื่อนไขห้ามโพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันอีกบนโซเชียลมีเดีย 
 
“ประมาณห้า-หกโมง พอไปถึงก็สืบสวนเหมือน ปอท.เลย แต่ครั้งนั้นเราปฏิเสธ เพราะมีทนายอยู่ด้วย แล้วจากนั้นก็นอนที่ สภ.บางแก้วอีกคืนหนึ่ง เขาให้เหตุผลว่ายังประกันตอนนี้ไม่ได้ เลยเวลาที่กำหนดแล้ว ซึ่งตอนนั้นในห้องขังที่ สภ.ก็มีคนเดียวด้วย ตอนกลางคืนก็ไม่มีตำรวจมาเฝ้า”
 
ในคดีที่สมุทรปราการ ก้องได้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท เมื่อถามว่าหลังถูกจับกุมสองคดีต่อเนื่องกันแล้วเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง “สภาพครอบครัว” ก็เป็นคำแรกที่ก้องเลือกตอบแบบไม่ต้องคิดนาน
 
“ตอนแรกเตี่ยก็ไม่อยากส่งให้เรียนแล้ว เพราะเขามองว่าคดี 112 เป็นคดีเสื่อมเสีย ยิ่งทางฝั่งครอบครัวเตี่ยเป็นคนเสื้อเหลืองด้วย เขามองว่าคนที่โดนคดีเป็นอะไรที่เสื่อมเสียมาก ส่วนทางฝั่งแม่ก็โอเค แต่ขอให้คดีนี้เป็นคดีสุดท้ายในการโพสต์”

 

07 ทะลุราม และทนายความที่เข้าใจนักกิจกรรม  

 
ในปี 2565 ก้องเล่าว่านักเคลื่อนไหวรอบตัวเขาเริ่มหันไปทำอย่างอื่น รวมทั้งเครือข่ายรามฯ ก็เปลี่ยนแนวจากการจัดม็อบไปเป็นการทำงานกับภาคส่วนอื่นๆ โดยตัวก้องเองก็สลับไปช่วยงานของพรรคก้าวไกลในพื้นที่ใกล้เคียงบ้าง กระทั่งมีคนชวนให้เคลื่อนไหวอีกครั้งในชื่อกลุ่ม “ทะลุราม” ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจากทะลุฟ้า และเครือข่ายรามฯ
 
ก้องเล่าว่า ทะลุรามเป็นกลุ่มที่ช่วยเติมให้ไฟชีวิตของเขากลับคืนมาอีกครั้ง
 
“เมื่อก่อนนี้รู้สึกหมดไฟในการเคลื่อนไหวกับเครือข่ายรามฯ เพราะแนวทางของกลุ่มเปลี่ยนไปเป็นการทำงานกับฝ่ายการเมือง แต่พอมาอยู่ทะลุราม มันมีไฟในการเคลื่อนไหว แนวทางเป็นแบบที่เราชอบ คือจัดเวทีปราศรัย มันเป็นช่องทางที่สามารถทำให้ได้ยินเสียงแท้ๆ ของประชาชน ที่ไม่ใช่เสียงของนักการเมือง”   
 
ในช่วงท้ายของการสนทนา เมื่อถามถึงภาพอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากการฟังผลพิพากษา เขามองภาพของตัวเองไว้อย่างไร ก้องตอบว่า เขาอยากทำงานสายนิติศาสตร์มาก
 
“เราคิดว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน สามารถเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ พอเรียนไปก็ชอบระดับหนึ่ง แต่ในความเป็นจริง เราไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้ เพราะด้วยตัวหลักความรู้ หลักศึกษาของทางคณะนิติศาสตร์ กฎหมายมันสำคัญที่สุด แม้ตัวกฎหมายมันจะเหี้ยหรือจะไม่ยุติธรรมก็ตาม”
 
“ในอนาคต ถ้าเราเป็นทนายแล้วมารับทำคดีของนักเคลื่อนไหว เราจะเข้าใจพวกเขา นี่คือเหตุผลที่เราอยากเป็นทนาย เพราะคนที่จะเข้าใจนักเคลื่อนไหว ก็คงต้องเป็นนักเคลื่อนไหวด้วยกัน”
 
“อยากทำมาก แต่ก็รอดูคดีก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าพ้นจากคดีนี้ได้ก็อาจจะสอบตั๋วทนาย” หนุ่มนิติศาสตร์รามฯ ตอบ
 
2758
 
 
Article type: