1940 1568 1611 1125 1915 1680 1919 1943 1936 1012 1199 1985 1753 1939 1756 1640 1930 1770 1971 1849 1344 1662 1809 1133 1006 1916 1086 1713 1231 1179 1653 1682 1025 1123 1347 1883 1502 1954 1148 1055 1233 1361 1872 1159 1726 1089 1156 1962 1223 1179 1057 1262 1606 1871 1303 1909 1898 1857 1344 1872 1354 1449 1733 1693 1495 1527 1935 1111 1004 1294 1908 1845 1473 1574 1718 1888 1407 1582 1746 1096 1147 1793 1413 1622 1886 1726 1119 1599 1273 1410 1619 1061 1634 1166 1918 1621 1888 1147 1318 บันทึกเมืองไทยใต้กฎอัยการศึก: จะจัดงานเสวนา-กิจกรรมสาธารณะ #ขออนุญาตหรือยัง คะ/ครับ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

บันทึกเมืองไทยใต้กฎอัยการศึก: จะจัดงานเสวนา-กิจกรรมสาธารณะ #ขออนุญาตหรือยัง คะ/ครับ

หลังการยึดอำนาจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบาย "คืนความสุข" ให้คนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองของหลายฝ่ายซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน กฎอัยการศึกและประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จึงถูกนำมาใช้เพื่อคืนความสงบสุขให้ประชาชน 
กฎอัยการศึกและประกาศ คสช. ไม่ได้นำมาใช้ควบคุมการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น งานเสวนา งานแถลงข่าว หรือแม้แต่งานแสดงศิลปะก็ถูกห้ามไปด้วย ผู้ที่รักในการแลกเปลี่ยนความรู้และสังสรรค์กับผู้ที่สนใจในเรื่องเดียวกันจึงไม่น่าจะมีความสุขนักในช่วงนี้   
 
จากการเก็บข้อมูล ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดยไอลอว์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม2557 – 28 กุมภาพันธ์ 2558 มีการปิดกั้นกิจกรรมและงานเสวนาอย่างน้อย 52 ครั้ง แบ่งเป็นประเด็นการเมือง 16 ครั้ง ประเด็นที่ดินและสิทธิชุมชน 9 ครั้ง ประเด็นสิทธิเสรีภาพ 7 ครั้ง ประเด็นการปฏิรูปพลังงาน 4 ครั้ง ประเด็นสิ่งแวดล้อม 3 ครั้ง ประเด็นการเมืองต่างประเทศ 3 ครั้ง ประเด็นการศึกษา 2 ครั้ง ประเด็นจังหวัดจัดการตนเอง 2 ครั้ง และประเด็นอื่นๆ 4 ครั้ง
 
 
 
 
ไม่ได้ห้ามนะ แค่ “ขอความร่วมมือ”
การปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะครั้งแรกที่ทางไอลอว์เก็บข้อมูลได้ คือ การงดฉายภาพยนตร์เรื่อง 1984 ซึ่งจัดโดยกลุ่ม “ปันยามูฟวี่คลับ” ที่แสงดีแกลลอรี จังหวัดเชียงใหม่ ที่วางแผนจะจัดงานในวันที่ 14 มิถุนายน 2557 โดยผู้จัดกิจกรรมถูกเรียกเข้าไปทำความเข้าใจในค่ายทหาร ขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่โทรมาสอบถามเรื่องลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์กับเจ้าของสถานที่
 
หลังจากนั้นการแทรกแซงงานเสวนา-กิจกรรมสาธารณะก็เกิดขึ้นเรื่อยมา 
 
กิจกรรมที่มีลักษณะเป็นงานเสวนาหรือแถลงข่าว เจ้าหน้าที่มัก "ขอความร่วมมือ" ด้วยการ โทรศัพท์ ส่งจดหมาย รวมทั้งเดินทางมาพูดคุยกับผู้จัดงานให้ยกเลิกงานหรือสร้างเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ขอให้เปลี่ยนตัววิทยากร หรือ งดพูดบางประเด็น ซึ่งเจ้าหน้าที่มักจะติดต่อเข้ามาก่อนหน้าวันจัดงานเพียง 2-3 วัน 
สำหรับกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการชุมนุมหรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ มักมีการจับกุมผู้ร่วมกิจกรรมในระหว่างหรือหลังทำกิจกรรมเพื่อปรับทัศนคติ ผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนถูกดำเนินคดีหลังถูกจับกุม 
 
เหตุผลในการห้ามจัดหรือการแทรกแซงกิจกรรมของเจ้าหน้าที่มีเพียงข้อเดียวเท่านั้นคือ “ความมั่นคงและสงบเรียบร้อย”
 
จากการพูดคุยกับผู้จัดงานที่เคยถูกเจ้าหน้าที่แทรกแซงการจัดกิจกรรมพบว่า คำถามที่เจ้าหน้าที่มักถามผู้จัดงานคือ “งานนี้ทำหนังสือขออนุญาตหรือยังคะ/ครับ” หลังจากนั้นผู้จัดต้องทำหนังสือขออนุญาตเพื่อ “รอการอนุมัติ” จาก คสช. ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ เช่น เวทีเสาร์ถกแถลงครั้งที่ 4 : "ระบบรัฐสภาแบบไหน...ความหวังประชาธิปไตยไทย" ซึ่งจัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องยกเลิกเพราะไม่มีคำตอบจาก คสช. ว่าอนุญาตให้จัดหรือไม่
 
 
#ไม่มีงานทอล์คโชว์ภายใต้ท๊อปบูท #ไม่มีเสรีภาพภายใต้กฎอัยการศึก
งานทอล์คโชว์-คอนเสิร์ต “ผืนดินเรา ที่ดินใคร” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับ มีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 แต่สุดท้ายต้องยกเลิก เนื่องจากก่อนวันงาน 4 วัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโทรศัพท์มาขอความร่วมมือให้ผู้จัด "เลื่อน" การจัดงานออกไปก่อน
 
ปกรณ์ อารีกุล หรือ แมน ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ของงานเล่าถึงการขัดขวางการจัดกิจกรรมดังกล่าวว่า ทหารเกรงว่ากิจกรรมนี้อาจเป็นการชุมนุมทางการเมือง และขอให้ถอดชื่อ ส.ศิวลักษณ์หนึ่งในวิทยากรของงานนี้ออกไป แต่ผู้จัดงานไม่ยอมเปลี่ยนตัววิทยากร เนื่องจากได้ทำการประชาสัมพันธ์จนเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปแล้ว
 
188 ปกรณ์ อารีกุล (ภาพจาก เว็บไซต์ จส.100)
 
“ถ้าถอดไม่ได้ก็คงจัดไม่ได้ และถ้ายังดึงดันจะจัดก็อาจมีการเอารถทหารมาปิดกั้นทางเข้าออกงาน” แมนเล่าว่าทหารตอบกลับมาแบบนี้
 
ตอนนั้นทางผู้จัดเข้าใจเหตุผลของเจ้าหน้าที่ และคิดว่าจะต้องจัดงานแถลงข่าวเพื่อสื่อสารกับประชาชนว่าทำไมจึงจัดงานดังกล่าวขึ้นไม่ได้ งานแถลงข่าว "ไม่มีงานทอล์กโชว์ภายใต้ท๊อปบูท" จึงเกิดขึ้นแทนที่งานทอล์คโชว์-คอนเสิร์ต “ผืนดินเรา ที่ดินใคร” แต่สุดท้ายงานแถลงข่าวก็จบลงด้วยการปรับทัศนคติทีมงาน
 
"ทหารเขารู้สึกว่าเขาไม่ได้ละเมิดสิทธิเรา เขาไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงบอกกับสื่อว่าถูกแทรกแซงและละเมิดสิทธิ การที่เราถูกขอให้ตัดวิทยากรบางคนออก นั่นคือการละเมิดแล้ว แทรกแซงแล้ว ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ ใครจะพูดอะไรก็ได้ แต่พอเราอธิบายให้ทหารฟังแบบนี้ เขาก็บอกว่า หยุด! คุณไม่ต้องพูด ถือว่าเราคุยกันไม่รู้เรื่อง" แมนเล่าถึงบทสนทนาระหว่างตนเองกับเจ้าหน้าที่ระหว่างถูกปรับทัศนคติ
 
 
จัดไม่ได้เพราะวิทยากร #ผมนี่อึ้งไปเลย
จากการเก็บข้อมูลพบว่า ปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารแทรกแซงการทำกิจกรรม คือ วิทยากรและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ
 
การขอให้ถอดหรือเปลี่ยนตัววิทยากรบางคนไม่ได้เกิดขึ้นกับกรณีงานทอล์คโชว์-คอนเสิร์ต “ผืนดินเรา ที่ดินใคร” เท่านั้น หลังรัฐประหารมีอย่างน้อย 5 กิจกรรมที่ทหารแสดงความกังวลเรื่องวิทยากร เช่น งานเสวนา “ที่ดิน เหลื่อมล้ำ ภาษี: ก้าวที่ต้องร่วมเลือก” ซึ่งจัดที่ห้องสมุด เดอะ รีดดิ้งรูม ไม่สามารถจัดได้เนื่องจากมี กรณ์ จาติกวณิช เป็นหนึ่งในวิทยากร ซึ่งทหารเกรงว่า อาจมีการพาดพิงถึงรัฐบาลปัจจุบัน 
มีบางงานที่ผู้จัดยอมเปลี่ยนตัววิทยากรเพื่อให้กิจกรรมนั้นดำเนินต่อไปได้ เช่น เสวนา "การปฏิรูปทางการเมือง เพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม" ที่จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หลังผู้จัดคุยกับทหารก็ได้ข้อสรุปว่า จะเชิญสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติมาร่วมเป็นวิทยากรด้วย
 
สำหรับการปิดกั้นเรื่องเนื้อหาพบว่า กิจกรรมส่วนใหญ่ถูกทหารแทรกแซงเพราะมีประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ เช่น กิจกรรมรับบริจาคปากกาดินสอให้กับนักเรียนชนบท เพื่อส่งเสริมสิทธิทางการศึกษาของเด็กเนื่องในวันสิทธิมนุษยชน จัดโดยกลุ่ม We Watch งาน “สิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนไทยในยุคป-ะช-ธิ-ไ-ย” โดยชุมนุม Paradoxocracyมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น
 
 
เมื่อขอให้เลื่อนจัดกิจกรรมไม่ได้ ก็ขอมาพูดด้วยแล้วกัน
ข้อสังเกตประการหนึ่งจากการเก็บข้อมูลการปิดกั้น-แทรกแซงงานเสวนา-กิจกรรมสาธารณะพบว่า ในระยะหลังเจ้าหน้าที่เริ่มใช้รูปแบบการขอความร่วมมือที่ประนีประนอมมากขึ้น โดยอนุญาตให้จัดงานได้ แต่มีการสร้างเงื่อนไขเพิ่ม เช่น ขอเข้ามาสังเกตการณ์และบันทึกวีดีโอระหว่างการจัดกิจกรรม ขอให้ปรับเปลี่ยนเนื้อหางาน 
การแทรกแซงกิจกรรมในลักษณะนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นงานประชุมภายในเพื่อพูดคุยเรื่องคดีระหว่างทนายกับชาวบ้านที่จะฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง ในจังหวัดอุดรธานี โดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจขอเข้าฟังและขอเอกสารประกอบการประชุมไปด้วย
 
การแทรกแซงงานเสวนาที่เป็นข่าวฮือฮาทั้งในและต่างประเทศ คือ งานเสวนาที่จัดโดยห้องสมุดสันติประชาธรรม เรื่อง "สิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์" เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารขอร่วมเป็นวิทยากร และมีการบันทึกวีดีโอการเสวนาตลอดงาน
 
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หรือ แฟรงก์ หนึ่งในกลุ่มผู้จัดงานเสวนาเล่าว่า ในวันงาน มีเจ้าหน้าที่ทหารมาที่สถานที่จัดงานเป็นคันรถโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เข้ามาคุยกับผู้จัดงานและขอเข้ามาเป็นวิทยากรด้วย
 
189 เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
 
อย่างไรก็ดี แฟรงก์แสดงความเห็นต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ว่า "ผมโอเค ไม่มาปิดกั้นงานเสวนาก็ดีแล้ว"
 
“ภายใต้สถานการณ์ที่อยากให้เกิดการปรองดอง รัฐจะต้องเปิดพื้นที่ให้คนมาฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และไม่ควรทำให้การจัดงานเสวนาเป็นเรื่องยุ่งยากด้วยการบังคับให้ทำ “หนังสือขออนุญาต” หากทหารต้องการเข้ามามีส่วนร่วมรับฟังและแสดงความเห็นกับประชาชนก็ย่อมได้ แต่อย่าทำให้ขั้นตอนการจัดกิจกรรมเยอะเกินไปด้วยการทำหนังสือขออนุญาต” เนติวิทย์แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้
 
 
เมื่อศิลปะกลายเป็นสิ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง...ก็เชิญเข้ามาดูด้วยเลย
กิจกรรมที่ถูกแทรกแซงโดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีเพียงงานเสวนา การเดินขบวน หรือการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ภายใต้กฎอัยการศึก การจัดกิจกรรมสาธารณะในรูปแบบการแข่งกีฬาประเพณี หรือการแสดงงานศิลปะ ก็ถูกแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่เช่นกัน
 
ละครเวทีเรื่อง "บางละเมิด" ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 22 มกราคม - 9 กุมภาพันธ์ 2558 มีทหารเข้ามาร่วมชมการแสดงทุกรอบ อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ หรือ กอล์ฟ นักแสดงเล่าว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม ซึ่งเป็นวันแสดงละครรอบสื่อมวลชน มีทหารโทรศัพท์มาพูดคุยกับโปรดิวเซอร์และได้ข้อสรุปว่า ทางทีมงานต้องทำหนังสือขออนุญาตเพื่อรอการอนุมัติ แต่เนื่องจากวันนั้นต้องทำการแสดงรอบสื่อมวลชนแล้ว จึงขอทำการแสดงก่อนแล้วจะทำหนังสือขออนุญาตตามไปทีหลัง
 
187 อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์
 
กอล์ฟบอกว่า “การเชิญเจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานแสดง” เป็นความตั้งใจของตนเอง เพราะมั่นใจว่าศิลปะไม่เคยทำร้ายใครและเนื้อหาที่พูดถึงในละครเรื่องนี้คือเรื่องเสรีภาพซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นสากล 
 
"พื้นที่ทางศิลปะเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามามีประสบการณ์ได้ ทหารจึงเข้ามามีส่วนร่วมในโชว์เราได้ และเชื่อว่าการมีเจ้าหน้าที่ทหารมานั่งอยู่ในโชว์ ถึงแม้จะมาเพราะหน้าที่ แต่ก็เห็นความสนุกสนาน มันทำให้เรารู้สึกว่าศิลปะแทรกเข้าไปในความรู้สึกได้ ทำงานกับคนได้ จึงอยากสงวนพื้นที่ทางศิลปะไว้ไม่ให้ถูกแทรกแซง"
 
 
การแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะของทหารส่งผลกระทบต่อผู้จัดและบรรยากาศของการจัดงานอย่างไร?
ในสถานการณ์ที่ต้องทำ “หนังสือขออนุญาต” และถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้ ผู้จัดงานหลายรายจึงยอมตัดหรือเปลี่ยนแปลงบางส่วนของงาน เช่น การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของงาน งดพูดบางประเด็นที่อาจกระทบความมั่นคง เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนตัววิทยากร เปลี่ยนโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งาน เปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมให้มีความบันเทิงมากขึ้น ตามข้อเรียกร้องของเจ้าหน้าที่ วิธีนี้อาจทำให้สารที่ผู้จัดงานต้องการจะสื่อกับผู้ร่วมกิจกรรมเปลี่ยนไปจากที่ตั้งใจไว้ แต่ก็อาจเป็นวิธีเดียวที่ทำให้งานเกิดขึ้นได้
 
อย่างไรก็ดี การถูกเจ้าหน้าที่ทหารแทรกแซงการจัดกิจกรรมอยู่บ่อยครั้งทำให้ผู้จัดงานบางรายยอมล้มเลิกความคิดในการจัดงานในครั้งต่อๆ ไป เพราะเกรงว่าการมีข้อพิพาทกับทหารบ่อยๆ อาจทำให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับประเด็นที่ผู้จัดงานเคลื่อนไหวเกิดความสงสัยว่า ผู้จัดงานต้องการใช้การจัดกิจกรรมสาธารณะเป็นเครื่องมือต่อต้าน คสช. และสร้างความวุ่นวายในสังคม
 
 
คู่มือการจัดกิจกรรมสาธารณะภายใต้กฎอัยการศึก
สำหรับผู้ที่มีแผนจะจัดกิจกรรมภายใต้กฎอัยการศึก ผู้จัดงานที่มีประสบการณ์ในการเจรจากับทหารแล้วได้ให้คำแนะนำ ดังนี้
ข้อแรก หลีกเลี่ยงคำว่า สิทธิ เสรีภาพ และสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์
ข้อสอง ตั้งชื่องานที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถจัดได้ เชิญวิทยากรที่คาดว่าน่าจะไม่เป็นภัยความมั่นคง และคิดรูปแบบงานที่เน้นความบันเทิงมากขึ้น
ข้อสาม ทำหนังสือขออนุญาตเพื่อรอการอนุมัติจาก คสช.
ข้อสี่ เชิญเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมเพื่อความสบายใจของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่แสดงความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างทหารกับประชาชน
 
จะใช้เสรีภาพจัดงานเสวนา-กิจกรรมสาธารณะภายใต้กฎอัยการศึก ทำหนังสือ #ขออนุญาตหรือยัง คะ/ครับ?
Article type: