1734 1023 1387 1234 1339 1484 1888 1329 1530 1278 1627 1089 1795 1701 1658 1588 1704 1008 1483 1920 1961 1720 1626 1937 1556 1940 1881 1000 1963 1297 1174 1011 1496 1970 1262 1801 1293 1071 1570 1073 1223 1308 1041 1778 1009 1625 1961 1061 1656 1436 1921 1140 1758 1132 1219 1454 1218 1546 1071 1265 1399 1265 1527 1817 1358 1101 1489 1492 1454 1575 1830 1116 1791 1309 1987 1944 1465 1746 1535 1174 1815 1171 1518 1552 1287 1645 1155 1166 1424 1809 1050 1796 1961 1507 1103 1389 1958 1223 1223 เบื้องหลังเหตุทหารกดดันถอดรูปนิทรรศการเสรีภาพ "ปล่อยปีก" ของคนรุ่นใหม่ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เบื้องหลังเหตุทหารกดดันถอดรูปนิทรรศการเสรีภาพ "ปล่อยปีก" ของคนรุ่นใหม่

งาน "ปล่อยปีก" กิจกรรมที่สร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง กลายเป็นกิจกรรมที่มีเรื่องราวเบื้องหลังและความทรงจำมากมาย เมื่อทหารที่ดูแลพื้นที่จับตาอย่างใกล้ชิดและแทรกแซงบู๊ทนิทรรศการ จนช่วงท้ายงานมีการขู่ว่าจะดำเนินคดีเนื่องจากกิจกรรมในพิธีปิดและการอ่านแถลงการณ์
 
 
ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองแล้วที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมจัดโครงการ 'คนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม' โครงการที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมจากหลายพื้นที่และประเด็นปัญหา ได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกันตลอดระยะเวลา 1 ปี 6 เดือนของโครงการ โดยเมื่อจบโครงการ ผู้เข้าร่วมก็จะช่วยกันจัดงาน Show Proud งานนิทรรศการใหญ่ที่จะเสนองานที่พวกเขาทำ และสิ่งที่พวกเขาคิดออกสู่สังคม งาน Show Proud ครั้งนี้จัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกติดปากว่าหอศิลป์ฯ ระหว่างวันที่ 1-6 มีนาคม 2559 ภายใต้ชื่อตอน "ปล่อยปีก Wonders of freedom"   
 
ศักดิ์สินี เอมะศิริ หรือ พี่หญิง เจ้าหน้าที่โครงการผู้ทำหน้าที่ประสานงานกับคนรุ่นใหม่กว่า 60 ชีวิต เล่าว่า น้องๆ ในโครงการคนรุ่นใหม่ช่วยกันคิดคอนเซปต์งานปีนี้ออกมาว่า "ธรรมชาติสร้างปีก ปีกสร้างเสรีภาพ เสรีภาพสร้างชีวิต" ทีมจัดงานไม่ได้มองว่างานนี้เป็นเรื่องการเมืองแต่มองว่าเสรีภาพเป็นเรื่องธรรมชาติ ทุกคนทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมในหลายประเด็นอยู่แล้ว เรื่องเสรีภาพเป็นเรื่องที่ไปแทรกทุกประเด็น ทั้ง การศึกษา คนชายขอบ ผู้บริโภค เพศสภาพ ฯลฯ ตอนคิดงานเลยไม่คิดว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐมาแทรกแซง เพราะเป็นงานที่จัดด้วยความบริสุทธ์ใจ 
 
ผู้จัดกิจกรรม "ปล่อยปีก" เตรียมงานกันหลายเดือน และประชาสัมพันธ์งานล่วงหน้าเกือบหนึ่งเดือน แต่ทหารก็เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องในวันแรกของงานคือ วันที่ 1 มีนาคม 2559
 
พี่หญิง เล่าว่า ตอนแรกที่ทหารเข้ามา เขาบอกว่าอยากขอคุยด้วย เพราะเห็นชื่อคนที่เชิญมาร่วมงานบางคนแล้วคิดว่าล่อแหลม เลยไม่สบายใจ เช่น น้องเพนกวิน หรือยิ่งชีพ จาก iLaw และไม่สบายใจเวทีหัวข้อ "สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ" ทหารคิดว่าตัวงานไม่มีปัญหา แต่เป็นห่วงว่าวิทยากรบางคนอาจจะพูดสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับงาน ฉวยโอกาสใช้พื้นที่งานพูดเรื่องของตัวเองหรือพูดปลุกปั่นยั่วยุ บางหัวข้อคนจัดงานอาจไม่ได้คิดอะไรไม่ดี แต่สื่ออาจหยิบไปเขียนข่าวให้เป็นประเด็นได้ จีงอยากให้ผู้จัดช่วยคุยกับคนที่จะขึ้นเวทีให้ไม่มีปัญหา
 
 
 
412
 
 
 
บู๊ท "ส้วม" สื่อสารเรื่องเสรีภาพการแสดงออก ถูกทหารกดดันมากที่สุด แต่ทหารไม่อยากลงมาเป็นคู่ขัดแย้งเอง
 
หลังจากทหารโทรศัพท์มาคุย มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ในงานตลอดทั้งหกวัน และยังมีหน่วยที่ใหญ่กว่าคอยเป็นห่วงโทรศัพท์เข้ามาเป็นระยะๆ โดยมีคนที่เรียกว่า "ผู้พัน" เหมือนจะมีอำนาจสุดท้ายในการตัดสินใจ แม้ว่าเวทีตลอดหกวันจะมีกิจกรรมหลากหลาย และพูดคุยกันสารพัดเรื่อง แต่จุดที่ทหารเป็นห่วงมากที่สุด คือ นิทรรศการบู๊ทที่ออกแบบเป็นส้วมสาธารณะ
 
ยุทธนา ลุนสำโรง หรือ ต้อม สมาชิกโครงการคนรุ่นใหม่ที่รับผิดชอบจัดนิทรรศการส่วนนี้ เล่าว่า บู๊ทนี้เริ่มจากโจทย์เรื่องเสรีภาพการแสดงออก ตอนแรกคิดว่าจะเอาข้อมูลที่มีอยู่มาแปะเฉยๆ แต่ด้วยความที่เป็นคนอีสานต้องเดินทางกลับบ้านบ่อย เวลาเข้าห้องน้ำที่หมอชิตจะเห็นคนมาเขียนระบายความในใจอยู่ตลอด ทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องอื่นๆ เลยมีไอเดียอยากสื่อสารกับคนว่าตอนนี้เหลือแต่พื้นที่ในห้องน้ำที่เรามีเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้ เลยทำห้องน้ำจำลองขึ้นมา มีแปะโฆษณาเงินกู้ด่วน แล้วก็มีเรื่องราวต่างๆ ด้วย
 
ด้านอนุวัฒน์ พรหมมา หรือ เตอร์ สมาชิกโครงการคนรุ่นใหม่อีกคนหนึ่งมองว่า ตอนนี้มีบางเรื่องที่ไม่สามารถพูดในที่สาธารณะได้ เลยออกแบบนิทรรศการเป็นห้องน้ำ มีผนังสามด้านนำเสนอประเด็นในสังคมที่ไม่สามารถพูดได้ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร หรือเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อมูลและภาพที่ปรินท์มาจากเว็บไซต์ของหน่วยงานต่างๆ ที่เก็บข้อมูล ส่วนฝาผนังอีกด้านปล่อยไว้ให้คนเขียนระบายสิ่งที่อัดอั้นตันใจ 
 
พี่หญิง เล่าว่า นิทรรศการส้วมเริ่มจัดตั้งแต่วันแรก แต่วันที่สองมีการใส่ข้อมูลเพิ่มทหารจึงรู้สึกว่าเนื้อหาค่อนข้าง "ชี้เป้า" ในวันที่สาม "ผู้พัน" เดินทางมาที่งานเพื่อขอคุยด้วยตัวเอง โดยพาไปนั่งคุยกันที่ร้านกาแฟชั้นบน ทางผู้พันเห็นว่าธีมงานทั้งงานไม่มีปัญหา แต่ในส่วนที่เป็นห้องน้ำอาจจะไปพาดพิงองค์กรของรัฐ หรือตัวบุคคลมากเกินไป ทหารไม่อยากปิดงาน แต่ต้องเข้าใจว่าสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ไม่ปกติ บางเรื่องถ้านำเสนอไปคนอาจจะเข้าใจผิดได้ 
 
พี่หญิงเล่าต่อว่า ถัดจากวันที่ผู้พันมาคุยทหารที่เฝ้าอยู่ในงานก็มาเร่งว่าทำไมไม่เอารูปในห้องน้ำออก พี่หญิงก็บอกว่าจะให้คนทำนิทรรศการเอาออกเองก็รู้สึกไม่ดี อยากให้ทหารเป็นคนมาบอกเองว่าจะให้เอาอันไหนออกบ้าง แต่ทหารบอกว่าไม่ออยากเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงเพราะเดี๋ยวเป็นข่าวแล้วจะไม่ดี งานนี้ถือว่าได้สื่อสารกันแล้ว อยากให้คนจัดงานไปจัดการเอง ทางผู้จัดเลยเสนอทางเลือกใหม่ว่าจะรื้อห้องน้ำออกทั้งหมด ทหารบอกว่าจะรื้อทั้งห้องน้ำเลยก็ได้แต่ต้องไม่ทำข่าว ไม่ให้เป็นประเด็นขึ้นมาอีก 
 
 
411
 
 
 
ต้องตัดสินใจระหว่าง ยอมเอารูปออกบางส่วน หรือเสี่ยงให้ทั้งงานถูกปิด
 
เนื่องจากคนจัดงานไม่รู้สึกว่าบู๊ท "ส้วม" กำลังสื่อสารสิ่งที่เป็นความผิด ไม่อยากเอางานของตัวเองออก จึงพยายามต่อรองให้ถึงที่สุด ขณะที่ทหารก็ไม่ได้บอกความต้องการอย่างชัดเจนว่าเนื้อหาส่วนไหนที่ต้องการให้เอาออก การเจรจาต่อรองจึงเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง และสุดท้ายกลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องช่างน้ำหนักระหว่างยืนยันในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ กับการเอางานทั้งานเข้าไปเสี่ยงด้วย
 
เตอร์ เล่าว่า ระหว่างงานในวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันที่สี่แล้ว เจ้าหน้าที่บอกกับเขาทางโทรศัพท์ว่า ในสถานการณ์สังคมปัจจุบันไม่ควรจัดนิทรรศการแบบนี้ เขาก็ชี้แจงไปว่าเนื้อหาที่มีอยู่ไม่ได้จะละเมิดใคร แค่จะพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมสนใจ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอม เตอร์ก็บอกว่า ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นว่ารูปไหนไม่เหมาะสมให้มาหยิบออกเองได้เลย เพราะคนจัดงานไม่เข้าใจ
 
"เขาบอกว่า น้องจะเลือกเอาส่วนนี้ไว้ หรือจะเอางานทั้งหมดไว้" เตอร์เล่า  
 
เตอร์ เล่าต่อว่า เมื่อถูกบอกให้เอาออก ก็กลับมาประชุมกับทีมและตกลงกันว่าจะยอมเอาออกบางส่วน โดยประเมินเองว่าทหารไม่โอเคกับเนื้อหาแบบไหนบ้าง ก็ได้ข้อสรุปแบบคิดเองว่าจะเอาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเรื่องรัฐธรรมนูญออก หลังเอารูปออกไปบางส่วนประมาณสองชั่วโมง ทหารที่เฝ้าหน้างานก็เดินมาบอกว่าหัวหน้ายังไม่พอใจ ทีมงานพยายามถามว่ารูปไหนบ้างที่เป็นปัญหาทหารก็บอกว่าป้ายทั้งหมดที่ติดอยู่ ทีมงานได้พยายามต่อรองกับทหารที่มีอำนาจใหญ่กว่าผ่านทางโทรศัพท์ประมาณ 20 นาที เพื่อจะเอารูปบางรูปไว้ ท้ายที่สุดเลยตกลงกันว่าจะปล่อยฝาผนังทั้งสี่ด้านให้คนมาเขียนอะไรก็ได้ แต่รูปภาพ เช่น รูปเกี่ยวกับปฏิรูปกองทัพ รูปลิงปิดหูปิดตาปิดปาก รูปสัญลักษณ์ไม่มีเสรีภาพ ฯลฯ จะต้องเอาออกทั้งหมด  
 
ต้อม ผู้จัดนิทรรศกาลอีกคนหนึ่งมองว่า ตอนแรกอยากลองไปให้สุด คือ ไม่ยอมเอารูปอะไรออก แล้วยอมให้ทหารเข้ามาจัดการเลย เพื่อให้เห็นชัดเจนว่าเรื่องไหนไม่สามารถพูดถึงได้ และจะได้เห็นว่าทหารจะใช้วิธีการอย่างไร ถ้าทหารจะมาเอารูปออกเอง จะจับคน จะยุติทั้งงาน หรือจะทำอะไรก็ให้สังคมได้รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่เพื่อนหลายคนก็เป็นห่วงกิจกรรมอื่นๆในงานนี้ เลยต้องยอมเอาออก แล้วเปลี่ยนเป็นติดป้ายปิดปรับปรุงหน้าห้องน้ำ หากมีใครอยากเข้าไปก็จะเข้าไปเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับห้องน้ำห้องนี้ให้ฟัง
 
"สำหรับคนที่ทำบู๊ทนี้ก็เสียความรู้สึก เหมือนกับยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกว่าในสถานการณ์ปัจจุบันการพูดเรื่องพวกนี้ทำไม่ได้เลยจริงๆ หลายคนคงมีคำถามค้างคาใจแล้วก็อึดอัดใจ" เตอร์ กล่าว
 
หลังจากถูกกดดัน คนจัดงานจึงต้องยอมเอารูปที่ติดบนฝาผนังห้องน้ำออกทั้งหมด เพื่อให้งานทั้งงานเดินต่อไปได้ ส่วนบู๊ทที่ทำเป็นห้องน้ำก็เหลือฝาสังกะสีที่มีโฆษณาเงินกู้ด่วนแปะไว้ระเกะระกะ มีฟิวเจอร์บอร์ดเปล่าพร้อมปากกวางไว้สำหรับให้คนเขียนเรื่องอะไรก็ได้ แม้พวกเขาจะพยายามทำป้ายเขียนว่าเสรีภาพและมีเครื่องหมายขีดทับมาติดไว้แทน แต่ทหารที่เฝ้าหน้างานก็มาสั่งให้เอาออกอีก สุดท้าย "บู๊ทส้วม" นี้อาจไม่ได้ออกมาเหมือนกับความตั้งใจในตอนแรก แต่ส้วมฝาสังกะสี ก็ยังตั้งโดดเด่นอยู่กลางลานชั้นหนึ่งของหอศิลป์ได้จนจบงาน และทำหน้าที่สื่อสารกับผู้เข้าชมงานในรูปแบบใหม่ของมัน
 
ตัวอย่างรูปภาพที่แปะไว้ที่ฝาผนังห้องน้ำ แล้วคนจัดงานต้องตัดสินใจเอาออก
 
413
 
415
 
416
 
 
 
 
ตอนจบที่น่าตื่นเต้น เมื่อพิธีปิดอาจกลายเป็นการชุมนุม เสี่ยงผิดกฎหมาย
 
แม้ปัญหาความอ่อนไหวของรูปที่ติดในส้วมจะผ่านไปแล้ว แต่ในช่วงค่ำวันที่ 6 มีนาคม 2559 ซึ่งผู้จัดงานวางแผนว่าจะจัดพิธีปิด "ปล่อยปีกสู่อิสรภาพ" ก็มีเรื่องให้ต้องลุ้นอีกเมื่อกำหนดการที่กลุ่มคนรุ่นใหม่หลายสิบชีวิตออกไปยืนหน้าหอศิลป์ฯ จับมือกันเป็นสัญลักษณ์รูปปีก และอ่านแถลงการณ์เจตนารมณ์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อสื่อสารกับสังคม ถูกเจ้าหน้าที่มองว่าอาจเป็นการชุมนุมและตั้งท่าจะดำเนินคดี
 
เตอร์ ซึ่งถูกเพื่อนๆ เลือกให้เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ เพราะเป็นคนที่เสียงดังที่สุด เล่าว่า กิจกรรมสุดท้ายนี้ถือเป็นกิมมิกของงานทั้งหกวันที่จะสื่อสารกับคนข้างนอกว่างานนี้มีเนื้อหาอย่างไร ในกิจกรรมนี้ทีมผู้จัดงานเรียงแถวจับมือกันเป็นรูปปีก ซึ่งล้อกับชื่องาน "ปล่อยปีก" โดยมีคอนเซปต์ คือ เปิดพื้นที่เสรีภาพของคนรุ่นใหม่ และก็มีการอ่านแถลงการณ์เพื่อบอกเรื่องราวของเสรีภาพที่คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้สนใจที่จะเรียนรู้และพร้อมจะเติบโตไปด้วยกัน ได้แก่ เสรีภาพแสดงออก เสรีภาพทางการศึกษา เสรีภาพในการจัดการทรัพยากร เสรีภาพในการเลือกบริโภค และเสรีภาพการใช้ชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อย 
 
เตอร์ บอกว่า ก่อนจัดกิจกรรม ก็ประเมินกันนิดหน่อยว่าสถานการณ์ช่วงนี้ไม่เอื้ออำนวยให้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แบบนี้ แต่ก็อยากทำเพื่อสื่อสารกับสาธารณะ ส่วนตัวคิดว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่แล้วที่จะแสดงออกอะไรโดยไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น และกิจกรรมวันนี้ก็ไม่ได้ละเมิดสิทธิของใคร ไม่ใช่เรื่องการเมือง และไม่ได้มุ่งโจมตีใคร เลยคิดว่าไม่จำเป็นต้องไปแจ้งหรือขออนุญาตใครก่อน
 
พี่หญิง เล่าว่า ขณะน้องๆ ทำกิจกรรมสุดท้ายอยู่ด้านนอกของหอศิลป์ฯ ไม่ได้ออกไปด้วยเพราะนั่งทำงานอยู่ข้างใน ก็มีทหารเดินเข้ามาบอกว่า พื้นที่หอศิลป์ฯเป็นเขตพระราชฐานไปทำกิจกรรมแบบนั้นไม่ได้ ต้องเชิญผู้จัดไปที่สน.ปทุมวัน แต่ไม่ใช่การจับ พอหลังงานเลิก ทหารจะมาเชิญไปสน.ปทุมวัน แต่เห็นว่าคนยังอยู่กันเยอะเลยนั่งคุยกันที่ห้องจัดงาน โดยทหารบอกว่าตรงนี้เป็นพื้นที่ของหอศิลป์ฯ ถ้าเจ้าของสถานที่ไปร้องทุกข์ผู้จัดก็ต้องไปสน.ปทุมวัน แต่หลังการพูดคุยปรากฎว่าเจ้าหน้าที่หอศิลป์ฯไม่ติดใจเอาเรื่อง ทหารเลยกลับไปแต่ยังไม่ยืนยันว่าหลังจากนี้จะมีเรื่องอะไรต่อหรือไม่
 
เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบยังได้บันทึกวีดีโอตลอดช่วงเวลาที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ทำกิจกรรมเอาไว้ และนำแถลงการณ์กลับไปพิจารณาว่าจะเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ หากทางทหารเห็นว่าการทำกิจกรรมช่วงสุดท้ายผิดกฎหมายก็อาจมีหมายเรียกให้ผู้จัดงานเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและดำเนินคดีต่อไป
 
 
417
 
 
418
 
 

 

Article type: