1470 1419 1200 1732 1208 1435 1594 1707 1307 1435 1974 1659 1431 1049 1889 1701 1815 1058 1373 1457 1258 1196 1927 1135 1050 1440 1345 1069 1228 1287 1256 1477 1107 1086 1325 1061 1435 1437 1160 1595 1142 1234 1133 1265 1423 1479 1540 1752 1491 1128 1381 1400 1448 1177 1408 1819 1807 1039 1358 1302 1857 1461 1738 1043 1050 1045 1361 1246 1281 1417 1196 1241 1290 1944 1585 1429 1027 1838 1102 1995 1052 1584 1485 1223 1254 1456 1877 1453 1978 1815 1642 1002 1133 1436 1721 1389 1470 1187 1803 24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารทำตัวเป็นผู้คุม | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารทำตัวเป็นผู้คุม

ตั้งแต่เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 เรือนจำพิเศษกรุงเทพและเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ (เรือนจำพลตำรวจบางเขน) กลายเป็น "บ้าน" หลังใหม่ของจำเลยที่ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 ทั้งญาติและกลุ่มผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันต่างแวะเวียนมาเยี่ยมผู้ต้องขังคดีการเมืองที่เรือนจำเป็นจำนวนมาก บางครั้งก็เป็นการมาเยี่ยมตามปกติ บางครั้งก็มีการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น กิจกรรมฉลองวันเปลี่ยนแปลงการปกครองกับนักโทษการเมือง ทำให้พื้นที่หน้าเรือนจำกลายเป็นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือพบปะสังสรรค์ยามที่ไม่มีการชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนน
 
โดยปกติแต่ละเรือนจำจะมีกฎระเบียบจำกัดจำนวนญาติที่เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในแต่ละวัน แตกต่างกันไปตามแต่เงื่อนไขด้านสถานที่และจำนวนเจ้าหน้าที่ของเรือนจำแต่ละแห่ง เช่น เรือนจำพิเศษมีนบุรีให้พบญาติได้ไม่เกินสามคนต่อการเยี่ยมหนึ่งครั้ง หรือที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพไม่เกินห้าคนต่อหนึ่งครั้ง แต่เมื่อมีผู้มาเยี่ยมนักโทษการเมืองเป็นจำนวนมาก บางครั้งเรือนจำพิเศษกรุงเทพก็อนุโลมให้ผู้ต้องขังออกมาพร้อมกันหลายคนในคราวเดียวและให้ผู้มาเยี่ยมเข้าเยี่ยมพร้อมกันโดยไม่จำกัดจำนวน นอกจากนี้ก็ยังผ่อนคลายระเบียบเรื่องการฝากเงินฝากของ ทำให้กลุ่มญาติผู้ต้องขังและเพื่อนร่วมอุดมการณ์มีโอกาสฝากเงินหรือสิ่งของเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีการเมืองร่วมกัน  
 
กฎใหม่เรือนจำหลังรัฐประหาร 
 
หลังการยึดอำนาจ มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในเรือนจำทั้งในแง่นโยบายและผู้บริหารองค์กร ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 84/2557 เปลี่ยนตัวอธิบดีกรมราชทัณฑ์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเรือนจำ หลังจากนั้นกฎระเบียบในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเริ่มเข้มงวดขึ้น จากคำบอกเล่าของสุกัญญา ภรรยาของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังคดี 112 พบว่าสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนหลังการรัฐประหารคือการที่ผู้ต้องขังแต่ละคนจะต้องส่งชื่อผู้ที่จะมาเข้าเยี่ยมไม่เกินสิบคนให้กับเจ้าหน้าที่ทำให้บุคคลอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในรายชื่อจะเข้าเยี่ยมไม่ได้ 
 
"กฎสิบคน" จริงๆแล้วไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการเยี่ยมติดต่อ ของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการ หรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2555 ข้อ 8. ที่กำหนดว่า เพื่อความมั่นคงของเรือนจำ ให้ผู้ต้องขังแจ้งชื่อบุคคลภายนอกไม่เกินสิบคน ที่จะให้เข้ามาพบหรือติดต่อกับตนในเรือนจำ หากจะแก้ไขรายชื่อก็ให้แจ้งล่วงหน้าสามสิบวัน 
 
สถานการณ์ก่อนหน้านี้ที่มีนักโทษการเมืองอยู่ในเรือนจำจำนวนมาก เรือนจำพิเศษกรุงเทพเคยผ่อนคลายความเข้มงวดของกฎระเบียบข้อนี้ โดยอนุญาตให้ผู้ต้องขังที่ถูกจับในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมปี 2553 รวมทั้งผู้ต้องขังคดี 112 ออกมาในห้องเยี่ยมพร้อมกันคราวละหลายๆ คนและไม่จำกัดรายชื่อผู้เข้าเยี่ยม เป็นโอกาสให้ผู้มาเยี่ยมทำกิจกรรมให้กำลังใจผู้ต้องขังได้ แต่ในยุคของรัฐบาล คสช. “กฎสิบคน” ถูกนำมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด กิจกรรมเยี่ยมให้กำลังใจผู้ต้องขังทางการเมืองจึงต้องยุติไปโดยปริยาย
 
นอกจาก "กฎสิบคน" แล้ว กฎระเบียบเรื่องการฝากเงินให้ผู้ต้องขังก็เข้มงวดขึ้นด้วย โดยก่อนการรัฐประหาร ผู้ฝากเงินเพียงแต่กรอกแบบฟอร์มยื่นแก่เจ้าหน้าที่ก็สามารถฝากเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นญาติกัน ผู้ต้องขังบางคนจึงอาจให้ญาติของตัวเองช่วยฝากเงินให้เพื่อนผู้ต้องขังที่ไม่มีญาติได้อยู่บ้าง หรือกลุ่มคนที่คิดเห็นทางการเมืองเหมือนกันก็อาจรวมตัวกันฝากเงินช่วยผู้ต้องขังคดีการเมืองได้ แต่ในยุค คสช. การฝากเงินให้ผู้ต้องขังก็เข้มงวดขึ้นโดยกำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเยี่ยมผู้ต้องขังเท่านั้นจึงจะมีสิทธิฝากเงิน นอกจากนี้ผู้ไม่ประสงค์นามคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า เธอและคนอีกจำนวนหนึ่งมีชื่อในคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. เพราะเหตุว่าเคยฝากเงินและร่วมทำกิจกรรมเยี่ยมนักโทษการเมืองที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 
 
นอกจากความเปลี่ยนแปลงสองเรื่องข้างต้น ก็มีความเปลี่ยนแปลงที่น่ากังวลในเรื่องอื่นๆ เช่น สุกัญญาเล่าเรื่องที่ได้รับฟังมาจากสามีว่า ก่อนการรัฐประหารผู้ต้องขังยังพอได้อ่านหนังสือพิมพ์เก่าบ้าง แต่หลังการรัฐประหารแม้แต่หนังสือพิมพ์เก่าก็ไม่มีสิทธิอ่าน และเวลาผู้ต้องขังคดีการเมืองออกมาพบญาติ จะถูกจัดให้อยู่ในห้องเยี่ยมเฉพาะซึ่งน่าจะมีการติดเครื่องดักฟังทำให้ญาติและตัวผู้ต้องขังไม่อาจพูดคุยกันได้อย่างอิสระ  
 
478
 
 
ปิดคุกการเมืองหลักสี่ สลายพื้นกิจกรรมเสื้อแดง
 
เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ถูกจัดตั้ง ขึ้นตามคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ในปี 2554 เพื่อใช้เป็นสถานที่คุมขังผู้ที่ทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องอันกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 การย้ายผู้ต้องขังซึ่งเป็นคนเสื้อแดงมารวมกันที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ทำให้ญาติผู้ต้องขัง และนักกิจกรรมเสื้อแดงเดินทางมาเยี่ยมผู้ต้องขัง และทำกิจกรรมร่วมกันอยู่บ่อยๆ ในช่วงเทศกาลสำคัญ 
 
เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ทำหน้าที่เป็นสถานที่คุมขังนักโทษการเมืองและที่นัดพบของนักกิจกรรมเสื้อแดงจากปี 2554 เรื่อยมาจนถึงการรัฐประหารปี 2557 ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์คนใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคสช. ลงนามคำสั่งย้ายผู้ต้องขัง 22 คน ที่อยู่ในเรือนจำแห่งนี้ไปคุมขังต่อที่เรือนจำตามภูมิลำเนาโดยให้เหตุผลว่าเป็นไปเพื่อประหยัดงบประมาณ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.กระทรวงยุติธรรม ออกคำสั่งยุบเลิกเรือนจำชั่วคราวหลักสี่โดยให้เหตุผลว่ากองบัญชาการตำรวจสันติบาล ต้องการใช้พื้นที่ดังกล่าว 
 
เปิดเรือนจำในค่ายทหาร จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายอำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม
 
การจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวในค่ายทหาร เป็นอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครชัยศรี ถูกจัดตั้งโดยคำสั่งของพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.กระทรวงยุติธรรม ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2558 ซึ่งเป็นเรือนจำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ค่ายทหารที่มักใช้คุมขังบุคคลที่ถูกจับด้วยเหตุทางการเมือง เรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ถูกตั้งขึ้นโดยเหตุผลว่าเพื่อใช้ควบคุมตัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงซึ่งไม่ควรควบคุมปะปนกับผู้ต้องขังอื่น ชายชาวอุยกูร์สองคนซึ่งเป็นจำเลยคดีระเบิดราชประสงค์ เป็นผู้ต้องขังชุดแรกของเรือนจำแห่งนี้
 
เรือนจำชั่วคราว มทบ.11 ได้ถูกใช้เป็นที่คุมขังผู้ต้องหาและจำเลยคดีความมั่นคงคนสำคัญอีกหลายคนรวมทั้ง พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา, สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง และจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ เลขาของสุริยันซึ่งถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันฯ โดยพ.ต.ต.ปรากรมและสุริยันเสียชีวิตระหว่างถูกฝากขังในเรือนจำมทบ.11 ปลายเดือนตุลาคมและต้นเดือนพฤศจิกายนตามลำดับ ซึ่งปรากฏว่าญาติของทั้งพ.ต.ต.ปรากรม และสุริยันต์ ต่างไม่ติดใจการตายและนำศพไปประกอบพิธีอย่างรวดเร็วโดยยังไม่มีรายงานว่ามีการไต่สวนเพื่อหาสาเหตุการตายโดยศาลตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด นอกจากผู้ต้องขังห้าคนข้างต้น เท่าที่ยืนยันได้ยังมีผู้ต้องขังคดี 112 ป่วน "Bike for Dad" อีกอย่างน้อยห้าคนที่เคยมาอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ระยะหนึ่งแต่ภายหลังถูกย้ายไปเรือนจำอื่น 
 
 
485
 
 
ชูชาติ ทนายของจำเลยคดีระเบิดราชประสงค์เล่าถึงอุปสรรคในการคุยกับลูกความในเรือนจำ มทบ.11 ให้ฟังว่า เมื่อทนายเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ระหว่างการสนทนาจะมีเจ้าหน้าที่ทหารมานั่งใกล้ๆ เพื่อจดบันทึกบทสนทนารวมทั้งมีการอัดเสียงไว้ นอกจากนี้ทนายยังต้องส่งคำถามที่จะถามลูกความให้เจ้าหน้าที่ดูก่อนด้วยซึ่งเจ้าหน้าที่อาจตัดคำถามได้ ขณะที่เบญจรัตน์ ทนายของคดีป่วน " Bike for Dad " ก็เล่าไม่ต่างกันว่า ระหว่างการพูดคุยจะมีทหารมาอยู่ใกล้เสมอซึ่งขัดกับหลักการที่ทนายและลูกความมีสิทธิปรึกษากันอย่างเป็นส่วนตัว 
 
การจัดตั้งเรือนจำในค่ายทหาร ทำให้ทหารเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแบบครบวงจรหลังจากก่อนหน้านี้ มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ให้อำนาจทหารเรียกบุคคลไปสอบถามได้ไม่เกิน 7 วันก่อนชั้นสอบสวนและให้เป็นพนักงานสอบสวนในชั้นสอบสวนด้วย ขณะที่ชั้นพิจารณาก็มีการประกาศให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนในความผิดบางประเภท ก่อนที่ในขั้นสุดท้ายจะมีการจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวในค่ายทหาร เพื่อควบคุมตัวจำเลยส่วนหนึ่งระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งคำบอกเล่าของทนายและข่าวการเสียชีวิตของผู้ต้องหาคดี 112 จำนวนสองคนที่ยังไม่มีการไต่สวนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงโดยศาล ก็ทำให้เรือนจำชั่วคราว มทบ. 11 กลายเป็นหลุมดำในกระบวนการยุติธรรมยุคคสช.ที่พร้อมจะเปิดรับแขกรายใหม่ได้ทุกเมื่อ   
 
ประกันตัวศาลทหาร เข้าเรือนจำก่อนปล่อยทีหลัง
 
โดยปกติกระบวนการของศาลพลเรือน เมื่อผู้ต้องหาถูกนำตัวมาศาลเพื่อขออำนาจศาลฝากขังครั้งแรก ผู้ต้องหาจะถูกนำตัวไปไว้ที่ห้องควบคุมชั่วคราวใต้ถุนศาล หากศาลอนุญาตให้ประกันตัวก็จะถูกปล่อยตัวจากศาลกลับบ้านทันที แต่หากไม่ได้ประกันก็จะถูกส่งไปควบคุมตัวที่เรือนจำ 
ในยุครัฐบาลคสช. เท่าที่เก็บข้อมูลไว้มีพลเรือนอย่างน้อย 167 คน ต้องขึ้นศาลทหารในคดีการเมือง แต่ศาลทหารมีกฎระเบียบต่างจากศาลพลเรือน เมื่อผู้ต้องหาถูกนำตัวมาฝากขังกับศาลทหารแม้จะยื่นประกันตัวก็จะถูกส่งตัวไปกักที่เรือนจำระหว่างรอคำสั่งและต้องผ่านกระบวนการต่างๆ เฉกเช่นผู้ต้องขังปกติ 
 
จิตรา คชเดช นักกิจกรรมด้านแรงงานซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวกับคสช.เล่าถึงกระบวนการเมื่อถูกส่งเข้าเรือนจำว่า เมื่อเข้าไปถึงก็ต้องถอดเสื้อผ้าให้ผู้คุมตรวจร่างกายและถูกตรวจช่องคลอดเพื่อหายาเสพติด นอกจากนี้ระหว่างทำประวัติก็ถูกห้ามไม่ให้เดินแต่ต้องใช้วิธีถัดก้นไป 
“กลไกที่เข้าเรือนจำหรือทัณฑสถานหญิงฯ นั้น กระทำกับเราเหมือนนักโทษ เรียกได้ว่ามีกระบวนการทำให้กลายเป็นนักโทษ โดยปฏิบัติกับเราเท่ากับนักโทษที่ถูกศาลสั่งจำคุกในคดีอาญาทั่วไปแล้ว” แม้ศาลทหารจะออกคำสั่งให้ประกันตัวจิตราตั้งแต่เวลา 16.20 น. แต่กว่าจิตราจะออกจากทัณฑสถานหญิงกลางก็ล่วงไปถึง 21.05 น.แล้ว
 
กรกนก ผู้ต้องหาคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาเปิดเผยถึงการตรวจภายในด้วยขาหยั่ง การบังคับให้ถอดเสื้อผ้าต่อหน้าคนอื่น และการปฏิบัติภายในทัณฑสถานหญิงกลางจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม จนในที่สุด สิริพร ชูติกุลัง ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลาง ได้กล่าวขอโทษกรกนก ระหว่างเวทีเสวนาซึ่งจัดที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 สิริพรระบุว่า หลังจากนี้จะมีการเลิกใช้ขาหยั่งและกำชับให้การตรวจค้นตัวเป็นไปตามหลักแบงค็อก รูลส์ หรือ ข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ 
 
479
 
 
 
อ่านรายงาน 24 เดือนคสช.: เมื่ออำนาจทหารอยู่เหนือระบบยุติธรรม ต่อตอนอื่นที่
 
 
ไฟล์แนบ: 
Report type: