1287 1519 1231 1949 1253 1313 1435 1614 1956 1499 1355 1129 1134 1659 1537 1985 1651 1902 1325 1380 1991 1825 1686 1879 1538 1909 1020 1411 1656 1746 1949 1017 1235 1481 1770 1138 1555 1186 1400 1883 1443 1832 1829 1619 1314 1678 1096 1862 1614 1891 1204 1144 1992 1000 1396 1330 1675 1303 1406 1989 1287 1983 1362 1715 1186 1360 1635 1150 1836 1017 1034 1071 1511 1213 1296 1636 1869 1968 1462 1206 1288 1038 1072 1550 1339 1140 1916 1083 1586 1342 1498 1466 1597 1598 1116 1707 1371 1329 1935 การปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะยุคคสช. | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

การปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะยุคคสช.

 

ภาพรวมการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะยุคคสช.

การปิดกั้นและแทรกแซงการจัดกิจกรรมสาธารณะเป็นสิ่งที่ คสช. ได้ทำตลอดสามปีที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลที่ไอลอว์รวบรวมไว้จนถึงปัจจุบัน (10 กรกฎาคม2560) พบว่า มีไม่น้อยกว่า 157 ครั้งที่เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดกั้นหรือแทรกแซงกิจกรรมต่างๆ โดยแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการในระดับต่างๆ กันไป ตั้งแต่การสั่งไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมด้วยช่องทางโทรศัพท์ การเข้ามาที่สถานที่จัดงานเพื่อกดดันให้เจ้าของสถานที่งดจัดกิจกรรม หรืออนุญาตให้จัด แต่ตั้งเงื่อนไขต่างๆ เช่น ขอให้เปลี่ยนวิทยากรที่เข้ามาพูดในงาน, กำหนดไม่ให้ใช้คำที่อ่อนไหวในบริบทของสังคม เช่น "เผด็จการ" และ "กบฏ" เป็นต้น  และการสร้างความไม่สะดวกทางอ้อม เช่น การไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องเสียง การตัดไฟฟ้า เป็นต้น

710 ทหารขอให้วิทยาการงานเสวนา 3 ปีเผด็จการไทยไม่ให้พูดคำว่า คสช.,เผด็จการและรัฐประหาร

กิจกรรมสาธารณะที่ถูกจับตามองจากภาครัฐมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือ ประเด็นที่เปราะบางในเวลานั้น กรณีที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ กิจกรรมสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับ การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2559 โดยกิจกรรมเกือบทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อพูดคุยถึงเนื้อหารายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และสร้างความตระหนักรู้และองค์ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกและให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ แต่อย่างไรก็ดีกิจกรรมสาธารณะเหล่านั้นถูกปิดกั้นและแทรกแซงจากรัฐไม่น้อยกว่า 20 กิจกรรม
 

มากไปกว่านั้นบรรดานักกิจกรรมหรือผู้จัดงานกิจกรรมเหล่านี้ยังถูกดำเนินคดีอีกด้วยดังนี้ เช่น กรณีกลุ่มนปช.ที่ถูกดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งที่ 3/2558 จากการแถลงข่าวเปิดศูนย์ปราบโกง, สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 61  วรรคสอง ของพ.ร.บ.ประชามติฯ จากการแจกใบปลิวโหวตโน ที่ชุมชนเคหะบางพลี และกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ที่ถูกกล่าวหาว่า ขัดคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 จากการจัดกิจกรรม "พูดเพื่อเสรีภาพ ร่างรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน " เป็นต้น

709 ผู้ต้องหาคดีเสวนา "พูดเพื่อเสรีภาพ" อ่านแถลงการณ์ก่อนเดินทางไปพบตำรวจ สภ.ขอนแก่น

เมื่อทบทวนดูการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะต่างๆ จะเห็นได้ว่า ฐานอำนาจที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้หลักๆ คือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยตามหลักกฎหมายแล้วหากมีกฎหมายใหม่คือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ออกมาบังคับใช้กฎหมายเดิมคือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 จะต้องยกเลิกไป แต่สิ่งที่ปรากฏ คือ อำนาจทั้งสองยังคงถูกใช้ควบคู่กันเรื่อยมา โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ  ข่มขู่เพื่อให้การชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมถูกยกเลิกให้ได้ เห็นได้ชัดเจนในกรณีของการชุมนุมคัดค้านถ่านหินที่บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.)เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560
 

ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 หลังผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวออกจากบริเวณกพร. เจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องขอศาลแพ่งไต่สวนให้ยกเลิกการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เหตุเคลื่อนตัวออกจากพื้นที่ที่ขออนุญาตไว้ วันถัดมาเจ้าหน้าที่ทยอยจับกุมแกนนำทั้งห้า กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมในกพร. 12 คนและนักศึกษา ม.รังสิตอีก 2 คนโดยไม่มีการแจ้งข้อหาหรือชี้แจงอำนาจการจับกุม ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ทหารแถลงว่า ผู้ชุมนุมกระทำผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯจากการที่ผู้ชุมนุมออกมาชุมนุมนอกพื้นที่กพร. ตามที่ขออนุญาตไว้

711 ตำรวจจับกุม 3 แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามทบ.11

712 ตำรวจนำรถบัสมาพาผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินไปทำประวัติที่ศูนย์ 191 วิภาวดี


แต่พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุมต่อเมื่อศาลมีคำสั่งเลิกการชุมนุมและให้พื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งไม่ได้เขียนให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุม แล้วนำตัวไปพูดคุยในค่ายทหาร เมื่อทนายความได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ทหารที่ ค่ายมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวแกนนำ กลับได้รับแจ้งว่า เป็นการจับกุมโดยใช้อำนาจตาม ม.44 (คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558) ที่สามารถจับกุมและควบคุมตัวผู้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศ คสช. ได้

 

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ กำหนดยกเว้นไม่ใช้บังคับแก่ การชุมนุมภายในสถานศึกษา การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ ซึ่งก็พบว่า มีกิจกรรมจำนวนไม่น้อยเลยที่เป็นการจัดการเสวนาในพื้นที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับการยกเว้น แต่ก็ยังมีการใช้อำนาจหยิบยกกฎหมายมาชนิด "เหนือข้อยกเว้น" ตัวอย่างเช่นกรณี กิจกรรม “จากทุ่งบางเขนสู่ราชดำเนิน: เกษตรศาสตร์กับการเมืองไทย” ที่จัดภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบก็เข้ามาพุดคุยกับผู้จัด และขอให้ยกเลิก พร้อมนำเอกสารพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาให้ผู้จัดพร้อมบอกว่า อาจผิดพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายผู้จัดก็จัดงานต่อโดยนั่งที่พื้นแทน

 

ทั้งยังพบว่า อำนาจของรัฐได้สร้างความหวั่นไหวให้แก่สถานศึกษาอยู่ไม่น้อยเห็นได้จากกรณีงานเสวนา "ร่วมพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนประชามติ" ของกลุ่มพลเมืองเสวนา citizen forum เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสั่งยกเลิกการจัดงาน เพราะเกรงว่าจะเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง ผู้จัดงานจึงย้ายสถานที่จัดงานจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิตมาเป็นมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรืออีกกรณีหนึ่ง เวที “สามัคคี (พ.ร.บ.) ชุมนุม” เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นยกเลิกการจัดเวทีดังกล่าว ทำให้ต้องเปลี่ยนไปจัดที่บ้านดาวดินแทน

 

ขณะเดียวกันรัฐยังมีการใช้มาตรการทางกฎหมายอื่นๆ เข้ามาเพื่อปิดกั้นหรือรบกวนการจัดกิจกรรมด้วย เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ความสะอาดฯ) ในกรณีที่ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) แขวนป้ายรำลึกรัฐประหารปี 2549 และนวมทอง ไพรวัลย์ และ กิจกรรมทวงความเป็นธรรม เหตุไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินศาลอาญายกฟ้อง 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ที่ผู้จัดถูกแจ้งความกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ความสะอาดฯ และถูกสั่งปรับ 5,000 บาท หรือการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ กรณีขบวนการประชาธิปไตยใหม่เดินรณรงค์แจกเอกสารเพื่อให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตพื้นที่และโหวตโนที่บริเวณอิมพีเรียล สำโรง
 

แนวโน้มกิจกรรมสาธารณะในปีที่สี่ของคสช.
 

จากการรวบรวมตัวเลขกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นและแทรกแซงโดยคสช. เห็นได้ว่า ในปี 2557 มีกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นและแทรกแซงทั้งหมด 39 กิจกรรม ปี 2558 มีทั้งหมด 66 กิจกรรม ปี 2559 มีทั้งหมด 37 กิจกรรม และช่วงหกเดือนแรกของปี 2560 มีทั้งหมด 13 กิจกรรม  ตัวเลขของกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นและแทรกแซงมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ เช่นนี้ อาจสะท้อนความหมายของสถานการณ์สังคมการเมืองไทยยุค คสช. ได้พอสมควร

 

วรวุฒิ นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เคยเล่าว่า ช่วงต้นของการรัฐประหารเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอย่างเข้มข้น เพราะต้องการควบคุมสถานการณ์ให้เรียบร้อยที่สุด พอเข้าปี 2558 คสช. เริ่มจัดโครงสร้างและระเบียบทางการเมืองได้แล้ว จึงเริ่มปล่อยให้มีการจัดกิจกรรมมากขึ้น และเข้าปี 2559 ก็ค่อนข้างผ่อนคลายมากขึ้น ถ้าไม่ใช่ประเด็นที่ท้าทาย คสช. หรือประเด็นที่แหลมคม โดยที่ผ่านมามีนักกิจกรรมไม่น้อยที่ถูกคุกคามหรือดำเนินคดี ซึ่งลักษณะดังกล่าวยังผลให้กลุ่มคนที่ทำกิจกรรมคัดค้านการปกครองของ คสช. ค่อยๆ ลดน้อยลงไปพร้อมกับความหวังของการเปลี่ยนแปลงสังคม

 

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเครื่องมืออีกหลายประเภทที่ คสช. นำมาใช้จำกัดการแสดงออกและการทำกิจกรรมของประชาชน ไม่ว่าจะการคุมขังตามอำเภอใจไว้ในค่ายทหาร, การเรียกรายงานตัว, การเข้าหาผู้ปกครองหรือสมาชิกในครอบครัว และติดตามตัวที่บ้าน เป็นต้น  สำหรับวิธีการเก็บข้อมูลการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมของ คสช. ไอลอว์เก็บรวบรวมข้อมูลจากข่าวกระแสหลักและข้อมูลที่แพร่ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนข้อมูลเท่าที่เราสามารถบันทึกและเข้าถึงได้เท่านั้น อาจมีกิจกรรมอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกปิดกั้นหรือแทรกแซงที่ยังไม่ถูกบันทึกข้อมูลไว้
 

Article type: