1874 1126 1330 1823 1806 1069 1441 1410 1952 1487 1977 1261 1466 1730 1298 1067 1292 1023 1036 1306 1361 1767 1062 1971 1562 1833 1440 1311 1605 1617 1930 1075 1878 1844 1946 1755 1526 1108 1700 1603 1535 1802 1529 1883 1154 1037 1182 1306 1211 1974 1300 1462 1251 1414 1649 1213 1451 1159 1127 1114 1541 1365 1264 1784 1821 1631 1486 1946 1663 1687 1375 1496 1915 1808 1698 1322 1073 1963 1358 1812 1503 1298 1535 1725 1603 1510 1312 1805 1661 1268 1534 1598 1278 1945 1306 1814 1198 1798 1355 เปลือยความคิด 3 นักกิจกรรม: ในเดิมพันคดีสติ๊กเกอร์โหวตโน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เปลือยความคิด 3 นักกิจกรรม: ในเดิมพันคดีสติ๊กเกอร์โหวตโน

ย้อนไปเช้าของวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 ‘แมน’ ปกรณ์ อารีกุล ‘แชมป์’ อนุชา รุ่งมรกต และ ‘บอย’ อนันต์ โลเกตุ เดินทางไปที่สภ.บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีเพื่อให้กำลังใจชาวบ้านซึ่งถูกเรียกรายงานตัวจากการเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ  การเดินทางครั้งนั้นมี ‘อ๊อตโต้’ ทวีศักดิ์ เกิดโภคา นักข่าวจากประชาไท ร่วมทางไปด้วย

     แต่ขณะพวกเขากำลังจะเดินทางออกจากสถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่กลับขอเข้าตรวจค้นรถยนต์ จากนั้นเอกสารรณรงค์ประชามติถูกพบท่ามกลางของกลางชิ้นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายไวนิลเขียนข้อความว่า "นายกไทยใครๆ ก็โดนล้อ"  สติ๊กเกอร์ข้อความ “โหวตโนกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” ก่อนที่ตำรวจจะเข้าจับกุมตัวพวกเขาพร้อมเเจ้งข้อกล่าวหา “มีความน่าเชื่อว่าจะเเจกจ่ายเอกสารรณรงค์ต่อต้านการลงประชามติ”

    กว่า 1 ปี พวกเขาติดพันอยู่กับการขึ้นศาลเพื่อต่อสู้คดีความตามข้อกล่าวหาฐานกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 61 วรรค 2  บัญญัติห้ามแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติที่ ‘ผิดไปจากข้อเท็จจริง’ หรือมีลักษณะรุนแรง ‘ก้าวร้าว’ ‘หยาบคาย’ ‘ปลุกระดม’ มิเช่นนั้นจะมีโทษสูงสุดถึง 10 ปี และโทษปรับสูงถึง 200,000 บาท

และกว่า 1 ปีที่ คดีกำลังอยู่ในระหว่างรอฟังคำพิพากษา  แต่ก่อนหน้านั้น 4 ตุลาคม 2560 ในนัดสืบพยานจำเลย วันนั้น ที่ศาลจังหวัดราชบุรี ไอลอร์เข้าไปสังเกตการณ์คดีนี้ด้วย สบโอกาสเราขอพูดคุยเปิดประเด็นเปลือยชีวิต ของ  3 นักกิจกรรมหนุ่ม  ผู้ตกเป็นจำเลย

 

iLaw : พวกคุณทุกคนเป็นสมาชิกของ NDM (New Democracy Movemeny-ขบวนการประชาธิปไตยใหม่) หรือเปล่า ?

เเมน : ผมใช่

บอย : ผมก็คล้ายๆ ทำงานร่วมกับประชาธิปไตยใหม่ และผมก็เป็นหนึ่งในคดี 7 นักโทษคดีประชามติด้วย

เเชมป์ : ผมไม่ได้เป็นสมาชิกโดยตรง เป็นเเนวร่วมมากกว่าเเต่ด้วยการเคลื่อนไหวของประชาธิปไตยใหม่ตรงนั้น มันเคลื่อนคล้ายกับเจตนารมณ์ของเรา ซึ่งถ้าตรงไหนเคลื่อนเหมือนเจตนารมณ์ของเรา เราก็จะเข้าร่วมด้วย ก็เหมือนประชาชนคนอื่นนั้นแหละ

 

755 ภาพ แมน ปกรณ์ อารีกุล วันไปศาล ขณะพักการพิจารณาคดี

iLaw : อะไรคืออุดมการณ์ที่เป็นประเด็นร่วมกับ NDM ?

เเชมป์ : NDM เป็นขบวนการที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร โดยเรียกร้องหลักการ 5 ข้อ ได้แก่ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วม ความเป็นธรรม สันติวิธี ซึ่งหลักการที่เรียกร้องเหล่านี้ตรงกับที่เราต้องการ ซึ่ง NDM เป็นองค์กรหลักๆ ที่ขับเคลื่อนต่อสู้กับเผด็จการ ซึ่งประเด็นที่เขาออกมาขับเคลื่อน เราก็เห็นด้วยจึงออกมาช่วยไม่ว่าจะเป็นการใช้เเรงงาน เเรงกาย เเรงใจ จริงๆ ในจังหวะนั้น ถ้าใครออกมาเคลื่อนในประเด็นเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองโต้กลับ หรือ ดาวดิน ผมก็เอาด้วย เเละถ้ามีจังหวะหรือโอกาส ผมก็พร้อมจะเข้าร่วมด้วยในการต่อต้านเผด็จการ

บอย : ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับ NDM ผมเป็นเเค่เเนวร่วม เเต่เราก็เชื่อมั่นในหลักการและข้อเรียกร้องเดียวกัน สิ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือ กรณีโหวตโน เราต้องการรณรงค์ให้คนอื่นรับรู้ในเนื้อหา ซึ่ง NDM ก็ออกมาบอกว่ามี 7 เหตุผลก็เพียงพอเเล้วที่จะโหวตโน ซึ่งมันตอบสนองต่ออุดมการณ์ของเรา เราคิดว่าถ้ารัฐธรรมนูญผ่านอาจกระทบกับชีวิตเราได้ ซึ่งการสู้มันย่อมดีกว่าเราอยู่เฉยๆ รอรัฐธรรมนูญผ่านไปแล้วเราค่อยไปโดนเอง

ถาม : ตอนนั้น NDM มีแผนจะจะทำอะไรบ้างในช่วงประชามติ ?

เเมน : ตอนเเรกจะมีรถแห่เลย เหมือนรถหาเสียงเลือกตั้ง เป็นรถที่ขึ้นป้ายโหวตโนและมีเครื่องเสียงเพื่อประชาสัมพันธ์ จะมีหลายคันด้วย ซึ่งรถผมก็ถูกทาบทามให้เป็นหนึ่งในนั้น เเต่เนื่องจากเกิดคดี 7 นักโทษประชามติเสียก่อนเลยต้องล้มไป

iLaw : ภายใต้บริบทของกฎหมายประชามติที่ใช้จำกัดการรณรงค์ “โหวตโน” ทางกลุ่ม NDM วางแผนยุทธศาสตร์อย่างไร ?

เเมน :  ในการประชุมคณะทำงานและแนวร่วมทั้งหมดตัดสินใจว่าจะรณรงค์โหวตโน โดยตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายประชามติ เเต่เมื่อกฎหมายออกมา เรารู้สึกว่าถ้าเราทำข้อมูลบนฐานความจริง ตั้งอยู่บนรัฐธรรมนูญ เราก็น่าจะทำได้ ประกาศโหวตโนได้ เอาเข้าจริง ณ ตอนนั้น ถึงเเม้ว่าจะผิดกฎหมาย หรือ เขาฟันมาเลยว่าโหวตโนไม่ได้ เพราะมันผิดกฎหมาย เราก็จะรณรงค์โหวตโน ถึงกกต.ชี้ว่าผิด เราก็จะยอม แต่นั่นก็จะเป็นการเคลื่อนไหวอีกแบบนึง

เเต่เรื่องว่าหากถูกดำเนินคดีจะทำอย่างไร เราก็ไม่ได้เตรียมไว้นะ เพราะมันค่อยๆ ทำอะไรได้ขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากเสื้อก่อน ตอนเเรกแจกไม่ได้เลยนะ เขาบอกว่าเหมือนซื้อเสียง เเละค่อยๆ ขยับขึ้นมา เป็นเเจกเอกสารเหตุผลความเห็นแย้งได้ จนรู้สึกว่า สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือ ประกาศ กกต. 10 ข้อที่ดูเหมือนจะทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งภายหลังมีการไปร้องว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เลยคิดว่าอาจจะทำได้ ตอนที่พวกโรม(รังสิมันต์ โรม)ถูกจับเราก็เซอร์ไพรส์ว่า มันจับกันได้ขนาดนี้เลยหรอ แต่เรื่องความปลอดภัยทั่วไปหลังมีคสช. นั้น คือถ้าพรุ่งนี้มีกิจกรรม ผมจะไม่นอนบ้าน จะไปนอนหอเพื่อน หรือไปนอนเซฟเฮ้า หรือไม่นอนคนเดียว

บอย : เป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึงว่าการไปบางเสาธงครั้งเเรกแล้วจะโดนจับ เราไม่ได้คิดว่ามีความเสี่ยง โดยที่เราเข้าใจว่าการรณรงค์น่าจะทำได้เหมือนต่างประเทศที่ช่วงนั้นมีการทำประชามติกัน เราเลยไม่ได้เซฟตัวเอง เราก็อยากรณรงค์เพื่อสิ่งที่ดีกว่าการโหวตรับ

iLaw : ก่อนที่ถูกจับในคดีนี้ คุณวางแผนจะทำอะไรกับเอกสารโหวตโนในรถของคุณ ?

เเมน : ไม่มี และไม่ได้มีความตั้งใจจะเเจกจ่าย มันแค่ติดรถมา ตามข้อเท็จจริงที่เรียนในศาลไป มันติดมาพอดีซึ่งมาจากการแถลงข่าวและวันที่แถลงข่าว ผมจำได้ว่า ที่สติ๊กเกอร์เยอะ เพราะว่า มีการนัดกันให้โรงพิมพ์มาส่งและไม่รู้ว่าจะเอาไปไหน ก็เลยใส่รถผมไว้ก่อน

คืออย่างนี้ หลังมี 7 นักโทษคดีประชามติถูกปล่อยตัวออกมา ผมจำได้ว่าเรามีการปรับยุทธศาสตร์กัน เราคุยกันว่าเราควรจะรณรงค์โดยไม่เพิ่มคดีหรือถูกจับไปมากกว่านี้ ดังนั้น ถ้าใครต้องการเอกสารโหวตโนให้ส่งข้อความมาหาเรา เเล้วเราจะส่งเอกสารไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้มีการเเจกจ่ายบนท้องถนน แต่ว่าเป็นการเเจกจ่ายในห้องสัมมนาหรือเวทีสัมมนา ขนาดงานที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จัดเราก็ไม่เว้น มีเอกสารฝั่งโหวตโนและโหวตรับควบคู่กันไป แต่เขาก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ เคยได้ยินว่าอาจารย์มีชัยเคยตกใจอยู่เหมือนกัน แกบอกว่าเอกสารพวกนี้มีไปทั่วเลย ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ทั่วหรอก

iLaw : คุณเตรียมตัวสู้คดีนี้อย่างไร ?

เเมน : ในตอนเเรก ข้อกล่าวหาในสำนวนฟ้องเเรกกล่าวว่าเรามีความพยายามเผยเเพร่เอกสาร ผมก็คิดว่าสบายมากเพราะถ้าฟ้องเเค่นี้ยังไงก็ชนะอยู่เเล้ว เเต่พอตอนหลัง ข้อกล่าวหาที่อัยการสั่งฟ้องและศาลรับฟ้องกลายเป็นเรื่องว่ามีความน่าเชื่อว่าจะมีการเเจกจ่ายสติ๊กเกอร์ พร้อมพนักงานสอบสวนใช้ภาพจากกล้องวงจรปิด ที่มีภาพผม เเชมป์ เเละ เหน่อ(จำเลยที่ 5) ยกกล่องลงมาจากหลังกระบะ ซึ่งเราก็เคยคิดอยู่เเล้วว่าเขาจะมีภาพและในทางเทคนิคก็มีสิทธิเอาผิดเราได้ เเต่เราก็ยังความเชื่อมั่นว่าสุดท้ายเอกสารพวกนี้ไม่ผิด 

การเตรียมตัวก็ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าเอกสารเหล่านี้ไม่ผิดอย่างไร ผมก็ช่วยทนายเตรียมในตรงนี้
คือ ตอนเเรกที่จะพิสูจน์ว่าเเจกหรือไม่เเจกนี้ เราชัดเจนว่าไม่เเจกอยู่เเล้ว แต่พอมาเห็นภาพที่พวกเรายกกล่องทนายก็บอกว่าอาจถูกตีความว่าเเจกจ่ายได้ ก็เลยมาเน้นในส่วนที่เป็นหลักฐาน เราก็มาดูหลักฐานซึ่งก็คือเอกสารของเรา เขาฟ้องเราด้วย 61 วรรค 2 ซึ่งมีคีย์เวิร์ด คือ มีข้อความที่  ‘บิดเบือน’ ‘หยาบคาย’ และ ‘ปลุกระดม’ เราก็เห็นว่าข้อความของเราก็ไม่บิดเบือน ไม่หยาบคาย และไม่ปลุกระดมนะ ทีนี้ก็มาดูว่าการกระทำแบบเรานั้นมีใครทำบ้าง เราก็เห็นว่าฝ่ายโหวตรับที่เขาประกาศตัวโหวตรับเลย เช่น พลเอกประยุทธ์ กำนันสุเทพ เขาก็ประกาศตัวไม่ต่างจากเรา หรือ วิธีการที่รัฐใช้ในการเผยเเพร่ เราก็พยายามชี้ให้เห็นว่า สุดท้ายก็มีการรณรงค์ทั้งสองฝ่ายนั้นแหละ

iLaw : ในคดีนี้มีความผิดพลาดและความสับสนอะไรบ้างในการจับกุมตัว ?

เเมน : เมื่อเขามาจับเรา เราก็ตกใจ เรารู้เลยว่าเราเจอตำรวจฝ่ายตรงข้ามแล้วแหละ คือปกติ เวลาเจอตำรวจในกรุงเทพฯ เขาพยายามทำให้เราสบายใจ โดยบอกว่า เป็นพวกเดียวกับเราบ้าง ไม่ได้อยากทำเเต่ทำตามหน้าที่บ้าง เเต่คนนี้ชัดเจนเลยว่าเขาอยากดำเนินคดีกับเรา และตอนตำรวจถามว่าเอกสารอะไร ผมก็บอกว่าเอกสารประชามติ เขาก็ถามว่าโหวตอะไร ผมก็บอกว่ามีทั้งสองแบบ มีทั้งโหวตโนโหวตเยส เขาบอกว่ามีเอกสารโหวตโนไม่ได้ บ้านเมืองเป็นเเบบนี้ ต้องรอประชามติผ่านไปก่อน

บอย : ตำรวจบอกเราว่าขอไปคุยด้วยหน่อยได้ไหม เราก็บอกว่าขอดูความผิดหน่อยว่าคุณจะมาเเจ้งความผิดอะไร และเราก็เชิญกกต.จังหวัดซึ่งมีอำนาจชี้มูลความผิดมา ตำรวจก็บอกอย่ายุ่ง สุดท้ายกกต.จังหวัดก็ต้องกลับไป ทั้งๆ ที่ ตามความเข้าใจของผม ในกฎหมายประชามติ ความเห็นของกกต.มีอำนาจชี้ขาด คือผมงง ในคดีที่จะกระทบต่อบุคคลหลายคน ทำไมคุณไม่คิดดีๆ ก่อนจะจับเรา ทำไมไม่ถามเราก่อน ผมเห็นว่าการจับกุมครั้งนี้ไม่ถูก 

เเล้วสิ่งที่ไม่น่าพอใจที่สุด คือ ระบบตำรวจไม่เข้าใจว่าจะจัดการกับคดีทางการเมืองอย่างไร และจะดำเนินการกับคดีเหล่านี้ยังไง คือจะเหมารวมว่านี้คือคดีอาชญากรรม คือเขาไม่เคารพสิทธิเราเลยว่านี้เป็นเพียงเเค่คดีทางการเมืองเท่านั้น 

นอกจากนี้ ตำรวจมีท่าทีสับสนด้วย ผมเข้าใจว่าทนายของเราเป็นคนไปบอกตำรวจเองเลยว่าให้ไปดูกฎหมายประชามติ ว่ามันผิดมาตราไหน  เพราะจริงๆ  ตำรวจยังไม่รู้เลยว่าจับข้อหาอะไร ตำรวจมีท่าทีรวมให้ครบ 5 คนเพื่อที่จะเเจ้งข้อหาคำสั่งคสช.ที่ 3/2558  ห้ามชุมนุมเกิน  5 คน 

iLaw : ขั้นตอนการพิมพ์ ลายนิ้วมือที่ปฏิเสธไม่ให้พิมพ์ เเละสุดท้ายถูกปฏิบัติคืออะไร ?

บอย : มีการข่มขู่เหมือนกัน แล้วเรื่องที่ว่าเจ้าพนักงานเองก็เป็นคนที่อคติกับเรามาอยู่ก่อนตั้งเเต่จับเราเเล้ว เเต่ที่ศาลอื่นเราก็ทำแบบนี้แหละเพราะเรารู้สึกว่าการพิมพ์ลายนิ้วมือ มันไม่จำเป็นเลยในการไปพิมพ์ลายนิ้วมือเหมือนอาชญากรในคดีอย่างนี้ ในทางกฎหมายเรื่องการบังคับการพิมพ์ลายนิ้วมือก็ถูกล้มบ้างไปตั้งเเต่รัฐธรรมนูญปี 50 เเล้ว เราจะอ้างตลอดว่าผู้ต้องหาจะปั้มลายนิ้วมือหรือไม่นั้นเป็นสิทธิเสรีภาพ

 

756 บอย อนันต์ โลเกต หลังเสร็จสิ้นศาล และกำลังให้สัมภาษณ์


iLaw : การถูกดำเนินคดีส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมทางสังคมและชีวิตอย่างไร ?

บอย : เราก็สามารถไปทำกิจกรรมทางสังคมอื่นได้ เเต่ คสช.เขาก็วางเกมส์มาเเล้วว่าเมื่อปล่อยตัวไปก็ห้ามดำเนินกิจกรรมใดๆ เพราะก่อนหน้านี้ผมมี MOU เกี่ยวกับการห้ามทำกิจกรรมกับทหารในตอนที่ถูกจับในกรุงเทพเพราะไปติดสติ๊กเกอร์ต้านรัฐประหารในมหาวิทยาลัย ส่วนการทำกิจกรรมในมหาลัยก็ถูกจับตา เพราะมีคดีติดตัวและทำกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาลก็ถูกมองว่าเป็นเด็กนอกคอก

ในเรื่องส่วนตัว การดำเนินคดีไม่มีประโยชน์ต่อตัวเราอยู่เเล้ว คือ หนึ่ง เสียเวลาต้องมาศาล สอง ถ้าเราจะไปสมัครงานระหว่างนี้ก็ยากเพราะคดียังไม่จบ จริงๆ เขาก็รับได้ เขาไม่ได้ซีเรียสเรื่องมีคดี เเต่เรามีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือเรื่องเวลาทำงานกับเขามากกว่า เพราะเราไม่สามารถการันตีได้ว่าจะต้องลางานไปศาลเมื่อไร คล้ายๆกับว่า เราไม่มีความมั่นคงทางการงาน ที่ทำได้ตอนนี้ก็คือรับงานอีเว้นท์ เเต่ในสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้อะไรมันก็ยาก มันไม่มีใครจ้าง เเต่ที่สำคัญ คือ โครตเสียเวลาเลย

เรื่องความปลอดภัย เราไม่สามารถการันตีความปลอดภัยได้เลยว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ จะคุกคามเราตอนไหน อีกอย่าง ครอบครัวเรากับเรามันแยกกันคนละส่วนอยู่เเล้ว เเละสิ่งที่จะกำหนดนักกิจกรรมได้มากที่สุดคือ ‘ครอบครัว’ เราเป็นห่วงความปลอดภัยของครอบครัวมากกว่า 


เเมน : การทำกิจกรรมทางสังคมก็ไม่กระทบมาก เพราะคดีนี้ก็เข้ากระบวนการปกติ ก่อนหน้านี้ คดีอื่นเราไม่รู้เลยว่าอัยการสั่งฟ้องหรือยัง ที่เราไม่ไปมีหมายจับค้างไว้รึเปล่า เราก็ไม่รู้เลย เเต่คดีนี้ขั้นตอนทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการ แต่เราก็ไม่ได้อยากมีคดีเพิ่มอยู่เเล้ว 

เรื่องงาน ผมก็คล้ายๆบอย จากตอนนี้ที่ผมเป็นผู้ช่วยสอน ช่วยบรรยายที่มหาวิทยาลัยบูรพาทุกวันพฤหัสบดีก็ต้องลา และอย่างนัดเเรกที่เขานัดสืบพยานต่อเนื่อง 4 วันติด ตอนนั้นผมก็มีงานอีเว้นท์ทั้งสัปดาห์ ก็ต้องทิ้งหมดเลย ทิ้งเงินไป 20,000-30,000 บาท ก็เสียดาย

ในทางสังคม คนที่รู้คนที่เข้าใจ ถ้าบอกว่าเป็นคดีการเมืองเขาก็เข้าใจนะ เเต่พอโพสต์ขึ้นเฟสบุ๊คบ่อยๆ ว่า ขึ้นศาลอีกแล้ว คนก็จะพูดว่าก็บอกเเล้วว่าอย่าไปเคลื่อนไหวเพราะสุดท้ายก็ไม่ได้อะไร เราก็รู้สึกถูกบั่นทอนจิตใจบ้างบางที

แชมป์ : ในการต่อสู้ทางการเมืองไม่กระทบหรอกเพราะมันก็ต้องยืนยันต่อสู้กันต่อไป ส่วนเรื่องชีวิต คนที่เข้าใจก็ไม่มีปัญหา แต่คนที่ไม่เข้าใจ เช่น ญาติผมเนี่ย ก็จะบอกว่าเราไปมีคดีความซึ่งทำเสียชื่อเสียงต่อวงศ์ตระกูล เรื่องทำมาหากินก็คล้ายกันๆ ถ้าคนที่เข้าใจและเห็นใจเรา เขาก็ชื่นชมและสนับสนุน เเต่คนที่คิดต่างจากเรา ชีวิตทางเศรษฐกิจก็อาจมีปัญหา แต่ถ้าถามว่ากระทบการทำงานไหม แม้จะเป็นฟรีแลนซ์ก็กระทบอยู่เเล้ว เพราะการมาศาลมันไม่ได้มาครั้งเดียวและจบไป เเต่ระยะการมาเฉลี่ยเดือนละครั้งๆ มันกินระยะเวลานานมาก ซึ่งเวลาตรงนี้เอาไปทำอะไรได้มากทีเดียวเลย

เรื่องการเฝ้าระวังของรัฐ เป็นธรรมดาที่รัฐเฝ้าระวังทุกคนที่อยู่ในลิสต์ที่ออกมาต่อต้านเผด็จการอยู่เเล้ว เรื่องจะใช้ชีวิตอย่างไรให้รู้สึกปลอดภัยก็เป็นเรื่องของเเต่ละบุคคลที่ต้องจัดการ ผมก็ถูกจับตาอยู่ด้วยความที่คลุกคลีและทำงานกับวงการกิจกรรมในหลายๆสาย ทั้งสายเเรงงาน สายนักศึกษา สายเกษตร สายสิ่งเเวดล้อม อย่างเรื่องโรงไฟฟ้า เราก็ร่วมค้าน เราก็ไปช่วยเหลือ ก็เป็นเรื่องปกติที่ถูกจับตา อย่างเช่น บ้านที่เราเคยเช่าอยู่ซึ่งมีทะเบียนบ้านชื่อเราอยู่ ทหารก็เเวะไปบ่อยมาก เเต่ตอนนี้บ้านก็มีคนอื่นมาเช่าไปเเล้ว เเต่การที่ทหารเเวะมาบ่อยๆ ทำให้มีคนที่มาเช่าบ้านย้ายออกบ่อยมาก

iLaw : ทำไมยังตัดสินใจต่อสู้ในคดีนี้ ?

แมน : ที่เรายังสู้อยู่เพราะว่าเราต้องการให้คดีนี้เป็นบรรทัดฐานในการรณรงค์ทางการเมืองในอนาคต อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าพ.ร.บ.ประชามติไม่ควรที่จะเข้มงวดขนาดนี้ การทำประชามติควรให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการเเสดงความคิดเห็น ไม่ว่าเขาจะเขียนกฎหมายมาเพื่อควบคุมก็ตามแต่เราก็จะพยายามรณรงค์ พยายามสู้เพื่อทำให้เห็นว่า การทำประชามติ ประชาชนควรสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งสองฝ่ายได้ ควรจะรณรงค์ได้ ไม่ควรมีการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง จริงๆ เราไม่ผิดเลยนะ ถ้าเรายอมรับว่าเราผิดเเล้วไปไกล่เกลี่ยประนีประนอม มันก็ไม่ใช่เรา เราคงยอมรับมันไม่ได้เหมือนกัน

บอย : จริงๆ คำตอบของผมก็คล้ายๆ กัน ในฐานะนักกิจกรรม เราจะยอมแพ้ต่อกระบวนการที่เราไม่ยอมรับตั้งเเต่เเรกไม่ได้ และศาลก็วินิจฉัยคดีจากกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากระบอบเผด็จการ ซึ่งผมว่าเราไม่ได้ทำผิดกฎหมายปกติอะไรเลย แต่ว่าเป็นกฎหมายใหม่ที่ศาลเองนั้นแหละที่ยอมรับจากรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ถ้าดูในระยะที่มีการทำประชามติ จะเห็นได้เลยว่าคดีที่สำคัญก็มีแต่คดีทางการเมืองทั้งนั้น ซึ่งศาลไม่แปลกใจบางเลยหรือว่าทำไมต้องมานั่งตัดสินคดีที่เกี่ยวกับรัฐประหาร ผมก็เข้าใจแหละว่า คุณเคยชินจากช่วงอายุของคุณ แต่คุณไม่คิดถึงคนที่อยู่ในอนาคตที่ยังมาไม่ถึงบางหรือ เช่น ลูกหลานของคุณ​ หรือคนในประเทศที่เป็นเยาวชน จะให้ดำเนินชีวิตต่อไปภายใต้เงาเผด็จการ การที่ต้องมีรัฐระหารอย่างนี้อีกหรอ เราเลยคิดว่าจำเป็นต้องสู้ เราก็อยากจะสู้

เเชมป์ : เราต้องการยืนยันว่าการกระทำของเราชอบธรรม และเราจะไม่ยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม ซึ่งเราคิดว่าการจับครั้งนี้ไม่ชอบธรรม

 

757 ภาพ แชมป์ อนุชา รุ่งมรกต

iLaw : ในสังคมเผด็จการเต็มรูปแบบ การเเสดงความคิดเห็นทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะถูกจำกัดอย่างเข้มงวด แต่จากการเข้าไปสังเกตการณ์คดี ศาลราชบุรีให้พื้นที่พวกคุณในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือวิจารณ์ประชามติและรัฐธรรมนูญปัจจุบันอย่างไม่น่าเชื่อ คุณคิดว่าการใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองเป็นไปได้ไหม? 

เเมน : ในศาลราชบุรี ผมก็เพิ่งรู้สึกว่าเราพอจะพูดเเสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือเนื้อหาทางการเมืองได้แล้วศาลพอจะรับฟัง นี้ก็เป็นครั้งเเรกที่ผมเห็นเช่นนั้นเพราะในศาลอื่นๆ ไม่เคยทำได้ 

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าในเมืองไทย การเมืองบนท้องถนนหรือการเมืองบนสนามที่ต่างจากรัฐหรือผู้มีอำนาจทำไม่ได้ในสภาวะปัจจุบัน ผมคิดว่าพื้นที่โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่สำคัญ ที่ผู้เห็นต่างจากรัฐสามารถแสดงความคิดเห็นได้ และความเห็นต่างก็ไปก่อตัวกันบนนั้นค่อนข้างมาก เเต่ในโซเชียลมีเดียก็มีปัญหาคือไม่มีลักษณะของขบวนการหรือมียุทธศาตร์ในการการต่อสู้ทางการเมืองและสังคม ทำให้ความเห็นต่างเหล่านั้นไม่นำไปสู่อะไร ทำได้เพียงบ่นๆ เท่านั้น 

เเชมป์  : ผมมองว่าเราใช้ทุกศาลในการต่อสู้ทางการเมืองได้หมด ถ้าศาลปราศจากการแทรกเเซงจากอำนาจรัฐหรืออำนาจเผด็จการ ให้เเสดงออกและให้ผลได้อย่างเต็มที่จากกระบวนการสู้ของมัน ผมว่าทุกศาลก็เปิดช่องทางในการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมตลอด แต่จากการสังเกตการณ์คดี เช่นที่เคยเห็นในศาลทหาร ศาลก็มีอคตินิดนึง คือ ศาลเองจะชอบธรรมได้ต่อเมื่อปราศจากอคติ และวางตัวเป็นกลางจริงๆ 

บอย : ที่พี่แชมป์บอกว่าใช้ศาลในการต่อสู้กับเผด็จการได้ ผมว่าไม่ได้ แต่ถ้าในสถานการณ์ปกติ มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อีกเรื่องหนึ่ง ผมคิดว่าที่ศาลราชบุรีทำอยู่ก็เเค่ทำไปตามกระบวนการหรอก ถ้าถูกสั่งมาก็อาจพลิกคดีได้ ศาลต้องคิดอยู่เเล้วครับ อย่างเช่นว่า ถ้าคำสั่งของศาลออกมา เขาจะถูกย้ายไหม ทหารหรือรัฐบาลทหารจะคิดเห็นอย่างไร 

แต่ก็ยังยืนว่าถ้าจะให้ความเป็นธรรมจริงๆ ศาลก็ต้องเป็นอิสระจากรัฐบาล ศาลต้องเป็นศาลยุติธรรมจริงๆ ตามชื่อ เเต่ในไทยศาลไทยไม่ใช่ศาลยุติธรรม คุณจะตัดสินยังไงก็ได้ ใช้คดียิ่งลักษณ์เป็นตัวอย่างก็ได้

iLaw : ในการรัฐประหารครั้งนี้ มียุทธวิธีต่างๆ มากมายในการจัดการกับผู้เห็นต่าง คุณคิดว่านี้เป็นการเตรียมการอย่างเป็นระบบจากผู้มีอำนาจหรือเปล่า?

เเมน : ผมคิดว่าเป็นครับ รัฐประหารในประเทศไทยที่สำเร็จเพราะศาลเอาด้วย การรัฐประหารคือการฉีกรัฐธรรมนูญใช่ไหม แต่พอศาลรับรองและบอกว่าการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวทำได้  คณะรัฐประหารก็จะมีอำนาจทางกฎหมายขึ้นมาทันที เราจะเห็นได้ว่าการจัดการของเขาแทบไม่ต้องใช้ความรุนแรงหรือปืนเลย เขาใช้ ‘Soft Power(อำนาจอ่อน)’ เช่น ใช้การเเจ้งข้อกล่าวหา ใช้การเรียกรายงานตัว ถ้าเรียกรายงานตัวเเล้วคุยรู้เรื่อง ก็ไม่ต้องเเจ้งข้อกล่าวหา แต่ถ้าคุยไม่รู้เรื่องก็มีการเเจ้งข้อกล่าวหาแล้วก็โยนไปให้ศาลตัดสิน ซึ่งศาลก็ตัดสินบนกฎหมายที่เขาร่างขึ้นมาใหม่ แทนที่เขาจะใช้ปืนเขาก็โยนไปให้ศาลพิจารณาแล้วโยนคนเห็นต่างไปในเรือนจำ ซึ่งในระยะยาว ถ้าทำเช่นนี้กระบวนการยุติธรรมจะเป็นปัญหา เพราะคนอีกฝั่งหนึ่งที่ถูกปฏิบัติเช่นนี้แล้วรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาก็จะขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

บอย : มีคนเล่าให้ผมฟังว่า การรัฐประการครั้งนี้ถูกเตรียมการวางแผนจากข้อสรุปของการรัฐประหารปี 49 ซึ่งมีข้อผิดพลาดเยอะ เช่น การทำประชามติปี 50 ก็ทำอย่างหลวมๆ ในมุมมองของฝ่ายทหาร ครั้งนี้เป็นการทำอีกรอบหนึ่งที่มีความรัดกุมมากกว่า ในลักษณะที่ว่าไม่ได้ใช้กระบอกปืนอย่างเดียวแต่มาใช้กฎหมายด้วย

เเชมป์ : เป็นเรื่องที่เเน่นอนอยู่เเล้วว่าการก้าวเข้ามาของคสช. ซึ่งมาด้วยความไม่ชอบธรรมจะต้องถูกคัดค้าน ด้วยคนที่เชื่อในระบบประชาธิปไตย มันมีตัวอย่างในประวัติศาสตร์มากมาย เช่น 6 ตุลา 14 ตุลา พฤษภา 35 ที่พอทหารเข้ามายึดอำนาจก็มีฝ่ายประชาชนที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยลุกขึ้นมาต่อสู้  เเต่คสช.เองก็ได้เรียนรู้เช่นกันว่าจะทำอย่างไรให้การต่อต้านหรือการออกมาสู้ของภาคประชาชนตกไป และเข้ามายึดอำนาจในการบริหารซึ่งส่ิงที่ควบคุมได้คือความกลัว เมื่อไหร่ที่ปล่อยความกลัวออกมาให้คนกลัว ทำให้คนไม่กล้าที่จะต่อสู้ หรือบีบบังคับ กดขี่ หรือใช้อำนาจพิเศษในการกำหนดหลายอย่างให้คนไม่กล้า ตัวอย่างเช่น หนึ่ง การยื่นคดีให้ การที่ประชาชนมีคดีติดตัวนั้นทำให้เขาใช้ชีวิตลำบากขึ้น สอง การใช้ความกลัวด้วยการคุกคามของทหารและตำรวจ ด้วยการติดตาม ข่มขู่ หรือการออกหมาย หรือ พ.ร.บ. ที่มันขัดต่อความชอบธราม สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความกลัวให้กับประชาชน การรัฐประหารครั้งนี้ของคสช. ค่อนข้างออกแบบมาดี วางยุทธศาสตร์มาอย่างดี ทุกครั้งพอรัฐประหารเสร็จทหารก็จะไป แต่ครั้งนี้ต่างออกไป เขาเข้ามาคุมการบริหารในระยะยาวด้วย เขาก็เรียนรู้จากการต่อสู้มาเหมือนกันไม่ต่างจากพวกประชาธิปไตย

ส่วนการต่อสู้ของพวกประชาธิปไตยในไทยมันโตขึ้นตลอดเวลา เเละก็เเหลมคมขึ้นด้วย ถ้าดูไทม์ไลน์ 6 ตุลาเองก็ยังไม่ชัดเจนเรื่องว่าปัญหาโครงสร้างคืออะไร พฤษภา35 ก็เช่นกัน เเต่มาคราวนี้ จากเหตุการณ์ปี 53 มันก็ชัดเจนขึ้นว่า ปัญหาทางการเมืองมาจากโครงสร้างทางสังคม และโลกที่ไร้พรมเเดน โลกที่มีโซเชียลมีเดียก็ทำให้คนตระหนักถึงปัญหาการกดขี่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้คนตื่นตัวมากขึ้น

 

 

 

 

 

Article type: