1007 1424 1763 1578 1837 1248 1443 1844 1503 1391 1264 1696 1337 1606 1831 1986 1804 1522 1054 1591 1950 1284 1226 1575 1886 1077 1995 1215 1445 1290 1851 1113 1685 1222 1735 1630 1653 1077 1041 1608 1619 1077 1459 1945 1113 1178 1511 1620 1926 1936 1656 1344 1480 1187 1075 1449 1479 1308 1819 1842 1488 1897 1311 1194 1359 1898 1696 1323 1664 1698 1304 1433 1673 1722 1994 1424 1583 1480 1838 1130 1805 1211 1269 1677 1044 1673 1521 1133 1847 1686 1418 1322 1431 1894 1476 1466 1052 1781 1212 3 ปีที่ขอนแก่น: ยิ่งกด ยิ่งปรากฏความเคลื่อนไหว | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

3 ปีที่ขอนแก่น: ยิ่งกด ยิ่งปรากฏความเคลื่อนไหว

ตลอดระยะเวลาสามปีนับจากรัฐประหาร 57' จังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่ที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้มข้นไม่แพ้กรุงเทพฯ มีข่าวจับกุมบุคคลจากเหตุทำกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้ง ตั้งแต่จับกุมผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดลที่ต่อมาเป็นพลเรือนกลุ่มแรกที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารหลังถูกกล่าวหาว่าครอบครองอาวุธสงครามและเตรียมก่อเหตุความไม่สงบ ตามด้วยการจับกุมนักศึกษากลุ่มดาวดินที่สวมเสื้อสกรีนข้อความ "ไม่เอารัฐประหาร"พร้อมชูสามนิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะลงพื้นที่ และการจับกุมดำเนินคดีนักกิจกรรม หลังจัดกิจกรรมชูป้ายคัดค้านรัฐประหารเนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น และจากกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน เป็นต้น

สถานการณ์อันตึงเครียดในจังหวัดขอนแก่นไม่ได้จำกัดอยู่แค่การดำเนินคดีกับผู้ที่จัดกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่มองว่าเป็น 'กิจกรรมทางการเมือง' หากยังรวมไปถึงการดำเนินการรูปแบบอื่นๆของเจ้าหน้าที่ทหารด้วย เช่น เฝ้าติดตามและไปถ่ายรูปที่ "บ้านดาวดิน" บ้านเช่าที่นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินเช่าอยู่ร่วมกันหนำซ้ำการดำเนินคดีร้ายแรงอย่างคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับจตุภัทร์หรือ 'ไผ่ดาวดิน' นักกิจกรรมคนสำคัญ แต่ท่ามกลางการรุกหนักของเจ้าหน้าที่ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในจังหวัดขอนแก่นก็ไม่ได้เงียบไปแต่กลับกลายเป็นจุดสนใจของคนมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีของจตุภัทร์ที่ดึงดูดให้มวลชนจากกรุงเทพหรือจังหวัดอื่นๆมุ่งหน้าสู่จังหวัดขอนแก่น ขณะเดียวกันเพจล้อการเมืองชื่อดังอย่างเพจ "ไข่แมว"  ก็นำเหตุการณ์ในจังหวัดขอนแก่นไปทำภาพล้อเลียนอย่างน้อยห้าตอน ได้แก่กรณีถอนประกัน  และยกคำร้องประกันตัวของจตุภัทร์หรือ 'ไผ่ ดาวดิน'  กรณีที่จตุภัทร์ได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนจากประเทศเกาหลีใต้ระหว่างที่ถูกคุมขัง กรณีพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรีนำกำลังค้นบ้านพักของนักศึกษากลุ่ม 'ดาวดิน' โดยไม่มีหมายศาล  และกรณีที่มีการปิดถนนมิตรภาพบางช่วงระหว่างพิธีมงคลสมรสของพ.ท.พิทักษ์พล เป็นต้น 
 

เสื้อสีแดงที่แขวนในตู้: ความเงียบงันหลังรัฐประหารของ "คนเสื้อแดง" ในขอนแก่น

ย้อนไปช่วงปลายปี 2556 ขณะสถานการณ์การเมืองในกรุงเทพฯ ค่อนข้างตึงเครียดจากการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ของกลุ่มประชาชนที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  
 
ขณะเดียวกันทีขอนแก่นก็มีชุมนุมของคนเสื้อแดงเพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์และต่อต้านการชุมนุมของกลุ่มสุเทพ เช่น ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 กลุ่ม “นปช.เพื่อคนไทย ปกป้องประชาธิปไตย” จัดเวที บริเวณสนามหญ้าใกล้บขส.ขอนแก่นแห่งที่สาม โดยมีคนเสื้อแดงเข้าร่วมประมาณ 30,000 คน และมีแกนนำนปช. เช่นณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ ขึ้นเวทีปราศรัย 
 
กระทั่งหลังยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 วันเดียวกันที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่นก็มีการชุมนุมโดยกลุ่มกำนัน / ผู้ใหญ่บ้านประมาณ 100 คน เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการเลือกตั้งและคัดค้านการใช้กำลังล้มล้างกฎหมาย นอกจากนี้ก็มีสส.พรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงนำมวลชนประมาณ 1,000 คน มาชุมนุมที่หน้าศาลากลางแสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลและคัดค้านการชุมนุมของกลุ่มกปปส.ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ 
 
จากคำบอกเล่าของอดีตผู้สื่อข่าวท้องถิ่นคนหนึ่งซึ่งเคยใช้ชีวิตในจังหวัดขอนแก่นเป็นเวลาเจ็ดปี เวลาคนเสื้อแดงที่กรุงเทพมีการเคลื่อนไหว ที่จังหวัดขอนแก่นมักจะมีการจัดเวทีย่อยคู่ขนานไปด้วย  ก่อนรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดขอนแก่นถือว่าเข้มข้นระดับหนึ่งแต่หลังการรัฐประหารไม่ปรากฎข่าวการออกมาทำกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารของคนเสื้อแดงในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ปรากฎการณ์นี้ดูเผินๆอาจไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จผ่านการใช้เครื่องมืออย่างการ "ปรับทัศนคติ" แกนนำคนเสื้อแดงในจังหวัดเช่น ซาบีน่า ซาห์ ซึ่งเป็นคนที่คอยหาเงินช่วยคนเสื้อแดงที่ติดคุกในคดีชุมนุมทางการเมืองเคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวจากบ้านไปปรับทัศนคติที่ค่ายทหารเป็นเวลาสี่วัน 
 
สิ่งที่ขอนแก่นแตกต่างกว่าจังหวัดอื่นที่มวลชนคนเสื้อแดงมีความตื่นตัวในการทำกิจกรรมได้แก่ความเงียบในช่วงรณรงค์ประชามติ ในขณะที่จังหวัดอื่นๆในภาคอีสานเช่น หนองบัวลำภู อุดรธานี สุรินทร์และสกลนคร ไปจนถึงจังหวัดที่อยู่นอกภาคอีสานและไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยอย่างจังหวัดราชบุรี กลุ่มคนเสื้อแดงเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติอย่างคึกคัก แต่จังหวัดขอนแก่นซึ่งเคยมีความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่องช่วงก่อนการรัฐประหารและเป็นจังหวัดที่พรรคเพื่อไทยเคยชนะการเลือกตั้งในปี 2554 ทั้งสิบเขต กลับไม่มีการทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกง จากคำบอกเล่าของอดีตผู้สื่อข่าวคนเดียวกัน ในช่วงที่หลายๆจังหวัดมีการเปิดศูนย์ปราบโกงเจ้าหน้าที่ทหารโทรมาคุยกับดีเจวิทยุชุมชนคนหนึ่ง (ในที่นี้จะเรียกว่า'ดีเจเอ') สอบถามว่าจะเปิดศูนย์ปราบโกงหรือไม่ นอกจากนี้ก็มีข่าวว่าศูนย์ปราบโกงที่เปิดในหลายๆจังหวัดก็ถูกปิด จึงเป็นเหตุให้ไม่มีการเปิดศูนย์ปราบโกงในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อย่างน้อยก็ในเขตอำเภอเมือง โดย 'ดีเจเอ'ยังพูดถึงการลดบทบาทการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงทำนองว่า เขา(ทหาร)เป็นรถที่ใหญ่กว่าพวกผม พวกผมเป็นรถมอเตอร์ไซค์จะไปขี่สวนเลนกับเขาทำไม ขนาดเพื่อไทยเป็นรถปิ๊กอัพยังไม่ทำอะไรเลยเลย 
 
แม้ว่าก่อนการออกเสียงประชามติจะแทบไม่มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่เลย ยกเว้นกิจกรรม "พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน" ที่กลุ่มดาวดินและขบวนการประชาธิปไตยใหม่ร่วมกันจัด หรือกิจกรรมนั่งอ่านเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ปรากฎว่าจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิ 815,192 คน มีคนออกเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 333,774 คน ไม่เห็นชอบ 409,450 คน ผลการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นก็ดูจะสะท้อนการคงอยู่ของคนเสื้อแดงในสภาวะที่'เสื้อสีแดง'ถูกแขวนเก็บไว้ในตู้ได้บ้างสอดคล้องกับคำบอกเล่าของ 'ดีเจเอ' ที่ว่า เรารู้อยู่แล้วว่าจะลงคะแนนอะไร ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือใครจะมาบอกให้เราไปลงคะแนนอย่างไรก็ไม่มีผล เพราะเราตัดสินใจไว้แล้ว    
 

'ขอนแก่นโมเดล' มหากาพย์คดีการเมือง และคดียืดเยื้อยาวนาน

 
23 พฤษภาคม 2557 หลังการยึดอำนาจเพียงวันเดียว เหตุการณ์ในจังหวัดขอนแก่นกลายเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศเมื่อทหารควบคุมตัวผู้ต้องหารายหนึ่งหลังต้องสงสัยว่าจะต่อต้านการรัฐประหาร พร้อมตรวจพบของกลางเป็นอาวุธปืน จึงขยายผลไปที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ในตัวจังหวัด พบผู้ต้องหาอีก 21 คนมาจากหลายจังหวัดในภาคอีสานกำลังจัดประชุมกัน จึงเข้าควบคุมตัวและตรวจค้นรถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณโรงแรม พบของกลางเป็นอาวุธอีกจำนวนหนึ่ง โดยมีข้อมูลด้วยว่าผู้ที่ถูกจับกุมในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นคนที่เคยร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในช่วงปี 53' 
 
ปฏิบัติการครั้งนี้ถูกเรียกกันว่า "ขอนแก่นโมเดล"  จากนั้นทหารยังขยายผลเข้าจับกุมผู้ต้องหาคนอื่นอีก รวมทั้งหมดเป็น 26 คน ซึ่งถูกตั้งข้อหาและส่งตัวฟ้องต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (ศาลทหาร ขอนแก่น) ในข้อหาร่วมกันชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ฐานครอบครองอาวุธ และตระเตรียมการก่อการร้าย และอีกหลายข้อหา เบื้องต้นทั้ง 26 คนไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเพราะศาลทหารเห็นว่า เป็นคดีร้ายแรง ทุกคนจึงถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ โดยคดีนี้นับเป็นคดีแรกหลังการรัฐประหาร 2557 ที่มีการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน
 
เนื่องจากจำเลยในคดีขอนแก่นโมเดลมีหลายคน จึงมีญาติพี่น้องจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อน และมีทนายความที่เข้าช่วยเหลือจากหลายกลุ่ม การดำเนินคดีนี้จึงกลายเป็นมหากาพย์หลากเรื่องราวซับซ้อนเต็มไปหมด เริ่มตั้งแต่จำเลยบางคนยื่นเรื่องคัดค้านว่า ศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ จำเลยหลายคนมีอายุมากและมีปัญหาสุขภาพระหว่างถูกขังอยู่ในเรือนจำ ขณะเดียวกันฝ่ายอัยการทหารอ้างพยานบุคคลรวม 90 ปาก ซึ่งไม่อาจคาดการณ์ได้เลยว่า จะต้องใช้เวลาสืบพยานไปนานเท่าใด นับตั้งแต่ถูกจับกุมจำเลยทั้งหมดถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาก่อนจะเริ่มได้รับอนุญาตให้ประกันตัวชุดแรกเจ็ดคนในเดือนพฤศจิกายน 2557 และค่อยๆ ทยอยได้ประกันตัวทีละคนๆ 
การพิจารณาคดีนี้เป็นไปอย่างช้าๆ บางนัดพยานไม่มาศาลก็ต้องเลื่อนการพิจารณาคดีออกไป จนถึงเดือนตุลาคม 2560 จำเลยทั้ง 26 คนต้องทยอยไปขึ้นศาลทหารกันหลายครั้ง แต่การสืบพยานโจทก์ดำเนินไปได้เพียงสี่ปากเท่านั้น
 
766
 
จำเลยคดีขอนแก่นโมเดลถูกคุมตัวมาที่ศาลทหารขอนแก่นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 (The Isaan Record)
 
ปลายพฤศจิกายน 2558 ก่อนกิจกรรม "ปั่นเพื่อพ่อ" หรือ Bike for Dad จำเลยคดีขอนแก่นโมเดลห้าคนจาก 26 คน ได้แก่ ประธิน วัลลภ พาหิรัณ วีระชัย ธนกฤติ ถูกทหารเข้าจับกุมและส่งตัวเข้าเรือนจำอีกครั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาให้ข่าวว่า เป็นการจับกุมกลุ่มที่วางแผนก่อเหตุป่วนกิจกรรม Bike for Dad ซึ่งเรียกกลุ่มนี้ว่า "ขอนแก่นโมเดล 2" ทั้งห้าคนถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษภายในค่ายทหาร มทบ.11 ที่กรุงเทพฯ และต่อมามีการขยายผลจับกุมณัฐพลเพิ่มอีกหนึ่งคน
 
แต่ภายหลังเมื่อทั้งหมดถูกส่งฟ้อง ผู้ต้องหา 5 คน ถูกตั้งข้อกล่าวที่ไม่เกี่ยวกับกิจกรรม Bike for Dad แม้แต่น้อย แต่กลับถูกตั้งข้อหามาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่า ขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำในคดีขอนแก่นโมเดล พวกเขานอนคุยกันและบทสนทนาดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยมีนักโทษคนอื่นในเรือนจำเป็นพยาน 
 
ขณะที่ณัฐพล หนึ่งในนักโทษคดีอื่นที่เคยอยู่ในเรือนจำพร้อมกันและเคยให้การปรักปรำจำเลยทั้งห้าในคดีนี้แต่ภายหลังกลับคำให้การว่า ไม่เคยได้ยินทั้งห้ากล่าวถ้อยคำตามที่ถูกฟ้อง ก็ถูกจับกุมตัวมาแล้วตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112 เป็นอีกคดีหนึ่งร่วมกับประธิน โดยถูกกล่าวหาว่า หลังออกจากเรือนจำไปครั้งก่อน ทั้งสองส่งไลน์คุยกันเป็นข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ปัจจุบันจำเลยคดีมาตรา 112 ทั้ง 6 คน ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ขณะที่คดียังค่อยๆ สืบพยานกันไปอย่างล่าช้า
 

ไม่ เอา รัฐ- ประ- หาร: การปรากฎตัวในระดับชาติของกลุ่ม 'ดาวดิน'

ย้อนกลับไปก่อนวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ชื่อเสียงของกลุ่มดาวดินยังน่าจะยังไม่เป็นที่รู้จักของคนในระดับประเทศ แม้ว่าพวกเขาจะทำงานรณรงค์ในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจนเคยได้รับรางวัลเยาวชนต้นแบบ ในงานประกาศผลรางวัล “คนค้นฅนอวอร์ด" ครั้งที่5 เมื่อปี 2556 ความรับรู้ต่อการมีอยู่ของกลุ่มดาวดินก็น่าจะยังจำกัดอยู่ในกลุ่มชาวบ้านหรือผู้ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือวิธีชีวิตจากโครงการอุตสาหกรรมเช่นการทำเหมืองในพื้นที่ภาคอีสาน สิ่งที่น่าจะทำให้กลุ่ม 'ดาวดิน' กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ คือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ประกาศจุดยืนคัดค้านการรัฐประหารต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ขณะปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดขอนแก่น
 
761
 

ภาพห้านักกิจกรรมกลุ่มดาวดินขณะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวหลังการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ (เด็กหลังห้อง)

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นักกิจกรรมกลุ่ม 'ดาวดิน' ห้าคนซึ่งมีจตุภัทร์หรือ 'ไผ่ดาวดิน' รวมอยู่ด้วยได้ถอดเสื้อคลุมออกและเดินมายืนเรียงกันบริเวณหน้าโพเดียมที่นายกฯ กำลังปราศรัยพร้อมทั้งชูสัญลักษณ์สามนิ้วโดยที่เสื้อยืดสีดำของทั้งห้าสกรีนข้อความที่เมื่อยืนต่อกันจะเป็นข้อความ "ไม่ เอา รัฐ ประ หาร"  แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นจะจบลงด้วยดีโดยสมาชิกกลุ่มดาวดินทั้งห้าไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆหลังถูกนำตัวไปปรับทัศนคติในค่ายทหารและนายกฯ จะยืนยันว่าไม่ได้โกรธนักกิจกรรมทั้งห้า แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเสมือนการประกาศจุดยืนของกลุ่มดาวดินว่าพวกเขาอยู่ตรงข้ามกับการรัฐประหารและกลุ่มผู้มีอำนาจที่มี 'ดาวบนบ่า' จนนำมาซึ่งการกระทบกระทั่งระหว่างกลุ่มดาวดินกับทหารในพื้นที่หลายครั้งตลอดสามปีหลังการรัฐประหาร 
 
759

ภาพการ์ตูนบนเพจไข่แมว ล้อเลียนกรณีเจ้าหน้าที่บุกค้นบ้านดาวดินโดยไม่มีหมายศาล 21 มิถุนายน 2560
 
นอกจากนี้มีข้อมูลว่าการชูสามนิ้วต่อหน้านายกฯ ทำให้กลุ่มดาวดินถูกจับตาโดยฝ่ายความมั่นคงมากขึ้นถึงขนาดมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปถ่ายรูปที่ 'บ้านดาวดิน' ซึ่งเป็นที่นักกิจกรรมดาวดินเช่าอยู่ร่วมกันจนสมาชิกกลุ่มตัดสินใจติดกล้องวงจรปิดที่บ้านเพื่อความปลอดภัย ต่อมาในช่วงเช้าวันที่ 21 มิถุนายน 2560 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนำโดยพ.ท.พิทักษ์พลยังนำกำลังไปที่บ้านพักของกลุ่มดาวดินเพื่อตรวจค้นโดยไม่มีมหายศาลโดยมีข้อน่าสังเกตว่าในวันเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการกล่าวปาฐกถา "การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ที่หอประชุมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างไรก็ตามพ.ต.อ.จำลอง สุวลักษณ์ ผู้กำกับการ สภ.เมืองขอนแก่นได้ออกมาปฏิเสธว่าการค้นบ้านดาวดินครั้งนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี   
 
จะเห็นได้ว่าแม้การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงหรือการเคลื่อนไหวโดยใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์จะซบเซาไปหลังการรัฐประหาร แต่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเฉพาะการคัดค้านรัฐประหารก็ไม่ได้เงียบเหงาไปเสียทีเดียวเพราะเพราะกลุ่ม "ดาวดิน" ได้ออกมาทำกิจกรรมในพื้นที่อย่างเข้มข้น
 

ดาวบนดินกับดาวบนบ่า: การเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหาร 57ของกลุ่ม 'ดาวดิน' 

จากปากคำของศุภณัฐหรือ 'เจ' อดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน การเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหารของกลุ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคมหรือวันถัดจากวันรัฐประหารแล้ว โดยมีทั้งการไปตะโกนต้านรัฐประหารในห้าง และการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557  สมาชิกดาวดินส่วนหนึ่งไปทำกิจกรรมอ่านเรื่องสั้นเกี่ยวกับเสรีภาพใกล้ๆรถถังที่จอดอยู่ที่ห้างเซ็นทรัลขอนแก่นในช่วงประมาณ 4 - 5 โมงเย็น บริเวณนั้นมีทหารพร้อมอาวุธประจำการอยู่สองนาย ศุภณัฐเล่าว่าตอนไปทำกิจกรรมแรกยังไม่มีการคุกคามจากทหารที่ประจำการอยู่ตรงนั้นแต่ช่วงใกล้ค่ำมีการวิทยุขอกำลังทหารเพิ่มเติมเพื่อมาบีบให้นักกิจกรรมยุติการทำกิจกรรม จตุภัทร์เป็นผู้เจรจากับทหารก่อนจะยุติกิจกรรมโดยไม่เกิดเหตุรุนแรงใดๆ

 
หลังจากนั้นประมาณวันที่ 24 หรือ 25 พฤษภาคม 2557  มีสมาชิกของกลุ่มไปพ่นข้อความต้านรัฐประหารด้วยสีสเปรย์ในมหาวิยาลัยขอนแก่นซึ่งกล้องวงจรปิดจับภาพไว้ได้ ทำให้ต่อมาพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี นายทหารที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมาคอมเมนท์ในเฟซบุ๊กของกลุ่มดาวดิน ว่าให้คนที่พ่นสีเปรย์ไปพูดคุยในค่าย ตอนแรกทางกลุ่มไม่ไปแต่พ.ท.พิทักษ์พลมาคอมเมนท์ซ้ำอีกครั้งสมาชิกกลุ่มหกถึงเจ็ดคนรวมทั้งตัวศุภณัฐจึงตัดสินใจเข้าไปคุยกับนายทหารคนดังกล่าวในค่ายและต้องเซ็น MOU ว่าจะยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ศุภณัฐเล่าด้วยว่าระหว่างการพูดคุยทางทหารระบุด้วยว่ากลุ่มดาวดินถูกจับตาโดยฝ่ายความมั่นคงมาพักใหญ่ๆแล้วแต่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆเพราะถือว่าเป็นเรื่องของทางตำรวจแต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว 

764

นักกิจกรรมดาวดินเจ็ดคนชุมนุมเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น 22 พฤษภาคม 2558 (ประชาไท)

แม้ว่าสมาชิกกลุ่มดาวดินบางส่วนจะถูก'ขอ'ให้เซ็นMOUยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่สมาชิกบางคนยังยืนยันทำกิจกรรมต่อไปเช่นในเหตุการณ์วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557ที่เล่าไปข้างต้น ต่อมาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 สมาชิกกลุ่มดาวดินเจ็ดคนร่วมกันถือป้ายเขียนข้อความ "คัดค้านรัฐประหาร" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น ทั้งเจ็ดถูกจับและตั้งข้อกล่าวหฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง  หลังถูกตั้งข้อกล่าวหา ทั้งเจ็ดได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนแต่ก็ปฏิเสธที่จะเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนในวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ในขณะนี้จตุภัทร์เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดินเพียงคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีในศาล 

763

จตุภัทร์หรือ "ไผ่ ดาวดิน" ถูกควบคุมตัวมาที่ศาลทหารขอนแก่นเพื่อฟังการสืบพยานคดีชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น 29 กันยายน 2560

ไผ่ต้านลม: การต่อสู้คดี 112 ของไผ่ดาวดินและคดีละเมิดอำนาจศาลของนักกิจกรรมที่มาให้กำลังใจ

ในบรรดานักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน จตุภัทร์หรือ 'ไผ่ ดาวดิน'เป็นนักกิจกรรมที่ถูกจับตามองจากฝ่ายความมั่นคงมากที่สุด นับตั้งแต่การรัฐประหารจตุภัทร์เข้าร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆทั้งในจังหวัดขอนแก่นและในพื้นที่อื่นๆของประเทศ หากนับเฉพาะคดีที่เกิดในขอนแก่น จตุภัทร์ถูกดำเนินคดีอย่างน้อยสามคดี ได้แก่คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองสองคดี ได้แก่คดีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบพยานในศาลทหารและคดีจากการจัดเสวนา พูดเพื่อเสรีรับธรรมนูญใหม่กับคนอีสานก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งศาลอัยการทหารพึ่งฟ้องจตุภัทร์ร่วมกับจำเลยอีกเจ็ดคนในวันที่ 17 ตุลาคม 2560
 
 
อีกหนึ่งคดีคือคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่สิบจากเว็บไซต์บีบีซีไทย ซึ่งคดีนี้ทำให้จตุภัทร์เป็นที่สนใจในระดับประเทศ พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรีนายทหารผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจตุภัทร์ต่อพนักงานสอบสวนสภ.ขอนแก่น จตุภัทร์ถูกจับตัวในวันที่ 3 ธันวาคม 2556 ระหว่างทำกิจกรรมธรรมยาตรากับพระไพศาล วิศาโล ศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตให้จตุภัทร์ประกันตัวในวันต่อมาด้วยวงเงิน 400,000 บาท แต่ในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งถอนประกันจตุภัทร์ตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอโดยให้เหตุผลว่าจตุภัทร์มีพฤติการณ์ "เยาะเย้ยอำนาจรัฐ" ด้วยการโพสต์ข้อความ "เศรษฐกิจมันแย่แม่งเอาแต่เงินประกัน"บนเฟซบุ๊กส่วนตัว
 
หลังถูกถอนประกันจตุภัทร์เคยยื่นขอประกันตัวอีกอย่างน้อยเก้าครั้งและเคยยื่นหลักทรัพย์สูงสุด 700,000 บาทแต่ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีที่พฤติการณ์ร้ายแรงกลัวจำเลยหลบหนีหรือทำความผิดซ้ำ ระหว่างที่จตุภัทร์ถูกคุมขังมักจะมีมวลชนจากกรุงเทพจัดกิจกรรมเดินทางไปเยี่ยมจตุภัทร์ที่จังหวัดขอนแก่น เช่น กิจกรรม “หอบรักมาห่มไผ่ รถไฟช้า...มาหานะเธอ” นั่งรถไฟไปเยี่ยมไผ่ดาวดินในวันที่ 12 มกราคม 2560  หรือ กิจกรรม “คาราวานหอบรักไปห่มไผ่ #2” ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 เป็นต้น  นอกจากนี้เวลาที่จตุภัทร์มีนัดมาศาลก็มักจะมีมวลชนจาก กรุงเทพขึ้นไปรอให้กำลังใจที่ศาลซึ่งฝ่ายความมั่นคงก็มักจะส่งเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาคอยจับตาสถานการณ์ภายในศาลจนทำให้บางครั้งบรรยากาศในศาลมีความตึงเครียดมากกว่าการพิจารณาคดี 112 คดีอื่นๆเท่าที่ไอลอว์เคยติดตาม
 
แม้จตุภัทร์จะไม่เคยได้รับการประกันตัวอีกเลยตั้งแต่ถูกถอนประกันวันที่ 22 ธันวาคม 2559 แต่เขาก็ยืนยันที่สู้คดีมาโดยตลอด ในเดือนสิงหาคม 2560 ศาลทหารเบิกตัวจตุภัทร์มาสืบพยานรวมสามครั้งบรรยากาศการพิจารณาคดีนี้เป็นไปอย่างตึงเครียด ศาลสั่งห้ามทนายของจตุภัทร์ให้ข้อมูลใดๆเกี่ยวกับการพิจารณาคดีต่อผู้สื่อข่าว ด้วยเหตุผลบางประการจตุภัทร์ตัดสินใจให้การรับสารภาพต่อศาลในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ก่อนที่ศาลจะพิพากษาจำคุกเขาเป็นเวลาสองปีหกเดือน
 
แทบทุกครั้งที่จตุภัทร์ถูกพาตัวมาที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมักจะมีมวลชนมาให้กำลังใจเสมอ ย้อนกลับไปในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งจตุภัทร์ถูกพาตัวมาสอบคำให้การที่ศาล เครือข่ายนักศึกษาสี่ภาคและกลุ่มดาวดินจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ อ่านแถลงการณ์ บทกวีและร้องเพลงให้กำลังใจจตุภัทร์ที่หน้าป้ายศาลจังหวัดขอนแก่นรวมทั้งมีการติดตั้งอุปกรณ์ประกอบกิจกรรมรูปตราชั่งเอียงที่บริเวณหน้าป้ายศาล การทำกิจกรรมครั้งนั้นเป็นเหตุให้นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินและกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมในจังหวัดขอนแก่นรวมหกคนและสิรวิชญ์หรือ 'นิว' นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ไปให้กำลังใจจตุภัทร์ในวันนั้นด้วยถูกไต่สวนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยขณะนี้การไต่สวนพยานเสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดนักกิจกรรมผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 พฤศจิกายน  2560
 
765
 
การทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศษลจังหวัดขอนแก่นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งทำให้นักกิจกรรมเจ็ดคนถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล
 
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีนี้คือ ระหว่างการไต่สวนอย่างน้อยสองนัด ได้แก่นัดไต่สวนคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาในวันที่ 24 เมษายน 2560 และนัดไต่สวนพยานนัดสุดท้ายในวันที่ 28 กันยายน 2560 มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาคอยสังเกตการณ์ด้วยโดยนัดไต่สวนคำให้การมีเจ้าหน้าที่หนึ่งนายเดินตามถ่ายภาพขณะที่นักกิจกรรมหกคนและเพื่อนๆกลุ่มดาวดินเดินจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาที่อาคารศาลและเมื่อมาถึงที่ศาลก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกอย่างน้อยสี่ถึงห้านายรออยู่หน้าห้องพิจารณาคดี ส่วนการไต่สวนนัดสุดท้ายในเดือนกันยายน มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหนึ่งนายเข้าฟังการไต่สวนตั้งแต่เช้าและในช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่คนนั้นได้แอบใช้โทรศัพท์บันทึกภาพคนที่อยู่ในห้องพิจารณา ทนายของนักกิจกรรมสังเกตเห็นจึงแจ้งต่อศาลซึ่งศาลได้สั่งให้ทำการตรวจสอบและแจ้งว่ามีการตั้งเรื่องไต่สวนการละเมิดอำนาจศาลกับเจ้าหน้าที่นายนั้น 
 

เพราะถูกกดให้ล้ม จึงได้ลุก: 3 ปีแห่งรัฐประหารที่ขอนแก่น

ในภาพรวมความเคลื่อนไหวทางการเมืองในจังหวัดขอนแก่นมีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังการรัฐประหารในปี 2557 คนเสื้อแดงซึ่งเคยเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวก่อนการรัฐประหารยุติการทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะหรือหากจะมีบ้างก็น่าจะเป็นกิจกรรมเล็กๆที่ไม่ถูกรายงานโดยสื่อ แม้คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งจะประกาศการดำรงอยู่ของพวกเขาผ่านการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าในบรรดาผู้ออกเสียงไม่รับร่างมีคนที่เรียกตัวเองว่า 'คนเสื้อแดง' กี่คน การยุติบทบาทของคนเสื้อแดง อย่างน้อยก็ในทางสาธารณะเปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาอย่าง 'กลุ่มดาวดิน' กลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทนำในการทำกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารและคัดค้านอำนาจคสช.ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นแทน 
การชูสามนิ้วของสมาชิกกลุ่มดาวดินห้าคนต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาน่าจะเป็นหมุดหมายสำคัญปรากฎการณ์ทางการเมืองในจังหวัดขอนแก่น แม้หลังกิจกรรมดังกล่าวจะไม่มีนักกิจกรรมคนใดถูกดำเนินคดีแต่คง
 
ปฏิเสธได้ยากว่าการกระทำที่ฝ่ายความมั่นคงน่าจะมองว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจเช่นนี้ ได้ทำให้ฝ่ายความมั่นคงจับตากลุ่มดาวดินและกิจกรรมของพวกเขาอย่างใกล้ชิดและด้วยท่าทีที่ดุดันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปถ่ายภาพที่บ้านเช่าของกลุ่มดาวดิน หรือการดำเนินคดีและเข้าแทรกแซงกิจกรรมต่างๆที่กลุ่มดาวดินร่วมจัดในพื้นที่เช่นกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน ไปจนถึงการที่จตุภัทร์หรือ 'ไผ่ ดาวดิน' ถูกพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี นายทหารที่เคยมาคอมเมนท์ในเฟซบุ๊กของกลุ่มดาวดินให้เข้ารายงานตัวในค่ายทหาร ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีมาตรา 112 จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่สิบจนต้องรับโทษจำคุกสองปีหกเดือน แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะยังไม่มีการชี้ขาดในชั้นศาลว่าเนื้อหาของบทความดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม
 
น่าสนใจว่าความพยายามของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการทำให้เกิดความเงียบในพื้นที่ผ่านการฟ้องคดีนักกิจกรรม คอยไปสอดส่องหรือถ่ายภาพบ้านพักจนอาจทำให้นักกิจกรรมรู้สึกกลัว ไปจนถึงการดำเนินคดีกับหนึ่งในนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินด้วยข้อหาร้ายแรงอย่างมาตรา 112 กลับไม่ได้ทำความเคลื่อนไหวในจังหวัดขอนแก่นเงียบไป ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้มีความเคลื่อนไหวในจังหวัดขอนแก่นมากขึ้น เห็นได้จากการที่มวลชนจากกรุงเทพเดินทางไปให้กำลังใจไผ่ดาวดินในยามที่ต้องมาศาล 
 
ในวันที่ 10 ตุลาคม 2560 นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า น่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2561 และน่าจะจัดการเลือกตั้งได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 จึงมีความน่าสนใจที่จะจับตาดูว่า หากมีการผ่อนปรนมาตราการปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองเช่นมีการยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมช่วงใกล้จะถึงวันเลือกตั้ง ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในจังหวัดขอนแก่นจะกลับมาคึกคักเหมือนก่อนการรัฐประหารหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ต้องจับตาด้วยว่าคดีความที่เกิดจากการแสดงออกโดยสันติในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นจะยืดเยื้อยาวนานไปถึงเมื่อใด   

 

Article type: