1869 1962 1875 1806 1755 1888 1003 1061 1264 1497 1809 1175 1141 1939 1978 1894 1299 1109 1592 1002 1967 1300 1296 1394 1340 1949 1681 1487 1278 1011 1685 1102 1761 1157 1126 1699 1050 1063 1359 1906 1349 1848 1979 1853 1760 1514 1770 1429 1828 1883 1747 1046 1580 1142 1568 1637 1904 1947 1820 1139 1664 1024 1269 1964 1039 1050 1427 1583 1208 1945 1775 1693 1066 1560 1438 1465 1353 1535 1943 1719 1343 1768 1868 1777 1075 1852 1303 1528 1183 1256 1788 1723 1211 1764 1755 1136 1253 1869 1254 #Attitude adjusted? พิชัย นริพทะพันธุ์ : ปรับทัศนคติสำหรับผมคือการสั่งให้หยุดพูด | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

#Attitude adjusted? พิชัย นริพทะพันธุ์ : ปรับทัศนคติสำหรับผมคือการสั่งให้หยุดพูด

 

พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช และคณะทำงานทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย กลายเป็นประชาชนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจอะไรในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ก็เป็นประชาชนที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นเศรษฐกิจและการเมือง เป็นคนที่สื่อมวลชนให้ความสำคัญ
 
พิชัยถูก คสช. เรียกถึง 10 ครั้ง และถูกเอาตัวเข้ากระบวนปรับทัศนคติ 8 ครั้ง เผชิญหน้ากับกระบวนการหลากหลายรูปแบบ ทั้งถูกเอาเข้าค่ายทหาร ทั้งถูกปิดตา ถูกพาไปตึกร้าง และมีเจ้าหน้าที่ทหารมาเยี่ยมถึงที่บ้าน ซึ่งคาดเดาได้ว่า เป็นผลจากการออกมาวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลทหารผ่านทางสื่อมวลชนและเฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีผู้ติดตามหลักแสนคน
 
 
 
914 Pichai
 
 
 
ครั้งแรก: ถูกเรียกหลังยึดอำนาจ นอนค้าง มทบ.11 3 วัน 2 คืน 
 
วันรุ่งขึ้นหลัง คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ พิชัยตื่นเช้ามาพร้อมกับที่รู้ว่า ตนเองจะต้องไปรายงานตัว โดยมีคนรู้จักบอกให้ทราบว่า เขามีรายชื่ออยู่ เมื่อทราบดังนั้นพิชัยจัดแจงสัมภาระส่วนตัวใส่กระเป๋ามุ่งหน้าสู่สโมสรทหารบก เทเวศร์ เพื่อเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 2/2557 เช่นเดียวกับนักการเมืองคนอื่นๆ จากค่ายเพื่อไทยที่ถูกเรียกไปรายงานตัวในค่ายทหารพร้อมกัน อาทิ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” “เฉลิม อยู่บำรุง” 
 
ในการปรับทัศนคติครั้งนี้พิชัยถูกควบคุมตัวอยู่ระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2557 รวมระยะเวลาที่อยู่ในค่ายทหาร 3 วัน 2 คืน
 
พิชัยเล่าว่า เมื่อมาถึงสโมสร พบกับนักการเมืองหลายคน ทุกคนถูกจัดให้รออยู่ในห้องใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ทหารมาชี้แจงถึงความจำเป็นในการเรียกตัวมา พร้อมทั้งแจ้งว่า จะต้องนำตัวทุกคนแยกย้ายไปควบคุมไว้ตามสถานที่ต่างๆ และขอยึดอุปกรณ์การสื่อสารของทุกคน แต่หากต้องการจะติดต่องานหรือคุยกับใครก็สามารถติดต่อผ่านโทรศัพท์ของทหารได้
 
หลังจากนั้นพิชัยเล่าว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารสองนาย ติดอาวุธทั้งคู่ มาควบคุมตัวเขาขึ้นรถไปยัง มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) เมื่อไปถึงก็มีพันเอกคนหนึ่งมารับ รู้จักกันว่า เป็นลูกเจ้าของร้านอาหารทะเล คนนี้จะเป็นคนคอยถามตลอดว่าอยากทานอะไร ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นพลตรี รู้จักกันเพราะเคยเรียนที่เดียวกัน ด้วยความที่เป็นคนรู้จักกันจึงเดินมาทักทายว่า "ไม่เป็นไรนะพี่แดง” 
 
พิชัยถูกนำตัวมาควบคุมไว้ที่ห้องที่จัดโชว์ถ้วยรางวัลของทหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่นำเตียงมาจัดวางไว้ เพื่อใช้เขานอนในค่ายทหาร โดยมีห้องน้ำอยู่ด้านหลัง มีเครื่องปรับอากาศ มีโทรทัศน์ แต่ในช่วงเวลานั้นโทรทัศน์ก็ไม่มีรายการอะไรให้ดู นอกจากประกาศ คสช. เพราะเป็นช่วงแรกของการรัฐประหาร เขายังกล่าวว่า เมื่อยู่ในค่ายได้ทานอาหารที่สั่งมาจากร้านของทหารนายนั้น เช่น กุ้ง ปู ปลา ตอนเช้าจะมีกาแฟกับปาท่องโก๋ไว้บริการ ตอนกลางวันก็มีให้เลือกได้ว่า ต้องการจะทานอะไร 
 
“เครียดนะ ชีวิตผมไม่เคยต้องมาถูกกักตัวแบบนี้ นี่เป็นครั้งแรกเลย เซ็งสุดขีดเลยลึกๆ เราก็รู้สึกกลัวนะ เพราะเราไม่รู้ว่าจะอยู่กี่วัน เราไม่รู้ว่ามันจะมีการจลาจลแล้วเขาจะยิงเราไหม พอดีเราดูหนังเยอะไง(หัวเราะ) คือฝรั่งเวลามีการปฏิวัติเขาต้องมีการกำจัดหัวขบวนก่อนไง ผมเลยต้องพยายามสวดมนต์ นั่งสมาธิ เพื่อให้ไม่เครียด” พิชัยเล่าย้อนหลังถึงประสบการณ์เมื่อสี่ปีก่อนด้วยอารมณ์ขัน 
 
พิชัยยังเล่าว่าเขาได้พบกับ “มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ” แกนนำและที่ปรึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และอดีตผู้พิพากษาศาลอาญา มานิตย์เล่าให้พิชัยฟังถึงความชุลมุนวุ่นวายของเจ้าหน้าที่ทหารที่ตกลงกันไม่ได้ว่าจะนำตัวมานิตย์ไปไว้ที่ไหน มานิตย์ถูกพาขึ้นรถไปอีกที่หนึ่ง แต่แล้วพอเวลาประมาณสามทุ่มถูกนำตัวกลับมาที่เดิม คือ มทบ.11 และได้นอนอยู่ห้องเดียวกันกับพิชัย
 
“แกก็เล่าให้ผมฟังว่าพอไปถึงอีกที่แล้วเล่าให้คนคุมฟังว่าแกเป็นศาล แล้วคนคุมก็ว่า เอ้า...เหรอ เจ้าหน้าที่ก็โทรคุยกับเจ้านายแล้วเขาเลยบอกกันว่างั้นพากลับมาตรงนี้ดีกว่า อย่าไปอยู่ตรงนั้นเลย อาจารย์มานิตย์แกก็ให้กำลังใจดีแล้วบอกว่า คุณเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เลยนะ คุณเอาเงินไปจ้างเขาสิบล้านเขาไม่จับนะถ้าคุณไม่สำคัญ แสดงว่าคุณต้องสำคัญมาก” พิชัยเล่า
 
ในคืนแรกพิชัยและมานิตย์ถูกควบคุมตัวอยู่ด้วยกันสองคนในห้องนั้น กระทั่งวันที่สามขณะที่เขากำลังสวดมนต์ทำสมาธิในช่วงเย็น เจ้าหน้าที่ทหารก็เข้ามาบอกว่าเดี๋ยวจะต้องแยกตัวไป และให้เก็บเสื้อผ้าเตรียมตัวกลับบ้านด้วย จากนั้นจึงมีเจ้าหน้าที่จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาพูดคุยด้วยแบบตัวต่อตัว ซึ่งสาระสำคัญของการพูดคุยเป็นการซักถามความเห็นทางการเมือง ในห้องทำงานของทหาร หลังจากพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เสร็จ มีการนำ MOU มาให้ลงชื่อ ระบุว่า ไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง 
 
พิชัยได้รับการปล่อยตัวในวันที่สาม ส่วนมานิตย์ยังถูกควบคุมตัวต่ออีกจนครบ 7 วัน โดยที่ไม่ทราบว่าพิชัยได้รับการปล่อยตัวแล้ว 
 
 
ครั้งที่สองหลังพลเอกประยุทธ์พูดผ่านโทรทัศน์ เรียกพิชัยปรับทัศนคติ
 
หลังการปรับทัศนคติครั้งแรก พิชัยไม่ได้หยุดแสดงความคิดเห็นตามที่ คสช. บอกเอาไว้ แต่ยังคงวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเมืองอยู่ กระทั่งวันที่ 30 มกราคม 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดผ่านโทรทัศน์ว่า จะเรียกพิชัยไปปรับทัศนคติ โดยพิชัยไม่ทราบด้วยตัวเองว่า พลเอกประยุทธ์พูดออกทีวี แต่ได้รับการติดต่อจากนักข่าวที่รู้จักกัน ซึ่งตอนแรกพิชัยยังตอบกลับนักข่าวไปว่า "ไม่เห็นมีเลยนะ" 
 
ช่วงสายของวันเดียวกันพิชัยจึงได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทหาร ที่โทรศัพท์มาแนะนำตัวและบอกว่า "เดี๋ยวจะมารับตัวไปประมาณสิบโมงเช้า” เมื่อถึงเวลานัด เจ้าหน้าที่ทหารสองคนในเครื่องแบบ มารับพิชัยถึงบ้าน พาขึ้นรถตู้ของราชการไปยังกองทัพภาคที่ 1 เขาถูกนำตัวไปพบกับพล.ท.อัศวิน แจ่มสุวรรณ (ยศในขณะนั้น) 
 
พิชัยบอกว่า ลักษณะการพูดในครั้งนี้เป็นไปด้วยดี เป็นการซักถามเรื่องเศรษฐกิจ เมื่อคุยเสร็จก็ปล่อยตัวกลับบ้านในวันเดียวกัน
 
พิชัยยกตัวอย่างส่วนหนึ่งของบทสนทนาว่า “ผมก็อธิบายไปว่าเศรษฐกิจมันจะแย่นะ ผมเตือนไว้ก่อนแล้วแต่จะเชื่อไม่เชื่อ แกก็บอกไม่จริงหรอก แกก็พูดว่าพนันกับผมคนละพันได้ว่ามันไม่แย่หรอก ผมก็บอกผมอยากเสียเงินนะ พนันเลยว่าแย่ เขาก็บอกว่า ถ้าพี่อยากพูดอะไรมาบอกผม ไม่ต้องไปบอกสื่อ” 
 
พิชัย เล่าว่า หลังกลับมาจากกองทัพภาคที่ 1 แล้วในเช้าวันรุ่งขึ้น เขาได้รับกระเช้าขนมจากทหารมาส่งถึงบ้านด้วย 
 
 
ครั้งที่สามชวนไปกินกาแฟ แต่ไปจบที่ "ตึกร้าง"
 
ต่อมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 พิชัยได้รับโทรศัพท์จากอัศวิน แจ่มสุวรรณ อีกครั้ง โดยทำทีนัดแนะว่า อยากจะชวนไปดื่มกาแฟด้วยกันที่ร้านกาแฟ เพื่อพูดคุยปรึกษาหารือ ขอความรู้ 
 
"ผมก็เลยบอกว่าเอาเลยพี่ ถ้าอยากกินกาแฟไม่มีปัญหาหรอก ผมก็นัดว่าไป "แคมพินสกี้" ไหม เขาก็งงสุกี้ๆ ไหน เขาบอกไม่รู้จัก ก็เลยบอกว่าไปโรงแรมปริ้นเซสหลานหลวงละกัน ก็มีการบอกกล่าวล่วงหน้า 2-3 วัน” พิชัยเล่า
 
เมื่อถึงวันนัด อัศวินโทรศัพท์มาหาอีกครั้งพร้อมกับขอเปลี่ยนสถานที่นัดเป็นร้านกาแฟในสโมสรกองทัพบก พิชัยจึงขอพาเพื่อนไปด้วยหนึ่งคน พอไปถึงก็มีรถทหารรอรับแล้วขับอ้อมไปมา แล้วไปโผล่ยังที่อีกแห่งหนึ่ง ลักษณะเป็น “ตึกร้าง” พิชัยบรรยายว่า เป็นตึกสภาพเก่าๆ คล้ายตึกของทหารร้างๆ มีเศษขยะกองเต็มไปหมด และไม่มีคนอยู่ 
 
เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ทหารก็พาเดินขึ้นไปชั้นสองห้องด้านในสุด เข้าไปในห้องแอร์เล็กๆ ซึ่งมีทหารชื่ออัศวินคนเดิมรออยู่
 
“แล้วเขาก็บอกว่าเพื่อนผมอยู่ด้วยไม่ได้ สักพักนึงอัศวินก็เดินเข้ามา เอาทหารมาอีก 2-3 คนมานั่งจด ถามว่า ผมคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ ถามผมว่า คุณคิดว่าใครเหมาะจะมาเป็นคนรัน(ขับเคลื่อน)เศรษฐกิจ เขาก็บอกว่าคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เหมาะไหม ผมก็บอก โหพี่...ธารินทร์ พี่เอายุคไหนเนี่ย ผมก็แนะนำไป สุดท้ายก็มาบอกว่าอย่าวิพากษ์วิจารณ์เลยนะ คุยกันชั่วโมงกว่า ตกลงก็ไม่ได้กินกาแฟ” พิชัยเล่า
 
พิชัยยังกล่าวเสริมว่า การนำตัวมาที่ตึกร้างเป็นการทำให้กลัว แต่โชคดีที่มีเพื่อนมาด้วย ซึ่งเขาคิดว่าเป็นปฏิบัติการจิตวิทยาของทหารแน่นอน 
 
 
ครั้งที่สี่ทหารมาถึงบ้าน ขอร้องให้หยุดพูดเรื่องเศรษฐกิจ
 
มาถึงการปรับทัศนคติในครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 พิชัยเล่าว่า มีการเปลี่ยนผู้ดูแลเป็นพันเอกคนใหม่ชื่อ พีรยุทธ์ เศวตเศรณี โทรศัพท์มาทำทีถามว่าว่างไหม? จะมาขอพบที่บ้าน จากนั้นจึงมาพบพิชัยที่บ้านพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหารอีก 3-4 คน 
 
พิชัยกล่าวถึงลักษณะของการพูดคุยในครั้งนี้ว่า เป็นการพูดคุยขอร้องให้เขาหยุดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเศรษฐกิจ ใช้เวลาคุยกันประมาณเพียงชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น โดยพีรยุทธ์กล่าวว่า ผู้ใหญ่ขอให้มา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมา และมีท่าทีในเชิงเข้าใจว่าเศรษฐกิจกำลังแย่ ไม่ได้มีการข่มขู่ใดๆ เมื่อคุยเสร็จก็พากันกลับไป 
 
"เขาไม่ได้คิดแบบนั้น เขามีแต่บอกว่า ขอให้เงียบๆ อย่างเดียว" พิชัยตอบ เมื่อถามว่า ทหารพยายามจะบอกให้เราคิดหรือเชื่อตามทหารบ้างหรือไม่
 
 
ครั้งที่ห้าจัดห้องสอบสวนให้พูดเรื่องเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความปรองดอง
 
เสร็จสิ้นจากการพูดคุยที่บ้านเพียงไม่กี่วันถัดมา 19 มิถุนายน 2558 พิชัยได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทหารอีกครั้ง เป็นการถูกเรียกครั้งที่ห้า โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่อ้างว่า อยากพูดเรื่องความปรองดอง ขอเชิญตัวพิชัยมาพูดคุยด้วยในค่ายทหาร พิชัยจึงพยายามต่อรองด้วยการตอบทหารว่า “พี่เขาเพิ่งมาคุยกันเอง จะคุยอะไรอีก ผมก็ถามว่าคุยโทรศัพท์ได้ไหม เขาก็บอกไม่ได้ต้องมาที่ค่ายทหาร” 
 
เมื่อถึงวันนัด พิชัยเดินทางไปที่สโมสร วิภาวดี เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ทหารพาตัวเขาไปยังห้องประชุมแห่งหนึ่ง โดยพิชัยบรรยายลักษณะว่าเป็นเหมือนการสอบสวน มีโต๊ะใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงกว่าสิบคนนั่งอยู่เต็มห้อง มีกล้องบันทึกภาพวิดีโอ ส่วนเนื้อหาของการพูดคุยเป็นการถามเรื่องเศรษฐกิจเช่นเคย ใช้เวลาไปรวมแล้วกว่าหนึ่งชั่วโมง
 
“เขาก็เริ่มคุยว่าผมเห็นยังไง ผมก็เล่าให้เขาฟังว่าเศรษฐกิจมันเป็นยังไง มันแย่ยังไง แล้วก็อธิบายว่าต้องทำยังไง แล้วเขาก็บอกว่า เอ้าแล้วพี่ให้สัมภาษณ์ว่า อย่ากดให้ประชาชนนิ่งประชาชนจะลำบาก พี่แปลว่าอะไร แล้วเขาก็บอกว่าโห... พี่พูดดีมากเลย พี่ทำรายงานให้ผมได้ไหม ผมจะเอาไปส่งนายกฯ ผมก็บอก โหพี่ไม่ลงทุนเลย พี่ก็ไปทำกันเองสิ (หัวเราะ)” พิชัยเล่า
 
เนื่องจากในวันนั้นนักข่าวทราบว่ามีการเรียกตัวพิชัยมาเข้าค่ายทหารอีกครั้ง จึงมารอทำข่าวที่สโมสร เจ้าหน้าที่ทหารจึงบอกด้วยว่า พอลงมาแล้วให้สัมภาษณ์แต่พอสมควร อย่าพูดอะไรเยอะ แล้วหลังจากนั้นพิชัยก็ถูกทหารเชิญไปออกรายการ "เดินหน้าประเทศไทย" ด้วย
 
 
ครั้งที่หกช่วงปรับ ครม. ปลด "หม่อมอุ๋ย" ยังขอร้องให้หยุดพูดเรื่องเศรษฐกิจ
 
11 สิงหาคม 2558 พิชัยถูกเรียกตัวอีกเป็นครั้งที่หก โดยอัศวิน แจ่มสุวรรณ เป็นคนทำหน้าที่ติดต่อพิชัยให้ไปพบที่กองทัพภาคที่ 1 อีกครั้ง เพื่อพูดคุยด้วย ซึ่งลักษณะของการพูดคุยเป็นการถามถึงเรื่องเศรษฐกิจอีกเช่นเคย เนื่องจากบริบทในช่วงนั้นกำลังจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ และการพูดคุยในครั้งนี้ก็จะเหมือนเดิมทุกครั้ง คือ การขอร้องให้พิชัยหยุดวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ เมื่อพูดคุยเสร็จก็ให้กลับบ้านได้ 
 
พิชัยยังเล่าอีกด้วยว่า ในช่วงนั้นเขาขออนุญาต คสช. เดินทางไป "ดูไบ" ด้วย ซึ่งก็ได้รับการอนุญาตจากทหาร “ช่วงนั้นผมขออนุญาตเดินทางด้วยไปดูไบ เขาก็บอกว่าคุณขออนุญาตไปดูไบก็ต้องไปดูไบนะ ห้ามไปที่อื่น ผมก็บอกว่า ผมขอไปดูไบ ผมก็ไปดูไบสิ ผมจะไปที่อื่นทำไม(หัวเราะ) เขาก็อนุญาตให้ไปนะ แปลกดี” 
 
หลังจากการเรียกครั้งนั้น ก็มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี ความน่าสนใจ คือ การเปลี่ยนตัวรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นทีมของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ด้านพิชัย ก็วิเคราะห์การเปลี่ยนตัวครั้งนี้ให้กับสื่อมวลชนฟังว่า การเปลี่ยนตัวก็อาจไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้นเสมอไป
 
 
ครั้งที่เจ็ดเมื่อขอร้องแล้วยังไม่หยุดพูด จับปิดตาพาไปขังนาน 7 วันเต็ม
 
ถัดมาเพียงไม่นาน พิชัยถูกเรียกไปปรับทัศนคติอีกครั้ง ทว่าครั้งนี้พิชัยกล่าวว่า เป็นการเรียกไปที่น่ากลัวที่สุด เพราะเขาถูกนำตัวไปควบคุมไว้ในค่ายทหารถึง 7 วันเต็ม ตั้งแต่ 9-15 กันยายน 2558 
 
“ครั้งที่เจ็ดนี่แสบสุด พีรยุทธ์คนเก่า โทรหาผมตอนเช้า แล้วบอกว่าให้ผมไปที่กองทัพภาคที่ 1 ผมก็ถามว่าทำไม เขาก็บอกผู้ใหญ่สั่งให้มา ผมก็เรียกสื่อมา 4-5 คน ตอนแรกเขาจะให้ไปรถเขา พอเห็นสื่อมาเขาก็เลยไม่กล้าให้ไปรถเขา เลยบอกเอารถขับตามไปพี่” พิชัยเล่า
 
พิชัยเล่าว่า เมื่อไปถึงกองทัพภาคที่ 1 มีแพทย์ทหารในเครื่องแบบทหารประมาณ 4-5 คน มาตรวจร่างกายและวัดความดัน พอตรวจเสร็จก็มีเจ้าหน้าที่ทหารอีกทีมมาพูดคุยด้วย โดยพิชัยนิยามว่า “เป็นทีมหน้าโหด” แล้วทีมนี้ก็บอกว่า คุณเริ่มพูดไม่รู้เรื่องแล้ว บอกไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ เซ็นต์ MOU ก็แล้วยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็พาตัวขึ้นรถตู้ไป ระหว่างอยู่บนรถตู้มีนายทหารคนหนึ่งบอกว่า "ขอโทษนะครับ" แล้วก็ถูกคลุมหัวด้วยผ้าดำ คล้ายเป็นหมวกไหมพรหมปิดตรงตา แล้วก็มีผ้าปิดตาอีกชั้นหนึ่ง 
 
พิชัยบรรยายว่า การควบคุมตัวไปยังค่ายทหาร มีทหารเป็นคนขับรถ และนั่งอยู่ข้างหน้า รวมทั้งหมดประมาณ 4-5 คน ติดอาวุธ 2 คน พิชัยเล่าว่าระหว่างทางอยากเข้าห้องน้ำ เจ้าหน้าที่ทหารก็พาไปห้องน้ำที่หนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นที่ไหน เพราะถูกปิดตาตลอด จนไปถึงหน้าห้องน้ำทหารจึงเปิดตาออกให้เขาทำธุระส่วนตัว พิชัยกล่าวว่า ลักษณะห้องน้ำคล้ายห้องน้ำบ้านในกองทัพ พอทำธุระเสร็จก็ปิดตาแล้วเดินทางต่อ 
 
การเดินทางทั้งหมดใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงจึงไปถึง “บ้านแห่งหนึ่ง” ซึ่งพิชัยบรรยายลักษณะว่าเป็นบ้านพักทหารเก่าๆ สองชั้น เขาถูกนำตัวขึ้นไปอยู่บนชั้นสอง ซึ่งมีห้องรับแขก มีโซฟา และโทรทัศน์ และมีห้องนอนแยกไปอีกสองห้อง มีเครื่องปรับอากาศ แต่หน้าต่างทุกบานถูกปิดไว้ และมีการนำผ้ามาปิดอีกชั้นไม่ให้เปิดออกไปดูข้างนอกได้ เมื่อเข้าไปถึงในห้องก็พบว่า ของใช้ส่วนตัวได้ถูกจัดเตรียมเอาไว้เพื่อรอเขาอยู่แล้ว มีทั้งเสื้อยืดขาว กางเกงบ็อกเซอร์ ผ้าเช็ดตัว เขาถูกควบคุมตัวไว้ในบ้านหลังนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปไหน ขณะที่ทหารโทรศัพท์ไปแจ้งที่บ้านของพิชัยว่า สามารถนำข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวมาฝากให้ได้
 
“ครั้งนี้ติดต่อใครก็ไม่ได้ อาหารก็ไม่อร่อย มันเป็นปิ่นโตมาให้ แรกๆ ที่บ้านยังไม่ส่งมาให้ ก็ขอนู่นขอนี่ เขาก็ไม่ค่อยจะให้ มีแค่จ่ามานั่งคุยเล่น เราอยู่ในบ้านคนเดียว จ่าก็ขึ้นมานั่งคุยเล่นด้วย ตอนที่มาวันแรกความดันขึ้นไป 150 เขาก็ให้หมอที่เป็นทหารมาตรวจสุขภาพ... นอนคืนแรกแอร์ก็เสีย ก็ต้องไปนอนอีกห้องหนึ่ง อีกห้องนึงเตียงก็ไม่มีอีก ผมก็เลยเปิดแอร์อีกห้องนึงให้มันไหลมาอีกห้องหนึ่งแล้วเอาพัดลมเป่าๆ เอา” พิชัยบรรยายถึงการใช้ชีวิตในบ้านพักแห่งนั้น
 
กระทั่งเช้าวันหนึ่งมีนายทหารยศพันโทคนหนึ่งมาพูดคุยด้วย พิชัยบอกว่าชื่อ ศตวรรษ ซึ่งพิชัยบอกว่า หลังได้รับการปล่อยตัวแล้วค้นหาดูก็ทราบว่า ทหารคนนี้ประจำอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี
 
“เขาก็บอกว่าได้ยินชื่อเสียงท่านมานาน ดีนะที่ได้เจอตัวจริง…ผมก็เลยแกล้งบอกว่า ท่านก็ยังอายุน้อยนะ เราคงต้องเจอกันอีกเยอะนะ แล้วก็ถ้าท่านดูประวัติศาสตร์โลก พวกถูกจับนี่ใหญ่ทุกคนนะ(หัวเราะ) อันนี้พูดเพราะว่าเขาจะได้ดูแลเราดีๆ... เขาก็ไม่ได้บอกว่าเราพูดผิดหรือว่าอะไร เพียงแต่ว่า เป็นการขอร้องให้หยุดพูดก่อน ตามที่ผมเข้าใจ คือ อย่างแรกเขามาขอความรู้ แล้วอีกอย่างหนึ่ง คือ เขาไม่อยากให้ผมพูด เพราะเวลาผมพูดคนฟังเยอะ แล้วมันไปกระทบกับเขา แต่ไม่ได้แปลว่าผมพูดผิด” พิชัยกล่าว
 
พิชัยกล่าวว่า การกักตัวครั้งนี้ไม่มีอะไรมากนอกจากการควบคุมตัวให้อยู่ในบ้าน ส่วนตัวพิชัยเองสวดมนต์ทำสมาธิเช่นเดิม เนื่องจากในการควบคุมตัวไม่ได้มีกิจกรรมอะไรให้ทำ เมื่อครบกำหนด 7 วัน เจ้าหน้าที่ทหารจึงนำตัวเขากลับมาที่กองทัพภาคที่ 1 พิชัยกล่าวว่า ก่อนจะออกจากค่ายมีการขู่ว่าจะดำเนินคดีเขาด้วย
 
“ก็รออัศวินกลับมาอีก แกก็มาพร้อมกับ พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ (นายทหารพระธรรมนูญ) บอกว่า เราจะดำเนินคดีคุณหกคดี ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีละสามปี ติดคุกสิบแปดปี แต่นี่เราคนไทยด้วยกัน นายกฯบอกเราก็จะปล่อยๆ ไป เขาก็บอกขอให้เงียบๆ ก่อนละกัน เสร็จแล้วเขาก็มาส่งที่บ้าน”
 
หลังออกมาจากค่ายทหารครั้งนี้พิชัยเล่าว่า เขาได้ขอ คสช. เดินทางไปต่างประเทศ แต่ได้รับการปฏิเสธ มาได้รับอนุญาตอีกครั้งก็ประมาณ 9 เดือนหลังจากนั้น 
 
 
ครั้งที่แปดหลังจากหายไปเกือบปี ไก่อูบอกถ้าพิชัยพูดว่าเศรษฐกิจดี มันก็จะดี
 
หลังจากที่ทหารห่างหายการติดต่อไปนานเกือบปี วันหนึ่งในปี 2560 มีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาขอเชิญไปกองทัพภาคที่ 1 อีกครั้ง พิชัยจึงเรียกสื่อมวลชนมารอที่บ้าน เพราะเจ้าหน้าที่ทหารบอกว่าจะมารับที่บ้านไปค่ายทหาร สักพักก็โทรกลับมาบอกว่า ไม่มาแล้ว พิชัยกล่าวว่า ในวันนั้นมีระเบิดที่โรงพยาบาลของทหารแห่งหนึ่ง อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ทหารยกเลิกไป กระทั่งถูกเรียกใหม่อีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 มีเจ้าหน้าที่ทหารติดต่อมาอีกครั้ง พอถึงวันนัดเจ้าหน้าที่ทหารก็มารับตัวที่บ้าน พิชัยได้ชวนสื่อมาที่บ้านเหมือนเดิม รูปถ่ายที่ทหารมาเชิญตัวเขาถึงบ้านขึ้นรถทหารไปปรับทัศนคติจึงถูกเผยแพร่ในสื่อมวลชนหลายสำนัก
 
เมื่อไปถึงกองทัพภาคที่ 1 พิชัยนั่งรอที่ร้านกาแฟสักพัก เจ้าหน้าที่ทหารจึงนำตัวเขาขึ้นไปยังห้องประชุม ครั้งนี้พิชัยเล่าว่า มีพลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ "ไก่อู" โฆษกกองทัพบก และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล มาพูดคุยด้วย ซึ่งกอบศักดิ์เป็นคนที่รู้จักกันมาก่อน จึงพูดคุยกันอย่างดีและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องเศรษฐกิจ 
 
“เขาก็บอกมันมีปัญหาเยอะ กอบศักดิ์เขาก็รู้ว่านักลงทุนก็หาย พูดไปพูดมากอบศักดิ์ก็เห็นด้วยตามผมว่า เยอรมันจะมาลงทุนแต่รัฐบาลไม่ให้ลงทุน ไก่อูก็รีบบอกเลย คุณกอบศักดิ์เขาเป็นนักวิชาการ คุณพิชัยเป็นนักการเมือง เขาเถียงสู้คุณไม่ได้หรอก คุณพิชัยนี่พูดเก่งกว่าเยอะ ผมก็บอกว่าท่านไก่อู เราคุยกันเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ได้คุยกันเรื่องการเมืองนะ ผมก็เอาเหตุเอาผลมาคุยนะ ก็นั่งคุยกันยาว อย่างเรื่องอาลีบาบาก็คุยกัน ให้ระวังเรื่องปัญหาการผูกขาด ผมก็เสนอไอเดียว่าหลังเลือกตั้ง จะต้องทำอะไรบ้าง... ไก่อูก็บอกว่า เนี่ยถ้าคุณพิชัยพูดว่าเศรษฐกิจดี เศรษฐกิจมันจะดีเลย ผมบอกถ้าผมพูดได้ขนาดนั้น ผมพูดทุกวันเลย” พิชัยเล่า
 
หลังใช้เวลาการพูดคุยกว่าสองชั่งโมง เสร็จแล้ว พิชัยบอกว่า มีแม่ทัพภาคที่ 1 มาขอคุยด้วยอีก เป็นการพูดคุยว่าขอร้องให้อย่าวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อพูดคุยเสร็จพิชัยก็เรียกคนมารับกลับบ้าน
 
 
ยังไม่หยุดก็ถูกเรียกอีกสองครั้ง พร้อมตั้งข้อหาดำเนินคดี
 
นอกจากถูกปรับทัศนคติถึง 8 ครั้ง พิชัยยังถูกเรียกไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกสองครั้ง 
 
ครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2560 พิชัยถูกเรียกไปรายงานตัวที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) โดยสาเหตุที่ถูกเรียกมาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเรื่อง "ทฤษฎีกบต้ม" ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยเปรียบเทียบว่า เศรษฐกิจไม่ดียังไม่ค่อยรู้สึกแต่เมื่อถึงวันที่รู้สึกจะทำอะไรไม่ทันแล้ว พิชัยบอกว่า ตอนแรกเจ้าหน้าที่จะเอาผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 แต่หลังจากการพูดคุยสอบสวนนานกว่าสองชั่วโมง สุดท้ายเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14, (1) (2) (5) 
 
“บุรินทร์แจ้งความว่า ผมเอาข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์... ก่อนหน้านี้มีคนมาเตือนผมก่อนละว่า ปอท. จะเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา ผมก็งงว่าทำไมมาเรียก ตอนนั้นจะมีตัดสินคดีของคุณยิ่งลักษณ์ ผมก็เข้าใจว่าตอนนั้นเขาคงอยากให้ทุกคนเงียบ เพื่อที่จะไม่ให้คนพูดเยอะ ในความคิดของผมนะ ตอนนั้นก็เรียกคุณวัฒนาด้วย” พิชัยเล่า
 
ต่อมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พิชัยได้รับหมายจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเขาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เพราะไม่ทำตาม MOU ที่ลงชื่อไปตั้งแต่ครั้งแรกที่ถูกเรียกรายงานตัว ซึ่ง MOU สั่งไว้ว่า ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
“พอครั้งที่สิบก็มีจดหมายเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีจดหมายมาว่าผมไม่ทำตาม MOU ข้อตกลง ฝ่าฝืนคำสั่งที่ 3/2558 ผมก็ให้ทนายไปประสานกับตำรวจ ตำรวจก็บอกว่า เขาก็ไม่ได้อยากทำเรื่องนี้ แต่มันเป็นคดีที่ค้างอยู่นานแล้วตั้งแต่ ปี 2558 เขาก็พูดในเชิงนั้น เขาก็บอกว่า ไม่ต้องมา ถึงเวลาจะเรียกเอง นี่ก็ทำหนังสือเลื่อนมาจนถึงตอนนี้” พิชัยเล่า
 
 
ปรับทัศนคติ คือ การสั่งให้หยุดพูด 
 
เมื่อถามว่า การถูกเรียกปรับทัศนคติครั้งแล้วครั้งเล่า ส่งผลให้พิชัยตัดสินใจแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะน้อยลงหรือไม่ พิชัยตอบว่า ก็ยังแสดงความคิดเห็นเท่าเดิม เพราะบางเรื่องที่เห็นแล้วถ้าเราไม่แสดงความคิดเห็นหรือเตือนกันก่อน แล้ววันหนึ่งมันเกิดเรื่องแย่ขึ้นมาจริง ก็จะรู้สึกเสียใจ เหมือนตัวอย่างประเทศพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง แต่ยุคสมัยที่เป็นรัฐบาลเผด็จการทหารไม่มีใครกล้าพูดอะไรเลย จึงมีแต่แย่ลงๆ จึงเห็นว่า อย่างน้อยต้องเตือนสติกันบ้างถ้าทิศทางที่กำลังเดินไปนั้นไม่ถูกต้อง
 
"บางครั้งเมื่อเขาเตือนเยอะๆ เราก็หยุดบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังพยายาม อยากให้คนตื่นตัวว่า ทิศทางของประเทศมันใช่หรือเปล่า ผมก็ไม่ได้เตือนแบบไปด่าเขาซี้ซั้ว ทุกอย่างมีเหตุมีผลหมด" 
 
"ก็น่าแปลกใจที่ในภาวะที่มันแย่ขนาดนี้ สังเกตว่า ไม่มีนักวิชาการคนไหนออกมาพูดเลย เขาอาจจะกลัวกันหมด มีผมพูดเรื่องเศรษฐกิจอยู่คนเดียว ทั้งที่ยังมีมหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่อีกมาก แต่บางคนกลับมาอวยทหาร สวนกับความเป็นจริง ส่วนตัวรู้สึกว่า มันน่าเสียใจนะ แทนที่จะออกมายืนหยัดเพื่อความถูกต้องบ้าง"
 
"เราก็ไม่ค่อยคิด ไม่ค่อยกลัว เกิดมาชาติหนึ่งก็คิดจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง เราคิดว่า เราไม่ได้ทำอะไรผิด เราเสนอในสิ่งที่ดีกับประเทศ ถ้าคุณคิดว่ามันไม่ดีก็เป็นสิทธิของคุณ แต่เราคิดว่า นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าไม่เห็นด้วยคุณก็มาเถียงผม"  
 
จากประสบการณ์ถูกเรียกและนำตัวไปปรับทัศนคตินับสิบครั้ง พิชัยกล่าวว่า "การปรับทัศนคติ" ในนิยามของเขาไม่ใช่การเปลี่ยนทัศนคติหรือความคิดแต่อย่างใด แต่เป็นการสั่งให้หยุดพูดเท่านั้น
 
 
 
Article type: