1746 1068 1664 1824 1252 1871 1717 1153 1122 1992 1260 1888 1028 1339 1108 1799 1564 1590 1279 1578 1372 1633 1465 1571 1022 1500 1213 1165 1041 1855 1424 1005 1520 1215 1008 1331 1241 1469 1750 1294 1601 1056 1181 1055 1727 1373 1564 1137 1975 1884 1146 1363 1179 1093 1872 1702 1181 1287 1980 1585 1252 1857 1337 1900 1347 1294 2000 1880 1489 1107 1361 1835 1567 1905 1463 1253 1448 1531 1103 1097 1215 1944 1048 1393 1797 1900 1308 1700 1855 1422 1093 1033 1785 1327 1996 1339 1816 1425 1105 "14 นักศึกษา" ถูกหมายเรียก ม.116 ซ้ำ อาจเพียงเพราะ คสช. ต้องการเอาผิดธนาธร | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

"14 นักศึกษา" ถูกหมายเรียก ม.116 ซ้ำ อาจเพียงเพราะ คสช. ต้องการเอาผิดธนาธร

 
 
ช่วงวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2562 อดีตนักศึกษาและนักกิจกรรม กลุ่ม “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" 14 คน ถูกตำรวจสน.ปทุมวันออกหมายเรียกในข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" ตามมาตรา 116 อีกระลอก ในหมายเรียกบอกว่า เป็นคดีความผิดของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจกับพวก" หลังจากที่ ธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกหมายเรียกไปก่อนหน้านี้ และเข้ารายงานตัวที่ สน.ปทุมวันไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 
 
 
ย้อนหลังเหตุการณ์ชุมนุมของ "14 นักศึกษา" และธนาธร
 
คดีความที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมต่อต้าน คสช. ของ 14 นักศึกษาและธนาธร ที่เกิดขึ้นในปี 2558 ถูกแยกออกเป็นสามคดีหลัก ดังนี้
 
1) คดีการชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มีผู้ต้องหา 9 คน แต่ 7 คนไม่เข้าร่วมกระบวนการ คดีของ 2 คน จึงถูกแยกออกมาและส่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพไปก่อน เป็นคดีย่อยอีกคดีหนึ่ง แต่ต่อมาเมื่อคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปถูกยกเลิก คดีนี้จึงถูกยกเลิกไปแล้ว
 
2) คดีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มีผู้ต้องหา 7 คน ซึ่งประกาศไม่เข้าร่วมกระบวนการ แต่บางคนถูกจับกุมก่อนจึงถูกส่งฟ้องดำเนินคดีต่อศาลทหารขอนแก่นไปก่อน เช่น "ไผ่ ดาวดิน" และ "ไนซ์ ดาวดิน" แต่ต่อมาเมื่อคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปถูกยกเลิก คดีนี้จึงถูกยกเลิกไปแล้ว
 
3) คดีการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 มีผู้ต้องหา 17 คน (ไม่รวมธนาธร) แต่คดียังค้างอยู่กับพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ไม่ได้ถูกเร่งรัดให้รีบดำเนินคดีแม้ผู้ต้องหาบางคน เช่น "ไผ่ ดาวดิน" หรือรังสิมันต์ โรม จะถูกจับกุมจากกรณีอื่นๆ แล้วแต่ก็ไม่ถูกดำเนินคดีนี้ และเนื่องจากคดีนี้มีข้อหามาตรา 116 ด้วย ไม่เพียงแต่ข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เท่านั้น ทำให้คดีนี้เป็นคดีเดียวที่ยังเหลือค้างอยู่
 
 
ธนาธร ที่ คสช. มองเห็นในฐานะตัวการร่วม
 
กรณีของธนาธร หากจะถูกกล่าวหาและดำเนินคดีในฐานะเป็น "ตัวการร่วม" หรือผู้ร่วมก่อการกับกลุ่มนักกิจกรรมที่ชุมนุมต่อต้าน คสช. ก็เหลือคดีที่ยังไม่จบที่สามารถโยงเข้าไปได้อยู่คดีเดียว คือ คดีจากการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 และเป็นคดีเดียวที่มีข้อหา มาตรา 116 อยู่ก่อนแล้วด้วย ส่วนคดีอื่นๆ นั้นยุติไปหมดก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งจากบันทึกของตำรวจ ก็ระบุข้อกล่าวหาของธนาธรเพียงว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 ธนาธร ได้อยู่บริเวณ สน.ปทุมวัน และมีรถตู้ที่พานักศึกษาที่ไม่ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนออกไปจากบริเวณ สน.ปทุมวัน เป็นรถของบริษัทที่มีสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของธนาธร เป็นกรรมการ คสช. จึงแจ้งข้อหา ธนาธร ร่วมกันกระทำตามมาตรา 116 และ มาตรา 189 ในการช่วยเหลือให้ผู้กระทำผิดไม่ให้ถูกจับกุม 
 
ในหมายเรียกระบุว่า ธนาธร ได้ “ร่วมกัน” กับผู้ต้องหาทั้งหมด กระทำผิดตามมาตรา 116 การใช้คำว่า "ร่วมกัน" ในทางกฎหมายคือการกล่าวหาว่า เป็น “ตัวการร่วม” คือ ผู้ที่มีเจตนาร่วมกันกระทำในความผิดเดียวกัน แม้จะไม่ได้ลงมือทำสิ่งเดียวกันแต่เมื่อได้มีเจตนาร่วมกันแล้วผลก็คือจะต้องรับโทษเช่นเดียวกัน โดยกำหนดไว้ในมาตรา 83 ของประมวลกฎหมายอาญา ในกรณีนี้ คือ ไม่ได้กล่าวหาว่า ธนาธรไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม "14 นักศึกษา" ด้วย และไม่ได้พูดหรือแสดงออกในทางยุยงปลุกปั่นด้วย แต่กล่าวหาว่า ธนาธรเป็นหนึ่งในทีมที่มีเจตนาลงมือกระทำร่วมกัน
 
หลักการเรื่อง "ตัวการร่วม" เขียนไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ดังนี้ "ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น" 
 
 
ธนาธรอาจไม่ใช่ตัวการร่วมหากพิจารณาตามหลักกฎหมาย
 
การกระทำของธนาธรจะถูกนับรวมว่า เป็น “ตัวการร่วม” ได้ ต้องพิจารณาจากหลักกฎหมาย และต้องครบองค์ประกอบ ซึ่งหลักที่ต้องพิจารณามีดังนี้ 
 
1. เป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา ในข้อแรกต้องพิจารณาก่อนว่าการกระทำนั้นมีเจตนาทำความผิดหรือไม่ จากข้อเท็จจริง กรณีที่ กลุ่ม "14 นักศึกษา" ชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน มีเจตนาที่จะจัดชุมนุม หากธนาธรไปร่วมจัดการชุมนุม และปราศรัยด้วย ก็ถือว่ามีความผิด ในฐานะตัวการร่วม ซึ่งจากบันทึกที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ แจ้งความแก่ตำรวจ ยังไม่มีการระบุว่าธนาธรได้เข้าร่วมการชุมนุมในลักษณะใด ระบุเพียงว่า ธนาธร อยู่ในพื้นที่หน้า สน.ปทุมวัน ด้วยเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่สถานที่เกิดเหตุด้วยซ้ำ
 
2. ในระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ในข้อถัดไปต้องพิจารณาว่า ร่วมกันทำตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปหรือไม่ ซึ่งจากข้อเท็จจริง มีกลุ่ม 14 นักศึกษาชุมนุมกันอยู่ แล้วรวมธนาธรไปด้วยรวมเป็น 15 คน ก็ถือว่าเข้าองค์ประกอบในข้อนี้
 
3. โดยมีการกระทำร่วมกันในขณะกระทำความผิด ในส่วนของการร่วมกันกระทำความผิดนั้น ต้องพิจารณาว่า ได้ร่วมกันทำความผิดจริงๆ หรือไม่ เช่น หากกลุ่ม 14 นักศึกษา ชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน แต่ธนาธร ไปยืนดูเฉยๆ ก็อาจจะไม่ถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำความผิด และไม่เป็น “ตัวการร่วม” แต่ในส่วนของการนำรถไปรับกลุ่มนักศึกษานั้น หากเป็นการตระเตรียมการวางแผนไว้ก่อนเพื่อให้รับ-ส่งเพื่อไปทำการชุมนุมก็อาจจะเป็นการร่วมกันทำความผิดได้ แต่จากบันทึกของเจ้าหน้าที่ ก็ยังไม่ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่ธนาธรนำรถไปรับที่หน้า สน.ปทุมวัน เป็นการตระเตรียมการล่วงหน้าร่วมกันอย่างไร 
 
4. โดยมีเจตนากระทำร่วมกันในขณะกระทำความผิด หมายความว่า คนที่กระทำความผิดร่วมกันนั้นจะต้องรู้ว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นการกระทำร่วมกัน และหวังให้เกิดผลอย่างเดียวกันเหมือนทำด้วยตัวเอง เช่น กลุ่ม 14 นักศึกษา กับ ธนาธร ต้องรู้ราวมกันว่า วันที่ 25 มิถุนายน 2558 จะมีการชุมนุมเกิดขึ้นที่ถนนราชดำเนิน จึงต้องไปรับนักศึกษาที่หน้า สน.ปทุมวัน ในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 เพื่อจะให้ไปร่วมกันชุมนุมในวันที่ 25 มิถุนายน ให้ได้ กรณีเช่นนี้จึงจะเข้าองค์ประกอบที่ถือว่า มีเจตนากระทำร่วมกันในขณะกระทำความผิด ซึ่งจากบันทึกของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ระบุถึงเหตุการณ์ชุมนุมในวันที่ 25 มิถุนายน เลย ระบุเพียงว่า ธนาธร อยู่บริเวณหน้า สน.ปทุมวัน ในวันที่ 24 มิถุนายน และมีรถตู้ที่เป็นของบริษัทที่แม่ของธนาธรเป็นกรรมการบริษัท มารับนักศึกษาหน้า สน.ปทุมวัน ซึ่งไม่มีการแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ชัดเจนในการร่วมกันจัดการชุมนุมในวันที่ 25 มิถุนายน แต่อย่างใด 
 
เมื่อพิจารณาจากทุกองค์ประกอบแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่า ข้อเท็จจริงไม่เพียงพอให้ถือได้ว่าธนาธร เป็น “ตัวการร่วม” กับกลุ่ม "14 นักศึกษา" ที่จัดการชุมนุมได้ เนื่องจากขาดทั้งเจตนาในการกระทำความผิดร่วมกัน ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ เพียงการนำรถตู้มารับหน้า สน.ปทุมวัน ในวันก่อนเกิดเหตุของคดี ยังไม่สามารถพิสูจน์เจตนาของธนาธรได้ว่า ร่วมกันกระทำความผิดแต่อย่างใด หรือในส่วนของการกระทำความผิด ก็ไม่มีข้อเท็จจริงที่ว่า ธนาธร และกลุ่ม 14 นักศึกษา ได้ร่วมชุมนุมด้วยกันที่ถนนราชดำเนินแต่อย่างใด หากจะเอาผิดธนาธรให้ได้ จึงเป็นภาระอันใหญ่หลวงของฝั่ง คสช. ที่ต้องผูกเรื่องเชื่อมโยงขึ้นใหม่
 
 
"14 นักศึกษา" อาจโดนหมายเรียกเพียงเพราะ คสช. ต้องการเอาผิดธนาธร
 
สำหรับ "14 นักศึกษา" พวกเขาเคยถูกจับกุมในคดีนี้แล้ว และเคยถูกฝากขังในเรือนจำรวม 12 วันก่อนที่จะปล่อยตัวออกมาและคดีก็ยังคงค้างอยู่ไม่เดินหน้าไปไหนเป็นเวลานานเกือบสี่ปี 
 
การออกหมายเรียก 14 นักศึกษา ในคดีที่มีชื่อของธนาธรรวมอยู่ด้วย หลังจากเรียกธนาธรให้เข้ารายงานตัวไปไม่นาน อาจจะเป็นเพราะ คสช. ต้องการเอาผิดธนาธรเป็นหลัก แต่ลำพังคดีในส่วนของธนาธรเพียงคนเดียวยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่า ธนาธรได้เข้าร่วมการชุมนุมหรือได้กระทำอย่างใดที่เป็นความผิดตามมาตรา 116  คสช. จึงพยายามจะใช้หลัก “ตัวการร่วม” เพื่อที่จะเอาผิดกับธนาธร ซึ่งการจะเป็น "ตัวการร่วม" ได้ต้องมีกลุ่มผู้กระทำผิดหลักรวมอยู่ด้วย หากในคดีไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการชุมนุมโดยตรง มีแต่เพียงผู้ถูกกล่าวหาว่า "ขับรถมารับ" ก็ยังไม่เพียงพอ
 
คดีของ 14 นักศึกษาที่ชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 เป็นคดีเดียวที่ยังค้างอยู่ในชั้นตำรวจ อยู่ในสถานะจะถูกหยิบยกกลับขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้ และมีข้อหาที่รุนแรง คือ มาตรา 116 หากไม่ออกหมายเรียกทั้ง 14 คน ที่เป็นผู้ไปชุมนุมหรือเป็นผู้ลงมือกระทำส่วนที่เป็นข้อกล่าวหาหลักเข้ามาในคดีนี้ด้วย การดำเนินคดีธนาธรก็จะไม่สมเหตุสมผลในทางกฎหมาย และยังไม่อาจพิสูจน์ข้อเท็จจริงส่วนที่เป็นการชุมนุมให้ครบองค์ประกอบความผิดได้ 
 
การที่ทั้ง 14 คน ถูกออกหมายเรียกให้กลับเข้ามาในคดีความที่ค้างมาเกือบ 4 ปี จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในความพยายามดำเนินคดีเพื่อเอาผิดธนาธรให้ได้ โดยต้องการให้ได้ข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน ทั้ง 14 คน จึงต้องรับผลกระทบส่วนนี้ไปและต้องเดินทางกลับมาเริ่มต้อนกันใหม่ในคดีค้างเก่าอีกครั้งหนึ่ง และแสดงให้เห็นว่า คสช. จริงจังกับการพยายามหาคดีให้ธนาธรมากขนาดไหน
 
ซึ่งเวลาเกือบ 4 ปีมานี้ คนหนุ่มสาวทั้ง 14 คนได้เดินหน้าชีวิตของตัวเองไปจากเมื่อปี 2558 ไกลมากแล้ว ตัวอย่างเช่น จตุภัทร์ หรือ "ไผ่ดาวดิน" ถูกพิพากษาและรับโทษในคดีมตรา 112 อยู่กว่าสองปี จนได้รับการปล่อยตัว รังสิมันต์ โรม เปลี่ยนสถานะเป็น ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ปกรณ์ อารีย์กุล เลือกเส้นทางการเมืองโดยอยู่กับพรรคสามัญชน พรชัย หรือ แซม ไปศึกษาต่อและใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ฯลฯ หลายคนก็เคลื่อนไหวทางการเมืองน้อยลงไปมากแล้ว การเรียกทุกคนกลับมารวมตัวกันในคดีเดิม ในอีกทางหนึ่งก็กลายเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ คสช. ดูแย่ลงไปอีกในสายตาของผู้ติดตาม
Article type: