1543 1568 1721 1008 1769 1448 1140 1214 1823 1993 1235 1895 1376 1769 1198 1995 1552 1101 1727 1022 1566 1382 1215 1357 1610 1501 1151 1626 1521 1415 1829 1459 1972 1653 1671 1193 1145 1944 1171 1399 1650 1628 1296 1328 1649 1536 1152 1858 1556 1822 1186 1464 1590 1694 1709 1543 1995 1160 1425 1107 1232 1551 1638 1508 1920 1421 1343 1438 1293 1694 1225 1361 1409 1510 1010 1908 1260 1628 1867 1092 1464 1892 1398 1741 1463 1694 1672 1909 1577 1915 1036 1831 1279 1194 1593 1932 1800 1865 1154 5 ปีหลังรัฐประหารผ่านไป ชะตากรรมผู้ลี้ภัยยังห่างไกลจากคำว่าปลอดภัยอยู่มาก | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

5 ปีหลังรัฐประหารผ่านไป ชะตากรรมผู้ลี้ภัยยังห่างไกลจากคำว่าปลอดภัยอยู่มาก


“คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยึดมั่นในความจงรักภักดี และจะปกป้อง เทิดทูน ดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย และทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง"
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557
 

การรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตคนไทยหลายคน กล่าวโดยเฉพาะกว่านั้น มันคือห้วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเหล่านักกิจกรรมทางการเมืองหลายท่าน ซึ่งส่วนหนึ่งเลือกที่จะระหกระเหินลี้ภัยออกนอกราชอาณาจักรไทย ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ แผ่นดินบ้านเกิดนี้อาจจะไม่ปลอดภัยต่อการ 'มีชีวิตรอด' อีกต่อไป ภายหลังการยึดอำนาจในการปกครองประเทศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดยมีเนื้อหาเอ่ยถึงสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความจำเป็นต่อการเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ที่น่าสังเกตคือ ในตอนท้ายของประกาศฉบับที่ 1 นี้ มีส่วนที่กล่าวถึงอุดมการณ์ที่ใช้ปฏิบัติงาน รวมถึงจุดประสงค์หลักในการพิทักษ์ 'ความมั่นคงของชาติ’ ที่ผูกโยงอยู่กับความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ ตามที่ คสช. อ้างว่า "เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย และทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง"
 
 
ควันยังไม่ทันจาง คสช. ก็เริ่มออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อเรียกตัวผู้ที่เข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ให้มารายงานตัวตามสถานที่ต่างๆ ที่กำหนดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นค่ายทหารหรือสถานที่ปิดลับ ซึ่งไม่มีใครคาดเดาได้ว่า เมื่อพ้นสายตาผู้เฝ้าสังเกตการณ์ไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัวจะต้องติดค้างอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ไปอีกกี่วัน
 
 
ผู้ที่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวต่อ คสช. ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง อดีตผู้ต้องหาคดีการเมือง รวมถึงนักวิชาการที่เคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ดูเหมือนว่า นักกิจกรรมและอดีตผู้ต้องหาคดีการเมืองจะได้รับความสนใจจาก คสช. มากเป็นพิเศษ จากการเก็บข้อมูลของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน พบว่า มีผู้ที่ถูกเรียกไปรายงานตัวที่เกี่ยวพันกับคดีอาญามาตรา 112 ทั้งสิิ้น 42 ราย จากการเรียกรายงานตัวทั้งหมด 894 ราย โดยใน 42 คนนี้ มีทั้งผู้ที่พ้นโทษคดีดังกล่าวมาแล้ว และมีทั้งผู้ที่อยู่ในรายการเฝ้าระวังว่าจะกระทำผิดต่อข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์
 
 
ข่าวลือเรื่องการกวาดล้างผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญามาตรา 112 เริ่มสะพัดในช่วงนี้เอง ซึ่งเราอาจแบ่ง 'ผู้ที่เกี่ยวข้อง' ออกเป็น 2 กลุ่ม อย่างแรกคือกลุ่มผู้ที่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. สองคือผู้ที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. โดยกลุ่มหลังนี้นี่เองที่ถือเป็นผู้ขัดต่อคำสั่ง คสช. และเลือกจะ 'ลี้ภัย’ ไปต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนาม และกัมพูชา บางคนหาทางไปต่อในประเทศที่สามและดำเนินการจนได้รับสถานะผู้ลี้ภัย แต่บางคนโอกาสไม่เอื้ออำนวยขนาดนั้น พวกเขายังคงติดค้างอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และมีน้อยวันที่จะนอนหลับไปโดยไม่ต้องกังวลถึงความปลอดภัยของชีวิต
 
 

เปิดไทม์ไลน์ผู้สูญหาย หลังลี้ภัยทางการเมืองออกประเทศเพื่อนบ้าน

 
1121

ผู้ชุมนุมจุดเทียนไว้อาลัยให้กับเพื่อนของสุรชัยและเพื่อนอีกสองคนที่สี่แยกราชประสงค์ 2 กุมภาพันธ์ 2562 
 

ประเด็นที่น่าคิดและยังคงหาคำตอบไม่ได้ก็คือ เหตุใดกลุ่มคนที่ คสช. ต้องการตัว จึงกลายเป็นบุคคลสูญหายที่ไม่สามารถติดตามความเป็นไปหรือสถานะการมีชีวิตอยู่ได้จากหน่วยงานใดๆ ทั้งนั้น ขณะเดียวกันช่วงหลังมานี้ ผู้ลี้ภัยที่ยังพอปรากฏความเคลื่อนไหวอยู่บ้างตามโซเชียลมีเดียก็พากันออกมาแสดงความไม่สบายใจต่อความปลอดภัยของชีวิต เนื่องจากถูกคุกคามผ่านการติดตาม ขู่ให้กลัว มีชายชุดดำไปสอดส่องยังที่พักอาศัย บางคนถูกอุ้มหาย รวมถึงความน่ากลัวที่คาดเดาไม่ได้อย่างกระแสข่าวการกวาดล้างผู้ที่เกี่ยวข้องระลอกใหญ่ที่โผล่มาให้ได้ยินเป็นระยะ
 
 
22 มิถุนายน 2559 – ดีเจซุนโฮถูกอุ้มหาย
 
 
วันที่ 22 มิถุนายน 2559 คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ลี้ภัยหลายคนต้องกลับมาตั้งคำถามถึงความอยู่รอดของชีวิต เมื่อ ดีเจซุนโฮ หรือ อิทธิพล สุขแป้น หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปยัง สปป.ลาว หายตัวไปโดยยังไม่สามารถติดตามความเป็นอยู่ได้จนถึงวันนี้ ดีเจซุนโฮเป็นผู้นำกลุ่มเชียงใหม่ 51 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเสื้อแดงเชียงใหม่ บทบาทสำคัญของเขาคือการจัดรายการวิทยุชุมชนที่เป็นฐานเสียงสำคัญแห่งหนึ่งของคนเสื้อแดงในขณะนั้น ส่วนใหญ่แล้ว รายการที่ดีเจซุนโฮจัดมักจะมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ รวมถึงสถานการณ์การเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น กระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ดีเจซุนโฮถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 25 แต่เขาตัดสินใจลี้ภัยไปยังประเทศลาว และยังคงจัดรายการผ่านเฟซบุ๊กหรือยูทูบเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของคณะรัฐประหาร รวมถึงเรื่องอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
 
 
โดยวันที่ 19 มิถุนายน 2559 ถือเป็นวันสุดท้ายที่บุคคลใกล้ตัวสามารถติดต่อกับดีเจซุนโฮได้ ก่อนจะมีการเปิดเผยต่อมาว่า ในวันที่ 22 มิถุนายน มีผู้พบเห็นดีเจซุนโฮขณะรับประทานอาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ก่อนจะขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้าน อย่างไรก็ตาม ในช่วงค่ำของวันเดียวกันนี้ มีผู้อ้างว่าได้ยินเสียงชายคนหนึ่งตะโกนร้องในพื้นที่ และพบมอเตอร์ไซค์รวมถึงรองเท้ากีฬาข้างหนึ่งของดีเจซุนโฮห่างจากร้านอาหารดังกล่าวไปประมาณ 1 กิโลเมตร
 
 
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับดีเจซุนโฮสืบทราบข้อมูลมาว่า ดีเจซุนโฮถูกเจ้าหน้าที่ไทยคุมตัวไปไว้ที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ติดตามสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกลับได้รับการปฏิเสธต่อการจับกุมดังกล่าว ทั้งนี้ คสช. เองก็ได้ยอมรับว่ามีการติดตามความเคลื่อนไหวของดีเจซุนโฮจริง แต่ปัดว่าไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการจับกุมหรือการหายตัวไปของดีเจซุนโฮ ที่แน่ๆ คือ จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีใครทราบได้ว่าดีเจซุนโฮมีชะตากรรมอย่างไรบ้าง
 
 
วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ เผยว่า สมาชิกในครอบครัวของดีเจซุนโฮทุกคนถอดใจและเชื่อว่าสมาชิกครอบครัวดังกล่าวน่าจะเสียชีวิตไปแล้ว เนื่องจากมีข่าวว่าผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจเผด็จการถูกตั้งค่าหัวในการตามล่า และตัวดีเจซุนโฮเองก็ตั้งตนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเผด็จการ คสช. มาโดยตลอด
 
 
18-21 ธันวาคม 2559 – รมว. ความมั่นคงเวียดนาม หารือกับไทยเรื่องผู้ร้ายข้ามแดนและข่าวกรอง
 

ช่วงเดือนธันวาคม 2559 มีรายงานข่าวจาก ASEAN WATCH ว่า พลโทอาวุโส โต เลิม (To Lam) รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียดนาม มาเยือนไทยและเข้าเยี่ยม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อร่วมการประชุมระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทยและกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียดนาม ระดับบริหาร ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2559 ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในการเจรจาครั้งนี้ พลโทอาวุโส โต เลิม ยังย้ำว่า เวียดนามจะให้ความสำคัญต่อสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศ และเผยว่าปัจจุบัน หน่วยงานทางด้านความมั่นคงของทั้งสองฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือและเร่งผลักดันกลไกที่มีอยู่เพื่อทำงานร่วมกันในประเด็นทางการเมืองและความมั่นคง และความร่วมมือระหว่างหน่วยข่าวกรองของทั้งสองประเทศในการผลักดันการลมนามในสนธิสัญญาและกฎหมายต่างๆ เช่น สนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในคดีความอาญา เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานด้านความมั่นคงของทั้งสองฝ่าย
 
 
31 มกราคม 2560 – เลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ เจรจาลาวให้ส่งผู้ลี้ภัยกลับไทย
 
 
วันที่ 31 มกราคม 2560 มีรายงานข่าวว่า พลเอกทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประสานไปยังทางการลาว เพื่อติดตามตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ลี้ภัยอยู่ในนั้น โดยการเข้าพบครั้งนี้ เป็นการเจรจาเพื่อขอให้ลาวส่งตัวผู้ต้องหาดังกล่าวกลับมาให้รัฐบาลไทย ทั้งนี้ แม้ในลาวจะไม่มีกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน และไม่มีบทลงโทษความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ แต่รัฐบาลไทยเองก็มีความพยายามที่จะใช้วิธีการ 'ร้องขอในลักษณะต่างตอบแทน' เพื่อแลกตัวผู้กระทำผิดระหว่างไทย-ลาว  ผ่านการพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบของ สปป.ลาว โดยตรง
 
 
12 เมษายน 2560 – DE ประกาศห้ามติดตามและเผยแพร่เนื้อหาจากผู้ลี้ภัย 3 ราย
 
 
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ออกประกาศเรื่อง 'การงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเทอร์เน็ต’ โดยมีเนื้อหาว่า ด้วยศาลอาญา ได้มีคำสั่งให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จึงขอให้ประชาชนโดยทั่วไปงดติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ หรือกระทำอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่ เนื้อหา ข้อมูล ของบุคคลตามกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ทั้งเจตนาและไม่เจตนา คือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และแอนดรูว์ มาร์แชล แมคเกรเกอร์
 
บุคคลทั้งสามถือเป็นนักวิชาการและนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมือง และวิพากษ์วิจารณ์ระบบสถาบันกษัตริย์มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว มีสถานะเป็นเพียงการแจ้งเตือนและแนะนำ เนื่องจากเป็นประกาศที่ไม่ครบองค์ประกอบของการเป็นกฎหมาย เพราะไม่มีการอ้างความตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นใด และไม่ได้ประกาศใช้ผ่านพระราชกิจจานุเบกษา
 
 
นอกจากนั้น สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประเทศไทย ยังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีไทยด้วยว่า "การออกประกาศดังกล่าวถือเป็นการขู่ให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวเกินกว่าที่ข้อบังคับทางกฎหมายกำหนด เพราะเป็นการประชาสัมพันธ์ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาถือเป็นบุคคลต้องห้าม… ที่น่าสนใจคือ ประกาศดังกล่าวแทนที่จะทำให้คนหวาดกลัวกับคำสั่ง กลับเป็นการทำให้บุคคลทั้งสาม เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น" ประกาศดังกล่าวจึงอาจจะสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนทั่วไป จนส่งผลเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censorship) หวาดกลัว ระมัดระวัง ต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ซึ่งขัดต่อพันธกรณีตามกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งระบุและรับรองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไว้อย่างชัดเจน
 
 
29 กรกฎาคม 2560 – โกตี๋ถูกอุ้มหาย
 
 
“ผมได้รับคำยืนยันจากคนที่ใกล้ชิดกับ โกตี๋ ว่าโกตี๋ได้ถูกชายชุดดำ ประมาณ 10 คน หลุมหน้าด้วยหมวกไหมพรมพร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าจับตัวไปเมื่อประมาณ 9.45 ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา...” ข้างต้นคือข้อความที่ จอม เพชรประดับ นักข่าวและผู้ลี้ภัยทางการเมือง ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ถึงการเข้าควบคุมตัว โกตี๋ หรือ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ จากการบอกเล่าของจอมทำให้ทราบพฤติการณ์การจับกุมคือ ขณะที่โกตี๋และเพื่อนอีก 2 คน กำลังลงจากรถเพื่อเดินเข้าบ้าน ได้ปรากฏกลุ่มชายชุดดำสวมหมวกไหมพรมคลุมหน้าประมาณ 10 คนที่แอบซุ่มอยู่ข้างบ้านหลังดังกล่าว เดินเข้ามากระจายตัวล้อมโกตี๋และพวก จากนั้นจึงนำผ้าคลุมหน้าผู้ถูกจับกุมทุกคน เอาผ้ายัดปาก มัดมือไพล่หลัง ก่อนจะแยกโกตี๋และนำไปขึ้นรถที่จอดเตรียมไว้ ส่วนเพื่อนอีกสองคนถูกจับมัดไว้ในบ้าน และได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านในภายหลัง
 
 
เพื่อนของโกตี๋ทั้งสองรายเล่าว่า ชายชุดดำที่มาจับกุมพวกเขานั้นพูดภาษาไทยและใช้อุปกรณ์ช็อตไฟฟ้าช็อตเข้าที่ต้นคอของพวกเขา พร้อมกับการขู่ไม่ให้ส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ นอกจากนั้น เพื่อนทั้งสองคนนี้ยังได้ยินเสียงโกตี๋พูดว่า "โอ้ย หายใจไม่ออก" และไม่ได้ยินเสียงโกตี๋อีกเลยหลังจากนั้น โดยเพื่อนทั้งสองของโกตี๋ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจในท้องที่และได้รับคำบอกเล่าจากคนใกล้ชิดว่า ขณะนั้นโกตี๋น่าจะยังมีชีวิตอยู่ และน่าจะถูกส่งตัวข้ามไปยังฝั่งไทยเรียบร้อยแล้ว
 
 
ภายหลัง พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กล่าวต่อเหตุการณ์อุ้มหายของโกตี๋ว่า "เรื่องนี้พิสูจน์ได้ยาก และอาจเป็นข่าวลือในการหลบหนีของโกตี๋ก็เป็นได้" ซึ่งสอดคล้องกับนายทหารหน่วยความมั่นคงนายอื่นๆ ที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมต่อการหายตัวไปของโกตี๋ ท้ายที่สุดแล้ว ยังเป็นคำถามว่า โกตี๋อยู่ที่ไหน ปลอดภัยดีไหม หรือว่าเขาถูกทำให้สูญหายไปแล้วตลอดกาล
 
 
12 กุมภาพันธ์ 2561 – ตัวแทนรัฐบาลไทยพบอธิบดีกรมราชทัณฑ์กัมพูชา เจรจาแลกเปลี่ยนนักโทษ
 
 
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 เฟซบุ๊กของสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารไทย ประจำกรุงพนมเปญ เมืองหลวงกัมพูชา (Office of Defence and Army Attache Phanom Penh) รายงานว่า พันเอกศรายุทธ บุญจือ ผู้ช่วยทูตทหารบก รักษาการผู้ช่วยทูตทหาร กรุงพนมเปญ ได้ให้การต้อนรับ กฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และคณะ ในโอกาสเดินทางราชการมาประชุมร่วมกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กัมพูชา ที่กระทรวงมหาดไทย ในกรุงพนมเปญ พนมเปญโพสต์ยังรายงานว่า ตัวแทนของรัฐบาลทั้งสองมีการหารือกันเพื่อพิจารณาความร่วมมือแลกเปลี่ยนนักโทษ รวมถึงมาตรการป้องกันการก่ออาชญากรรมหรือการกลับเข้าสู่วังวนเรือนจำครั้งใหม่ของอดีตนักโทษ การพุดคุยครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ทางการไทยส่งตัวสัม โสกา ผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับกัมพูชา สัมถูกกล่าวหาว่า ดูหมิ่นเจ้าพนักงานและยุยงปลุกปั่นสร้างความแตกแยกจากการโพสต์วิดีโอบนเฟซบุ๊ก เป็นภาพที่สัมนั้นปารองเท้าแตะไปที่ภาพของฮุน เซน นายกรัฐมนตรีและเฮง สัมริน ประธานสภา ศาลในกัมพูชาตัดสินว่า มีความผิดและสั่งจำคุกสองปี
 
 
22 เมษายน 2561 – รมต.กระทรวงป้องกันประเทศลาว ให้ความร่วมมือไทยติดตาม ผู้ลี้ภัย 112
 
 
รายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์และบางกอกโพสต์ได้อ้างอิงคำพูดของ พันโทสุวอน เลืองบุนมี รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ และหัวหน้ากรมใหญ่เสนาธิการกองทัพประชาชนลาว ที่กล่าวว่า ทางการลาวพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการติดตามผู้ลี้ภัยที่เข้าข่ายเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 และผู้ที่มีพฤติกรรมทางการเมืองอื่นๆ ที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย
 
 
พันโทสุวอนยังกล่าวอีกว่า "ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในลาวจะถูกจับตาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และทางรัฐบาลาวขอให้คำยืนยันในความร่วมมือนี้ต่อทางการไทยอย่างชัดเจน" แม้จะมีหลายฝ่ายออกมาท้วงติงต่อการตกลงให้ความร่วมมือดังกล่าวด้วยการยก อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับที่ลาวได้ลงนามไว้ แต่อนุสัญญาดังกล่าวกลับไม่มีข้อผูกมัดต่อลาว เพราะลาวเองยังไม่ได้ให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการ จึงทำให้อนุสัญญาดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้ในลาวอย่างเป็นทางการ
 
 
12 ธันวาคม 2561 – สุรชัย แซ่ด่าน, ภูชนะ และชัชชาญ หายสาบสูญ ก่อนพบศพสองคนหลังริมโขง
 
 
11 ธันวาคม 2561 คือวันสุดท้ายสุรชัย แซ่ด่าน หรือ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และสหายภูชนะ หรือ สุรชัย ภูชนะ ได้บันทึกพอดแคสต์รายการ 'ปฏิวัติประเทศไทย’ เตรียมไว้สำหรับเผยแพร่ผ่านชาแนลยูทูบ ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางที่พวกเขาใช้เคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองหลังจากลี้ภัยมายัง สปป. ลาว ตั้งแต่หลังช่วงที่มีการรัฐประหารในปี 2557 โดยหลังจากบันทึกรายการเสร็จสิ้น ไม่มีใครติดต่อสุรชัย แซ่ด่าน ได้เลย
 
 
 
1120

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของสุรชัยวางดอกไม้รำลึกถึงสามีของเธอที่สี่แยกราชประสงค์ 22 พฤษภาคม 2562  
 
ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2561 สหายภูชนะหรือชัชชาญ และสหายกาสะลองหรือไกรเดช  หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งในช่วงการหายตัวไปของสหายทั้งสามคนนี้ เกิดขึ้นก่อนหน้าการเดินทางของรัฐบาล คสช. นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 เพื่อเยี่ยมคารวะ บุนยัง วอละจิด ประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ทำเนียบประเทศนครหลวงเวียงจันทร์ สปป.ลาว โดยพลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปว่า คณะของ พลเอกประยุทธ์ เดินทางมาเพื่อสานสัมพันธ์และเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้เป็น "หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อความเจริญเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืน" ผ่านการพัฒนาระบบคมนาคม พลังงาน รวมถึงความร่วมมือในการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งสังเกตได้ว่าแผนการเดินทางเพื่อสานสัมพันธ์ไทย-ลาวครั้งนี้ ไม่มีส่วนใดที่คณะผู้เกี่ยวข้องพูดถึงการดำเนินการเรื่องผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในลาวเลยแม้แต่น้อย
 
 
ไม่นานหลังจากนั้น วันที่ 27 ธันวาคม 2561 มีผู้พบศพลอยอยู่ที่ตลิ่งตลาดนัดไทย-ลาว ที่ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2561 พบศพที่สองที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณ ตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และในวันที่ 29 ธันวาคม พบศพที่สามที่ริมฝั่งแม่น้ำ บริเวณ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยศพที่พบทั้งหมดมีสภาพถูกมัดที่มือและเท้า ใบหน้าถูกตีจนแหลกไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ นอกจากนั้นศพยังถูกคว้านท้องและเทปูนใส่เข้าไปแทน ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นการเทปูนเพื่อถ่วงศพให้ดิ่งลงไปใต้น้ำ ภายหลังการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ทางตัวตน หรือดีเอ็นเอ พบว่า ดีเอ็นเอสองในสาม ตรงกับดีเอ็นเอของสหายคนสนิทของสุรชัย แซ่ด่าน ทั้งสองคน
 
 
อย่างไรก็ตามมีข้อถกเถียงว่า ศพที่ลอยมาติดริมน้ำโขงมีสองหรือสามศพกันแน่ โดยทางตำรวจระบุว่า ระหว่างรอตรวจสอบศพที่สอง ศพได้หลุดตามน้ำไปจึงทำให้เชื่อว่า ศพที่พบบริเวณตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และศพที่พบบริเวณตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เป็นศพเดียวกัน ทำให้ตำรวจเชื่อว่า มีเพียงสองศพเท่านั้น ขณะที่ปราณี ภรรยาของสุรชัยเชื่อว่า มีสามศพและศพของสุรชัยถูกทำลายไปแล้ว
 
 
8 พฤษภาคม 2562 – ลุงสนามหลวง, สยาม ประกายไฟ และกฤษณะ หายสาบสูญ
 
 
ยังไม่ทันที่ข่าวความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับสุรชัย แซ่ด่าน, สหายภูชนะ และสหายกาสะลอง จะหายไปจากความหดหู่ของผู้ติดตามสถานการณ์ เพราะถัดจากนั้นเพียงไม่ถึงห้าเดือน ก็ปรากฏข่าวว่า ลุงสนามหลวง หรือ ชูชีพ, สยาม หนึ่งในนักกิจกรรมกลุ่มประกายไฟ และ กฤษณะหายสาบสูญและยังไม่มีใครสามารถติดต่อได้จนถึงตอนนี้  ลุงสนามหลวง หนึ่งในผู้ที่ได้รับคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 49/2557 ให้ไปรายงานตัวแต่ตัดสินใจลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึง เขายังถูกเชื่อมโยงกับกลุ่มสหพันธรัฐไทยในฐานะแกนนำที่ยังคงเคลื่อนไหวแม้จะลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้วก็ตาม ที่ผ่านมา ลุงสนามหลวงถูกตั้งข้อหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร นอกจากนั้น ภรรยาและลูกของลุงสนามหลวงยังถูกควบคุมตัวในค่ายทหารเป็นเวลา 7 วัน ในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา
 
1122

แผ่นป้ายทวงถามชะตากรรมของสยามถูกวางที่หน้าสถานทูตเวียดนาม (13 พฤษภาคม 2562)
 
สยามเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมกลุ่มประกายไฟ ที่ถึงแม้ไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนทั่วไปเหมือนกับนักกิจกรรมทางการเมืองคนอื่นๆ แต่เขาเป็นที่รักใคร่และคุ้นเคยกันดีในผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมไทย สยามลี้ภัยออกจากประเทศไทยภายหลังเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยเขาเป็นหนึ่งในผู้ถูกแจ้งความในคดีอาญา มาตรา 112 ในปี 2556 จากการร่วมแสดงละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ซึ่งเป็นละครที่ใช้อารมณ์ขันในการเสียดสีประเด็นทางการเมืองและสถาบันกษัตริย์ไทย โดยมีผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำละครเวทีเรื่องดังกล่าว อย่างเช่น ภรทิพย์และปติวัฒน์ที่ถูกจับกุมและต้องโทษจำคุกในข้อหาเดียวกันอยู่สองปีเต็ม

1123
 
แม่ของสยาม (คนกลาง) เข้ายื่นหนังสือทวงถามชะตากรรมของลูกชายที่สถานทูตเวียดนาม (13 พฤษภาคม 2562)
 
ขณะที่ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองส่วนหนึ่งพูดถึงและบอกเล่าเรื่องราวของลุงสนามหลวงและสยามเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ค่อยพบการกล่าวถึง กฤษณะ สหายอีกคนที่หายตัวไปพร้อมกับทั้งสองคนข้างต้น ที่สำคัญคือ เมื่อสืบค้นแล้วกลับพบข้อมูลส่วนตัวหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกฤษณะอยู่น้อยมาก จนแทบไม่สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวของกฤษณะได้มากอย่างที่ควรจะเป็น
 
 
19 พฤษภาคม 2562 – อย่าฆ่าไฟเย็น
 
 
11 วันหลังจากข่าวการหายตัวไปของลุงสนามหลวง สยาม และกฤษณะ ข่าวลือเรื่องการกวาดล้างผู้ลี้ภัยทางการเมืองแพร่สะพัดอีกครั้งจากการที่ จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในยุโรป โพสต์ภาพที่ระบุข้อความสนทนาออนไลน์ในทำนองว่า จะมีปฏิบัติการกวาดล้าง กลุ่มไฟเย็น ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อาศัยอยู่ในลาวในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 โดยมีข้อมูลเพิ่มว่า กลุ่มปฏิบัติการดังกล่าว จะเป็นกลุ่มคนชุดเดียวกันกับที่ลงมือในกรณีของสุรชัย แซ่ด่าน, สหายภูชนะ และสหายกาสะลอง
 
1124

ระหว่างการชุมนุมครบรอบ 5 ปีการรัฐประหารที่สี่แยกราชประสงค์ ป้ายรณรงค์เรื่องสวัสดิภาพของวงไฟเย็นเป็นหนึ่งในป้ายที่ถูกถือรณรงค์ (22 พฤษภาคม 2562)
 
 
กลุ่มไฟเย็นเป็นการรวมตัวกันของนักดนตรี นักศึกษา และคนทำงานเคลื่อนไหวการเมือง มุ่งเน้นการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการมีอยู่ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจเผด็จการที่เกิดขึ้นในประเทศแถบอาเซียน หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 สมาชิกวงไฟเย็น ได้แก่ ไตรรงค์ (ขุนทอง), ชฤต (โยนก) และนิธิวัต (จอม) ได้รับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 5/2557 ให้ไปรายงานตัว แต่พวกเขาตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียกดังกล่าว และลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านในที่สุด
 
 
นอกจากสมาชิกสามคนข้างต้นแล้ว ยังมีสมาชิกคนอื่นๆ คือ ปริญญา (พอร์ท), รมย์ชลี (แยม), วรวุฒิ และชัยพฤกษ์ ที่ลี้ภัยและอาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดล้วนได้รับการคุกคามจากกลุ่มนิรนามอยู่ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ลี้ภัยมา 
 
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีข่าวการกวาดล้างครั้งใหญ่ จรรยา ยิ้มประเสริฐ ในนามของกลุ่มแอคชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย (ACT4DEM) ได้สร้างแคมเปญลงชื่อออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ change.org เพื่อเรียกร้องให้ UNHCR และผู้ที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการระยะยาวเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยไทยในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเนื้อหาของแคมเปญดังกล่าว ระบุถึงเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมของผู้ลี้ภัย 8 คนก่อนหน้าที่หายสาบสูญและมีข่าวว่าถูกอุ้มฆ่า ภายหลัง จรรยาได้เดินทางไปยื่นหนังสือพร้อมลายชื่อต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังคงเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ผู้ลี้ภัยที่ยังติดค้างอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน
 
 
ปัจจุบัน สมาชิกกลุ่มไฟเย็นรวมทั้งผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนอื่นๆ ในประเทศเพื่อนบ้านต่างตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวและมีความกังวลต่อความปลอดภัยของชีวิต โดยเฉพาะการคาดเดาไม่ได้ว่าอันตรายจะเข้าถึงตัวพวกเขาเมื่อไหร่ และจะเกิดอะไรกับพวกเขาบ้างถ้ายังคงติดค้างอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่ให้ความร่วมมือในการติดตามผู้ลี้ภัยคดีการเมืองเช่นนี้
 
 
ความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
 
 
ยังคงเป็นข้อถกเถียงระหว่างประเทศถึงการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อกลับไปรับโทษจากประเทศต้นทางที่ลี้ภัยมา โดยรัฐผู้ได้รับความเสียหายจะทำการร้องขอไปยังรัฐปลายทางที่ผู้กระทำผิดลี้ภัยหรือหลบซ่อนตัวอยู่ เพื่อให้ดำเนินการส่งตัวบุคคลนั้นๆ มาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวมีลักษณะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา เรียกว่า การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน (Extradition)
 
 
กฎหมายการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้นจะมีข้อยกเว้นสำหรับ ความผิดทางการเมือง (political offenses) เนื่องจากคดีความทางการเมืองนั้นไม่จัดว่าเป็นอาชญากรรมที่แท้จริง แต่เป็นการกระทำผิดเพราะมีแนวคิด อุดมการณ์ หรือพฤติการณ์ที่ไม่ตรงกับอำนาจการบริหารของประเทศนั้นๆ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลข้างต้นจะพบว่า รัฐบาลไทยมีการร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา ผ่านการร่วมเจรจาหรือต่อรองโดยตรง ในการแลกเปลี่ยนหรือช่วยสอดส่องติดตามตัวผู้ลี้ภัยในคดีความทางการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีเป้าพุ่งตรงไปที่ผู้ที่กระทำผิดหรือเข้าข่ายเสี่ยงต่อการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์
 
 
อย่างเช่นกรณีของ สปป.ลาว ที่มีการพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงของประเทศให้คำยืนยันและยินดีจะช่วยดำเนินการเรื่องผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในลาวของ พลโทสุวอน เลืองบุนมี  รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ และหัวหน้ากรมใหญ่เสนาธิการกองทัพประชาชนลาว ที่กล่าวว่า "ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในลาวจะถูกจับตาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และทางรัฐบาลาวขอให้คำยืนยันในความร่วมมือนี้ต่อทางการไทยอย่างชัดเจน" รวมถึงสัมทับว่า ทางการลาวพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการติดตามผู้ลี้ภัยที่เข้าข่ายกระทำความผิดตามข้อกฎหมายดังกล่าว

 

Article type: