1550 1680 1097 1008 1634 1131 1237 1981 1936 1277 1174 1982 1678 1018 1408 1460 1950 1852 1940 1252 1731 1848 1576 1539 1076 1372 1217 1875 1046 1772 1822 1413 1371 1818 1125 1884 1454 1823 1559 1542 1178 1886 1268 1292 1652 1770 1295 1244 1447 1977 1132 1427 1591 1617 1612 1785 1072 1186 1429 1655 1543 1555 1607 1504 1862 1626 1339 1581 1302 1079 1357 1705 1533 1771 1370 1043 1851 1751 1398 1511 1736 1254 1189 1005 1034 1406 1949 1822 1003 1444 1019 1287 1086 1327 1293 1745 1975 1104 1836 ย้อนดู "การเยี่ยมบ้าน" นักกิจกรรมในยุค คสช. กับคำถามถึงสถานะทางกฎหมาย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ย้อนดู "การเยี่ยมบ้าน" นักกิจกรรมในยุค คสช. กับคำถามถึงสถานะทางกฎหมาย

การคุกคามนักกิจกรรม หรือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลา 5 ปีเศษคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ควบคุมอำนาจการบริหารประเทศการคุกคามนักกิจกรรมและผู้เห็นต่างจาก คสช. มีหลายรูปแบบ ทั้งการทำร้ายร่างกายซึ่งเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมอย่างน้อยสามคน ได้แก่ สิรวิชญ์ หรือ "จ่านิว", อนุรักษ์ หรือ "ฟอร์ด เส้นทางสีแดง" และเอกชัย แม้จะไม่มีหลักฐานว่าการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรงแต่เมื่อการหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษเป็นไปอย่างล่าช้าสังคมก็คงอดสงสัยไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะมีส่วนร่วม 
 
นอกจากการทำร้ายร่างกาย การแวะเวียนไปตามบ้านของนักกิจกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงก่อนหรือหลังมีกิจกรรมทางการเมืองครั้งสำคัญๆรวมทั้งการโทรศัพท์ไปพูดคุยทั้งในลักษณะแสดง "ความกังวล" หรือ "ร้องขอ" ให้งดเว้นการจัด หรือเข้าร่วมกิจกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นการคุกคามอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคของ คสช. รูปแบบการคุกคามใน 2 ลักษณะหลังเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง และแม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าการมาหาเป็นการมาดูแลความปลอดภัย แต่สำหรับนักกิจกรรมการมีเจ้าหน้าที่มาที่บ้านช่วงก่อนหน้าหรือหลังเข้าร่วมกิจกรรมคงมองเป็นอย่างอื่นนอกจากการคุกคามหรือการสร้างความหวาดกลัวได้ยาก 
 
ตำแหน่งแห่งที่ของการ "เยี่ยมบ้าน" นักกิจกรรมตามกฎหมายคสช.
 
จากการสำรวจกฎหมายที่น่าจะเกี่ยวข้องทั้ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก 2457 ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ คสช. ยึดอำนาจจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2558 และ คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ที่ออกในวันเดียวกันเพื่อมาบังคับใช้แทนกฎอัยการศึก ไม่พบว่ามีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารหรือเจ้าตำรวจเข้าไปติดตามบุคคลที่บ้านโดยตรง กฎอัยการศึกเพียงแต่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการเข้าทำการตรวจค้นเคหะสถานได้โดยไม่ต้องใช้หมายศาลเท่านั้น 
 
ขณะที่คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ก็ไม่ได้กำหนดเรื่องการไปติดตามบุคคลที่บ้านเป็นการเฉพาะได้ แต่กำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่เรียกตัวบุคคลมาสอบถาม และกักตัวไว้ได้ไม่เกิน 7วัน และแม้ในคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 จะมีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปในเคหะสถานโดยไม่ต้องขออำนาจศาล แต่มีการกำหนดวัตถุประสงค์การเข้าไปในเคหะสถานว่าต้องเป็นไปเพื่อการทำการตรวจค้นโดยจะเข้าไปได้ต่อเมื่อมีเหตุให้สงสัยตามสมควรว่ามีผู้กระทำความผิดซ่อนตัวอยู่ 
 
ในเวลาต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 13/2559 การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการดำเนินการในลักษณะเดียวกับคำสั่งฉบับที่ 3/2558 เพียงแต่กำหนดฐานความผิดที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปดำเนินการต่างกัน คำสั่งฉบับที่ 3/2558 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจค้น หรือเอาตัวบุคคลที่มีเหตุสงสัยว่าจะทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงมาสอบถาม ส่วนคำสั่งฉบับที่ 13/2559 กำหนดความผิดที่กว้างออกไป เช่น ความผิดเกี่ยวกับการค้าประเวณี การทวงหนี้ และยาเสพย์ติด เป็นต้น
 
แม้ว่าทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 จะไม่ได้กำหนดให้อำนาจการไปพบบุคคลในเคหะสถานโดยตรง แต่เนื่องจากคำสั่งทั้งสองฉบับมีบทบัญญัติกว้างๆ ว่า ให้เจ้าหน้าที่ทหารชั้นยศร้อยตรี หรือเทียบเท่าที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งทั้งสอบฉบับ มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งอื่นๆ ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย จึงเป็นไปได้ว่าการมาติดตามนักกิจกรรมที่บ้านจะเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามช่องทางนี้
 
ก่อนที่ คสช. จะสิ้นสภาพอย่างเป็นทางการพล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ยกเลิกการใช้ประกาศ คำสั่ง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ไม่จำเป็นทั้งหมดออกไป แต่ คำสั่งที่ 3/2558 ยังไม่ถูกยกเลิก ยกเว้นเพียงข้อที่ 12 เรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนที่เคยถูกยกเลิกไปแล้วในช่วงก่อนการเลือกตั้ง กับคำสั่งที่ 13/2559 ไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย จึงยังมีความน่ากังวลว่าเจ้าหน้าที่ที่เคยได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจตามคำสั่งฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 จะยังใช้อำนาจได้ตามเดิมหรือไม่
 
ยังไม่มีข้อสรุปของการเรียกคนไปปรับทัศนคติ หรือเรียกไปให้ข้อมูลกับ กอ.รมน.
 
หลังจากยกเลิกประกาศ คำสั่ง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ไม่จำเป็นออกไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 แต่ยังมีข้อถกเถียงถึงเจ้าหน้าที่ที่เคยได้รับการแต่งตั้งให้มีอำนาจพิเศษจาก คสช. ว่าสามารถใช้อำนาจพิเศษตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 ได้หรือไม่
 
วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจพิเศษ เช่น สามารถเรียกบุคคลเข้าไปปรับทัศนคติยังไม่ได้ถูกยกเลิกไปว่า เมื่อ คสช.ไม่อยู่ในอำนาจแล้ว อำนาจพิเศษจะปรับเปลี่ยนจาก คสช. ไปสู่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่ง กอ.รมน. ไม่ใช่ทหารเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะทำอะไรก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และวิษณุ ยังกล่าวต่อถึงประเด็นการเรียกไปปรับทัศนคติ ว่า ทุกวันนี้ก็มีการเชิญไปปรับอยู่แล้ว แต่เป็นการขอร้อง หรือห้ามปราม แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเอาไว้ได้ โดยคิดว่า การจะคงอำนาจแบบนี้ไว้ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นอำนาจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ดีกว่าเอะอะแล้วประกาศกฎอัยการศึก
 
ต่อมา วันที่ 16 กรกฎาคม 2562 พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. ชี้แจงว่า คสช. ไม่ได้โอนอำนาจให้ กอ.รมน. เรียกบุคคลเข้าพูดคุยได้ เพราะในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก กอ.รมน. ใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ)  เมื่อมีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นคงในพื้นที่ กอ.รมน. จึงจะสามารถเข้าไปดูแลได้ เมื่อ คสช. ยุติบทบาท กอ.รมน. ก็เข้ามาโดยไม่ได้มีการโอนอำนาจแต่อย่างใด ส่วนการเชิญตัวของ กอ.รมน. เป็นอำนาจตามมาตรา 13/1 ข้อที่ 7 ของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผอ.กอ.รมน. จังหวัด และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นคณะกรรมการร่วม สามารถเรียกตัวบุคคลมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เช่น กรณีการทำฝายระบายน้ำแล้วมีปัญหา เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วพบความผิดปกติ หรือต้องขอข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ใช่การเรียกตัว และยืนยันว่า พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ ไม่ได้เชิญตัวบุคคลมาเพื่อสอบปากคำ หรือกักขัง เป็นกฎหมายคนละอย่างกับ คสช.
 
ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 วิษณุ เครืองาม ออกมาให้สัมภาษณ์ถึง คำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมบุคคลมาปรับทัศนคติไม่ได้ถูกยกเลิกไป แต่ปรับเปลี่ยนให้เป็นอำนาจของ กอ.รมน. ว่า ที่เคยระบุว่าทหารสามารถควบคุมและปรับทัศนคติได้นั้น เป็นการออกมาแสดงความคิดเห็นในวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ก่อนที่หัวหน้า คสช. จะประกาศอำลาตำแหน่ง คสช. ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ดังนั้นเมื่อหัวหน้า คสช. อำลาตำแหน่งการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของชาติ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. หากใครมองว่า พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ ไม่ถูกต้องตามหลักสิทธิเสรีภาพ และรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ ยืนยันว่า ไม่ใช่การเรียกมาปรับทัศนคติ แต่เป็นอำนาจการเรียกเชิญมาให้ข้อมูล แต่ไม่สามารถควบคุมตัวได้ อีกทั้งไม่สามารถแต่งตั้งใครเป็นเจ้าหน้าที่ได้    

ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ทั้งของ วิษณุ เครืองาม และพล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า อำนาจพิเศษตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จะถูกยกเลิกหรือไม่ และ กอ.รมน. มีขอบเขตอำนาจในการเรียกตัวได้จำกัดเพียงใด
 
1148
 
สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอิสระโพสต์ภาพเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่มาติดตามที่บ้านเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 หนึ่งวันหลังเขาไปร่วมงานศพธง แจ่มศรี ที่จังหวัดนครปฐม ภาพจาก สงวน คุ้มรุ่งโรจน์
 
เป้าหมายและรูปแบบที่เปลี่ยนไป
 
ในทางปฏิบัติคนกลุ่มแรกๆ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามไปที่บ้านคือกลุ่มบุคคลที่ถูก คสช. เรียกเข้าค่ายทหารในช่วงหลังการรัฐประหาร หลังถูกเรียกเข้าค่ายคนที่ถูกเรียกตัวจะกลายเป็น "บุคคลเป้าหมาย" คสช.ส่งเจ้าหน้าที่ทหารมาคอยติดตามความเคลื่อนไหวที่บ้านโดย เช่น จิตรา คชเดช อดีตแกนนำสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์ และผู้สื่อข่าวประชาไทอย่างทวีพร ที่เคยถูกทหารเรียกไปพูดคุยในค่ายหลังเผยแพร่บทความเกี่ยวกับมาตรา 112 ต่างเคยบอกเล่าประสบการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ทหารไปติดตามที่บ้านหลังเคยถูกเรียกรายงานตัวในค่ายทหาร โดยที่ในภายหลังแม้ทั้งสองจะเดินทางไปต่างประเทศก็ปรากฎว่ายังมีเจ้าหน้าที่ทหารแวะไปตามภูมิลำเนาของทั้งสองอยู่เป็นระยะ
 
นอกจากกลุ่มคนที่ถูกคสช.มาติดตามที่บ้านหลังถูกเรียกรายงานตัวแล้วก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตกเป็นเป้าหมายการ "เยี่ยมเยียน"ของทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็คงจะหนีไม่พ้นกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมือง เช่น ช่วงปลายปี 2561 เจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านของแกนนำคนเสื้อแดงอุดรเพื่อสอบถามเรื่องการครอบครองและการแจกจ่ายปฏิทินที่มีภาพอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร  นอกจากนั้นก็มีกรณีของอดีตผู้สนับสนุนกลุ่มกปปส.ที่โพสต์ข้อความทำนองว่าขอคืนนกหวีดให้สุเทพ รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์คสช. ซึ่งหลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ทหารรวมสามนายมาที่บ้านของเขา
 
สำหรับรูปแบบการติดตาม "บุคคลเป้าหมาย" ในยุค คสช. ก็มีรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น การไปติดตามถ่ายรูปที่บ้าน การไปตามหาที่ที่ทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงการนัดหมายกินกาแฟในที่สาธารณะ ขณะเดียวกันวัตถุประสงค์ที่เจ้าหน้าที่อ้างในการเดินทางมาแต่ละครั้งก็แตกต่างกันไป บางครั้งอ้างว่าเป็นการมาติดตามบุคคลเป้าหมายตามปกติ แต่หากเป็นในช่วงที่มีวาระสำคัญ เช่น ช่วงที่มีพระราชพิธีหรือกรณีที่หัวหน้าคสช.มีกำหนดลงพื้นที่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีประวัติต่อต้านคสช. เจ้าหน้าที่ที่มาที่บ้านก็จะแจ้งตรงๆว่ามาขอความร่วมมือให้งดการเคลื่อนไหว
 
ในช่วงปี 2562 การติดตามนักกิจกรรมที่บ้านยังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ในเดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายที่คสช.อยู่ในอำนาจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ยังคงติดตามไปที่บ้านของกลุ่มนักกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างในวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ไปติดตามที่บ้านของนักกิจกรรมพร้อมกันถึงสามกรณี ได้แก่ 
 
กรณีที่หนึ่ง อนุสรณ์ อุณโณ คณะบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ จากสน.ดอนเมือง เข้ามาสอบถามคนที่บ้านว่าตัวของเขายังอยู่ที่บ้านหลังนี้ไหม เพื่อยืนยันว่าข้อมูลตรงกับข้อมูลที่ตำรวจมีหรือไม่ โดยไม่ได้สอบถามสิ่งใดเพิ่มอีก ซึ่งในวันนั้นอนุสรไม่ได้อยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว ซึ่งมีข้อสังเกตว่า เป็นการมาเยี่ยมบ้านเนื่องจาก อนุสรณ์ ได้ไปพูดในงานเสวนา “ดีทอล์ค ล้างพิษรัฐประหาร” ในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2562
 
1147
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ดอนเมืองที่หน้าบ้านของอณุสรณ์ อุณโณ ภาพจากเฟซบุ๊ก Anusorn Unno
 
กรณีที่สอง กันต์ แสงทอง นักศึกษาปริญญาโท ซึ่งเคยร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง  ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ซึ่งแสดงตัวว่าเป็นฝ่ายสืบสวน สน.ตลิ่งชัน เข้าไปพบที่บ้านย่านตลิ่งชัน โดยให้เหตุผลในการเข้าไปเยี่ยมว่า เพื่อดูแลความปลอดภัยหลังเกิดเหตุการณ์การทำร้าย “จ่านิว” หรือสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และ
 
กรณีที่สาม ประจิณ ฐานังกรณ์ หนึ่งในกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สน.มีนบุรีไปที่บ้านจำนวนห้าคนได้พบกับญาติของประจิณ เนื่องจากประจิณไม่อยู่บ้าน และญาติได้โทรหาประจิณเพื่อให้คุยกับตำรวจ ตำรวจได้สอบถามว่า ทำงานอะไร และพักอาศัยอยู่ที่ไหน ซึ่งประจิณก็ตอบไปว่า ไม่ได้ทำงานเนื่องจากอายุเยอะแล้ว อยู่อาศัยบ้านที่ตำรวจเข้ามาเยี่ยม เป็นที่อยู่ตามบัตรประชาชน และได้ให้เบอร์โทรกับตำรวจไปเพื่อให้โทรหาล่วงหน้าหากจะเข้ามาเยี่ยมในครั้งถัดไป
 
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่คสช.มีอำนาจตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึง เดือนกรกฎาคม 2562 ที่คสช.ยุติบทบาทในฐานะผู้มีอำนาจทางการเมือง มีคนถูกเรียกเข้าค่ายทหารหรือมีเจ้าหน้าที่มาที่บ้านแล้วอย่างน้อย 1,349 คน ในจำนวนนี้บางคนที่ถูกไปพูดคุยหรือมีเจ้าหน้าที่มาหาถึงบ้านมากกว่าหนึ่งครั้ง
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะไปบ้านใครได้ต้องมีเหตุจำเป็น และมีหมายศาล 
 
โดยปกติแล้วไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจ หรือเจ้าพนักงานของรัฐสามารถติดตามตัวประชาชนธรรมดา ที่ไม่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายได้ ยกเว้นกรณีการคุ้มกันพยาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546  ซึ่งพยานในคดีที่ไม่ใช่จำเลย จะสามารถขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าพนักงานของรัฐที่มีอำนาจในการคุ้มครองพยานเข้าคุ้มครองตัวเองได้
 
หากกรณีใกล้เคียงการเข้าไปเยี่ยมบ้านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจจะเทียบเคียงได้กับ หลักการค้นบ้าน หรือที่รโหฐานของเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดไว้ใน มาตรา 92 ว่าการค้นที่รโหฐานต้องมีหมายค้น หรือคำสั่งศาลยกเว้นแต่
 
(1) มีเสียงร้องให้ช่วย หรือมีเสียง หรือมีพฤติการณ์อื่นใดแสดงว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐาน
 
(2) เมื่อมีความผิดซึ่งหน้ากระทำลงในที่รโหฐาน
 
(3) เมื่อบุคคลที่กระทำผิดซึ่งหน้าได้หลบหนีเข้าไป
 
(4) มีหลักฐานตามสมควรว่ามีสิ่งของที่มีไว้หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำผิดซ่อนหรืออยู่ในนั้น และหากเนิ่นช้าสิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน
 
(5) เมื่อระโหฐานนั้นเจ้าของบ้านเป็นผู้จะถูกจับ และการจับนั้นมีหมายจับออกมาแล้ว
 
โดยต้องมีหัวหน้าชุดในการค้นต้องเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสามหรือตำรวจยศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป และต้องกระทำในเวลากลางวันหากมีเหตุจำเป็นตามที่กฎหมายกำหนด ถึงจะเข้าค้นในเวลากลางคืนได้
 
ซึ่งหากไม่เข้าองค์ประกอบที่กฎหมายกำหนดเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถเข้าค้นในบ้าน หรือที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้น หรือคำสั่งศาลได้เลย
 
ในการจะให้ศาลออกหมายค้นนั้นก็ต้องมีเหตุซึ่งกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 69 โดยกำหนดว่า  เหตุที่จะออกหมายค้นได้มีดังต่อไปนี้
 
(1) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา
 
(2) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด
 
(3) เพื่อพบและช่วยบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 
(4) เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ
 
(5) เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งศาล ในกรณีที่จะพบหรือจะยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว
 
ซึ่งหากไม่เข้าองค์ประกอบตามกฎหมาย ศาลก็ไม่สามารถออกหมายค้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นบ้านได้
 
โดยสรุปแล้วการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปในพื้นที่บ้าน หรือที่รโหฐาน ในทางกฎหมายก็มีเงื่อนไขที่ว่าอย่างน้อยต้องมีผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีการติดตามนักกิจกรรมไปที่บ้านยังมีความน่าสงสัยวาเจ้าหน้าที่ตำรวจมาบ้านของนักกิจกรรมโดยมีเหตุหรือเงื่อนไขตามที่ประมวลวิธีพิจารณากำหนดไว้หรือไม่ หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างอำนาจตามกฎหมายใดในการมาติดตามนักกิจกรรมที่บ้าน สำหรับอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 แม้จะไม่ถูกยกเลิกแต่คำสั่งทั้งสองฉบับก็กำหนดอย่างชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามคำสั่งทั้งสองฉบับคือเจ้าหน้าที่ทหารชั้นยศร้อยตรีหรือเทียบเท่าที่ได้รับการแต่ตั้งจากคสช.ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งทั้งสองฉบับ และคำสั่งทั้งสองฉบับก็ไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งทั้งสองฉบับแต่อย่างใด
Article type: