1422 1193 1604 1734 1089 1742 1991 1782 1399 1597 1978 1084 1229 1147 1550 1256 1659 1659 1636 1095 1051 1183 1769 1572 1943 1738 1976 1786 1988 1965 1067 1509 1671 1989 1560 1032 1922 1654 1181 1860 1395 1043 1419 1575 1763 1944 1761 1556 1620 1739 1628 1792 1989 1240 1671 1293 1697 1436 1166 1523 1550 1759 1920 1742 1859 1720 1252 1035 1957 1411 1375 1694 1041 1187 1139 1136 1178 1000 1209 1638 1223 1554 1870 1717 1866 1454 1832 1312 1276 1080 1211 1106 1111 1487 1849 1388 1483 1549 1533 คำต่อคำ นิตยา ม่วงกลาง: นักต่อสู้พ่วงผู้ต้องหาครอบครองที่ดินในอุทยานไทรทอง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คำต่อคำ นิตยา ม่วงกลาง: นักต่อสู้พ่วงผู้ต้องหาครอบครองที่ดินในอุทยานไทรทอง


 
ไกลออกไปจากตัวเมืองชัยภูมิตามเส้นทางหลวงหมายเลข 225 ที่วิ่งข้ามภูมิภาคระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง สองข้างทางรายรอบด้วยภูเขาและพันธุ์ไม้ แม้ฤดูนี้ธรรมชาติจะเป็นสีเขียวซีดเซียว แต่ปริมาณป่าไม้ที่มากกว่าจังหวัดอื่นๆ ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า ผืนป่าที่นี่อุดมสมบูรณ์
จากตัวอำเภอหนองบัวระเหว หลังรถผ่านสภ.วังตะเฆ่ เลี้ยวขวาตรงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ อย่างที่ ‘เธอ’ บอก ต้องจอดถามทางผู้คนละแวกนั้นอีกสองสามครั้งเพราะทางค่อนข้างซับซ้อน ก่อนยานพาหนะจะค่อยๆ พาไปถึงหมู่บ้านซับหวาย จุดหมายปลายทางที่เรานัดพบ กบ- นิตยา ม่วงกลาง
หญิงสาวมาดมั่น แววตานักสู้ - ก่อนหน้าเราเคยพบกันในเรือนจำจังหวัดชัยภูมิ กำแพงสูงที่เธอต้องเข้าไปเผชิญชีวิต หลังผจญคดีบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง คดีแรกศาลลงโทษจำคุก 4 เดือน อีกคดีศาลลงโทษ 8 เดือน ค่าปรับสองคดีรวมกันเกือบสองแสนบาท
วันนี้ต่างจากวันนั้น -  ไม่ต้องพูดคุยผ่านโทรศัพท์หลังกระจกใส ไม่มีใครมาคอยคุมเวลาและกำหนดเนื้อหาเจรจา เป็นโอกาสดีที่เราจะได้สำรวจชีวิตของเธอในแบบคำต่อคำของ นิตยา ม่วงกลาง ผู้มี 2 สถานะ ทั้งนักต่อสู้และผู้ต้องหาครอบครองที่ดินในอุทยานไทรทอง

 

 

 

iLaw: ดั้งเดิมของคนหมู่บ้านซับหวาย มาจากที่ไหน  ?


นิตยา:   เมื่อก่อนพี่เป็นคนอำเภอจัตุรัส แต่แม่พาย้ายมาหนองบัวระเหว ตั้งแต่ตอน 3 ขวบ มีพี่น้อง 5 คน เราเป็นคนที่ 3 ตอนนั้นน้องคนที่ติดกันยังไม่ได้เกิด น้องมาเกิดที่นี่ จนตอนนี้ก็อายุ 36 อยู่ที่นี่มา 30 กว่าปี เฉพาะหมู่บ้านซับหวาย ตำบลห้วยแย้  มีไม่น้อยกว่า 30 ครัวเรือนแน่นอน แม้อยู่ที่นี่เรียนหนังสือที่นี่ แต่พอจบ ม.3 ก็ไม่ได้เรียนต่อ เพราะต้องไปทำงานที่กรุงเทพ และใช้ชีวิตในเมืองหลวงอยู่หลายปีก่อนกลับบ้าน

 

iLaw: ชีวิตการงานที่กรุงเทพเป็นอย่างไร ทำไมมันผลักให้กลับสู่บ้านเกิด ?


นิตยา:     ทำงานโรงงานแรกอยู่พระราม 2 ทำงานเยอะมาก ทำโอทีทุกวัน เป็นโรงงานของคนจีนที่ทอผ้าและเย็บสำเร็จส่งออก ถ้าให้กลับไปทำก็ยังทำได้ เป็นทักษะที่ติดตัวมา แต่หลังๆ เขาน่าจะจำกัดอายุ เกิน 30 ปีจะไม่ค่อยรับเพราะสายตาไม่ค่อยดี การปะผ้า ปะลายผ้าต้องใช้สายตามาก ความละเอียด ความประณีตด้วย
 
จนไปทำที่บริษัทไทยศิลป์ จังหวัดสมุทรปราการ บริษัทส่งออกเครื่องหนังขนาดใหญ่ มีพนักงานร่วม 4,000 คน กระทั่งถูกปิดไปตอนปี 2549 เพราะพิษเศรษฐกิจ  นั่นเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจกลับบ้าน
  กลับมาที่บ้านก็ทำไร่และรับจ้างเกี่ยวกับเกษตร เกี่ยวข้าว ทำไร่มัน เรามีข้อสังเกตเล็กๆ ว่า พักหลังวัยรุ่นที่บ้านไม่ค่อยไปทำงานที่กรุงเทพแล้ว คนรุ่นๆ เดียวกันก็กลับมาอยู่บ้านกันหมด เพราะในกรุงเทพฯ ค่าใช้จ่ายสูง เมื่อก่อนพี่เคยเช่าบ้านอยู่เดือนละ 1,200 บาท เดี๋ยวนี้ 2,000 กว่าบาทแล้ว เมื่อก่อนข้าวจานละ 10-15 บาท เดี๋ยวนี้ 40 บาทขึ้นไป
คนที่นี่มีลักษณะชีวิตเหมือนกันหมด คือ หมดหน้าไร่ตัวเองก็ไปรับจ้างของคนอื่น สลับกันไป ไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้ ชะตาชีวิตขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตด้วย อย่าง 2 ปีที่แล้วที่เศรษฐกิจไม่ดี มันสำปะหลังราคาไม่ดี แค่หมุนเวียนใช้ในครอบครัวแทบไม่เหลือเก็บ อีกอย่างที่พาแฟนมานี่เพราะคิดว่าน่าจะหากินง่ายกว่า บ้านแฟนที่อำเภอหนองปรือ กาญจนบุรี ร้อนและแล้งกว่า เขาก็ทำไร่อ้อย แต่ตอนนี้บ้านถูกเวนคืนที่ดินทำอ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อย

 

iLaw: ปักหลักทำไร่ต่อจากครอบครัวเป็นสิบปี แล้วนโยบายทวงคืนผืนป่าเริ่มมาอย่างไร ?


นิตยา:  ตอนปี 2547 เรารู้เรื่องครั้งแรกจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เขาเอาหนังสือมาบอกว่า รัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า เขามาทำประชาคมชาวบ้านที่เทศบาลตำบลห้วยแย้ จะขอให้ชาวบ้านคืนพื้นที่เพื่อเพิ่มผืนป่า เราก็ไม่ได้สนใจ ไม่คิดว่าจะกระทบเรา เพราะไม่ใช่ผู้บุกรุกใหม่ เห็นพ่อแม่ทำกินที่นี่ตั้งแต่เด็กๆ และเราก็สืบทอดทำกินมานานหลายสิบปีแล้ว ตอนนั้นเราไม่รู้เรื่องกฎหมาย ไม่ได้สนใจเรื่องแบบนี้ กระทั่งเขามาทำความเข้าใจกับชาวบ้านอีกครั้งในช่วงปลายปี 2557
พอต้นปี 2558 เริ่มมีการติดหมาย ให้ออกจากพื้นที่ภายใน 30 เมษายน 2558  เขาใช้กระดาษติดตามหมู่บ้าน ไม่ใช่แค่พื้นที่เราแต่เป็นพื้นที่อื่นๆ ด้วย หากไม่รื้อเองจะมารื้อให้ตามกฎหมายที่เขาอ้างมา ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้สนใจอะไรอีก พอเป็นแบบนี้ชาวบ้านก็เริ่มรวมกลุ่มกัน คุยกันว่าจะทำยังไง บางคนอยู่บนภูเขาไม่ได้มีบ้านที่ข้างล่างเหมือนเรา หนำซ้ำไม่มีไฟฟ้าหรือปะปาใช้ ลำบาก และไม่มีที่รองรับด้วยว่าออกจากที่นี่จะให้ไปอยู่ที่ไหน

กระทั่งเดือนเมษายน 2558  เจ้าหน้าที่ขึ้นไปไร่ ไปเจอแม่ เลยทำปฏิบัติการขอคืนพื้นที่กับแม่ แม่เป็นคนเซ็นเอกสารคืนพื้นที่ให้ เซ็นแทนทั้งหมด ของเรา 10 ไร่ แล้วก็มีของน้อง ของพี่สาว และของแม่ รวม 4 คนพื้นที่อุทยานไทรทองต้องการ 15,000 ไร่ เราก็ไม่คิดว่าจะเป็นพื้นที่ของเราด้วย เพราะเขาพูดคำว่าผู้บุกรุกใหม่ ซึ่งมันไม่ใช่เรา
วันนั้นเขาเอากระดาษเปล่ามาให้แม่เซ็นด้วย ที่แม่ยอมเซ็นเพราะกลัวว่าจะไปขุดมันเหมือนเดิมไม่ได้ ก็เลยยอมเซ็นไป กลัวว่าลูกจะเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้

 

iLaw: จนถึงวันที่มีการออกหมายเรียก ต้องไปศาลครั้งแรกในฐานะจำเลยบุกรุกที่ดิน ?


นิตยา: ช่วงเมษายน ปี 2559 เราถูกออกหมายเรียกจากสภ.วังตะเฆ่ เพราะอุทยานฯ ร้องทุกข์กล่าวโทษ สามคน แรก มีเรา แม่(ทองปั่น ม่วงกลาง) กับน้องสาว(นริศรา ม่วงกลาง) จากนั้นก็เริ่มมีชาวบ้านทยอยโดนอีก 11 คนในลักษณะเดียวกัน ตอนโดนหมายเรียกก็โทรหาทนายความ ทางนั้นก็บอกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ถ้าไม่ไปจะลำบากตอนยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว คดีถึงชั้นอัยการและส่งฟ้องศาลจังหวัดชัยภูมิ ก็ขอใช้กองทุนยุติธรรมประกันตัว  จากนั้นใช้เวลาเป็นปีถึงจะเข้าสู่กระบวนการศาล ในชั้นสืบพยานช่วงต้นปี 2561 เป็นช่วงเวลาที่เราและชาวบ้านซับหวายที่โดนคดีต่างพบความยากลำบาก เพราะระยะทางไปตัวจังหวัดไกล 80 กว่ากิโลเมตร ช่วงนั้นต้องไปศาลบ่อยมาก มีทั้งวันสืบพยานโจทก์ สืบพยานจำเลย อย่างพี่มี 2 คดีก็ต้องไปถึง 4 วันต่อสัปดาห์ ตอนนั้นใช้เวลาอยู่กับพี่ทนายร่วม 4 เดือน จนเขามาเช่าบ้านที่ชัยภูมิไว้ 3 เดือน เราก็ไปขอพักอยู่ที่นั่นด้วย

 

iLaw: ตอนขึ้นศาลช่วงแรกๆ ชาวบ้านรู้สึกกังวลอะไรบ้าง ?


นิตยา:  ทุกคนกลัวการขึ้นศาล เราสังเกตได้เวลาขึ้นสืบพยาน เวลาศาลถามจะกลัวมาก วันแรกไปถึงที่เป็นการนัดพร้อมสอบคำให้การ ก็ไปกันทั้ง 14 คนเลย ทนายความยังมาไม่ถึง หัวหน้าศาลถามว่าใครเป็นตัวแทนชาวบ้าน พี่ก็ลุกขึ้น ใจเต้นโครมคราม กลัวพูดอะไรไม่ถูก
หลังการอ่านคำฟ้องยาวๆให้ฟัง ศาลถามว่าจะต่อสู้คดีหรือว่ารับสารภาพ เราก็บอกว่า ให้การปฏิเสธและจะต่อสู้คดี ศาลก็ถามว่าจะสู้คดียังไง ? เราก็บอกว่า เราคิดว่าเราไม่ได้บุกรุก
ศาลถามว่า รู้ไหมว่าถ้าไม่มีเอกสารสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.กฎหมายที่ดิน ถือเป็นผู้บุกรุกแล้วจะเอาอะไรมาสู้  ?เราก็บอกว่า เอาข้อเท็จจริงที่เราไม่ได้บุกรุกมาต่อสู้ และปัจจุบันมีกระบวนการแก้ไขปัญหาอยู่ ตั้งแต่ก่อนที่เราจะเกิดคดี จนถึงทุกวันนี้ แล้วศาลก็บอกว่า เรียนจบอะไรมา ทำไมรู้ ?เราก็บอกว่า ไม่ได้เรียนหนังสือค่ะ รู้เพราะว่ามันเจอกับตัวเอง มันเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ 

 

iLaw: การสืบพยานเราใช้อะไรมาแก้ต่างว่าไม่ได้บุกรุกอุทยานฯ ?

นิตยา:  พยานก็จะใช้คนแก่ ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นมานาน 1 คน ที่เป็นคณะทำงานร่วมกับจังหวัดที่แก้ไขปัญหาร่วมกัน 1 คน และตัวจำเลยเองอีก 1 คน จะใช้แค่ 3 ปาก ที่เหลือเป็นพยานเอกสารที่มีไม่น้อยเลย แต่แค่สืบ 3 ปาก บางทีก็ใช้เวลาถึงค่ำ

 

 

iLaw: จนวันฟังคำพิพากษา ครั้งแรกอาจจะยังไม่ติดคุก พอคำพิพากษาอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นบรรยากาศน่าจะเปลี่ยนไปจากเดิม ?


นิตยา: วันนั้น 15 พฤษภาคม 2562  ไปจากบ้านซับหวาย เหมารถไปด้วยกัน วันนั้นฟังคำพิพากษาคนเดียว และเป็นคนแรกของการพิพากษาชั้นอุทธรณ์  จำได้ว่าเรายื่นอุทธรณ์ไปแค่ 1 เดือน 25 วันศาลก็ตัดสินแล้ว คิดในใจว่าเขาอ่านเอกสารเราหรือเปล่าทำไมตัดสินไว เราคิดแล้วว่าต้องลงดาบแน่นอน คิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องมีการเชือด”
เราคิดหลายเรื่อง คิดถึง 13 คนที่เหลือที่ต้องติดคุก คิดถึงค่าใช้จ่ายระหว่างนี้ คิดไปถึงคนที่อยู่ข้างนอก วันนั้นศาลนัดไป 9 โมง พอเห็นคนมาเยอะ เห็นนักข่าวมา เขาก็เร่งอ่านคำพิพากษา ทุกคนต่างประเมินว่าไม่น่าโดนจำคุก และคดีป่าไม้มันเป็นเรื่องวิถีการทำกิน หาเลี้ยงชีพ ไม่คิดว่าจะต้องคิดคุก และไม่น่าจะเลวร้ายถึงขั้นเข้าไปอยู่ในเรือนจำ
พอศาลอ่านคำพิพากษาไปบรรทัดแรกเราคิดในใจเลย ถ้าเอาคำเบิกความขึ้นอ่านคำแรกนี่ พิพากษายืนแน่นอน เราก็รู้อยู่แก่ใจ เพราะก็เคยเห็นมาก่อน ยิ่งตอนช่วงหลังที่มาคดีตัวเองที่ศาลชัยภูมิ ทำให้เห็นคดีอื่นๆด้วย ว่าเขาตัดสินยังไง เช่น คดียาเสพติด เขาก็จะถามเราเหมือนกันว่าเราโดนคดีอะไร คดี พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ   แล้วเราก็สังเกตจากการสืบพยานโจทก์ พยานจำเลย การถามค้านของอัยการ ก็สังเกตจากตรงนี้ ว่าก่อนหน้ากระบวนการเรามีจุดเด่นจุดด้อยยังไง แต่สิ่งที่เราเห็นชัดคือเอกสารที่มาจากเรา มันไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าเอกสารแผ่นเดียวของโจทก์เลย บางอย่างเราก็อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมเอกสารราชการแค่แผ่นเดียว  ถึงแม้ไม่ครบถ้วน ทำไมมันมีน้ำหนักเหลือเกิน แต่ของเราเป็นเอกสารที่ยืดเยื้อยาวนาน ทำไมมันไม่มีน้ำหนักพอที่เขาจะหยิบยกขึ้นมาอ่านในคำพิพากษาบ้าง

 

iLaw: สิ่งที่ตามมาหลังคำพิพากษานั้น ?

นิตยา: พออ่านคำพิพากษาเสร็จ ทุกคนเศร้ามาก พี่น้องทุกคนร้องไห้เลย เรามองออกไปข้างนอก ประมาณ 40 คนที่ร้องไห้ แต่เราไม่ร้อง เพราะถ้าข้างนอกร้องข้างในจะไม่ร้อง เราพยายามยกมือว่าเรายังไหว เรายังอยู่ตรงนี้ ทนายก็มาคุยว่าจะมีกระบวนการฎีกาใช้เวลา 1 เดือน แต่รู้อยู่แก่ใจว่าเขาไม่ให้ฎีกาแน่นอน
‘พี่ทนายไม่ต้องปลอบใจหนูหรอก หนูพอรู้อยู่แล้วว่าเขาจะไม่ให้ฎีกา’ เรารู้เพราะเราศึกษาไปถึงกฎหมายราชฑัณฑ์ กองทุนยุติธรรม หรือเรื่องสิทธิผู้ต้องขัง  แต่พอพูดกับชาวบ้านเราพูดแค่ว่า ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวก็ได้ประกันออกมา
เราก็คิดนะว่าทำไมศาลไม่มองเอกสารหลักฐานของทางเราบ้าง และมีบางรายที่น่าให้บรรเทาโทษมาก เช่นคนแก่อายุ 70 ปี อะไรแบบนี้ คือเขาไปอยู่ในนั้นมันไม่เป็นประโยชน์เลย น่าจะรอลงอาญาได้ แต่ศาลก็ตัดสินแล้วเราก็ยอมรับคำตัดสิน แล้วก็สู้กันต่อไปจนนาทีสุดท้าย

 

iLaw: ช่วยเล่าบรรยากาศวันแรกๆ ในเรือนจำชัยภูมิให้ฟังหน่อย ?

นิตยา:  วันนั้นรถเรือนจำมารับ 5 โมงเย็น ไม่ได้เตรียมอะไรเข้าไป มีผ้าถุงผืนเดียว รองเท้า 1 คู่ พอเข้าไปเพื่อนนักโทษที่อยู่ข้างในถามว่า ยากี่เม็ด ? เราก็บอกว่าไม่ได้มาคดียาเสพติด มาคดีป่าไม้ เขาบอกว่าไปเก็บเห็ดในป่าแล้วโดนจับเหรอ ?
ส่วนใหญ่คนในคุกจะถามแบบนี้ เพราะเขาไม่มีความรับรู้เรื่องว่า ทำไร่ก็ติดคุก ข้างในเป็นคดียาเสพติด 90 % เลยก็ว่าได้ ที่เหลือเป็นคดีฉ้อโกง ลักทรัพย์ เขาถามว่าติดกี่ปี เพราะส่วนใหญ่ที่นี่นักโทษที่ติดคุกจะติดเป็นปี เราก็บอกว่าตัดสินแล้ว 4 เดือน เขาก็บอกว่าทำไมโทษน้อยแท้ เราก็บอกว่าคดีป่าไม้มันโทษไม่เยอะ อย่างผู้คุมก็มีมาบอกว่า คดีเตะตอกล้วยก็ได้เข้ามาอยู่ในนี้เนาะ คือ คนในเรือนจำเขาจะรู้จักเราจากข่าว และก็ทำเป็นแฟ้มประวัติเลย ส่งผู้ตรวจการกระทรวงยุติธรรม รองอธิบดีกรมราชฑัณฑ์มาเยี่ยมเรา มาถามว่า มีใครกลั่นแกล้งไหม นอนถูกพัดลมไหม กินข้าวอร่อยไหม ?
วันทั้งวัน 24 ชั่วโมง ก็คือตื่นตีห้า กินข้าว และทำงานในโรงเบเกอรี่

 

iLaw: ตอนอยู่ข้างในนั้นห่วงอะไรมากที่สุด ?

นิตยา:  ตอนที่อยู่ในเรือนจำเรากังวลกับคนข้างนอกมากกว่า หนึ่ง คนข้างนอกจะลำบาก ครอบครัวเราจะต้องลำบาก พ่อจะอยู่ยังไง เพราะว่าครอบครัวเราติดคุกหมดเลย เราคิดว่าแฟนเราเขาต้องทำงานหนักเพราะว่าทำไร่คนเดียวแล้วต้องมารับผิดชอบในครอบครัวอีก แล้วก็ลูกอีก เขาบอกว่าเขาทำใจไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้จะพูดอะไร เขาจะไม่พูดเลย เรามองเห็นแบบนั้นเราอึดอัด เราบอกว่าไม่ต้องคิดอะไร ถ้าทำใจไม่ได้ก็ไม่ต้องมาเยี่ยม ถ้าวันไหนที่ทำใจได้แล้วค่อยมา เราสงสารเขา จากนั้นอีกประมาณ 1 เดือนครึ่ง เขาถึงจะมาเยี่ยมเรา เราเข้าใจว่าเขาก็คงทำใจไม่ได้ที่จะเห็นเราใส่ชุดแบบนั้นออกมา แล้วงานที่เขาต้องทำมันเยอะ เขาบอกว่าถึงเราจะยิ้มแต่เขารู้จักเราดีว่าเราจะไม่พูดอะไรทำให้คนข้างนอกไม่สบายใจ จนกระทั่งวันที่ได้ประกันตัวออกมาสู้คดีฎีกาก็เป็นเขาที่รีบขับรถจากบ้านมารับกลับไป

 

iLaw: แต่สุดท้ายพอได้ออกมา คนที่ไปรับก็คือแฟน  ?

นิตยา:   พอออกมาก็มีพี่ทนายและแฟน พี่น้อง 4-5 คน มารอรับ เราประเมินในใจว่า สงสัยถ้าศาลเบิกไปฟังคำสั่งประกันตัว เขาจะรู้ว่าเราจะได้กลับบ้าน ก็คงกลัวว่าพี่น้องจะมารับเยอะมากมั้ง เพราะว่าเวลาที่ศาลเบิกเราไป พี่น้องเขาจะมาเยอะมาก เพราะมันรู้ก่อนไงว่าต้องไป แต่พออันนี้ก็คือว่า ทำไมถึงไม่เบิกไป ทั้งทีมเองเขาก็ประเมินเหมือนกันว่า สงสัยเรือนจำเขากลับเป็นข่าว เขาคอนเฟอเรนต์มา เพราะว่าคดีอื่นเขาก็จะเบิกตัวหมด มีคดีเราคดีเดียวที่คอนเฟอเรนต์

 

iLaw: สังเกตอย่างหนึ่งว่า ทำไมคนที่โดนคดีอุทยานไทรทอง ส่วนมากเป็นผู้หญิง ?

นิตยา:   คนที่ถือครองที่ดินจะเป็นผู้หญิง เพราะเป็นคนบ้านนี้ แต่ได้แฟนมาจากที่อื่นมากกว่า ส่วนใหญ่มันก็เลยจะเป็นผู้หญิง อย่างสมพิต(หนึ่งในจำเลย) จริงๆ แล้วก็เป็นที่ของเมีย แต่ว่าเมียไม่สมประกอบก็เลยให้สามีไปถือครอง ถ้าสมมติว่าเมียไปอยู่เรือนจำน่าจะหนักกว่าสามี เพราะว่าไม่สมประกอบแล้วลำบากจริง ๆ

 

iLaw: มันจะมีคำที่เขาใช้ประจำ คือ คนที่โดนทวงคืนผืนป่าจะมีข้อยกเว้นแก่ผู้ยากไร้ คิดยังไงกับคำนี้ ?

นิตยา:  คิดว่ามันไม่มีจริง คำว่าคนจนผู้ยากไร้ อย่างรัฐบาลเองออกบัตรคนจนมา คนที่ถูกคดีนี้ มีบัตรคนจนทุกคนนะ ที่อายุเยอะ ๆ เวลานำสืบ สืบให้เห็นว่าเป็นคนจนคนยากไร้ แต่ศาลไม่มอง

 

iLaw: แล้วสิ่งที่ชี้ให้เห็นเป็นผู้ยากไร้ในคดีนี้คือเรื่องอะไรบ้าง ?

นิตยา:   สิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเป็น “ผู้ยากไร้” เหมือนกันคือ เราไม่มีที่ดินทำกินอื่น เรามีที่ดินทำกินแค่ที่ถูกจับนี้แล้ววิถีการทำกินของเรา คือ เพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ได้เพื่อเป็นนายทุน หาเงินได้จากการทำไร่บนที่ดินที่เป็นคดีก็เอามาใช้จ่ายในครัวเรือน ให้ลูกไปโรงเรียน ให้พ่อแม่อะไรอย่างนี้ ถามว่าจะเอาจนแค่ไหนถึงจะบอกว่ายากไร้ แล้วต้องยากไร้แค่ไหน เอาถึงขั้นไม่มีที่ซุกหัวนอนก็มันเป็นปัญหาของสังคม ไม่ทำมาหากินก็เป็นปัญหาของสังคม พอเราทำไร่ก็บอกว่าพื้นที่ทำกินมันไม่ถูกกฎหมาย อันนี้ นโยบายกับวิธีปฏบัติของรัฐยังขัดแย้งกันอยู่ รัฐพยายามแก้ปัญหาคนไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ที่ดินทำกิน พยายามผลักดันให้ไม่มีคนนอนใต้สะพานลอย พยายามผลักดันให้ไม่มีคนเร่ร่อนในกรุงเทพฯ แต่รัฐก็กำลังทำให้คนที่อยู่ในป่า เข้าไปเร่ร่อนในกรุงเทพเพราะไม่มีที่ดินทำกิน เพราะไม่มีที่อยู่อาศัย
คนยากจนยากไร้ คุณมองว่าจะต้องไม่มีเสื้อผ้าใส่ นั่งขอทานเลยหรือ ถึงจะบอกว่าจน แล้วก็บอกว่าไม่ทำมาหากินเพราะว่าขี้เกียจ รอแต่บัตรคนจน สวัสดิการจากรัฐ พี่ไม่ได้ไปทำนะ บัตรสวัสดิการของรัฐ เพราะมองว่าตัวเองยังทำมาหากินได้ รับจ้างรายวันกินได้ ขอให้เอาภาษีตรงนี้ไปให้กับคนที่ทำมาหากินไม่ได้จริงๆ

เราทำมาหากินนะทุกวันนี้ แล้วถามว่ามีรถมีบ้าน จะไม่ให้มีอะไรเลยทั้ง ๆที่เราก็ยังทำมาหากินอยู่ทุกวัน  ทำงานแทบไม่มีเวลาหยุดเวลาพัก จะไม่ให้มีอะไรเลยหรือ มันเป็นไม่ได้ ทุกคนอยากมีทั้งนั้นทใครจะอยากเป็นคนจน เราไม่อยากเป็นคนจน แต่วิถีการทำกินของเรา มันใช้แรงงานเราเอง          

 

iLaw: แล้วทางเจ้าหน้าที่อุทยาน หรือว่าทางอัยการตีความยังไงว่า เราไม่ได้เป็นบุคคลตามข้อยกเว้นของกฎหมาย ?

นิตยา:  ตามคำพิพากษามองว่า คำสั่งที่ 66/2557  ที่บอกว่าไม่ให้กระทบผู้ยากจน ยากไร้แต่กระบวนการยุติธรรมมองว่า คำสั่งที่ 66 ต้องตาม 30 มิถุนายน 2557 ซึ่งจริง ๆ แล้วมองว่ามันไม่ใช่ ถ้าตีตามเจตนาของคำสั่ง 66 จริง ๆ คือ คนที่ทำกินก่อนคำสั่งนี้ อันนี้คืออันที่หนึ่ง อันที่สองคือคนที่ถือครองไม่เกิน 25 ไร่ ตามหลักเกณฑ์กำหนดการณ์ที่เขากำหนดไว้ บางคนมีที่แค่ 6 ไร่ ก็โดนฟ้องโดนจับ ทั้ง ๆ ที่ ตรวจสอบจากคณะทำงานแล้วไม่มีที่ที่อื่นเลย แต่ก็ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการอ่าน

 

iLaw: คิดว่าการที่เขาจับเราหรือคนอื่นๆ ไปเข้าคุกคดีนี้ ทำให้ผืนป่าประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ขึ้นไหม ?

นิตยา:   เราตั้งคำถามเลยว่า เราติดคุกแล้วคุณได้ป่าคืนไหม คุณได้ป่าเพิ่มขึ้นไหม คุณได้ประโยชน์อะไรจากการให้เราไปติดคุก ทุกวันนี้ป่าที่คุณเอาคืนไป มีต้นไม้ถึง 10 ต้นไหม ใช้งบประมาณดูแลมา 3-4 ปี มีต้นไม้กี่ต้น เราไปติดคุกแล้วมีต้นไม้เจริญเติบโตขึ้นไหม ก็ไม่มี
เราเคยถามในที่ประชมอุทยานนะ คุณมาทำแผนการจัดการทรัพยากรร่วมกันกับเรา อนุญาตให้คนใช้พื้นที่โดยการมีกฎระเบียบ ขอบเขตร่วมกัน

 


iLaw: ประเมินความเสี่ยงตัวเองบ้างไหม ?

นิตยา: ตอนนี้ก็พร้อมกับความเสี่ยงทุกประการอยู่แล้ว ที่สุดแล้วถ้าเราไม่สู้เราก็ไม่มีที่ไป ถ้าเราไม่สู้สังคมก็จะไม่รู้ว่ามันมีคนอยู่ในป่า ถูกจับดำเนินคดีเพราะทำไร่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เคยถูกจับมาก่อน แต่มาถูกจับเพราะเรื่องแบบนี้ ติดคุกเพราะมีที่ดินแค่นี้ อยากสู้ให้สังคมมองว่าจริงๆ คนอยู่ในป่า หากินรับจ้างได้แค่วันละ 200 บาท แต่คนในเมืองมีค่าแรงขั้นต่ำนะ อย่างปีนี้ทำไร่ ค่อนข้างแล้ง เราทำไปเราก็รู้ว่าขาดทุนอยู่แล้ว ความโชคดีคือเราเก็บผัก หาของป่ากินได้ ไม่ต้องใช้เงินซื้อทุกวัน ถ้าเราไปอยู่ที่อื่นก็ไม่มีที่ดิน พ่อแม่เราอีก มันจะกลายเป็นปัญหาสังคมต่อไป ถ้ามีข้อตกลงร่วมกัน แผนทำงานที่ดีร่วมกัน มันก็อยู่ได้ ที่ผ่านมาเราก็พิสูจน์เห็นแล้วว่าคนอยู่ร่วมกับป่าได้


iLaw: ทางครอบครัวทั้งแฟนและลูกชายรับรู้การต่อสู้เรามาตลอด ?

นิตยา: ครอบครัวก็ยังพร้อมจะสู้ จริงๆ แฟนเราเองก็ห่วง เขาไม่อยากให้ไปไหนมาไหนคนเดียว อย่างพื้นที่เอง บนไร่เราข้างบน โอกาสที่จะเจอเจ้าหน้าที่อุทยานที่เป็นโจทก์ก็มีสูง เขาไม่ชอบเราอยู่แล้ว แต่สถานการณ์ความจำเป็นทำให้ต้องไป เราทำไร่ทุกวัน แล้วในช่วงที่เราต่อสู้ ตอนบิลลี่หายไป เขาต่อสู้ลักษณะคล้ายๆ กัน แฟนเราก็เป็นห่วงเรื่องนี้มากด้วยความเป็นผู้หญิงด้วย แต่เรามองว่าอะไรจะเกิดมันก็เกิดนั่นแหละ เราเดินมาสายนี้แล้วมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ามาคำนึงแต่ความปลอดภัยตัวเองแล้วมันจะไปต่อไม่ได้ หัวใจหลักคือประเด็นการทำงานมาอันดับแรก ความปลอดภัยไว้ที่สอง อย่างลูกชาย เขาก็รู้ว่าเราต่อสู้และกังวลใจ เขาเห็นว่าเราไม่มีเวลาอยู่กับเขา ไม่มีเวลากับครอบครัวเลยตั้งแต่เรามาทำงานตรงนี้ เวลาส่วนใหญ่คือการทำงาน แล้วก็ทำไร่ ไม่มีเวลาแม้แต่จะพักผ่อนเลย
‘เมื่อไหร่แม่จะเลิกทำงานแบบนี้’ ‘เมื่อไหร่เรื่องจะจบ’ ‘เมื่อไหร่แม่จะเลิกอดนอน และพ่อจะได้ไม่อดนอนเพราะขับรถไปส่งแม่’ ลูกมักถามอะไรแบบนี้ ตอนนี้เขาก็ไปอยู่บ้านตากับยายเพราะเราไม่มีเวลาดูแล แต่เขาก็ให้กำลังใจเรานะ จะบอกเสมอว่าไม่มีอะไรที่แม่ทำไม่ได้ แม่ผ่านมาเยอะแล้ว แม่เก่งอยู่แล้ว เพื่อนของเขาจะถาม ครูของเขาจะถามเสมอๆ แม่มึงเป็นจั่งซั่นจั่งซี้เบาะ  ?  เขาจะบอกว่าแม่เราไม่กลัวอะไรอยู่แล้ว

*คดีที่ 1 นิตยาถูกศาลจังหวัดชัยภูมิ จำคุกหนึ่งปี ลดเหลือแปดเดือน ชดใช้ค่าเสียหาย 150,000 บาท คดีที่สอง จำคุกสี่เดือน ชดใช้ค่าเสียหาย 40,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกา

Article type: