1007 1656 1174 1525 1444 1227 1135 1852 1234 1143 1497 1257 1281 1589 1673 1938 1495 1151 1611 1254 1235 1264 1428 1793 1349 1379 1143 1721 1462 1115 1594 1816 1645 1758 1642 1311 1493 1248 1691 1584 1977 1885 1599 1543 1916 1196 1712 1598 1979 1613 1366 1498 1499 1781 1787 1228 1328 1883 1719 1989 1084 1143 1197 1153 1096 1797 1690 1322 1040 1378 1468 1590 1720 1723 1899 1072 1897 1780 1958 1269 1699 1516 1361 1578 1942 1228 1563 1205 1292 1721 1641 1173 1009 1631 1886 1019 1967 1974 1374 ประชาชนขยับ จี้รัฐบาลต้องแก้ไขฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน เปิดให้ประชาชนร่วมกำหนดนโยบายจัดการฝุ่น | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ประชาชนขยับ จี้รัฐบาลต้องแก้ไขฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน เปิดให้ประชาชนร่วมกำหนดนโยบายจัดการฝุ่น

 
23 มกราคม 2563 ภาคประชาสังคมนำโดยกรีนพีซ ประเทศไทย, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, Friend Zone และ Climate Strike Thailand จัดกิจกรรม“พอกันที ขออากาศดีคืนมา” เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือทำเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนจากวิกฤตฝุ่น PM2.5 โดยดำเนินมาตรการที่สอดคล้อง มีประสิทธิภาพ ยั่งยืนและเป็นธรรม รวมถึงการยกระดับมาตรฐานปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้เข้มงวด ตลอดจนการปฏิรูปนโยบายสิ่งแวดล้อม เช่น กฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายทำเนียบการเคลื่อนย้ายและปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
 
 
1323
 

ตั้งแต่เวลา 8.00 น. ที่บริเวณถนนนครปฐม ด้านข้างสํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.ร.)เริ่มมีประชาชนทยอยกันมาเข้าร่วมกิจกรรม ท่ามกลางการสังเกตการณ์จากเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมากกว่าสิบนาย  ระหว่างนั้นธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทยได้เริ่มกิจกรรมโดยการพูดคุยถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมและให้ความเห็นต่อการรับมือของรัฐบาลต่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5   ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แต่งกายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น นำเอาหน้ากากออกซิเจนที่มีสายต่อเข้ากับขวดแก้วขนาดใหญ่ที่ภายในบรรจุต้นไม้ไว้ หรือนำถุงพลาสติกมาครอบศีรษะและผูกด้วยเชือกที่ลำคอ ซึ่งหมายถึงประชาชน ผู้ไม่มีทางเลือก ต้องมาอยู่ในสภาพอากาศเช่นนี้ เหมือนถูกคุมขังอยู่ในพื้นที่จำกัด นอกจากนี้ยังมีการเขียนป้ายข้อความเรียกร้อง เช่น ขออากาศดีดีคืนมา
 

ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งขบวนและเดินมาที่สำนักงานก.พ.ร.เพื่ออ่านแถลงการณ์และยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ระหว่างที่รอผู้รับมอบอำนาจมารับหนังสือ ได้มีตัวแทนภาคประชาสังคมและประชาชนการผลัดเปลี่ยนกันพูดให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว
 
 
หนึ่งในตัวแทนที่ออกมาแสดงความเห็นคือ สุรชัย ตรงงาม จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง แต่ที่ผ่านมายังมองไม่เห็นถึงการบังคับใช้แผนอย่างมีประสิทธิภาพอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน วันนี้เราต้องการหลักประกันในการแก้ไขปัญหา เช่น เรื่องค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ที่ไทยมีการกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(เฉลี่ย 24 ชั่วโมง) ในขณะที่ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกอยู่ที่  25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่ามาตรฐานขั้นต่ำกลับกลายเป็นค่ามาตรฐานขั้นสูงในการได้รับมลพิษ กลับกลายเป็นข้ออ้างของทางรัฐบาลที่บอกว่า ฝุ่น PM 2.5 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน
 
 
1324
 

ในส่วนของแผนปฏิบัติการฯ พบว่า มีการกำหนดรายละเอียดไว้แล้ว แต่ปัญหาคือ เราในฐานะประชาชนต้องการการมีส่วนร่วมเราไม่ต้องการให้รัฐกำหนดแผนปฏิบัติการฯและมาบอกเรา รัฐควรจะระดมความคิดเห็นกับประชาชนและเขียนเป็นแผนปฏิบัติการฯ ทั้งที่ผ่านมาเราไม่เห็นเลยว่า รัฐบาลได้เผยแพร่ข้อมูลการจัดการฝุ่น PM 2.5 สู่สาธารณะ จึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยการจัดการและจัดทำแผนปฏิบัติจะนำไปสู่การแก้ไขที่ยั่งยืน  และขอย้ำว่า หากรัฐบาลไม่ดำเนินการ จะขอใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป
 

ต่อมาเวลาประมาณ 10.20 น. ตัวแทนภาคประชาชนได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องและยื่นต่อนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประทีป กีรติเลขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ผู้แทนมารับหนังสือ
 

ก่อนหน้านี้วันที่ 22 มกราคม 2563 ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทยได้แจ้งการชุมนุมสาธาณะตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯต่อผู้กำกับการสน.ดุสิต เนื้อหาคือ มีการรวมตัวที่ทางเท้าด้านข้างวัดเบญจมบพิตร ต่อมาผู้กำกับการสน.ดุสิตได้ติดต่อธาราของให้ขยับมาที่รวมพลมาใกล้กับบริเวณสำนักงานก.พ.ร. เพื่อให้พ้นจากรัศมีระยะ 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน ซึ่งธาราได้แจ้งแก้ไขสถานที่รวมตัวเป็นบริเวณทางเท้า ริมคลองเปรมประชากร ถนนนครปฐมแทน
 
 
 
แถลงการณ์
“พอกันที #ขออากาศดีคืนมา”
 
 
23 มกราคม 2563
 
 
นับจากปี พ.ศ.2561 ที่แรงกดดันทางสังคมจากความตระหนักถึงผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากฝุ่นพิษ PM2.5 ส่งผลให้ภาครัฐประกาศดัชนีคุณภาพอากาศใหม่ที่รวม PM2.5 มาจนถึงปัจจุบัน เราทุกคนเป็นประจักษ์พยานถึงระดับฝุ่นพิษ PM2.5 ที่อันตรายและส่งผลกระทบในวงกว้าง บางคนเกิดอาการแพ้อย่างหนักตั้งแต่แสบตา เจ็บคอ หายใจไม่สะดวก จนถึงเลือดกำเดาไหล ไอเป็นเลือด  อาการเหล่านี้สอดคล้องกับงานศึกษาผลกระทบสุขภาพจากฝุ่นพิษ PM2.5 ทั้งขององค์การอนามัยโลก สหภาพยุโรป และองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา รายงาน State of Global Air ในปี พ.ศ. 2558 ระบุว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรในประเทศไทย ประมาณ 37,500 คนต่อปี ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอย่างเป็นทางการให้ฝุ่นพิษ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง
 
 
นี่คือวิกฤตด้านสาธารณสุขในสังคมไทย!
 
 
ความตระหนักของประชาชนต่อผลกระทบจากฝุ่นพิษ PM2.5 ยังทำให้รัฐบาลกำหนดให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหาขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 แต่น่าเสียดาย สิ่งที่ไม่มีในแผนปฏิบัติการฯ นี้ เมื่อเกิดวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 คือ ทีมเตรียมพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉิน(Emergency Response Team) และระบบการสื่อสารสาธารณะที่รวดเร็ว ฉับไว แม่นยำ เที่ยงตรง และเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งและรอบด้านเพื่อให้ประชาชนสามารถปกป้องดูแลสุขภาพของตนและครอบครัวได้ทันท่วงที ซ้ำร้าย สิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอต่อสาธารณะคือความเพิกเฉยต่อปัญหา สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของประเทศ และโยนภาระมาให้ประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษีในท้ายที่สุด
 
 
แม้ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ระบุว่า “สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน” จึงมีมติเห็นชอบให้ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต 12 ข้อ แต่มาตรการดังกล่าวขาดเป้าหมายที่ชัดเจนและไม่มีฐานข้อมูลที่มาจากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจสอบและสั่งปิดโรงงานที่ปล่อยมลพิษทางอากาศจนกว่าจะมีการแก้ไขนั้น ไม่มีฐานข้อมูลรองรับว่าจะตรวจสอบโรงงานประเภทใด จะลดฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นปริมาณเท่าใด และประชาชนจะมีส่วนร่วมในการติดตามการทำงานของภาครัฐได้อย่างไร การจัดทำฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่นพิษ PM2.5 (Inventory) ได้คำนึงถึงมลพิษทางอากาศข้ามจังหวัด(Interprovincial)หรือข้ามพรมแดน(Transboundary)ด้วยหรือไม่ ที่สำคัญ มาตรการ 12 นั้นเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องควบคุมตรวจสอบและดำเนินการให้เป็นตามกฏหมายอยู่เดิมแล้ว
 
 
ส่วนมาตรการขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ เอกชน ประชาชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานนั้นจะไม่เกิดขึ้นได้เลยหากไร้ซึ่งแรงจูงใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่แท้จริง เช่น การลดราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทั้งระบบหรือใช้ขนส่งสาธารณะฟรีในวันที่มีวิกฤตฝุ่น ในขณะเดียวกัน ทำการพัฒนาปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมต่อกันอย่างดี มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และราคาสมเหตุสมผลเพื่อรองรับผู้คนจำนวนมากที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการลดการใช้รถยนต์
 
 
การที่ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันสุขภาพ เช่น หน้ากากและเครื่องฟอกอากาศ ได้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยให้มากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้าง “clean room” กระจายอยู่ในพื้นที่สาธารณะเพื่อบริการประชาชนที่สัญจรตามทางเท้าในช่วงวิกฤตมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐจะต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจวัดมลพิษทางอากาศและให้ข้อแนะนำการซื้อและใช้อุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษขนาดเล็กและการตรวจสอบความถูกต้องของอุปกรณ์
 
 
เพื่อเริ่มต้นปกป้องประชาชนจากผลกระทบฝุ่นพิษ PM2.5 รัฐบาลต้องปรับ “มาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศ" ของประเทศไทยให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายชั่วคราวที่ 3 ของ WHO(Interim Target 3) โดยที่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีคือ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ.2563 ในขณะเดียวกัน เพื่อลดปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 ในสิ่งแวดล้อม รัฐบาลต้องเน้นมาตรการการลดการปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานการปล่อยฝุ่นพิษ PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก (Emission standard) ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมหรือกระทั่งรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมยังถูกควบคุมด้วยค่ามาตรฐานของ ‘ฝุ่นละอองรวม’ ทั้งที่ความเป็นพิษของฝุ่นแต่ละขนาดมีไม่เท่ากัน และการตรวจวัดก็ต่างกัน
 
 
เพื่อลดปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 ในเมืองใหญ่ รัฐบาลต้องตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน นอกจากเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะแล้ว ให้นำพื้นที่จากหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือเป็นหน่วยงานกลางเมืองที่ประชาชนไม่ได้ติดต่อเป็นประจำย้ายไปนอกเมืองและสร้างสวนธารณะขึ้นแทน งานวิจัยโดย The Nature Conservancy ระบุว่า หากมีพื้นที่สีเขียวมากพอจะลดปริมาณฝุ่นได้เฉลี่ยร้อยละ 7 - 24
 
 
การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 จากภาคเกษตรกรรม ไม่ใช่ข้อจำกัดของการเคารพสิทธิมนุษยชน ดังคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี เพราะสิทธิของประชาชนและเด็กๆที่จะได้รับอาหาร น้ำ อากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของ "อภิสิทธิชน" และการส่งเสริมบทบาทกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งมลพิษทางอากาศและการใช้สารเคมีการเกษตรร้ายแรงของประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไข
 
 
มาตรการของรัฐบาลที่เพิ่งประกาศให้มีการลดการเผา จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ทั้งในแง่การใช้มาตรการที่เข้มงวดให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานยุติการรับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผาทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยน การพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดการเศษซาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อฟื้นฟูพัฒนาดิน
 
 
ในระยะยาว มีความจำเป็นในการลดพื้นที่การผลิตพืชเชิงเดี่ยวทั้งข้าวโพด และอ้อย เนื่องจากนอกจากผลตอบแทนจะต่ำกว่าการผลิตรูปแบบอื่นหลายเท่าตัวแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบกว้างขวางดังที่เห็น  โดยที่ผู้ได้ประโยชน์จากระบบการผลิตเหล่านี้กลับไม่ใช่เกษตรกรรายย่อย แต่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เกิดขึ้น ได้แสดงให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปได้เห็นแล้วว่า เราไม่อาจปล่อยให้ทิศทางการพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศเป็นไปตามแรงผลักดันของบริษัทยักษ์ใหญ่หรือหน่วยงานรัฐแต่เพียงลำพัง
 
 
ท้ายที่สุดแล้ว วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติลงโทษหรือความโชคร้าย รากเหง้าของปัญหามาจากการพัฒนาที่ผิดทิศทาง และไม่มีมาตรการป้องกันทางสิ่งแวดล้อมรองรับก่อนการตัดสินใจอย่างเพียงพอ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผลจากแรงกดดันทางสังคม รัฐบาลประกาศมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวออกมาอย่างต่อเนื่องส่วนใหญ่ไม่ได้ผล ทางออกจากวิกฤตนี้ นอกจากการรับมือเฉพาะหน้าแล้ว ต้องอาศัยการทำงานในระยะยาว และเครื่องมือที่สำคัญคือ ‘กฏหมาย’ เช่น (1)กฎหมายกำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อย PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก (Emission standard) ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมหรือกระทั่งรถยนต์ (2) การจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) (3) กฏหมายว่าด้วยการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment – EIA) ที่คำนึงถึงความสามารถในการรองรับของมลพิษในพื้นที่และผลกระทบข้ามพรมแดน (4) กฏหมายกำหนด ‘ระยะแนวกันชน’ ระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษกับแหล่งชุมชน (Buffer zone) และ (5) การดึงหลักเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้เพื่อจัดการปัญหามลพิษ เช่นมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อม ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ การประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเสริมกับมาตรการเชิงบังคับควบคุมที่ต้องใช้งบประมาณมากแต่ไม่เพียงพอในการจูงใจให้ผู้ก่อมลพิษเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้
 
 
ความสำเร็จของประเทศอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐอเมริกาในการควบคุมปริมาณ PM2.5 จนมีค่าเฉลี่ยทั้งประเทศต่อปีต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และการปล่อยมลพิษทางอากาศ 6 ชนิดรวมกัน (PM2.5, PM10, SO2, NOx, VOCs, CO and Pb) ลดลง ร้อยละ 74 ระหว่างปี พ.ศ. 2513-2561 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการออกแบบระบบกฏหมายสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานและพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ต่อยอดจากฐานทางกฏหมายที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง
 
 
ดังนั้น หากประเทศไทยเริ่มต้นถอดรื้ออุปสรรคเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในทิศทางที่ถูกต้อง ก็จะสามารถฝ่าวิกฤตมลพิษทางอากาศนี้ได้ เพื่อสุขภาวะที่ดีและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในสังคมไทย
 
 
ด้วยความสมานฉันท์
กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (Foundation for Consumers)
Friend Zone
Climate Strike Thailand
Mayday

 

Article type: