1781 1781 1099 1282 1216 1616 1212 1886 1993 1516 1684 1630 1333 1894 1937 1246 1953 1199 1911 1763 1629 1193 1523 1531 1833 1248 1612 1361 1582 1494 1015 1236 1769 1020 1918 1807 1161 1389 1078 1201 1968 1427 1326 1524 1042 1428 1760 1026 1099 1207 1829 1564 1013 1676 1873 1003 1326 1419 1219 1561 1963 1320 1653 1250 1393 1770 1472 1212 1286 1579 1766 2000 1013 1744 1362 1495 1294 1047 1162 1699 1756 1777 1802 1715 1879 1247 1876 1735 1665 1122 1784 1353 1434 1024 1698 1151 1191 1682 1919 ณัฏฐธิดา : สองคดีความมั่นคงพลิกชีวิตพยานคดีวัดปทุมฯ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ณัฏฐธิดา : สองคดีความมั่นคงพลิกชีวิตพยานคดีวัดปทุมฯ

 
 
วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 หลังผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว และผู้ร่วมการชุมนุมอยู่ระหว่างการเดินทางกลับภูมิลำเนา ทหารที่ประจำการบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสกราดยิงลงมาภายในวัดปทุมวนาราม ซึ่งถูกประกาศให้เป็นเขตอภัยทาน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหกคน
 
 

“ช่วงนั้นเราเคยคุยกับทหารนะว่า อย่าทำประชาชน ประชาชนมือเปล่าจริงๆ คล้อยหลังไม่นานเต็นท์ยาราบเป็นหน้ากลอง”

 
 
ณัฏฐธิดา มีวังปลาหรือแหวน พยาบาลอาสาที่อยู่ในเหตุการณ์ในวันดังกล่าวเปิดปากเล่าเรื่องราวที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของวิบากกรรมที่มองไม่เห็นปลายทาง คนที่อยู่ใกล้ตัวเธอถูกกระสุนปืนคร่าชีวิตจากเหตุการณ์นั้น ส่วนเธอยังสามารถเอาชีวิตรอดจากการกราดยิงในวันดังกล่าวมาได้ แต่กลับต้องเผชิญชะตากรรมที่ยากลำบากของการมีชีวิตอยู่
 
 
หลังจากเหตุการณ์เธอเป็นหนึ่งในพยานในคดีไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภายในวัด เรื่อยมาจนกระทั่งศาลมีคำสั่งว่า การเสียชีวิตของทั้งหมดเป็นการยิงซึ่งวิถีกระสุนมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2558 มีเหตุระเบิดหน้าศาลอาญา มือระเบิดถูกจับกุมได้ในที่เกิดเหตุ ให้หลังสามวันณัฏฐธิดาถูกจับกุมและกล่าวหาว่า เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด เธอถูกควบคุมตัวโดยไม่ได้ประกันตัวระหว่างที่คดีพิจารณาเรื่อยมาในศาลทหารกรุงเทพ จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในเดือนกรกฎาคม 2560 แต่เมื่อปล่อยตัวแล้วกลับถูกอายัดตัวต่อไปดำเนินคดีและคุมขังต่อในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนที่จะได้รับการปล่อยในอีกหนึ่งปีถัดมา
 
 
1434
ณัฏฐธิดา มีวังปลาหรือแหวน ขณะได้รับการปล่อยตัวออกมาจากทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561
ภาพ Banrasdr Photo
 
สามปีห้าเดือนเปลี่ยนแปลงชีวิตของหญิงสาวที่สังคมเคยรู้จักเธอในนามพยานปากเอกวัดปทุมฯ จากหญิงสาวรูปร่างสมบูรณ์ สุขภาพดีกลายเป็นผ่ายผอมจนเห็นริ้วคลื่นของสันจมูก จากคนมั่นใจกลายเป็นหวาดผวา จากคนที่มีครอบครัวพร้อมหน้ากลายเป็นไร้ญาติขาดมิตร แม้วันนี้เธอจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาเกือบสองปีแล้ว แต่ดูเหมือนความเสียหายซึ่งเป็นผลจากการคุมขังยังเด่นชัด
 
 
 

 

 

การกราดยิง ความจริงและจุดเริ่มต้นของวิบากกรรม

 
1436
 
 
หลังเหตุการณ์กราดยิงพฤษภาคม 2553 ณัฏฐธิดาเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยความหวังว่า จะสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ปลายเดือนพฤษภาคม 2553 มีกลุ่มชายที่ไม่ทราบสังกัดมาเฝ้าที่บ้านและขับรถติดตามเธอตลอด มีครั้งหนึ่งที่มีการโทรศัพท์มาหาและนัดหมายขอสัมภาษณ์แปลกๆ เมื่อสอบถามก็ทราบว่า เป็นการขอสัมภาษณ์จากตัวแทนกองทัพบก อ้างว่า จะมาขอข้อมูลและให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้เธอบอกว่า มีความพยายามจากบางคนขอให้เธอไม่เป็นพยานในคดีไต่สวนการตายอีก
 
 
การคุกคามสร้างความหวาดกลัวให้แก่เธอ แต่สำหรับเธอแล้วนาทีนั้นความจริง คือ สิ่งสำคัญ ทหารฆ่าประชาชน คือ ความจริงที่เธอยืนยันและไม่เคยเสียใจที่เป็นพยานในคดีร้ายแรงเช่นนี้
 
 
 

“ถ้าย้อนกลับไปได้เราก็จะพูดเหมือนเดิมและเรายืนยันมาตลอดสิบปีว่า ทหารฆ่าประชาชน เราพูดอย่างเดียวว่า เรายืนยันว่า ทหารอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสยิงมาที่เต็นท์ยาเรา ส่วนทหารอีกเป็นสิบเป็นร้อยนายอยู่บนนั้น เราเห็นแต่เราไม่เห็นว่า เขาเล็งยิงลงมา เราเห็นแค่ห้านาย เราพูดเฉพาะคนที่ยิงลงมา ถามว่า เราเสียใจไหมที่เราออกไปเปิดตัวเป็นพยาน เราไม่เสียใจ”

 
 
 
เธอใช้ชีวิตภายใต้ความไม่ปกติเรื่อยมาหลังเปิดหน้าเล่าสิ่งที่เห็น จนกระทั่งถูกจับกุมในคดีระเบิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558  ในช่วงที่ณัฏฐธิดาถูกกล่าวหาในคดีวางระเบิดเธอเล่าว่า ทหารนายหนึ่งที่มาสอบปากคำกล่าวในทำนองให้เธอรับสารภาพในคดีวางระเบิดเสีย มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ แต่ณัฏฐธิดาไม่รับสารภาพและยืนยันจะสู้คดี เพื่อพิสูจน์ว่า เธอไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระเบิด
 
 
ปีเดียวกันมีการกล่าวหาเธอเพิ่มเติมในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากข้อความโต้ตอบในกรุ๊ปไลน์จำนวนหนึ่งข้อความ แต่คดีไม่มีความเคลื่อนไหว จากนั้นเธอพยายามปรับตัวใช้ชีวิตในเรือนจำและช่วยเหลือนักโทษการเมืองรายอื่นๆ ที่เข้ามาใหม่ เช่น ณัฏฐิกา วรธันยวิทย์ จำเลยคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 ที่ถูกกล่าวหาจากการแชทคุยกัน และเป็นแอดมินเพจ 'เรารักพลเอกประยุทธ์' 
 
 

“ตอนอยู่ในคุกแหวนช่วยพี่ไว้ได้มากเลย” เป็นคำบอกเล่าของณัฏฐิกาที่เล่าถึงณัฏฐธิดาหลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

 
 
ณัฏฐธิดาบอกว่า ในเรือนจำมีโครงการยาใจที่มีลักษณะให้นักโทษในเรือนจำช่วยเหลือทางด้านจิตใจกันและกัน เมื่อทราบข่าวว่า มีนักโทษใหม่คือณัฏฐิกา เธอก็ขอเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาช่วยเหลือให้ณัฏฐิกามีเพื่อนและปรับตัว เธอบอกว่า ตอนเข้าไปแรกๆในเรือนจำเธอบอกว่า เธอทำงานทุกอย่างที่อยากทำ ทั้งการดูแลเพื่อนนักโทษในเรือนจำ ถอนหญ้า ทำความสะอาดท่อ แต่หลังเธอพยายามจะขอปล่อยตัวชั่วคราวไม่น้อยกว่าสามครั้งแต่ศาลทหารกรุงเทพปัดตกคำร้อง เธอก็ไม่ได้อะไรแล้วเพราะการประกันตัวไม่ผ่านมันส่งผลกระทบด้านจิตใจเป็นอย่างมาก
 
 

 

วินาทีอิสระและการอายัดซ้ำในคดี 112

 
 
วันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ประกันตัว แต่ทันทีที่เธอได้ก้าวเท้าออกจากเรือนจำ ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวตามหมายจับในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามประมวลกฎหมายมาตรา112 การอายัดซ้ำในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ นี้เป็นอีกเหตุการณ์ที่ทำให้เธอคิดว่า อาจไม่มีชีวิตกลับมา ในช่วงที่ถูกปล่อยตัวมีชายกลุ่มหนึ่งที่อ้างตัวว่า เป็นตำรวจแต่ไม่สวมใส่เครื่องแบบมารับตัวเธอ พยายามจะพาขึ้นรถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ เธอเล่าว่า ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พยายามช่วยเหลือเธอให้ติดต่อครอบครัวให้ได้ แต่เธอนึกเบอร์โทรศัพท์ที่จะติดต่อไม่ได้เนื่องจากอยู่ในเรือนจำมาเป็นเวลานานและขาดการติดต่อกับครอบครัวไปนานแล้ว
 
 
1437
 
 
“พยายามนึกชื่อพ่อแม่สิแหวน  จำเบอร์โทรศัพท์ญาติได้ไหม?” เป็นคำถามที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถามเธอ แต่เธอบอกว่า “เราจำไม่ได้ เราจำเบอร์ไม่ได้หรอก เราอยู่ตรงนั้นนานเกินไป” จากนั้นเธอถูกอุ้มขึ้นรถ เมื่อขึ้นไปนั่งที่ด้านหลังมีชายสองคนนั่งประกบซ้ายขวา ขณะที่มีชายอีกคนหนึ่งคุยโทรศัพท์และพูดประโยคที่ทำให้เธอหวาดกลัวทำนองว่า ถ้าไปกาญจนบุรี ออกราชบุรีไปที่ไหนต่อ เมื่อขับออกมาที่ประตูเห็นวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของเธอในขณะนั้นจึงบอกว่า ขอคุยทนายได้ไหม แต่เขาไม่ให้คุย  ตอนนั้นเราตัดสินใจเอากุญแจมือฟาดเข้ากับกระจกเลย พอวิญญัติเห็นจึงรู้ว่าเธออยู่ในรถคันนี้
 
 
เมื่อเป็นเช่นนั้น ชายทั้งหมดจำต้องพาเธอไปที่กองปราบปรามเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และณัฏฐธิดาก็ถูกคุมขังในเรือนจำต่อ
 
 
ทนายวิญญัติระบุว่า การใช้อำนาจในการดำเนินคดีลักษณะนี้แสดงถึงความไม่สมเหตุสมผลของการดำเนินคดี เนื่องจากหมายจับในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ออกตั้งแต่ปี 2558 ระหว่างที่ณัฏฐธิดายังถูกควบคุมตัวในคดีวางระเบิดฯ แต่กลับไม่บังคับใช้หมายจับและดำเนินคดีทั้งสองเรื่องควบคู่กันไป ปล่อยให้เวลาเนิ่นช้าออกไป และทั้งคดีระเบิดและคดีมาตรา112 อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร ซึ่งต้องพบกับกระบวนพิจารณาคดีที่ล่าช้าเป็นเหมือน “การบีบบังคับโดยสภาพ” ซึ่งหมายถึง การสร้างเงื่อนไขให้จำเลยกังวลต่อสิ่งที่พวกเขาจะต้องเจอในการต่อสู้คดี ทำให้จำเลยรู้สึกไม่อยากจะต่อสู้คดีต่อไป ทั้งที่ยังอยากจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง เหล่านี้ล้วนเป็นสภาพที่บังคับให้จำเลยต้องรับสารภาพเท่านั้น
 
 

 

 

 เรือนจำรอบสองกับฐานะใหม่ จำเลยคดีมาตรา 112

 
 
ณัฏฐธิดาเล่าว่า การถูกกล่าวหาในคดีการเมืองโดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ทำให้ใช้ชีวิตในเรือนจำลำบากมากขึ้น เธอบอกว่า เจ้าหน้าที่บางคนเหมือนรับงานมาเพื่อกลั่นแกล้งกัน ทุกวันเสาร์อาทิตย์จะเป็นการดูแลของเจ้าหน้าที่เวร ซึ่งหากเป็นคนที่เธอตั้งข้อสังเกตไว้ว่ารับงาน เธอจะอยู่ยากกว่าปกติ เช่น การเข้าห้องน้ำที่ต้องรอตามคิว ด้วยเธอป่วยเป็นโรคกรวยไตอักเสบอยู่แล้วไม่สามารถอั้นปัสสาวะได้ จึงขอเจ้าหน้าที่เข้าก่อน แต่ได้รับคำตอบว่า “ถ้าป่วยจริงคงไม่อยู่ตรงนี้ คนอื่นเขารอได้ ทำไมมึงจะรอไม่ได้ มึงคิดว่า มึงเป็นใคร มึงวิเศษหรอ มึงก็เป็นนักโทษเหมือนกัน” ซึ่งขณะอยู่ในเรือนจำโรคของเธอกำเริบอยู่อีกสองสามครั้งจากการต้องอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน
 
 
เธอบอกว่า การถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 ทำให้บางครั้งเธอถูกเพื่อนร่วมเรือนจำมองเหมือนไม่ใช่คนก็มี ช่วงปี 2561 ณัฏฐธิดาถูกทำร้ายร่างกายโดยนักโทษรุ่นน้องคนหนึ่ง นักโทษรายดังกล่าวเป็นนักโทษที่รับโทษประมาณสามเดือน ตอนแรกๆ พยายามเข้ามาพูดคุยตีสนิทกับเธอ แต่ช่วงท้ายของการรับโทษกลับเข้ามาหาเรื่องและชกต่อยเธอ หลังทำร้ายไม่นานนักโทษรายดังกล่าวก็พ้นโทษไป
 
 
ช่วงต้นปี 2561 เกิดเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ภาพการกราดยิงที่วัดปทุมวนารามกลับมาหลอกหลอนณัฏฐธิดาอีกครั้ง มีเพื่อนนักโทษป่วยหนักจนอาเจียนเป็นเลือดออกมาเป็นเลือด เธอจึงพยายามเข้าไปช่วยและเรียกเจ้าหน้าที่ให้พาตัวส่งโรงพยาบาล แต่นักโทษรายดังกล่าวเสียชีวิตในเวลาต่อมา
 

 

“....เขาอาเจียนเป็นเลือด เลือดไหลเป็นก๊อกน้ำเลย.....พอตอนที่เขาเสียชีวิตคือภาพปี 2553 เข้ามาเลยเหมือนกับว่า พอเราช่วยใครแล้วเขาตายทุกคนเลยรึป่าว เราก็เลยรู้สึกว่า ไม่ใช่แล้ว จนนอนไม่หลับต้องไปขอยามากิน เรารู้สึกว่า เราเห็นเขาอยู่เรื่อยๆ เหมือนเขามาขอความช่วยเหลือ...”

 
 
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เธอเกิดความเครียด ทานอาหารไม่ได้และอาเจียนอยู่บ่อยครั้ง อาการดังกล่าวไม่ได้มีสาเหตุมาจากการตายของเพื่อนร่วมเรือนจำเท่านั้น แต่ยังมีสาเหตุมาจากการไม่ได้รับประกันตัวอีกด้วย การออกศาลครั้งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 สภาพร่างกายเธอผ่ายผอมลงไป ด้วยความผอมทำให้ใบหน้าของเธอซูบตอบ จนเห็นริ้วคลื่นของสันจมูกของเธอ
 
 

 

 

ชีวิตใหม่หลังการประกันตัว

 
 
ศาลทหารกรุงเทพให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 หลังการรณรงค์ทางสังคมอย่างหนัก เมื่ออกมาสู่โลกภายนอก เธอต้องเผชิญความจริงว่า เธอไร้ญาติขาดมิตร เธอเลิกกับสามี ไม่มีครอบครัวเหมือนก่อนที่จะถูกคุมขังแล้ว ปัญหาสำคัญ คือ ไม่มีที่พักพิง แต่เธอได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนนักโทษคดี 112 ให้มาพักที่บ้านก่อนเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ หลังจากนั้นเธอไปเช่าอพาร์ตเมนท์ใกล้กับบ้านของเพื่อนคนดังกล่าวอยู่ อยู่ได้ไม่ครบปีก็ต้องย้ายออกเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดมาติดตามเฝ้าตลอด
 
 
 

“...เกือบสี่ปีที่ไม่ได้อยู่กับโลกแบบนี้ ข้ามสะพานลอยไม่เป็น ใจมันหวิวๆ...ทุกวันนี้ยังปรับตัวไม่ได้ กลัวคนแปลกหน้า...”

 
 
เกือบสี่ปีที่ถูกคุมขังในเรือนจำ ณัฏฐธิดาสูญเสียทักษะชีวิตและความมั่นใจไปมาก เธอบอกว่า การข้ามถนนและการใช้ชีวิตประจำวันกลายเป็นเรื่องแปลกที่ต้องอาศัยความกล้าหาญพอสมควร นอกจากนี้การต้องเผชิญกับคนแปลกหน้าทำให้เธอรู้สึกไม่ปลอดภัย มันซ้อนทับกับภาพที่เธอถูกอุ้มในวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 และหากจำเป็นต้องไปพบกับเจ้าหน้าที่ เธอก็ต้องพาคนสนิทไปด้วยทุกครั้ง นอกจากนี้เวลาที่เห็นรถฟอร์จูนเนอร์สีดำก็ยิ่งทำให้เธอหวาดกลัวมากขึ้น  เธอยอมรับอย่างขื่นๆว่า ทุกวันนี้แม้ผ่านไปสองปีแล้วก็ยังปรับตัวให้คุ้นชินกับความอิสระระหว่างการพิจารณาคดีไม่ได้ โดยบอกว่า “เราฝังใจในสิ่งที่เขาทำกับเรา”
 
 
1435
 
 
หลังออกมาจากเรือนจำเธออยากไปเจอหน้าลูกชายมาก แต่บ้านของอดีตสามีบอกว่า อย่ามาใกล้เลยด้วยกลัวว่า เธอจะนำมาความไม่ปลอดภัยมาให้ ทำให้ช่วงสามเดือนแรกที่ได้รับการปล่อยตัวเธอไม่ได้เจอหน้าลูกเลย เพิ่งจะได้มาเจอกัน ซึ่งก็มีปัญหาในการปรับตัวกับลูกด้วย  ณัฏฐธิดาเล่าว่า ลูกชายคนเล็กบอกกับเธอว่า กลัวว่าเธอจะหายไปอีก เธอจึงอธิบายให้เขาเข้าใจที่มาที่ไปของคดีและยืนยันว่า เธอไม่ได้ตั้งใจทอดทิ้งหรือหนีหายไปไหน
 

 

“...เราต้องพยายามจะอธิบายให้เขาเข้าใจว่า เราไม่ได้หายไปไหนนะ แต่ทหารจับแม่ไป แม่ต้องไปอยู่ในเรือนจำ เราถึงกับพาเขาไปดูเรือนจำเลยว่า เรือนจำอยู่ตรงไหน เป็นอย่างไร พยายามทำให้เขาเข้าใจ...”

 

 
ณัฏฐธิดากลับมาหาเลี้ยงชีพด้วยการขายของออนไลน์ เช่น เครื่องสำอางค์ และพยายามหาสินค้าใหม่มาลงขาย แต่บางครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น การขายอาหารทะเลแห้ง อย่างไรก็ตามเธอก็มีอาชีพเสริมโดยอาศัยพื้นความรู้เก่าอย่างการรับจ้างดูแลผู้ป่วย ซึ่งพอจะทำให้เธอประทังชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ลำบากนัก และยังกลับไปทำงานเพื่อสังคมเป็นพยาบาลอาสาเหมือนก่อนหน้าที่เธอจะเป็นจำเลยในคดีโทษหนักสองคดี หากเว้นว่างจากงานจะออกไปให้ความช่วยเหลือคนเร่ร่อนที่ได้รับบาดเจ็บตามสถานที่ต่างๆ
 
 
สำหรับคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ปี 2562 ศาลทหารกรุงเทพโอนคดีกลับไปพิจารณายังศาลปกติแล้ว โดยศาลจังหวัดนนทบุรีนัดสืบพยานวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2563
 
Article type: